วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ฮองตง ฮั่งเซ็ง

สามก๊ก ฮองตง ฮั่งเซ็ง
สามก๊ก ฮองตง ฮั่งเซ็ง
ประวัติสามก๊ก ฮองตง ฮั่งเซ็ง

หลังจากเล่าถึงเรื่องของ 5 ขุนพลทหารเสือของจ๊กก๊กไป 4 คนแล้ว มาครั้งนี้จะขอพูดถึงคนสุดท้าย นั่นคือขุนพลเฒ่านาม ฮองตง


ในบรรดาทำเนียบขุนพลชื่อดังของสามก๊ก ถือว่าฮองตงเป็นขุนพลที่กว่าจะมาประกาศชื่อเสียงและสร้างวีรกรรมในชั้นอ๋อง ก็เป็นตอนที่ชรามากแล้ว แต่กระนั้นเขาก็ยังคงอุตส่าห์สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ทิ้งเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สามก๊กได้ชนิดที่ขุนพลรุ่นหนุ่มหลายคนที่โลดแล่นในเรื่องสามก๊กยังไม่อาจทำได้ในตลอดชีวิต


เล่ากันว่าการที่ฮองตงมีโอกาสสร้างผลงานเช่นนี้เป็นเพราะเขาได้รับใช้นายอย่างเล่าปี่ ไม่งั้นเขาคงถูกกลืนหายไปในกระแสประวัติศาสตร์ในฐานะขุนพลเฒ่าคนหนึ่งไปแล้ว


ดังนั้นแม้ว่าเขาจะปรากฏตัวและมีบทบาทเพียงไม่นาน แต่ก็เป็นจับใจและได้รับการจดจำจากแฟนๆสามก๊กจำนวนมาก ในภาพพจน์ของจอมขมังธนูเฒ่าผู้เก่งกาจ

ประวัติโดยย่อ

ฮองตง หรือหวางจง ฉายาฮั่งเซ็ง เกิดปีค.ศ. 148 เป็นชาวเมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน ประวัติในวัยหนุ่มไม่มีแน่ชัด เมื่อแรกที่ชื่อของเขาปรากฏในเรื่องสามก๊ก ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดขุนพลผู้เข้มแข็งที่สุดของแดนเกงจิ๋ว

ฮองตงนั้นถูกบรรยายว่ามีความสามารถในเชิงอาวุธและพละกำลังมหาศาล ในตำราหายเล่มบรรยายว่าเข้มแข้งดั่งเสือ แรงเหมือนหมี รูปร่างสง่าน่าเกรงขาม สามารถยิงเกาทัณฑ์หนักถึง 200 ชั่งได้อย่างแม่นยำ

ฮองตงยังได้รับการเคารพยกย่องว่าเป็นขุนพลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความกล้า เป็นที่ยกย่องของเหล่าทหารและนักรบด้วยกันแม้แต่กับขุนพลฝ่ายตรงข้าม ความแข็งแกร่งของฮองตงนั้นถูกเล่าขานเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตและไร้พ่ายในดินแดนแถบเกงจิ๋ว และเป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งความเก่งกาจที่เหล่าขุนพลและนักรบทุกคนของดินแดนนี้ต่างก็ยกย่องและให้เกียรติเขาอย่างมาก

แม้กระทั่งอุยเอี๋ยน ขุนพลผู้เก่งกาจของจ๊กก๊กในภายหลังที่มีนิสัยหยิ่งทระนงและเชื่อมั่นในตัวเองสูงยังยอมอ่อนน้อมและให้ความเคารพต่อฮองตงอย่างสูงยิ่ง

เดิมทีฮองตงเป็นนายทหารของเล่าพาน หลานของเล่าเปียวเจ้าเมืองเตียงสา ต่อมาเล่าพานลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแล้ว ฮันเหียนก็ขึ้นมารับตำแหน่งแทน และฮองตงก็ยังคงรับหน้าที่เป็นแม่ทัพประจำเมืองสืบต่อมา

ในปี ค.ศ.207 หลังเล่าเปียวเสียชีวิต โจโฉเข้ายึดครองดินแดนเกงจิ๋ว เล่าจ๋องลูกชายของเล่าเปียวยอมสวามิภักดิ์ และบรรดาขุนนางและนายทหารจำนวนมากต่างก็เข้าสวามิภักดิ์กับโจโฉ ฮันเหียนเจ้าเมืองเตียงสาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยอมสวามิภักดิ์ ส่วนฮองตงนายทหารในสังกัดนั้นก็ได้ตำแหน่งนายพล (เจียงกุน)

