วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก บังทอง ซื่อหยวน

ประวัติสามก๊ก บังทอง ซื่อหยวน
"มังกรและหงส์อ่อน หากว่าใครได้ไปล่ะก็คนผู้นั้นจะสามารถครองแผ่นดินได้"
นี่เป็นคำล่ำลือที่เกิดในหมู่นักปราชญ์และนักวิชาการแถบเกงจิ๋วซึ่งอยู่ทางตอนกลางแถบใต้ของประเทศจีนในยุคสามก๊ก
มังกรนั้นคือชาวนาบัณฑิตหนุ่มนามว่าจูกัดเหลียง ฉายาขงเบ้ง
ส่วนหงส์อ่อนนั้นคือชายคนหนึ่งซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกันกับขงเบ้งและเป็นเพื่อนสนิทที่ขงเบ้งให้ความเคารพยกย่องมากที่สุดเหมือนเป็นพี่ชาย
ชื่อของเขาคือผังทงหรือที่คนไทยเรารู้จักกันดีว่าบังทอง
ในภายหลังเล่าปี่ก็ได้ทั้งมังกรและหงส์อ่อนนี้มาเป็นบริวาร และได้มีส่วนช่วยเหลือให้เขาก่อตั้งอาณาจักรซู่ฮั่นหรือจ๊กก๊กได้สำเร็จ
แต่หากเราเจาะลึกประวัติศาสตร์รวมถึงนิยายสามก๊กลงไปให้ดีแล้ว หงส์ตัวนี้กลับไม่ได้สร้างประโยชน์หรือผลงานอะไรให้กับเล่าปี่มากมายนัก ในการสร้างอาณาจักรจ๊กก๊ก ซึ่งหากดูจากชื่อเสียง ที่ใครๆต่างยกย่องแล้วนั้น ผลงานของเขาที่ฝากไว้ในแผ่นดินน่าที่จะยิ่งใหญ่และมีมากมาย แต่พอเอาเข้าจริงแล้วมันกลับมีน้อยเกินไปหากเทียบกับความสามารถที่ตัวเขามี อย่างที่ในนิยายสามก๊กได้พรรณนาไว้ ที่สำคัญคือเขาเป็นคนฉลาดที่ต้องพบจุดจบเร็วเกินไปและไม่สมกับชื่อเสียงที่ใครๆต่างล่ำลือกันซะเลย นับเป็นอุทาหรณ์บทหนึ่ง 
ประวัติโดยย่อ
ผังถงหรือบังทอง ชื่อรองคือซื่อหยวน เกิดในปีค.ศ.179 เป็นชาวเมืองเซียงหยางซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งแห่งมณฑลเกงจิ๋ว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์และบัณฑิต เนื่องจากในยุคนั้นเหล่านักวิชาการจำนวนมากต่างอพยพหนีภัยสงครามลงมาที่ภาคใต้เป็นจำนวนมาก 
พ่อของบังทองนั้นมีนามว่าบังเต๊กกง เป็นคหบดีใหญ่ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาของเหล่านักปราชญ์และนักวิชาการในแถบนั้นไม่น้อยทีเดียว 
การที่เกงจิ๋วเป็นดินแดนแห่งปราชญ์บัณฑิตนั้นนอกจากภัยสงครามที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือแล้วยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นคือเล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋วนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใจบุญชอบรับอุปถัมภ์ผู้คน ดังนั้นจึงมีนักวิชาการชื่อดังมากมายหนีร้อนมาพึ่งเย็น ด้วยเหตุนี้เองบังทองจึงเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางเหล่าปัญญาชนมากมาย 
