เตียวหยุน ชื่อรอง จูล่ง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 157 แต่บางฉบับนั้นก็บอกว่าเกิดในปี 168 ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่จะยึดแบบหลังมากกว่า เขาเกิดที่อำเภอเจินติ้ง จังหวัดเสียงสาน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน เมื่อครั้งที่เขาเกิดขึ้นมานั้นมีเมฆขาวก้อนใหญ่ลอยเด่นอยู่เหนือนภาของดอยเสียงสาน บิดาจึงได้ตั้งชื่อว่า หยุน ซึ่งแปลว่าเมฆ
เกี่ยวกับชื่อนี้คนไทยกับคนจีนนั้นอ่านไม่เหมือนกัน ชื่อเตียวหยุนนั้น หากอ่านแบบจีนกลางจะสามารถอ่านได้ว่า จ้าวหยุน จนเขาเมื่อเติบใหญ่เขียนได้ จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า เตียวจูล่ง
มีเกร็ดเล่าว่าเขาเกิดในวันที่มีเมฆขาวโดดเด่น และด้วยความที่มีคำว่าเมฆอยู่ในชื่อ จึงทำให้ จูล่ง ชอบสีขาวเป็นพิเศษ โดยมักจะสวมเสื้อผ้าสีขาว แม้แต่ม้าที่ขี่ก็ยังชอบสีขาว ซึ่งในภายหลังนั้นยามที่อยู่ในสนามรบ หากมีนักรบที่สวมชุดขาวและมีขี่ม้าสีขาวอยู่หน้ากองทัพล่ะก็ เหล่าข้าศึกถึงกับพากันกลัวหัวหด เพราะเป็นที่รู้กันว่านั่นคือเอกลักษณ์ประจำตัวของแม่ทัพเตียวจูล่ง และก็กลายเป็นภาพลักษณ์ของจูล่งมานับแต่นั้น
ช่วงที่เขาเกิดมานั้นแผ่นดินเริ่มเกิดความวุ่นวายจากไฟสงครามภายในประเทศซึ่งเป็นผลมาจากความเหลวแหลกของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เหล่าเด็กหนุ่มลูกผู้ชายอย่างเขาจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการที่จะใช้ชีวิตรอด ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มฝึกฝนการขี่ม้ายิงธนู การใช้อาวุธ ทั้งทวนและดาบจนเชี่ยวชาญ นอกจากนี้เล่ากันว่าคนแซ่จ้าวส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเหล่านักรบของแคว้นจ้าวในสมัยชุนชิว ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการรบทั้งเพลงทวน และรบบนหลังม้า
เมื่อโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ อายุประมาณ 24-25 ปี เขาได้กลายเป็นหัวหน้าของเหล่าคนหนุ่มในอำเภอ ซึ่งมีราวร้อยกว่าคน ในช่วงนั้นเองที่เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ ราชสำนักฮั่นไม่มีกำลังเพียงพอที่จะปราบปราม โดยเฉพาะตามหัวเมืองทั่วไป
เขาจึงได้ปรึกษาเหล่าพรรคพวกว่าสมควรที่จะรวมกลุ่มขึ้นมาแล้วไปสมัครเป็นทหารเข้าร่วมกับกองกำลังของขุนศึกคนใดคนหนึ่งเพื่อช่วยยุติความวุ่นวายนี้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคนที่อยู่ในเมืองและอำเภอละแวกเดียวกับจูล่งนั้นมักจะไปเข้ากับกองกำลังของอ้วนเสี้ยวหรือไม่ก็ของกองซุนจ้าน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เป็นขุนศึกใหญ่มีชื่อของยุคนั้น
ในนิยายสามก๊กเล่าว่าจูล่งได้ไปเข้าสังกัดของอ้วนเสี้ยวแต่อยู่ได้ไม่นานก็ปลีกตัวออกมา แล้วไปเข้ากับกองซุนจ้านแทนเพราะเขาเห็นว่าเจ้านายอย่างอ้วนเสี้ยวไม่ได้มีใจคิดช่วยชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจุดนี้มีบันทึกแตกต่างกัน
เพราะในประวัติศาสตร์นั้นบอกว่าเขาสมัครเข้าเป็นทหารของกองซุนจ้างเลย และภายหลังก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกองหน่วยทหารม้าหากยึดจากในนิยายสามก๊กแล้ว ตอนที่จะมาอยู่กับกองซุนจ้านนั้นถือเป็นการเปิดตัวจูล่งเป็นครั้งแรกในหนังสือสามก๊ก ซึ่งถือเป็นวีรกรรมครั้งแรกของเขาด้วย กล่าวคือ กองซุนจ้านนั้นร่วมมือกับอ้วนเสี้ยวในการเข้าตีเมืองกุนจิ๋วของฮันฮก แต่เมื่อตีได้แล้ว กองซุนจ้านจะมาขอส่วนแบ่ง อ้วนเสี้ยวกลับวางแผนดักเล่นงานจนกองซุนจ้างต้องย่ำแย่ และพลาดพลั้งเสียที ถูกบุนทิว 1 ใน 2 ทหารเอกของอ้วนเสี้ยวไล่ต้อนจนตัวเองต้องขี่ม้ากระเจิงมาเพียงลำพัง และมุ่งที่จะข้ามสะพานหนีไปยังอีกฝั่ง
เพราะในประวัติศาสตร์นั้นบอกว่าเขาสมัครเข้าเป็นทหารของกองซุนจ้างเลย และภายหลังก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกองหน่วยทหารม้าหากยึดจากในนิยายสามก๊กแล้ว ตอนที่จะมาอยู่กับกองซุนจ้านนั้นถือเป็นการเปิดตัวจูล่งเป็นครั้งแรกในหนังสือสามก๊ก ซึ่งถือเป็นวีรกรรมครั้งแรกของเขาด้วย กล่าวคือ กองซุนจ้านนั้นร่วมมือกับอ้วนเสี้ยวในการเข้าตีเมืองกุนจิ๋วของฮันฮก แต่เมื่อตีได้แล้ว กองซุนจ้านจะมาขอส่วนแบ่ง อ้วนเสี้ยวกลับวางแผนดักเล่นงานจนกองซุนจ้างต้องย่ำแย่ และพลาดพลั้งเสียที ถูกบุนทิว 1 ใน 2 ทหารเอกของอ้วนเสี้ยวไล่ต้อนจนตัวเองต้องขี่ม้ากระเจิงมาเพียงลำพัง และมุ่งที่จะข้ามสะพานหนีไปยังอีกฝั่ง
ตอนนั้นเอง นายทหารหนุ่มชุดขาวไร้ชื่อเสียง ขี่ม้าถือทวนเข้ามาขวางบุนทิวไว้ ในขณะนั้นตัวของบุนทิวได้ชื่อว่าเป็นจอมทวนแห่งยุค ก็คิดว่าจะสามารถเอาชนะนายทหารหนุ่มไร้ชื่อได้ง่ายๆ แต่หลังจากปะทะไปไม่กี่เพลงก็ผิดคาด เพราะนอกจากนายทหารหนุ่มคนนั้นจะต้านทานตนเองไว้ได้แล้ว ยังเล่นงานเขาจนเกือบจะพ่ายแพ้ ร้อนจนงันเหลียงทหารเอกของอ้วนเสี้ยวอีกคนต้องขี่ม้าตามมามาช่วยเอาบุนทิวออกไป
หลังจากเล่นงานบุนทิวจนถอยกลับไปได้แล้วเขาก็พากองซุนจ้านหนีมาที่สะพานอีกฝั่งเพื่อมาสมทบกับกองทัพหนุนของกองซุนจ้าน
นักรบหนุ่มคำนับกองซุนจ้าน กองซุนจ้านพิเคราะห์ดูเขาก็รู้สึกพิศวงต่อใบหน้าเกลี้ยงเกลาขาวสะอาด ดูไม่มีลักษณะของคนที่อยู่ในสนามรบมาก่อน
นักรบหนุ่มประกาศชื่อตนเองว่า ชื่อ เตียวหยุน จูล่ง เป็นชาวเมืองเสียงสาน เดิมเคยสังกัดทัพอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวเป็นคนหยาบช้าจึงคิดผละจากมาและมารับขอรับใช้กองซุนจ้านแทน
หลังจากนั้นกองซุนจ้านให้จูล่งเป็นผู้ควบคุมและฝึกสอนกองทหารม้าในกองทัพของตน โดยในยุคนั้นกองทหารม้าของกองซุนจ้านได้ชื่อว่าเป็นกองทหารม้าที่แข็งแกร่งที่สุด โดยตัวกองซุนจ้านนั้นถึงกับได้ฉายาว่าเป็นอัศวินม้าขาว และการที่ได้จูล่งซึ่งเป็นยอดทหารม้าแห่งยุคไปอยู่ด้วย ก็ทำให้เขากลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางตอนเหนือเทียบเคียงกันกับอ้วนเสี้ยว
แต่กระนั้น กองซุนจ้างก็มิใช่ผู้มีใจช่วยชาติอย่างแท้จริง และไม่ได้ให้ความสำคัญกับจู่ลงมากมายนัก
จากนั้นไม่นานจูล่งก็ได้พบกับผู้ที่จะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในภายหลัง คนผู้นี้มีลักษณะเด่นทางกายอย่างหนึ่งนั้นคือมือยาวถึงเข่า หูยืดยาน ท่าทางนอบน้อมต่อผู้คน เขาก็คือเล่าปี่ ผู้ที่คนทั่วไปรู้จักในฐานะของพระเจ้าอา
ตอนนั้นเล่าปี่เป็นขุนศึกผู้หนึ่งที่มุ่งหวังจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพียงแต่ยังไม่มีฐานกำลังเป็นของตัวเองจึงได้แต่ไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งกองซุนจ้านก็เป็นคนหนึ่งที่เขามาขอพึ่งพิงด้วย
กองซุนจ้านนั้นเคยเป็นเพื่อนในสมัยเรียนของเล่าปี่ จึงรับเล่าปี่กับน้องร่วมสาบานอีกสองคนซึ่งเป็นยอดนักรบที่โด่งดังอย่างกวนอูและเตียวหุย โดยให้พวกเขาเป็นผู้ควบคุมทหารจำนวนหนึ่ง
และยกอำเภอผิงหยวนให้ดูแล และส่งจูล่งไปช่วยฝึกสอนทหารม้าให้ และตอนนี้เองที่เล่าปี่ได้พบและร่วมงานกับจูล่ง
เล่าปี่ประทับใจในความเก่งกาจและความเป็นสุภาพชนของจูล่ง จึงพยายามทาบทามให้เขามาอยู่ด้วยกันกับตน ตัวจูล่งเองก็รู้สึกประทับใจอะไรบางอย่างในตัวเล่าปี่ แต่เขาก็ปฏิเสธไปโดยเขาให้เหตุผลว่าตัวเขาได้ลั่นวาจาไปแล้วว่าจะรับใช้กองซุนจ้าน จึงไม่ควรกลับคำพูด ซึ่งทำให้เล่าปี่ประทับใจในคุณธรรมของเขามากขึ้นไปอีก
