วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ประวัติกวนอู หยุนฉาง ตอนที่2

ประวัติสามก๊ก ประวัติกวนอู หยุนฉาง ตอนที่2


หลังจากกวนอูถูกเรียกเป็นกวนกง มนุษย์คนหนึ่งกลายเป็นเทพเจ้าแล้ว ชีวิตของนักรบผู้นี้ก็ได้เข้าสู่ช่วงปลาย

เคยมีคนสงสัยว่าทำไมคนอื่นไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพบ้างทั้งที่ก็มีความซื่อสัตย์ต่อนายและประเทศชาติไม่แพ้กัน บางคนอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้นนอกจากจะเล่าถึงประวัติช่วงท้ายของกวนอูแล้วจะขอวิเคราะห์สาเหตุตรงนี้ซึ่งจะขอยกข้อมูลที่คุณทองแถม นองจำนง ผู้ศึกษาเรื่องสามก๊กคนหนึ่งได้เคยอธิบายไว้


ประวัติโดยย่อ

หลังจากเสร็จศึกเซ็กเพ็กแล้ว โจโฉก็ได้ถอยทัพกลับขึ้นเหนือไปตั้งหลักที่เมืองเซียงหยาง ทำให้เมืองเกงจิ๋วตอนกลางหรือเมืองกังเหลงนั้นหลุดจากอิทธิพลของโจโฉ ฝ่ายเล่าปี่จึงได้ฉวยโอกาสระหว่างที่ฝ่ายจิวยี่ไม่ทันตั้งตัวเข้ายึดเมืองกังเหลง แล้วใช้ที่นี่เป็นฐานที่มั่น จากนั้นในเวลาไม่นานก็เข้ายึดหัวเมืองเกงจิ๋วตอนล่างทีละเมือง โดยอาศัยเล่าแม่ทัพคนสนิทอย่างเตียวหุย จูล่ง

ในขณะที่กวนอูนั้นได้รับมอบหมายให้เข้าตีที่เมืองเตียงสา ซึ่งมีฮันเหียนเป็นเจ้าเมือง อันที่จริงก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเมืองนี้ก็ไม่ใหญ่โตมากและฮันเหียนก็ไม่ใช่เจ้าเมืองที่รบเก่ง หากแต่ที่นี่มีขุนพลชื่อดังที่ได้ชื่อว่าเก่งที่สุดในดินแดนเกงจิ๋วอย่างฮองตงรับหน้าที่ปกป้องอยู่

ผมจำได้ว่าหนังสามก๊กพูดถึงตอนนี้ว่า ขงเบ้งได้สั่งให้กวนอูนำกำลังทหารไปสักหลายพันหลายหมื่นเพราะฮองตงนั้นเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจไม่อาจประมาทได้ แต่กวนอูผยองในฝีมือตนและขอทหารไปเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็มาท้ารบกับฮองตงที่หน้าประตูเมือง

ทั้งสองขี่ม้ากันเข้าปะทะอย่างดุเดือด ปรากฏว่าม้าฮองตงเสียหลักจนเขาต้องตกจากหลังม้า แต่กวนอูก็แสดงสปิริตไม่ซ้ำเติมและให้ฮองตงขึ้นขี่ม้ามาสู้กันใหม่ จากนั้นเมื่อสู้กันสักพักฮองตงก็ถอยกลับเข้าประตูเมือง

ฮันเหียนสั่งให้ฮองตงยิงธนูใส่กวนอูเสีย เพราะฮองตงเป็นนักแม่นธนูมือหนึ่งแห่งยุค แต่ฮองตงแกล้งยิงพลาดจึงถูกฮันเหียนหาว่ากบฏและสั่งให้ทหารจับกุมตัว แต่อุยเอี๋ยนซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของฮองตงได้ช่วยไว้และสังหารฮันเหียนลง จากนั้นจึงได้เปิดประตูเมืองเตียงสาให้กวนอู

จากนั้นฮองตงกับอุยเอี๋ยนก็ได้สวามิภักดิ์กับเล่าปี่ และกลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญไป

แต่เรื่องทั้งหมดนี้ เคยมีคนสงสัยว่าเป็นเรื่องแต่ง เพราะสามก๊กจี่ของเฉินโซ่วไม่ได้บันทึกไว้ และบ้างก็ว่าอุยเอี๋ยนนั้นความจริงเป็นทหารระดับล่างของเล่าปี่ที่พัฒนาจนกลายเป็นขุนพลคนสำคัญเอง ไม่ใช่ทหารที่มาสวามิภักดิ์ อันนี้ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนนะ

หลังจากครอบครองดินแดนเกงจิ๋วได้เกือบทั้งหมดแล้ว เล่าปี่ก็ตั้งเป้าที่จะเข้ายึดเสฉวนซึ่งตอนนั้นเป็นของเล่าเจี้ยง โดยได้หนีบเอาฮองตง อุยเอี๋ยน และบังทองเสนาธิการคนใหม่ที่เป็นเพื่อสนิทของขงเบ้งไปด้วย โดยกวนอู เตียวหุย จูล่ง และขงเบ้งนั้นอยู่เฝ้าที่เกงจิ๋ว

เล่าปี่ใช้เวลาเข้าสู่แดนเสฉวนอยู่หลายปี ช่วงนั้นได้มีการดึงตัวเตียวหุย จูล่งให้ไปช่วยรบด้วย ส่วนขงเบ้งนั้นถูกดึงให้เข้าไปจัดระเบียบที่เสฉวนเมื่อเล่าปี่สามารถยึที่นั่นได้แล้ว เท่ากับว่าดินแดนเกงจิ๋วนั้น เล่าปี่ปล่อยให้กวนอูรับผิดชอบดูแลไปทั้งหมด

ดินแดนเกงจิ๋วเป็นจุดชัยภูมิที่สำคัญและมีผลต่อการแย่งชิงแผ่นดินมาก ไม่เฉพาะฝ่ายเล่าปี่ที่เป็นเจ้าของเท่านั้น ยังมีผลกับฝ่ายโจโฉและซุนกวนอีกด้วย เพราะดินแดนนี้ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศจีนทั้งหมด และเป็นมณฑลที่มีขนาดกว้างที่สุดของประเทศเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญที่สุดคือดินแดนนี้มีอาณาเขตอยู่คั่นกลางกับดินแดนในปกครองของทั้งสามก๊ก

