วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ตอน 2

จูกัดเหลียง ขงเบ้ง
จูกัดเหลียง ขงเบ้ง
ประวัติ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ตอน 2
มังกรได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตในการรับราชการ และได้รับตำแหน่งที่ใกล้เคียงต่อการเป็นฮ่องเต้มากที่สุด

หลังจากที่พระเจ้าเล่าปี่ ฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์ซู่ฮั่นหรือจ๊กก๊กได้สิ้นพระชนม์ลง อำนาจการปกครองการบริหารและการทหารภายในอาณาจักรที่เพิ่งจะก่อตั้งมาได้เพียงแค่ 2 ปีก็ตกมาอยู่ในมือของขงเบ้งแต่เพียงผู้เดียว

ลักษณะคล้ายกันกับสมัยที่โจโฉรุ่งเรืองเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชของราชวงศ์ฮั่น

แต่ขงเบ้งไม่ได้รับการประณามด่าว่าจากคนรุ่นหลัง แถมยังมีแต่คนสรรเสริญ ไม่เหมือนกับโจโฉ ทั้งที่โจโฉเองก็สร้างคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองไว้ไม่ใช่น้อย

มีอะไรบางอย่างที่ต่างกันหรือ?

ขงเบ้งกับโจโฉ ศัตรูที่เป็นคู่แค้นซึ่งไม่เคยได้เห็นหน้าตากันคู่นี้ มีพฤติกรรมการกระทำหลายอย่างคล้ายกัน ชีวิตในหน้าที่ราชการก็ยังคล้ายกัน นั่นคือมีอำนาจสูงสุดในแคว้นตน เป็นรองเพียงฮ่องเต้ แต่ฮ่องเต้ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
ทั้งคู่ต่างมีจุดต่างและจุดเหมือนที่น่าสนใจยิ่ง ที่ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นพระเอกและผู้ร้ายในนิยายและในประวัติศาสตร์ เพียงเพราะความต่างกันเพียงนิดเดียว

ซึ่งจำต้องนำมาพูดถึง เมื่อได้ดูจากเรื่องราวของขงเบ้งนับจากนี้

ประวัติโดยย่อ (ต่อจากตอนแรก)

หลังจากที่ขงเบ้งได้รับตำแหน่งมหาอุปราชแห่งอาณาจักรจ๊กก๊กแล้ว จากการที่อาเต๊าหรือพระเจ้าเล่าเสี้ยนยังมีอายุน้อยแต่ต้องขึ้นครองราชย์นั้น ทำให้ขงเบ้งกลายเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในอาณาจักร

ทั้งเฉินโซ่วผู้เขียนประวัติศาสตร์สามก๊กและหลอก้วนจงผู้เขียนนิยายสามก๊กต่างบันทึกไว้ตรงกันว่าอำนาจสิทธิ์ขาดการตัดสินใจทุกเรื่องในอาณาจักรเป็นของขงเบ้งแต่ผู้เดียว หรือถ้าพูดกันตรงๆก็คือผู้นำที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

ซึ่งผลกระทบของมันนั้นส่งผลหลายอย่างกับจ๊กก๊กทั้งในทางดีและไม่ดีในอีกหลายสิบปีต่อมาในช่วงก่อนที่ขงเบ้งจะเสียชีวิต รวมไปถึงยุคหลังจากนั้นด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งการล่มสลายของจ๊กก๊กในภายหลังเช่นกัน โดยจะเอาไว้พูดถึงหลังจากนี้

การบริหารจ๊กก๊กในระยะแรกขงเบ้งจำต้องจัดการปัญหาทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
ภายในนั้นเขาต้องทำการจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ด้วยการดึงคนที่มีความสามารถมาเข้ารับตำแหน่งให้เหมาะสม ใครก็ตามที่เขาดูแล้วว่ามีความสามารถและมีไหนพริบดี ถึงแม้จะรับราชการในตำแหน่งเล็กๆ เขาก็จะเลื่อนขึ้นไปให้ตำแหน่งที่สูงขึ้นทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้ยุ่งยาก

เช่นเจียวอ้วนซึ่งเดิมทีเป็นเพียงแค่นายอำเภอเล็กๆ แต่เป็นคนมีสติปัญญาและความสามารถในการบริหาร แม้จะเป็นคนที่มีข้อเสียในเรื่องขี้เหล้า จนเคยถูกเล่าปี่สั่งลดหน้าที่การงานไปครั้งหนึ่ง ขงเบ้งก็ดึงกลับเข้ามารับราชการที่ส่วนกลาง และในภายหลังก็ได้เป็นผู้รับสืบทอดอำนาจการบริหารและการปกครองของจ๊กก๊กต่อมาหลังจากที่ขงเบ้งตายลง

นอกจากนี้ขงเบ้งยังใช้วิธีการดึงเอานักวิชาการและคนดังให้เข้ามารับราชการ ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีอายุมากเกินหรือไม่สามารถทำงานอะไรให้ได้มากแล้ว แต่การทำเช่นนี้ก็สามารถที่จะทำให้ซื้อใจพวกนักวิชาการหรือคนเก่งๆอีกหลายคนให้อยากมาทำงานด้วยได้ นับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ได้ผลของขงเบ้ง

ในด้านกองทัพก็ต้องมีจัดการระเบียบและกำลังกันใหม่ และ 5 ห้าทหารเสือซึ่งเป็นขุนพลอันดับหนึ่งของก๊กซึ่งประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตงนั้น เมื่อมาถึงสมัยที่ขงเบ้งเป็นอุปราช ก็เหลืออยู่เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นคือจูล่ง แต่ก็เขาแก่มากแล้ว

หากไม่นับจูล่งซึ่งกลายเป็นขุนพลเฒ่าไปแล้วนั้น ขุนพลที่เก่งที่สุดและมียศตำแหน่งเป็นรองเพียงแค่ขงเบ้งในเวลานั้นก็คืออุยเอี๋ยน

ส่วนระดับรองๆลงมานั้นแม้จะมีหลายคน แต่ก็ไม่ค่อยจะมีชื่อเสียงมากนักเพราะหากเทียบกับวุยก๊กและง่อก๊กแล้ว จ๊กก๊กค่อนข้างจะขาดแคลนขุนพลที่รบเก่งอยู่พอสมควร

การสรรหาหรือสร้างคนดีมีความสามารถมาทำงานรับใช้บ้านเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ขงเบ้งได้เคยพูดไว้และพยายามทำมาตลอดในช่วงชีวิตทั้งหมด และเขาก็ได้คนมีฝีมือที่พอจะทำงานได้ดีมาหลายคน แต่ในคนเหล่านั้นก็มีข้อเสียที่เขามองข้ามซึ่งส่งผลกระทบแก่อาณาจักรในภายหลังเหมือนกัน

จะว่าไปแล้ว การคัดคนของขงเบ้งนั้นมีจุดบกพร่องอยู่เหมือนกัน จะเป็นอคติส่วนตัวหรืออะไรก็ตามแต่ ผลเสียในหลักการของขงเบ้งนั้นนับว่ามีผลมากทีเดียว นั่นคือส่วนใหญ่แล้วคนเก่งที่ขงเบ้งได้สรรหาและปลุกปั้นขึ้นมานั้น มักจะเป็นคนของฝ่ายบุ๋นเสียมากกว่าฝ่ายบู๋

ขงเบ้งนั้นชื่นชอบผู้มีปัญญาโดยเฉพาะผู้ที่เป็นบัณฑิต อาจเพราะเขาเองก็เคยเป็นบัณฑิตมาก่อน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเน้นคนที่มีความฉลาดและปัญญามาก่อน จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการประพฤติตัวและธรรมจริยา ส่วนความสามารถในการทำศึกนั้นเขามองไว้ค่อนข้างต่ำ อาจเพราะเขามีความเชื่อมั่นว่าลำพังตัวเขาคนเดียวก็สามารถวางแผนการศึกได้

ซึ่งนั่นทำให้เขามองเหล่าขุนพลที่ใช้พละกำลังเป็นหลักไม่ค่อยขึ้น และส่งผลให้อาณาจักรในช่วงเวลาของเขาและหลังจากนั้น ขาดแคลนขุนศึกที่ชำนาญในการรบอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำศึกไม่หยุดหย่อนในยุคของเขาที่ทำให้นายทหารและแม่ทัพที่มีฝีมือล้มตายไปมาก

เรื่องในช่วงหลังขงเบ้งตายผมยังไม่พูดถึงละกันเดี๋ยวจะข้ามขั้นตอน เอาเป็นว่าผมจะขอแนะนำบุคลากรสำคัญในสมัยของขงเบ้งอย่างคร่าวๆแล้วกัน คนเหล่านี้มีทั้งฝ่ายบู๋และบุ๋น ซึ่งจะหนักไปทางบุ๋นซะมากกว่า พวกเขาทุกคนล้วนเป็นคนที่ทำงานในสมัยของขงเบ้ง และมีชื่ออยู่บ้างพอสมควรในประวัติศาสตร์สามก๊ก ซึ่งมีบางคนที่ตกค้างมาจากสมัยเล่าปี่ด้วย
เอียวหงี เป็นเลขาธิการในกองทัพ คนๆนี้มีความสามารถพอตัวในเรื่องการบริหารงานภายใน เป็นผู้ติดตามขงเบ้งตั้งแต่แรกจนกระทั่งถึงศึกสุดท้ายของขงเบ้ง แม้จะมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ แต่เขาก็มีข้อเสียตรงนิสัยเย่อหยิ่ง และกลายเป็นคู่ปรับกันกับอุยเอี๋ยนจนกระทั่งขงเบ้งตายลง

ม้าเจ๊ก เป็นน้องชายของม้าเลี้ยงซึ่งมีความสนิทสนมกับขงเบ้งมาตั้งแต่เขายังเด็กๆ ขงเบ้งรักและเอ็นดูเหมือนน้องชาย เป็นคนที่มีฝีปากไว มีไหวพริบและมีความรอบรู้ในตำราพิชัยสงครามสูง แต่เขาขาดประสบการณ์ในการรบและการคุมทัพ อีกทั้งยังมีข้อเสียสำคัญคือเป็นคนที่ชอบคุยโอ้อวดเกินจริง

เคาเจ้ง เป็นข้าราชการคนดังคนหนึ่งในเสฉวน แต่ไม่ได้มีความสามารถดีเด่นอะไรมากนัก ขงเบ้งดึงมารับราชการเพราะหวังว่าจะช่วยทำให้คนเก่งๆและนักวิชาการชื่อดังเข้ามาทำงานให้

ตังอุ๋น เป็นนักปกครองที่มีความสามารถคนหนึ่ง และมีความเข้มงวดในเรื่องความประพฤติ เขาเป็นคนที่คอยสั่งสอนพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้ทำความดี เขาเป็นหนึ่งในคณะเสนาบดีที่คอยบริหารงานภายในประเทศหลังจากขงเบ้งตายลง
ม้าต้าย เป็นน้องชายของม้าเฉียว มีความสามารถและประสบการณ์ในการรบมาก เป็นแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งในทัพของจ๊กก๊ก ขงเบ้งนิยมใช้เขาในงานสำคัญๆ