ภายหลังต้องลาจากเล่าปี่กลับไปช่วยงานกองซุนจ้านที่กำลังเตรียมรบกับอ้วนเสี้ยว ซึ่งก่อนลานั้นเล่าปี่ถึงกับร้องไห้หนักที่ต้องจากจูล่ง ซึ่งจูล่งเองนั้นคงจะประทับใจมากจนพูดในทำนองที่ว่าหากกองซุนจ้านต้องมีอันเป็นไป เขาก็จะขอไปอยู่กับเล่าปี่แทน
จูล่งกลับมาอยู่ใต้สังกัดของกองซุนจ้าน แต่ไม่นานนัก จูล่งก็ต้องกลับบ้านเกิดเพื่อไปไว้ทุกข์ให้พี่ชายที่ตายไปตามธรรมเนียมจีนโบราณ ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้องไว้ทุกข์เป็นเวลากี่ปี แต่ในช่วงนี้เองที่สามก๊กไม่ได้กล่าวถึงจูล่งอีกอย่างน้อยก็ 3-4 ปี ซึ่งการที่จูล่งหายหน้าไปนี้ เล่าลือกันว่าตัวเขาไม่ได้รับความสนใจหรือถูกใช้งานจากกองซุนจ้างเลย จึงเกิดความเบื่อหน่ายและอาศัยเหตุที่พี่ชายของตนเสียชีวิตนี้ในการหายหน้าไป ซึ่งการที่กองซุนจ้างไม่ได้สนใจคิดจะดึงตัวเขากลับมาเลยนั้น ก็แสดงว่ากองซุนจ้านไม่ได้คิดจะช่วงใช้ตัวเขาอีกแล้วด้วย
ปี ค.ศ. 196 กองซุนจ้านได้สร้างกำแพงเมืองไว้หลายสิบชั้นเพื่อป้องกันกองทัพของอ้วนเสี้ยว แต่ก็ไม่อาจต้านทานการบุกของอ้วนเสี้ยวได้ สุดท้ายเมื่อกำแพงหลายสิบชั้นถูกทัพของอ้วนเสี้ยวถล่มจนราบ กองซุนจ้านจึงต้องฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกเมียทั้งหมดอย่างน่าเศร้า
จากนั้นปี ค.ศ. 200 จูล่งได้กลับเข้ามาในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งเมื่อเขาได้พบกับเล่าปี่ ที่หนีจากอ้วนเสี้ยวมา และได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับกองกำลังของเล่าปี่ซึ่งขณะนั้นมีสภาพเป็นขุนศึกพเนจร ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไปจูล่งก็ได้อยู่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของเล่าปี่และครอบครัวตราบไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
การพบกันในครั้งนี้เริ่มจากเมื่อตอนที่ 3 พี่น้องร่วมสาบาน เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ได้แยกกระจัดกระจายไปคนละทาง เล่าปี่ไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว กวนอูไปยู่กับโจโฉ ส่วนเตียวหุยไปยึดเอาเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งชื่อเมืองเก๋าเซียมาได้ กวนอูนั้นเมื่อได้หนีจากโจโฉนั้นได้มาพบกับเตียวหุย และบอกเตียวหุยว่าตนจะไปตามหาเล่าปี่ให้พบ เมื่อได้พบเล่าปี่สมความตั้งใจแล้วก็มุ่งหน้าเพื่อกลับไปสมทบกับเตียวหุย
ระหว่างทางกวนอูได้พบกับจิวฉอง ซึ่งเป็นอดีตโจรผ้าเหลืองที่เลื่อมใสในตัวกวนอู จิวฉองนั้นมีเพื่อนอีกคนที่ชื่อหุยง่วนเสียน ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นหัวหน้ากลุ่มโจรที่มีกำลังอยู่ราว 600-700 คน ตัวจิวฉองนั้นบอกว่าตนจะนำพรรคพวกกว่า 30 คนไปตามตัวหุยง่วนเสียงเพื่อให้รวบรวมสมัครพรรคพวกมามอบให้กวนอู
แต่เมื่อจิวฉองกลับมาก็ปรากฏบาดแผลและเลือดอาบทั่วตัว เล่าปี่กับกวนอูถึงกับตกใจจึงสอบถาม จิวฉองจึงว่าตนนั้นได้ไปถึงเขาโงจิวสาน เพื่อจะชวนหุยง่วนเสียนแต่ว่าตัวหุยง่วนเสียนนั้นได้โดนคนผู้หนึ่ง ไม่ทราบชื่อเสียงรูปร่างสูงใหญ่ สวมเกราะขาว ขี่ม้าขาว ถือทวนเป็นอาวุธแทงตาย และอีก 30 คนที่พาไปด้วยก็ถูกฆ่าทั้งหมด ดีที่ตนนั้นพอมีฝีมืออยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นคงไม่รอด
กวนอูถึงกับตกตะลึงในความเก่งกาจของคนผู้นี้ จึงตั้งใจจะไปขอดูหน้าและขอประลองดูสักตั้ง แต่เล่าปี่คิดว่าถ้ามีคนที่เก่งกาจขนาดนี้ก็น่าที่จะชวนให้มาอยู่ด้วย จึงไปด้วยกันกับกวนอู
เมื่อกวนอูไปถึงก็ป่าวประกาศเรียกตัวคนผู้นั้นออกมา ชายคนนั้นมีรูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าสะอาดเกลี้ยงเกลา สวมเกราะขาว ขี่ม้าขาว มือถือทวนเป็นอาวุธ เล่าปี่เห็นก็จำได้ทันทีว่าคือจูล่ง
เมื่อได้คุยกันแล้วจึงได้ความว่าหลังจากกองซุนจ้านตายไปแล้วนั้น อ้วนเสี้ยวได้ส่งคนมาชักชวนให้จูล่งไปอยู่ด้วยหลายครั้ง แต่เขาไม่ต้องการ เมื่อได้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่เมืองกิจิ๋ว จึงออกเดินทางมาเพื่อหวังจะพบ ระหว่างทางได้พบหุยง่วนเสียนกับพรรคพวกกลุ่มโจร เห็นม้าขาวของเขาสวยดีจึงคิดจะแย่งชิง เขาจึงจำเป็นต้องฆ่าเสีย พวกโจรเมื่อเห็นในฝีมือของเขาต่างพากันหวาดกลัวจึงยกให้เขาเป็นหัวหน้า และรอคอยที่จะได้พบกับเล่าปี่มาตลอดเพื่อจะได้ไปร่วมงานกัน
เล่าปี่จึงได้ตัวจูล่งมาอยู่ด้วย และยกให้เขาเป็นนายทหารองครักษ์ประจำตัวทำหน้าที่พิทักษ์ตัวเขารวมไปถึงครอบครัวทั้งหมด และรับหน้าที่นี้ไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต
จากนั้นไม่นาน เล่าปี่คิดจะตีเมืองฮูโต๋ เมืองหลวงของโจโฉ โดยอาศัยในช่วงจังหวะที่โจโฉกำลังรบติดพันกับอ้วนเสี้ยว แต่โจโฉเองก็รู้ตัวจึงเตรียมตั้งรับไว้แล้ว
เล่าปี่แบ่งกำลังเป็น 3 กองเข้าตีทางตะวันออก ตก และตรงกลาง โดยตะวันออกให้กวนอู ตะวันตกให้เตียวหุย ส่วนตรงกลางนั้นมีเล่าปี่กับนายทหารคนใหม่อย่างจูล่ง ซึ่งจุดที่โจโฉป้องกันเองและเป็นจุดที่โดนโจมตีหนักที่สุดคือตรงกลาง
โจโฉส่งเคาทูนายทหารเอกจอมพลังเข้าตีเล่าปี่ก่อน และได้ปะทะกันกับจูล่งซึ่งถือว่าเป็นขุนพลหน้าใหม่สำหรับทหารของฝ่ายโจโฉพอสมควร ตัวเคาทูนั้นได้ชื่อว่าเป็นจอมพลังอันดับหนึ่งของฝ่ายโจโฉที่มีพละกำลังระดับเดียวกับเตียวหุยทีเดียว แต่เคาทูก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะจูล่งได้
สามพี่น้องร่วมสาบานต่างทึ่งในความเก่งของจูล่ง คราวนี้จึงเป็นฝ่ายเข้าตีทัพโจโฉบ้าง แต่ครั้งนี้เคาทูไม่ได้ออกมาสู้อีก และสุดท้ายทัพเล่าปี่ที่มีจำนวนน้อยกว่ามากนั้นก็ได้พ่ายแพ้ จนต้องหนีตายออกมา และระหว่างหนีนั้นก็ถูกเตียวคับ ทหารเอกคนสำคัญของโจโฉ ตามล่าแต่เล่าปี่ก็ได้จูล่งช่วยต้านไว้ จูล่งได้แสดงความสามารถฆ่าทหารองครักษ์ของเตียวคับจนตายหมด ด้านเตียวคับเองก็เกือบพ่ายแพ้จนต้องถอยหนีออกมา ทำให้เล่าปี่หนีรอดมาได้ แต่เพียงเท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้ชื่อของจูล่งติดทำเนียบขุนพลในยุคนั้นแล้ว
หลังจากแตกพ่ายแล้วเล่าปี่ก็อพยพลงมายังภาคกลางตอนล่าง ณ มณฑลเกงจิ๋ว และได้ขอพึ่งพาเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของเล่าปี่เพราะแซ่เดียวกัน
ในระหว่างศึกกัวต๋อซึ่งโจโฉขึ้นไปรับศึกกับอ้วนเสี้ยวนั้น เล่าปี่ได้เสนอแผนการเข้าตีฮูโต๋ต่อเล่าเปียว แต่เล่าเปียวนั้นไม่รับ และให้เล่าปี่ไปเป็นเจ้าเมืองซินเอี๋ยเพื่อเป็นกันชนกับโจโฉ ซึ่งในช่วงที่อยู่เมืองเกงจิ๋วเป็นเวลากว่า 7 ปีนี้เอง เล่าปี่ได้พยายามเสาะหาผู้มีความสามารถและผู้มีปัญญาโดยเฉพาะนักปราชญ์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งในที่สุดก็ได้ตัวขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา
หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องราวมากมาย ซึ่งจะขอพูดแบบย่อที่สุด เพราะนี่คือประวัติเฉพาะของจูล่ง หากตรงไหนที่ไม่เกี่ยวนักผมจะพยายามไม่เอ่ยถึง
ปี ค.ศ.208 เล่าเปียวผู้ครองเกงจิ๋วตาย เล่าจ๋องบุตรคนเล็กซึ่งมีชัวฮูหยินผู้เป็นแม่และชัวมอผู้เป็นอาหนุนหลังได้ขึ้นครองเมืองแทนที่จะเป็นเล่ากี๋ซึ่งเป็นบุตรคนโต ฝ่ายโจโฉซึ่งสามารถรวบรวมแผ่นดินภาคเหนือและภาคกลางจนเป็นปึกแผ่นแล้ว ก็มุ่งเป้ามาที่เกงจิ๋วซึ่งเป็นด่านสำคัญสำหรับการยึดครองทางภาคใต้และได้กรีฑาทัพนับแสนเพื่อยึดเกงจิ๋ว