ทิศเหนือจรดเมืองเซียงหยางเวลานั้นเป็นของฝ่ายวุย ทิศตะวันออกอยู่ติดกับฝ่ายง่อ ส่วนตะวันตกคือทางเข้าแดนเสฉวนของฝ่ายจ๊ก เรียกได้ว่าหากใครได้ครอบครองดินแดนนี้ก็เท่ากับได้ประตูที่จะเข้าสู่ดินแดนของอีกสองฝ่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฝ่ายง่อก๊กจึงอยากได้ดินแดนนี้มาก เพราะนอกจากจะเป็นประตูขึ้นเหนือในการยันกับวุยก๊กแล้ว ยังเป็นปราการที่ใช้ป้องกันพันธมิตรอย่างเล่าปี่ที่อาจจะหักหลังได้ด้วย

ด้วยความสำคัญในเชิงยุทธ์ศาสตร์ คนของเล่าปี่ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลดินแดนนี้จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งจริงๆ ที่สำคัญคือต้องมีความสุขุมเยือกเย็นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพราะความสัมพันธ์กับทางฝ่ายซุนกวนของเล่าปี่ช่วงนั้นก็ไม่ใช่ว่าดีเท่าไหร่และพร้อมจะแตกหักทุกเมื่อ หากไม่ได้โลซกซึ่งคำนึงถึงความสำคัญของการผูกพันธมิตรนี้ในการต้านโจโฉล่ะก็ ซุนกวนคงจะใช้กำลังทหารเข้ายึดเกงจิ๋วไปนานแล้ว

ภาระสำคัญในการดูแลเกงจิ๋วนี้ตกเป็นของกวนอู เพราะตัวเขาก็ปักหลักอยู่ที่นี่มาเกือบสิบปี บรรดาขุนนางและขุนพลในเกงจิ๋วส่วนใหญ่ก็เป็นคนของเขา นอกจากนี้ในกองกำลังของเล่าปี่ เขาถือว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจเป็นหมายเลขสอง ดังนั้นตำแหน่งเจ้าแห่งเกงจิ๋วซึ่งยิ่งใหญ่และมีความสำคัญนี้จึงตกเป็นของเขา

แต่โดยลักษณะนิสัยและวิสัยทัศน์ในการเมืองของกวนอูนั้น ต้องบอกตรงๆว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะกับเขาเท่าไหร่

กวนอูเป็นนักรบที่มีความสามารถสูงในเชิงยุทธ์ ชื่อเสียงและบารมีของเขานั้นโด่งดังก้องหล้า ชนิดที่ว่าผู้คนยกย่องให้เป็นนักรบที่เก่งสุดในเวลานั้น แต่เขาเป็นคนที่มีความหยิ่งทระนงในฝีมือของตนมากเกิน และวิสัยทัศน์ของเขาก็เป็นแบบของนักรบคือคิดใช้กำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ความสามารถของกวนอูจะเหมาะมากในการรุก เขาจะร้ายกาจจนไร้เทียมทานเมื่อได้เป็นทัพหน้าและเข้าจัดการกับเหล่าศัตรู

แต่การดูแลเกงจิ๋วต้องอาศัยความสามารถในด้านการเมืองและการทูตด้วย ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าเกงจิ๋วนี้จะตกอยู่ในมือของก๊กไหนก็ตาม ผู้ดูแลรักษาเกงจิ๋วจำต้องยึดนโยบายตั้งรับและผูกมิตรเป็นหัวใจหลัก เพราะดินแดนมันติดค้ำคอกับทั้งสามฝ่าย

ก่อนที่ขงเบ้งจะเข้าเสฉวนได้เคยถามกวนอูว่าหากฝ่ายโจโฉหรือซุนกวนยกทัพมาตีเกงจิ๋วจะทำยังไง กวนอูตอบว่าตนจะนำทหารออกไปต่อสู้จนกว่าจะตัวตาย

ขงเบ้งส่ายหน้าและได้บอกกวนอูต่อนโยบายที่ถูกว่าต้องผูกมิตรกับซุนกวนเพื่อตีโจโฉ ซึ่งกวนอูก็รับฟัง แต่คงไม่ได้ใส่ใจต่อคำชี้แนะนี้เท่าไหร่ เพราะหลังจากนั้นซุนกวนได้ส่งโลซกมาทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ เนื่องจากการที่การที่เล่าปี่ได้ครองเมืองนี้ เกิดจากการทำสัญญาขอยืมเมืองนี้ที่เล่าปี่ได้อ้างว่าจะขอยืมจนกว่าจะยึดตีเมืองเสฉวนได้ ซึ่งฝ่ายซุนกวนก็ยอมเพราะเห็นใจที่ตอนนั้นเล่าปี่ไม่มีฐานที่มั่นของตน ประกอบกับเล่าปี่มีศักดิ์เป็นน้องเขยจากการที่ได้แต่งงานกับซุนหยิน น้องสาวของซุนกวน

เล่าปี่และขงเบ้งหาทางบ่ายเบี่ยงโดยอ้างต่อโลซกว่าหากต้องการเกงจิ๋วคืนให้ไปทวงกับกวนอูเอาเอง ซึ่งเล่าปี่ก็พูดในทำนองที่ว่าโลซกคงจะทวงไม่ได้ง่ายๆ เพราะน้องของตนเป็นคนอารมณ์รุนแรงนัก

เมื่อโลซกไปพบกวนอู กวนอูก็จัดงานเลี้ยงต้อนรับ ส่วนโลซกก็ได้อาศัยเหตุผลชี้แจงในการทวงเกงจิ๋วคืน แต่กวนอูแกล้งทำเป็นเมาและบ่ายเบี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้โลซกต้องกลับง่อก๊กมือเปล่า