จนเมื่อศึกเซ็กเพ๊กจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของโจโฉ และกองทัพของโจโฉก็ได้ถอนกำลัง

ออกจากดินแดนเกงจิ๋วแล้ว เล่าปี่ที่กำลังขยายาอิทธิพลทางตอนใต้ก็ได้เข้ามายึดดินแดนแถบนี้

เมืองเตียงสานั้นเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เล่าปี่ต้องการยึดมาครอง ฮองตงจึงได้รับคำสั่งจากฮันเหียนให้นำกองทัพเฝ้าปกป้องอย่างเข้มแข็ง

ขงเบ้งนั้นรู้จักชื่อเสียงของฮองตงว่าเข้มแข็งยิ่งนัก จึงให้กวนอูเป็นผู้เข้าตีเมืองนี้ ฝ่ายกวนอูนั้นขอทหารไปเพียงส่วนน้อย เพราะไม่กริ่นเกรงฮองตงตามนิสัยของเขา และด้วยต้องการจะขอท้าประลองกับฮองตงด้วย

ในนิยายสามก๊ก การศึกที่เตียงสานั้นเปิดฉากอย่างมีสีสัน เมื่อสองขุนพลชื่อดังอย่างกวนอูและฮองตงได้เปิดฉากการประลองด้วยการขี่ม้าและใช้เพลงทวนเข้าห้ำหั่นใส่กัน ทั้งสองสู้กันอย่างดุเดือดจนไม่รู้แพ้ชนะ แต่ในระหว่างสู้กันนั้น ฮองตงได้พลาดท่าตกจากม้าไป

กวนอูไม่เข้าซ้ำเติมเพราะถือว่าเสียเกียรติและให้โอกาสฮองตงขึ้นม้ามาสุ้กันใหม่ หลังจากนั้นฝ่ายฮองตงก็ถอยทัพกลับเข้าในเมือง

ฮันเหียนนั้นคิดว่าฮองตงคงสู้กวนอูไม่ได้จึงส่งให้เขาใช้เกาทัณฑ์ยิงลงมาจากกำแพงปราสาท ซึ่งฝีมือในการยิงเกาทัณฑ์ของฮองตงนั้นถูกยกย่องอย่างมากว่าถึงขั้นสุดยอด ดังนั้นจึงไม่มีทางพลาดแน่ แต่ฮองตงหวนนึกถึงน้ำใจลูกผู้ชายที่กวนอูมอบให้ จึงจงใจเล็งไปที่หมวกเหล็กของกวนอูเท่านั้น


ฮันเหียนรู้ว่าฮองตงจงใจยิงพลาดก็โกรธและคิดจะสั่งประหารฮองตง แต่ว่าอุยเอี๋ยนได้เข้ามาช่วยไว้และฆ่าฮันเหียนทิ้ง จากนั้นก็ให้ทหารเปิดเมืองและยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่

ในนิยายกล่าวว่าฮองตงไม่ยอมสวามิภักดิ์ เพราะเขายึดมั่นในหลักคุณธรรมและถือการมีเจ้านายเพียงคนเดียว แต่ในที่สุดหลังจากเล่าปี่ไปเยี่ยมคารวะฮองตงถึงบ้าน เขาก็ยอมรับใช้เล่าปี่

ฮองตงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคนสำคัญทันที และเมื่อเล่าปี่ยึดครองเกงจิ๋วสี่หัวเมืองได้แล้ว ก็นำกองทัพรุกเข้าแดนเสฉวนหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งเล่าปี่ก็ได้เอาบังทอง ฮองตง อุยเอี๋ยนไปด้วย



ในการเข้าตีเสฉวนั้น เล่าปี่ได้แต่งตั้งฮองตงเป็นทัพหน้าในการโจมตีเล่าเจี้ยงและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั้งสามเหล่าทัพ หลังจากที่ยึดเสฉวนได้แล้วฮองตงก็ได้รับตำแหน่งเทาลู่เจียงกุน

หลังจากเล่าปี่ได้เสฉวนแล้ว เป้าหมายถัดไปก็คือเมืองฮั่นจง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นของเตียวลู่ แต่ว่าถูกโจโฉยึดเอามาได้ และใช้ให้แฮหัวเอี๋ยนเป็นผู้รักษา

ตามแผนยุทธการของขงเบ้งแล้ว เล่าปี่จำต้องได้เมืองฮั่นจงเพื่อใช้เป็นปราการส่วนหน้าในการที่จะรุกเข้าตีภาคเหนือและกลางในอนาคต ดังนั้นศึกนี้เล่าปี่จำต้องเอาชนะให้ได้ และเขาก็ได้ตัดสินใจส่งฮองตงและหวดเจ้งเป็นผู้รับผิดชอบการตีเมืองครั้งนี้

