วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก หวดเจ้ง เสี่ยวจื้อ

ประวัติสามก๊ก หวดเจ้ง เสี่ยวจื้อ

เล่าปี่สามารถก่อร่างสร้างตนขึ้นเป็นฮ่องเต้และก่อตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ในดินแดนตะวันตก หรือก็คือเสฉวน ซึ่งกล่าวกันว่ากุนซือหรือเสนาธิการผู้ที่ทำให้เล่าปี่สามารถเข้าครอบครองดินแดนนี้ได้นั้น คือชายผู้มีชื่อว่าหวดเจ้ง

ความสำคัญและความไว้ใจที่เล่าปี่มีต่อหวดเจ้งนั้นสูงมาก ขนาดขงเบ้งยังเคบกล่าวว่าหวดเจ้งเป็นผู้เดียวที่น่าจะทัดทานเล่าปี่ไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาดในศึกอิเหลงได้ อีกทั้งความสามารถของหวดเจ้งที่ปรากฏนั้นก็สูงล้ำ เทียบชั้นกับเหล่ายอดกุนซือร่วมสมัยหลายๆคนได้ทีเดียว

ทั้งที่ก่อนหน้าจะมาอยู่กับเล่าปี่ ชื่อของหวดเจ้งไปไม่เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์หรือมีแสดงว่าเป็นยอดเสนาธิการเลย นับว่าเป็นบุคคลที่สามารถสร้างชื่อและผลงานขึ้นมาได้เพราะได้มาอยู่กับเจ้านายที่มองเห็นความสามารถของตนโดยแท้


ประวัติโดยย่อ

หวดเจ้ง หรือฝาเจิ้ง ชื่อรองเสี่ยวจื้อ เกิดปีค.ศ.174 ชาวซานซี ในวัยหนุ่มเป็นบัณฑิตชื่อดังแห่งเอ๊กจิ๋ว ชอบศึกษาหาความรู้ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง บันทึกบางฉบับบอกว่าเป็นคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว และเมื่อรับราชการแล้วก็มียังทุจริตอีกด้วย

ไม่ปรากฏว่าหวดเจ้งได้เข้ารับราชการเมืองเสฉวนตั้งแต่สมัยเล่าเอี๋ยนหรือไม่ กระทั่งเล่าเจี้ยงบุตรชายได้รับตำแหน่งเจ้ามณฑลเสฉวนสืบต่อ ชื่อของหวดเจ้งจึงเป็นที่รู้จักในฐานะข้าราชการผู้มีความสามารถคนหนึ่ง

แต่ในสมัยที่เล่าเจี้ยงปกครองเสฉวนนั้น ไม่ปรากฏบทบาทของดินแดนนี้ในนิยายสามก๊กเลยแม้แต่น้อย กระทั่งในประวัติศาสตร์เองก็ไม่กล่าวถึง เรียกได้ว่าในขณะที่แผ่นดินกำลังเข้าสู่กลียุคและบรรดาขุนศึกหัวเมืองต่างๆกระโจนเข้าร่วม มีเพียงเล่าเจี้ยงแห่งเสฉวนเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มิได้มีบทบาทใดๆกับความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน

ในปี ค.ศ. 211 หลังจากพันธมิตรม้าเฉียวและหันซุยซึ่งลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อรัฐบาลกลางของโจโฉ และได้ประสบกับความพ่ายแพ้ ทำให้โจโฉหมายจะแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนตะวันตกมากขึ้น โดยให้แฮหัวเอี๋ยนประจำการที่เมืองเตียงอันในฐานะแม่ทัพใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการในการรุกเข้าตะวันตก

