วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก เอียนสี

ประวัติสามก๊ก เอียนสี
หากพูดถึงสตรีในเรื่องสามก๊กนั้น แน่นอนว่าหลายๆคนต้องนึกถึงชื่อของเตียวเสี้ยนมาเป็นอันดับแรก เพราะเธอนั้นได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่โด่งดังที่สุดในสามก๊กแถมยังมีความงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วหล้า

แต่เตียวเสี้ยนก็เป็นเพียงสตรีที่มิได้มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์จีน เป็นแต่เพียงจินตนาการของนักเขียนนิยายอย่างหลอกวนจงเท่านั้น

แล้วถ้าถามว่าสตรีที่มีตัวตนจริงในสามก๊กแล้วเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดล่ะ

ชื่อของเจินซื่อหรือที่หลายคนรู้จักในนาม "เอียนสี" จะมาเป็นอันดับแรก เพราะนี่คือสตรีที่งามที่สุดในยุคสามก๊กตัวจริงเสียงจริง ซึ่งไม่ได้แค่งามแต่ภายนอกเท่านั้น จิตใจของเธอยังงดงามมากซะจนทำให้บุรุษเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นยังต้องหลงใหล

แต่จุดจบของเธอกลับกลายเป็นตำนานเศร้าที่เล่าสืบขานต่อๆกันมาไม่รู้จบสิ้น และเรื่องราวชีวิตของเธอ ก็ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังมาแล้วมากมาย

เรื่องราวของเอียนสี สตรีผู้งดงามที่สุดในยุคสามก๊ก

ประวัติโดยย่อ

เล่ากันว่าตระกูลเจินหรือเอียนนั้นเดิมทีเป็นตระกูลใหญ่ที่ร่ำรวยทั้งฐานะและยศศักดิ์ แต่ภายหลังได้ตกอับไปพอควรในยุคของเจินยี่

แม้จะไม่ร่ำรวยนัก แต่เจินยี่ก็ดันมีลูกถึง 8 คน ซึ่งลูกคนสุดท้องนั้นเป็นลูกสาว ชื่อของเธอก็คือ"เจินมี่"

เดิมทีเจินยี่คิดจะยกลูกสาวคนสุดท้องนี้ให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น แต่มีหมอดูมาทักว่าลูกคนนี้จะได้ดิบได้ดีกว่าคนอื่นๆ เจินยี่จึงเลี้ยงลูกของตนต่อไปและให้ความเอาใจใส่เจินมี่อย่างดี

แต่เมื่อเจินมี่อายุแค่ 3 ปี เจินยี่ผู้พ่อก็ตายจากไปและเป็นช่วงที่เกิดกบฏผ้าเหลืองขึ้นทั่วประเทศจีน มารดาจึงพาครอบครัวอพยพย้ายหนีไปที่ปลอดภัย ช่วงนี้เองที่เจินมี่ได้เดินทางไปหลายที่ และได้สนใจศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะด้านโคลงกลอน ซึ่งว่ากันว่าเธอสามารถแต่งโคลงกลอนได้ตั้งแต่อายุแค่ 5-6 ปีเท่านั้น

ในช่วงที่เกิดการจลาจล ชาวบ้านลำบากกันไปทั่วนั้น เจินมี่มักจะกระตุ้นให้ผู้เป็นแม่ช่วยอนุเคราะห์ผู้ยากไร้และชาวบ้านขอทานที่ยากจนอยู่เสมอ ทำให้คนทั่วไปนิยมชมชอบเธอกันมากทั้งที่เป็นเด็กสาวอายุแค่สิบกว่าปีเท่านั้น

ชื่อเสียงของเธอดังไปทั่วบริเวณภาคเหนือ ซึ่งในขณะนั้น อยู่ในเขตอิทธิพลของอ้วนเสี้ยว ดังนั้นอ้วนเสี้ยวจึงได้ส่งแม่สื่อมาขอทาบทามตัวเจินมี่ให้แก่ลูกชายคนรองของเขา นั่นคืออ้วนฮี ซึ่งในขณะนั้นเจินมี่มีอายุแค่ 15-16 ปีเท่านั้น

เมื่อแต่งงานแล้ว เจินมี่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น"เจินซื่อ"ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ"เอียนสี"ซะมากกว่า (ขอเรียกเอียนสีละกันนะ)