งออี้ เป็นเขยของเล่าปี่ มีตำแหน่งสูงทางการทหารมากในจ๊กก๊ก แม้จะไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นอะไร แต่ก็เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อใจอย่างสูงในเสฉวน

ลิเงียม คนนี้เป็นคนดังมากในเสฉวนและยังมีตำแหน่งสูงพอๆกันกับขงเบ้ง เพราะเป็นหนึ่งในขุนนางสำคัญที่เล่าปี่ได้ฝากฝังบ้านเมืองไว้เช่นเดียวกับขงเบ้ง ซึ่งในสมัยที่เล่าปี่เข้ามาที่เสฉวนใหม่ๆนั้นเขาเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านอย่างรุนแรงไม่ให้เล่าเจี้ยงรับเล่าปี่เข้ามา แต่หลังจากที่เล่าปี่เข้ามาในเสฉวนได้แล้วก็ได้ดึงเขามาเป็นพวก เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการรับราชการมายาวนานและได้รับความเชื่อใจในหมู่ข้าราชการของเสฉวนอย่างมาก แม้แต่ขงเบ้งเองก็ยังต้องเกรงใจเขามากในระยะแรก แต่ในภายหลังถูกขงเบ้งปลดจากตำแหน่งเพราะทำงานส่งเสบียงผิดพลาด

ต่อมาเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถค่อนข้างโดดเด่นกว่าใครอื่นในจ๊กก๊ก และมีผลงานเป็นที่ยอมรับมาก จนเป็นที่รู้จักแม้กระทั่งกับวุยและง่อก๊ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่เป็นเสาหลักของแผ่นดินในระยะหลังได้เหมือนกัน

อองเป๋ง เดิมทีเป็นขุนพลฝ่ายวุยก๊กแต่มาสวามิภักดิ์กับเล่าปี่เมื่อครั้งศึกที่ฮันต๋ง และได้สร้างผลงานไว้พอควร หลังจากเล่าปี่ตายลง พอถึงยุคสมัยที่ขงเบ้งปกครอง เขากลับไม่ได้รับการสนใจมากนักเพราะตัวเขานั้นมีข้อด้อยอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือเขาเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือ แต่ว่าในด้านประสบการณ์การรบนั้น ต้องถือว่าเขามีมากพอตัว เพราะเขามีความเชี่ยวชาญในภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงสลับซับซ้อนของดินแดนฮันต๋งมาก ภายหลังจากศึกเขากิสานอันเป็นศึกครั้งแรกที่ขงเบ้งได้นำทัพเข้าตีวุยก๊กนั้น แม้ทัพจ๊กก๊กจะเป็นฝ่ายแพ้ยับเยินและต้องถอยร่นกลับมา แต่ตัวเขาเองนั้นกลับได้แสดงความรู้ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในหมู่แม่ทัพนายทหารและได้รับการจัดเข้าเป็นหนึ่งในขุนพลสำคัญของก๊กนับแต่นั้น ในภายหลังจากที่ขงเบ้งตายลง เขาก็ได้รับตำแหน่งสำคัญในการเฝ้ารักษาเมืองฮันต๋งอันเป็นเมืองปราการหน้าด่านที่สำคัญที่สุดของจ๊กก๊ก และก็สามารถรักษาเมืองฮันต๋งให้อยู่รอดปลอดภัยจากการรุกรานภายนอกมาได้ตลอดในช่วงชีวิตของเขา
เตงจี๋ เป็นทูตนักเจรจาอันดับหนึ่งของจ๊กก๊ก ได้สร้างผลงานยิ่งใหญ่ในการช่วยเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กซึ่งกำลังมีปัญหากันให้กลับมาเป็นมิตรกันเช่นเดิม จนซุนกวนผู้นำแห่งง่อก๊กเองถึงกับออกปากชมว่าถ้าให้เตงจี๋เป็นทูตเจรจาที่ไหน รับรองว่าไม่มีผิดหวัง นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาแล้ว เขายังมีความกล้าและความสามารถในการนำทัพออกศึกได้อีกด้วย เพราะเคยเป็นรองแม่ทัพคอยติดตามจูล่งออกศึกมาในการศึกที่เขากิสานครั้งแรก ทำให้ได้ประสบการณ์และเรียนรู้วิธีการทำศึกจากจูล่งมาพอสมควร ถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญอย่างมากคนหนึ่งของจ๊กก๊กในสมัยของขงเบ้งและยุคหลังจากนั้นเพราะมีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๋พร้อมกัน ซึ่งในจ๊กก๊กยุคหลังนั้นหาคนเชี่ยวชาญทั้งสองอย่างได้ยากมากจริงๆ หลังขงเบ้งตายลงเขาได้รับตำแหน่งเป็นนายพลผู้พิทักษ์รักษานครเฉิงตูอันเป็นเมืองหลวงของจ๊กก๊กจนกระทั่งตายลง

บิฮุย บุคคลนี้คือเสาหลักแห่งการปกครองและการบริหารภายในจ๊กก๊กยุคหลังตัวจริง เขาเป็นคนที่มีความสามารถสูงในการบริหารภายในและการเจรจา กล่าวกันว่าด้านความสามารถนั้นถือว่าพอๆกันหรืออาจจะมากกว่าเจียวอ้วนซึ่งเป็นผู้สืบทอดอำนาจของขงเบ้งด้วยซ้ำ เป็นคนมีบุคลิกสุภาพอ่อนน้อมและเป็นนักประนีประนอมชั้นดีคนหนึ่ง ในภายหลังเขาได้สืบทอดอำนาจการบริหารแผ่นดินต่อจากเจียวอ้วน และเป็นผู้กุมอำนาจฝ่ายพลเรือนตัวจริงในยุคหลังของจ๊กก๊กและทำหน้าที่ได้ดี จนชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักไปยังอีกสองก๊กที่เหลือ ผลงานสำคัญคือการที่สามารถพัฒนาจ๊กก๊กยุคหลังขงเบ้งให้มีสภาพฟื้นตัวมากพอที่จะป้องกันการรุกรานจากวุนก๊กได้ ทั้งนี้เพราะในยุคของขงเบ้งนั้นเป็นช่วงที่ต้องสูญเสียไพร่พลและทรัพยากรในจำนวนมากมายมหาศาลไปกับการศึกสงครามที่ต่อเนื่องกันแทบทุกปี ภายหลังเสียชีวิตลงเพราะถูกลอบสังหาร

เตียวหยี คนนี้ไม่ค่อยดังเท่าไหร่นักหากเทียบกับคนอื่นๆ แต่ผลงานที่เขาได้ทำไว้นั้น ถือว่ามีความสำคัญต่อจ๊กก๊กมาก โดยเขาเป็นผู้ที่มีหน้าที่พิเศษในการปราบปรามความไม่สงบอันเกิดจากการลุกฮือขึ้นของพวกชนเผ่าหมานซึ่งเป็นชนเผ่าทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และต้องคอยทำหน้าที่นั้นมาตลอดช่วงชีวิตการรับราชการทหาร เขาใช้วิธีการทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนในการปราบปรามพวกชนป่าเถื่อน จนตัวเขาเป็นที่หวาดกลัวและเคารพนับถือของพวกเผ่าทางใต้และตะวันตกมาก และต้องใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตในการอยู่ที่ดินแดนของพวกชนป่าเถื่อน ต่อมาขงเบ้งเรียกตัวให้ไปช่วยการศึกทางเหนือและได้พลีชีพในสนามรบ

สำหรับอุยเอี๋ยนกับเกียงอุย ซึ่งเป็นสองขุนพลใหญ่ที่เป็นเสาหลักของจ๊กก๊กในสมัยของขงเบ้งและหลังขงเบ้งตายนั้นนั้นผมจะไม่พูดถึงละกันนะ เพราะว่าจะเตรียมทำเรื่องของพวกเขาแยกออกมาต่างหากในภายหลัง

ยังมีบุคลากรอีกมากมายที่ได้รับราชการในสมัยของขงเบ้งและสร้างผลงานเด่นๆไว้คนละอย่างสองอย่าง แต่ก็ไม่ดังเท่าไหร่นัก ยิ่งโดยเฉพาะบุคลากรฝ่ายบู๋นั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเลยว่าในสมัยของขงเบ้งและหลังไปนั้นมีอยู่เพียงแค่อุยเอี๋ยน เกียงอุย อองเป๋ง และเตียวหยี เท่านั้นที่พอจะมีความสามารถโดดเด่นในระดับที่เป็นแม่ทัพหน้านำทัพออกศึกได้ จนตัวของขงเบ้งเองก็ยังเคยน้อยใจและรำพันว่าจ๊กก๊กขาดแคลนแม่ทัพที่มีความสามารถ

การขาดแม่ทัพที่เก่งกาจนี้ ต้องถือว่าขงเบ้งมีส่วนผิดด้วยเช่นกันที่ไม่สามารถที่จะสร้างนายทหารชั้นยอดขึ้นมารับภารกิจในกองทัพได้ หากเราตรวจดูประวัติกันจริงๆแล้วจะพบว่า มีเพียงเกียงอุยคนเดียวเท่านั้นที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นขุนพลที่ขงเบ้งได้สร้างขึ้นมา แต่กระนั้นเกียงอุยเองก็ไม่ได้เกิดจากการสร้างของขงเบ้งเต็มร้อย เพราะเดิมทีเกียงอุยเป็นทหารของวุยก๊กที่ขงเบ้งไปพบเข้าโดยบังเอิญ และทึ่งในความสามารถจึงชวนให้มาอยู่ด้วย

ส่วนอุยเอี๋ยนนั้นเดิมเป็นทหารของเล่าปี่ที่มาจากชนชั้นผู้น้อย ซึ่งถ้าในนิยายนั้นบอกว่าเป็นแม่ทัพที่มาสวามิภักดิ์พร้อมกับฮองตง ในขณะที่อองเป๋งเองก็เป็นทหารของวุยก๊กที่มาสวามิภักดิ์เช่นกัน

มีเตียวหยีที่เราพอจะพูดได้ว่าเป็นคนดั้งเดิมของจ๊กก๊ก แต่ก็ไม่ได้เป็นคนที่เกิดจากผลงานการสร้างของขงเบ้ง อ้อ...มีเตงจี๋อีกคนที่พอจะพูดได้ว่าเกิดจากการดันของขงเบ้ง แต่หนักไปในทางการทูตซะมากกว่า สำหรับด้านการศึกนั้นขงเบ้งไม่ได้ใช้งานเขามากนัก เพราะความจริงแล้วเขาเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น แต่ที่ได้ทางบู๋ด้วยเพราะเคยมีประสบการณ์ในการเป็นรองแม่ทัพให้จูล่งมาครั้งหนึ่ง

คนที่เป็นเด็กสร้างของขงเบ้งในทางการทหารชนิดเต็มร้อยแท้จริงแล้วคือม้าเจ๊ก ซึ่งก็เหมาะกับงานเสนาธิการมากกว่า เพราะผลงานการศึกของเขานั้นถือว่าแย่มาก และส่งผลให้ต้องพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในศึกที่กิสาน กลายเป็นรอยด่างในประวัติการศึกของขงเบ้งอย่างที่ไม่มีวันลบได้ด้วย