ฮองตงได้หวดเจ้งเป็นผู้ช่วยวางแผนการรบ ในนิยายได้เล่าว่าหวดเจ้งแนะนำว่าแฮหัวเอี๋ยนแม้จะมีฝีมือรบสูง แต่ก็บ้าบิ่น ใจร้อน ดังนั้นเมื่อเขานำทัพออกมาท้ารบก็อย่าเพิ่งออกรบเด็ดขาด ฮองตงทำตาม และได้ทำตามแผนต่อไปนั่นคือการเลือกชัยภูมิสูงที่ได้เปรียบ

ในนิยายสามก๊กเล่าอย่างง่ายๆว่า แฮหัวเอี๋ยนนำทหารออกไปร้องท้าฮองตงที่หน้าค่าย แต่ฮองตงก็ไม่ออกมารบ โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นทัพล่อที่ฮองตงเตรียมไว้ ส่วนทัพของเขานั้นไปดักซุ่มรอยังอีกที่ จนเมื่อเวลาเที่ยง แฮหัวเอี๋ยนจึงได้ลงนั่งพัก ฮองตงที่รออยู่เห็นเป็นโอกาส จึงสั่งนำทหารที่ดักซุ่มอยู่ตะลุยลงมาจากชัยภูมิสูง และตัวเขาก็เข้าตัดคอของแฮหัวเอี๋ยนได้โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันระวังตัว

รายละเอียดของศึกยึดฮั่นจงที่สำเร็จโดยฮองตงและหวดเจ้งมีเพียงเท่านี้เอง แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จริงๆ คงจะไม่ใช่แค่นี้แน่ และน่าจะยังมีอะไรอีกมาก

หลังจากสร้างผลงานชิ้นเอกด้วยการยึดฮั่นจงแล้ว ฮองตงก็ได้รับอวยยศเป็นปักเจียงกุน(นายพลผู้พิชิตตะวันตก) หลังจากนั้นฝ่ายโจโฉก็ได้จัดทัพใหญ่ด้วยตนเองมายังฮั่นจงเพื่อจะยึดเอาเมืองคืนและแก้แค้นให้แฮหัวเอี๋ยน

ฮองตงอาสาขอเป็นทัพหน้าไปในครั้งนี้ แต่จูล่งทัดทานเพราะเห็นว่าครั้งนี้คู่มือคือโจโฉ ตนจะขอไปแทนเอง เล่าปี่จึงให้ทั้งสองคนไปช่วยรบด้วยกัน

ฮองตงปรึกษาแผนการรบกับจูล่ง และจึงตกลงกันว่าฮองตงจะขอนำทัพเข้าตีกับข้าศึกก่อน หากเลยเที่ยงไปแล้ว ยังตีไม่ได้ จะให้จูล่งเข้าตีแทน ส่วนจูล่งก็ว่าหากเลยเที่ยงแล้วฮองตงยังไม่กลับมาเขาก็จะขอยกทัพออกไป ซึ่งฮองตงก็ตกลง

ฮองตงนำทัพออกไปประจันหน้ากับทัพของโจโฉ จนกระทั่งพลาดท่าตกอยู่ในวงล้อม ฮองตงพยายามสู้เต็มที่แต่ก็ไม่อาจฝ่าออกมาได้ จนเมื่อเวลาเที่ยง จูล่งที่รอติดตามข่าวอยู่ไม่เห็นทัพของฮองตงกลับมาจึงนำทหารออกไปตีฝ่าเอาฮองตงกลับมาได้ จากนั้นเมื่อทัพของโจโฉทำการเข้าตีกระหนาบซ้ำ จูล่งก็ใช้กลอุบายล่อหลอกทัพของโจโฉเอาไว้ที่หน้าค่ายและสามารถไล่ตีจนทัพของโจโฉต้องถอยกลับไป

ฮองตงขอบคุณและยกย่องน้ำใจของจูล่งมาก จากนั้นไม่นานทัพใหญ่ของเล่าปี่ก็ตามมาถึงและได้ทำการรบกับทัพของโจโฉต่อ โดยโจโฉได้ใช้ซิหลงให้นำทัพออกมาหมายจะแก้มือ แต่แล้วก็เจอฮองตงและจูล่งวางแผนร่วมกันเล่นงานจนซิหลงต้องแตกพ่าย ในศึกนี้ยังได้ตัวอองเป๋ง นายทหารวุยซึ่งจะเป็นขุนพลสำคัญของจ๊กก๊กในภายหลังมาสวามิภักดิ์ด้วย