ซุนกวนคิดว่าการจะได้เกงจิ๋วคืนรึไม่นั้น จะต้องอาศัยการผูกมิตรกับกวนอู จึงได้ส่งจูกัดจิ๋นพี่ชายขงขงเบ้งซึ่งมารับราชการที่ง่อให้ไปเป็นทูตเจรจาโดยจะยกลูกชายของซุนกวนให้แต่งงานกับลูกสาวของกวนอู ซึ่งเมื่อกวนอูได้ฟังก็ด่าจูกัดจิ๋นยับเยินชนิดไม่ไว้หน้า ว่าลูกตนเป็นเป็นลูกเสือจะไปแต่งกับลูกสุนัขของซุนกวนได้อย่างไร แถมขู่ว่าถ้าไม่เห็นว่าจูกัดจิ๋นเป็นพี่ของขงเบ้งตนคงฆ่าทิ้งไปแล้ว

จะเห็นได้ว่ากวนอูไม่มีความเกรงใจต่อจูกัดจิ๋นที่เป็นพี่ชายของขงเบ้งแม้แต่น้อย จริงอยู่ว่าสองพี่น้องต่างทำงานให้นายคนละคน เรื่องส่วนตัวมิอาจปนกับเรื่องงาน แต่ต้องอย่าลืมว่าสถานภาพของฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนเวลานั้นถือเป็นพันธมิตรกัน หากเป็นศัตรูก็ว่าไปอย่าง แต่นี่กวนอูกลับแสดงท่าทีกับทูตเจรจาของฝ่ายที่เป็นมิตรราวกับหมูหมา ซึ่งตรงนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมการเจรจามาก

ลึกๆก็พอเข้าใจว่าที่กวนอูไม่อยากยกลูกสาวให้เพราะตัวเขาก็คงมีลางสังหรณ์ว่าสักวันเล่าปี่อาจต้องแตกกับซุนกวน เพราะพี่ใหญ่ของตนมีประวัติว่าไม่เคยผูกมิตรกับใครได้นานๆ แต่ในฐานะที่กวนอูเป็นเจ้าบ้านและผู้ครองเมืองใหญ่ควรจะมีวิธีการพูดปฏิเสธที่รักษาหน้าของฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่านี้ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้มิตรภาพเสียไป เพราะการผูกมิตรกับซุนตีโจคือนโยบายหลักที่ขงเบ้งได้เคยย้ำต่อกวนอูนักหนา

แต่กวนอูไม่นำพาจุดนี้ ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุสนับสนุนว่าจริงๆแล้วกวนอูไม่ใส่ใจต่อนโยบายอันนี้ของขงเบ้ง เพียงแค่รับฟังเท่านั้น มันก็จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่กวนอูไม่ค่อยชอบและเชื่อถือฝีมือของขงเบ้งอย่างที่เคยว่าไว้

ซุนกวนเจ็บแค้นต่อการกระทำของกวนอูที่เป็นการหยามหน้าตนมาก และรอเวลาที่เอาคืน ซึ่งมันนำไปสู่การสาเหตุการตายของกวนอูในภายหลัง

ปีค.ศ.219 เล่าปี่ยึดครองเมืองฮั่นจงสถาปนาตนเป็นฮั่นจงอ๋อง ตั้งเมืองเฉิงตูเป็นราชธานี จากนั้นแต่งตั้งเหล่านายทหารและขุนนางทั้งหลายที่มีผลงานช่วยเหลือตนมาให้ได้เป็นใหญ่ไปตามๆกัน

กวนอูได้รับการแต่งตั้งเป็น "เฉียนเจียงจวิน" ยศนายพลทัพหน้า รวมกับนายพลอีกสี่คนคือเตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง ในนิยายสามก๊กนั้นรวมเรียกขุนพลทั้งห้าว่านายพลห้าทหารเสือ ซึ่งฉายาทหารเสือนี้เป็นฉายาที่เจ้าครองแคว้นหรือผู้คนนิยมตั้งให้แก่แม่ทัพหรือขุนพลที่มีความเก่งกล้าในการรบเป็นพิเศษ ซึ่งฉายาแบบนี้ยังมีไว้เป็นการเพิ่มบารมีแก่ตัวของผู้นำและไว้ใช้ข่มขวัญทหารข้าศึกได้ด้วย แม้จะไม่ใช่การเลื่อนยศอย่างเป็นทางการก็ตาม

ตำแหน่งนายพลทัพหน้านี้ทำให้กวนอูกลายเป็นบุรุษหมายเลขสองแห่งจ๊กก๊กแถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งพระอนุชาเข้าไปอีก เรียกว่าใหญ่ไม่เป็นรองใครในจ๊กก๊ก เป็นรองแค่เล่าปี่คนเดียวเท่านั้น และอาจส่งผลในเรื่องความฮึกเหิมมากเกินไปของเขา ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ถูกเสริมไปในนิยาย

ในนิยายเล่าว่ากวนอูไม่พอใจที่เล่าปี่ตั้งฮองตงและม้าเฉียวขึ้นเป็นนายพลระดับเดียวกับตน จนถึงกับเขียนจหมายไปให้ขงเบ้งที่เสฉวนว่าทั้งสองคนมีดีอะไร และจะขอท้ารบกับทั้งคู่ว่าใครจะแน่กว่ากัน จนขงเบ้งต้องเขียนจดหมายไปยกย่องเชิดชูกวนอูว่าไร้เทียมทานนั่นแหละกวนอูจึงยอมสงบ ซึ่งดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแต่งเพิ่มที่จงใจทำให้กวนอูดูมีความห้าวหาญซึ่งมันออกจะเกินพอดีไปหน่อย ซึ่งคนแต่งในยุคนั้นคงจะไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้จะทำให้คนสมัยนี้มองกวนอูว่าเป็นคนบ้าพลังที่เอาแต่จะท้าตีท้าต่อยและหลงในคำเยินยอ หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงใครจะไปรู้

สังเกตว่าคนแต่งนิยายสามก๊กตั้งแต่หลอก้วนจงมาถึงเหมาจงกังและอีกหลายคนที่ไม่ได้ออกนามมักพยายามยัดเยียดบทบาทให้กวนอูได้แสดงวีรกรรมที่แสดงว่าตนเป็นคนห้าวหาญจนเกินพอดีอยู่ตลอด จนบางคนหลงคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง ทั้งที่บางอย่างเป็นแค่ตำนานที่คนเรามักเล่าปากต่อปากจนมันถูกเสริมเติมแต่งอย่างพิศดาร

ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่องของเตียวเสี้ยน ถามว่ามาเกี่ยวกับกวนอูได้ไง ต้องบอกว่ามีตำนานเรื่องหนึ่งพูดถึงเตียวเสี้ยนว่าหลังจากที่ลิโป้ตายลง โจโฉคิดจะเอานางไปเป็นเมียเก็บของตน ซึ่งนางได้แอบหนีรอดออกมาได้ แล้วมาพบกวนอูเข้า กวนอูเมื่อได้พบนางซึ่งมีความงดงามยิ่งนักก็คิดจะสังหารนางซะ เพราะคิดว่าหากปล่อยนางซึ่งปั่นหัวลิโป้และตั๋งโต๊ะมาแล้วจะเป็นภัยต่อผู้คน แต่เตียวเสี้ยนได้ขอร้องและเล่าว่าเรื่องที่นางล่อหลอกลิโป้และตั๋งโต๊ะนั้นมันเป็นแผนที่ถูกวางไว้ กวนอูได้ฟังเช่นนั้นก็ใจอ่อนและปล่อยนางไป ในขณะที่บางตำนานก็ว่ากวนอูเป็นคนสังหารเตียวเสี้ยน

ก็ว่ากันไป แต่หากเตียวเสี้ยน(ความจริงแล้วเกิดจากปลายปากกาขงหลอก้วนจง)มีตัวตนอยู่จริง ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์ฆ่านาง ต่อให้สิบเทพเจ้ากวนอูก็ไม่มีสิทธิ์ เพราะคุณความดีและความเสียสละที่นางได้ทำไว้แก่แผ่นดินนั้นมันยิ่งใหญ่กว่าบุรุษเพศทุกคนในยุคนั้นได้กระทำไว้ หญิงสาวอายุ 17 ปีธรรมดาคนหนึ่งกลับเป็นผู้ที่ทำให้ทรราชย์ตั๋งโต๊ะต้องสิ้นชื่อ ในขณะที่เหล่าขุนศึกนักรบทั้งหลายต่างขี้ขลาดและเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน เพียงแต่จากสายตาของคนจีนสมัยก่อนผู้หญิงแทบไม่ต่างจากทาสรับใช้ที่ต้อยต่ำ แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ชาวจีนที่ได้เขียนคำวิพากษ์ในหนังสือสามก๊กฉบับแปลของคุณวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ (4เล่มใหญ่สีแดง) ยังพูดถึงเตียวเสี้ยนในทำนองว่าเป็นนางแพศยาร้อยมารยา โดยไม่ได้หันไปดูเลยว่าใครคือคนที่ยอมสละตนเองและทำให้ตั๋งโต๊ะต้องสิ้นชื่อ

ยังมีเรื่องผู้หญิงของกวนอูที่ในนิยายไม่ได้มีการพูดถึง แต่ในสามก๊กจี่บันทึกไว้ โดยเล่าว่าสมัยที่โจโฉเคยช่วยเล่าปี่ปราบลิโป้นั้น กวนอูได้ชอบผู้หญิงคนหนึ่งถึงขนาดเอ่ยปากขอจากโจโฉ นางชื่อตู้สื้อ ซึ่งเป็นสตรีที่งามมาก

ความจริงนางนี้เป็นภรรยาของขุนนางคนหนึ่งของลิโป้ที่ภายหลังแปรพักตร์ไปอยู่กับอ้วนสุด นางจึงเป็นม่ายดังนั้นกวนอูจึงขอให้จโฉยกนางแก่ตน แต่โจโฉก็เป็นคนบ้าผู้หญิง เมื่อเรียกตัวนางตู้สื้อมาพบจงรู้ว่างามมากและเก็บเอาไว้ซะเอง

เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในสามก๊กจี่และจดหมายเหตุฮัวหยาง ดังนั้นจึงอาจเกิดขึ้นจริงแต่มันจะเป็นการทำให้ชื่อของเทพเจ้ากวนอูมัวหมองจึงถูกตัดทิ้งไปเสียก็ได้

กลับเข้าเรื่อง หลังจากได้ยศเป็นนายพลทัพหน้าแล้ว กวนอูประเมินว่าสถานการณ์ที่เล่าปี่ตั้งตนเป็นฮั่นจงอ๋องนี้ เสมือนเหล็กที่ต้องตีตอนร้อน อีกทั้งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งสร้างปัญหาให้แก่หัวเมืองเซียงหยางมาก กวนอูซึ่งสั่งสมกำลังทหารในเกงจิ๋วมานานเกือบ 10 ปี จึงคิดว่านี่เป็นโอกาสเหมาะแก่การรุก จึงตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ขึ้นเหนือเพื่อปะทะกับฝ่ายโจโฉ และคู่ต่อสู้ของเขาก็คือโจหยิน

กองทัพกวนอูเข้าโจมตีกองทัพของโจหยินอย่างหนัก และก็สามารถยึดเมืองเซียงหยางได้สำเร็จ แต่เขาก็ยังไม่กล้าที่จะรุกเข้าไปลึกมากนัก เพราะยังกริ่นเกรงต่อลิบอง ขุนพลคนดังของซุนกวนที่รักษาเมืองกังแฮซึ่งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำแยงซี และคอยจ้องมองมาทางเกงจิ๋วตลอดเวลา กวนอูนั้นยอมรับในความสามารถของลิบอง จึงคอยระแวดระวังและยังไม่กล้าผลีผลามรุกขึ้นเหนือมากเกินไป

ในขณะที่ทางฝ่ายโจโฉเห็นว่าโจหยินคนเดียวอาจจะยังไม่พอที่จะรับมือกวนอู จึงส่งอิกิมและบังเต๊กมาช่วย กวนอูดวลกับบังเต๊กแล้วพลาดต้องอาวุธลับ จึงต้องถอยกลับมาตั้งหลัก จากนั้นกวนอูจึงวางแผนจัดการกับอิกิ๋มและบังเต๊กด้วยการอาศัยสภาพอากาศอันเลวร้ายในขณะนั้นให้เป็นประโยชน์ ด้วยความที่กวนอูเชี่ยวชาญภูมิประเทศของเกงจิ๋วมากเพราะอยู่อาศัยมาเป้นสิบปี เมื่อยกทัพออกไปรบกับอิกิ๋มและบังเต๊กอีกครั้ง จึงอาศัยการล่อหลอกให้ทั้งคู่เข้ามาในภูมิประเทศของตนแล้วให้กวนเป๋งซึ่งรออยู่แล้วทำการพังเขื่อนกั้นน้ำถล่มกองทัพของทั้งคู่จนพินาศ อิกิ๋มนั้นถูกจับเป็นเชลย ส่วนบังเต๊กไม่ยอมสวามิภักดิ์จึงถูกฆ่าตาย