แต่งงานไปได้ไม่นานก็เกิดเรื่องที่พลิกผันชีวิตของเธอไปชนิดกลับด้านเลยทีเดียว นั่นคือในปีค.ศ.200 โจโฉสามารถเผด็จศึกทัพของอ้วนเสี้ยวลงได้ในยุทธการกัวต๋อ อันส่งผลให้ภายหลังโจโฉมีอิทธิพลเหนือดินแดนของอ้วนเสี้ยวแทบทั้งหมด
และในอีก 4 ปีต่อมาก็สามารถตีทัพของลูกๆอ้วนเสี้ยวที่เมืองเยี่ยจนแตกพ่ายได้ ทำให้ลูกๆของอ้วนเสี้ยวต่างหนีออกจากเมืองไปจนหมด อ้วนฮีก็เช่นกัน และทิ้งเหล่าเด็กๆ สตรีคนแก่ที่หนีไม่ทันเอาไว้เบื้องหลัง

โจโฉนั้นจัดได้ว่าเป็นเสือผู้หญิงแห่งยุค เขาย่อมได้ข่าวว่าอ้วนเสี้ยวมีลูกสะใภ้ที่สวยงามอย่างเอียนสี ก็หวังอยากจะได้นางมาครองเป็นเมียน้อยอีกคนจากที่มีอยู่แล้วนับไม่ถ้วน

แต่เขาก็เสียรู้ไปเหมือนกัน เมื่อโจผีผู้เป็นบุตรชายซึ่งก็เป็นเสือผู้หญิงตัวยงอีกคนหนึ่งนั้นไวกว่า และชิงเข้าเมืองเยี่ยได้ก่อนโจโฉผู้เป็นพ่อ เขาจึงคว้านางเอียนสีมาไว้เป็นของตนก่อนผู้เป็นพ่อ

เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น เล่ากันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โจโฉผูกใจเจ็บ และทำให้ไม่ยอมแต่งตั้งโจผีให้เป็นรัชทายาทซะที ทั้งที่ในบรรดาบุตรทั้งหมดนั้น โจผีนับได้ว่ามีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๊มากที่สุด แต่กลับคิดจะตั้งให้โจสิดซึ่งเก่งแต่ในทางกวี และกาพย์กลอนให้เป็นรัชทายาทแทน ซึ่งถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว โจโฉจะยอมแต่งตั้งให้โจผีขึ้นเป็นรัชทายาทก็ตาม
กล่าวกันว่าเอียนสีนั้นเป็นสตรีที่งดงามจริงๆ ขนาดว่าโจผีในเวลานั้นแม้จะมีเมียอยู่แล้วหลายคน แต่ก็ยังยกย่องให้เอียนสีขึ้นมาเป็นเมียหลวงเหนือเมียคนอื่นๆ ทั้งที่เธอเองก็อายุมากกว่าโจผีถึง 5 ปี นั่นคือตอนที่พบกันครั้งแรกนั้น โจผีมีอายุได้ 17 ส่วนเอียนสีอายุได้ 22 ปี

เอียนสีไม่เพียงแต่จะมีใบหน้าที่งดงามแต่กริยา ท่าทาง วาจและจิตใจของเธอยังงามไปด้วย ขนาดที่สามารถเอาชนะใจเปี้ยนสีผู้เป็นภรรยาเอกของโจโฉหรือแม่ผัวของเธอได้ ทั้งที่เดิมทีเปี้ยนสีไม่ค่อยจะชอบในตัวเธอเท่าใดนัก เนื่องจากเห็นว่าเป็นแม่ม้าย และยังมีความงามมากชนิดที่โจโฉเองยังเคยหลงใหล

มีเกร็ดเล่าว่าเอียนสีนั้นปรนนิบัติดูแลนางเปี้ยนสีผู้เป็นแม่ผัวอย่างดี ซึ่งต่างไปจากเมียคนอื่นของโจผีที่มักไม่ค่อยสนใจแม่ผัวนัก ยิ่งในปีต่อมาหลังจากที่อยู่กับโจผีนั้นเธอก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่มีชื่อว่าโจยอย ทำให้แม่ผัวยิ่งรักและเอ็นดูมากขึ้นไปอีก