การศึกฮั่นจงจบลงด้วยชัยชนะของเล่าปี่ อันเป็นการชนะศึกใหญ่ครั้งแรกที่มีต่อโจโฉ แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของเล่าปี่ที่ไม่ต้องกลัวใครหน้าไหนในแผ่นดินอีกแล้ว

จากนั้นในปี ค.ศ.219 เล่าปี่ก็ได้ตั้งตนเป็นฮั่นจงอ๋อง ฮองตงก็ได้เลื่อนยศเป็นนายพลทัพหลัง และได้รับการเรียกขานเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือ อันประกอบด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว และฮองตง ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยายเสริมขึ้นมาเพื่อยกย่องขุนพลผู้เก่งกาจที่สุดของจ๊กก๊กทั้ง 5 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการยกย่องไว้ลอยๆ เพื่อใช้ขู่ขวัญข้าศึกเท่านั้น

จากนั้นปลายเดียวกัน ก็เกิดเรื่องใหญ่ เมื่อกวนอูซึ่งยกทัพรุกขึ้นเหนือได้ถูกพันธมิตรง่อหักหลัง โดยลิบองได้ยกทัพเข้าตลบหลังและยึดเมืองเกงจิ๋วในระหว่างที่กวนอูกำลังรบกับทางโจหยิน และกวนอูก็จับประหาร

เล่าปี่แค้นมาก คิดจะยกทัพไปแก้แค้น แต่เพราะขุนนางส่วนใหญ่คัดค้าน จึงชะลอไว้ก่อน ต่อมาในปี 221 เมื่อเดือน 4 ก็ได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์จกหรือซู่ฮั่นขึ้น ตั้งตนเป็นฮ่องเต้นามพระเจ้าเจียงบู๊ และจากนั้นไม่นานก็ตัดสินใจยกทัพใหญ่กว่า 7 แสนคนไปตีง่อเพื่อแก้แค้นให้กวนอู โดยไม่ฟังคำทัดทานจากขงเบ้ง จูล่งและขุนนางส่วนมาก และกลายเป็นจุดเริ่มของศึกอิเหลง

ในนิยายสามก๊กเล่าว่าฮองตงได้ร่วมไปในศึกนี้ด้วย แต่ก็ไม่แน่ชัด เพราะบางแหล่งก็บันทึกว่าฮองตงเสียชีวิตไปก่อนหน้าที่จะเกิดศึกอิเหลงเสียอีก

ถ้าว่าตามนิยาย ฮองตงได้รับตำแหน่งแม่ทัพในศึกนี้ แต่ยังไม่ทันจะได้รบกันเป็นเรื่องเป็นราว ฮองตงซึ่งเกิดมุมานะก็ได้นำทัพบางส่วนของตนเข้าตีค่ายของฝ่ายง่อ แล้วถูกแทงบาดเจ็บหนัก ถึงจะกลับมาได้ แต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวและตายลง รวมอายุ 74 ปี

แต่จากที่ลองศึกษาหาข้อมูลมา คิดว่าฮองตงน่าจะตายก่อนศึกอิเหลงมากกว่า อีกอย่าง การกระทำบ้าบิ่น มุทะลุเช่นนั้นถึงจะดูตรงกับนิสัยไม่กลัวใครของฮองตง แต่มันก็ออกจะบ้าเกินไปเสียหน่อย เพราะแม้ฮองตงจะเป็นคนเลือดร้อนไม่กลัวใคร แต่ในการศึกแล้วไม่ว่าครั้งไหนเขาก็มักจะวางแผนก่อนออกรบเสมอ ดังนั้นการตายในนิยายอาจจะเป็นเรื่องแต่งมากกว่า

ฮองตงแก่ได้รับยศหลังจากตายไปแล้วเป็นกังโหวเจ้าพระยา ฮองตงมีลูกชายหนึ่งคนแต่ไม่มีบทบาทอะไรและตายตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ฮองตงจึงไม่มีลูกสืบสกุลต่อมา

แต่ยังไงเสีย ฮองตงก็ยังเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้คนในขุนพลเฒ่าจอมแม่นธนูผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความสัตย์ของนักรบอยู่ดี และในตำนานสามก๊กบางฉบับ เช่น ซานกั๋วจื่อผิงฮว่านั้น ยกย่องฮองตงเป็นสุดยอดขุนพลที่เก่งกล้าที่สุดด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น