การศึกครั้งนี้ส่งผลให้ชื่อของกวนอูสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วแผ่นดิน ในนิยายบันทึกว่าโจโฉหวั่นเกรงกวนอูถึงขนาดคิดจะย้ายเมืองหลวงหนี เพราะหากอ้วนเสียแตกเมื่อใด กองทัพของกวนอูจะประชิดจ่อนครฮูโต๋ทันที แต่เหล่าที่ปรึกษาโดยเฉพาะสุมาอี้ได้ทัดทานไว้ เพราะในกลุ่มที่ปรึกษาของโจโฉอย่างสุมาอี้ กาเซี่ยง เล่าหัว มีการประเมินว่าทางฝ่ายซุนกวนคงไม่ชอบสถานการณ์นี้เท่าใดนัก และอาจเป็นตัวแปรสำคัญก็ได้ โจโฉเห็นด้วยจึงใช้นโยบายให้โจหยินคอยตั้งรับอยู่ภายในเมืองอย่างทรหด และส่งซิหลงเป็นทัพหนุนไปช่วยการสลายวงล้อมของกวนอูที่อ้วนเสีย

สิ่งที่โจโฉคาดไว้ก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะทางฝ่ายง่อขณะนั้นโลซกตายไปแล้ว คนที่จะคอยประนีประนอมในเรื่องเกงจิ๋วไม่มีอีก ซุนกวนที่อดทนมาตลอดกับพันธมิตรอย่างเล่าปี่ก็ถึงคราวฟิวส์ขาด และคิดจะเอาคืนที่กวนอูได้ฉีกหน้าตนไว้

ลิบองนั้นเห็นว่าการที่กวนอูได้ชัยครั้งนี้ย่อมต้องการที่จะบุกตะลุยต่อไป แต่กวนอูก็ยังไม่กล้าเพราะระแวดระวังในตัวเขาที่อาจจะลอบกัดทีหลัง ลิบองเองก็รู้ดีว่ากวนอูระแวงตน และเตรียมพร้อมด้วยการสร้างหอสูงไว้สังเกตการณ์อยู่รายรอบเขตแดน ลิบองจึงแสร้งทำเป็นป่วยและใช้ให้ลกซุนซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงนายทหารรับล่างรับหน้าที่เฝ้าเมือง จากนั้นลกซุนก็ส่งจดหมายไปหากวนอูโดยเขียนไปทำนองที่ว่าเชิดชูกวนอูว่าไร้เทียมทานตนเป็นเพียงนายทหารผู้น้อย คงต้องขอความเมตตา ซึ่งกวนอูเมื่อได้อ่านจดหมายก็หัวเราะ และยกทัพขึ้นลุยกับโจโฉโดยเลิกระแวงลิบองอีก และตังให้บิฮองกับเปาสูหยินเป็นผู้ดูแลเกงจิ๋วแทน

เรื่องตรงนี้เป็นการจี้เข้าที่จุดอ่อนของกวนอูในแง่ความเป็นคนที่ทระนงตน ลกซุนอ่านนิสัยของกวนอูตรงนี้ขาดจึงได้วางแผนเล่นงานกวนอูอย่างเจ็บแสบโดยมีลิบองเป็นผู้ดำเนินการ

ในขณะที่กวนอูกำลังบุกอ้วนเสียติดพันนั้น ก็ต้องพบข่าวร้ายว่าลิบองได้ลอบนำทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปยึดเอาเกงจิ๋วได้ บิฮองกับเปาสูหยินยอมจำนน และระว่างนั้นซิหลงซึ่งนำทัพหนุนมากจากฮูโต๋ก็ทำการสลายวงล้อมของกองทัพกวนอูที่เริ่มเสียขวัญจากข่าวร้ายจนแตกพ่าย กวนอูตอนนี้ตกอยู่ในสภาพที่ถูกปิดทางหนีทั้งหน้าและหลัง ก็ได้แต่วัดดวงเอาดาบหน้าด้วยการบุกเกงจิ๋วเพื่อยึดกลับคืนมาจากลิบอง

แต่เกงจิ๋วตกอยู่ใต้การควบคุมของลิบองโดยสมบูรณ์ เหล่าทหารของกวนอูก็พากันหนีทัพ เพราะครอบครัวของพวกเขาส่วนใหญ่ต่างอยู่ในเกงจิ๋ว และลิบองได้ออกประกาศว่าจะไม่ทำร้ายครอบครัวของทหารที่ยอมจำนน เรียกว่ากลยุทธ์และลูกเล่นของลิบองหนนี้ร้ายกาจมากที่ทำให้กวนอูซึ่งได้ใจของเหล่าทหารไว้แต่แรกต้องเสียทหารไปจนเหลือเพียงไม่กี่ร้อยเท่านั้น

อันที่จริงกวนอูยังพอมีทางรอด เนื่องจากหัวเมืองรอบด้านอยู่ในการดูแลของเล่าฮองผู้เป็นบุตรบุญธรรมของเล่าปี่หากว่าพวกเขายกทัพหนุนมา กวนอูก็ยังพอมีโอกาสพลิกสถานการณ์ได้ ซึ่งเขาได้ใช้เลียวฮัวไปส่งข่าวขอความช่วยเหลือแล้ว

แต่เล่าฮองแทนที่จะช่วยกลับปฏิเสธ อันที่จริงตอนแรกเขาก็คิดจะช่วย แต่เบ้งตัดซึ่งเป็นแม่ทัพที่ช่วยเล่าฮองดูแลหัวเมืองโดยรอบอีกคนนั้นมาพูดในทำนองว่ากวนอูไม่เคยให้ความเกรงใจและไม่เคยเห็นหัวท่าน แล้วจะยกทัพไปช่วยทำไม และในที่สุดเล่าฮองก็ไม่ยอมช่วย จนเลียวฮัวต้องเร่งไปขอความช่วยเหลือที่เสฉวน