กล่าวว่าครั้งหนึ่งเมื่อโจโฉนำทัพไปออกศึก นั้นนางเปี้ยนสีซึ่งได้ติดตามไปในทัพนั้นได้หนีบเอาโจยอยซึ่งเริ่มจะโตแล้วไปในกองทัพด้วย เมื่อกลับมาจากการรบนางเปี้ยนสีก็พบว่าเอียนสีมีท่าทางอิ่มเอิบผิดปกติ และไม่รีบเข้ามาโอ๋ลูกชายที่จากไปนาน จึงรู้สึกไม่พอใจ

นางเอียนสีจึงว่าตนเป็นแม่ย่อมนึกถึงและเป็นห่วงลูกชายอยู่แล้ว แต่ก็รู้ดีว่าลูกชายนั้นไปพร้อมกับปู่และย่าที่ดูแลเอาใจใส่ลูกชายดีซะยิ่งกว่าคนเองอีก ดังนั้นตนจึงไม่ห่วงอะไรมากมาย

ตอบไปแบบนี้ นางเปี้ยนสีผู้เป็นย่าก็ต้องปลื้มเป็นธรรมดา แสดงให้เห็นว่านางเอียนสีไม่เพียงแต่งามทั้งหน้าตาและจิตใจเท่านั้น แต่ยังหญิงเป็นผู้มีสติปัญญาอีกด้วย

ในฐานะที่เป็นเมียของโจผีซึ่งเป็นลูกชายคนโตของโจโฉนั้น ทำให้เอียนสีต้องรับหน้าที่ดูแลบุตรหลานของโจโฉคนอื่นๆอีกด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่พวกผู้ใหญ่ออกไปทำศึก รวมถึงตัวโจผีเอง ซึ่งมักจะได้ติดตามไปในกองทัพบ่อยๆ
ความที่มักไม่ได้อยู่กับสามี เอียนสีจึงใช้เวลาว่างในการแต่งโคลงกลอน และนี่เองที่ทำให้เธอได้สนิทสนมเป็นพิเศษกับ โจสิดบุตรชายคนที่สี่ของโจโฉ ซึ่งเป็นกวีเอกของยุคสามก๊ก

โจโฉนั้นนอกเหนือจากจะมีความสามารถในการการทำสงครามแล้ว ยังเชี่ยวชาญในการแต่งโคลงกลอนอีกด้วย พรสวรรค์ด้านนี้นั้นได้ถูกตกทอดมายังบุตรชายอีกสองคนจากจำนวน 5 คนที่เกิดกับนางเปี้ยนสี ภรรยาหลวง นั่นคือโจผีและโจสิด ซึ่งต่างก็มีผลงานในด้านวรรณกรรมทิ้งไว้มากมาย รวมเป็นสามพ่อลูกกวีแห่งยุคสามก๊ก

โจสิดได้ชื่อว่ามีความสามารถด้านโคลงกลอน ในระดับที่เรียกว่าอาจจะสูงที่สุดในตระกูล จึงมีความสนิทสนมอย่างรวดเร็วกับเอียนสี พี่สะใภ้คนสวยที่มีความเก่งในด้านนี้เช่นกัน ทั้งสองจึงมักจะพูดคุยหรือว่าและแต่งบทกวีซ้อมมือกันเสมอ

และนี่เองคือจุดกำเนิดของความรักอันเป็นโศกนาฏกรรมบทหนึ่ง ในยุคสามก๊ก

มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าโจสิดนั้น หลงรักเอียนสี ผู้เป็นพี่สะใภ้ซึ่งมีอายุห่างกันถึง 10 ปี โดยเมื่อดูจากโคลงกลอนและเพลงยาวมากมายที่เขาได้แต่งไว้ ส่วนใหญ่มีความหมายในเชิงชู้สาวทั้งนั้น

แต่เอียนสีจะมีใจรักกับโจสิดในแบบหนุ่มสาวหรือไม่นั้น ไม่อาจจะชี้ชัดไปได้ และก็คงจะไม่มีใครรู้นอกไปจากตัวของเอียนสีเพียงผู้เดียว

เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเอียนสีเคยมอบหมอนของตนให้กับโจสิดเพื่อเอาไปนอนหนุน ปรากฎว่าโจสิดเอาไปละเมอเพ้อพก จนได้มีคนนำเรื่องนี้ไปเล่าให้โจผีฟัง และเป็นเหตุให้โจผีรู้สึกเจ็บแค้นโจสิดอย่างมาก

