วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก จูกัดเหลียง ขงเบ้ง

ขงเบ้ง
ขงเบ้ง
ประวัติสามก๊ก จูกัดเหลียง ขงเบ้ง
ฮกหลง ฮองซู หากได้มาคนใดคนหนึ่งจะสามารถครองแผ่นดินได้
นี่เป็นคำพูดที่สุมาเต็กโช ผู้มีฉายาว่าซินแสกระจกเงาซึ่งมีความเก่งกาจในการมองผู้คนได้ทะลุ กล่าวไว้กับเล่าปี่

ฮองซูหมายถึงนักปราชญ์ชื่อดังที่ชื่อว่าบังทอง
ส่วนฮกหลงนั้นหมายถึง ชาวนาหนุ่มผู้อาศัยอยู่ที่กระท่อม ณ เขาหลงจง ผู้ซึ่งมีชื่อว่า จูกัดเหลียง ขงเบ้ง

นามนี้เป็นที่ลือชื่อกระฉ่อนไปทั่วในยุคนั้น และจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านมาหลายพันปี ชื่อนี้ก็ยังคงถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกและเป็นชื่อที่คนอ่านสามก๊กรู้จักมากที่สุด ในฐานะของอัจฉริยะผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน

เรื่องราวของขงเบ้งมีการนำไปสร้างเป็นละครเป็นงิ้ว เป็นตำนาน นิทานต่อมาอีกมากมาย จนถึงขั้นกลายเป็นเทพเจ้าที่มีผู้คนนับถือและกราบไหว้ โดยเฉพาะที่มณฑลเสฉวน คนที่นั่นนับถือและยกย่องขงเบ้งประดุจเทพเจ้า เพราะที่เสฉวนนั้นเมื่อกว่าสองพันปีก่อนในยุคสามก๊กนั้น เป็นที่ตั้งของอาณาจักรซู่ฮั่นหรือจ๊กก๊ก ซึ่งขงเบ้งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชและช่วยเหลือพระเจ้าเล่าเสี้ยนปกครองอยู่กว่า 13 ปี

ขงเบ้งในภาพพจน์ของคนไทย ไม่สิคนทั่วโลกนั้น มักจะถูกมองว่าเหมือนกับผู้วิเศษที่หยั่งรู้ฟ้าดินได้ รู้ความเป็นไปของอนาคต จนถึงขนาดเรียกลมฝนได้ดั่งใจ จนบางทีจะออกไปทางไสยศาสตร์ด้วยซ้ำ บ้างก็มองขงเบ้งในแง่ของนักปกครองอัจฉริยะ และยอดเสนาธิการที่สามารถวางแผนการรบต่างๆได้ดุจเทพยดา

แต่ระยะหลังก็เริ่มมีการศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวของขงเบ้งในแง่มุมที่ต่างออกไปจากในอดีต หนังสือหลายเล่มที่เขียนขึ้นมาในระยะหลังนั้น เริ่มศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวของอัจฉริยะผู้นี้ ในแง่มุมที่ต่างออกไป โดยเจาะลึกไปในข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครได้ใส่ใจมาก่อน

ภาพลักษณ์ของคนอ่านสามก๊กในยุคหลังๆ ที่อ่านแบบละเอียดและตั้งข้อสังเกตนั้น เริ่มมองขงเบ้งในแบบที่ต่างออกไป บ้างก็ว่าขงเบ้งนั้นเป็นจอมสร้างภาพที่หลอกชาวโลกว่าตนเป็นอัจฉริยะ อีกมุมหนึ่งก็ว่าเป็นจอมเผด็จการที่วางแผนการทำให้ผู้คนต้องนองเลือดมากที่สุดในยุคสามก๊ก

คนอ่านสามก๊กยุคหลังเริ่มจะมองขงเบ้งในแบบที่เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนมากขึ้น เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีกิเลสตัณหา ความอยาก ความทะเยอทะยาน และความผิดพลาด เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งผลกระทบจากการค้นคว้าตรงนี้ไม่ได้เกิดแต่เพียงขงเบ้งเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงตัวละครสามก๊กที่เราๆต่างเชื่อว่าเป็นฝ่ายธรรมะมาตลอดอย่างเช่น เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย
สำหรับขงเบ้งที่ผมจะเขียนถึงในบทนี้นั้นจะมีความยาวเป็นพิเศษกว่าตัวละครอื่น และนอกเหนือจากการนำเสนอประวัติของขงเบ้งแล้ว ยังจะเสริมในส่วนของการวิเคราะห์ในเชิงลึก แต่ทั้งนี้มันเป็นความเห็นส่วนตัว อาจจะทำให้คนที่นิยมชมชอบในตัวขงเบ้งไม่ค่อยพอใจนัก ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า

และก็อย่าลืมว่าคนที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้นั้น เป็นคนที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสองพันปีก่อน เรื่องราวบางเรื่อง พวกเราย่อมไม่มีทางรู้แจ้งได้ ดังนั้นก็อย่าเชื่อผมไปซะหมดล่ะ

ประวัติโดยย่อ
จูกัดเหลียง หรือจูเก่อเหลียง ชื่อรองคือขงเบ้งหรือขงหมิง เกิดในปีค.ศ.181 อันเป็นปีเดียวกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

พูดถึงชื่อแค่ชื่อขงเบ้งหรือขงหมิงของเขานั้น มันก็แฝงความนัยอะไรไว้แล้ว

ตามประเพณีจีนนั้น เมื่อโตจนถึงวัยอ่านออกเขียนได้ ก็จะมีการตั้งชื่อรองขึ้นมาเพื่อให้สะดวกต่อการเรียกชื่อขงเบ้งนี้ก็เป็นชื่อที่เด็กน้อยนามเหลียงได้ตั้งขึ้น โดยนำคำว่าขงอันเป็นแซ่ของมหาปราชญ์ขงจื๊อมาผสมกับ เบ้งหรือหมิงที่แปลว่าแสงสว่าง

ที่ว่าแฝงความนัยก็เพราะว่าขงจื๊อนั้นเป็น 1 ใน 2 มหาปราชญ์ที่คนจีนยกย่องมากที่สุด ซึ่งอีกคนก็คือ เม่งจื๊อ
โจโฉ มีชื่อรองว่า เม่งเต๊อะซึ่งนำคำว่าเม่งมาจากแซ่ของเม่งจื๊อ ด้วยเหตุนี้ขงเบ้งจึสำทับด้วยการตั้งชื่อตนเองโดยเอา ขงเข้าข่มกับ เม่งของโจโฉ เพราะคนจีนถือว่าขงจื๊อนั้นเป็นปราชญ์ที่อยู่เหนือกว่าเม่งจื๊อ

นั่นคือขงเบ้งกับโจโฉเป็นศัตรูที่ได้เกทับกันแล้วตั้งแต่การชื่อรองของตนเอง โดยขงเบ้งเป็นฝ่ายเกทับก่อน เพราะเขาเกิดทีหลัง แต่กลับจงใจตั้งชื่อที่มีความนัยว่าเป็นการข่มโจโฉ

ทั้งที่ในชั่วชีวิตของพวกเขานั้น ไม่เคยได้พบเจอหน้ากันเลยแม้แต่ครั้งเดียว!!!

ตัวละครสองตัวที่โด่งดังที่สุดในสามก๊กอย่างขงเบ้งกับโจโฉ แถมเป็นศัตรูที่ต้องต่อสู้กันไปแทบชั่วชีวิตนั้น ไม่เคยเจอหน้ากันเลยแม้สักครั้ง แต่ขงเบ้งกลับมีความอยากเอาชนะโจโฉอย่างรุนแรงมาก ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ออกจากเขาโงลังกั๋งด้วยซ้ำ

จะว่าไปมันก็มีสาเหตุ ซึ่งตรงจุดนี้มีเกร็ดเล่าไว้ในสมัยเด็กของขงเบ้ง

ตัวขงเบ้งนั้นต้องกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เพราะบิดามารดาเสียชีวิตจนหมด ญาติพี่น้องที่เหลืออยู่ ก็มีจูกัดเหี้ยนผู้เป็นอา และพี่น้องอีกสี่คน โดยเป็นผู้ชายสองคน คนพี่คือจูกัดกิ๋น ซึ่งในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งอาณาจักรง่อก๊ก และจูกัดกุ๋นน้องชายอีกคนนั้น ภายหลังได้เข้ารับราชการที่อาณาจักรจ๊กก๊ก ในยุคที่ตัวเขาเป็นมหาอุปราช และยังมีพี่สาวอีกสองคนที่ไม่ได้ระบุชื่อไว้