แต่ว่ากันว่าเมื่อสมัยเด็กเขาเป็นคนที่ไม่ฉลาดนักซ้ำยังมีหน้าตาขี้เหร่ ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจในตัวเขาเท่าใดนัก 
จนช่วงย่างเข้าวัยรุ่นเขาจึงได้เริ่มสนใจศึกษาหาความรู้และสนใจเรื่องบ้านเมือง และช่วงปีค.ศ. 198 ก็ได้คบหาสมาคมกับบัณฑิตหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่เกงจิ๋วตามผู้เป็นอา และได้รับความอุปถัมภ์จากเล่าเปียว เขาชื่อว่าจูกัดเหลียง ทั้งสองคุยกันถูกคอจึงได้คบหาเป็นพี่น้องกัน 
จนเมื่อบังทองอายุได้ 20 ปี เขาได้สนทนากับสุมาเต็กโชซึ่งเป็นนักปราชญ์ผู้ที่ใครๆต่างก็ยกย่องว่าเป็น "ซินแสกระจกเงา" เพราะมีความสามารถในการมองผู้อื่นได้ทะลุปรุโปร่ง 
เมื่อสุมาเต็กโชได้สนทนากับบังทองตั้งแต่เช้าจนจรดค่ำ สุมาเต็กโชรู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถของบังทองมาก และเห็นว่าบังทองเป็นบัณฑิตที่ฉลาดที่สุดในจังหวัดหนานจวุ้น และนับแต่นั้นมาบังทองก็เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาและได้รับราชการในตำแหน่งจ่าจังหวัด 
ช่วงนั้นเองที่ชื่อเสียงของบังทองผงาดขึ้นมาและเป็นที่ล่ำลือไปทั่วควบคู่กับชื่อของขงเบ้ง ซึ่งมีชื่อเสียงมากในหมู่นักปราชญ์นักวิชาการแถบเกงจิ๋วโดยท่านสุมาเต็กโชเป็นผู้ตั้งฉายาให้ขงเบ้งว่าเป็นฮกหลง(มังกรหลับ) ส่วนบังทองเป็นฮองซู(หงส์อ่อน) 
บังทองได้ชื่อว่าเป็นคนที่เน้นหนักในเรื่องการสั่งสอนคนให้รู้จักประพฤติตัวอยู่ในคุณธรรม และตัวเขาก็มีความสนใจในเรื่องการอบรมเยาวชนและอนุเคราะห์ผู้ยากไร้ นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ชอบเดินทางแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากที่ต่างๆ ในจุดนี้เขาเหนือกว่าขงเบ้งผู้เป็นเพื่อนสนิทมาก ที่เอาแต่เก็บตัวอยู่แต่ในเขาโงลังกั๋งไม่ยอมออกสู่โลกภายนอก 
จากนั้นหลายปีต่อมา เมื่อขงเบ้งไปทำงานกับเล่าปี่แล้ว ขงเบ้งก็ได้เสนอชื่อของบังทองแก่เล่าปี่และบอกให้เล่าปี่ฟังว่า หากเป็นด้านการวางกลยุทธ์ในการศึกแล้วล่ะก็ บังทองเหนือกว่าตัวเขาซะอีกและหากได้ตัวบังทองมาช่วยงานการใหญ่ก็จะไม่หนีไปไหน 
ภายหลังเมื่อจิวยี่แม่ทัพใหญ่แห่งง่อก๊กได้รบชนะโจโฉที่เซ็กเพ็กและเล่าปี่ได้ฉวยโอกาสระหว่างนั้น เข้ายึดเมืองหลายเมืองในแถบเกงจิ๋วคืนจากโจโฉได้นั้น จิวยี่แค้นใจที่เล่าปี่และขงเบ้งชุบมือเปิบ จนภายหลังบาดแผลเก่ากำเริบและล้มป่วยจนตายไปนั้น บังทองได้ไปเยี่ยมศพของจิวยี่ที่ก๊กง่อ 