การที่โจโฉต้องการขยายอำนาจเข้าตะวันตก สร้างความปั่นป่วนให้บรรดาหัวเมืองต่างๆในดินแดนนี้มาก เตียวลู่เจ้าเมืองฮั่นจงต้องการขยายดินแดนและกองกำลังของตนเพื่อรับมือกับโจโฉ จึงคิดจะเปิดศึกกับเล่าเจี้ยงเพื่อชิงเสฉวนมา เล่าเจี้ยงนั้นแม้จะปกครองดินแดนเสฉวนได้สงบเรียบร้อย และกองทหารของเสฉวนก็มีจำนวนมาก แต่กองทัพเสฉวนเป็นกองทัพที่แทบจะไม่เคยออกศึกมาก่อนนอกจากการปราบปรามชาวเผ่านอกด่านทางตะวันตก ทำให้เล่าเจี้ยงเกิดความวิตกในการรุกรานของเตียวลู่มาก

ในปีค.ศ.212 จากการรุกรานของเตียวลู่ เป็นเหตุให้เล่าเจี้ยงตัดสินใจเชิญเล่าปี่ซึ่งครองเมืองเกงจิ๋วในขณะนั้นให้เข้ามาช่วยรับศึก ด้วยคำแนะนำของที่ปรึกษาชื่อเตียวสง

เรื่องที่เตียวสงเชิญเล่าปี่มารับศึกเตียวลู่นี้ ในนิยายสามก๊กได้บรรยายและเล่าเรื่องราวไว้อย่างมีสีสันมาก กล่าวคือเตียวสงนั้นเล็งเห็นว่า หากปล่อยให้เล่าเจี้ยงเป็นผู้ปกครองเสฉวนต่อไป คงไม่แคล้วถูกผู้มีอำนาจและกระแสภายนอกดูดกลืนไปแน่ ไม่ช้าก็เร็วเสฉวนคงจะถูกกองกำลังใดเข้าควบคุม จึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยกดินแดนนี้ให้ผู้มีอำนาจอื่นเสียก่อนที่จะถูกกลืน

เตียวสงได้เสนอต่อเล่าเจี้ยงที่จะเข้าพบโจโฉเพื่อการเจรจาเรื่องบรรณาการและการยอมลงให้แก่โจโฉ แต่ที่จริงเป็นข้ออ้างที่เตียวสงต้องการเพื่อจะได้นำแผนที่มณฑลเสฉวนไปมอบให้แก่โจโฉ เพื่อขอสวามิภักดิ์และให้โจโฉเข้ายึดเสฉวนได้โดยสะดวก ซึ่งแม้จะมีข้ออ้างสวยหรูแค่ไหน แต่การกระทำของเตียวสงนั้นนับว่าเข้าขั้นขายบ้านเมืองตนเอง

เตียวสงเมื่อได้เข้าพบโจโฉ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่เตียวสงเป็นผู้มีความทระนงตน ในขณะที่ใบหน้าของเขานั้นค่อนข้างอัปลักษณ์ จึงถูกโจโฉดูหมิ่น เตียวสงไม่พอใจ จึงได้แสดงภูมิปัญญาออกมา ซึ่งมีบันทึกว่าเตียวสงเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ เขาอาศัยการอ่านเนื้อหาในตำราพิชัยสงครามเมิ่งเต๋อเซินซูเพียงครั้งเดียวก็สามารถท่องออกมาได้หมด ซึ่งตำรานี้เป็นตำราที่โจโฉได้เขียนขึ้นเองโดยการรวบรวมประสบการณ์รบจริงและมุ่งอธิบายหลักการของซุนหวู่ ซึ่งเตียวสงอ้างว่าเด็กๆในเสฉวนสามารถท่องเนื้อหาเหล่านี้กันได้หมด ซึ่งโจโฉคงจะลอกเอามาจากตำราโบราณอื่นเป็นแน่ โจโฉโดนดูถูกเช่นนี้จึงเจ็บใจมาก และสั่งขังเตียวสงแล้เฆี่ยนตีอย่างรุนแรง เตียวสงเจ็บแค้นมาก และเอาแผนที่เสฉวนกลับไป ไม่มอบให้โจโฉ และเปลี่ยนใจไปหาเล่าปี่แทน

