วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ซิหลง กงหมิง

ประวัติสามก๊ก ซิหลง กงหมิง

ซิหลง ชื่อรอง กงหมิง เป็นชาวจังหวัดเอี๋ยง เมืองเหอตง ปัจจุบันคือ เมืองหองตง มณฑลซานซี ไม่มีประวัติในวัยเด็กแน่ชัด รู้เพียงว่าเขาฝึกฝนและหัดวิชาอาวุธมาตั้งแต่เด็กจนเก่งกาจ และยังชอบศึกษาตำราพิชัยสงคราม จากนั้นจึงเข้ารับราชการทหาร ช่วงปี ค.ศ. 189 เขาได้เป็นนายทหารใต้สังกัดของนายพลกองทหารม้า เอียวฮอง และได้เข้าร่วมทำศึกในกองทัพพันธมิตรกวนตงกับตั๋งโต๊ะด้วย เขาได้สร้างผลงานในสนามรบจนได้เลื่อนยศเป็นหัวหน้ากองทหารม้า จนกระทั่งทัพพันธมิตรเกิดแตกแยก เขาก็ได้ติดตามเอียวฮองเข้าเมืองหลวงเตียงอัน

ซึ่งในขณะนั้น เมืองหลวงตกอยู่ภายใต้อำนาจของ ลิฉุยและกุยกี สองบริวารของตั๋งโต๊ะที่ได้เข้ามากุมอำนาจในเมืองหลวงแทนเจ้านายที่ถูกลิโป้สังหารไป การคุกคามจากลิฉุยและกุยกีนั้นหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนกลุ่มขุนนางชั้นสูงและเหล่าเชื้อพระวงศ์ตัดสินใจพาตัวพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งขณะนั้นไม่ต่างอะไรจากฮ่องเต้หุ่นหนีไปยังลกเอี๋ยง เมืองหลวงเก่าซึ่งตอนนั้นเหลือเพียงซากเมืองที่ถูกตั๋งโต๊ะเผาทำลายลงเมื่อสามปีก่อน

เอียวฮองเป็นขุนศึกผู้หนึ่งที่ร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือฮ่องเต้ในการเดินทางหนีออกจากเมืองเตียงอัน โดยมีซิหลงเป็นขุนพลและที่ปรึกษาส่วนตัว

แต่ในประวัติศาสตร์นั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เอียวฮองก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คิดการจำอาศัยฮ่องเต้ให้เป็นเครื่องมือเหมือนกัน

เมื่อเดินทางหนีกองทัพของลิฉุยและกุยกีไปจนถึงเมืองลกเอี๋ยง ขุนนางที่ร่วมมาด้วยกันอย่างหันเซียมและตังสินได้ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ซิหลงจึงแนะนำให้เอียวฮองไปเข้าร่วมกับโจโฉ

เอียวฮองเห็นชอบด้วย แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจและคิดจะต่อต้านโจโฉ เพราะผลงานการพาฮ่องเต้หนีโจรนั้น เริ่มกลายเป็นผลงานของโจโฉ และโจโฉก็เข้ามามีบทบาทกับฮ่องเต้มากขึ้น สร้างความไม่พอใจให้แก่เอียวฮอง ตังสิน และหันเซียม เพราะพวกเขาถือว่าตนเป็นขุนนางกลุ่มแรกที่ร่วมกันพาพระเจ้าเหี้ยนเต้ หนีจากมือลิฉุย กุยกี และต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทางเร่ร่อนอยู่นาน

โจโฉจึงได้ข้ออ้างและโอกาสในการเข้าโจมตีจนกองทหารของเอียวฮองต้องแตกพ่ายไป ส่วนซิหลงนั้นได้รับการชักชวนจากหมันทอง ขุนพลคนหนึ่งของโจโฉซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับเขา เขาจึงเข้าสวามิภักดิ์กับโจโฉ และได้รับตำแหน่งนายทัพเข้าบรรจุในกองทัพของโจโฉ

หลังจากนั้น ซิหลงก็เข้าร่วมในสมรภูมิต่างๆมากมาย ผลงานสำคัญคือการติดตามโจโฉไปทำศึกกับลิโป้ที่เมืองโห้ลาย และสามารถสังหารแม่ทัพนายกองของลิโป้ได้มากมาย