เพราะครั้งหนึ่งจิวยี่รวมไปถึงโลซกเคยชักชวนให้บังทองเข้ามารับราชการอยู่ที่ก๊กง่อด้วย แต่เมื่อบังทองได้เข้าพบกับซุนกวน ด้วยหน้าตาและท่าทางของบังทองนั้นไม่เป็นที่สบอารมณ์ของซุนกวน เขาจึงไม่ให้เกียรติมากนัก จนบังทองเกิดน้อยใจและคิดจะจากไป 
โลซกซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นต้าตูตู(สมุหกลาโหม) ซึ่งใหญ่เป็นที่สองในก๊กง่อรองจากซุนกวน และควบคุมอำนาจทหารทั้งหมด แต่เขากลับมีความคิดว่าตัวเองมีความสามารถไม่ถึงขนาดนั้น จึงแนะนำบังทองแก่ซุนกวนเพื่อให้มารับตำแหน่งแทนตน แต่ซุนกวนกลับปฏิเสธบังทอง เมื่อเป็นเช่นนี้โลซกจึงกลัวว่าบังทองจะไปทำงานกับโจโฉ ดังนั้นจึงส่งจดหมายไปแนะนำบังทองต่อเล่าปี่ซึ่งเป็นพันมิตรว่าบังทองผู้นี้เป็นคนมีสติปัญญาเยี่ยมยอด ควรที่เล่าปี่จะรับไว้ใช้งาน
ตอนนั้นเล่าปี่ได้ครองเมืองเกงจิ๋ว และในฐานะที่บังทองก็เป็นข้าราชการสังกัดเกงจิ๋วด้วย เขาจึงได้รับตำแหน่งนายอำเภอฟงหยาง แต่เนื่องจากไม่ใส่ใจในราชการจึงถูกปลดออกมา 
ตรงจุดนี้ในฉบับนิยายของหลอก้วนจงได้พูดถึงว่า เมื่อขงเบ้งไปคารวะศพของจิวยี่ที่ก๊กง่อนั้นได้บังเอิญพบกับบังทอง ขงเบ้งจึงชักชวนให้บังทองมาอยู่กับเล่าปี่และได้เขียนจดหมายแนะนำตัวให้กับบังทองไว้ 
ครั้นเมื่อบังทองได้เข้าพบเล่าปี่นั้น บังทองไม่ได้ยื่นจดหมายรับรองไป ส่วนเล่าปี่นั้นไม่ค่อยจะชอบใจในหน้าตาและท่าทางของบังทองนักจึงให้ไปเป็นนายอำเภอฟงหยาง บังทองก็รับตำแหน่งไปแต่ก็ไม่พอใจเพราะเป็นเพียงตำแหน่งอำเภอเล็กๆ ดังนั้นเมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ใส่งานราชการเอาแต่กินเหล้าไปวันๆ เมื่อเล่าปี่ส่งเตียวหุยให้ไปตรวจราชการ พบบังทองเมาสุรานอนอยู่ก็โกรธแล้วจะนำตัวไปลงโทษ แต่บังทองก็แก้ไขด้วยการนำเอางานราชการที่ค้างอยู่มาจัดการจนเสร็จหมดในวันเดียว จนเตียวหุยถึงกับอดยกย่องไม่ได้ และได้พาเข้าพบเล่าปี่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ขงเบ้งอยู่ด้วย จึงได้แนะนำบังทองแก่เล่าปี่ว่าเป็นผู้มีความสามารถสูงเกินกว่าจะให้ไปเป็นนายอำเภอเล็กๆ จากนั้นมาบังทองจึงได้รับราชการอยู่ที่เกงจิ๋วส่วนกลาง และได้เป็นที่ปรึกษาที่มีอันดับรองเพียงแค่ขงเบ้ง 
ต่อมาเมื่อเล่าปี่จะเข้าตีเสฉวนของเล่าเจี้ยง ก็ได้เอาบังทองไปด้วยในฐานะเสนาธิการทหาร ส่วนขงเบ้งถูกใช้ให้อยู่เฝ้าเกงจิ๋ว 
เมื่อครั้งแรกที่เล่าปี่ได้พบตัวเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเสฉวนที่เมืองฝู บังทองก็ได้เสนอแผนการต่อเล่าปี่ว่า "วันที่ได้พบกันนี้หากจับตัวเล่าเจี้ยงไว้แล้ว ท่านก็จะไม่เสียทหารแม้สักคนเดียวและจะยึดครองเสฉวนได้โดยสะดวก"