ฝ่ายเล่าปี่นั้น ขงเบ้งได้สืบรู้เรื่องเตียวสงมาก่อนแล้ว จึงจัดแจงต้อนรับเตียวสงอย่างดี จนเตียวสงประทับใจ แต่ในงานเลี้ยงต้อนรับ เล่าปี่ ขงเบ้งจงใจไม่พูดถึงเรื่องแผนที่เสฉวนที่เตียวสงนำมาด้วยกระทั่งถึงตอนจะร่ำลา เตียสงประทับใจเล่าปี่มากจึงยอมมอบแผนที่เสฉวนและข้อมูลต่างๆของเสฉวนให้เล่าปี่จนหมดสิ้น

เตียวสงแจ้งเล่าปี่ว่าหากจะยึดเสฉวน นอกจากกำลังทหารแล้วยังต้องทำการประสานกับคนภายในเสฉวนด้วย ซึ่งคนที่เตียวสงได้ชักชวนให้ร่วมก่อการด้วยกันนั้นมีขุนนางและนายทหารสำคัญๆของเสฉวนหลายคน ซึ่งคนที่เป็นตัวหลักที่เตียวสงชักชวนมาเข้าร่วมด้วยก็คือ หวดเจ้ง และเบ้งตัด

หวดเจ้งได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับเล่าปี่ ในฐานะเสนาธิการผู้วางแผน ซึ่งเตียวสงนั้นรับหน้าที่กลับไปเสฉวนเพื่อประสานงานจากภายใน ส่วนเบ้งตัดรับหน้าที่ในการประสานงานกับกองกำลังหัวเมืองภายนอก

เล่าปี่ถูกเชิญเข้าเสฉวนและได้รับการต้อนรับจากเล่าเจี้ยงอย่างดี แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากบรรดาขุนนางจำนวนมาก แต่เล่าเจี้ยงก็ยังคงรับเล่าปี่เข้าเมืองเพราะถือว่าเป็นคนแซ่เล่าเหมือนกัน ซึ่งเล่าเจี้ยงนั้นนับถือและยกย่องให้เล่าปี่เป็นดั่งพี่เลยทีเดียว

เล่าปี่นำกองทัพไปประจำที่แฮบังก๋วน แต่ก็ไม่ได้เปิดศึกกับเตียวลู่แต่อย่างใด นานวันเข้าเล่าเจี้ยงจึงไม่พอใจ ที่เล่าปี่นำกองทัพเข้ามาประรำการในเขตแดนเสฉวนแต่ไม่ยอมออกศึก อีกทั้งเล่าปี่ยังแจ้งต่อเล่าเจี้ยงอ้างว่าทางซุนกวนกำลังจะยกทัพเข้ารุกเกงจิ๋ว จึงขอยืมกำลังทหารและเสบยีงส่วนหนึ่งกลับไป เล่าเจี้ยงไม่พอใจมาก แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้

และในที่สุดโอกาสของเล่าปี่ก็มาถึง ในปีค.ศ. 213 เล่าปี่สังหารนายทหารประจำโปยสิก๋วนแล้วอาศัยการจับครอบครัวของแม่ทัพและนายทหารเหล่านั้นเป็นตัวประกัน ทำให้สามารถรวบกองทัพที่โปยสิก๋วนมาเป็นของตนได้ จากนั้นจึงยกกองทัพบุกโดยมีเป้าหมายที่นครเฉิงตูทันที

หวดเจ้งได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการประจำกองทัพ ร่วมกับบังทองที่ได้รับการชักชวนจากขงเบ้งในเวลาใกล้กัน และรุกเข้ายึดหัวเมืองเสฉวนตามรายทางได้เป็นจำนวนมาก หวดเจ้งได้เสนอแผนการต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่ทัพเล่าปี่ ทำให้เล่าปี่ชื่นชมในความสามารถและสติปัญญาของกวดเจ้งมาก