เล่าจ๋องยอมสวามิภักดิ์และยกเมืองเกงจิ๋วให้โจโฉ แต่เล่าปี่ไม่ยอม และจำต้องถอยร่นลงใต้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่แฮเค้า ซึ่งก่อนหน้านี้เล่ากี๋ได้ลงไปตั้งมั่นอยู่ก่อน ระหว่างการถอยลงใต้นั้น มีชาวบ้านนับหมื่นนับแสนคนขอติดตามไปด้วย การเดินทางโดยมีชาวบ้านไปด้วยนั้นทำให้กองทัพเดินทางได้ช้ามาก และเมื่อถึงเนินเตียงปันก็ถูกกองทัพของโจโฉไล่ทัน
และนี่คือจุดเริ่มของเหตุการณ์ที่ได้สร้างชื่อให้จูล่งกลายเป็นยอดขุนศึกที่มีชื่อเสียงสะท้านแผ่นดิน
เล่าปี่นั้นได้ปรึกษากับขงเบ้งแล้วเห็นว่าคงจะไม่สามารถหนีการโจมตีของโจโฉได้พ้นแน่ ขงเบ้งจึงอาสาไปขอกำลังเสริมมาจากเล่ากี๋ซึ่งอยู่ที่เมืองแฮเค้ามาช่วยและแบ่งชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งให้กวนอูพาหนีไปทางเรือแล้วให้มาสมทบกันที่ภายหลัง ซึ่งเล่าปี่ก็เห็นด้วย
ภายในกองทัพจึงเหลือทหารเอกแค่ 2 คนเท่านั้นคือเตียวหุยกับจูล่ง โดยเตียวหุยมีหน้าที่เป็นองครักษ์ให้เล่าปี่ ส่วนจูล่งเป็นองครักษ์ให้กับลูกเมียของเล่าปี่
ในที่สุดทัพของโจโฉก็ตามมาทัน และตีทัพของเล่าปี่จนแตกกระจาย เล่าปี่นั้นได้เตียวหุยช่วยพาหนีไปจนข้ามสะพานเตียงปันได้ แต่ขบวนของครอบครัวเล่าปี่ที่จูล่งเป็นผูดูแลนั้นยังคงติดอยู่ภายในทัพของโจโฉ และฮูหยินทั้ง 2 คนรวมถึงลูกชายของเล่าปี่ที่ยังแบเบาะอยู่นาม อาเต๊า ก็หายสาบสูญไปด้วย
จูล่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตนเองจึงได้ออกตามหา และได้พบกับกำฮูหยิน ภรรยาหลวงของเล่าปี่ แต่ยังไม่พบบิฮูหยิน ผู้เป็นภรรยารองและอาเต๊า
เนื่องจากสถานการณ์คับขัน จูล่งจึงตัดสินใจพาเอากำฮูหยินไปส่งให้กับเตียวหุยซึ่งรออยู่ที่หน้าสะพานเตียงปันก่อน จากนั้นจึงถือทวนประจำตัวและควบม้าขาวคู่ใจกลับเข้าไปในดงกองทัพนับแสนของโจโฉอีกครั้งเพื่อตามหาฮูหยินและอาเต๊า
ตอนที่จูล่งนำกำฮูหยินไปส่งให้เตียวหุยนั้น มีจุดน่าสนใจอยู่ นั่นคือก่อนที่จูล่งจะพบฮูหยินนั้น เขาได้พบกับบิฮองนายทหารของเล่าปี่คนหนึ่งซึ่งแตกทัพมา บิฮองนั้นแจ้งต่อจูล่งว่าฮูหยินทั้ง 2 และอาเต๊าได้พลัดหายไปในกองทัพโจโฉ จูล่งได้ฟังดังนั้นจึงให้บิฮองล่วงหน้าไปหาเล่าปี่ ส่วนตนนั้นหันม้าควบกลับเข้าไปในกองทัพโจโฉ
บิฮองตกใจจึงตะโกนถามว่าทำไมจูล่งถึงต้องควบม้ากลับเข้าไปในทัพศัตรู จูล่งตะโกนกลับมาว่าจะไปหานายแล้วก็ควบม้าหายไป บิฮองเมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงเข้าใจว่าจูล่งคิดจะไปสวามิภักดิ์กับโจโฉแทน และไปรายงานต่อเล่าปี่
แต่เล่าปี่นั้นบอกว่าจูล่งได้เข้ามาอยู่กับเราในยามยากและเชื่อในตัวจูล่งว่าเป็นผู้มีความสัตย์และมีคุณธรรม ดังนั้นจึงเชื่อใจในตัวจูล่งว่าไม่ทรยศแน่
จูล่งตะลุยจนพบกับกองทหารของโจโฉกองหนึ่งซึ่งมีธงแพรผืนใหญ่อยู่เบื้องหน้าแสดงให้เห็นว่านายทหารที่นำทัพเป็นคนสำคัญ และก็สำคัญจริงๆเพราะเขาคือแฮหัวอิ๋น ญาติของโจโฉผู้ทำหน้าที่พิทักษ์อาวุธคู่กายของโจโฉ
โจโฉมีดาบคู่กายอยู่ 2 เล่ม นั่นคือ ดาบอิเทียน และดาบชิงกัง ดาบทั้ง 2 เล่มต่างเป็นดาบชั้นยอดโดยเฉพาะดาบชิงกังนั้นได้ชื่อว่าเป็นดาบที่ “ฟันเหล็กก็ดุจฟันหยวก” ขอเพียงดาบเดียวก็สามารถฟันศัตรูตรงหน้าให้สิ้นชื่อได้ ต่อให้เกราะเหล็กก็ตาม
ดาบอิเทียนนั้นเป็นดาบที่โจโฉจะถือติดกายไว้ ส่วนดาบชิงกังนั้นได้ให้แฮหัวอิ๋นทำหน้าที่คอยดูแลรักษา
แฮหัวอิ๋นเมื่อเห็นจูล่งแต่ผู้เดียวควบม้าเข้าหากองทหารของตนจึงหมายจะเข้าปราบด้วยชิงกัง แต่ด้วยการลงมือเพียงครั้งเดียวของจูล่ง ชื่อของแฮหัวอิ๋นก็หายไปจากหนังสือสามก๊กทันทีโดยที่ดาบชิงกังยังไม่ทันจะได้ชักออกจาฝักด้วยซ้ำ
กองทหารของแฮหัวอิ๋นต่างแตกฮือเมื่อนายทัพตาย ส่วนตัวจูล่งนั้นรู้สึกเอะใจกับดาบที่แฮหัวอิ๋นสะพายไว้ ประกอบกับดาบในมือเขาคงจะชำรุดเต็มทน จูล่งจึงได้หยิบเอาดาบชิงกังขึ้นมาและลองชักออกดู ที่กลางดาบมีชื่อติดหราอยู่และดาบก็เป็นเหล็กเนื้อเขียวแวววับ เขาจึงแน่ใจว่าต้องเป็นดาบชั้นดีแน่ จึงได้ตัดสินใจเก็บเอาไว้เอง
ดาบชิงกังเมื่อเปลี่ยนมือมาอยู่กับจูล่ง ในภายหลังก็ได้โอกาสสำแดงอานุภาพที่แท้จริงออกมา และกลายเป็นอาวุธประจำตัวของเขานับแต่นั้น
ต่อจากแฮหัวอิ๋นแล้ว นายทหารของโจโฉแทบจะทุกระดับจนถึงนายพล ต่างก็ล้มตายกันระเนระนาดในทุกทีเมื่อมีอัศวินชุดขาว ขี่ม้าสีขาว ตะลุยผ่านไป จนในที่สุดเขาก็ได้มาถึงบ่อน้ำร้างแห่งหนึ่ง ที่นั่นเองเขาได้พบกับบิฮูหยินที่กัลงกอดอาเต๊านั่งอยู่ข้างบ่อ
จูล่งดีใจมากรีบเชิญให้ฮูหยินขึ้นม้าเพื่อหนีไปด้วยกัน แต่นางปฏิเสธเพราะว่าถ้านางขึ้นม้าไปด้วย จะทำให้หนีไปได้ช้า จูล่งจึงว่าให้นางขึ้นม้าส่วนตัวเขาจะขอเดินเท้าพาหนีเอง ซึ่งนางไม่ยอม ในที่สุดเมื่อทหารศัตรูเข้ามาใกล้ นางจึงฝากฝังอาเต๊าให้จูล่งแล้วอาศัยตอนที่จูล่งเผลอกระโดดลงบ่อน้ำฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เขา
จูล่งเสียใจมากแต่ก็รีบรวมสตินำหินมาทับบ่อน้ำไว้เพื่อไม่ให้ทหารโจโฉได้ศพนางไป ส่วนตัวเขาได้เอาทารกอาเต๊าใส่ไว้ในเสื้อเกราะแล้วพันกับผ้าติดไว้แนบอก แล้วจากนั้นจูล่งก็สวมวิญญาณเพขฌฆาต ใช้ทวนคู่ใจควบม้าบุกตะลุยและสังหารทุกๆคนที่มาขวางหน้า
จุดหมายของเขาคือต้องไปให้ถึงสะพานเตียงปันที่เตียวหุยเฝ้าอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของอาเต๊า ดังนั้นเมื่อพบข้าศึกมาขวาง เขาจะเน้นลงมือที่ตัวหัวหน้าก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อทำให้พวกทหารที่เหลือเสียขวัญและไม่กลัวไปเอง ซึ่งหลังจากฆ่าศัตรูไปมากแล้วเขาก็ได้พบกับ เตียวคับ ยอดขุนศึกที่เคยประมือกันมาก่อนอีกครั้ง
เตียวคับนั้นเมื่อสมัยที่อยู่กับอ้วนเสี้ยวเคยประมือกับเขามาแล้ว ตอนนี้พอมาอยู่กับโจโฉก็ได้กลายเป็นขุนศึกคนสำคัญที่เก่งกาจยิ่งกว่าเมื่อก่อน
แต่จูล่งก็ไม่หวั่นเข้าปะทะกับเตียวคับนับสามสิบเพลง แล้วก็จูล่งที่เสียเปรียบในเรื่องความสดและต้องคอยพะวงกับอาเต๊าก็อาศัยจังหวะที่ตนเองได้เปรียบควบม้าผละออกไป ซึ่งเตียวคับเองก็ไม่อาจจะตามไปได้ทัน
ในที่สุดหลังจาก 2 วันที่ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน ในการวนเวียนอยู่ในดงข้าศึกนับแสนๆ จนในที่สุดก็สามารถหนีออกมาจนถึงเทือกเขาเตียงกุนสัน เนินเตงยาง
บนที่ราบสูงนั้นเองโจโฉได้เฝ้าสังเกตการณ์ดูการรบอยู่จากเบื้องบน สิ่งที่เขาเห็นและทำให้เขาถึงกับตกตะลึงนั้นก็คือ ภาพของอัศวินคนหนึ่งที่สวมชุดขาวและขี่ม้าขาวโดดเด่นเป็นสง่ากำลังบุกฝ่าตะลุยกองทหารนับแสนของเขา ไม่ว่าทหารคนนี้จะตะลุยเข้าไปในทางใด ซ้าย หรือ ขวาทหารของโจโฉก็จะพากันล้มตายและแตกฮือกระเจิดกระเจิงเมื่อนั้น
โจโฉอดแปลกใจไม่ได้ที่ในโลกนี้ยังมีคนที่เก่งและกล้าบ้าบิ่นแบบนี้อยู่ด้วย และรู้สึกว่าการต่อสู้ที่เขาเห็นอยู่เบื้องหน้านี้มันช่างเป็นภาพแห่งสมรภูมิที่สวยงามอะไรเช่นนี้ ภาพของม้าขาวที่ตะลุยไปทางไหน ทหารทางนั้นก็แตกฮือเมื่อนั้น คงจะเป็นสิ่งที่หาไม่ได้อีกแล้วไม่ว่าจะในสนามรบไหน จนถึงกับหลุดปากออกมาว่า “ไอ้นี่มันช่างเป็นยอดเสือจริงๆ”
แล้วจึงถามแฮหัวตุ้นแม่ทัพคนสนิทว่าไอ้เสือที่ว่านี่ชื่ออะไร ซึ่งแฮหัวตุ้นเองก็ไม่รู้จึงได้ควบม้าลงไปตะโกนถามจูล่งเอง