ในปีค.ศ. 200 โจโฉผู้สามารถพิชิตลิโป้ อ้วนสุด ลิฉุย กุยกี จนกลายเป็นผู้ครองครองภาคกลางได้นั้น ก็เริ่มแผ่ขยายอำนาจมายังภาคเหนือ นั่นทำให้การศึกระหว่างผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองระเบิดขึ้น และได้กลายเป็นศึกใหญ่หนึ่งในสามของสามก๊ก นั้นคือศึกกัวต๋อ

อ้วนเสี้ยวได้เปรียบเหนือโจโฉทุกทาง แม้ว่าโจโฉจะกุมฮ่องเต้ไว้ ทำให้มีอำนาจบัญชาเหล่าขุนศึก แต่มันก็แทบจะไม่มีผลนักในศึกนี้ เมื่ออ้วนเสี้ยวสามารถระดมทหารทั้งหมดมารวมศูนย์จัดการกับโจโฉได้ ในขณะที่โจโฉไม่อาจทำเช่นนั้น เพราะต้องแบ่งกองกำลังของตนไปรับมือตามจุดต่างๆที่อยู่ติดกับเหล่าขุนศึกอื่นๆ

ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันที่ท่าแปะแบ๊และทำศึกกันหลายครั้ง โดยซิหลงได้เข้าร่วมในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ และในที่สุดกองทัพของโจโฉก็สามารถเข้ายึดท่าข้ามแปะแบ๊ อันเป็นชัยภูมิสำคัญได้

หลังจากนั้นเมื่อโจโฉถอยทัพไปตั้งมั่นที่กัวต๋อ ฝ่ายอ้วนเสี้ยวก็ระดมยิงธนูใส่ทั้งวัน แต่ก็ไม่อาจทำให้โจโฉยอมแพ้ได้ ในที่สุดสถานการณ์ก็พลิกผัน เมื่อเขาฮิว ที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวได้แปรพักตร์ไปอยู่กับโจโฉ และได้ช่วยบอกตำแหน่งเสบียงที่ตำบลอัวเจ๋าให้โจโฉทราบ และทำให้โจโฉนำกำลังทหารจำนวนน้อยลอบเข้าตีค่ายเสบียงที่นั่นจนแตก และส่งผลให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และนำไปสู่การเอาชนะศึกกัวต๋อได้ในที่สุด

อ้วนเสี้ยวต้องถอยทัพกลับแดนกิจิ๋วและตรอมใจตายในเวลาไม่นาน

หลังจากนั้นบุตรชายสองคนของอ้วนเสี้ยวคืออ้วนถำและอ้วนซงก็ขึ้นมาแย่งชิงความเป็นใหญ่ในตระกูลอ้วนกัน โจโฉจึงอาศัยจังหวะนี้ ยกกองทัพรุกขึ้นเหนือต่อเพื่อหวังพิชิตตระกูลอ้วนให้ได้เด็ดขาด

ซิหลงได้รับหน้าที่ให้เข้าตีเมืองยี่หลาง ซึ่งเดิมทีเจ้าเมืองยี่หลางคือฮั่นฝ่านนั้นได้สวามิภักดิ์กับโจโฉแล้ว แต่ก็คิดก่อการและแอบสั่งสมกำลังพลไว้เพื่อต่อต้าน ซิหลงจึงได้อาศัยธนูหนึ่งดอก โดยการผูกลูกศรเข้ากับจดหมายแล้วยิงเข้าไปในเมือง ในจดหมายนั้นส่งถึงฮันฝ่านเจ้าเมืองยี่หลาง แจกแจงถึงเหตุผลที่ควรยอมจำนนว่าจะมีผลดีเช่นไร และการยกทัพมาครั้งนี้ไม่ได้หวังจะมาเพื่อทำให้ชาวเมืองต้องเดือดร้อน และกระตุ้นเตือนว่าหากเกิดการรบขึ้นคนที่เดือดร้อนก็คือชาวเมือง