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเล่าฮองไม่ยอมช่วยกวนอูซึ่งมีศักดิ์เป็นอาบุญธรรม

ตอนอ่านและดูหนังสามก๊กทีแรกก็คิดว่าเพราะเจ้าเล่าฮองนี่มันชั่วช้ารวมถึงเบ้งตัดอีกคน แต่พอโตขึ้นก็เริ่มคิดว่าแต่ละคนมันต้องมีเหตุผลในการกระทำแต่ละอย่างของตน ไม่ใช่ว่าคนนั้นชั่วดีจึงได้กระทำแบบนี้ และในนิยายไม่ได้บอกสาเหตุลึกๆถึงเรื่องนี้เอาไว้

ครั้งหนึ่งเตียวเลี้ยวเพื่อนสนิทของกวนอูที่เป็นแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายโจโฉนั้นเคยพูดถึงนิสัยของกวนอูว่าเป็นคนที่หยิ่งทระนงและไม่ยอมลงให้ผู้มีอำนาจแต่จะเห็นใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต่ำกว่า หากเป็นจริงเหล่าทหารของกวนอูก็น่าจะมีความภักดีต่อกวนอูมากทีเดียว แต่กับเหล่าแม่ทัพขุนพลหรือขุนนางที่มียศสูงกว่าหรือใกล้เคียงกันล่ะ

กรณีเบ้งตัดผมเข้าใจว่าตอนนั้นเขาไม่พอใจเล่าปี่ที่ไม่ได้มอบตำแหนงทางทหารที่สำคัญให้อย่างที่คาดหวังทั้งที่ตนเป็นผู้ช่วยให้เล่าปี่ได้เสฉวน แต่กรณีเล่าฮองนี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่เล่าปี่รับเล่าฮองเป็นลูกบุญธรรมครั้งแรก ซึ่งต้องพาดพิงไปถึงเรื่องที่กวนอูรับกวนเป๋งเป็นลูกบุญธรรมด้วย

ช่วงที่กวนอูพาเล่าปี่หนีจากอ้วนเสี้ยวนั้น เขารับเด็กหนุ่มแววดีคนหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม นั่นคือกวนเป๋ง ซึ่งเล่าปี่เองก็รับเด็กหนุ่มอีกคนเป็นบุตรบุญธรรมเช่นกัน เขาคือเล่าฮอง ซึ่งเมื่อได้บอกให้กวนอูทราบ เขาก็ทัดทานเล่าปี่อย่างเต็มที่โดยให้เหตุผลว่า ตนนั้นรับกวนเป๋งเป็นบุตรบุญธรรมได้ เพราะตนเป็นเพียงนายทหาร และกวนเป๋งนี้ก็จะสามารถช่วยงานเล่าปี่ได้ในอนาคต แต่เล่าปี่นั้นมีศักดิ์เป็นนาย สักวันต้องมีทายาทเป็นของตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจและงานใหญ่ หากรับเอาเล่าฮองซึ่งเป็นคนนอกมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อไปเมื่อเล่าปี่มีบุตรของตนเองแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ แต่สุดท้ายเล่าปี่ก็ยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะรับเล่าฮอง

นี่อาจเป็นสาเหตุที่เล่าฮองไม่ค่อยชอบกวนอูเท่าไหร่นัก แม้จะไม่ได้มีการบันทึกไว้ชัดเจนแต่การกระทำในภายหลังของเล่าฮองมันแสดงให้เห็นว่าเขาไม่กินเส้นกับกวนอูมาตั้งนานแล้ว

อันที่จริงเมื่อกวนอูมีหน้าที่ดูแลเกงจิ๋วก็น่าจะหาทางผูกมิตรกับเหล่านายทหารและขุนนางที่ดูแลดินแดนในแถบนี้ไว้ แต่ในเมื่อคนส่วนใหญ่ล้วนไม่ถูกกับเขา นั่นก็ทำให้กวนอูต้องหมดทางหนีและสุดท้ายก็ต้องถูกลิบองจับกุมตัวได้

ซุนกวนยื่นข้อเสนอให้ยอมจำนนแต่กวนอูไม่ยอมจึงต้องถูกประหารชีวิต...เป็นอันว่ากวนอูจบชีวิตลงในปีค.ศ. 219 เดือน 10 รวมอายุได้ 57 ปี

เมื่อกวนอูตายลงศีรษะของเขาก็ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยทางซุนกวนได้ส่งศีรษะนี้ไปให้ทางโจโฉโดยหวังว่าเล่าปี่จะมองว่าเป็นแผนการของทางโจโฉที่ทำให้กวนอูต้องตาย แต่โจโฉก็รู้ทันและจัดทำพิธีศพให้กวนอูอย่างดี ซึ่งตัวโจโฉเองเมื่อได้เห็นศีรษะของกวนอูก็ถึงกับล้มป่วยและตายไปในภายหลัง

บางตำนานเล่าว่ากวนอูได้กลายเป็นผีและเข้าสิงลิบองจนตายไป แต่นั่นเป็นเรื่องแต่งเพิ่มมาภายหลัง ซึ่งความจริงแล้วลิบองป่วยตายลงเพราะโรคระบาดหลังจากนั้นไม่นาน

ทีนี้จะกลับมาพูดถึงเรื่องที่ว่าทำไมทางฝั่งเล่าปี่ถึงไม่ได้มีการประสานงานอะไรกับกวนอูเลยในตอนที่กวนอูรุกขึ้นเหนือ

การที่กวนอูบุกใส่โจโฉนั้น หากพูดกันตามปกติแล้ว ควรจะเป็นคำสั่งที่เขาได้รับจากเล่าปี่ไม่ก็ขงเบ้ง แต่ทุกวันนี้ผมยังสงสัยว่ามันเกิดจากการกระทำโดยพลการของเขารึเปล่า แล้วทำไมเขาถึงทำไปแบบนั้น

อันนี้อาจต้องย้อนพูดถึงประเด็นที่กวนอูไม่ชอบขงเบ้งอีกครั้ง

มันมองได้สองแบบ ทางหนึ่งคือกวนอูเริ่มคิดว่าการมาของขงเบ้งทำให้เล่าปี่เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นมาตอนนี้กลับตั้งตนเป็นฮั่นจงอ๋อง นั่นแสดงให้เห็นว่าเล่าปี่มีความอยากในอำนาจวาสนา ผิดไปจากอุดมการณ์เดิมที่เคยร่วมสาบานไว้ ดังนั้นเลยประชดเล่าปี่และขงเบ้งด้วยการนำทัพออกไปสู้กับโจโฉให้มันรู้แล้วรู้รอด