ว่ากันว่าจูกัดเหลียงในวัยเด็กนั้นได้ประสบพบกับความวุ่นวายอันเกิดจากสงครามที่ระอุไปทั่วแผ่นดินภาคกลาง เขาได้พบเห็นสภาพความโหดร้ายของชาวบ้านที่ได้รับจากสงครามมามาก ครอบครัวของเขาเองนั้นก็จำเป็นต้องระหกระเหินหนีภัยสงครามอย่างไม่เป็นหลักแหล่ง นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเจ็บแค้นโจโฉ ซึ่งได้ทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพลในแดนภาคกลางและภาคเหนือ จริงอยู่ว่าเป้าหมายในการรวมแผ่นดินที่กำลังวุ่นวายให้สงบของโจโฉนั้น จะเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นสิ่งที่ถูกเมื่อดูจากสถานการณ์ในตอนนั้น แต่ขณะเดียวกันเขาก็ได้ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องล้มตายไปจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่เขาออกคำสั่งให้ฆ่าล้างเมืองชาวชีจิ๋ว เพื่อแก้แค้นให้พ่อของตนที่ตายเพราะถูกทหารของโตเกี๋ยมเจ้าเมืองชีจิ๋วฆ่า ว่ากันว่าครอบครัวของขงเบ้งเองก็ต้องประสบภัยหนีตายเพราะการฆ่าล้างเมืองครั้งนั้นด้วย

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านั่นคือมูลเหตุที่ทำให้ขงเบ้งคั่งแค้นโจโฉและมีความคิดเอาชนะจนกระทั่งวาระสุดท้าย แต่ก็เป็นไปได้มากทีเดียว

เพื่อหลีกหนีภัยสงครามที่ลุกลามไปทั่วภาคกลาง จูกัดเหี้ยนผู้เป็นอาจึงพาขงเบ้งและน้องๆลงไปขอพึ่งใบบุญเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ส่วนจูกัดกิ๋นพี่ชายของขงเบ้งซึ่งร่ำเรียนวิชาความรู้จนเป็นบัณฑิตที่มีชื่อนั้น ก็ได้ตัดสินใจลงไปหาความก้าวหน้าในชีวิตที่แดนกังหนำทางตอนใต้ ซึ่งเวลานั้นซุนเซ็กเจ้าแห่งกังหนำกำลังรับสมัครคนเก่งจำนวนมาก และจูกัดกิ๋นนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นบุตรกตัญญูที่ดูแลแม่เลี้ยงของตนเป็นอย่างดี เขาจึงถูกเชิญให้ไปรับราชการที่กังหนำ
ขงเบ้งและครอบครัวที่เหลือจึงอพยพลงไปขอพึ่งเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคนใจบุญชอบช่วยเหลือคน และครอบครัวของขงเบ้งก็ได้รับมอบที่ดินที่ตำบลหลงจงบนเขาโงลังกั๋งเพื่อไว้ใช้ทำนาเลี้ยงชีพ

เวลานั้นเป็นช่วงที่มีนักปราชญ์ บัณฑิตที่เก่งกาจและชื่อดังมากมายอพยพลงมาที่ดินแดนเกงจิ๋วเพื่อหลีกหนีภัยสงครามจากตอนเหนือและภาคกลางซึ่งขณะนั้นกำลังร้อนระอุไปทั่ว

ขงเบ้งในช่วงที่อยู่เกงจิ๋วนั้นยังเป็นหนุ่มวัยรุ่นอายุประมาณ 17-18 ปี และกำลังสนใจศึกษาหาความรู้ เพราะคิดว่านั่นเป็นทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้ตนเองเข้ามามีบทบาทในยุคสงครามนี้ได้

เขาได้มีโอกาสพบกับปราชญ์และบัณฑิตหนุ่มๆมากมายที่อาศัยอยู่แถบนั้น พวกเขามักจะจับกลุ่มกันไปชุนนุมและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน หลายคนในกลุ่มนี้นั้นเป็นผู้มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถมาก แต่พวกเขาต่างไม่สนใจรับราชการ ทั้งที่เล่าเปียวเองก็ชวนพวกเขา ซึ่งสาเหตุนั้นจะเจาะลึกทีหลัง

คนที่เป็นกลุ่มอาวุโสของปราชญ์กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย ซินแสสุมาเต๊กโช ผู้มีฉายาว่าซินแสกระจกเงา เพราะสามารถมองทะลุถึงคนแต่ละคนได้ และก็คหบดีใหญ่บังเต๊กกงซึ่งร่ำรวยและยังเป็นบัณฑิตชื่อดัง แต่ไม่คิดรับราชการ เขาคนนี้มีหลานชายซึ่งภายหลังก็ได้เป็นเพื่อนสนิทของขงเบ้งและเป็นหนึ่งในกุนซือชื่อดังแห่งยุค นั่นคือบังทอง

และสุดท้ายคือหวังตันเอี๋ยน คนนี้คล้ายกับบังเต๊กกงที่รวยทั้งทรัพย์สินและปัญญา แต่มีข้อด้วยอยู่อย่างที่ทำให้คนมักไม่ไปชุนนุมที่บ้านของเขา นั่นก็คือเขามีลูกสาวอยู่หนึ่งคนที่ได้ชื่อว่ามีหน้าตาอัปลักษณ์อย่างที่สุด ซึ่งเฉินโซ่วได้บรรยายไว้ว่า มีผิวกายสีคล้ำ เส้นผมสีเหลือง ว่ากันว่าเธอมีสายเลือดของชนนอกด่านอยู่ครึ่งหนึ่งเพราะแม่ของเธอเป็นชาวนอกด่าน ชื่อของนางคือหวังเย่อิง

แต่ในความอัปลักษณ์นั้น เธอกลับซ่อนความชาญฉลาดเอาไว้ ว่ากันว่าเธอเป็นหญิงที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ แตกฉานในศาสตร์หลายแขนง เช่นดาราศาสตร์ งานประดิษฐ์ การคำนวณ และพิธีกรรมที่ออกไปทางไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นของที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเธอ

ขงเบ้งนั้นได้ตัดสินใจในสิ่งที่ทำให้คนทั้งเกงจิ๋วถึงกับงงเป็นแถบ นั่นคือการเลือกผู้หญิงที่ชาญฉลาดแต่แสนจะอัปลักษณ์คนนี้เป็นภรรยา

เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ของขงเบ้งนั้น มีความเห็นที่น่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป

บ้างก็ว่าเพราะขงเบ้งเลือกที่ความฉลาดของเธอมากกว่าหน้าตาซึ่งสักวันก็ต้องโรยราไป แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง จะคิดได้ว่า เพราะขงเบ้งต้องการวิชาความรู้มากมายหลายแขนงของเธอจึงยอมแต่งด้วย บ้างก็ว่าเพราะเธอเป็นลูกสาวของคนดัง ดังนั้นเขาจึงยอมแต่งเพื่อที่ตนเองจะได้มีชื่อเสียงเพียงพอที่จะทำให้คนใหญ่คนโตได้ยินเข้า

หากมองในแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่าขงเบ้งนั้นไม่ได้แต่งงานกับเธอเพราะความจริงใจแต่หวังผลประโยชน์ที่จะได้รับในภายหลัง

ระหว่างความรู้และชื่อเสียงที่จะได้รับ กับชีวิตคู่ที่ได้ภรรยาสะคราญโฉม ขงเบ้งเลือกอันแรก ซึ่งกว่าที่ขงเบ้งจะมีลูกคนแรกกับภรรยาคนนี้ได้นั้นก็หลังจากที่แต่งงานไปแล้วเป็นสิบปี

การที่ได้แต่งงานกับลูกสาวคนดังนั้นทำให้ชื่อของขงเบ้งเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการและผู้มีชื่อเสียงในเกงจิ๋ว เขาเริ่มคบหาสมาคมกับผู้มีความรู้หลายคน คนที่เด่นๆก็มี

บังทองหลานชายของคหบดีใหญ่บังเต๊กกง ซึ่งถือว่าเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการยอมรับมากในความรู้ความสามารถ ขงเบ้งจะคบหาและสนิทสนมกับบังทองมากเป็นพิเศษ จนกระทั่งสุมาเต็กโชให้ฉายาทั้งคู่รวมกันว่าเป็น ฮกหลงกับฮองซู หรือมังกรหลับและหงส์อ่อน ขงเบ้งเองก็นับถือบังทองมาก ในภายหลังเขาเคยบอกกับเล่าปี่ว่าด้านการวางกลยุทธ์แล้ว บังทองเหนือกว่าตนซะอีก

ชีซี เป็นคนหนุ่มที่หนีมาอยู่ที่เกงจิ๋วเช่นกัน เพราะได้ฆ่าคนตายที่บ้านเกิดจึงกลายเป็นผู้ร้ายต้องอาญา แต่เขาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและขึ้นชื่อในเรื่องความกตัญญูสูงมาก และยังเป็นนักวิชาการเพียงไม่กี่คนในเกงจิ๋วที่ถนัดด้านบู๋ด้วย
ม้าเลี้ยง ม้าเจ๊ก สองพี่น้องตระกูลม้า เป็นตระกูลใหญ่ในแถบนั้นเช่นกัน(คนละม้ากันกับของม้าเฉียว) มักจะแวะมาคลุกคลีกับนักวิชาการหนุ่มอย่างพวกขงเบ้งเสมอ โดยเฉพาะม้าเจ๊กซึ่งพูดจาโต้ตอบได้ฉะฉานนั้น ขงเบ้งให้ความรักใคร่เอ็นดูเหมือนเป็นน้องชาย