จูล่งตะโกนกลับว่า “เราคือ เตียวจูล่ง หยุน ชาวเสียงสาน”
แฮหัวตุ้นกลับไปรายงานให้โจโฉทราบ โจโฉเมื่อได้ยินก็รู้สึกชอบใจในความเก่งกล้าของจูล่ง จึงได้มีคำสั่งห้ามให้ทหารใช้ธนูและให้จับเป็นจูล่ง
ต้องยอมรับว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จูล่งรอดชีวิตมาได้ เพราะโจโฉเห็นว่านักรบที่แท้จริงอย่างจูล่งนั้นไม่สมควรที่จะมาตายด้วยลูกธนู
เมื่อไร้อุปสรรคอย่างลูกธนูเช่นนี้ สิ่งที่จูล่งต้องคอยระวังก็มีแค่นายทหารที่จะเข้ามาปะทะด้วยฝีมือเท่านั้น ซึ่งมันไม่ได้เกินความสามารถของเขาเลย
ศัตรูกลุ่มสุดท้ายที่มาขวางหน้าเขาเป็นนายทหารคนสนิทของแฮหัวตุ้นชื่อว่าจงจิ๋นและจงสินสองพี่น้องผู้ขึ้นชื่อในเพลงขวานและเพลงทวนซึ่งแฮหัวตุ้นยอมรับในฝีมือ แต่ด้วยการลงมือเพียงครั้งเดียวของจูล่งที่ยามนี้ได้กลายเป็นมือทวนอันดับหนึ่งของยุคไปแล้ว จงจิ๋นก็ถูกแทงตกม้าตาย
จงสินคิดจะแก้แค้นให้พี่ชายจึ้งควบม้าตามหลังจูล่งอย่างกระชั้นชิด และเมื่อควบตามถึงจังหวะที่จงสินคิดว่าตัวเองได้เปรียบและพร้อมจะจู่โจม จูล่งซึ่งไม่ได้มองเหลียวหลังเลยแต่อาศัยการมองเงาของจงสินเพื่อดูตำแหน่งนั้นก็ใช้มือเปลี่ยนทวนที่อยู่ในมือขวาไปด้านซ้าย แล้วใช้มือขวาที่ว่างอยู่ชักกระบี่ชิงกังออกมาจากจากฝัก
ด้วยการฟันเพียงครั้งเดียวจงสินก็สิ้นชื่อ และทำให้จูล่งได้รู้ถึงอานุภาพของกระบี่ชิงกังเป็นครั้งแรก กระบี่ชิงกังเมื่อครั้งอยู่ในมือแฮหัวอิ๋นแล้วเป็นได้แค่ของประดับที่อยู่ในฝัก แต่เมื่อมาอยู่ในมือของจูล่งมันได้กลายเป็นอาวุธที่ร้ายกาจของเขาไป
หลังจากจัดการสองพี่น้องจงแล้ว บุนเพ่งนายทหารของเล่าเปียวที่มาสวามิภักดิ์กับโจโฉก็รีบไล่ตามมา จูล่งเห็นว่าปลอดภัยของอาเต๊าต้องมาก่อน ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะหนีจากบุนเพ่งแล้วในที่สุดก็สามารถพาอาเต๊ามาถึงสะพานเตียงปันสำเร็จ และฝากให้เตียวหุยช่วยจัดการกับศัตรูที่ตามมา ส่วนตัวเขาก็รีบพาอาเต๊าไปหาเล่าปี่ทันที
เมื่อพบเล่าปี่แล้ว สิ่งแรกที่เขาพูดนั้นกลับเป็นการขอให้เล่าปี่ลงโทษที่ตัวเขาไม่อาจช่วยบิฮูหยินไว้ได้ ทั้งที่ผลงานของเขาที่ได้ช่วยเหลืออาเต๊าออกมาจากข้าศึกนับแสนนั้นมันเป็นผลงานระดับสุดยอดที่คงจะไม่มีใครทำได้อีกแล้วแต่เขาก็ไม่ได้พูดถึงมันเลย
เล่าปี่รับอาเต๊าคืนจากจูล่ง ซึ่งเด็กน้อยอาเต๊านั้นหลับสนิทโดยไม่รู้เรื่องราวขณะที่อยู่ในอ้อมอกจูล่ง
เล่าปี่เมื่อรับอาเต๊ามาแล้วก็ปล่อยอาเต๊าตกลงพื้น จูล่งตกใจรีบเข้าไปรับอาเต๊าไว้ ฝ่ายเล่าปี่ก็ถึงกับตะโกนลั่นว่าเพราะเด็กคนนี้แท้ๆ จูล่งทหารเอกเราจึงเกือบจะต้องตายไป แล้วก็ร้องไห้
ตรงจุดนี้เองที่นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์และอีกหลายๆคนต่างตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำอันเสแสร้งของเล่าปี่เพื่อเป็นการซื้อใจจูล่ง
จริงไม่จริง ไม่มีใครรู้ แต่หากจริงล่ะก็ถือว่าเล่าปี่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะนับแต่นั้นจูล่งก็กลายเป็นทหารเอกที่จงรักภักดีต่อเล่าปี่และครอบครัวของเล่าปี่อย่างแท้จริง จนถึงขั้นที่มีผู้กล่าวว่า 3 พี่น้องร่วมสาบานนับแต่นี้ต้องเพิ่มจูล่งเข้าไปอีกหนึ่ง ซึ่งแม้เขาจะไม่ได้ร่วมสาบานด้วยแต่สำหรับเล่าปี่แล้ว จูล่งเปรียบเหมือนเป็นพี่น้องร่วมสาบานอีกคนหนึ่ง
หลังเสร็จศึกที่เนินเตียงปันแล้ว ฝ่ายเล่าปี่ก็ถอยร่นมาอยู่ที่เมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ และด้วยคำแนะนำของขงเบ้ง เล่าปี่จึงตัดสินใจผูกพันธมิตรกับซุนกวนเจ้าเมืองกังหนำซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่อันดับหนึ่งทางตอนใต้ ร่วมกันต่อต้านโจโฉ
ขอกล่าวถึงผลการรบเล็กน้อย โดยผลการรบที่เตียงปันนั้นฝ่ายเล่าปี่พ่ายแพ้อย่างยับเยินก็จริง แต่โจโฉไม่ได้ดีใจมากนักเพราะตัวเขาก็สูญเสียไม่น้อย เพราะเมื่อตรวจสอบความเสียหายนั้น ฝ่ายโจโฉสูญเสียนายกองใหญ่ 12 นาย ทหารเอกถึง 50 คน และยังมีทหารทั่วไปอีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยทั้งหมดนั้นมาจากฝีมือของนักรบคนเดียวที่มีเพียงทวนและกระบี่ 1 เล่ม กับม้าอีก 1 ตัว นั่นคือ เตียวจูล่ง!!
ปี ค.ศ.208 ปีเดียวกันนั้นเอง พันธมิตรร่วมระหว่างเล่าปี่ซุนกวน ได้ปะทะกับกองทัพหลายแสนของโจโฉที่ผาแดง หรือที่รู้จักกันในนาม “สงครามเซ็กเพ็ก” ถึงแม้ฝ่ายเล่าปี่ซุนกวนจะมีกำลังน้อยกว่ามาก แต่ทางซุนกวนนั้นมีจิวยี่แม่ทัพเรือยอดอัจฉริยะแห่งยุคเป็นแม่ทัพใหญ่ และทางชาวกังหนำนั้นก็มีความสามัคคีที่จะสู้ศึกสูงมาก
นอกจากนี้ยังมีขงเบ้งกับบังทองซึ่งเป็น 2 ที่ปรึกษาแห่งยุคร่วมกันวางแผนช่วยเหลืออยู่ลับหลัง ประกอบกับเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นในกองทัพโจโฉทำให้สุดท้ายแล้วฝ่ายโจโฉต้องแตกพ่ายแพ้อย่างย่อยยับกลับไป
เมื่อโจโฉถอยกลับไปแล้วหัวเมืองตามมณฑลเกงจิ๋วที่ไม่มีทัพของโจโฉเฝ้าอยู่ก็กลายเป็นเป้าหมายของฝ่ายเล่าปี่และซุนกวน โดยจิวยี่ได้ทุ่มเทกำลังเข้าตีเมืองกังเหลงจากโจหยินเป็นเวลาถึง 1 ปี ในที่สุดเมื่อโจหยินถอนทัพขึ้นเหนือ จิวยี่ก็เข้ายึดได้สำเร็จ ขงเบ้งจึงแนะนำให้เล่าปี่ขอยืมเมืองกังเหลงจากซุนกวนเพื่อใช้เป็นฐานกำลัง เมื่อได้เมืองกังเหลงมาโดยแทบไม่ต้องออกแรงแล้ว เล่าปี่ก็เริ่มขยายอิทธิพลของตนในบรรดาหัวเมืองเกงจิ๋วตอนล่าง
เล่าปี่ให้จูล่งยกทัพไปตีเมืองกุ้ยหยางซึ่งปรากฏว่าจูล่งสามารถยึดเอาเมืองได้โดยไม่ต้องรบเพราะเจ้าเมืองคือเตียวหอมนั้นหวาดเกรงในฝีมือของจูล่ง เมื่อยึดได้แล้วเตียวหอมก็รับรองจูล่งอย่างดีและหาทางเอาใจจูล่งอย่างเต็มที่
จูล่งนั้นรู้สึกถูกชะตากับเตียวหอมก็เพราะพวกเขาต่างแซ่เตียวเหมือนกัน จึงได้สาบานเป็นพี่น้องกัน โดนเตียวหอมยกจูล่งเป็นพี่ และหลังจากดื่มกินกันพอประมาณแล้ว เตียวหอมก็เรียกให้พี่สะใภ้ที่ชื่อนางฮวนซีของตนออกมาช่วยเก็บจานชามให้ จูล่งจึงว่าเตียวหอมไม่น่าให้พี่สะใภ้ทำแบบนี้ แต่ที่เตียวหอมทำเช่นนั้นเพราะมีจุดประสงค์นั่นคือเขาต้องการให้จูล่งได้เห็นหน้านางฮวนซี ซึ่งถือเป็นหญิงงามคนหนึ่ง
หลักจากนางออกไปแล้ว เตียวหอมก็ว่า พี่สะใภ้ของตนนั้นอาภัพเพราะเสียสามีไป ตัวนางเองก็ไม่ยอมแต่งงานใหม่ โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมแต่งงานใหม่ก็ต่อเมื่อ ชายคนนั้นมีแซ่เดียวกับตนและเป็นวีรบุรุษผู้กล้าแห่งยุค ซึ่งจูล่งนั้นก็มีคุณสมบัติครบถ้วน และจูล่งเองก็ยังไม่มีภรรยา ดังนั้นเขาจึงคิดจะยกพี่สะใภ้ของตนให้กับจูล่ง
จูล่งได้ฟังก็โกรธแล้วว่า เราท่านต่างเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน พี่สะใภ้ของท่านย่อมเป็นเหมือนพี่ของข้าด้วย ท่านทำเช่นนี้เท่ากับผิดธรรมเนียม แล้วก็ลุกจากไป โดย ในหนังสือสามก๊กได้พูดถึงคำปฏิเสธของจูล่งว่า “แผ่นดินมีหญิงงามมากมายทำไมต้องเอาแม่ม่ายด้วย” และภายหลังเมื่อเล่าปี่คิดจะเป็นธุระจัดการเรื่องนี้ให้ จูล่งก็ปฏิเสธและให้เหตุผลว่า เขาไม่กลัวไร้ภรรยา หากแต่กลัวไร้ชื่อเสียงและผลงานมากกว่า ที่สำคัญ การใหญ่ของเล่าปี่ยังไม่บรรลุ และเล่าปี่ก็ยังไม่มีฐานกำลังที่มั่นคงพอ เขาจึงไม่คิดจะแต่งงาน
เพราะเวลานั้น ภรรยาของเล่าปี่ได้ตายจากไปหมดแล้ว ฝ่ายซุนกวนจึงคิดจะผูกสัมพันธ์กันมากขึ้นด้วยการยกน้องสาวของตน นางซุนหยินให้แต่งงานกับเล่าปี่ และเชิญเล่าปี่ให้ไปแต่งงานที่เมืองกังหนำ