ปีค.ศ.214 เล่าปี่นำกองทัพใหญ่เข้าล้อมนครเฉิงตู เมืองหลวงของเสฉวนไว้ได้ เล่าเจี้ยงจึงต้องเปิดประตูเมืองและยอมสวามิภักดิ์ ทำให้เล่าปี่สามารถครอบครองเสฉวนไว้และได้ฐานที่มั่นที่แท้จริงมาเป็นของตนได้สำเร็จ

ในปีค.ศ.215 โจโฉยกทัพใหญ่เข้ายึดฮั่นจงได้สำเร็จ แต่ไม่ได้ตามเข้าตีถึงเสฉวนเพราะโจโฉเกรงว่าเส้นทางอันทุรกันดารในการเข้าสู่เสฉวนจะทำให้กองทัพของตนมีปัญหามากกว่า จากนั้นจึงให้แฮหัวเอี๋ยน เตียวคับ ซิหลง ประจำการที่ฮั่นจงเพื่อเตรียมรับศึกจากเล่าปี่

เล่าปี่หลังจากยึดเสฉวนมาครองได้ ก็ทำการจัดระเบียบภายในให้เรียบร้อยภายใต้การดูแลและบริหารของขงเบ้งร่วมกับขุนนางสำคัญของเสฉวนที่มาเข้าสวามิภักดิ์ ส่วนหวดเจ้งถูกมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นเสนาธิการทหาร ดูแลด้านการศึกอย่างเต็มตัว

เล่าปี่จัดให้เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง สี่ขุนพลใหญ่ของตนเข้ารุกเพื่อยึดฮั่นจงให้ได้ โดยเตียวหุยและม้าเฉียวประจำการที่ปาเส เพื่อรับศึกกับโจหองซึ่งเป็นทัพหนุนที่โจโฉส่งมาเสริมกำลัง ส่วนจูล่งและฮองตงมีเป้าหมายที่การยึดทุ่งฮันซุยและเขาเตงกุนสัน อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฮั่นจง โดยมีหวดเจ้งเป็นเสนาธิการให้แก่กองทัพทั้งหมด

รายละเอียดในการศึกฮั่นจงครั้งนี้และอีกครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในปีค.ศ.219 นั้น เป็นศึกที่มีรายละเอียดมาก ทั้งกองทัพของเล่าปี่และโจโฉต่างผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบ นอกจากนี้ยังเป็นศึกแระและศึกเดียวที่เล่าปี่สามารถต่อกรกับโจโฉได้อย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุด และผลของการศึกก็เป็นฝ่ายเล่าปี่ที่ได้ชัยในตอนท้ายด้วย

ในศึกนี้ซึ่งหวดเจ้งมีบทบาทสำคัญนั้นคือการวางแผนให้ฮองตงซึ่งรับหน้าที่เป็นแม่ทัพออกมาตีทัพเสบียงของแฮหัวเอี๋ยน เข้าจัดการสังหารแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ได้ ในนิยายนั้นเพียงอธิบายรายละเอียดว่าหวดเจ้งวางแผนล่อหลอกให้แฮหัวเอี๋ยนออกมาท้ารบกับฮองตง โดยแฮหัวเอี๋ยนได้ยกทัพออกมาล้อมเขาไทสันไว้ทั้งสี่ด้าน และร้องท้าฮองตงตลอดวัน ส่วนฮองตงตั้งมั่นอยู่ที่เนินเขา และไม่ยอมออกรบด้วย จนกระแฮหัวเอี๋ยนนั่งพัก หวดเจ้งซึ่งตั้งมี่นอยู่บนยอดเขาจึงยกธงแดงเป็นสัญญาณให้ฮองตงเข้าโจมตีแฮหัวเอียนจากที่สูง แฮหัวเอี๋ยนไม่ทันระวังจึงถูกฮองตงตัดศีรษะไป