มีนักวิชาการนักปราชญ์อีกหลายคนที่ขงเบ้งคบหาและแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งก็ดำเนินมาหลายปี จนในที่สุดต่างคนต่างก็เริ่มแยกย้ายกันไปเพื่อแสวงหาความก้าวหน้า

บังทองนั้นตัดสินใจออกเดินทางไปทั่วแผ่นดินเพื่อหาประสบการณ์ ส่วนขงเบ้งนั้นทำตรงข้ามนั่นคือเก็บตัวศึกษาค้นคว้าตำราและวิชาความรู้อยู่ในกระท่อมที่หลงจงโดยไม่ไปไหน

หลายคนสงสัยว่าในเมื่อมีคนเก่งมากมายมาชุมนุมกันอยู่ที่เกงจิ๋ว แล้วทำไมพวกเขาไม่มาทำงานให้กับเล่าเปียว ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์พวกเขา

นั่นเพราะนักวิชาการในเกงจิ๋วนั้นได้แบ่งเป็นสามฝ่าย ฝ่ายแรกคือพวกที่ทำงานให้เล่าเปียว เช่นกลุ่มของอี้เจีย เก็งเหลียง เก็งอวด ฝ่ายที่สองคือพวกที่ไม่นิยมเล่าเปียวซึ่งกลุ่มของขงเบ้ง บังทองอยู่ฝ่ายนี้ และสุดท้ายคือพวกที่แสวงหาความสงบไม่คิดรับราชการ นำโดยสุมาเต๊กโช

สาเหตุนั้นไม่แน่ชัดว่าทำไมเล่าเปียวจึงไม่ได้รับความนิยม ทั้งที่เขาก็ช่วยเหลือคนเหล่านี้ไว้ คนพวกนี้น่าที่จะทำงานเพื่อตอบแทนบุญคุณ แต่อาจเพราะเล่าเปียวนั้นขาดความทะเยอทะยานหรืออุดมการณ์ในการที่ช่วยชาติที่กำลังวุ่นวายอยู่ เล่าเปียวนั้นไม่ได้ถือนโยบายการขยายดินแดนเช่นเดียวกับเจ้ามณฑลคนอื่นๆ ทั้งที่ศักยภาพของกองทัพเกงจิ๋วนั้นมีมากพอที่จะขยายอาณาเขตในภาคใต้และทำให้เกิดเอกภาพขึ้นมาได้มาก แต่เล่าเปียวเป็นเจ้ามณฑลที่ค่อนข้างจะพอใจในสภาพที่ตัวเองเป็นอยู่ จนเหมือนกับว่าขอเพียงอยู่อย่างสงบไปวันๆโดยไม่คิดจะทำอะไร อีกทั้งนิสัยส่วนตัวยังขาดความเด็ดขาด ดังนั้นแม้จะช่วยคนไว้มาก แต่คนเหล่านั้นที่เขาช่วยไว้ ส่วนใหญ่ก็ไม่คิดจะทำงานให้ จะว่าไปก็เหมือนกับคนที่ทำคุณคนไม่ขึ้น

หากเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองสงบสุข คนเช่นเล่าเปียวคงจะเป็นขุนนางที่มีแต่ผู้คนรักใคร่ และเป็นตงฉินผู้อารี แต่ในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย ต้องการผู้มาสยบความวุ่นวายนั้น ความทะเยอทะยานและอุดมการณ์อันแรงกล้าก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เป็นใหญ่จะต้องมี ในเมื่อเล่าเปียวขาดสิ่งนี้ เขาจึงไม่อาจเป็นได้มากกว่าเจ้ามณฑลคนหนึ่งเท่านั้น

นี่เป็นเหตุให้นักวิชาการและกุนซือที่มีความสามารถหลายคนโดยเฉพาะกลุ่มของขงเบ้งนั้นไม่คิดจะทำงานให้ เพราะถึงไปอยู่ด้วยก็ไม่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ในยุคสามก๊ก ซึ่งถือว่ากลียุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นสามัญชนหรือชาวนาที่ต่ำต้อยแค่ไหนก็ตาม หากว่าคนผู้นั้นมีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า และกระสันที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศล่ะก็ คนผู้นั้นก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้
ขงเบ้งเองก็เป็นคนทะเยอทะยาน เพียงแต่ความทะเยอทะยานของเขานั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เขาเป็นผู้หนึ่งที่คิดจะมีบทบาทในยุคสงครามนี้และคิดเข้ามามีส่วนในอำนาจการปกครองอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงไม่ซุ่มเก็บตัวศึกษาวิชาเพื่อรอคอยโอกาส

ขงเบ้งเก็บตัวฝึกวิชาได้หลายปี ความรู้ความสามารถเริ่มแก่กล้ามากขึ้น แต่เขาก็ยังไม่ออกมาแสดงฝีมือสู่โลกภายนอก ทั้งนี้เพราะเขายังไม่สามารถหาเจ้านายคนที่จะสามารถชักนำเขาออกมาสู่โลกภายนอกได้

เคยมีคนสงสัยว่าทำไมขงเบ้งถึงไม่ไปทำงานให้กับโจโฉ ซุนกวน เล่าเปียวหรือคนอื่นๆแต่กลับเลือกเล่าปี่
สำหรับเหตุผลนั้นก็อย่างที่บอกไปข้างต้น

กับโจโฉนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ขงเบ้งจะไปอยู่ด้วย เพราะมีความแค้นและความอยากเอาชนะฝังหัวอยู่ ที่สำคัญเลยคือโจโฉมีคนเก่งอยู่มากมาย ถึงขงเบ้งไปอยู่ด้วย อย่างมากก็เป็นแค่หนึ่งในทีมงานที่ปรึกษาเท่านั้น

ฝ่ายกลุ่มของซุนกวนเองก็มีจิวยี่เป็นตัวหลัก และยังมีที่ปรึกษาอื่นที่ตกทอดมาจากสมัยซุนเกี๋ยนและซุนเซ็กอีกพอสมควร
กลุ่มเล่าเปียว....ก็อย่างที่บอกไปว่าเล่าเปียวขาดความทะเยอทะยาน สำหรับขงเบ้งที่มีความมุ่งมั่นของตนเอง และต้องการแสดงฝีมือให้โลกประจักษ์นั้น ไปอยู่ด้วยย่อมไม่มีประโยชน์

ดังนั้นตัวเลือกที่เหลือก็คือเล่าปี่เท่านั้น ยิ่งเมื่อเล่าปี่ได้ยินชื่อเสียงของขงเบ้งและเดินทางมาหาถึงสามครั้ง ขงเบ้งจึงคิดว่าถึงแก่เวลาซะที

การสนทนา ณ หลงจง อันป็นการปรึกษาหารือกันถึงเรื่องแผ่นดินระหว่างเล่าปี่และขงเบ้งนั้น เป็นการเผยความในใจที่สำคัญของเล่าปี่และขงเบ้งออกมาได้ดีทีเดียว ยิ่งถ้าหากว่าใครอ่านสามก๊กอย่างน้อยสัก 2-3 รอบขึ้นไปจะเริ่มจับได้ถึงความทะเยอทะยานอันแรงกล้าของสองคนนี้

ขงเบ้งนั้นคาดการณ์ว่าแผ่นดินจะแตกออกเป็นสาม ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครมองออก แต่ก็ยังมีคนที่คิดแบบเดียวกับเขาอยู่อีกสองคน นั่นคือโลซกที่ปรึกษาของซุนกวน และซุนฮกที่ปรึกษาใหญ่ของโจโฉ

ตามแผนการของขงเบ้งที่ได้เสนอต่าเล่าปี่ที่กระท่อมหลงจงนั้น หากเราอ่านสามก๊กหรือว่าดูหนังให้ละเอียดแล้ว สามารถพูดได้เต็มปากว่าทั้งสองคนมีความอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างเต็มเปี่ยม และพร้อมที่จะทรยศหักหลังพันธมิตรของตนเองได้เมื่อแผนสำเร็จ

กล่าวคือ ขงเบ้งได้เสนอให้เล่าปี่ทำการยึดอำนาจการปกครองเกงจิ๋วมาจากเล่าเปียว โดยให้เหตุผลว่าเล่าเปียวเป็นคนไม่เอาไหน