ตรงจุดนี้แตกต่างกันระหว่างนิยายและประวัติศาสตร์ ในนิยายนั้นบอกว่าเป็นแผนการสาวงามของจิวยี่ที่คิดจะลวงเล่าปี่มาสังหาร ไม่ก็กักตัวไว้ในกังหนำ แต่ในประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นการแต่งงานเพื่อการเมืองที่มีให้เห็นทั่วไปในยุคนั้น โดยเล่าปี่ก็ตัดสินใจไปกังหนำและมีจูล่งเป็นองครักษ์ไปด้วย
ในนิยายสามก๊กบอกว่า ขงเบ้งสั่งจูล่งไว้ว่าเมื่อไปถึงกังหนำแล้วให้ไปผูกมิตรกับพ่อเฒ่าเกียวก๊กโล ผู้อาวุโสชื่อดังของกังหนำซึ่งเป็นพ่อของนางสองเกี้ยว ฝาแฝดสาวผู้เป็นนางงามแห่งยุค ซึ่งเป็นภรรยาของซุนเซ็กพี่ชายซุนกวนและจิวยี่ และยังมีเป็นมีความสนิทชิดเชื้ออยู่กับนางง่อก๊กไท้ มารดาของซุนกวนเป็นพิเศษ ซึ่งผลจากการเข้าทางเกียวก๊กโลนี่เองที่ทำให้เล่าปี่ได้โอกาสเข้าพบนางง่ออก๊กไท้ และได้ทำให้นางประทับใจจนสามารถเอาชีวิตรอดมาได้
ในงานเลี้ยงรับรองที่นางง่อก๊กไท้จัดขึ้นเพื่อดูตัวของเล่าปี่นั้น จูล่งในฐานะองครักษ์ได้ยืนพิทักษ์อยู่ข้างกายเล่าปี่ตลอดเวลา โดยไม่ยอมแตะสุราเลย ซึ่งเมื่อนางสังเกตเห็นจึงได้ถามเล่าปี่ว่านั่นใช่ยอดขุนพลที่สร้างชื่อเมื่อครั้งเนินเตียงปันใช่รึไม่ เล่าปี่ตอบรับ จากนั้นนางก็ได้พระราชทานเหล้าให้จูล่งเป็นการคารวะและนับถือในความกล้าหาญ
เมื่อเล่าปี่ได้แต่งงานและลุ่มหลงในความงามของนางซุนหยิน และเพลิดเพลินอยู่กับความสำราญที่ทางซุนกวนปรนเปรอให้ ซึ่งเล่าปี่นั้นไม่เคยได้รับมาก่อนก็ทำให้เล่าปี่ไม่ได้สนใจกิจการสงครามอีก จนเวลาผ่านไปถึงครึ่งปี ร้อนจนจูล่งต้องกล่าวเตือนสติ ซึ่งเมื่อเล่าปี่คิดได้จึงได้ตัดสินใจกลับมาเกงจิ๋ว โดยการที่จูล่งกล่าวเตือนสตินั้น มาจากแผนการของขงเบ้งที่เตรียมไว้
ในตอนที่เล่าปี่จะหนีจากมานั้นได้ถูกทหารของซุนกวนสกัดไว้ แต่นางซุนหยินซึ่งได้เข้าข้างสามีมากกว่าพี่ชายนั้น ได้ด่าว่าจนทหารเหล่านั้นต้องยอมกลับไป และขงเบ้งก็ได้ส่งเรือเล็กมารอรับเล่าปี่ตามที่นัดแนะกับจูล่งไว้ล่วงหน้า
หลังจากนั้นเล่าปี่ก็พุ่งเป้าไปที่การเข้ายึดเมืองเสฉวนทางด้านตะวันตก ในการบุกเสฉวนนั้นเล่าปี่ได้อาศัยบังทองและหวดเจ้งเป็นที่ปรึกษาหลัก และมีแม่ทัพสำคัญคือ ฮองตง และอุยเอี๋ยนที่มาสวามิภักดิ์ในภายหลัง ช่วงนี้จูล่งจึงไม่มีบทบาทอะไรมากเพราะต้องอยู่เฝ้าเมืองเกงจิ๋วกับกวนอู เตียวหุย และขงเบ้ง
ในช่วงนี้มีวีรกรรมอย่างหนึ่งของจูล่งเกิดขึ้นอีกนั่นคือ เมื่อเล่าปี่ได้เดินทางไปเสฉวนนั้นได้ทำการฝากให้จูล่งช่วยดูแลซุนหยินและอาเต๊า
ทางฝ่ายซุนกวนนั้นยังคงมีความเจ็บแค้นเล่าปี่อยู่จึงออกอุบายเรียกตัวซุนหยินกลับโดยส่งจดหมายอ้างว่าง่อก๊กไท้เกิดป่วย ให้กลับทันที เมื่อซุนหยินทราบข่าวจึงตัดสินใจเดินทางกลับโดยได้แอบติดต่อกับทางง่อก๊กไว้ให้ส่งเรือเล็กมาคอยรับ
แต่ซุนหยินไม่กลับเปล่าๆนางพาอาเต๊าไปด้วย และเมื่อจูล่งทราบว่านางซุนหยินพาอาเต๊าไป เขาก็ออกตามหาจนพบในขณะที่นางกำลังจะขึ้นเรือ จูล่งจึงกระโดดตามไปด้วย เพื่อจะชิงตัวอาเต๊าคืน แต่นางซุนหยินไม่ยอมโดยอ้างว่าอาเต๊าเปรียบเหมือนเป็นลูกของนาง นางสาควรต้องพาไปให้เคารพง่อก๊กไท้สักครั้ง และนี่เป็นเรื่องภายในครอบครัวของล่าปี่ จูล่งซึ่งเป็นเพียงข้ารับใช้ไม่สมควรจะยุ่ง
แต่จูล่งนั้นเป็นผู้ที่เคยช่วยชีวิตอาเต๊าเอาไว้เมื่อครั้งแบเบาะ อาเต๊าจึงเปรียบเหมือแก้วตาของจูล่งเช่นกัน เขาจึงไม่ยอมยกให้และยื้อเอาอาเต๊ามาได้ และพอดีกับที่เตียวหุยนั่งเรือเล็กตามมาด้วยจูล่งจึงอาศัยจังหวะนั้นกระโดดขึ้นเรือเล็กของเตียวหุยกลับมาโดยไม่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งที่กังหนำ จึงเห็นได้ว่าจูล่งเปรียบเหมือนดาวพิทักษ์ของอาเต๊าจริงๆ
แต่เรื่องที่ว่ามานี้มีอยู่ในนิยายสามก๊ก และไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เพราะหากยึดตามประวัติศาสตร์แล้ว จูล่งและเตียวหุยได้ยกทัพไปสมทบกับเล่าปี่ในการตีเสฉวนแล้ว จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่แต่งเพิ่มขึ้นมามากกว่า
กองทัพของจูล่งบุกเข้ายึดตามรายทางของเสฉวนได้หลายเมือง และเข้าสมทบกับทัพใหญ่ของเล่าปี่ที่ล้อมนครเฉิงตู เมืองหลวงของเสฉวนไว้ จากนั้นเล่าเจี้ยงก็ยอมจำนนต่อเล่าปี่ ทำให้เล่าปี่ครองครองดินแดนเสฉวนได้สำเร็จ
ในบันทึกประวัติศาสตร์นั้นได้บอกไว้ชัดแจ้งว่าเล่าปี่ซึ่งเพิ่งยึดเมืองเสฉวนได้นั้น ได้ฉลองความสำเร็จอย่างใหญ่โต และได้นำเอาทรัพย์สินเงินทองที่ได้จากเล่าเจี้ยงมาแจกจ่ายเป็นรางวัลให้แก่พรรคพวกดังนี้
กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง ได้รับทองคำแท่งคนละห้าร้อยชั่ง เงินแท่งหนึ่งพันชั่ง เงินเหรียญห้าสิบล้านอีแปะ ผ้าแพรหนึ่งหมื่นพับ และเรือกสวนไร่นาซึ่งมิได้มีผู้ใดจับจองทำมาหากินนั้นให้แบ่งแก่ขุนนางใหญ่น้อยเป็นกำลังทำราชการสืบไป
แต่จูล่งคัดค้านว่าเมืองเสฉวนนี้มีศึก ราษฎรต่างพลัดพรากจากภูมิลำเนาที่ทำมาหากิน ซึ่งจะเอาเรือกสวนไร่นามอบให้ขุนนางนั้น ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของก็จะได้รับความเดือดร้อน ท่านจงให้ป่าวร้องไพร่บ้านพลเมืองว่า ภูมิลำเนาและเรือกสวนไร่นาของผู้ใดก็ให้เข้ามาอยู่ทำมาหากินดังเก่า ราษฎรจึงมีความสุขสืบไป เล่าปี่เห็นชอบด้วย ก็ให้ทหารไปประกาศป่าวร้องแก่ราษฎรตามที่จูล่งว่า
เมื่อยึดเสฉวนได้สำเร็จ เป้าหมายต่อไปของเล่าปี่ก็คือการเข้ายึดเมื่อฮั่นจงซึ่งจะกลายเป็นปราการหน้าด่านสำคัญสำหรับอาณาจักรของเล่าปี่ในอนาคต
ภารกิจในการยึดฮั่นจงนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากแม่ทัพที่เฝ้าฮั่นจงนั้นก็คือแฮหัวเอี๋ยน 1 ใน 4 ขุนพลคนสนิทของโจโฉและยังเป็นญาติที่โจโฉไว้ใจมาก และยังมีเตียวคับ แม่ทัพผู้ห้าวหาญและชำนาญกลศึกเป็นรองแม่ทัพด้วย
เล่าปี่ได้ส่งฮองตงแม่ทัพชราผู้เป็นจอมขมังธนูแห่งยุค เป็นทัพหน้าและมีหวดเจ้งเป็นที่ปรึกษา และด้วยแผนการรบของหวดเจ้ง ทำให้ฮองตงสามารถตัดศีรษะแฮหัวเอี๋ยนและตีซิหลงแตกพ่ายพร้อมกับยึดเมืองฮั่นจงได้
ปีค.ศ.219 โจโฉต้องการล้างแค้นให้แฮหัวเอี๋ยน จึงยกกองทัพกว่า 2 แสนมาล้างแค้น ฮองตงซึ่งกำลังลำพองในชัยชนะจึงขออาสาเป็นทัพหน้าอีกครั้ง
แต่จูล่งคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าฮองตงอายุมากแล้วอาจพลาดพลั้งได้ ตัวเองจึงขอไปแทน แต่เมื่อต่างก็ไม่ยอมกันเพราะถือในฝีมือทั้งคู่ เล่าปี่จึงได้ให้ฮองตงกับจูล่งเป็นทัพหน้าไปทั้งคู่ โดยฮองตงเป็นแม่ทัพใหญ่ จูล่งเป็นรองแม่ทัพ
เมื่อทั้งคู่ช่วยกันวางแผนการรบนั้น ฮองตงกับจูล่งซึ่งต่างก็ถือดีในฝีมือของตน ต่างจะขอเป็นฝ่ายยกทัพออกไปก่อน ในที่สุดทั้งคู่ยอมถอยให้กันคนละก้าว และอาศัยวิธีจับสลากเลือกว่าใครจะได้เป็นคนยกทัพออกไปก่อน
ฮองตงจับชนะ ได้ออกไปก่อน จูล่งจึงบอกว่าให้ท่านไปก่อนแต่หากเลยเที่ยงเมื่อไหร่ฮองตงยังไม่ชนะเขาจะยกทัพไปสมทบ เพราะไม่อยากเห็นแม่ทัพผู้เก่งกาจต้องตายไป โดยเมื่อเลยเที่ยงแล้วให้เป็นเวลาของเขา
ฮองตงยอมตกลง จึงยกทัพไปก่อน ส่วนจูล่งรอฟังผลการรบอยู่ในค่าย จนเมื่อเวลาเที่ยงแล้วยังไม่มีข่าวดีมาจากฮองตง เขาจึงตัดสินใจยกทัพตามไปเพราะได้สัญญากันไว้แล้ว เมื่อยกทัพไปถึงพบว่าการสู้รบอยู่บนเนินเขาซึ่งจูล่งไม่อาจจะขี่ม้าอย่างที่ตัวเองถนัดขึ้นไปได้