อีกแบบหนึ่งคือตัวกวนอูเองต้องการประกาศศักดาของตนว่าไม่เป็นรองใคร และยังมีความสำคัญต่อเล่าปี่ในฐานะแม่ทัพมือหนึ่ง ทำไมผมคิดแบบนี้ เพราะการที่กวนอูบุกขึ้นเหนือนั้นมันเกิดขึ้นหลังจากที่เล่าปี่ตั้งตนเป็นฮั่นจงอ๋องได้ไม่ทันไร ซึ่งการกระทำนี้ของเล่าปี่มันเหมือนการประกาศจุดยืนอันเด่นชัดว่าสักวันข้าจะขึ้นเป็นฮ่องเต้ ข้าจะร่วมแย่งชิงแผ่นดิน

ในใจของกวนอูคงมีอะไรลึกๆต่อการประกาศตัวนี้ของเล่าปี่ เพราะก่อนหน้านี้เขาก็เฝ้าดูแลเกงจิ๋วโดยไม่ได้ออกรบกับใครมาตั้งเกือบสิบปี แล้วนี่จู่ๆทันทีที่พี่ใหญ่ตั้งตนเองเป็นอ๋องเขาก็นำทัพออกศึกโดยไม่รอคำสั่งซึ่งการกระทำนี้จริงๆแล้วถือว่าผิดกฎแม้ว่าจะรบชนะก็ตาม

ถ้าเป็นแม่ทัพอื่นอาจถูกลงโทษได้ แต่นี่เป็นกวนอูจึงไม่โดนอะไรเลย เล่าปี่เองก็คงไม่กล้า พอคิดดูแล้วราวกับกวนอูต้องการดูปฏิกิริยาของเล่าปี่ว่าจะทำอย่างไรกับตน

เล่าปี่เองก็อาจจะไม่พอใจอะไรกวนอูอยู่ลึกๆก็ได้ ดังนั้นเมื่อกวนอูรุกขึ้นเหนือจงไม่มีการส่งกำลังไปช่วยสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่นโยบายหลักในการปราบวุยก๊กที่ขงเบ้งตั้งไว้ก็คือนำทหารรุกเป็นสองทาง ทางหนึ่งจากเกงจิ๋วและอีกทางหนึ่งตัวเล่าปี่นำทัพออกทางเอ๊กจิ๋วและผูกมิตรกับซุนกวน ซึ่งผลคือนโยบายที่ตั้งไว้ 3 ข้อนั้นโดนกวนอูทำลายไปแล้ว 2 ข้อ นั่นคือบุกทางเกงจิ๋วเพียงทางเดียวและไม่ยอมมีไมตรีกับซุนกวน

เล่าปี่อาจจะเจ็บใจเรื่องนี้ก็ได้จึงคิดสั่งสอนกวนอู แต่ผลมันกลับเสียหายหนักกว่าที่เล่าปี่คาดไว้เมื่อต้องเสียทั้งกวนอูและเกงจิ๋วไปจนหมด

จบเรื่องชีวิตของกวนอูแล้วก็จะขอพูดเรื่องที่กวนอูได้กลายเป็นเทพเจ้า.....

เดิมทีแล้ว ผู้ที่ชาวจีนต่างเคารพยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดีนั้น มิใช่ กวนอู หากแต่เป็นยอดวีรบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “งักฮุย” ควบคู่กับเปาบุ้นจิ้นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม

งักฮุยเป็นขุนศึกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่ง หลังยุคสามก๊กราว 700 กว่าปี ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราชสำนักจีนอ่อนแอถึงขีดสุด แผ่นดินจีนภาคเหนือซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศนั้น ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกไต้กิมก๊ก ซึ่งเป็นชนเผ่านอกด่านเหลือแต่เพียงดินแดนทางตอนใต้เท่านั้นที่อยู่ในปกครองของราชวงศ์ซ่ง บรรดาคนจีนทางภาคเหนือถูกกดขี่ข่มเหงและต้องตกเป็นทาสของพวกกิมเป็นเวลาหลายสิบปี

จนเมื่องักฮุย ได้กลายเป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพออกต้านข้าศึกรบชนะพวกกิมหลายครั้ง นำดินแดนทางตอนเหนือกลับคืนมาได้เกือบหมด และช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากการทารุณของพวกกิมได้ ชาวบ้านจึงต่างพากันเคารพยกย่องสรรเสริญงักฮุยไปทั่ว

งักฮุยนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อประเทศและราชสำนักมากตั้งแต่เด็ก เล่ากันว่าในวัยเด็กนั้นแม่ของเขาได้สักคำ 2 คำเอาไว้บนหลังว่า “ซื่อสัตย์ภักดี”

ต่อมางักฮุยถูกใส่ความว่าเป็นกบฏโดยฉินไขว่ซึ่งเป็นเสนาบดีกังฉิน ทำให้เขาต้องถูกจองจำกลับไปรับโทษที่เมืองหลวง และถูกวางยาพิษตายในคุก

เล่ากันว่าตอนที่เขาต้องเดินทางกลับไปรับโทษนั้น ประชาชนในภาคเหนือนั้นร้องไห้อาลัยให้เขาแทบทุกคน

นี่คือประวัติคร่าวๆของงักฮุย

งักฮุยนี่แหละคือคนผู้ที่คนในยุคนั้นเคารพนับถือในฐานะเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ตัวจริง ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่เคารพกันอยู่โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนแต้จิ๋ว แต่ถ้าจะให้ถามคนจีนในยุคปัจจุบันว่ารู้จักใครมากกว่ากันระหว่าง งักฮุย กับ กวนอู เชื่อเลยว่าแทบทุกคนย่อมต้องรู้จักกวนอู จะไม่รู้จักได้ไงในเมื่อมีรูปเคารพของกวนอูอยู่แทบทุกบ้านของคนจีน ส่วนงักฮุยถ้าไม่ใช่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนคงจะไม่รู้จัก

