ประวัติสามก๊ก ประวัติสุมาอี้ จงต๊ะ
“เล่า โจ ซุน ต่อสู้แย่งชิงกันมา สุดท้ายสุมาได้ครองแผ่นดิน” คำๆนี้น่าจะเป็นบทสรุปของเรื่องสามก๊กได้ดีที่สุดล่ะมั้ง
เรื่องสามก๊กเปิดฉากจากเล่าปี่ โจโฉ ภายหลังจึงมีซุนกวน และก็กลายเป็นการต่อสู้ของทั้งสามคน แต่สุดท้ายแผ่นดินจีนกลับไปตกเป็นของตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องสามก๊กที่กว่าจะขึ้นมามีบทบาทอย่างจริงๆจังก็ช่วงที่แผ่นดินเริ่มแบ่งเป็นสามแล้ว ซึ่งตัวละครตัวนี้ตอนที่โผล่ขึ้นมาทีแรกยังเป็นเพียงแค่กุนซือธรรมดาๆที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือตำแหน่งใหญ่โตอะไรในฝ่ายวุยก๊กของโจโฉ แต่ใครจะคาดคิดว่าภายหลังเขากลับสามารถโค่นล้มตระกูลโจ ปูทางให้ลูกหลานรวมแผ่นดินได้สำเร็จ
เขาไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากไหนอย่างมังกรหลับขงเบ้ง แต่จู่ๆก็โผล่ขึ้นมากลายเป็นบุคคลที่ขงเบ้งไม่อาจจะเอาชนะได้จนกระทั่งตายลง
คนที่อ่านสามก๊กรอบแรกๆและอ่านฉบับที่รวบรัดน่าจะสงสัยกันไม่น้อยนะว่าเจ้าสุมาอี้คนนี้มันเป็นใครโผล่มาจากไหน ทำไมถึงได้เก่งกาจขนาดนี้ และกลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด สามารถปูทางให้ลูกหลานก่อตั้งราชวงศ์จิ้นสืบต่อมาได้
งั้นก็ไปดูประวัติของจิ้งจอกเจ้าเล่ห์คนนี้กัน
ประวัติโดยย่อ
สุมาอี้ หรือซือหม่าอี้ ชื่อรอง จงต๊ะ เกิดในปีค.ศ.179 เป็นบุตรชายคนรองของสุมาฮอง ผู้ว่าการแห่งนครหลวงลั่วหยางในตระกูลขุนนางชั้นสูงแห่งเฮอไน คำว่าซือหม่านั้นจะเป็นเหมือนกับยศถาที่ให้แก่ชนชั้นตระกูลขุนนางที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งบรรพบุรุษของสุมาอี้นั้นรับราชการมาตั้งแต่สมัยของฌ้อปาอ๋อง โดยพูดได้ว่าสุมาอี้นั้นเกิดมาเพื่อเป็นชนชั้นปกครองโดยเฉพาะ
ในวัยเด็กเขาได้รับการศึกษา ร่ำเรียนสรรพวิชา หลักปรัชญาของขงจื๊อ เม่งจื๊อ เรียนหลักพิชัยสงคราม หลักการปกครอง และรำทวน ขี่ม้า ยิงธนู เรียกว่าได้เรียนทุกอย่างครบเครื่องตามแบบฉบับของบุตรที่เกิดจากตระกูลขุนนางเลยทีเดียว และจะว่าไปเขาก็มีพื้นเพการศึกษามาคล้ายๆกับโจโฉ
ในยุคแห่งความวุ่นวายที่มีสาเหตุจากการลุกฮือของโจรผ้าเหลืองและการยึดอำนาจของตั๋งโต๊ะนั้น ทำให้แผ่นดินเข้าสู่กลียุค กลายเป็นสมัยที่ใครก็ได้หากมีความทะยานอยากและความเด็ดเดี่ยวมากพอ ก็สามารถจะผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ในชั่วข้ามคืน ตอนนั้นโจโฉได้ผงาดขึ้นมากลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในภาคกลางด้วยการเชิดชูฮ่องเต้ สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่ฮูโต๋ ค่อยๆขยายอำนาจแผ่ไปทั่ว แต่สิ่งที่โจโฉเน้นมากที่สุดช่วงนั้นคือการสะสมบุคลากรที่มีความสามารถมารับใช้