จริงอยู่ว่าเล่าเปียวอาจไม่เอาไหนจริง แต่อย่าลืมว่าเล่าเปียวนี่แหละคือผู้ที่ให้การอุปถัมภ์เล่าปี่และขงเบ้งในยามที่พวกเขาตกอับที่สุด แล้วพวกเขาทั้งคู่ยังพร้อมที่จะหักหลังได้อย่างหน้าตาเฉย การที่ขงเบ้งเสนอแผนแบบนี้ อาจแสดงออกว่าเขาตัดใจพร้อมที่จะทำทุกอย่างแล้ว

หากเราประณามโจโฉเป็นจอมเจ้าเล่ห์แล้วล่ะก็ ขงเบ้งเองก็จัดว่าร้ายไม่แพ้โจโฉเลย

ขงเบ้งเสนอต่อไปว่า เมื่อยึดเกงจิ๋วได้ ต่อไปก็ให้ผูกพันธมิตรกับซุนกวนทางตอนใต้ เพื่อต้านโจโฉ แล้วจากนั้นจึงค่อยใช้ทหารเกงจิ๋วเป็นฐานกำลังในการเข้าตีเสฉวนทางภาคตะวันตกเพื่อยึดเอาเป็นดินแดนปกครองของตนเอง

จากนั้นก็สร้างกำลังให้แข็งแกร่ง แล้วส่งแม่ทัพที่เก่งกาจนำกำลังบุกจากทางเสฉวน ส่วนทางเล่าปี่ก็นำกำลังทหารจากเกงจิ๋วบุกขึ้นเหนือ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถพิชิตโจโฉและรวมแผ่นดิภาคกลางและเหนือไว้ได้

สำหรับพันธมิตรกับซุนกวนนั้น เนื่องจากว่าแผ่นดินเดียวมีฮ่องเต้สององค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสวรรค์แล้วว่าสุดท้ายใครจะเป็นฝ่ายมีชัย

จากการแผนการที่ขงเบ้งเสนอมานั้น เล่าปี่ได้ปฏิเสธกรณียึดเกงจิ๋วแบบแกนๆ ด้วยอ้างเหตุว่าเล่าเปียวกับตนต่างก็เป็นคนแซ่เล่าเหมือนกัน ดังนั้นมันจะน่าเกลียดที่ไปยึดเอาเมืองของเขา แต่ขงเบ้งได้พูดกล่อมจนเล่าปี่ยอมรับแผนนี้

หลังจากนั้นขงเบ้งก็ได้ตามเล่าปี่ลงจากเขาและมาทำงานให้ในฐานะเสนาธิการทหาร โดยหน้าที่หลักคือการฝึกฝนทหาร ซึ่งขงเบ้งได้นำเอารูปแบบค่ายกลที่ตนคิดนำฝึกให้ทหารเล่าปี่ จนในเวลาไม่นานกองทัพเมืองซินเอี๋ยของเล่าปี่ก็เข้มแข็งขึ้นมามาก

มีบันทึกเป็นหลักฐานชัดเจนในสมัยถัง หลังจากยุคสามก๊กไปหลายร้อยปี จากในตำราพิชัยสงครามของหลี่จิ้ง แม่ทัพไร้พ่ายในยุคนั้นถึงเรื่องการอ้างอิงกลยุทธ์และการฝึกค่ายกลจากในตำราพิชัยสงครามของขงเบ้ง แสดงว่าขงเบ้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการฝึกทหารไม่น้อย

ขณะนั้น โจโฉซึ่งสามารถรวบรวมตงง้วนให้เป็นหนึ่งได้ ก็ตัดสินใจยกทัพที่มีจำนวนหลายแสนคนคนลงมาทางใต้ เพื่อเตรียมยึดเกงจิ๋วของเล่าเปียวและกังหนำของซุนกวน

ทหารกว่าแสนคนของโจโฉนั้นทำให้ผู้คนทางใต้หวาดกลัวมาก ทางฝ่ายเกงจิ๋วเองก็กำลังวุ่นวายเพราะเล่าเปียวเกิดป่วยตายกระทันหัน เล่าจ๋องบุตรคนเล็กได้ขึ้นนั่งเมืองแทน ภายใต้การบงการของมารดาชัวฮูหยิน และก็ได้ตัดสินใจสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ

นั่นเหมือนฟ้าผ่าลงที่กลางหัวเล่าปี่และขงเบ้ง แผนการที่วางไว้พังครืนลงทันที และกลุ่มของเล่าปี่จำต้องอพยพหนีตายทิ้งเมืองเกงจิ๋ว เพื่อลงมาทางตอนใต้ที่เมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ที่ตีฉากมาตั้งมั่นอยู่ก่อน

ช่วงเหตุการณ์ตรงนี้มีเรื่องราวมากมายที่ได้ทำให้เป็นตำนานอีกหลายบทในเรื่องสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็นวีรกรรมการบุกตะลุยทหารนับแสนคนเพื่อช่วยอาเต๊าของจูล่ง หรือว่าเตียวหุยที่บ้าบิ่นยืนประจันหน้าทหารของโจโฉเพียงลำพังที่หน้าสะพานเตียงปันเกี้ยว แต่จะไม่กล่าวถึงเพราะว่าขงเบ้งไม่ได้มีส่วนด้วยเลยแม้แต่น้อย

อันที่จริงก่อนที่เล่าปี่จะต้องอพยพหนีลงมานั้น ได้มีศึกที่เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของขงเบ้งในสนามรบด้วย ซึงหลายคนคงรู้จัก นั่นคือศึกเผาทุ่งพกป๋องและศึกเผาเมืองซินเอี๋ย

เพียงแต่ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าสองศึกนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงรึเปล่า เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นเรื่องแต่งที่หลอก้วนจงแต่งเพิ่มขึ้นในฉบับนิยายเพื่อสร้างขงเบ้งให้เด่นขึ้น ในประวัติศาสตร์จีนเองนั้นบันทึกเหตุการณ์ช่วงที่ขงเบ้งลงจากเขาว่ามาช่วยเล่าปี่ฝึกทหารในฐานะเสนาธิการกองทัพ และได้รับการยกย่องอย่างมาก จากนั้นก็พูดถึงการอพยพหนีลงใต้ของเล่าปี่ โดยไม่ได้กล่าวถึงยุทธการทั้งสองไว้เลย

ปัจจัยหลักๆก็คือระยะเวลาในยุทธการทั้งสองนั้นมันกระชั้นชิดเกินไป โดยยึดจากฉบับประวัติศาสตร์ของเฉินโซ่วนั้น ได้บันทึกไว้ว่าขงเบ้งลงจากเขามาอยู่กับเล่าปี่ในช่วงฤดูหนาวต้นปีของปี ค.ศ. 208 จากนั้นขงเบ้งก็เริ่มทำงานให้เล่าปี่ จนถึงเดือน 9 กองทัพของโจโฉจึงได้เข้าประชิดเมืองซินเอี๋ย เล่าจ๋องยอมสวามิภักดิ์ โจโฉจึงยึดได้เกงจิ๋วทางตอนบนทั้งหมด และตั้งทัพไว้ที่เมืองกังเหลง ส่วนเล่าปี่นั้นหนีไปอยู่เมืองแฮเค้า ต่อมาเดือน 12 ในปีเดียวกัน พันธมิตรเล่าปี่ซุนกวนก็ก่อกำเนิดขึ้น และจับมือกันตอบโต้ฝ่ายโจโฉ จนเกิดยุทธการที่ผาแดงหรือศึกเซ็กเพ็กอันโด่งดังที่สุดในสามก๊กขึ้น
ช่วงระยะเวลาที่ขงเบ้งมาอยู่กับเล่าปี่ จนถึงตอนที่ได้อพยพหนีทัพโจโฉนั้น เป็นเวลาประมาณ 8-9 เดือน ซึ่งอาจมองว่าเป็นเวลาที่มากพอดูแต่การเดินทางไปทำสงครามในสมัยนั้นเป็นระยะทางไกลมาก ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือนก็ถึง ที่สำคัญคือในศึกเผาทุ่งพกป๋องและศึกเผาเมืองซินเอี๋ย อันเป็นการแจ้งเกิดของขงเบ้งในนิยายนั้น ฝ่ายโจโฉได้นำกำลังทหารเข้าตีกว่าแสนคน หากว่าต้องพ่ายยับกลับไปถึงสองครั้งติดๆกัน ขวัญทหารมีหวังพินาศหมดสิ้น โจโฉคงจะไม่กล้ายกทัพใหญ่มาอีกเป็นครั้งที่สามแน่