แต่เขาไม่สนใจ รีบนำกองทัพเดินเท้าบุกขึ้นเนินเขาและตีข้าศึกจนแตกกระเจิงและมาติดอยู่ที่นายพลเจาปิงของฝ่ายโจโฉ จูล่งนั้นนึกว่าเจาปิงเป็นทหารของตัวเองจึงตะโกนถามไปว่าแล้วพวกเราอยูไหนกันหมด เจาปิงตอบกลับว่า พวกมึงตายหมดแล้ว จูล่งโกรธจึงฟันเจาปิงตายในฉับเดียวแล้วยกพลขึ้นไหล่เขาที่ๆฮองตงกำลังรบอยู่
เมื่อขึ้นมาถึงก็พบว่าทัพของฮองตงกำลังตกอยู่กลางวงล้อมข้าศึก จูล่งจึงบุกตีฝ่าทัพโจโฉจนแตกพ่ายและพาตัวฮองตงหนีออกมา ระหว่างทางหนีกลับนั้นไม่ว่าจะมีทหารข้าศึกขวางมากน้อยแค่ไหน ก็ถูกนักรบชุดขาวตีแตกกระเจิงทุกครั้ง จนโจโฉที่สังเกตการณ์จากที่สูงถึงกับเอ่ยว่า เจ้านั่นมันใครกัน ทุกที่ๆมันเดินไปราวกับไม่มีทหารของเราขวางอยู่เลย ทหารฝ่ายเสนาธิการบอกโจโฉว่านั่นคือ เตียวจูล่ง ชาวเสียงสาน
โจโฉเมื่อได้ฟังถึงกับตกตะลึงและร้องว่า ไอ้เสือร้ายเมื่อเนินเตียงปันนั่นยังมีชีวิตอยู่อีกหรือ และสั่งหยุดทัพไม่ให้รุกต่อทันที
เมื่อกลับมาที่ค่ายจูล่งบอกฮองตงว่าเขายกทัพไปช่วยครั้งนี้เพราะเห็นว่าตะวันถึงเที่ยงแล้วจึงเข้ารบตามที่ได้สัญญากันไว้ ฮองตงเมื่อได้ฟังถึงกับน้ำตาคลอด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจของจูล่ง
จูล่งเมื่อกลับค่ายแล้วก็ไม่ประมาทเพราะรู้ว่าโจโฉต้องสั่งทหารรุกตามมาแน่ จึงได้วางกลอุบายที่จะตีตลบโจโฉกลับ
เมื่อจูล่งเห็นว่าทัพของโจโฉที่ยกตามมานั้นมีมากกว่าหลายเท่า เขาจึงได้สั่งให้เปิดประตูค่าย แต่ให้กองทหารธนูแอบซุ่มไว้ ส่วนตัวเองขี่ม้าถือทวนออกไปยืนหน้าค่ายเพียงลำพัง
ทัพโจโฉที่ยกมานั้นเคยเห็นความเก่งกาจของจูล่งเมื่อครั้งเนินเตียงปันมาแล้วจึงได้แต่หยุดอยู่หน้าค่ายไม่กล้ายกเข้าไป ส่วนตัวเขานั้นยืนตะโกนท้าทายว่าหากศัตรูไม่กลัวตายก็เข้ามาได้เลย
แต่ทัพหน้าของโจโฉได้แต่หยุดอยู่แบบนั้นเพราะกลัวว่าจูล่งจะซุ่มทหารไว้ ตัวโจโฉเองก็ระแวงว่าจะมีมีกลอุบายอะไรซ่อนอยู่ จึงคิดจะถอยทัพกลับ จูล่งเห็นว่าโจโฉเตรียมจะถอยทัพ จึงฉวยโอกาสนั้น สั่งระดมยิงธนูเข้าใส่และยกกองทัพออกจากค่ายเข้าจนทัพโจโฉต้องถอยหนีไป
ยุทธวิธีของจูล่งครั้งนี้นับเป็นกลศึกตามแบบฉบับของจูล่งที่มักเอาตัวเข้าเสี่ยงภัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เขาค่อนข้างจะถนัดเป็นพิเศษ ซึ่งหลังจากนี้เขาก็ใช้กลศึกทำนองนี้ตลอด โดยอาศัยวีรกรรมที่เนินเตียงปันซึ่งดังไปทั่วแผ่นดินมาใช้ในการข่มขวัญข้าศึกล่วงหน้า แล้วจึงอาศัยกำลังทหารเข้าหักอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่าได้ผลอย่างยอดเยี่ยมและทำให้เขาชนะศึกมาตลอด แต่กระนั้น คนที่ใช้กลยุทธ์เช่นนี้อย่างได้ผลก็หาได้น้อยนัก จูล่งเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
จากผลการรบครั้งนี้โจโฉถึงกับบอกต่อเหล่าทหารและแม่ทัพของตนงว่า “หากพบจูล่งเมื่อใด ต้องระวังตัวให้ดี” ภายหลังเมื่อเล่าปี่มาตรวจผลการรบในสนามรบแล้วถึงกับออกปากชมจูล่งว่า มีดีไปทั้งตัว และยกย่องจูล่งเป็น หู่เวยเจียงจวุน หรือ นายพลพยัคฆ์เดช
ดีในที่นี้หมายถึงดีที่เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกาย ที่เล่าปี่พูดแบบนี้เพราะคนจีนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนที่มีความกล้าหาญจะมีดีใหญ่ และความกล้าของจูล่งนั้นก็มีมากมายมหาศาล ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกในสามก๊กทุกฉบับ
หลังเสร็จศึกที่ฮั่นจงนี้แล้ว เล่าปี่ก็ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋อง ก่อตั้งอาณาจักรจ๊กก๊กขึ้นและแต่งตั้งให้จูล่งขึ้นเป็น1 ในห้านายพลทหารเสือซึ่งว่ากันว่าเป็นยอดขุนศึกที่เก่งกล้าที่สุดของก๊ก ซึ่งประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง โดยตัวจูล่งนั้นยังคงรับตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์ครอบครัวเล่าปี่อยู่เช่นเดิม แต่ตำแหน่งห้าทหารเสือนั้นเป็นฉายาที่ยกย่องขึ้นมา ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรเป็นพิเศษ และมีปรากฏแต่ในฉบับนิยายเท่านั้น
จากนั้น ในปลาย ปี ค.ศ.219 ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อกวนอูที่อยู่เกงจิ๋วประกาศศักดายกทัพเข้าตีวุยก๊ก ด้วยการตะลุยเข้าตีโจหยิน ยึดเมืองเซียงหยางมาได้ และเลยไปจนถึงเมืองอ้วนเสีย โจโฉส่งอิกิ๋มและบังเต๊กมาเป็นทัพหนุน แต่ก็ถูกกวนอูเล่นงานใช้แผนถล่มเขื่อนทำให้น้ำท่วมทัพของอิกิ๋มจนพินาศ และสังหารบังเต๊กได้ และเกือบเข้ายึดอ้วนเสียได้สำเร็จ แต่ซิหลงยกทัพหนุนตามหลังมาช่วยและแก้สถานการณ์ของอ้วนเสียอย่างดงาม ประกอบกับมีข่าวแจ้งว่าลิบองใช้กลอุบายเข้ายึดเมืองกังเหลง ทำให้กวนอูต้องตกอยู่ในวงล้อม กวนอูจึงต้องยกทัพถอยกลับ และถูกซิหลงตีกระหน่ำจนพ่ายไป กวนอูเหลือทหารเพียงไม่มาก และเมื่อล่าถอยมาถึงกังเหลงก็ไม่อาจยึดเมืองกลับมาจากลิบองได้ สุดท้ายก็ถูกลิบองจับตัว กวนอูไม่ยอมสวามิภักดิ์ จึงถูกประหารชีวิต
เมื่อเสียเมืองกังเหลง ก็ทำให้ดินแดนเกงจิ๋วต้องตกเป็นของซุนกวน เล่าปี่และเตียวหุยเสียใจอย่างหนักและคิดจะยกทัพไปแก้แค้นแต่เหล่าขุนนางทัดทานไว้ เล่าปี่จึงต้องหยุดรอก่อน
ปีค.ศ.221 เดือน 4 ด้วยการสนับสนุนของเหล่าขุนนาง เล่าปี่ทำการสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงมีพระนามว่าพระเจ้าเจียงบู๊ กลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จกฮั่นหรือซู่ฮั่น
และในปีเดียวกันนั้นเอง เล่าปี่ก็ตัดสินใจที่จะยกทัพกำราบซุนกวนเพื่อล้างแค้นให้กวนอู โดยได้รับความสนับสนุนจากเตียวหุย แต่ช่วงที่เตรียมทัพนั้นเตียวหุยโดนทหารของตัวเองสังหารและหนีไปหาซุนกวน เล่าปี่ยิ่งแค้นใจนัก ดังนั้นในเดือน 6 โดยที่ไม่สนใจคำทัดทานของจูล่งรวมถึงฎีกาห้ามปรามของขงเบ้ง เล่าปี่เกณฑ์คนถึง 7 แสนคน มีฮองตงเป็นทัพหน้า แต่ในประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าฮองตงร่วมศึกนี้ด้วย และเขาอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่จูล่งได้รับมอบหมายเป็นทัพหลัง เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทำศึกครั้งนี้ ในขณะที่ขงเบ้งอยู่เฝ้าเมืองเสฉวน
ในนิยายนั้นบันทึกว่า ฮองตงแม่ทัพเฒ่าใจร้อนเกินไปในการเข้าโจมตีจนต้องจบชีวิตลง ในขณะที่อุยเอี๋ยนแม่ทัพที่ชำนาญการศึกอีกคนต้องอยู่เฝ้าเมืองฮั่นจง ทำให้เล่าปี่ไม่มีขุนศึกที่ชำนาญด้านการศึกหลงเหลืออยู่ในทัพหน้าแม้แต่คนเดียว และเมื่อต้องไปปะทะกับลกซุน แม่ทัพหนุ่มผู้เป็นบัณฑิตอัจฉริยะ กองทัพ 7 แสนของเล่าปี่ก็ถูกไฟคลอกตายและแตกพ่ายยับเยิน ซึ่งศึกครั้งนี้ถูกเรียกว่า สงครามอิเหลง
แต่จูล่งซึ่งอยู่แนวหลังนั้นได้นำกองทัพของตนช่วยพาเล่าปี่และทหารที่เหลือเพียงไม่กี่พันคน หนีกลับมาตั้งหลักที่เมืองกงอานได้
จากนั้นไม่นานเล่าปี่ก็ป่วยหนักและประทับอยู่ที่เมืองกงอานหรือเป๊กเต้เสีย เพราะไม่กล้ากลับไปสู้หน้าขงเบ้งและเหล่าขุนนางในเสฉวนที่ทัดทานเรื่องศึกครั้งนี้
ปี ค.ศ.223 เล่าปี่เรียกตัวลูกชาย 2 คนและขงเบ้งให้มาเข้าเฝ้าพร้อมทั้งสั่งให้ขงเบ้งช่วยดูแลบ้านเมืองต่อ จากนั้นรับสั่งกับจูล่งให้ช่วยดูแลอาเต๊าและครอบครัวของพระองค์ด้วยและสิ้นพระชนม์ไป
อาเต๊าจึงได้ขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 16 ปี มีนามว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยน ขงเบ้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนจูล่งได้รับแต่งตั้งเป็น หย่งชาง ถิงโหว และควบตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์เล่าเสี้ยนอยู่เช่นเดิม