สรุปแล้วหลักในการใช้และคัดคนของขงเบ้งนั้นมีข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเอง นั่นก็คือขงเบ้งมีความเข้มงวดต่อคนที่เขาเลือก เขาเรียกร้องให้คนของเขานั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้วยังต้องมีคุณธรรมและศีลธรรมดีพร้อม ซึ่งการจะมีครบเครื่องเลยนั้นเป็นเรื่องยาก เขาลืมคิดไปว่าคนเราไม่ว่าใครก็ยากที่จะดีพร้อมทุกอย่างไปหมด แต่ละคนย่อมมีข้อเสียและจุดด้อยอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ขงเบ้งยังยึดหลักการปกครองที่เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ นั่นคืออำนาจการตัดสินใจไม่ว่าจะเรื่องใหญ่น้อยในอาณาจักร รวมถึงการวางแผนในการทำศึกสงครามนั้น เขาจะรับทำเองทั้งหมด โดยไม่ยอมปล่อยให้คนอื่นๆได้คิดและแสดงผลงานบ้าง ด้วยความที่กลัวว่าคนอื่นๆจะทำงานไม่เต็มที่หรือไม่ดีพอ อันเป็นหลักการใช้คนที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ และส่งผลอย่างหนักหน่วงต่ออาณาจักรหลังจากที่เขาตายไปแล้ว เพราะการปกครองแบบเผด็จการนี้มันเป็นการทำให้เหล่าขุนนางไม่กล้าแสดงความเห็นอะไร หรือคิดอะไรด้วยตนเอง จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องรอขงเบ้งคิดแผนและสั่งให้ไปทำ

ในเรื่องความสามารถในการปกครองนั้น แน่นอนว่าขงเบ้งคงจะเป็นที่หนึ่งในจ๊กก๊ก และเป็นอันดับต้นๆของยุคสามก๊ก แต่ในเรื่องของการใช้คนให้ถูกกับงานและการใช้ประมุขศิลป์นั้นเขายังเป็นรองโจโฉ ซุนกวน หรือแม้กระทั่งเล่าปี่อยู่มากมาย

ในด้านการปกครองนอกจากนี้นั้น ขงเบ้งยังได้ปรับปรุงระบบกฎหมายของจ๊กก๊กเสียใหม่ โดยเพิ่มความเด็ดขาดและแน่นอนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความมีวินัยขึ้นมาในหมู่ทหารและพลเรือน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ขงเบ้งได้รับการยอมรับจากนักปกครองจำนวนมากว่าเป็นผู้ที่มีความเด็ดขาดเที่ยงตรงและยุติธรรม ในตรากฎหมายของจ๊กก๊กที่ขงเบ้งเป็นหัวเรือในการร่างร่วมกับคณะปกครองอีกห้าคนของจ๊กก๊กนี้ ยังคงมีชื่อเสียงต่อมาในฐานะตรากฎหมายที่ยอดเยี่ยมของยุคนั้น
ในด้านความเป็นอยู่ของผู้คนในรัฐ โดยเฉพาะการเกษตรและการพัฒนาผลผลิต ขงเบ้งก็ไม่มองข้าม จ๊กก๊กเป็นรัฐที่อยู่อาศัยในภูมิประเทศเขาสูงสลับซับซ้อน การเดินทางคมนาคมเป็นไปอย่างลำบาก แต่กลับมีผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ขนาดสามารถปลูกข้าวเลี้ยงผู้คนได้ 1 ใน 3 ของประเทศจีนทั้งหมด ขงเบ้งจึงคิดค้นการปรับปรุงการชลประทานโดยการใช้ระหัดวิดน้ำเข้าช่วย

สำหรับด้านการจัดการกองทัพนั้น ขงเบ้งยังคงยึดวิธีการฝึกฝนทหารโดยการใช้ค่ายกลที่ตนคิดค้นและปรับปรุงดัดแปลงจากค่ายกลแบบโบราณมาเข้าช่วย ดังนั้นกองทหารของจ๊กก๊กในช่วงที่ขงเบ้งเป็นผู้ฝึกฝนนี้จึงมีความเจนจัดในการศึกและสามารถที่จะสู้กับทหารของวุยที่มีจำนวนมากกว่าได้ ขงเบ้งเองยังได้แต่งและรวบรวมพิชัยสงครามขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกโดยเฉพาะ รวมได้ทั้งหมด 24 บท ซึ่งภายหลังได้ส่งมอบให้เกียงอุยรับไป

เกี่ยวกับพิชัยยุทธ์ขงเบ้งนี้ เคยมีการวิเคราะห์และวิจารณ์ว่าอาจจะไม่ใช่ผลงานโดยตรงของขงเบ้ง แต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังหรือผู้นิยมในขงเบ้งเป็นผู้เรียบเรียงและยกย่องให้ขงเบ้งเป็นผู้แต่ง ตรงจุดนี้ผู้เขียนเคยลองศึกษาค้นคว้าดูในระดับหนึ่ง พบว่าพิชัยยุทธ์ของขงเบ้งโดยเฉพาะในส่วนของค่ายกลและหลักการฝึกทหารนั้นน่าจะเป็นของจริง อาจจะไม่ถึงกับทั้งหมด เพราะมีการนำเอาพิชัยยุทธ์โบราณมาปรับปรุงดัดแปลงเพิ่มเติม แต่ก็นับว่าเป็นผลงานชื่อดังของขงเบ้งเช่นกัน
เกี่ยวกับข้อมูลและอ้างอิงในส่วนนี้ที่พอจะใช้ได้ก็มาจากคำกล่าวและข้อความในบันทึกพิชัยสงครามหลี่จิ้ง อันเป็นพิชัยสงครามชื่อดังฉบับหนึ่งในสมัยถัง อันเกิดหลังสามก๊กไปหลายร้อยปี หลี่จิ้งนั้นเป็นแม่ทัพในสมัยถังที่ได้รับการยกย่องว่าไร้พ่าย โดยพิชัยยุทธ์เล่มนี้เกิดจากการบันทึกเอาบทสนทนาโต้ตอบระหว่างเขาและหลี่ซื่อหมินหรือฮ่องเต้ถังไท่จงนั่นเอง ตัวถังไท่จงนั้นก็เป็นฮ่องเต้ที่ปรีชาในด้านการศึกอย่างมาก รบชนะศึกมานับไม่ถ้วน โดยในพิชัยยุทธ์ฉบับนี้แบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือบันทึกกการสนทนาการศึกหลังจากที่ถังไท่จงรวมประเทศได้ใหม่ๆ ส่วนที่สองคือช่วงหลังจากที่หลี่จิ้งเป็นแม่ทัพใหญ่และนำกองทัพถังบุกไปเอาชนะชนเผ่าถูเจี๋ยที่นอกด่านได้ อันเป็นแม่ทัพเพียงไม่กี่คนของจีนที่ทำได้แบบนั้นในประวัติศาสตร์

ในพิชัยสงครามหลี่จิ้งซึ่งเป็นการถาม-ตอบระหว่างตัวเขาและถังไท่จงฮ่องเต้นั้น ถังไท่จงมักเป็นผู้ถามถึงหลักการพิชิตศึกและการปฏิบัติของขุนพลและการใช้ทหารเป็นส่วนมาก รวมถึงข้อซักถามถึงการใช้กลยุทธ์ในการศึกต่างๆ และมักจะอ้างถึงเรื่องราวในสามก๊กมาใช้ โดยในคำอธิบายของหลี่จิ้งต่อถังไท่จงนั้น หลายครั้งจะพูดถึงหลักการฝึกทหารและค่ายกลแปดทิศอันเป็นสิ่งที่เขาได้ศึกษามาจากพิชัยสงครามขงเบ้ง ซึ่งเขาได้นำมาปรับปรุงและดัดแปลงให้เข้ากับสภาวะในตอนนั้นอีกที นอกจากนี้ยังมีการตีแผ่ถึงเนื้อความและแนวคิดในตำราเมิ่งเต๋อเซินซูของโจโฉอีกด้วย อันเป็นการแสดงว่าตำราพิชัยสงครามของโจโฉที่ว่ากันว่าถูกเผาไปหมดนั้น แท้จริงยังมีฉบับคัดลอกตกทอดมาอยู่

ในความเห็นของหลี่จิ้งแม่ทัพไร้พ่ายนั้น พิชัยยุทธ์ของขงเบ้งเน้นที่การฝึกฝน วินัยทหารและการใช้ค่ายกลเป็นหลักใหญ่ หากว่าพิชัยยุทธ์ขงเบ้งเป็นของจริง แสดงว่าตัวขงเบ้งเป็นคนที่ยึดถือในเรื่องระเบียบวินัยสูงมาก และในเรื่องการฝึกทหารนั้น หลี่จิ้งยังเคยกล่าวไว้ในตำรานี้ว่า เขายึดหลักการฝึกทหารและค่ายกลมาจากตำราขงเบ้งเป็นส่วนมาก ส่วนตำราของโจโฉนั้น เมื่อศึกษาอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วพบว่ามีจุดบอดหลายจุด แต่นั่นไม่ใช่เพราะว่าตัวตำราหรือโจโฉผู้เขียนนั้นสู้ขงเบ้งไม่ได้ แต่เพราะในตำราของโจโฉซึ่งเน้นการตีความพิชัยยุทธ์ซุนหวู่นั้นมีลักษณะการเขียนในแนวทางที่หลอกคนอ่านซะมาก เรียกว่าถ้าศึกษาพิชัยยุทธ์โจโฉแบบผิวเผินละก็ เตรียมตัวแพ้ในสงครามได้เลย

จากการวิเคราะห์ ในเมื่อหลี่จิ้ง ขุนพลรุ่นหลังของราชวงศ์ถังที่เก่งกาจไร้พ่าย ยังใช้พิชัยยุทธ์ขงเบ้งเป็นแบบแผนหลักในการฝึกฝนทหารและสามารถใช้อธิบายหลักการศึกให้ถังไท่จงฟังจนยอมรับได้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงพอพูดได้ว่าพิชัยยุทธ์ของขงเบ้งเป็นของจริง แต่หากจะถามว่าเหตุใด ในภายหลังตัวขงเบ้งหรือกระทั่งเกียงอุยที่รับมอบตำราต่อมาจึงไม่อาจเอาชนะศึกการปราบวุยก๊กได้เลยนั้น คงพอจะอธิบายได้ว่าตัวขงเบ้งที่แท้แล้วเก่งในด้านการจัดการภายในมากกว่าการนำทัพออกศึก หรือไม่ก็ตัวเขาเองนั้นไม่อาจประยุกต์หลักการศึกที่ตนคิดค้นหรือรวบรวมขึ้นมาให้ใช้การได้ดีกว่าแม่ทัพนายทหารที่ผ่านการศึกมาอย่างโชกโชนจริงๆ