ฮั่นฝ่านจำต้องยอมต่อเหตุผลของซิหลงและตัดสินใจยอมจำนนอีกครั้ง ส่วนซิหลงก็ได้เข้าพบกับโจโฉแล้วกล่าวว่า “ในยามนี้ อ้วนถำและอ้วนซง ยังไม่ได้พ่ายแพ้หมดสิ้น บรรดาทหารและพลเรือนของฝ่ายนั้นจึงยังสับสนอยู่ ถ้านายท่านยอมรับการจำนนของเมือง ยี่หยาง ก็จะมีผู้คนเข้ามาสวามิภักดิ์อีกมาก แต่ถ้านายท่านตัดสินใจสังหารหมู่คนใน ยี่หยาง เชื่อว่าเมืองอื่นๆ ก็ต้องพร้อมจะยอมสู้ตาย ดังนั้น ภาคเหนือก็จะพิชิตได้ยาก ข้าจึงหวังให้นายท่านเลือกแนวทางการยอมรับการจำนนของเมือง ยี่หยาง แล้วทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น” โจโฉได้ฟังแล้วรู้สึกว่ามีเหตุผล จึงยอมทำตามคำแนะนำของซิหลง

ซิหลง ได้ติดตามโจโฉที่ยกทัพบุกถล่มตระกูลอ้วนเพื่อปราบทิศเหนือ กระทั่งปีค.ศ. 206 โจโฉยกทัพออกนอกด่านเพื่อปราบปรามต๋าถูกแห่งเผ่าวูหวน ซิหลงก็เข้าร่วมด้วยและผลงานการสู้รบของเขาก็เป็นที่น่าพอใจ จึงได้เลื่อนขั้นเป็น นายพลผู้พิชิตแดนเถื่อน

2 ปีต่อมา ในปี ค.ศ.208 เมื่อศึกเซ็กเพ็กอุบัติขึ้น ซิหลงได้ร่วมทัพไปทำศึกที่เกงจิ๋ว และสร้างผลงานไว้ไม่น้อย ด้วยการร่วมกับหมันทองซึ่งเป็นเพื่อนสนิท เข้าโจมตีกวนอูที่ฮันจิ๋น ภายหลังเมื่อกองทัพของโจโฉต้องถอนตัวจากเซ็กเพ็ก และโจโฉได้ถอยขึ้นกลับภาคกลาง ซิหลงก็ได้ช่วยเหลือโจหยินต้านรับการโจมตีอันหนักหน่วงของจิวยี่ที่ปราสาทเจียงหลิง เมืองกังเหลง ซึ่งผลการรบนั้นจบลงที่โจโฉสั่งถอนกำลังออกจากดินแดนเกงจิ๋วตอนกลางและล่างทั้งหมด และขึ้นไปตั่งมั่นไว้ที่เมืองเซียงหยางแทน แต่จิวยี่เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากศึกในครั้งนี้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน

ปีค.ศ. 210 ซิหลงถูกส่งไปประจำการยังดินแดนไท่หยวน ซึ่งมีปัญหาการก่อกบฏของพวกชนเผ่าต่างๆจากนอกด่าน และในปีต่อมา เมื่อม้าเฉียวและหันซุยก่อกบฏขึ้น และยกทัพเข้าตีเมืองเตียงอันมาได้ สถานการณ์คับขันถึงขีดสุด โจโฉจึงส่งให้ซิหลงไปตั้งมั่นที่เหอตงไว้ก่อน จนเมื่อทัพใหญ่ของโจโฉยกมาถึงด่านตงก๋วน โจโฉได้ปรึกษากับซิหลงเรื่องการยกทัพข้ามแม่น้ำ ซึ่งอาจถูกซุ่มโจมตีได้ ซึหลงจึงเสนอว่าจะขอเป็นทัพหน้านำทหารกล้าตายบางส่วนข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายที่อีกฝั่ง เพื่อคอยสกัดกั้นการโจมตีของข้าศึก โจโฉจึงมอบทหารซิหลง 4000 นาย นำข้ามแม่น้ำไป