ศึกเผาทุ่งพกป๋องซึ่งเป็นศึกแรกของขงเบ้งนั้น มีโอกาสเป็นไปได้มากพอสมควรว่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นศึกลองเชิงของฝ่ายโจโฉ และเมื่อพ่ายแพ้กลับไป โจโฉจึงตัดสินใจยกทัพใหญ่มาด้วยตนเอง ในขณะที่ยุทธการเผาเมืองซินเอี๋ยอันเป็นศึกที่สองของขงเบ้งนั้น โอกาสเป็นไปได้ยากมากเมื่อคำนึงถึงระยะเวลาและหลักความจริงต่างๆ เพราะการเผาเมืองๆหนึ่งไม่ใช่เรื่องล้อเล่น มันต้องอาศัยระยะเวลามากพอในการอพยพผู้คนออกไปจากเมือง แม้เมืองซินเอี๋ยจะเป็นเมืองเล็ก แต่เป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยร่วมแสนคน นอกจากนี้ตำแหน่งเจ้าเมืองซินเอี๋ยของเล่าปี่ก็ได้มาเพราะเล่าเปียวเป็นคนแต่งตั้งให้เพื่อให้เล่าปี่เป็นกันชนกับทางโจโฉ หากจะใช้แผนเผาเมืองจริง จำต้องขออนุญาตจากเล่าเปียว ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์เช่นนี้คงไม่ได้รับการอนุมัติเป็นแน่

ดังนั้น เมื่อดูจากสภาพความเป็นจริง กลยุทธ์เผาเมืองซินเอี๋ยมีโอกาสสูงมากที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง น่าจะเป็นเพียงการแต่งเสริมเพื่อแสดงภูมิปัญญาของขงเบ้ง ศึกที่น่าจะเป็นจริงน่าจะเป็นศึกเผาทุ่งพกป๋องมากกว่า

วกกลับที่การอพยพลงใต้ เมื่อเล่าปี่ได้อพยพลงมาที่แฮเค้าแล้วก็ได้จัดการส่งขงเบ้งไปเป็นทูตในการเจรจาเป็นพันธมิตรกับทางซุนกวน โดยในฉบับนิยายได้สร้างเรื่องราวไว้อย่างเผ็ดมันและน่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ขงเบ้งโต้คารมเอาชนะที่ปรึกษาของซุนกวน และการยั่วยุจิยี่ให้ร่วมทำศึกและการชิงไหวชิงพริบระหว่างขงเบ้งกับจิวยี่

โดยเรื่องหลักคือในนิยายนั้นแต่งให้ขงเบ้งเป็นตัวเด่นในการเตรียมทำศึกโดยเป็นผู้ออกอุบายต่างๆ โดยมีจิวยี่รับบทเป็นตัวอิจฉา แต่ตามประวัติศาสตร์จริงนั้น คนที่เด่นที่สุดในช่วงการเตรียมทำศึกเซ็กเพ๊กและมีผลงานสูงสุดของศึกนี้ก็คือจิวยี่
แต่กระนั้นหลอก้วนจงก็ยังเสริมให้ขงเบ้งเด่นขึ้น ด้วยการให้ขงเบ้งวางแผนเก็บธนูนับพันดอกด้วยการนั่งเรือไปในวันที่หมอกหนาแล้วใช้หุ่นฟางปักเพื่อล่อทหารโจโฉให้ยิงใส่

คิดตามหลักความจริง ขงเบ้งไปอยู่ที่กังหนำในฐานะของทูตเจรจาและเสนาธิการร่วม คอยช่วยเหลือในการวางแผนรบ แต่จิวยี่แม่ทัพใหญ่กลับใช้ให้ขงเบ้งสร้างธนูนับพันดอกให้เสร็จทันในสามวัน ถ้าไม่ได้จะตัดหัว
แม่ทัพใหญ่ประสาอะไรกันที่ออกคำสั่งงี่เง่าแบบนั้น อยู่ดีๆก็หาเรื่องกับเสนาธิการของตัวเอง แถมใช้ให้ไปทำงานแบบกรรมกร ทั้งที่ใกล้จะรบกันอยู่รอมร่อ

เรื่องที่ขงเบ้งเรียกลมก็เช่นกัน ก่อนอื่นต้องเท้าความหน่อยสำหรับคนไม่รู้ นั่นคือจิวยี่ตัดสินใช้แผนเพลิงพิฆาตทัพเรือของโจโฉ ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ขาดแต่เพียงลมตะวันออกที่ไม่พัดมา จึงต้องวานให้ขงเบ้งใช้การตั้งแท่นบูชาเรียกลมมา

ในนิยายบางเล่มนั้นได้ทำให้ดูเหมือนว่าขงเบ้งรู้ทิศทางลม ดูออกว่าลมจะมาเมื่อไหร่จึงแกล้งทำเป็นจัดพิธีขึ้นให้ดูสมจริง
แต่จากสภาพความเป็นจริงนั้น จิวยี่ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพเรืออันดับหนึ่งของยุคสามก๊ก อาศัยอยู่ที่กังหนำกว่าสิบปี และมีประสบการณ์การเดินเรืออย่างโชกโชน จะแย่ถึงขนาดที่ไม่สามารถอ่านทิศทางลมหรือรู้สภาพภูมิอากาศของถิ่นตัวเองได้เลยหรือ

ขงเบ้งในฉบับนิยายนั้นได้ถูกสร้างให้มีความเก่งกาจจนเกินจริง จนดูเหมือนกับเป็นพ่อมดที่มีอภินิหารไปซะมากกว่าที่จะเป็นยอดกุนซือ

แต่หากจะสรุปผลงานของขงเบ้งในศึกเซ็กเพ๊กที่พอเป็นรูปธรรมก็คือ การเป็นผู้เจรจาและประสานงานการสร้างแนวร่วมพันธมิตรกับทางกังหนำโดยขงเบ้งเป็นตัวแทนฝ่ายเล่าปี่ และโลซกเป็นตัวแทนฝ่ายซุนกวน และด้วยความพยายามของทั้งสอง จึงสามารถสร้างพันธมิตรเล่า-ซุนในการต้านโจโฉขึ้นได้ ซึ่งหากพันธมิตรนี้ไม่เกิดขึ้นมา การต้านทานโจโฉก็คงจะเป็นเรื่องยาก วีรกรรมของขงเบ้งในศึกนี้จึงอยู่ที่การเจรจาเรื่องผลประโยชน์และการเมือง ไม่ใช่ผลงานการศึกอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ

ช่วงก่อนศึกเซ็กเพ็ก ขงเบ้งก็กลับไปอยู่กับเล่าปี่ตามเดิม และภายหลังเมื่อกองทัพของโจโฉพ่ายแพ้ถูกเผาทำลายและต้องล่าถอยขึ้นเหนือ พื้นที่บางส่วนของเกงจิ๋วก็ยังคงอยู่ในการปกครองและเขตอิทธิพลของโจโฉอยู่ โดยเฉพาะที่เมืองกังเหลงซึ่งถือว่าเป็นหัวเมืองในการขึ้นเหนือ โดยโจโฉได้ใช้ให้โจหยินเป็นแม่ทัพอยู่รักษาเมืองกังเหลงอย่างแข็งขัน
ในการศึกนี้ จิวยี่ยกกองทัพง่อเข้าโจมตีเมืองกังเหลงดุจพายุ โจหยินได้ใช้ความสามารถทั้งหมดต้านทานอย่างเต็มที่ ซึ่งศึกนี้เป็นศึกที่มีรายละเอียดในนิยายและในประวัติศาสตร์ต่างกันมาก ในนิยายนั้นจิวยี่ได้ถูกลูกธนูโจมตีจนบาดเจ็บ แต่ก็อาศัยอาการบาดเจ็บนี้ในการล่อหลอกทัพของโจหยินให้ออกมาตามตีนอกเมือง จิวยี่จึงทำการตลบหลังใช้ทัพดักซุ่ม จัดการกับทัพของโจหยินได้ โจหยินไม่อาจถอนทัพกลับเข้าเมืองจึงจัดสินใจหนีขึ้นเหนือไปยังเซียงหยาง แล้วจิวยี่จึงยกทัพเข้าเมืองกังเหลง แต่ปรากฏว่าถูกขงเบ้งที่คาดการไว้ก่อนแล้ว ส่งจูล่งให้นำกองทัพเข้ามายึดกังเหลงในระหว่างนั้น กังเหลงจึงตกเป็นของเล่าปี่ไป แล้วภายหลังเมื่อซุนกวนต้องการทวงเมืองนี้ ขงเบ้งจึงได้ขอทำสัญญายืมเมืองนี้พื่อให้เป็นฐานที่มั่นแก่เล่าปี่จนกว่าจะเข้ายึดเสฉวนได้ ซึ่งโลซกได้ยอมเป็นผู้ค้ำประกัน ท่ามกลางความไม่พอใจของซุนกวนและจิวยี่