หรือจะพูดว่าขงเบ้งนั้นสมควรเป็นนักการปกครองมากกว่านักการทหารก็ได้

เมื่อพูดถึงการจัดการภายในและการทหารผ่านพ้นไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งซึ่งขงเบ้งต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วนหลังจากได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็คือการจัดการกับภายนอก

นั่นคือการผูกมิตรกับง่อก๊กของซุนกวนใหม่อีกครั้ง และการเตรียมรับศึกกับวุยก๊กของโจผี
จากเรื่องราวในตอนที่แล้ว ซึ่งเล่าปี่ได้ยกทัพไปทำศึกอิเหลงกับซุนกวนจนต้องเสียทหารไปกว่าเจ็ดแสนนั้น ทำให้พันธมิตรระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ หลังจากที่ที่ขงเบ้งขึ้นมารับตำแหน่งบริหารประเทศ เขาได้ครุ่นคิดอยู่นานในการที่จะหาทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีให้กลับมาดังเดิม เพราะในการจะต่อต้านวุยก๊กนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นพันธมิตรกับง่อก๊ก

โชคยังดีที่เขาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการค้นพบทูตที่จะไปเจริญสัมพันธไมตรีโดยบังเอิญ นั่นก็คือเตงจี๋
เตงจี๋ได้จัดการไปเป็นทูตเจรจาที่ง่อก๊กได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการพูดจาโต้ตอบฉะฉานซึ่งมีทั้งความกล้าหาญหนักแน่น และการรู้จักโอนอ่อนด้วยความสุภาพ จนกระทั่งซุนกวนเองยังต้องออกปากชมว่าหากให้เตงจี๋ไปเป็นทูตที่ไหนรับรองไม่ผิดหวัง ซึ่งด้วยความสามารถของเตงจี๋ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก๊กกลับมาดีกันดังเดิมและนับจากนั้นจ๊กก๊กและง่อก๊กก็เป็นมิตรที่ดีต่อกันโดยไม่เคยล่วงละเมิดกันอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อจัดการกับเรื่องง่อก๊กไปแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องแก้ปัญหาคือการรุกรานของชนเผ่าหมานทางตอนใต้
ขงเบ้งคิดที่จะนำกองทัพตีขึ้นเหนือเพื่อจัดการกับวุยก๊กแต่ว่าก็ไม่อาจจะยกทัพไปได้ เพราะดินแดนทางตอนใต้นั้นมักจะประสบปัญหาจากการรุกรานของพวกเผ่าหมานอยู่บ่อยครั้ง เขาจึงคิดที่จะจัดการกับพวกหมานให้ราบคาบก่อนที่จะรุกขึ้นเหนือ

พวกหมานนั้นเป็นชนเผ่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าดงพงไพรและถ้ำต่างๆทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เคยมีนักวิชาการสงสัยว่าพวกหมานนี้จะเป็นบรรพบุรุษของชาวไทย เพราะว่าในภายหลังได้มีชาวเผ่านี้อพยพลงมาทางตอนใต้ของจีนเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะได้มาตั้งรกรากอยู่ในดินแดนของประเทศไทยเมื่อกว่า 2000 ปีก่อน

ผู้นำของพวกหมานนั้นมีหลายคน แต่คนที่เป็นผู้นำสูงสุดนั้นชื่อว่าเบ้งเฮ็ก ซึ่งผมคาดว่าคนอ่านสามก๊กคงจะรู้จักกันดี
กรณีการศึกกับเบ้งเฮ้กนี้ เป็นสิ่งที่ใครหลายคนว่ากันว่าเป็นความยอดเยี่ยมของขงเบ้งที่สามารถสยบคนป่าเหล่านี้ลงได้อย่างราบคาบ และสามารถทำให้พวกเขาอ่อนน้อมต่อจ๊กก๊กได้ โดยที่พวกคนป่าเหล่านี้มิได้ลุกขึ้นมาสร้างความวุ่นวายอีก
ในนิยายสามก๊กบอกว่าม้าเจ๊กได้เสนอความเห็นในการจัดการกับคนป่าเหล่านี้ไว้ว่า ควรใช้การโจมตีที่ใจ นั่นคือการหาทางทำให้พวกเบ้งเฮ็กยอมสยบต่อจ๊กก๊กด้วยใจเอง จะเป็นการทำให้พวกเขาไม่คิดลุกขึ้นมาทำความวุ่นวายอีก และขงเบ้งก็เห็นดีด้วยในความคิดนี้

แต่ในทางปฏิบัตินั้น...มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย สิ่งอยู่ในประวัติศาสตร์สามก๊กและในนิยายนั้นได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ขงเบ้งนำกองทหารที่มีจำนวนมากกว่าคนป่าเหล่านี้หลายเท่าลงใต้ไปบุกขยี้จนคนเหล่านี้ต้องล้มตายเป็นเบือ
ในนิยายบอกว่าขงเบ้งใช้วิธีการและแผนมากมายในการจับเบ้งเฮ็กถึงเจ็ดครั้ง และปล่อยถึงหกครั้งเพื่อให้เบ้งเฮ็กไปนำกำลังกลับมาสู้ใหม่เรื่อยๆ เป็นการสยบเบง้เฮ็กทั้งกายและจิตใจ

หลายคนยกย่องขงเบ้งที่สามารถจับเบ้งเฮ็กได้ถึงเจ็ดครั้งและใจกว่างที่ปล่อยไปเรื่อยๆ แต่หากมองให้ดี นี่เท่ากับเป็นการหลอกให้เบ้งเฮ็กเอาคนมาให้ขงเบ้งฆ่า.....

ทั้งเจ็ดครั้งที่จับเบ้งเฮ็กได้ ขงเบ้งได้สั่งฆ่าชนเผ่าหมานไปจำนวนมากจนแทบจะสูญพันธุ์ และสุดท้ายเบ้งเฮ็กก็ต้องยอมจำนน สาเหตุที่ยอมนั้นแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะยอมสยบให้ขงเบ้ง แต่อีกอย่างหนึ่งก็เพราะเผ่าของตัวเองกำลังจะพินาศอยู่รอมร่อ....

โจโฉโดนประณามจากผู้คนเพราะอำมหิตในการจัดการกับศัตรู แล้วขงเบ้งเล่า โจโฉฆ่าคนไปมากมายเพื่อเป้าหมายในการรวมแผ่นดิน ขงเบ้งเองก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย ถ้าหากว่าขงเบ้งต้องการทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งในแผนการรวมแผ่นดินแล้ว นี่มันจะต่างจากโจโฉตรงไหน

ผมกล้าพูดได้เลยว่าขงเบ้งคือหนึ่งในคนที่...ฆ่า...ผู้คนให้ล้มตายมากที่สุดในยุคสามก๊ก พอๆหรืออาจจะมากกว่าโจโฉที่เราว่าเป็นคนอำมหิต

ในการฆ่าครั้งสุดท้ายต่อเผ่าหมานนั้น ขงเบ้งถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาว่านี่เป็นฆาตกรรมที่ใหญ่หลวงที่สุดของเรา ขงเบ้งนั้นก็คงรู้ตัวดีเช่นกันว่าผลจากการวางแผนในการฆ่าคนของตัวเองนั้นจะทำให้ตัวเขาไม่ได้รับผลสนองที่ดีในบั้นปลาย
เมื่อถล่มพวกเบ้งเฮ็กแล้ว ขงเบ้งก็กวาดต้อนเอาผู้คนและทรัพย์สินเงินทองกับไปยังจ๊กก๊ก สำหรับเผ่าหมานที่เหลือนั้น ขงเบ้งใช้วิธีการแต่งตั้งพวกเบ้งเฮ็กที่ยอมสวามิภักดิ์ให้ทำการปกครองดูแลกันเอง ซึ่งในนิยายนั้นเล่าว่าจากนั้นชนเผ่าทางใต้ก็ไม่ก่อการอะไรอีก แต่ความเป็นจริงแล้ว การลุกฮือยังคงมีอยู่มาตลอดหลายปีหลังจากนั้น และขงเบ้งต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งเตียวหยีซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญในการปราบปรามพวกคนเถื่อนให้ไปประจำการอยู่ในพื้นที่แถบนั้น และตัวเตียวหยีเองก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงชีวิตของเขาในการปราบความไม่สงบ ด้วยการใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน และยังพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกคนดอยเหล่านี้ให้ดีขึ้นมามาก

หลังจากปราบคนป่าเถื่อนไปได้ไม่นาน ขงเบ้งก็ตระเตรียมกำลังกองทัพเพื่อรุกรานขึ้นเหนือ ซึ่งคู่ต่อสู้ในคราวนี้มีความแข็งแกร่งผิดจากพวกเบ้งเฮ็กมากนัก นั่นคืออาณาจักรวุยก๊ก

ขงเบ้งเกณฑ์ไพร่พลไปจำนวนมาก และเข้ายึดหัวเมืองต่างๆได้ 3 จังหวัด และจ่อประชิดเมืองเตียงอัน อันเป็นเมืองสำคัญของฝ่ายวุยก๊กที่เป็นปราการสำคัญทางภาคตะวันตกและในช่วงนี้ก็ได้ค้นพบเกียงอุยซึ่งเป็นนายทหารชายแดนฝ่ายวุยแต่เชี่ยวชาญการศึกเข้าโดยบังเอิญ ขงเบ้งจึงวางแผนเกียงอุยยอมสวามิภักดิ์ และรับเป็นศิษย์ถ่ายทอดวิชาต่างๆให้จนหมด ซึ่งในภายหลังก็ได้เป็ผู้สืบทอดอำนาจด้านการทหารต่อจากขงเบ้ง

การศึกครั้งนี้ทำให้ทางวุยก๊กต้องปั่นป่วนวุ่นวายมากเพราะ ทัพของขงเบ้งได้ชัยมาตลอด พระเจ้าโจยอยแห่งวุยก๊กร้อนใจนักจึงให้โจจิ๋นผู้เป็นพระญาติเป็นแม่ทัพใหญ่นำทัพออกต้าน แต่โจจิ๋นก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ของขงเบ้งและต้องพ่ายแพ้เสียที โจยอยเองก็เสียขวัญแทบจะย้ายเมืองหลวงหนี เพราะหากเตียงอันแตก ทัพขงเบ้งก็จะสามารถเข้าประชิดเมืองลั่วหยางอันเป็นราชธานีได้ในทันที

เวลานั้นขุนศึกเก่งๆของทางฝ่ายวุยก๊กแทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ตอนนี้ซึ่งตกทอดมาจากสมัยของโจโฉคือเตียวคับ และในที่สุดโจยอยก็ได้ส่งเตียวคับออกไปนำทัพออกไปรับมือกับขงเบ้ง

แต่ในนิยายสามก๊กนั้นเขียนไว้ต่างกัน โดยหลอก้วนจงเขียนไว้ว่าคนที่ออกมารับศึกกับขงเบ้งในครั้งนี้คือสุมาอี้

ความจริงแล้วสุมาอี้กับขงเบ้งยังไม่ได้ปะทะกันในครั้งนี้ แต่ในฉบับนิยายนั้นต้องการที่จะทำให้สุมาอี้ดูเด่นขึ้นมาเพราะว่าเขาจะกลายเป็นคนที่คอยขับเคี่ยวกับขงเบ้งในอนาคต