ปี ค.ศ.228 หลังจากขงเบ้งสามารถปราบเผ่าหมานทำให้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนจนสงบลงแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือการโจมตีวุยก๊กที่ครอบครองภาคกลางและภาคเหนือ อันเป็นภารกิจที่เล่าปี่ไม่อาจทำได้สำเร็จ
ขงเบ้งยกทัพใหญ่บุกตีหัวเมืองต่างๆทางทิศเหนือเพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับเข้าตีเมืองเตียงฮันในภายหลัง ซึ่งขณะนี้จูล่งมีอายุได้ 70 กว่าปีแล้ว ผมขาวไปทั้งหัว หน้าตามีร่องรอยแห่งความชรา แต่ความห้าวหาญและฝีมือรบอันเลื่องลือนั้นยังคงดังเดิม
ในการเข้าตีวุยก๊กนี้ ขงเบ้งเรียกระดมนายพลและแม่ทัพทั้งหมดกว่า 33 คน แต่ในนั้นไม่มีชื่อของจูล่ง ซึ่งเป็นแม่ทัพที่ฝีฝีมือการรบเป็นอันดับหนึ่งของแคว้นไม่
จูล่งจึงรีบเข้าพบขงเบ้งและถามว่าทำไมศึกใหญ่แบบนี้จึงไม่มีชื่อตนอยู่ในฐานะแม่ทัพด้วย ขงเบ้งจึงว่าเมื่อครั้งไปปราบเบ้งเฮ็กก็เสียม้าเฉียวซึ่งป่วยหนักไปคนแล้ว บัดนี้ห้าทหารเสือผู้ยิ่งยงแห่งจ๊กก๊กเหลือเพียงจูล่งเป็นคนสุดท้าย และมีอายุมากแล้วกลัวว่าจะพลาดท่าในสนามรบและทำให้เสียเกียรติประวัติไป
จูล่งจึงว่าข้าทำศึกมาตั้งแต่หนุ่มจนอายุเพียงนี้ ก็ยังไม่เคยพ่ายแพ้แก่ผู้ใด ในที่สุดขงเบ้งก็ยอมให้จูล่งเป็นแม่ทัพหน้าในการเข้าตีข้าศึกก่อนผู้อื่น ซึ่งเหตุหนึ่งเป็นเพราะขงเบ้งรู้ว่าจูล่งเป็นผู้ที่พระเจ้าเล่าปี่อดีตฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊กผู้ล่วงลับให้ความรักใคร่นับถือมาก จึงไม่กล้าขัดใจเท่าไหร่
ดังนั้นตำแหน่งแม่ทัพหน้าซึ่งควรจะเป็นของคนหนุ่มจึงกลายเป็นของแม่ทัพชราไป
ในการศึกครั้งนี้กองหน้าของจูล่งมีทหารเพียง 5 กองพัน แต่ฝ่ายก๊กวุย ซึ่งให้แม่ทัพแฮหัวหลิม ผู้เป็นเขยของพระเจ้าโจผีออกมารับศึกนั้นมีกองพลถึง 20 กองพล ส่วนทัพหน้านั้นมี 8 กองพล
จำนวนทหารนั้นผมไม่ทราบแน่ชัดแต่ดูจากจำนวนกองพลที่ต่างกันมากนั้นก็บอกให้รู้แล้วว่าจำนวนทหารของทั้ง 2 ฝ่ายต่างกันมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรนั้นก็คือการที่กองกำลัง 5 กองพันนั้นมีผู้บังคับบัญชาคือจูล่ง
ผู้นำทัพหน้าของแฮหัวหลิมนั้นคือ ฮันเต๊ก ซึ่งมีชื่อในด้านการเป็นมือขวาน เขามีลูกชาย 4 คน เอ๋ง เอี๋ยว เขง และกี๋ ซึ่งทั้ง 4 ต่างก็เชี่ยวชาญในการรบเช่นกัน
ในการปะทะของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น จูล่งขี่ม้าขาวอยู่หน้าทัพของตน เตรียมปะทะกับกับฮันเต๊กและลูกทั้ง 4 คน ฮันเอ๋งเข้าปะทะคนแรกและเสียท่าให้กับจูล่งด้วยการโจมตีเพียงสามท่า เอี๋ยว เขงและกี๋จึงเข้ามาพร้อมกัน และรุมจูล่งทั้ง 3 ด้านแต่ก็ไม่เทียบกับความโชกโชนในการรบของจูล่งได้ สุดท้ายเอี๋ยวถูกจับเป็นเชลย เขงและกี๋ตายในที่รบ
ฮันเต๊กผู้พ่อถึงกับตกตะลึงในฝีมือการรบที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนจึงควบม้าหนีเข้าเมือง แฮหัวหลิมโกรธมากจึงให้จัดกำลังพลใหม่และให้ฮันเต๊กแก้ตัว
ฮันเต๊กจึงนำกองทัพออกมาอีกหมายจะกู้ชื่อของจอมขวานแห่งวุยก๊ก แต่เมื่อเข้าปะทะกับจูล่งเพียงสามท่าก็ถูกแทงตาย ทัพของแฮหัวหลิมจึงแตกพ่ายอีกครั้ง
เมื่อเตงจี๋ รองแม่ทัพของจูล่ง ได้เห็นฝีมือของคนวัย 70 แล้ว ก็อดชื่นชมไม่ได้ที่จูล่งสามารถผลาญชีวิตแม่ทัพของศัตรูได้ 4 คนในวันเดียวและยังจับเป็นอีกหนึ่งด้วย ซึ่งจากผลการรบนี้ทำให้ฝ่ายจ๊กก๊กได้ชัยและสามารถรุกคืบเข้าไปใกล้เมืองเตียงฮันทุกขณะ
ทัพของขงเบ้งมาหยุดที่เขากิสาน อันเป็นจุดที่ขงเบ้งวางแผนจะใช้เป็นฐานตั้งค่ายใหญ่เพื่อเข้าตีเมืองเตียงฮัน พระเจ้าโจยอยแห่งวุยเห็นว่าสถานการณ์คับขัน จึงเรียกตัวสุมาอี้ ยอดอัจฉริยะจอมแสบแห่งยุคเป็นแม่ทัพออกมาต้านทาน
กล่าวกันว่า ในบรรดาแม่ทัพของวุยก๊ก สุมาอี้คือผู้ที่ขงเบ้งครั่วคร้ามที่สุด ดังนั้นก่อนจะเริ่มศึกกิสาน เขาจึงได้ปล่อยข่าวลวงว่าสุมาอี้คิดกบฏ ซึ่งก็ได้ผล เพราะพระเจ้าโจยอยไม่ไว้ใจสุมาอี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงปลดสุมาอี้ออกจากตำแหน่งทางการทหาร แต่เมื่อขงเบ้งเข้าประชิดเมืองเตียวฮันทุกขณะเช่นนี้ โจยอยจึงจำเป็นต้องเรียกตัวสุมาอี้มารับศึก
ผลการศึกระหว่างขงเบ้งกับสุมาอี้นั้น ขอสรุปอย่างย่อๆว่า เป็นเพราะการเลือกใช้คนที่ผิดพลาดของขงเบ้งทำให้ทัพจ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้และถอยกลับอย่างไม่เป็นขบวน และเป็นความพ่ายแพ้ที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตของขงเบ้ง
แต่ในความพ่ายแพ้ของขงเบ้ง มันกลับเป็นการศึกที่ช่วยตอกย้ำความเก่งกล้าของจูล่งเป็นการทิ้งทวนครั้งสุดท้าย กล่าวคือ ในการศึกครั้งนี้จูล่งไม่ได้รับหน้าที่เป็นทัพหน้า แต่ขงเบ้งใช้ให้เขาไปเป็นทัพอิสระคอยโจมตีอยู่ที่ราบลุ่มกิก๊กซึ่งไม่ได้เป็นจุดที่ชี้ขาดการรบ
จูล่งนั้นแม้จะถูกใช้ให้แยกมาจากทัพใหญ่แต่ก็ยังคงความจมูกไวในแบบของยอดแม่ทัพอยู่ เขาจะคอยส่งคนไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวของทัพใหญ่อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
และเมื่อได้รับข่าวทัพใหญ่ของขงเบ้งต้องแตกพ่ายและถอยทัพกลับ เขาก็ไม่รอช้ารีบสั่งการให้ทัพของตนแปรสภาพเป็นทัพระวังหลังให้กับกองทัพใหญ่ทันที เผื่อว่าจะได้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง
และในครั้งนี้ จูล่งได้ฝากกลยุทธ์การถอยระดับสูงเอาไว้ให้โลกตะลึง ซึ่งตรงจุดนี้ผมค่อนข้างเสียดายอยู่บ้าง เพราะแม้ว่านิยายสามก๊กจะมีการบันทึกรายละเอียดส่วนนี้ไว้ แต่หนังสามก๊กซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดของการศึกและวีรกรรมสำคัญๆของเหล่าขุนพลในสามก๊กไว้ได้เกือบหมด กลับตัดส่วนนี้ทิ้งไป ทั้งที่การถอยทัพกลับของจูล่งในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความกล้าหาญอันสูงส่งของเขาที่รวมอยู่ในตัวคนเดียว และเป็นการถอยทัพในแบบที่คงจะไม่มีใครอีกแล้วในประวัติศาสตร์จีนที่ทำได้เช่นเดียวกับเขา
เรื่องคือ จูล่งใช้ให้เตงจี๋ซึ่งเป็นรองแม่ทัพ ชักธงที่มีตัวหนังสือเขียนว่า จูล่ง ชาวเสียงสาน แล้วนำไปกับกองทัพจำนวนหนึ่งเพื่อหลอกล่อให้ทัพสุมาอี้ไล่ตามไป ส่วนตัวเองแอบซุ่มอยู่ในราวป่า เมื่อกองติดตามของศัตรูไล่ตามมาก็เข้าตีจนเกิดความสับสนและให้เตงจี๋นำกองทัพที่แกล้งถอยหันกลับเข้ารบ ก็จะขยี้ข้าศึกได้ราบเรียบ ซึ่งแผนการของจูล่งครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ถึงจะตีกองติดตามจนแตกไปแล้ว ก็ยังคงมีกองหนุนตามมาอีก จูล่งจึงใช้แผนการที่ถ้าไม่ใช่ตัวเขาเป็นผู้กระทำมันก็จะไม่บรรลุผล
นั่นคือ จูล่งปล่อยให้กองพลของตัวเองเดินล่วงหน้าไปก่อน 12 กิโลจากนั้นตัวเขาเพียงผู้เดียว ขี่ม้าขาว เกราะขาว มือหนึ่งถือทวน ยืนรอทัพหนุนของข้าศึก
เมื่อกองหนุนของข้าศึกตามมาและเห็นนักรบชัดขาวขี่ม้าขาวยืนรออยู่เพียงลำพัง ก็รู้ว่านั่นคือ จูล่ง จึงไม่มีใครกล้าผลีผลามบุกเข้าไป จูล่งยืนคอยอยู่ถึงเวลาเย็นเมื่อไม่เห้นทหารข้าศึกบุกเข้ามาจึงควบม้าออกไป
การกระทำอันองอาจที่เหมือนเย้ยทหารวุยก๊กนี้ ได้ถูกรายงานไปให้กองบัญชาการทราบ แม่ทัพบั้นแจ้งโกรธมาก จึงนำกองทหารของตนเข้าสู้รบ หมายจับตัวจูล่งมาให้ได้