เป็นไปตามที่คาด เหลียงเหง ซึ่งเป็นทหารเอกคนหนึ่งหันซุย สังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของทัพซิหลงที่กำลังจัดค่ายแถบคูน้ำ จึงนำทหารกว่า 5000 เข้าโจมตี แต่ซิหลงก็เตรียมพร้อมไว้แล้วจึงสามารถตีโต้จนพ่ายกลับไป และช่วยให้โจโฉสามารถข้ามแม่น้ำมาได้สำเร็จ ทำให้สามารถวางแผนและทำศึกกับทัพของม้าเฉียวได้ง่ายขึ้น จนสามารถเอาชนะทัพเสเหลียงลงได้หลังจากนั้น

หลังจากปราบม้าเฉียวลงได้ โจโฉก็เตรียมการบุกฮั่นจง โดยใช้ให้แฮหัวเอี๋ยนและซิหลง ไปปราบปรามเผ่าอนารยชนบางส่วนที่ยังลุกฮืออยู่ แล้วจึงไปสมทบกับทัพของโจโฉที่เมืองอั้นติง และก็จัดการเผด็จศึกดินแดนเสเหลียง เมื่อให้ซิหลงกับแฮหัวเอี๋ยนยกทัพไปปราบปรามทัพของเหลียเหลง ที่เมืองเซียหยาง

จากนั้นจึงยกทัพบุกลงใต้มายังดินแดนฮั่นจง เตียวลู่เจ้าเมืองฮั่นจงยอมจำนน เป็นอันว่าดินแดนไท่หยวน และดินแดนฝั่งตะวันตกนับตั้งแต่เสเหลียงลงมาจนถึงฮั่นจงได้กลายเป็นของโจโฉโดยสมบูรณ์ และซิหลงก็มีผลงานในการปราบปรามตะวันตกครั้งนี้มาก จึงได้รับการเลื่อนยศเป็น

นายพลผู้ปราบโจรร้าย

โจโฉยกทัพกลับสู่ภาคกลาง และได้ใช้ให้แฮหัวเอี๋ยนประจำการที่แดนไท่หยวนเพื่อคอยรับมือการโจมตีจากเล่าปี่ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลในเสฉวน และให้ซิหลงกับเตียวคับอยู่คอยช่วยเหลือ

ต่อมาในปีค.ศ.217 เล่าปี่เข้ายึดครองแดนเอ๊กจิ๋วได้ทั้งหมด และเตรียมจะขยายอิธิพลขึ้นมายังเมืองฮั่นจง ซึ่งเมืองนี้จะมีความสำคัญมากสำหรับเล่าปี่และโจโฉ ในฐานะประตูทางเข้าแดนเสฉวน ซึ่งเล่าปี้ต้องยึดเมืองฮั่นจงมาให้ได้ จึงได้ยกทัพใหญ่มาด้วยตนเอง และได้ส่งแม่ทัพสำคัญทั้งเตียวหุย จูล่ง ฮองตง ม้าเฉียวที่เพิ่งเข้ามาสวามิภักดิ์ และอุยเอี๋ยน มาร่วมในศึกนี้

สถานการณ์ที่ฮั่นจงคับขันสุดขีด โจโฉจึงได้ส่งกองทัพหนุนไปช่วยแฮหัวเอี๋ยน แต่ก็ไม่ได้ผล แฮหัวเอี๋ยนถูกฮองตงสังหาร ต้องเสียเขาเตงกุนสันและทุ่งฮันซุยไป

โจโฉเจ็บใจมาก จึงส่งซิหลงให้เป็นกองหน้าในการเอาทุ่งฮันซุยคืนมา และให้อองเป๋ง นายทหารชั้นผู้น้อยแต่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญภูมิประเทศแถบนั้นเป็นผู้ช่วย

ซิหลงนั้นดูถูกที่อองเป๋งไม่รู้หนังสือ จึงไม่ยอมเชื่อฟังคำแนะนำของอองเป๋นที่เชี่ยวชาญพื้นที่มากกว่า และตัดสินใจยกทัพข้ามแม่น้ำไปตั้งค่าย แม้อองเป๋งจะทัดทานก็ไม่เป็นผล และในที่สุดก็เสียท่าให้แก่จูล่งและฮองตงที่ตั้งมั่นไว้แล้ว ตีแตกกลับไป อองเป๋งกลัวว่าจะถูกซิหลงพาลใส่ จึงหนีไปเข้ากับเล่าปี่แทน

ซิหลงพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ทำให้โจโฉคิดหนักในการจะบุกยึดเอาทุ่งฮันซุยและเขาเตงกุนสันคืน และทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำศึกตั้งยันกันอยู่นาน จนกำลังใจของทหารโจโฉเริ่มตกลงมา เขาจึงตัดสินใจถอนกำลังทั้งหมดออกจากดินแดนฮั่นจงและกลับไปตั้งมั่นที่เตียงอัน เป็นอันว่าดินแดนเอ๊กจิ๋วและฮั่นจง กลายเป็นของเล่าปี่โดยสมบูรณ์

ในปีเดียวกัน ทางเกงจิ๋วก็กำลังอยู่ในสถานการณ์คับขัน กวนอูยกทัพจากเกงจิ๋วขึ้นมา ฝ่ายโจหยินที่เฝ้ารักษาเมืองเซียงหบางก็ได้ออกมาต้านรับ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้และกลับไปตั้งมั่นรักษาเมือง

โจโฉส่งอิกิ๋มและบังเต๊กเป็นทัพหนุนมาช่วย บังเต๊กสามารถเล่นงานจนกวนอูได้รับบาดเจ็บ แต่ภายหลังก็ต้องกลของกวนอูถูกหลอกเข้าไปยังภูมิประเทศที่กวนอูถนัดและพังเขื่อนจนน้ำท่วมทั้งกองทัพ อิกิ๋มถูกจับและยอมจำนน ส่วนบังเต๊กถูกประหาร ซึ่งผลงานครั้งนี้ของกวนอูก็ได้สะท้านไปทั่วแผ่นดิน

กวนอูได้ยกทัพเข้าล้อมโจหยินที่อ้วนเสีย และบีบจนโจหยินแทบจะต้านไว้ไม่อยู่ ส่วนซิหลงนั้นได้รับบัญชาให้เป็นทัพหนุน และไปตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเอียงลกโผ เมืองเซียงหยาง

กวนอูคิดจะเผด็จศึกทัพของซิหลงที่อยู่ภายนอก เพราะหากซิหลงสามารถนำทัพเข้าเมืองและร่วมกับโจหยินได้ เขาจะลำบาก ซิหลงเองก็อ่านความคิดของกวนอูออก จึงได้แสร้งขุดคูเพื่อหลอกกวนอูว่าเขาจะเตรียมตั้งรับและรอทัพหนุน กวนอูจึงยกทัพเข้าตีทัพของซิหลงที่ตั้งมั่นอยู่ทันที

แต่ซิหลงไม่อยู่ในค่าย และได้นำกำลังส่วนน้อยอ้อมไปตีเมืองเอียนเสียงที่กวนอูยึดมาก่อนหน้ากลับมาได้ กวนอูรู้ว่าเสียท่าแล้วจึงรีบนำกำลังกลับไป และได้ปะทะกับทัพของซิหลง แต่ตอนนั้นทัพหนุนที่โจโฉส่งมาช่วยก็มาถึง ศึกนี้ซิหลงได้เผชิญหน้ากับกวนอู ซึ่งทั้งสองคนเคยเป็นเพื่อนสนิทที่คบหากันมาก่อน ซึ่งเป็นสมัยที่กวนอูเคยสังกัดอยู่กับโจโฉ

กวนอูพูดกับซิหลงถึงความสัมพันธ์แต่ก่อน แต่ซิหลงไม่สนใจและบอกว่าตอนนี้ต่างคนต่างนาย เขาต้องทำตามคำสั่งในฐานะทหาร และเข้าปะทะกับกวนอูอย่างดุเดือดถึงกว่า 80 เพลง แม้ไม่อาจจะเอาชนะกวนอูได้ แต่กวนอูเองก็ไม่อาจเอาชนะเขาได้เช่นกัน และในที่สุดก็เป็นฝ่ายกวนอูที่ต้องถอยทัพ ทำให้ซิหลงสามารถรบเอาชัยชนะมากจากวนอูได้ จากนั้นซิหลงจึงรีบนำทหารเข้าคลายวงล้อมเมืองอ้วนเสียได้จนหมด