........ถ้าอย่างนั้นขอเล่าฉบับนิยายกับฉบับประวัติศาสตร์ควบคู่กันไปละกันนะ เพราะหลักๆแล้วก็แค่เปลี่ยนจากเตียวคับมาเป็นสุมาอี้เท่านั้นแต่รายละเอียดในการศึกส่วนใหญ่ยังคล้ายๆกัน

นั่นคือระหว่างการเดินทัพไปยังกิสานในตอนแรกนั้น ขงเบ้งต้องการจะขจัดให้สุมาอี้พ้นทางไปก่อน เพราะเขารู้ว่าในบรรดาแม่ทัพทั้งหมดทที่วุยมีตอนนี้ สุมาอี้คือคนที่ร้ายกาจที่สุด เขาจึงได้ส่งคนไปปล่อยข่าวลือที่วุยว่าสุมาอี้คิดกบฏ ซึ่งโจยอยเองก็เชื่อเพราะระแวงสุมาอี้เป็นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงปลดสุมาอี้ออกจากการเป็นแม่ทัพ และให้โจจิ๋นเป็นแม่ทัพใหญ่แทน ซึ่งก็เข้าแผนของขงเบ้ง เพราะถึงโจจิ๋นจะมีความสามารถ แต่หากเทียบกับขงเบ้งแล้วก็ยังไม่อาจเทียบได้
เพื่อประกันชัยชนะในศึกนี้ ขงเบ้งยังได้ใช้แผนประสานในนอก ด้วยการลอบติดต่อกับทางเบ้งตัดซึ่งมาสวามิภักดิ์กับวุยก๊กหลังจากที่กวนอูตายว่าหากช่วยงานตีวุยก๊กขนาบจากด้านในสำเร็จ พระเจ้าเล่าเสี้ยนจะยอมให้อภัยและให้กลับมามีตำแหน่งสูงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเบ้งตัดก็รับคำ เพราะตอนนั้นเขาเองก็ไม่พอใจที่ฝั่งวุยไม่ยอมให้เขามีตำแหน่งสูงอย่างที่เคยตั้งใจไว้ในตอนแรก

แต่แล้วเมื่อพระเจ้าโจยอยคืนอำนาจทหารให้สุมาอี้ สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป สุมาอี้ที่ได้อำนาจทหารคืนมาก็สืบข่าวจนรู้ว่าเบ้งตัดคิดทรยศ เขาจึงรีบลงมือแบบสายฟ้าแลบ นำกองทัพด้วยตัวเองเข้าโจมตีเบ้งตัดที่มัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่โดยไม่ให้ตั้งตัว

เมื่อขงเบ้งรู้ว่าสุมาอี้กลับมารับตำแหน่งแม่ทัพแล้ว ก็รู้ว่าเบ้งตัดต้องถูกจัดการแน่ เขาจึงส่งจดหมายมาเตือนว่าเมื่อสุมาอี้ได้อำนาจทหารคืนมาแล้ว เบ้งตัดต้องรีบลงมือทันที แต่เบ้งตัดนั้นชะล่าใจและบอกกลับไปว่าไม่เห็นต้องไปกังวล เพราะกว่าสุมาอี้จะออกศึกได้นั้นก็ต้องขอรับสั่งจากฮ่องเต้ก่อน จริงอยู่ว่าได้อำนาจทหารคืนมา แต่การจะเคลื่อนทัพก็ต้องใช้เวลาและรอโปรดกล้า ยังไงก็ไม่ทันการหรอก

ขงเบ้งเจอจดหมายตอบกลับแบบนั้นก็แทบขว้างทิ้งแล้วบอกว่า แม่ทัพออกศึกแนวหน้าไม่จำเป็นต้องฟังกษัตริย์ สุมาอี้เองรู้ดีในหลักการข้อนี้ว่าหากจะปราบกบฏก็ต้องลงมือทันที ครานี้เบ้งตัดไม่รอดแน่ และก็เป็นจริง เบ้งตัดถูกสุมาอี้ปราบปรามลงได้อย่ารวดเร็ว

ทางขงเบ้งนั้นก็จำเป็นต้องจัดตั้งกำลังรับมือที่เขากิสาน โดยในแผนการของฝ่ายจ๊กก๊กตามที่ขงเบ้งวางไว้นั้น จะจัดวางกำลังสำคัญของกองทัพไว้ที่เกเต๋ง ซึ่งจะมีความสำคัญขนาดที่ว่าหากกองทัพที่เกเต๋งนี้แตกพ่าย จะส่งผลให้ทั้งกองทัพพ่ายแพ้ทั้งหมด

ดังนั้นคนที่จะรับหน้าที่เฝ้ากำลังของทัพนี้จะต้องมีความสามารถที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่ทำให้งานผิดพลาด และขงเบ้งก็ได้เลือกม้าเจ๊กซึ่งเป็นคนสนิทและเป็นเสนาธิการในกองทัพให้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของขงเบ้ง

ม้าเจ๊กนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนที่ฝีปากไวและมีความรอบรู้ในเรื่องพิชัยสงครามมาก แต่เขาไม่มีประสบการณ์ในการรบจริงแม้แต่ครั้งเดียว งานของเขาจะเป็นการช่วยขงเบ้งวางแผนการรบอยู่ภายในกระโจมซะมากกว่า ซึ่งคนที่จะเป็นแม่ทัพนำศึกนั้นมันต้องมีอะไรมากกว่านั้น

ขงเบ้งเองก็รู้ดีว่าม้าเจ๊กขาดประสบการณ์ในฐานะแม่ทัพ แต่ที่เลือกนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นตัวม้าเจ๊กเองที่อาสารับไปทำงานนี้โดยขอกำลังทหารไปแค่ 25000 คน ขงเบ้งจึงได้ให้อองเป๋งซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภูมิประเทศและมีประสบการณ์ในสนามรบมานาน ให้คอยช่วยเหลือม้าเจ๊กในตำแหน่งรองแม่ทัพ เพื่อป้องกันความผิดพลาด
เหตุหนึ่งที่ขงเบ้งเลือกม้าเจ๊กนั้น คาดกันว่าอาจเป็นเพราะต้องการให้โอกาสม้าเจ๊กได้มีโอกาสสร้างผลงานในการศึก เพราะม้าเจ๊กนั้นแม้จะอยู่กับขงเบ้งมานานและขงเบ้งปรารถนาจะตั้งให้เขามีตำแหน่งสูงในการทหาร แต่การขาดผลงานด้านการนำทัพต่อสู้ศึก ก็ไม่อาจทำให้ม้าเจ๊กเป็นที่ยอมรับของเหล่านายทหารได้

เรียกว่างานนี้ขงเบ้งหวังดีในตัวลูกน้อง แต่เขาพลาดตรงที่ดันเลือกให้ม้าเจ๊กไปทำงานที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญชนิดพลาดไม่ได้

แม้จะให้อองเป๋งไปด้วยในตำแหน่งรองแม่ทัพ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะอองเป๋งเป็นคนไม่รู้หนังสือ ซึ่งม้าเจ๊กนั้นอ้างว่าตนศึกษาพิชัยสงครามมามากและไม่พลอยเชื่อถือในความเห็นของอองเป๋งทั้งที่ความเห็นของอองเป๋งซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ผลคือม้าเจ๊กต้องเสียเกเต๋งและทหารไปมากมาย และส่งผลให้ทัพจ๊กก๊กทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายและต้องถอยกลับในสภาพที่พ่ายแพ้ยับเยิน

อ้อ...เกือบลืม ในการศึกนี้ยังมีเรื่องที่อาจจะเป็นจุดเริ่มของการไม่ถูกกันระหว่างขงเบ้งกับขุนพลอุยเอี๋ยน
นั่นคือตอนที่รู้ว่าทัพวุยก๊กจะยกมานั้น อุยเอี๋ยนได้เสนอแผนการขอกำลังทหารห้าพันคน ไปตัดกำลังและเสบียงของฝ่ายวุยก๊ก โดยใช้ทางลัดทั้งนี้เพราะอุยเอี๋ยนเคยเป็นแม่ทัพรักษาเมืองฮันต๋งมาก่อน จึงรู้จักภูมิประเทศเขาสูงแถบนั้นดี
อุยเอี๋ยนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญการรบแบบกองโจร และชำนาญในการวางแผนรบแบบพิศดาร ซึ่งหาได้ยากในจ๊กก๊ก แต่ขงเบ้งกลับมองข้ามความสามารถด้านนี้ของอุยเอี๋ยนไป เนื่องจากไม่ชอบในความเชื่อมั่นเกินเหตุและความโอ้อวดลำพองของอุยเอี๋ยนสักเท่าไหร่นัก จึงปฏิเสธแผนนี้ โดยในนิยายจะเล่าว่าขงเบ้งไม่ชอบอุยเอี๋ยนเพราะมีลักษณะและโหงวเฮ้งของคนคิดคดทรยศ

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ทัพจ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้ยับเยิน

ในนิยายได้มีเรื่องการใช้กลเมืองว่างของขงเบ้งที่ขงเบ้งขึ้นไปเล่นพิณบนกำแพงเมืองและหลอกสุมาอี้ซึ่งนำทัพติดตามมา แต่ตามประวัติศาสตร์แล้วคนที่ยกทัพมาคือเตียวคับ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเสริมขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจะไม่ขอพูดถึงละกัน

ขงเบ้งพ่ายยับกลับมาครั้งนี้ เมื่อมีการไต่สวนถึงความผิดพลาดแล้ว ม้าเจ๊กต้องรับไปเต็มๆ ฐานที่ทำให้เสียพื้นที่เกเต๋งอย่างไม่สมควร และขงเบ้งจำต้องสั่งประหารม้าเจ๊กด้วยน้ำตา เพราะม้าเจ๊กนั้นเป็นคนที่ขงเบ้งรักเหมือนน้องชาย และขงเบ้งก็ตัดสินใจลดโทษตัวเองลงสามขั้น เพื่อลงโทษตัวเองที่ใช้คนผิด แต่ก็ยังคงอำนาจสั่งการทุกอย่างในก๊กไว้คงเดิม
หลังจากนั้นขงเบ้งก็เน้นการพัฒนาบ้านเมืองเป็นหลักเพื่อเตรียมทำศึกในครั้งต่อไป

1 ปีต่อมาหลังจากพ่ายแพ้ยับเยินในศึกที่เขากิสาน ขงเบ้งเตรียมกำลังทหารขึ้นเหนืออีกครั้ง และในคราวนี้ขงเบ้งต้องพบกับความเสียหน้า เพราะนำกำลังทหารไปแสนกว่าคนแต่ไม่อาจตีเมืองที่มีคนรักษาด้วยกำลังเพียงแค่สามพันคนได้!!!
เรื่องมีอยู่ว่า ขงเบ้งสั่งให้อุยเอี๋ยนนำทหารห้าพันเข้าตีเมืองเฉิงซานอันเป็นเมืองชายแดนหน้าด่านของวุยก๊กซึ่งมีนายทหารที่มีชื่อว่า เฮ็กเจียว เป็นผู้รักษาด้วยกำลังทหารสามพันคน