แต่ในประวัติศาสตร์นั้นบันทึกไว้ต่างกันมาก โดยกล่าวว่าโจหยินได้ต้านรับอยู่ที่กังเหลงนี่นานถึง 1 ปีเต็ม และสามารถให้จิวยี่บาดเจ็บในศึกนี้เช่นกัน แต่หลังจากต้านทานอยู่นาน โจหยินพบว่าไม่อาจจะต้านได้นานไปกว่านี้ จึงตัดสินใจถอยทัพขึ้นเหนือไปยังเซียงหยางก่อนที่จะเป็นฝ่ายเสียหายและพ่ายแพ้กว่านี้แทน จิวยี่จึงได้ยกทัพเข้ายึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ แต่ขงเบ้งได้เดินทางมาขอยืมเมืองนี้กับทางซุนกวน ซึ่งขงเบ้งได้อาศัยการแจกแจงแก่โลซก และโลซกเองก็เห็นด้วยที่จะให้เล่าปี่เป็นโล่คอยยันอำนาจของโจโฉ ซึ่งซุนกวนเองเห็นชอบกับนโยบายนี้ด้วยซ้ำ แต่ผู้ที่คัดค้านกับเรื่องนี้ซึ่งเหมือนกันทั้งในนิยายและในประวัติศาสตร์คือจิวยี่ เพราะเขาคือคนที่เหนื่อยที่สุด แต่ง่อกลับไม่ได้อะไรเลย และกลายเป็นว่าเล่าปี่ได้ประโยชน์สูงสุดไป

เกี่ยวกับกรณีนี้ ในนิยายสามก๊กแม้จะดูเป็นการใช้ปัญญาได้เมืองมาโดยไม่เสียกำลังของขงเบ้ง แต่เท่ากับฝ่ายเล่าปี่โกงซุนกวนอย่างมาก ในขณะที่ตามประวัติศาสตร์ วิธีการของขงเบ้งแม้จะดูเอาเปรียบฝ่ายง่อแต่ก็ยังดูเบาและเป็นที่น่ายอมรับมากกว่าตามในนิยาย อีกทั้งยังดูเป็นลูกเล่นกับแผนทางการเมือง การเจรจาที่เหนือชั้นของขงเบ้งด้วยซ้ำ
คาดว่าหลอก้วนจงหรือ รุ่นหลังอย่างเหมาจงกัง ผู้แต่งนิยายสามก๊กน่าจะต้องการเพิ่มความสามารถทางกลยุทธ์ทางทหารให้แก่ขงเบ้งมากกว่า เพราะบทบาทของขงเบ้งในประวัติศาสตร์ช่วงศึกเซ็กเพ๊กและไปจนถึงช่วงที่เล่าปี่ได้ดินแดนเสฉวนนั้น เป็นบทบาทในด้านการบริหารและการเจรจาทางการเมือง ไม่ได้แสดงความสามารถเชิงการทหารเท่าไรนัก จึงมีการแต่งเรื่องราวออกมาเช่นนั้น แต่มันทำให้วิธีการของขงเบ้งครั้งนี้ดูโกงฝ่ายง่อมาก ทั้งที่ในประวัติศาสตร์แล้ว นี่เป็นผลงานทางการเมืองชิ้นสำคัญของขงเบ้งที่อาศัยนโยบายของโลซกให้เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้เห็นชอบได้ ทั้งที่ลึกๆแล้ว เขาเองก็คงไม่พอใจเหมือนกับจิวยี่เท่าใดนัก

หลังจากได้กังเหลงเป็นฐานกำลัง ขงเบ้งมีส่วนช่วยเหลือเล่าปี่ในการขยายเขตแดนทางใต้ของเกงจิ๋ว ซึ่งฝ่ายเล่าปี่สามารถยึดมาได้ 4 หัวเมืองโดยอาศัยกวนอู เตียวหุย จูล่ง เป็นแม่ทัพในการบุกตะลุยและยังได้ทหารเอกเข้ามาเพิ่มอีกสองคน นั่นคือฮองตงกับอุยเอี๋ยน ซึ่งผลงานสำคัญของขงเบ้งในช่วงนี้คือการช่วยเหลือเล่าปี่ในการจัดระเบียบการปกครองของเมืองเกงจิ๋วที่ยึดมาได้ อีกทั้งยังต้องคอยทำหน้าที่ทางการทูตกับฝ่ายซุนกวนที่คอยเร่งเวลาให้เล่าปี่เข้าโจมตีเสฉวนโดยไว เพื่อจะได้คืนเกงจิ๋วให้ซุนกวนเสียที ขงเบ้งได้พยายามเตะถ่วงเรื่องนี้โดยอ้างความไม่พร้อมของกองทัพเล่าปี่ ว่ายังไม่สามารถเข้าโจมตีเสฉวนได้ อีกทั้งเล่าเจี้ยงผู้ครองเสฉวนก็เป็นคนแซ่เล้าเช่นกัน เรื่องนี้จึงต้องกระทำเมื่อถึงเวลาเหมาะสม
มณฑลเสฉวนในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเล่าเจี้ยง เป็นดินแดนที่มีชัยภูมิยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยเขาสูง เส้นทางก็ทุรกันดาร ยากที่ศัตรูจะตีแตกได้ อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ ว่ากันว่าข้าวที่ผลิตในเสฉวนนั้น สามารถเลี้ยงประชากรชาวจีนได้ถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว

เล่าปี่นั้นเคยปฏิเสธขงเบ้งในการเขายึดเสฉวน โดยให้เหตุผลว่าทั้งเขาและเล่าเจี้ยง ต่างก็มีแซ่เล่าเหมือนกัน นับว่าเป็นญาติกัน ไม่ควรที่จะไปยึดบ้านเมืองของเขามา แต่ขงเบ้งอ้างว่าเล่าเจี้ยงนั้นเป็นคนไม่เอาไหน ไม่เหมาะสมที่จะปกครองดินแดนเสฉวน ประชาชนชาวเสฉวนเองก็ต่างต้องการหาผู้ปกครองที่ดีกว่า และสุดท้ายแล้วเล่าปี่ก็ตัดสินใจทำตามแผนขงเบ้งในการที่จะเข้ายึดเสฉวน

ก่อนที่จะไปเสฉวนนั้นขงเบ้งได้ชักชวนบังทองให้มาทำงานกับเล่าปี่อีกคน โดยสนับสนุนบังทองให้เล่าปี่อย่างออกหน้าว่าเป็นผู้มีความยอดเยี่ยมในกลยุทธ์ โดยเฉพาะในการวางกลยุทธ์ในการศึกนั้น บังทองเหนือกว่าตนด้วยซ้ำ แต่ตอนแรกที่เล่าปี่เห็นหน้าตาบังทอง ก็ไม่ชอบใจ เพราะบังทองนั้นมีใบหน้าอัปลักษณ์ แต่สุดท้ายก็แต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการที่มีตำแหน่งเป็นรองแค่ขงเบ้ง

รายละเอียดในการเข้ายึดเมืองเสฉวนนั้น เป็นส่วนที่ขงเบ้งแทบไม่ได้มีบทบาทแสดงฝีมือเลย ทั้งในประวัติศาสตร์จริงและในฉบับนิยาย เนื่องจากขงเบ้งต้องอยู่โยงรักษาเมืองเกงจิ๋วพร้อมกับกวนอู เตียวหุย จูล่ง ส่วนเล่าปี่นั้นเอาบังทอง ฮองตง และอุยเอี๋ยนที่เพิ่งได้มาใหม่ไปเสฉวนแทน อาจเพราะเล่าปี่อยากให้พวกที่มาใหม่ได้โอกาสแสดงผลงานบ้าง
เมื่อเล่าปี่ได้เสฉวนแล้วก็เรียกตัวขงเบ้ง เตียวหุย จูล่ง ที่อยู่เกงจิ๋วให้ตามเข้ามา โดยให้กวนอูเป็นคนรักษาเมืองเกงจิ๋วทั้งหมด ฝ่ายขงเบ้งเมื่อเข้ามาเสฉวนแล้วนั้น ในฉบับนิยายบอกว่าขงเบ้งได้รับอำนาจในการจัดระบบการปกครองเต็มที่และมีอำนาจเป็นรองแค่เล่าปี่เท่านั้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเล่าปี่จำต้องอาศัยกำลังของขุนนางเก่าชาวเสฉวนอีกมากกว่าจะตั้งหลักได้มั่นคง

ในการเข้ายึดเสฉวนนั้น เสนาธิการที่มีส่วนสำคัญมีอยู่สองคน นั่นคือบังทองและหวดเจ้ง แต่บังทองตายไปเสียก่อน หวดเจ้งหรือฝาเจิ้งจึงเป็นผู้มีความดีความชอบที่สุดไป หวดเจ้งนั้นเดิมเป็นขุนนางเสฉวนในตำแหน่งเสนาธิการที่มีความสามารถในการวางกลศึกได้อย่างยอดเยี่ยม จนแม้แต่ขงเบ้งยังต้องยอมรับ การที่เล่าปี่ได้เสฉวนนั้น จะพูดไปแล้วก็เป็นเพราะเขากับเบ้งตัดเพื่อนสนิทซึ่งเป็นนายทหารเสฉวน ได้หักหลังเล่าเจี้ยงและชักนำเล่าปี่เข้ามาในเสฉวน ทำให้เล่าปี่สามารถเข้ายึดเสฉวนได้โดยไม่ต้องสูญเสียกำลังทหารมากนัก