แต่เล่าปี่ไม่เห็นด้วยและให้เหตุผลว่าการที่เราเพิ่งจะมาถึงบ้านเมืองเขา ยังไม่มีหลักยึดไม่มีผลงาน ทำแบบนั้นไม่ได้หรอก
ต่อมาเมื่อเล่าเจี้ยงกลับเสฉวนที่เมืองเฉิงตูแล้วได้ขอให้เล่าปี่ไปตีเตียวลู่ที่ฮั่นจงบังทองก็เสนอแผนการอีกว่า "เรารีบคัดเลือกทหารที่มีฝีมือเดินทางทั้งวันและคืน ใช้ทางลัดบุกเข้ายึดเมืองเฉิงตู เล่าเจี้ยงที่ไม่ถนัดการรบและไม่มีการเตรียมพร้อมเมื่อถูกเราจู่โจมก็ย่อมเสียเมืองโดยง่าย" 
เล่าปี่ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ บังทองจึงเสนอแผนใหม่ให้ โดยบอกว่า "เล่าเจี้ยงมีขุนพลสำคัญอยู่ 2 คนที่รักษาด้านสำคัญอยู่นั่นคือ หยางไหวและเกาพ่าย สองคนนี้เคยเตือนเล่าเจี้ยงไม่ให้เชื้อเชิญท่านเข้ามา ให้ท่านทำเป็นว่าจะเดินทางกลับเพราะเกงจิ๋วเกิดเรื่อง เมื่อพวกเขาเห็นว่าท่านจะกลับคงจะดีใจและเดินทางมาส่งเรา ถึงตอนนั้นก็ฉวยโอกาสจับตัวพวกเขาไว้และยึดทหารมาเป็นของเรา จากนั้นจึงยกทัพเข้าตีเมืองเฉิงตูต่อไป" 
เล่าปี่เห็นด้วยกับแผนนี้จึงทำตามและจับตัวหยางไหวและเกาพ่ายฆ่าเสีย จากนั้นจึงเดินทัพเข้าสู่เฉิงตูระหว่างยึดเมืองต่างๆได้มากมาย จนกระทั่งถึงเมืองฝูจึงชุมนุมทัพใหญ่ที่เมืองนี้และจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้น 
ระหว่างงานเลี้ยงนั้นเล่าปี่ดื่มเหล้าจนเมาและฉลองอย่างมีความสุข บังทองซึ่งนั่งอยู่ด้วยนั้นจึงพูดว่า "ยึดบ้านเมืองคนอื่นได้ด้วยอุบายแล้วยังมาเลี้ยงฉลองอย่างมีความสุขแบบนี้ไม่นับว่าการกระทำของผู้ดี" 
เล่าปี่กำลังเมาอย่างหนัก เมื่อได้ยินเข้าก็ไม่พอใจและตวาดไล่บังทองออกไปจากงานเลี้ยง บังทองเมื่อได้เห็นกิริยาของเล่าปี่ในตอนนี้รู้สึกแปลกใจมากจึงเดินออกไปอย่างเงียบๆ 
เมื่อเล่าปี่สร่างเมาแล้วจึงรู้สึกตัวว่าเสียมารยาทเกินไปจึงเชิญบังทองให้กลับมานั่งในงานฉลอง และถามบังทองว่าเมื่อครู่ใครเป็นฝ่ายผิด บังทองตอบว่าผิดทั้งคู่ เมื่อเล่าปี่ได้ยินก็หัวเราะออกมา 
หลังจากนั้นเล่าปี่ก็ยกทัพบุกตีเมืองลั่วซึ่งมีเตียวหยิมแม่ทัพของเล่าเจี้ยงคอยเฝ้ารักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง บังทองจึงอาสาว่าจะขอเป็นคนบัญชาการตีเมืองให้แตกให้ได้ เล่าปี่จึงมอบม้าเต๊กเลาซึ่งเป็นม้าประจำตัวให้ขี่ 
ในระหว่างการเข้าตีเมืองบังทองได้กระทำในสิ่งที่เป็นสิ่งต้องห้ามในฐานะเสนาธิการทหารนั่นคือขี่ม้าบัญชาการบุกตีเมืองซึ่งๆหน้า โดยขี่ม้าตระหง่านอยู่กลางกองทัพที่จะเข้าตี จึงถูกธนูลูกหลงยิงเข้าใส่และเสียชีวิตลง 
เล่าปี่เสียใจกับการตายของบังทองมากนึกถึงครั้งใดก็ร้องไห้ และปูนยศย้อนหลังให้บังทองเป็น จิ้งเหา (พระยาสันติ)