อุยเอี๋ยนใช้เวลาห้าวันกลับทำไม่สำเร็จ ขงเบ้งโกรธมากจึงนำกำลังเข้าตีด้วยตนเอง ใช้เวลาอยู่ยี่สิบวันก็ทำไม่สำเร็จ จากนั้นก็พบว่าแม่ทัพฝ่ายวุยก๊กชื่ออองสง ซึ่งเป็นขุนพลทรงพลังคนหนึ่งในช่วงนั้นได้นำกำลังมาเสริม ขงเบ้งจึงตัดสินใจถอยทัพกลับ แต่ก็ได้สั่งให้อุยเอี๋ยนเป็นทัพหลัง คอยสกัดทัพของอองสงที่ไล่ตามมา และอุยเอี๋ยนก็วางกำลังซุ่มสังหารอองสงได้ ในการศึกนี้ทางฝั่งจ๊กก๊กจึงบันทึกไว้เพียงแค่วังหารนายพลวุยก๊กได้หนึ่งคน

ส่วนเฮ็กเจียวผู้สกัดทัพขงเบ้งด้วยทหารแค่สามพัน กลายเป็นวีรบุรุษและได้เลื่อนขั้นเป็นแม่ทัพคนสำคัญของวุยก๊ก
จากนั้นหนึ่งปี ขงเบ้งยกทัพไปเป็นครั้งที่สาม คราวนี้มีผลงานพอดู โดยก่อนออกศึกนั้นมีข่าวมาว่าทางวุยก๊กกับง่อก๊กรบกันหนักทางภาคตะวันออก ผลคือฝ่ายง่อได้ชัยชนะ ทางฝ่ายวุยสูญเสียกำลังไปมาก แม่ทัพใหญ่ภาคตะวันออกโจฮิวจึงเสียใจหนักและตรอมใจตาย

ส่วนทางแนวป้องกันด้านตะวันตกของวุย เฮ็กเจียว วีรบุรุษจากศึกคราวที่แล้วซึ่งกลายเป็นแม่ทัพชื่อดังนั้นก็ล้มป่วยและตายลงเช่นกัน ขงเบ้งจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดี รีบยกทัพเข้าตีเมืองเฉินซางและยึดได้โดยง่าย

ขงเบ้งจึงได้รับยศเดิมที่เคยลดขั้นตัวเองในศึกครั้งแรกคืนมาโดยพระเจ้าเล่าเสี้ยนเป็นผู้โปรดเกล้า

เมื่อได้ยศคืนขงเบ้งก็ยกทัพกลับและจัดงานฉลองความสำเร็จที่สามารถยึดหัวเมืองของวุยได้สามหัวเมือง

1 ปีต่อมา ขงเบ้งยกทัพไปอีกครั้งในนิยายนั้นหลอก้วนจงได้แต่งเรื่องราวไว้พอควร แต่ในฉบับประวัติศาสตร์บันทึกแค่เพียงว่าต้องยกทัพกลับเพราะเจอฝนหนัก

ขงเบ้งจึงรอเวลาอีกครั้งและยกทัพมาอีกในปีเดียวกัน และในครั้งนี้ได้ปะทะกับสุมาอี้อีกครั้งที่เขากิสาน และได้แก้ปัญหาเรื่องขาดเสบียงด้วยการคิดค้นวัวไม้ลากขึ้นในการใช้ลากเสบียง และแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

ปรากฏว่าในศึกครั้งนี้เสียเชิงสุมาอี้ในทีแรก และเป็นครั้งแรกที่สุมาอี้สามารถอ่านแผนการศึกของขงเบ้งได้ขาด และเล่นงานคืนได้อย่างเจ็บแสบ จนขงเบ้งต้องถอยทัพไปตั้งหลัก ในการศึกนี้ยังทำให้อุยเอี๋ยนเริ่มไม่แน่ใจในแผนของขงเบ้งเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นความกังขาในกองทัพ แต่จากนั้นทัพใหญ่ของขงเบ้งก็ยังสามารถเอาชนะและตอบโต้กลับได้ในการปะทะครั้งต่อมา จึงกลายเป็นศึกระยะยาวไป

ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องเสบียงอีก ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆของขงเบ้งที่แก้ไม่ได้สักที ทั้งที่สร้างวัวไม้เลื่อนในการขนเสบียงแล้ว เพราะในครั้งนี้เสบียงส่งล่าช้า อีกทั้งทางพระเจ้าเล่าเสี้ยนมีคำสั่งเรียกตัวขงเบ้งกลับกะทันหัน ขงเบ้งจึงจำใจถอยทัพ
ในนิยายเล่าว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยนระแวงว่าขงเบ้งจะเป็นกบฏ จึงสั่งเรียกขงเบ้งกลับ และขงเบ้งก็จำใจยอมกลับ ทั้งที่จะได้ชัยอยู่แล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านิยายช่วยแก้ตัวให้ขงเบ้งหรือเปล่า เพราะมีธรรมเนียมจีนโบราณบอกว่า แม่ทัพอยู่แนวหน้าไม่ต้องเชื่อฟังกษัตริย์แล้วขงเบ้งซึ่งกำลังจะได้ชัยชนะจะถึงกับถอยทัพด้วยการเรียกตัวเพียงครั้งเดียวหรือ

ถ้าจะบอกว่าเพราะความจงรักภักดี นั่นอ้างไม่ขึ้น ขงเบ้งควรจะเห็นแก่ประโยชน์ที่บ้านเมืองจะได้รับจากการเอาชัยตรงหน้ามากกว่าคำกล่าวหาว่าตนจะเป็นกบฏมากกว่า

เย่เฟยหรืองักฮุย วีรบุรุษในราชวงศ์ซ้อง ซึ่งเป็นยุคหลังขงเบ้งแล้วกว่าพันปี ก็เคยเผชิญเรื่องในทำนองนี้ แต่ที่เย่เฟยยอมถอยทัพ เพราะโดนป้ายคำสั่งเรียกถึง 12 ครั้ง และเพราะเย่เฟยเป็นชาวจีนในยุคราชวงศ์ซ้องที่ได้รับการปลูกฝังในเรื่องลัทธิขงจื๊อที่สอนให้ขุนนางเชื่อฟังกษัตริย์ย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะเป็นการผิดหลักคำสอน

แต่ขงเบ้งเป็นคนในยุคราชวงศ์ฮั่นตอนปลายซึ่งลัทฺธิขงจื๊อยังไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก ที่สำคัญคือตัวขงเบ้งเองนั้นน่าจะนับถือหลักลัทธิเต๋า(เต๋าคนละแบบกับของเล่าจื๊อ เต๋าแบบนี้จะออกแนวอภินิหาร และไสยศาสตร์มากกว่า คนที่เสฉวนนับถือกันมาก) เมื่อดูจากลักษณะของขงเบ้งที่เชื่อในเรื่องการดูดาว และการใช้พิธีทางโหรศาสตร์เช่นการต่ออายุให้ตัวเอง

จากเหตุผลเหล่านี้ มทองไม่ออกว่าทำไมขงเบ้งถึงถอยทัพกลับทั้งที่จะได้ชัยชนะ บางทีอาจเพราะต้องการกลับมาควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงซึ่งเริ่มผิดปกติมากกว่า เมื่อมองในแง่การเมือง

จากการสืบสวนเรื่องส่งเสบียงล่าช้า ปรากฏว่าลิเงียมซึ่งรักษาการตำแหน่งนายกแทนขงเบ้ง แต่มีหน้าที่ส่งเสบียง (ก็แปลกดี) เป็นผู้ทำล่าช้า จึงถูกลงโทษปลดเป็นสามัญชน

ลิเงียมนั้นเป็นขุนนางสำคัญที่เล่าปี่ได้ฝากฝังบ้านเมืองไว้คู่กับขงเบ้ง เขามักจะคัดค้านการศึกของขงเบ้งด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ผู้คนล้มตายมากเกินไป ขงเบ้งกับลิเงียมจึงไม่ถูกกันนัก แต่ขงเบ้งก็ยังเกรงใจลิเงียมที่เป็นคนซื่อสัตย์ ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาก็ยังรักษาสมดุลกันได้ดี

แต่ที่สุดลิเงียมก็ต้องออกจากราชการด้วยเรื่องครั้งนี้เอง

อ้อ ในศึกนี้ขงเบ้งยังฝากผลงานด้วยการวางแผนดักซุ่มสังหารเตียวคับ ยอดนายพลคนสุดท้ายของวุยก๊กที่ตกทอดมาจากสมัยโจโฉด้วย ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจในการสังหารเตียวคับนี้ว่าเป็นแผนการยืมดาบฆ่าคนของสุมาอี้รึเปล่า ที่ต้องการขจัดเสี้ยนหนามในการเป็นใหญ่ของตนในอนาคต

หลังจากศึกนี้ เพราะกรณีลิเงียม ในนิยายจึงเล่าว่าขงเบ้งจึงตัดสินใจกลับมาดูแลและล้างบางเรื่องภายใน และใช้เวลาถึงสามปีหมดไปกับการพัฒนาบ้านเมืองเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาสูญเสียทหารและทรัพยากรต่างๆไปมาก ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้ก็ทำให้ภายในของจ๊กก๊กกลับมามีกำลังเข้มแข็งอีกครั้ง

ปีค.ศ.234 อันเป็นปีสุดท้ายในการทำศึกของขงเบ้งและเป็นปีสุดท้ายในชีวิตของเขาด้วยนั้น ขงเบ้งได้เกณฑ์ไพร่พลในจ๊กก๊กมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้ทั้งหมด สองแสนแนวหน้าและอีกหนึ่งแสนในแนวหลัง

จะเห็นว่าจำนวนทหารที่จะไปรบลดน้อยลงในทุกครั้ง เพราะสงครามที่ผ่านมาได้ทำให้ผู้คนในจ๊กก๊กล้มตายไปมาก
ขงเบ้งนำทัพหน้าจำนวนสองแสน (บางฉบับว่าสาม) ตั้งทัพที่กิสานอีกครั้ง อันเป็นที่เดิม เพราะขงเบ้งยืนยันความคิดที่ว่าจะบุกวุยก๊กโดยใช้เส้นทางนี้ทางเดียวให้ได้ โดยไม่สนใจความแผนการอื่น จะว่าไปมันก็เหมือนกับเอาหัวชนฝาเหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อเด่นของนักปกครองที่มีจิตใจแน่วแน่ที่สู้ไม่ถอย ผมขอยอมรับนับถือขงเบ้งในส่วนนี้ แต่ในแง่กลยุทธ์การศึกแล้วถือว่าไม่สมควร

การศึกครั้งนี้ในนิยายเล่าไว้อย่างสนุกสนาน ทั้งที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์แทบจะไม่ได้สู้กันเลย แต่ในนิยายเล่าว่าขงเบ้งได้นำดินระเบิดมาใช้เล่นงานสุมาอี้เกือบตาย