นอกจากนี้แล้วระหว่างโจผีและโจสิดยังมีอีกเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะต้องแข่งขันกันเพื่อเอามาเป็นของตนให้ได้ นั่นคือตำแหน่งทายาทผู้สืบอำนาจต่อจากโจโฉ

โจโฉนั้นได้รับยศสุดท้ายเป็นงุยอ๋อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นยศสูงสุดที่ขุนนางจะมีได้ หากมากกว่านั้นก็ต้องเป็นฮ่องเต้แล้ว แต่โจโฉก็ยังไม่ยอมเป็นฮ่องเต้ ยังคงยกให้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นผู้นั่งอยู่บนบัลลังก์มังกร แต่กระนั้นทุกคนก็รู้กันดีว่าอำนาจทั้งหมดนั้นเป็นของโจโฉ

การที่โจโฉไม่ยอมถอดฮ่องเต้ลงจากบัลลังก์นั้น นักวิชาการรุ่นหลังได้วิเคราะห์ไว้หลายสาเหตุ ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ โจโฉคิดว่าแค่ตำแหน่งงุยอ๋องนี้ก็เป็นอะไรที่ใหญ่สุดๆแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปโลภมากกว่านี้ แถมตนเองก็ยังเป็นไม้ใกล้ฝั่ง วัย 60 กว่าๆแล้ว น่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน ถึงจะเป็นฮ่องเต้ไปตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะอำนาจที่มีในตอนนี้ก็เรียกได้ว่า เทียบเท่ากับฮ่องเต้อยู่แล้ว สู้อยู่เป็นขุนนางไปแบบนี้ ยังจะทำให้ได้ชื่อว่ามีความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์มากว่าการไปโค่นบัลลังก์ฮ่องเต้ เพราะรากฐานที่ตนได้วางไว้นั้น ก็มากเพียงพอที่จะทำให้ทายาทของตนได้ขึ้นมาตั้งราชวงศ์ในภายหลังได้

แต่สิ่งสุดท้ายที่โจโฉยังลังเลคือจะให้ใครเป็นทายาทสืบอำนาจต่อจากตนเอง

เวลานั้นโจโฉเหลือบุตรชายที่เกิดจากนางเปี้ยนสี ภรรยาอยู่สามคน คือโจผี โจเจียง โจสิด ซึ่งแต่ละคนต่างก็เก่งกันไปคนละอย่าง

โจผีถนัดด้านวรรณกรรม แถมยังเชี่ยวชาญการรบพอสมควร จิตใจเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง โจเจียงนั้นห้าวหาญ เก่งด้านการรบแต่เป็นคนมุทะลุ โจสิดนั้นเก่งด้านโคลงกลอนมีความเป็นกวีสูงที่สุด แถมยังเป็นคนจิตใจดี แต่ว่าชอบเสเพลและเป็นคนขี้เหล้าเมายา

ในสามคนนี้โจสิดถือว่าเป็นลูกคนที่โจโฉโปรดมากที่สุด จึงคิดจะตั้งให้โจสิดเป็นทายาท แต่ว่าตามธรรมเนียมแล้วบุตรคนโตหรืออายุมากที่สุดควรจะได้เป็น โจโฉจึงลังเลและไม่อาจตัดสินใจได้จนถึงในเวลาที่ป่วยหนักใกล้ตาย

แต่ในที่สุด เมื่อคิดจากผลของส่วนรวมแล้ว โจผีมีความเหมาะสมที่สุด ก่อนตายโจโฉจึงได้สั่งให้โจผีเป็นทายาทแทน และตนเองก็ตายไป

เมื่อประกาศิตนี้ออกมา โจผีจึงได้สืบทอดอำนาจต่อ และลงมือจัดการสะสางบัญชีกับน้องชายทันที

โจผีเจ็บแค้นโจสิดมานานแล้วในเรื่องที่โจสิดชอบมาทำท่าจีบเอียนสีทั้งที่นางเป็นเมียของตัวเขา จึงสั่งให้โจสิดแต่งโคลงหน้าพระที่นั่งให้ทันในการเดินเจ็ดก้าว ซึ่งโจสิดก็ทำได้ และโคลงนั้นมีความหมายลึกซึ้งในทำนองที่ว่า ทำไมพี่น้องต้องมาเข่นฆ่ากัน ทำให้โจผีใจอ่อน แต้ก็ตัดสินใจเนรเทศโจสิดไปยังเมืองกันดาร โดยเมืองที่เนรเทศไปนั้นคือเมืองเอียน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าโจผีต้องการประชดอะไรรึเปล่าถึงได้ส่งโจสิดไปอยู่ในเมืองที่มีชื่อเดียวกับชื่อสกุลของเอียนสี