จากชีวประวัติตรงนี้ของบังทองเป็นสิ่งที่อยู่ในบันทึกของเฉินโซ่ว ซึ่งเมื่อดูในฉบับนิยายของหลอก้วนจงนั้นยังมีความพิสดารเพิ่มเข้ามาตามประสานิยาย 
อย่างเช่นตอนศึกเซ็กเพ็ก ที่จิวยี่ลวงเจียวก้านเรื่องจดหมายว่าได้แอบติดต่อกับชัวมอเตียวอุ๋นสองแม่ทัพเรือเกงจิ๋วที่สวามิภักดิ์ทำให้โจโฉเข้าใจว่าทั้งสองเป็นสายและประหารพวกเขาทิ้งนั้น เมื่อเจียวก้านได้กลับมาหาจิวยี่ที่ค่ายอีกครั้งก็ถูกจิวยี่กักตัวฐานขโมยจดหมาย แต่ความจริงเป็นแผนของจิวยี่เพื่อหาโอกาสให้เจียวก้านได้พบบังทองซึ่งแกล้งมาท่องตำราพิชัยสงครามของซุนวูให้เจียวก้านได้ยิน เมื่อเจียวก้านได้โอกาสพบบังทองก็ชักชวนให้บังทองไปอยู่กับโจโฉและในคืนนั้นก็ได้แหกค่ายหนีกลับไป
บังทองที่มาอยู่กับโจโฉนั้นเป็นแผนการของจิวยี่เพื่อที่จะลวงโจโฉ เนื่องจากตอนนั้นทหารของโจโฉกำลังประสบปัญหาการเมาเรือ เพราะทหารของโจโฉที่เป็นคนเหนือนั้นไม่คุ้นกับการรบทางเรือ โดยบังทองได้เสนอแผนการต่อโจโฉว่าให้เอาโซ่ล่ามเรือแต่ละลำไว้ด้วยกันก็จะแก้ปัญหาได้
โจโฉทำตาม และจากนั้นผลสรุปก็เป็นอย่างในนิยายนั่นคือจิวยี่ใช้แผนเพลิงพิฆาตทำการเผาทัพเรือของโจโฉลงจนพินาศหมดสิ้น ซึ่งเรื่องที่เล่ามานี้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ เพราะศึกเซ็กเพ็กนั้นแม้จะเป็นศึกที่ยิ่งใหญ่ แต่จดหมายเหตุต่างๆกลับไม่ได้บันทึกรายละเอียดใดๆไว้มากเหมือนนิยายสามก๊กฉบับหลอก้วนจง
นอกจากนี้เกี่ยวกับการตายของบังทอง ในฉบับนิยายของหลอก้วนจงก็ได้ทำให้พิสดารขึ้นไปอีกโดยคราวนี้มีขงเบ้งเกี่ยวข้องด้วยนั่นคือก่อนที่บังทองจะถูกยิงตายนั้น ขงเบ้งซึ่งขณะนั้นอยู่รักษาการที่เกงจิ๋วได้ดูดวงดาวและพบว่าดาวประจำตัวของบังทองได้ตกลงมาจึงรู้ว่าบังทองจะเสียชีวิตที่เนินลั่วเพิงโพ(เนินหงส์ดับ) 
ขงเบ้งจึงส่งจดหมายไปเตือนบังทองแต่บังทองไม่ฟังเข้าใจว่าขงเบ้งริษยาที่ตนกำลังมีผลงานจึงอาสานำทัพบุกตีเมืองและสุดท้ายก็ถูกยิงเสียชีวิตที่เนินลั่วเพิงโพจริงๆ 
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลอก้วนจงแต่งเสริมขึ้นเพื่อเสริมปัญญาของขงเบ้งให้เด่นขึ้น อันที่จริงแล้ว หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ขงเบ้งและบังทองไม่น่าที่จะมีเรื่องอิจฉาริษยาอะไรกัน เพราะขงเบ้งนั้นรักบังทองเป็นเหมือนพี่ชายและบังทองก็เป็นเพื่อนสนิทที่สุดในชีวิตของขงเบ้ง การที่บังทองได้มารับราชการอยู่กับเล่าปี่ ส่วนหนึ่งก็เพราะการสนับสนุนของขงเบ้ง เท่ากับว่าในกลุ่มขุนนางที่ปรึกษาของเล่าปี่นั้นบังทองกับขงเบ้งถือว่าเป็นพวกเดียวกัน หากเรามองในแง่การเมืองถ้าขงเบ้งเป็นใหญ่บังทองก็ย่อมได้ดีตามไปด้วย จึงไม่มีเหตุผลสักนิดที่บังทองจะริษยาขงเบ้ง 