ความจริงแล้วดินระเบิดเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในสมัยหลังยุคขงเบ้งกว่าหลายร้อยปี และกว่าจะพัฒนาจนนำมาใช้จริงได้นั้น ก็อีกเกือบพันปีให้หลัง

ขงเบ้งนำทัพมาคราวนี้ตั้งใจจะสู้รบระยะยาวจึงตั้งค่ายที่หวูจ่างหยาน ส่วนคนที่ออกมารับศึกก็คือสุมาอี้เจ้าเก่า
ขงเบ้งพยายามยั่ยยุให้สุมาอี้ออกมาสู้ด้วย แต่สุมาอี้ก็ไม่ยอมเอาแต่ตั้งทัพอยู่แต่ในค่ายท่าเดียว จนขงเบ้งร้อนใจนักและส่งจดหมายด่ารวมถึงเสื้อผ้าผู้หญิงไปให้เป็นการดูถูกสุมาอี้

สุมาอี้โกรธจัดคิดจะยกทัพไปเหมือนกัน แต่ก็ยังตั้งสติได้ รวมกับมีคำสั่งจากพระเจ้าโจยอยซึ่งเป็นฮ่องเต้คนที่สามแห่งวุยก๊กว่าห้ามนำทัพออกไปสู้ศึก ให้ป้องกันไว้อย่างเดียว เพื่อป้องกันความสูญเสีย เนื่องจากว่าเวลานั้น ทางง่อก๊กเองก็ส่งกำลังทหารมาทางด้านตะวันออกตามสัญญาพันธมิตรร่วมกับจ๊กก๊กเช่นกัน โดยแม่ทัพของง่อก๊กในครั้งนี้นั้นไม่ใช่ระดับธรรมดา แต่เป็นลกซุนยอดอัจฉริยะคนหนึ่งของยุคร่วมกับขงเบ้งและสุมาอี้ พระเจ้าโจยอยแห่งวุยจึงตัดสินใจยกทัพไปเอง

ทางการศึกด้านง่อก๊กกับวุยก๊กที่เมืองหับป๋าทางตะวันออกนั้น น่าสนใจก็จริงแต่ขอสรุปว่า ทัพหน้าของง่อซึ่งนำโดยจูกัดกิ๋นพี่ชายของขงเบ้งที่รับราชการที่ง่อนั้นเสียทีและสูญเสียทัพเรือไปจำนวนมากเพราะความประมาท แต่ลกซุนก็วางแผนทำให้ทัพง่อสามารถถอยทัพกลับได้อย่างปลอดภัย

การพ่ายแพ้และถอยทัพอย่างไม่คาดฝันของทัพง่อนั้นทำให้ขงเบ้งที่ทราบข่าวถึงกับตกใจและล้มป่วยลง เนื่องจากการที่ต้องตรากตรำในสนามรบมานานเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว

ขงเบ้งป่วยหนักรู้ตัวว่าใกล้ตาย จึงคิดจะถอยทัพกลับ แต่ก็ต้องถอยโดยที่ไม่ให้สุมาอี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงสั่งให้ปิดข่าวการตายของตนเองไว้ล่วงหน้าและห้ามไว้ทุกข์ จากนั้นจึงเริ่มสั่งเสียงานให้กับคนสนิทแต่ละคน

เกียงอุนได้รับมอบตำราพิชัยสงคราม 24 เล่มที่ขงเบ้งเขียนขึ้น เท่ากับว่าเกียงอุยเป็นผู้สืบทอดวิชาทั้งหมดตัวจริงของขงเบ้ง และเผอิญว่าลิฮกขุนนางจากเสฉวนเดินทางมาพอดี ขงเบ้งจึงฝากคำสั่งเสียไปให้แก่พระเจ้าเล่าเสี้ยนที่เสฉวน และฝากให้แต่งตั้งเจียวอ้วนและบิฮุยขึ้นเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการบริหารแทนตนเอง จากนั้นก็เสียชีวิตลง รวมอายุ 54 ปี

ขงเบ้งไม่ไว้ใจให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้มีโอกาสบริหารบ้านเมืองแม้แต่นิด จริงอยู่ว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยนอาจจะมีสติปัญญาน้อย แต่ถึงกระนั้นก็เป็นฮ่องเต้มาหลายปีแล้ว อายุก็มากพอที่จะบริหารราชกิจมาได้หลายปี แต่ที่ผ่านมาขงเบ้งเลือกที่จะกุมอำนาจเองทั้งหมดไม่เปิดโอกาสให้เล่าเสี้ยนได้พิสูจน์ตนในฐานะฮ่องเต้ แบบนี้จะถือได้ว่าเป็นขุนนางที่ดีหรือ?

หลายคนนั้นให้เหตุผลว่าเป็นเพราะขงเบ้งกลัวว่าเล่าเสี้ยนจะบริหารราชกิจได้ไม่ดี เพราะสติปัญญาก็รู้อยู่ว่าเป็นอย่างไร แต่ว่าในประวัติศาสตร์นั้นก็มีฮ่องเต้อยู่หลายองค์ที่ไม่เอาไหนแต่ก็สามารถปกครองบ้านเมืองให้ดีได้ด้วยตนเองเพราะมีขุนนางที่เป็นเสาหลักคอยช่วยเหลือ ทำไมขเงบ้งไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่คอยช่วยเหลือฮ่องเต้ แต่เลือกที่จำทำมันเองหมดทุกอย่าง ถ้าสาเหตุไม่ใช่เพราะความหวงอำนาจการปกครองแล้วมันจะเป็นอะไร

สมัยเด็กตอนที่ผมอ่านสามก๊กครั้งแรกๆ เมื่ออ่านถึงช่วงปลายของจ๊กก๊กแล้ว ก็ยังรู้สึกสงสัยเหมือนกันว่าทำไมก๊กอื่นๆถึงได้มีคนมีฝีมือทำงานโน่นนี่เต็มไปหมด แต่จ๊กก๊กต้องพึ่งขงเบ้งอยู่คนเดียว และทำไมฮ่องเต้ของฝ่ายจ๊กก๊กอย่างเล่าเสี้ยนถึงได้ดูไม่เอาไหนนัก

ตรงนี้ในหนังสือสามก๊กและในหนังด้วยได้พูดถึงไว้ตรงกัน ผมขออนุญาตถ้าใครมีช่วยเปิดดูได้เดี๋ยวจะหาว่าผมเอ่ยแบบยกเมฆ นั่นคือตอนที่สุมาเต็กโชพูดถึงขงเบ้งให้เล่าปี่ฟังนั้น ได้บอกว่าขงเบ้งเคยเปรียบตนเองว่าเก่งเทียบเท่าก่วนจงและเล่อยี่ซึ่งเป็นคนเก่งในสมัยยุคชุนชิว พอกวนอูซึ่งฟังอยู่ด้วยหาว่าขงเบ้งไม่ประมาณตนและไม่เห็นด้วย สุมาเต็กโชก็บอกว่าเขาเองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันเพราะความสามารถของขงเบ้งนั้นต้องเท่ากับเจียงไท่กงและเตียวเหลียงซึ่งเป็นสองสุดยอดกุนซือในประวัติศาสตร์จีน

ก่วนจง เป็นยอดเสนาบดีที่ช่วยให้กษัตริย์ฉีเหิงกงกลายเป็นมหาราช แต่ถึงกระนั้นก่วนจงไม่เคยทำตัวมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือฉีเหิงกงแต่ประการใด อำนาจการปกครองบ้านเมืองและการบัญชาการกองทัพนั้นเป็นของฉีเหิงกง ตัวก่วนจงเพียงแค่คอยถวายคำแนะนำ และนำไปปฏิบัติเท่านั้น และที่สำคัญคือก่วนจงคอยเตือนสติฉีเหิงกงไม่ให้ทำสงครามกับแคว้นข้างเคียงแต่เน้นให้ปกครองโดยธรรม ซึ่งส่งผลให้แคว้นฉีกลายเป็นมหาอำนาจในยุคที่ก่วนจงเป็นมหาเสนาบดี
เล่อยี่ คนนี้ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพที่นำกำลังทหารของแคว้นเล็กเอาชนะแคว้นใหญ่ มีความเชี่ยวชาญในกลยุทธ์การศึกมาก การทำสงครามเอาชนะแคว้นใหญ่แบบเล่อยี่นั้นขงเบ้งเองยังไม่เคยทำมาก่อน

และคราวนี้พอมาดูเจียงไท่กงกับเตียวเหลียงสองสุดยอดกุนซือแล้วยิ่งไปกันใหญ่

ในบ้านเรานั้นขงเบ้งเป็นชื่อคนทั่วไปรู้จักมากที่สุดหากพูดถึงกุนซือผู้ปราดเปรื่อง อีกชื่อหนึ่งก็ต้องเป็นซุนหวู่ แต่ใครจะรู้ว่าการที่ดังที่สุดก็ใช่ว่าจะเก่งที่สุด ความจริงแล้วกุนซือผู้มีผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดและได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ 4000 ปีของจีนนั้น นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ามีอยู่สองคน นั่นก็คือ เจียงไท่กงและเตียวเหลียง

เจียงไท่กง กุนซือผู้นี้กว่าจะเป็นที่รู้จักไปทั่วแผ่นดินก็อายุแก่มาจนจะเข้าโลงอยู่แล้ว นั่นคืออายุ 72 ปี เพราะกว่าที่จะมีคนค้นพบอัจฉริยะในตัวท่านผู้นี้นั้นก็เป็นตอนที่อายุ 60 กว่าปี

จีซาง เจ้าเมืองโจว ได้เป็นผู้เจอกับเจียงไท่กงโดยบังเอิญในขณะที่ชายแก่ผู้นี้กำลังตกปลาอยู่ และได้มีโอกาสสนทนากัน จึงได้รู้ว่านี่คืออัจฉริยะผู้เป็นเพชรเม็ดเอกของแท้จึงรีบเชิญให้ไปช่วยราชการ

เจียงไท่กงได้ช่วยเหลือให้จีซางสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้น และเมื่อจีพาพระโอรสสืบอำนาจต่อมาก็ช่วยเหลือจีพาในการวางแผนการรบให้เอาชนะราชวงศ์อินซึ่งปกครองโดยทรราชย์โจ้วอ๋องลงได้

จากนั้นก็ได้วางระเบียบการปกครองและวางรากฐานให้กับราชวงศ์โจวจนราชวงศ์นี้กลายเป็นราชวงศ์ที่มีความเข้มแข็งและมีอายุยืนนานถึง 800 ปี และเป็นราชวงศ์ที่มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

เจียงไท่กงยังเขียนตำราพิชัยสงครามเอาไว้ด้วย มีชื่อว่าตำราไท่กงอิน ว่ากันว่าซุนหวู่ผู้เป็นจ้าวแห่งพิชัยสงครามในยุคต่อมานั้นยังยึดเอาตำราเล่มนี้เป็นหลักในการเขียนตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ของตน

เตียวเหลียง รายนี้คือยอดกุนซือผู้ช่วยเหลือเล่าปังบรรพบุรุษของเล่าปี่ ให้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาได้ โดยเป็นผู้วางกลุยุทธ์กำหนดแผนการต่างๆ ช่วยให้เล่าปังโค่นฌ้อป้าอ๋อง เซี่ยงหยี่ลงและวางรากฐานสำคัญให้ราชวงศ์ฮั่นในภายหลัง

แต่เตียวเหลียงปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกที่จะไปใช้ชีวิตวิเวกตามป่าเขาอย่างสงบสุข ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเตียวเหลียงเห็นแก่ตัวจึงละทิ้งตำแหน่งไปหาความสงบตามป่าเขา แต่เพราะเห็นว่าคนที่จะรับตำแหน่งนี้แทนหากเขาจากไปแล้วนั้นก็ถือเป็นยอดคนเช่นกัน นั่นก็คือเซียวเหอหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตกยุคแรกร่วมกันกับตัวเขาและหันซิ่น

เตียวเหลียงจึงเป็นยอดบุรุษเพียงไม่กี่คนที่สามารถละทิ้งอำนาจไว้เบื้องหลังได้ เขาจึงมีจุดจบที่ดีต่างไปจากกุนซือเก่งๆหลายคนในประวัติศาสตร์ที่มักตายร้ายเมื่อฮ่องเต้มีอำนาจเต็มที่แล้ว

คนเหล่านี้สร้างคุณประโยชน์ให้แผ่นดินและบ้านเมืองของตนอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะสองคนหลังนั้นเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งขงเบ้งนั้นยังไม่อาจทำสิ่งเหล่านี้ได้แต่ดันพูดไปซะแล้วว่าเหนือกว่าคนเหล่านี้.......