บั้นแจ้งนำกองทหารไปหนึ่งกองร้อย และได้พบกับจูล่งที่กำลังควบม้าถอยกลับไปตามปกติ จูล่งเมื่อเห็นบั้นแจ้งกับทหารหนึ่งกองร้อยก็หัวเราะ ซึ่งระยะห่างตอนนั้นไกลเกินกว่าที่จะรบกันด้วยอาวุธ จูล่งจึงง้างเกาทัณฑ์ยิงใส่พู่หมวกของบั้นแจ้งจนร่วงลง เพื่อเป็นการประกาศฝีมือ
บั้นแจ้งแม้จะกลัวแต่ก็ยังรักเกียรติดังนั้นจึงควบม้าตรงเข้าหาจูล่งอย่างบ้าบิ่น จูล่งเห็นดังนั้นจึงใช้ฝีมือทวนเล่นงานจนบั้นแจ้งตกลงจากหลังม้า แต่จูล่งไม่ฆ่าเขาเพียงเอาปลายทวนจ่อคอหอยและกล่าวว่าถึงจะฆ่าไปก็เท่านั้น ให้บั้นแจ้งกลับไปแจ้งนายให้ยกทัพออกมาสู้ ตัวเขาจะคอยท่าอยู่ที่นี้
บั้นแจ้งรีบกลับไปแจ้งยังกองบัญชาการ ฝ่ายจูล่งนั้นรออยู่จนถึงเวลาเย็นแต่ก็ยังไม่มีทัพศัตรูมา เขาจึงควบม้าออกไปตามเดิม ซึ่งนั่นเป็นเพราะแม่ทัพของวุยก๊กได้ขยาดต่อฝีมือของเขาเกินกว่าที่จะกล้ายกทัพติดตามไปสู้ด้วย
จากนั้นกองทัพของจูล่งก็กลับเข้าค่ายใหญ่ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เสียทหารหรือม้าแม้แต่ตัวเดียว ทั้งที่กองทหารอื่นๆของจ๊กก๊กนั้นต่างก็แตกกระเจิงกลับมาหมด
ในหนังสือสามก๊กพูดถึงตรงนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อตอนที่ขงเบ้งกลับมาถึงค่ายนั้น ได้รับแจ้งว่าทัพของจูล่งเป็นเพียงทัพเดียวที่ยังมิได้กลับมา ขงเบ้งจึงรู้สึกกังวลใจยิ่งนัก
จนเมื่อจูล่งกับเตงจี๋นำกองทหารกลับมาโดยที่ไม่เสียไพร่พลแม้แต่คนเดียวนั้น ขงเบ้งถึงกับพิศวงว่าจูล่งทำได้อย่างไร จึงสอบถาม แต่จูล่งไม่สนใจที่จะตอบโดยพูดในทำนองที่ว่านั่นไม่ได้เป็นผลงานยิ่งใหญ่อะไรเพราะทัพใหญ่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เตงจี๋ทนเฉยไม่ไหวจึงบอกต่อขงเบ้งถึงการกระทำอันห้าวหาญและเปี่ยมด้วยปัญญาของจูล่งที่นำทหารถอยทัพกลับมาได้ เมื่อขงเบ้งได้ยินแล้ว ก็ถึงกับรำพึงว่า “นี้เป็นทหารเอกหาผู้เสมอเหมือนมิได้
จากนั้นจึงปูนบำเหน็จให้อย่างงาม แต่จูล่งมิใช่คนที่หลงใหลในเงินทอง และของรางวัล เขาถือว่าทั้งกองทัพประสบความพ่ายแพ้ จึงไม่สมควรที่จะประทานรางวัล เขาจึงได้ปฏิเสธที่จะรับและกล่าวว่า “ขอให้นำทองซึ่งเขาได้เป็นบำเหน็จนี้คืนแก่ท้องพระคลังเถิด และถ้าถึงกำหนดเบี้ยหวัดแล้วจงเอาแจกแก่ทหารทั้งปวง
ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนของจูล่งนี้ หนังสือสามก๊กได้บันทึกอย่างชัดเจนทุกฉบับว่า “นับแต่นั้นไปขงเบ้งก็มีความคารวะจูล่งเป็นอันมาก” และนั่นก็เป็นวีรกรรมครั้งสุดท้ายของจูล่งด้วย
ปี ค.ศ. 229 ขงเบ้งตระเตรียมกำลังพลหวังที่จะบุกวุยก๊กอีกครั้ง ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนได้แปลไว้ดังนี้
ขณะเมื่อประชุมทหารพร้อมอยู่นั้น พอเกิดลมหัด้วนพัดมาถูกกิ่งสนตรงหน้าโรงประชุมขุนนางหักสะบั้นลง ทหารทั้งปวงพากันตกใจ ขงเบ้งจึงจับยามดู ก็รู้ว่าทหารเอกตายเป็นมั่นคง จึงบอกแก่ขุนนางและทหารทั้งปวงว่าบัดนี้ทหารเอกเขี้ยวศึกของเราตายเสียแล้ว พอขาดคำลงทหารคนหนึ่งก็เข้ามาบอกว่า เตียวกอง เตียวหอง บุตรจูล่งจะเข้ามาหาท่าน
ขงเบ้งแจ้งดังนั้นก็รู้ว่าจูล่งถึงแก่ความตาย กระทืบเท้าทิ้งจอกสุราลงเสีย ขณะนั้นเตียวกอง เตียวหอง ก็เข้ามาคำนับบอกว่า เวลาคืนนี้ประมาณสามยามบิดาข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว
ขงเบ้งก็ร้องไห้รักจูล่งจนสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงว่า อันจูล่งถึงแก่ความตายนี้เสมือนหนึ่งแขนซ้ายพระเจ้าเล่าเสี้ยนหักด้วยเป็นนายทหารผู้ใหญ่เขี้ยวศึกมา ทหารทั้งปวงก็พากันร้องไห้รักจูล่งทุกคน แล้วขงเบ้งก็ให้บุตรจูล่งไปแจ้งแก่พระเจ้าเล่าเสี้ยน ณ เมืองเสฉวน
พระเจ้าเล่าเสี้ยนแจ้งว่าจูล่งถึงแก่ความตายก็ทรงพระกันแสงรำพันไปถึงความหนหลังทุกประการ แล้วก็ให้แต่งการศพจูล่งไปฝังไว้ที่สมควร รวมอายุ 72ปี (บ้างก็ว่า 61) แล้วจึงปลูกเป็นศาลเทพารักษ์ไว้บูชามาตราบเท่าทุกวันนี้ แล้วตั้งให้บุตรจูล่งทั้งสองเป็นทหารผู้ใหญ่
นี่คือครั้งสุดท้ายที่ได้กล่าวถึงจูล่งในสามก๊ก และนับได้ว่าเขาเป็นขุนพลผู้กล้าที่ตายดีและสงบที่สุดคนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก
ในเรื่องสามก๊กนั้นเป็นเรื่องของการแก่งแย่งฆ่าฟันกัน บรรดาผู้กล้ามากมายเมื่อในยามที่จะตายต่างก็ล้วนไม่ตายดีด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลกรรมที่พวกเขาได้ทำไว้จากการเข่นฆ่าผู้อื่น
เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน ผู้ก่อตั้งก๊กทั้งสามต่างป่วยหนักและต้องพบความทรมานก่อนตายทั้งสิ้น
กวนอูถูกประหาร เตียวหุยถูกฆ่าตัดคอขณะหลับ ขงเบ้งต้องตรอมใจตายในสนามรบ
ลิโป้ถูกประหาร ตั๋งโต๊ะถูกทรยศ อ้วนเสี้ยวตรอมใจ ซุนฮกกินยาพิษฆ่าตัวตาย จิวยี่ป่วยหนัก รวมถึงสุมาอี้ด้วย
เกือบทุกคนที่เป็นคนดังในเรื่องสามก๊กต่างต้องพบจุดจบแบบไม่ดีทั้งนั้น แต่จูล่งในวาระสุดท้ายของเขาได้กลับมานอนตายอย่างสงบอยู่ที่เตียงนอนในบ้านของตนเอง และจากไปโดยที่ไม่ได้มีท่าทีของคนที่คร่าชีวิตผู้อื่นในสนามรบทั้งที่เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ฆ่าคนไปมากมาย
แต่เขาเป็นคนที่ฆ่าด้วยความจำเป็นและจะฆ่ายามที่อยู่ในสนามรบเท่านั้น จุดนี้เป็นจุดที่น่านับถือที่สุด เพราะบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องสามก๊กหลายต่อหลายคนมักจะฆ่าคนอย่างไม่มีเหตุผลหรือตามอารมณ์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน หรือแม้แต่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง
ความซื่อสัตย์ภักดีของเขาที่มีต่อราชวงศ์ของเล่าปี่ก็เป็นของจริง และได้รับการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งนับว่าน่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์เหมือนกับกวนอู
ว่ากันว่าการที่เขาไม่ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าดังเช่นกวนอูนั้น มีเหตุผลแฝงอยู่
เรื่องที่กวนอูได้เป็นเทพเจ้านั้นเกิดจากการยกย่องของชาวแมนจูที่เข้ามาปกครองเมืองจีนในช่วงหลัง โดยเหตุผลสำคัญที่ยกย่องกวนอูนั้นจะขอบอกสั้นๆว่าเพื่อผลทางการปกครอง
แต่จูล่งนั้นมีหลายสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจของชาวแมนจูนั่นคือว่า จูล่งเคยรับใช้กองซุนจ้านมาก่อนที่จะมาอยู่กับเล่าปี่ ไม่เหมือนกวนอูซึ่งอยู่กับเล่าปี่ตั้งแต่แรก ซึ่งแบบนี้ชาวแมนจูถือว่าเป็นข้าสองเจ้า ไม่เหมือนกวนอูที่ไปอยู่กับโจโฉแล้วก็ยังกลับมาอยู่กับเล่าปี่อีก
และจูล่งยังเป็นคนที่มีลักษณะขัดผลประโยชน์ของผู้เป็นนาย อย่างครั้งที่เล่าปี่จะประทานรางวัลและที่ดินให้แก่ข้าราชการของตนเมื่อเข้าเสฉวนได้ใหม่ๆนั้น จูล่งเป็นผู้เดียวที่ออกมาคัดค้านและเห็นว่าควรให้ราษฎรก่อน
ตัวจูล่งซึ่งเคยมีการกระทำที่มีการขัดต่อผลประโยชน์ของนายเช่นนี้ หากว่าชาวแมนจูยกย่องเขาเป็นเทพเจ้า ผู้เป็นนายก็จะลำบาก ซึ่งกวนอูนั้นไม่เคยมีการกระทำตรงนี้ เพราะเมื่อมีการให้รางวัลครั้งใดเขาก็รับแบบเต็มที่อยู่แล้วทุกครั้ง
ความดีที่เขาได้กระทำไว้นั้น ได้รับผลตอบแทนเมื่อตายไปแล้วเมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนเห็นควรให้ตั้งบรรดาศักดิ์ย้อนหลังแก่จูล่งเป็น “ซุ่นผิงโหว” หรือพระยาสามัญนิยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น