การที่ชาวจีนต่างพากันนับถือเทพเจ้ากวนอูกันมากมายขนาดนี้นั้น ราชสำนักชิงมีส่วนอย่างมาก จะพูดว่าราชวงศ์ชิงเป็นผู้ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เทพเจ้ากวนอูก็ว่าได้

ทำไมราชวงศ์ชิงที่เกิดขึ้นจากชาวแมนจูซึ่งเป็นชนนอกด่านที่เข้ามาปกครองแผ่นดินจีน ถึงจงใจยกย่องเชิดชูขุนศึกชาวจีนที่เสียชีวิตไปแล้วกว่าพันปีจนกลายเป็นเทพเจ้าไปนั้น เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ

1.ในยุคที่ชาวแมนจูทำสงครามขับเคี่ยวกับราชวงศ์หมิงนั้น กษัตริย์แมนจู พระเจ้าสุ้นจื้อ ทรงใช้วิธีดึงวพวกมองโกลเป็นพันธมิตร โดยพระเจ้าสุ้นจื้อเลียนแบบเรื่องสามก๊ก ไปสาบานตนเป็นพี่น้องกับประมุขเผ่าต่างๆของพวกมองโกล การสาบานครั้งนั้นนัยว่าพระเจ้าสุ้นจื้อเปรียบตัวเองเหมือนเล่าปี่ ส่วนประมุขของมองโกลเปรียบเหมือนกวนอู ครั้นพระเจ้าสุ้นจื้อตีด่านยึดแผ่นดินจีนได้ ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้แล้ว จึงจงใจเชิดชูกวนอู เผยแพร่ศาลเจ้ากวนอูให้แผ่ไปทุกสารทิศ ด้วยเกรงว่าเจ้ามองโกลจะน้อยใจตั้งตัวเป็นศัตรูกับแมนจู

2.เนื่องจากแม้ว่าเจ้าแมนจูได้เป็นฮ่องเต้ครองแผ่นดินจีนแล้วก็ตามแต่ ขุนนางส่วนใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องใช้คนเชื้อสายฮั่น (จีน) และเนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก (อันดับ3ของโลก) การจะปกครองให้คนจีนต้องยอมก้มหัวให้แมนจูซึ่งเป็นเผ่าจากนอกด่านย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่าในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นได้เกิดขบวนการใต้ดินที่มีเป้าหมายในการกู้ชาติจีนออกมาต่อสู้กับราชสำนักชิงโดยตลอด ดังนั้นการที่จะให้ราชวงศ์ชิงเกิดความมั่นคงและปกครองแผ่นดินจีนได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องของ “ความจงรักภักดี” ต่อเจ้านายขึ้นในหมู่คนจีน

ซึ่งทางราชสำนักชิงจงใจที่จะเชิดชูปลูกฝังยกย่องอุดมคติ “ความจงรักภักดี” ให้สูงเด่น และเลือกที่จะนำเอากวนอูซึ่งเป็นตัวละครที่เด่นดังในประวัติศาสตร์ มายกย่องให้สูงเด่นจนเป็นเทพเจ้า เพื่อเป็นตัวอย่างของความจงรักภักดี คนจีนจะได้หลงยึดติดกับความจงรักภักดีจนลืมไปว่า “ฮ่องเต้”ของตนเป็นคนต่างชาติ เป็นชาวแมนจูที่เข้ามายึดครองแผ่นดินจีน

และผู้ที่แต่งตั้งย้อนหลังให้กวนอูเป็น “จงอี้เหญินหย่งเสินต้าตี้” มหาเทพแห่งคุณธรรมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พระเจ้าเฉียนหลง ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงนั่นเอง

แล้วถามกลับกัน ในเมื่อต้องการสร้างให้กวนอูเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ทำไมไม่เป็นงักฮุย ซึ่งก็มีชื่อเสียงในเรื่องความภักดีเหมือนกัน นั่นเพราะงักฮุยนั้นเป็นผู้ที่ต่อต้านข้าศึกต้านชาติ งักฮุยนั้นซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อราชวงศ์ซ่ง เหมือนกับที่กวนอูภักดีต่อเล่าปี่ แต่งักฮุยนั้นยังเป็นผู้ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อต้านศัตรูต่างชาติ ชั่วชีวิตของงักฮุยนั้นต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานอย่างไต้กิมมาตลอด ขืนสร้างให้งักฮุยเป็นเทพเจ้า ราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นของพวกต่างชาติอย่างแมนจูจะไปปกครองแผ่นดินจีนได้อย่างไร คนจีนมีหวังได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับพวกแมนจูเพื่อปลดปล่อยประเทศชาติเหมือนอย่างที่งักฮุยต่อสู้กับพวกกิมแน่ๆ

แต่กวนอูไม่ได้มีลักษณะของการต่อต้านชนต่างชาติแบบนั้น เขาจงรักภักดีแต่กับเล่าปี่ซึ่งเป็นเจ้านายเท่านั้น ประวัติของกวนอูนั้นไม่ได้มีเรื่องของการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานจากต่างชาติเลย ความจงรักภักดีของเขาซึ่งคนทั่วไปยกย่องนั้น ไม่ได้เป็นความจงรักภักดีในเรื่องของชนชาติ แต่เป็นในเรื่องของผู้ปกครอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกแมนจูอยากให้ชาวจีนภักดีต่อพวกตนเช่นนั้น

นอกเหนือไปจากการการเชิดชูเกียรติคุณของกวนอูและสร้างรูปเคารพขึ้นทั่วประเทศแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ก็คือ “งิ้ว”

คนจีนนั้นในสมัยก่อนติดงิ้วกันมาก และงิ้วเรื่องที่สร้างความนิยมมากก็คือ งิ้วเรื่องสามก๊ก
โดยนิยมเล่นเป็นตอนๆ ซึ่งกวนอูเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในงิ้วสามก๊ก และด้วยงิ้วนี่เองที่ช่วยในการขยายและสร้างกระแสในเรื่องของความภักดีต่อราชสำนักให้แพร่หลายได้รวดเร็วขึ้น

นี่คือสาเหตุแท้จริงที่กวนอูกลายเป็นกวนกง มนุษย์คนหนึ่งกลายเป็นเทพเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น