นอกจากนี้หากดูตามประวัติศาสตร์สามก๊กที่เฉินโซ่วบันทึกไว้แล้วนั้น ผลงานใหญ่ของขงเบ้งที่ทำให้กับเล่าปี่นับแต่มาอยู่ด้วยนั้นก็คือการศึกที่ทุ่งพกป๋องและเรื่องการผูกพันธมิตรเล่า-ซุน และการจัดระเบียบการปกครองในเกงจิ๋ว ด้านการศึกแล้วขงเบ้งแทบจะยังไม่มีผลงานอะไรเลย การศึกที่เผาเมืองซินเอี๋ยนั้นมีความเป็นไปได้กว่า 80-90% ทีเดียวว่าเป็นสิ่งที่หลอก้วนจงแต่งขึ้นเพิ่มเสริมภูมิปัญญาของขงเบ้ง ซึ่งเหตุผลสนับสนุนและการวิเคราะห์ในส่วนนี้ผมจะเขียนถึงเมื่อได้ทำเรื่องของขงเบ้งเสร็จ 
พิจารณาจากเหตุผลเหล่านี้ บังทองไม่น่าที่จะอิจฉาอะไรขงเบ้ง
แต่สาเหตุที่บังทองทำผิดพลาดจากหลักการนำทัพเข้าบุกตีปราสาทจนต้องถูกยิงตายนั้นอย่างไม่ควรกับตำแหน่งเสนาธิการทหารนั้น พอจะวิเคราะห์ออกมาได้ว่า 
1.บังทองต้องการสร้างผลงานมากเกินไปหรือต้องการพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้ใครๆจึงได้ไปควบม้านำทัพบุกจนถูกยิงตายอย่างไม่สมตำแหน่งแม่ทัพแบบนั้น
2.เหตุผลนี้หักดิบก็คือ บังทองถึงที่ตายจริงๆ
3.อันนี้เป็นความเห็นที่อาจจะทำให้หลายคนยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าลองคิดตามและเปิดใจกว้างแล้ว มันก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย นั่นคือเป็นแผนการอันแนบเนียนของเล่าปี่เอง ที่ต้องการจะกำจัดบังทองทางอ้อม
ทำไมเล่าปี่ต้องการจะกำจัดบังทองทั้งที่บังทองเป็นลูกน้องและเป็นเสนาธิการทหารคนสำคัญของเขา เหตุผลนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีเอาซะเลย 
เมื่อตอนที่จัดงานเลี้ยงฉลองแล้วบังทองพูดจาไม่เข้าหูจนเล่าปี่สั่งตะเพิดไปนั้น ตัวบังทองคงจะได้เห็นธาตุแท้อีกด้านหนึ่งในตัวเล่าปี่แล้ว 
เฉินโซ่วและหลอก้วนจงนั้นต่างบันทึกลักษณะของเล่าปี่ไว้เหมือนกันว่าเป็นคนสุภาพนุ่มนวล พูดจาดี ไม่แสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้า ไม่ว่าจะโกรธ ดีใจ 
ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าเล่าปี่นั้นจริงๆแล้วคิดอะไรอยู่ ตรงจุดนี้เขายังน่ากลัวกว่าโจโฉเสียด้วยซ้ำที่เป็นคนตรงๆ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ หรือโกรธ เกลียดยังไงก็ยังแสดงออกมาทางสีหน้าท่าทาง แต่ว่าเล่าปี่กลับเป็นตรงข้าม ความคิดและแผนการของเล่าปี่แต่ละครั้งนั้นจึงยากที่จะดูออกได้ 