ต่อมาหวดเจ้งยังได้สร้างผลงานสำคัญ เมื่อช่วยวางแผนให้แม่ทัพฮองตน สังหารแฮหัวเอี๋ยนญาติสนิทของโจโฉ ที่รักษาเมืองฮั่นจง ทำให้เล่าปี่สามารถยึดเอาเมืองฮั่นจงซึ่งถือเป็นปราการด่านสำคัญในการป้องกันเมืองเสฉวนในอนาคตมาได้ แต่น่าเสียดายที่ภายหลังจากนั้นไม่นาน หวดเจ้งก็ป่วยหนักและเสียชีวิตลง ในขณะนั้นเล่าปี่กำลังติดพันการศึกกับโจที่ฮั่นจง จึงให้ขงเบ้งส่งกองทัพหนุนขึ้นมาช่วยและขงเบ้งก็ได้มาทำหน้าที่ช่วยวางแผนในการศึกที่ฮั่นจงแทน และสุดท้ายเล่าปี่ก็สามารถเอาชนะโจโฉได้อย่างเด็ดขาดครั้งแรกในศึกนี้

หลังจากนั้น ในปี ค.ศ.219 เดือน 7 เล่าปี่ก็ประกาศสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋องที่เมืองฮั่นจงภายใต้การสนับสนุนของเหล่าขุนนาง

จนกระทั่งปีค.ศ. 221 มีข่าวาว่าโจผีบุตรของโจโฉได้ทำการปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้ลงจากบัลลังก์ แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้นามพระเจ้าวุ่ยบุ๋นตี้ ก่อตั้งราชวงศ์วุยฮั่นขึ้น

ขงเบ้งและเหล่าขุนนางจึงพากันสนับสนุนให้เล่าปี่ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้บ้าง ในชั้นแรกเล่าปี่ไม่ยอมรับ แต่ขงเบ้งอ้างว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลดลงมาแล้ว เท่ากับราชวงศ์ฮั่นได้จบลง ดังนั้นเล่าปี่สมควรที่จะสถาปนาตนขึ้นเพื่อชูธงสืบทอดราชวงศ์ฮั่นต่อไป

ในที่สุดเล่าปี่ก็ยอมรับและขึ้นเป็นฮ่องเต้ ในปีค.ศ. 221เดือน 4 ทรงพระนามว่าพระเจ้าเจียงบู๊ สถาปนานครเฉิงตูเป็นราชธานี ก่อตั้งอาณาจักรซู่ฮั่น หรือ จ๊กฮั่น ส่วนขงเบ้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมุหนายก ดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั้งหมด ส่วนเตียวหุยได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดดูแลกองทัพ

แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง เตียวหุยก็ได้ตายไปอย่างกระทันหัน ขงเบ้งจึงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารควบคู่ไปด้วย
ในปีเดียวกันนั้น เล่าปี่ตัดสินใจยกทัพจำนวนเจ็ดแสนคนไปตีซุนกวนเพื่อล้างแค้นให้กับกวนอูที่ถูกฆ่าตาย ซึ่งการไปครั้งนี้มีผู้คัดค้านมาก คนที่ค้านหลักๆก็คือจูล่งและขงเบ้ง

จูล่งนั้นคัดค้านเต็มที่ต่อหน้าพระที่นั่ง เล่าปี่แม้จะโกรธแต่ก็ยังให้เขาติดตามไปร่วมศึกด้วย แต่ให้เป็นทัพหลัง ส่วนขงเบ้งนั้นทำหนังสือฎีกาขึ้นถวายเพื่อยับยั้ง ผลคือถูกเล่าปี่ขว้างหนังสือทิ้งอย่างไม่ไว้หน้า จนขงเบ้งถึงกับพูดอย่างน้อยใจว่าถ้าหวดเจ้งยังมีชีวิตอยู่คงจะห้ามเล่าปี่ได้

แสดงให้เห็นว่าในภายหลังเล่าปี่ให้ความสำคัญและความไว้วางใจต่อหวดเจ้งมากกว่าขงเบ้ง ทั้งนี้อาจเพราะขงเบ้งไม่ได้สร้างผลงานอันเป็นรูปธรรมแจ่มชัดให้กับเล่าปี่เหมือนอย่างที่หวดเจ้งสามารถเอาเมืองเสฉวนและฮั่นจงมาให้เล่าปี่ได้ และไม่แน่ว่าเรื่องที่ขงเบ้งมีการติดต่อกับฝ่ายซุนกวนบ่อยครั้ง แม้จะเป็นด้วยเรื่องการทูต อาจทำให้เล่าปี่ไม่ชอบใจนัก
เล่าปี่นำทัพไปเจ็ดแสนคนเพื่อตีซุนกวน ศึกนี้เรารู้จักกันดีในชื่อศึกอิเหลง ผลก็อย่างที่รู้กันว่า เล่าปี่พลาดท่าให้แม่ทัพหนุ่มอายุแค่ 29 ปีที่ซุนกวนเพิ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการอย่างลกซุน จนทัพเจ็ดแสนต้องถูกเผาวอดวายเหลือเพียงไม่กี่พันคน ยังดีที่จูล่งนำทัพหลังมาช่วยจึงหนีไปตั้งหลักที่เมืองเป๊กเต้เสียและไม่กล้ากลับไปสู้หน้าเหล่าขุนนางและขงเบ้งที่เสฉวนอีก

การแตกทัพของเล่าปี่ในศึกอิเหลงนั้น หลอก้วนจงผู้แต่งนิยายสามก๊ก ยังพยายามจะให้ขงเบ้งได้มีโอกาสแสดงฝีมือ โดยการแต่งว่ามีคนส่งแผนผังการจัดทัพของเล่าปี่ในขณะที่ตั้งค่ายพักไปให้ขงเบ้งที่เสฉวนดู เมื่อขงเบ้งดูแล้วก็รู้ว่าทัพของเล่าปี่ต้องพ่ายแพ้แน่ จึงคิดจะส่งคนไปบอกแต่ก็ไม่ทันการ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น เพราะระยะทางจากการตั้งค่ายของเล่าปี่ที่ตั้งพักในศึกอิเหลงจนถึงเสฉวนนั้นมันไม่ใช่ใกล้ๆ ระยะเวลาในการเดินทางนั้น ใช้เป็นเดือน ต่อให้ม้าเร็วก็เถอะ

ยังมีเรื่องที่ถูกแต่งเติมซึ่งคนอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงอีกเรื่อง นั่นคือเมื่อเล่าปี่หนีเตลิดกลับเมืองเป๊กเต้เสียนั้น ลกซุนได้นำทัพติดตามไปจนพบกับค่ายกลที่ขงเบ้งได้สร้างขึ้นไว้ล่วงหน้า เพราะคาดไว้แล้วว่าลกซุนจะต้องมาทางนี้ จนลกซุนกับพวกทหารถึงกับหลงทาง แต่ก็ได้พ่อตาของขงเบ้งมาช่วยพาไปยังทางออกให้

ไม่มีเหตุผลสักนิดที่อยู่ดีๆพ่อตาของขงเบ้งจะไปอยู่แถวนั้นและยิ่งไม่มีเหตุผลเข้าไปอีกที่จะช่วยลกซุนซึ่งเป็นศัตรูให้หนีออกมาได้ และถ้าขงเบ้งว่างมากพอที่จะไปทำค่ายกลอะไรแบบนั้นดักไว้ล่ะก็ ทำไมไม่หาทางช่วยเหลือให้เล่าปี่เอาชนะศึกที่อยู่ตรงหน้า

ตรงจุดนี้ก็ยังมีข้อน่าสังเกตอยู่อีก เล่าปี่ไปทำศึกล้างแค้นครั้งนี้ นำทหารไปถึงเจ็ดแสนคน เรียกว่าแทบจะเกณฑ์ไปหมดทั้งอาณาจักร เหลือทหารไว้ให้ขงเบ้งที่เฝ้าอยู่เสฉวนนิดหน่อยเท่านั้น เป็นไปได้ไหมว่าเล่าปี่เองก็ไม่ค่อยจะเชื่อใจขงเบ้งเท่าไหร่หลังจากที่พวกเขาสองคนได้รู้จักและอยู่กันมาเป็นสิบปี

พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและความเชื่อใจนี้ยังขยายต่อไปได้อีก

จุดเริ่มแห่งความเสื่อมของก๊กเล่าปี่นั้นเกิดจากที่กวนอูเสียงเมืองเกงจิ๋วให้กับซุนกวนเมื่อปีค.ศ.219 ในเดือน 10 ซึ่งสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของกวนอูผู้ยิ่งยงนั้นยังคงเป็นเรื่องที่วิเคราะห์กันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขงเบ้งเองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งความผิดพลาดนี้ด้วย