เล่ากันว่าก่อนจะไปนั้นโจผีได้มอบหมอนใบหนึ่งให้และบอกว่าเป็นของที่ระลึกที่เอียนสีได้มอบให้ ก็ปรากฏว่าโจสิดรับหมอนนั้นไว้โดยไม่ได้มีท่าทีกริ่นเกรงโจผีสักนิด ทำให้โจผีระแวงว่าระหว่างเอียนสีและโจสิดต้องมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ

หลังจากนั้น โจผีก็ได้ทำการถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ลงจากบัลลังก์แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าวุยบุ๋นตี้ ก่อตั้งราชวงศ์วุยขึ้น เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และมอบย้อนหลังให้โจโฉผู้บิดาเป็นวุยบู๊ตี้

ส่วนเอียนสีนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีซึ่งตอนที่พระนางขึ้นเป็นฮองเฮาหรือมเหสีนั้น ทรงมีพระชนมายุถึง 38 ปีแล้ว ทั้งที่ในวังเต็มไปด้วยคำครหาและเสียงนินทาในเรื่องที่ว่าเธอยังมีความผูกพันทางใจกับโจสิด แต่ถึงกระนั้นโจผีก็ยังคงให้นางเป็นฮองเฮา และในภายหลังโจยอยบุตรที่เกิดกับนางเพียงคนเดียวก็ได้เป็นรัชทายาทและกลายเป็นฮ่องเต้สืบต่อมา ทั้งที่โจผีเองก็มีเมียอยู่อีกหลายคนที่ยังอายุน้อยกว่า ลูกก็ยังมีอีกมากมาย นั่นแสดงให้เห็นว่า นางเอียนสีต้องมีความงามและคุณงามความดีอยู่มากจริงๆ ทำให้โจผียังอาลัยรักอยู่

เกี่ยวกับการตายของเอียนสีนั้น ถือเป็นเรื่องราวที่เป็นปริศนาอยู่พอควรมากทีเดียว เนื่องจากมีบันทึกที่แตกต่างกันอยู่สองฉบับนั่นคือจดหมายเหตุวุยก๊กบอกไว้ว่าหลังจากรับตำแหน่งราชินีได้ไม่นานนักนางก็ยื่นถวายฎีกาขอสละสิทธิ์จากตำแหน่ง เพราะประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ลงในปีค.ศ. 221 หลังจากที่โจผีครองราชย์ได้แค่ 8 เดือน

อีกอันหนึ่งคือเกร็ดพงศาวดาร บอกว่าเอียนสีถูกสั่งให้กินยาพิษเพราะโจผีจับได้ว่านางยังมีความผูกพันทางใจอยู่กับโจสิด โดยตอนที่นางกินยา กวัวฮองเฮาซึ่งเป็นผู้ที่มารับตำแหน่งแทนนั้นได้ส่งให้คนมาคอยดูเธอทำตามคำสั่ง และเมื่อเอียนสีกินยาแล้ว คนนั้นก็รีบเอาข้าวเปลือกกำหนึ่งยัดปากเธอไว้เพื่อกันการคายยาพิษ จากนั้นเอาผมยาวสลวยของเธอมาปิดหน้าไว้เพื่อกันไม่ให้คนในเมืองผีได้เห็นใบหน้าสวยงามของเธออีก

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความจริงจะเป็นแบบไหน ส่วนโจสิดหลังจากที่รู้ข่าวการตายของเอียนสีแล้ว ก็เสียใจอย่างหนัก เมื่อเดินผ่านไปถึงริมแม่น้ำลั่วแถวเมืองลั่วหยางแล้วก็ได้แต่งเพลงยาวอาลัยรักในตัวเธอจนมาถึงตอนนี้ โดยเพลงยาวฉบับนี้ชื่อว่าเพลงยาวคิดถึงเจินมี่ และจากนั้นไม่นานโจสิดก็ตรอมใจตาย