ที่สำคัญเลยซึ่งทั้งสี่คนที่กล่าวมานั้นต่างจากขงเบ้งก็คือ พวกเขาไม่นิยมการทำสงคราม เจียงไท่กงและเตียวเหลียง นั้นการที่พวกเขาช่วยเหลือจีพาและเล่าปังทำศึกก็เพราะต้องการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น และเนื่องจากราชวงศ์เก่าในเวลานั้นต่างมีทรราชย์ปกครอง ในยุคของเจียงไท่กงนั้น โจ้วอ๋องเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อินที่โหดร้ายทารุณต่อประชาชนอย่างมากเกินกว่าจะบรรยาย ความโหดร้ายทารุณของโจ้วอ๋องนั้นเป็นอะไรที่แม้แต่โจโฉที่เราว่าโหดหรือแม้กระทั้งจิ๋นซีฮ่องเต้แทบจะกลายเป็นลูกเจี๊ยบไปเลย

เจียงไท่กงจึงต้องช่วยเหลือจีพาในการนำกองทัพธรรมปราบทรราชย์ ในขณะที่เตียวเหลียงก็ช่วยเล่าปังปราบฌ้อปาอ๋องที่วันๆเอาแต่ฆ่าคนเป็นว่าเล่น

เมื่อทำได้แล้วเตียวเหลียงก็ลาออกจากราชการ ส่วนเจียงไท่กงแม้จะได้เป็นอ๋อง แต่ก็ยุ่งเกี่ยวด้วยเพียงแค่ช่วยเหลือในการปกครองบ้านเมือง ไม่มีส่วนร่วมในสงครามอีก แม้ว่าจะยังมีการก่อกบฏขึ้นบ้างในสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ในตำแหน่งอ๋อง แต่เขาก็ไม่เคยสนับสนุนให้อาณาจักรโจวนั้นรุกรานผู้อื่นด้วยกำลัง

ส่วนก่วนจงนั้นไม่เคยสนับสนุนให้ฉีเหิงกงทำสงครามสักครั้ง ทั้งที่ศักยภาพของแคว้นมีมากพอที่จะทำ หลายครั้งที่เขาใช้วิธีการพูดอันแยบยลให้ฉีเหิงกงเลิกคิดรุกรานผู้อื่น สำหรับเล่อยี่นั้นพอเข้าใจว่าทำไปเพราะความจำเป็นเนื่องจากว่าแคว้นของเล่อยี่เป็นแคว้นเล็กที่ถูกศัตรูรุกรานตลอดจึงต้องป้องกันตัวด้วยการทำศึก

ความจริงแล้วขงเบ้งน่าจะยึดนโยบายเดียวกับก่วนจงคือสร้างรัฐให้เข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แล้วพัฒนาการทหารให้เข้มแข็งตามมา และเน้นที่การป้องกันตัวเองจากศัตรู เช่นเดียวกับเล่อยี่ ไม่ใช่เอาแต่นำทัพบุกท่าเดียว เพราะเป็นการเสียคนและทรัพยากรมาก อย่างที่เกิดปัญหาขาดคนเก่งในจ๊กก๊กระยะหลัง

ในนิยายนั้นเล่าว่าหลังจากขงเบ้งตายแล้ว สุมาอี้รู้ข่าวจึงยกทัพตาม แต่พอเห็นขงเบ้งซึ่งนั่งบัญชาการอยู่บนเขาก็ตกใจรีบถอยทัพกลับทันที ซึ่งความจริงแล้วนั่นเป็นร่างหล่อเหมือนจริงของขงเบ้งที่ขงเบ้งได้วางแผนให้สร้างขึ้นก่อนตาย ตรงจุดนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องจริงรึเปล่าเหมือนกัน

หลังขงเบ้งตายความวุ่นวายได้เกิดขึ้นกับทัพจ๊กก๊ก เพราะอุยเอี๋ยนเป็นกบฏ แต่ยังดีที่ขงเบ้งวางแผนไว้ก่อนตาย จึงแก้สถานการณ์ และสามารถกำจัดอุยเอี๋ยนลงได้

เรื่องอุยเอี๋ยนกบฏนี้ขอยกไปพูดถึงเมื่อเขียนเรื่องอุยเอี๋ยนละกันนะ เพราะมีจุดให้วิเคราะห์อีกยาวมาก และมีความเป็นไปได้มากว่าอุยเอี๋ยนเป็นแพะในประวัติศาสตร์!!!

เมื่อขงเบ้งตาย ก็ได้รับการฝังศพไว้ที่เขาเตงกุนสัน เจียวอ้วนได้ขึ้นเป็นไจเสี่ยง สืบอำนาจการปกครองจากขงเบ้ง บิฮุยเป็นรอง ส่วนเกียงอุยศิษย์เอกของขงเบ้งนั้นไปรับหน้าที่อยู่ที่เมืองฮันต๋ง แล้วภายหลัง บุตรชายของขงเบ้งนามว่าจูกัดเจี๋ยมก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจ๊กก๊ก ซึ่งจูกัดเจี๋ยมก็มีความสามารถมากในระดับหนึ่ง ภายหลังจากนี้ไปหลายสิบปี เขาเป็นผู้นำกองทัพต้านการการบุกของเตงงายซึ่งลอบเข้าโจมตีที่เสฉวนไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานเตงงายได้ และเสียชีวิตในสนามรบพร้อมกับจูกัดสง บุตรชายของเขา

ในปีที่ขงเบ้งตายคือ ปี ค.ศ.234 นั้น มีบุคคลผู้หนึ่งตายลงด้วยเช่นกัน เขาคนนี้เกิดปีเดียวกันกับขงเบ้ง และตายปีเดียวกันด้วย นั่นคือพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งตอนที่ตายนั้นไม่ได้เป็นฮ่องเต้มาหลายปีแล้ว เพราะถูกโจผีถอดลงจากบัลลังก์เมื่อหลายสิบปีก่อน

เฮ้อ........ยาวสุดๆ นี่ยาวกว่าตอนที่เขียนจูล่งซะอีก ตอนจูล่งนั้นผมใช้ถึง 31 หน้าในการเขียน แต่ของขงเบ้งทั้งสองตนผมใช้มากกว่านั้น ทั้งที่พยายามย่อให้มากที่สุดแล้วนะ

อันที่จริงยังมีสิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับขงเบ้งอยู่อีกที่ผมยังไม่ได้เขียนถึง แต่รายละเอียดที่มากขนาดนี้ ผมว่าคนอ่านเองก็คงเริ่มเบื่อกันแล้วล่ะมั้ง ขนาดคนเขียนเองก็เริ่มจะมือหงิกแล้ว

สรุปแล้วขงเบ้ง......ไม่รู้จะสรุปว่าไง เอ้อ เกือบลืม ที่เคยบอกไว้ว่ามีนักเขียนท่านหนึ่งเขียนถึงขงเบ้งไว้ว่าเป็นคนที่นำคนมาตายมากที่สุดในยุคสามก๊กนั้น นักเขียนท่านนั้นคือ...กิมย้งผู้แต่งมังกรหยกอันลือลั่นครับ!!!

ท่านไม่ได้บอกตรงๆหรอก แต่เขียนผ่านงานเขียนของท่านโดยบอกผ่านทางตัวละครที่ชื่อว่าเจี่ยซุน ในเรื่องดาบมังกรหยก ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย และการวิเคราะห์ของกิมย้งที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาอย่างโชกโชน น่าจะเชื่อถือได้อย่างมาก
สรุปแล้วขงเบ้งในความคิดของผมในตอนนี้.....ไม่รู้ว่าจะเป็นคนเก่งหรือยังไงดี เอาเป็นว่าผมไม่ได้มองว่าเป็นคน
อภินิหารแบบสมัยอ่านสามก๊กแรกๆก็แล้วกัน แต่มองในแบบคนธรรมดาที่มีเลือดมีเนื้อ มีอารมณ์รักโลภโกรธหลงอย่างปุถุชน และเป็นนักปกครองที่ประสบความสำเร็จในแง่ที่สามารถฝากชื่อไว้ให้โลกรู้จักตนเองได้มากที่สุดคนหนึ่ง

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณนี้เก่งแต่ดูหรืออ่านฟังของเขาแล้วมาเขียน ขงเบ้งนั้นเป็นนักพรตนับถือลัทธิเต๋า ขงเบ้งฝึกกณินอาโปกณินคือกณินน้ำ การที่ขงเบ้งหยั่งรู้ฟ้าดีคาดทายการณ์ล่วงหน้าหรือทำพิธีเรียกลมนั้นขงเบ้งทำได้จริงทางศาสตย์ลึกลับ คุณเขียนเหมือนกับขงเบ้งเป็นคนลวงโลงคนธรรมดา อย่าลืมขงเบ้งมีฐาณนะฝึกกณินทำไมไม่เขียนอะตอนนี้รู้ไม่จริงเขียนประวัติเขาผิดหมดขาดๆเกินๆ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณที่เขียนได้ดีมากๆ ยังไม่เคยเห็นใครวิเคราะหืได้ละเอียดเท่านี้ ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ ขงเบ้งก็เป็นปุตุชนคนหนึ่ง สมัยก่อน ตอนยังอายุน้อยและรู้เรื่องสามก๊กนิดๆหน่อยๆ ก็มองขงเบ้งเป็นพระเอก เก่งและดีงามที่สุด แต่หากมาวิเคราะห์รอบด้านแล้ว ก็จะเห็นจุดอ่อนของขงเบ้งหลายจุดทีเดียว ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    ตอบลบ