สุมาอี้นับเป็นคนดังคนหนึ่งแห่งเฮอไน ด้วยความอัจฉริยะและความฉลาดหลักแหลมจนเป็นที่กล่าวขวัญ ประกอบกับตระกูลสุมาและโจโฉนั้นมีบุญคุณผูกพันกันอยู่เนื่องจากสุมาฮองบิดาของสุมาอี้นั้นเคยช่วยเหลือโจโฉในสมัยที่ยังรับราชการในเมืองหลวง ด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้โจโฉอยากได้สุมาอี้ตัวมารับใช้ แต่เขาไม่อยากไปอยู่กับโจโฉ ตามตำราและตามนิยายสามก๊กบรรยายในทำนองว่าสุมาอี้นั้นเกรงกลัวโจโฉจึงไม่อยากไปอยู่ด้วย บางเล่มก็ว่าเพราะโจโฉเป็นคนโฉด หรือไม่ก็เพราะสุมาอี้นั้นก็คิดการใหญ่ไว้เหมือนกัน
เหตุผลจริงๆคืออะไรคงอยากจะตอบได้ ซึ่งถ้าพอจะสรุปจากเรื่องราวและการกระทำในภายหลังของสุมาอี้นั้นน่าจะพอหาความจริงได้ว่า เป็นเพราะสุมาอี้นั้นก็มีความทะเยอทะยานแอบซ่อนอยู่ และคิดสะสมกำลังพลตั้งตัวขึ้นมาบ้างเช่นกัน ไม่ก็อาจจะกำลังหาทางลัดอยู่ แต่หากไปอยู่กับโจโฉนั่นเท่ากับเป็นการผูกมัดตัวเองไว้ ไม่สามารถทำอะไรได้ถนัด
สุมาอี้แกล้งป่วยเพื่อบอกปัดไม่ไปอยู่กับโจโฉ แต่โจโฉขู่ว่าหากไม่มาจะจับฆ่าเสีย สุมาอี้จึงจำต้องเข้ารับราชการ
โจโฉเมื่อได้ตัวสุมาอี้มาแล้ว ก็ให้เขาเป็นเสนาธิการ ที่ปรึกษาด้านการทหาร แต่ก็น่าแปลกที่โจโฉไม่ค่อยจะเชื่อในคำแนะนำของสุมาอี้เท่าใดนัก ทั้งที่ๆความเห็นที่เขาเสนอต่อโจโฉนั้นค่อนข้างจะเฉียบขาดและยอดเยี่ยม ถ้ายังไงจะขอเก็บเอาเรื่องนี้ไว้พูดถึงในตอนหลังอีกที
ตอนที่สุมาอี้มาอยู่กับโจโฉนั้นเป็นช่วงที่ดวงของยอดคนผู้นี้กำลังรุ่ง เขาทำสงครามปราบปรามอ้วนเสี้ยวทางภาคเหนือลงได้ ทำให้กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ควบคุมแผ่นดินภาคเหนือและกลางขอประเทศได้ทั้งหมด และเตรียมตัวจะทำการรุกลงใต้เพื่อรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
แต่สุมาอี้เป็นคนแรกๆที่คัดค้านการบุกลงใต้ ด้วยให้เหตุผลว่าตระกูลซุนแห่งง่อก๊กที่ปกครองภาคใต้นั้นมีความเข้มแข็ง และมีชัยภูมิดี ยากแก่การตีแตกในตอนนี้ ที่สำคัญฝ่ายโจโฉเองก็เพิ่งจะปราบอ้วนเสี้ยวลงได้ แม้ว่าจะได้ความฮึกเหิมเป็นแรงขับแค่ไหน แต่กองทัพที่ผนวกเอามาจากอ้วนเสี้ยวนั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการรบใหญ่กับพวกที่มีความเชี่ยวชาญในพท.ซึ่งเป็นน้ำส่วนใหญ่อย่างกองทัพของง่อก๊กไม่ได้อยู่ดี
โจโฉไม่สนใจคำทัดทานของขุนนางมาใหม่อย่างสุมาอี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีผู้อื่นทัดทานบ้างแต่ก็ไม่เกิดผล เพราะพวกที่ปรึกษาเก่าๆก็ไม่ได้ทัดทานด้วย ดังนั้นโจโฉจึงยกทัพลงใต้ และไปแพ้ในศึกเซ็กเพ็กอย่างที่สุมาอี้คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเรื่องการแตกทัพทั้งร้อยหมื่นจนเหลือทหารเพียงไม่กี่ร้อย หรือถอยทัพเพราะโรคระบาด ไม่ว่าเรื่องจริงของศึกเซ็กเพ็กมันจะเป็นยังไงก็ตาม การศึกที่ผู้นำเป็นผู้นำไปเองด้วยทัพใหญ่จำนวนมหาศาล แต่กลับไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนของข้าศึกได้สักก้าว และต้องถอนทัพกลับ นั่นก็ถือว่าฝ่ายโจโฉพ่ายแพ้แล้ว