ผลงานการคลายวงล้อมเมืองอ้วนเสียและปราบกวนอูของซิหลงในครั้งนี้เข้าขั้นดังสะท้านแผ่นดิน โจโฉที่ยกทัพตามมาถึงกับเอ่ยปากยกย่องผลงานการรบครั้งนี้ของซิหลงว่ายอดเยี่ยมยิ่งนัก และเป็นการสลายวงล้อมเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง เทียบเท่ากับซุนหวู่ และยกย่องกว่าหากไม่ใช่เพราะซิหลง คงไม่อาจรักษาเมืองอ้วนเสียและเมืองเซียงหยางไว้ได้แน่ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ไม่หากไม่ได้ซิหลง กวนอูก็คงจะเป็นฝ่ายเอาชนะโจหยินและยึดเมืองทั้งสองได้แล้ว และยกย่องซิหลงว่า เชี่ยวชาญศึกประดุจซุนหวู่

ผลงานการสลายวงล้อมเมืองอ้วนเสียของซิหลงได้ส่งผลไกลมาก เพราะการที่กวนอูไม่อาจตีเมืองทั้งสองได้ ทำให้ภายหลังต้องถูกลิบองแห่งง่อเข้าตีตลบหลัง จนต้องเสียชีวิตลง ส่งผลให้เล่าปี่กับซุนกวนแตกหักกัน และนำไปสู่ความปราชัยอย่างยับเยินของเล่าปี่ในศึกอิเหลง และนับแต่นั้น จ๊กก๊กของเล่าปี่ก็ไม่อาจกลับมาเข้มแข็งได้เช่นเดิมอีก

หลังจากโจโฉเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 221 โจผีได้รับสืบทอดตำแหน่งวุยอ๋องต่อ และได้เลื่อนขั้นให้ซิหลงเป็นแม่ทัพฝ่ายขวา ตำแหน่งพระยาแห่งลกเซียง และเมื่อโจผีได้ปราบดาภิเษกตั้งตนเป็นพระเจ้าวุยเหวินตี้ ซิหลงก็ได้กินบรรดาศักดิ์เป็นพระยาแห่งเอี๊ยง และภายหลังก็เลื่อบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเองเป๋ง

ซิหลงยังคงรับใช้ตระกูลโจอย่างภักดีเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของโจยอย ซึ่งหลังจากนี้ประวัติศาสตร์สามก๊กและในนิยายสามก๊กบันทึกช่วงปลายชีวิตของซิหลงไว้ต่างกัน

ในประวัติศาสตร์นั้น ซิหลงป่วยหนัก และเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 227 รวมอายุได้ 58 ปี และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาแห่งจวง ส่วนในนิยายสามก๊ก นั้นเล่าว่า ซิหลงเสียชีวิตลงระหว่างที่ยกทัพเข้าตีเบ้งตัดที่เมืองเซียงหยง โดยถูกเบ้งตัดยิงเกาทัณฑ์เข้ากลางศีรษะลงมาจากกำแพงเมือง

ในประวัติศาสตร์กล่าวถึงซิหลงว่าเป็นคนที่เข้มแข็ง รอบคอบ และเชี่ยวชาญการทำศึกมาก ผลงานการรบของเขาก็แสดงออกมาว่าเป็นเช่นไร แต่ในนิยายสามก๊กนั้น ซิหลงมักถูกพูดถึงในฐานะของแม่ทัพชั้นรองที่รบแพ้ต่อฝ่ายของจ๊กก๊กอยู่บ่อยๆ และชื่อเสียง ความสามารถของเขามักถูกกดให้ต่ำลงจากความเป็นจริง ตรงนี้เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเพราะเขารบชนะกวนอูซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้คนชื่นชมยกย่องมากก็ได้

แต่ในประวัติศาสตร์แล้ว ซิหลงนับเป็นขุนพลคนสำคัญที่ช่วยโจโฉก่อร่างสร้างวุยก๊กขึ้น และยังได้รับการจัดเข้าทำเนียบ 5 ทหารเสืองแห่งวุยก๊ก อันประกอบด้วย เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ อิกิ๋ม งักจิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น