กล่าวคือเมืองเกงจิ๋วนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์อันล่อแหลม เนื่องจากว่าอยู่ติดระหว่างเขตแดนของโจโฉและซุนกวน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางสำหรับการขึ้นสู่ภาคกลางและภาคเหนือ จึงเป็นดินแนดสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการแย่งชิง

จุดยุทธศาสตร์ล่อแหลมแบบนั้น คนที่ทำหน้าที่เฝ้ารักษาจำเป็นต้องมีความสุขุมเยือกเย็น อดทนและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จึงจะทำได้ กวนอูนั้นเป็นยอดนักรบแห่งยุคที่มีความเชี่ยวชาญในการนำทหารเข้าประจันยานในสมรภูมิ แต่ความสามารถในการเป็นนักปกครองนั้นยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะกวนอูนั้นเป็นคนมุทะลุ แม้จะดูเยือกเย็นบ้างแต่ความจริงแล้วเป็นคนเย่อหยิ่ง เชื่อมั่นในฝีมือการรบของตนเองจนมองไม่เห็นใครอยู่ในสายตา ซึ่งลักษณะนิสัยแบบนี้ไม่เหมาะที่จะคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างเกงจิ๋ว

อันที่จริงแล้วเล่าปี่ควรจะใช้ขงเบ้งหรือจูล่งที่มีความใจเย็นและอดทนต่อสถานการณ์รอบด้านได้ดีกว่า แต่เล่าปี่ก็ไม่เลือกใช้

เหตุผลใช่ว่าจะไม่มี สำหรับของจูล่งนั้นยังพอเข้าใจได้ว่าเพราะเล่าปี่ต้องการเอาตัวเขาไว้ใกล้ตัว และจูล่งยังมีหน้าที่เป็นองครักษ์ให้กับครอบครัวของเล่าปี่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจูล่งก็ได้เคยแสดงให้เล่าปี่เห็นมาหลายครั้งว่าสามารถเชื่อใจได้
สำหรับของขงเบ้งนั้น มีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเล่าปี่ไม่ค่อยจะไว้ใจให้ขงเบ้งคุมกำลังจุดยุทธศาสตร์มากนัก เพราะขงเบ้งมีการติดต่อและไปมาหาสู่กับฝ่ายซุนกวนอยู่พอควร จุดนี้เองที่เล่าปี่ไม่ค่อยจะชอบนัก แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะเป็นพันธมิตรกันก็ตามที และหากเราว่ากันตามตรงแล้ว ระหว่างน้องร่วมสาบานที่ร่วมงานกันมามากกว่า 20 ปีอย่าง กวนอู กับขงเบ้งนั้น เล่าปี่ก็น่าจะเชื่อใจกวนอูที่เป็นคนซื่อและเปี่ยมด้วยฝีมือการรบที่กล้าแข็ง สามารถรับศึกรอบด้านได้มากกว่า
ครั้งศึกอิเหลงก็เช่นกัน ขงเบ้งที่อยู่เฝ้าเมืองเสฉวนนั้นมีทหารที่เล่าปี่ทิ้งไว้ให้แค่ไม่กี่พันคน เหมือนกับเล่าปี่เองก็ไม่อยากจะทิ้งกำลังทหารไว้ให้ขงเบ้งมากเท่าไร

ยิ่งในวาระสุดท้ายของเล่าปี่ด้วยแล้ว เขาได้พูดในสิ่งที่เหมือนกับลองใจขงเบ้งเอาไว้ ซึ่งเป็นปริศนาที่ทิ้งไว้ให้นักประวัติศาสตร์ยังคงนำมาวิเคราะห์กันได้ไม่รู้จบ

นั่นคือเมื่อเล่าปี่รู้ตัวว่าจะตายนั้นได้เรียกตัวขงเบ้งและขุนนางสำคัญๆรวมถึงลูกชายอีกสองคนมาจากเสฉวน เพื่อเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย

เล่าปี่สั่งเสียความกับขงเบ้ง จูล่งและเหล่าขุนนางคนอื่นๆ แล้วจากนั้นก็กระซิบบอกต่อขงเบ้งว่า หากอาเต๊าที่จะได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ต่อจากตนนั้นไม่เอาไหน ก็ขอให้ขงเบ้งตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเอง

ขงเบ้งได้ฟังเช่นนั้นก็เหงื่อไหลพรากรีบเอาหัวโขกจนเลือดไหล และสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อราชวงศ์เล่าปี่ตลอดไป
คำพูดของเล่าปี่และขงเบ้งนี้มีความจริงใจมากสักเท่าไหนกัน.....

ขงเบ้งเคยพูดว่าเขาจะไม่รับใช้ผู้ที่มีสติปัญญาต่ำต้อย เล่าปี่นั้นรู้ดีว่าอาเต๊าลูกของตัวเองเป็นคนโง่เขลา ไม่มีใครรับประกันได้ว่าขงเบ้งจะทำอะไรรึเปล่า เพราะตามประวัติที่ผ่านมาของขงเบ้งนั้นก็ไม่ได้แสดงว่าเป็นคนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอะไรมาก ขนาดเล่าเปียวที่เคยอุปการะขงเบ้งในวัยเด็ก ขงเบ้งยังเคยเสนอให้เล่าปี่ยึดเอาเมืองเกงจิ๋วมาแล้วเลย กับซุนกวนที่เป็นพันธมิตร ขงเบ้งก็ไม่ได้มีความจริงใจให้

ที่เล่าปี่พูดแบบนั้นอาจเพราะต้องการลองใจขงเบ้ง และยังเป็นการดักไม่ให้ขงเบ้งทำในสิ่งที่เขาได้พูดไปอีกด้วย นั่นคือการตั้งตัวเป็นกษัตริย์ซะเอง

เล่าปี่ต่อสู้มาชั่วชีวิตเพื่อจะตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นและก็ย่อมไม่คิดจะให้ใครได้สืบทอดอำนาจของตนต่อ นอกจากลูกชายแท้ๆของตน ดังนั้นเขาย่อมไม่มีวันอยากให้ขงเบ้งยึดราชวงศ์ของตนไปแน่ ซึ่งขงเบ้งเองก็ฉลาดมากพอที่จะไม่ทำแบบนั้น เพราะเขารู้ดีว่าหลังจากสิ้นเล่าปี่แล้ว อำนาจการปกครองและการทหารทั้งหมดในเสฉวนย่อมอยู่ที่เขา แม้อาเต๊าจะเป็นฮ่องเต้แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย เขาในสถานะที่อยู่ใต้คนๆเดียว แต่อยู่เหนือคนนับหมื่น อันเป็นสถานะเดียวกันกับที่โจโฉเคยเป็นมาก่อน

และหลังจากที่เล่าปี่ตายแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อาเต๊าขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเล่าเสี้ยน ส่วนขงเบ้งครองตำแหน่งมหาอุปราช กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนกับโจโฉในอดีต แต่ก็น่าแปลกที่ไม่มีใครกล่าวประณามขงเบ้งเหมือนอย่างที่โจโฉโดน
อาจเพราะความโหดเหี้ยมและความทะเยอทะยานของโจโฉนั้นแสดงออกมาเปิดเผยกว่า ซึ่งอันที่จริงแล้วขงเบ้งเองก็มีสิ่งที่ว่านั้นเช่นกัน เพียงแต่เราๆได้มองข้ามไปเพราะนิยายสามก๊กที่หาข้อแก่ต่างให้ขงเบ้งตลอด ไม่เหมือนกับของโจโฉที่ไม่มีใครแก้ต่างให้ แถมยังโดนซ้ำอีก

ผมเองไม่ได้นิยมโจโฉอะไรมาก เล่าปี่ ขงเบ้ง ผมเองก็ไม่ได้เกลียด แต่ที่เขียนมาในลักษณะนี้เกิดจากการที่ได้อ่านสามก๊กมาหลายรอบแล้วรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่ซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องเดียวกัน หากเรามองจากหลายๆมุมแล้ว บางครั้งเราอาจจะได้คำตอบที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมๆก็เป็นได้

เนื่องจากเรื่องของขงเบ้งนั้นมีรายละเอียดมาก สำหรับตอนนี้จึงขอไว้ถึงแค่ขงเบ้งได้ครองตำแหน่งมหาอุปราชแล้วเท่านั้น ตอนหน้าจะเป็นการเจาะลึกถึงเรื่องราวของขงเบ้งในช่วงปลายชีวิต ในฐานะของมหาอุปราชแห่งราชวงศ์ซู่ฮั่น ไปจนถึงวาระสุดท้าย


อ่านต่อ ประวัติ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ตอน 2

3 ความคิดเห็น:

  1. รออ่านอยู่นะครับ

    ขอบคุณมากผมสนใจมาก

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. ชอบข้อเขียนของคุณทุกตอน เขียนต่อไปนะคะ

    ตอบลบ