จากนั้นสุมาอี้ก็เริ่มได้รับการขยับฐานะเป็นที่ปรึกษาที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยช่วยในเรื่องการบริหารกิจการภายในแต่ก็ยังไม่มีบทบาทอะไรมากมายนัก เรียกว่าในสามก๊กไม่ได้มีการพูดถึงตัวละครตัวนี้เลย สามก๊กบางเล่มที่เล่าเรื่องราวแบบกระชับและตัดทอนรายละเอียดไปนั้น ไม่ได้พูดถึงสุมาอี้ตอนที่มาอยู่กับโจโฉด้วยซ้ำ กว่าจะพูดถึงอีกทีก็ในปีค.ศ.217 การศึกที่ฮั่นจงระหว่างโจโฉและเล่าปี่ ซึ่งเป็นเหมือนศึกการแย่งชิงฐานทัพด่านหน้าในอนาคตของวุยก๊กและจ๊กก๊ก เพราะตอนนั้นสามขั้วอำนาจ เล่าปี่ โจโฉ และซูนกวนได้ปักหลักสร้างฐานของตนจนมั่นคง ก่อรูปร่างเป็นสามอาณาจักรแล้ว เหลือเพียงว่าใครจะประกาศตัว ตั้งฐานันดรศักดิ์ให้ตัวเองก่อนกัน
ยกแรกของศึกฮั่นจงนั้น เริ่มจากการที่โจโฉนำกองทัพเข้าบุกตีฮั่นจง ซึ่งตอนนั้นมีเตียวลู่เป็นผู้ปกครอง ในขณะที่ทางเสฉวนนั้นเล่าปี่เพิ่งจะเข้ายึดมากจากเล่าเจี้ยง เรียกว่าสองฝ่ายแข่งกันยึดก็ไม่ผิด จากนั้นเมื่อโจโฉยึดฮั่นจงได้สำเร็จ ก็กำลังลังเลอยู่ว่าจะตามตีเอาเสฉวนต่อดีไหม สุมาอี้เป็นคนที่เสนอแนะให้โจโฉใช้จังหวะที่เล่าปี่ยังไม่ทันสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเสฉวน บุกเข้าไปยึดมา เพราะถ้าพลาดโอกาสนี้ เล่าปี่สามารถปักหลักที่เสฉวนได้เมื่อไหร่ ฝ่ายตนก็ยากจะตีเสฉวนได้
แต่โจโฉหลังจากลังเลอยู่นานก็ปฏิเสธแผนการนี้และพูดในทำนองว่า คนเราช่างไม่รู้จักพอ เมื่อได้ฮั่นจงแล้วยังจะเอาเสฉวนอีกหรือ
คำพูดนี้แสดงถึงความอิ่มในอำนาจของโจโฉออกมาเหมือนกัน ก่อนหน้านี้โจโฉต้องวุ่นวายกับเรื่องการเลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นงุยก๋ง เพราะเรื่องนี้เองเป็นเหตุให้ขุนนางผู้ภักดีอย่างซุนฮกที่ตามรับใช้ตนมายาวนานต้องจบชีวิตลง ตัวเขาเองก็คงจะเริ่มเบื่อที่จะต้องทำการขยายดินแดนและอำนาจออกไปมากกว่านี้ แม้ว่าจุดหมายสูงสุดของโจโฉคือการรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง แต่ขณะนี้ตัวเขามีอายุปาไป 60 แล้ว ความกระหายและความทะยานอยากย่อมต้องลดลงเป็นของปกติ ที่สำคัญเลยคือ การจะนำทัพเข้าบุกตีถิ่นทุรกันดารและทางเข้าเต็มไปด้วยเขาสูงสลับซับซ้อนอย่างเสฉวนนั้น โจโฉเองในฐานะผู้นำกองทัพย่อมไม่อยากเสี่ยง เมื่อได้ฮั่นจงมาก็นับว่าตรงตามเป้าของการทำศึกแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากจะตามตีเสฉวนอีก แต่สุมาอี้นั้นเป็นที่ปรึกษาทางทหาร เขาย่อมต้องมองถึงภาพรวมข้างหน้าและโอกาสเป็นหลัก เมื่อเห็นว่าน่าจะตีได้เขาจึงรีบเสนอ แต่กลับกลายเป็นว่าโจโฉบอกปัดแผนของเขาอีกครั้ง
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในฐานะของเสนาธิการที่เสนอแผนการเยี่ยมๆให้นายไปถึงสองครั้ง แต่นายกลับไม่ตอบรับ จิ้งจอกตัวนี้จะเริ่มฉุกคิดอะไรขึ้นมารึเปล่า