เพลงนี้ภายหลังโจยอยซึ่งได้ขึ้นนั่งบัลลังก็เป็นพระเจ้าวุยหมิงตี้นั้น ได้อ่านแล้วก็แทบจะฉีกทิ้งเพราะถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เสด็จอามาจีบพระมารดาของตน ยังดีที่โจสิดนั้นตายไปแล้ว เอาผิดอะไรไม่ได้ และเพลงนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเพลงยาวเทวีธารน้ำลั่วไป เนื่องจากว่าพระเจ้าโจยอยเห็นว่ามันไพเราะมาก

สำหรับกวัวฮองเฮา ซึ่งเล่ากันว่าเป็นผู้มีส่วนในการคอยใส่ไฟเอียนสีในสมัยที่ยังมีชีวิตนั้นก็ไม่ได้มีจุดจบที่ดีนัก โดยป่วยหนักและทรมานมากในวาระสุดท้าย

มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับความผูกพันที่โจผียังคงมีให้เอียนสีแม้ว่าจะตายไปหลายปีแล้วอย่างหนึ่ง นั่นคือครั้งหนึ่ง โจผีได้พาโจยอยซึ่งเริ่มจะโตแล้วออกไปล่าสัตว์ และได้ทรงพบกวางแม่ลูกคู่หนึ่ง จึงใช้ธนูยิงกวางตัวแม่ จนตายไป และสั่งให้โจยอยยิงกวางตัวลูก

แต่โจยอยไม่ยิง โดยบอกว่าท่านพ่อฆ่าแม่มันไปแล้ว ยังจะฆ่าลูกอีกหรือ ซึ่งคาดว่าคำพูดนี้คงจะทำให้โจผีเกิดสะท้อนใจและรำลึกถึงเอียนสีขึ้นมา จึงสั่งเลิกการล่าสัตรว์ในวันนั้น และหลังจากนั้นจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้โจยอยเป็นรัชทายาทอย่างเป็นทางการ

เกี่ยวกับโจยอยนี้ โจผีเคยระแคะระคายว่าจะไม่ใช่ลูกของตน เพราะหลังจากที่เขาได้นำเอาเอียนสีมาเป็นเมียหลังจากที่ได้พบกันครั้งแรกนั้น นางก็ได้ให้กำเนิดโจยอยออกมาหลังจากนั้น 7-8 เดือน ตอนแรกโจผีไม่ได้คิดอะไร แต่ภายหลังอาจเพราะการใส่ไฟของนางกวัวฮองเฮา ทำให้โจผีคิดว่าโจยอยเป็นลูกติดท้องของเอียนสีมาตั้งแต่สมัยที่เป็นเมียของอ้วนฮี
จะจริงหรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้ นี่ก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้โจผีต้องสั่งประทานยาพิษโจผีให้เอียนสี ซึ่งตัวเธอเองอาจจะเต็มใจรับโทษนี้ก็ได้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ หรืออาจจะเป็นเธอเองด้วยซ้ำที่ขอรับโทษนี้จากตัวโจผีเอง เพื่อแลกกับชีวิตและความมั่นคงในวันข้างหน้าให้กับโจยอย เพราะหลังจากที่เอียนสีตายจากไปนั้น โจผีก็มักที่จะรำลึกถึงเอียนสีเสมอ ตัวโจยอยเองก็ได้เป็นรัชทายาททั้งที่ชาติกำเนิดคลุมเครือ

หากว่าเธอไม่ได้มีความดีงามอย่างแท้จริงแล้ว โจยอยก็คงจะไม่อาจป็นรัชทายาทได้แน่นอน บุตรสาวของเอียนสีที่เกิดกับโจผีนั้นก็ได้ไปแต่งงานกับลูกผู้ดีและได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธิดา นี่แสดงว่าถ้าโจผีไม่ได้มีเยื่อใยหลงเหลือกับนางเอียนสีแล้ว ย่อมไม่มีทางแน่นอน โจยอยคงจะต้องตายไปแล้ว รวมไปถึงบุตรสาวคนที่เหลือก็คงไม่ได้มีชีวิตที่ดี
เรื่องราวของเธอได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ล้วนแต่ทำเงินมหาศาล และชื่อของเธอก็เป็นที่รู้จักไป ไม่แพ้เตียวเสี้ยน

หากแต่ที่ต่างกันคือเธอเป็นสตรีที่มีตัวตนจริงในยุคสามก๊ก และมีชีวิตที่พิศดารซึ่งเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น