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เล่าปี่นั้นเมื่อได้ร่วมงานกับบังทองมาระยะหนึ่งรู้ว่าจริงๆแล้วบังทองนั้นมีความสามารถแค่ไหน ตัวบังทองเองก็ได้เห็นธาตุแท้ของเล่าปี่แล้ว ต่อไปนี้ก็คงจะไม่เคารพเล่าปี่มากเท่าเดิมอีก ที่สำคัญนั้นเล่าปี่กำลังจะได้เสฉวนอยู่รอมร่อ บังทองก็แทบจะไม่จำเป็นอีกต่อไป แถมบังทองยังมาพูดจาทำให้เป็นที่ขัดใจซะอีก ดังนั้นเล่าปี่จึงเลือกที่จะกำจัดบังทองทิ้ง 
แต่หากสั่งประหารไปล่ะก็เล่าปี่ก็จะเสียภาพพจน์แถมบังทองก็ไม่ได้ทำผิดอะไรให้ต้องถูกประหารด้วย ดังนั้นเล่าปี่จึงใช้แผน "ยืมดาบฆ่าคน" 
อาจจะเป็นเขาเองก็ได้ที่สั่งให้บังทองเป็นทัพหน้าในการเข้าตีเมืองลั่ว แล้วตนก็มอบม้าเต๊กเลาซึ่งคนทั่วไปเขารู้กันดีว่าเป็นม้าประจำตัวของเล่าปี่ เมื่อบังทองนำไปขี่แล้วยืนตระหง่านอยู่กลางกองทัพนั้น พอทหารของเตียวหยิมมองลงมาเห็นม้าสีขาวเทาตัวนี้อยู่กลางกองทัพก็เข้าใจว่าคนที่ขี่คือเล่าปี่จึงระดมยิมธนูมา เท่านี้บังทองก็สิ้นชีพตามความต้องการของเล่าปี่ 
โดยที่มือเล่าปี่ไม่ต้องเปื้อนเลือดแม้แต่หยดเดียว แล้วจากนั้นค่อยร้องไห้ร้องห่มแสดงความเสียดายบังทองแล้วปูนยศย้อนหลังให้ 
ตรงจุดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นซึ่งก็ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นยังมีผู้รู้ท่านอื่นได้เขียนวิเคราะห์ในทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อก็ได้ แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้เช่นกันเมื่อพิจารณาจากหลายแง่มุมทั้งพฤติกรรมของเล่าปี่ที่ผ่านมาและหลังจากได้เป็นใหญ่แล้ว ซึ่งต่างกันมาก 
สรุปแล้วบังทองตัวจริงนั้น นับเป็นคนที่มีความสามารถเยี่ยมยอดแต่โชคร้ายอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเพียงน้อยครั้งเท่านั้น หากดูจากแผนการที่เขาเสนอให้เล่าปี่แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าบังทองมีความรอบรู้ในหลักพิชัยยุทธ์และกลศึกมากมาย อย่างที่ขงเบ้งว่า บังทองนั้นรอบรู้กลศึกมากกว่าตนด้วยซ้ำ เพียงแต่บทบาทของเขาต่อกลียุคมันน้อยนิดสิ้นดี แต่ถึงอย่างไรบังทองก็เป็นชื่อหนึ่งที่ติดอันดับต้นๆในบรรดายอดกุนซือแห่งยุคสามก๊กในฐานะของหงส์อ่อน ผู้มีชื่อเสียงเคียงคู่กับมังกรหลับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 มกราคม 2556 เวลา 23:09

    ขอบคุณมากนะคะ ^^

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ20 กันยายน 2564 เวลา 20:27

    ผมว่าบังทองยอมตาย เพื่อให้เล่าปี่ยึดเเคว้นเสฉวน

    ตอบลบ