อันที่จริง ก็ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยอยู่ว่าเหตุใดแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นแม่ทัพที่มากประสบการณ์ อีกทั้งในตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ จึงรับมือได้ไม่ทันการขนาดนั้น ทหารองครักษ์หรือหน่วยคุ้มกันไปไหนหมด แม้ว่าฮองตงจะลอบเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเป็นการโจมตีในพื้นที่สนามรบซึ่งคนระดับแม่ทัพใหญ่ย่อไม่อาจเอาตัวเองไปเสี่ยงขนาดนั้นได้

เนื่องจากรายละเอียดของแผนการของหวดเจ้ง เท่าที่บันทึกไว้ในนิยายสามก๊กมีไม่มากนัก จึงไม่อาจบอกได้ว่าแท้จริงแล้วตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น หรือแผนการเชิงลึกของหวดเจ้งเป็นเช่นไร แต่โดยผลสรุปแล้ว นี่ก็นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของหวดเจ้ง และผลของการสังหารแฮหัวเอี๋ยน ก็ทำให้กองทัพเล่าปี่สามารถยึดเอาทุ่งเตงกุนสันและรวมถึงฮั่นจงมาได้

เมื่อได้ฮั่นจงมา ในปีเดียวกัน โจโฉซึ่งเจ็บแค้นที่แฮหัวเอี๋ยนถูกสังหาร จึงยกทัพใหญ่หมายล้างแค้นด้วยตนเอง หวดเจ้งรับหน้าที่เสนาธิการช่วยวางแผนการรบต่อเนื่องมา แต่ก็เป็นเพียงแค่เวลาสั้นๆเท่านั้น สุดท้ายแล้วเล่าปี่ซึ่งยกทัพหลวงเข้ามาเสริมกำลังที่ฮั่นจง ต้องให้ขงเบ้งขึ้นมารับหน้าที่แทน เพราะหวดเจ้งป่วยหนัก และเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน

เล่าปี่เสียใจให้กับการตายของหวดเจ้งมาก และแต่งตั้งยศย้อนหลังเป็นอี้โหว (พระยา)

กล่าวกันว่าภายหลังจากนั้นก่อนหน้าที่ศึกอิเหลงจะเริ่มขึ้น ซึ่งเล่าปี่ต้องการยกทัพนับแสนไปตีซุนกวนเพื่อแก้แค้นให้กวนอูแล้วสุดท้ายพ่ายแพ้อย่างย่อยยับนั้น ขงเบ้งได้พยายามทัดทานอย่างเต็มที่ แต่เล่าปี่ไม่ยอมฟังและยังขว้างฎีกาที่ขงเบ้งเขียนเพื่อพยายามยับยั้งการออกศึกนี้อย่างไม่ใยดี จนขงเบ้งถึงกับรำพึงว่า หากหวดเจ้งยังอยู่คงสามารถห้ามเล่าปี่ไม่ให้ไปทำศึกได้

ผู้ศึกษาเรื่องสามก๊กไม่น้อยจึงเชื่อกันว่าหวดเจ้งเป็นเสนาธิการและผู้ที่เล่าปี่ให้ความไว้ใจและเชื่อถืออย่างมาก บางทีอาจจะมากยิ่งกว่าขงเบ้งเสียด้วยซ้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือให้เล่าปี่ได้ครอบครองดินแดนเสฉวน ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อตั้งจ๊กก๊ก ส่วนด้านความสามารถนั้น หวดเจ้งได้รับการยอมรับว่าเป็นยอดกุนซือที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่งในยุคนั้น ซึ่งเพิ่งจะมีโอกาสได้แสดงฝีมือในช่วงที่เริ่มก่อตั้งสามก๊ก ซึ่งส่วนหนึ่งต้องบอกว่านับเป็นโชคของเขาที่ได้มาอยู่กับเล่าปี่ซึ่งเป็นเจ้านายที่มองเห็นความสามารถและให้โอกาสเขาเต็มที่อีกด้วย แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น