เหมือนกับว่าเอาตัวเขามาอยู่ด้วย แต่กลับไม่ยอมใช้งาน ราวกับว่าโจโฉเองก็ระแวงระวังในตัวเขาอยู่ ดังนั้นก็เลยเลือกที่จะเอาตัวเขามาอยู่ใกล้ๆ เหมือนเป็นการควบคุม แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็อาจจะเกินไป เพราะสุมาอี้เวลานั้นก็แค่เสนาธิการทหารธรรมดาที่ไม่ได้มีผลงานอะไรเด่น ในขณะที่โจโฉเป็นถึงงุยก๋งผู้มีอำนาจล้นฟ้า
ช่วงปลายชีวิตของโจโฉนั้นเขาเคยพูดกับโจผีเกี่ยวกับสุมาอี้ในทำนองว่า อย่าให้เจ้านี่มันได้กุมอำนาจทหารเด็ดขาด แสดงว่าโจโฉตีค่าสุมาอี้ไว้สูงมาก และมองออกถึงความทะเยอทะยานของชายคนนี้ ว่าถ้ามีอำนาจทหารล่ะก็ จะเหมือนการติดปีกให้แก่จิ้งจอก
โจโฉสิ้นลงในปี ค.ศ.220 บุตรชายคนโตโจผีขึ้นสืบทอดอำนาจต่อ และสถาปนาตัวเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์วุยฮั่น ส่วนสุมาอี้นั้นมีความสนิทสนมกับโจผีในฐานะที่ปรึกษาคนสนิทมาตั้งแต่สมัยก่อน จึงได้เป็นหนึ่งในคณะเสนาบดีที่คอยดูแลบ้านเมือง
โจโฉนั้นแม้จะระวังสุมาอี้ แต่ก็ไม่ถึงที่สุด เพราะเขาคงมองว่าสุมาอี้นั้นมีอายุก็ไม่ใช่น้อย ในขณะที่โจผียังหนุ่มอยู่ ยังไงซะโจผีก็น่าจะมีอายุยืนนาน สุมาอี้ที่นับวันจะแก่ตัวลงก็ไม่น่าจะมีพิษสง หรือถึงจะเกิดเหตุสุดวิสัย แต่หลังจากโจผีก็ยังมีโจยอยหลานชายที่ดูแววแล้วมีสติปัญญาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นต่อให้สุมาอี้ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจทหารในภายหลังก็หมดสิทธิ์ซ่าแน่นอน และที่สำคัญวุยก็ยังมีพวกแม่ทัพเก่งๆที่เป็นคนของตระกูลโจเหลืออยู่อีกพอสมควร ลูกหลานของพวกเขาก็ยังมี ดูแบบนี้แล้วไม่มีทางเลยที่สุมาอี้ซึ่งตอนนั้นเป็นแค่ขุนนางบุ๋นจะขึ้นมาทำอะไรได้
แต่คนมันจะใหญ่ และไม่ใช่ฟ้าดลบันดาลอย่างเดียว สุมาอี้เองก็เป็นคนกระทำด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง เขามีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง สะสมอำนาจบารมีมาเรื่อย ในขณะที่โจผีครองราชย์ไม่ถึงสิบปีก็สิ้นลง โจยอยซึ่งขึ้นมาสืบทอดแทนแม้จะครองราชย์ได้นานหลายสิบปี แต่ก็สิ้นลงในขณะที่อายุไม่มาก
ทำไมเป็นแบบนั้นได้ พอจะวิเคราะห์ออกมาได้อย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องของวิถีและแนวคิดในการใช้ชีวิตของตระกูลโจและสุมาที่ค่อนข้างต่างกันมาก ตระกูลโจที่นำโดยโจโฉนั้นเป็นพวกที่มีชีวิตในช่วงแผ่นดินกลียุค ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเก่าๆหลายอย่างไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่ต้องเอาตัวรอดในวังวนสงครามของพวกเขา โดยเฉพาะลัทธิขงจื๊อที่สอนให้ผู้คนอยู่ในกรอบธรรมเนียม ซึ่งตอนที่โจโฉขึ้นมากุมอำนาจนั้นได้ต่อต้านแนวคิดขงจื๊อที่สืบทอดมายาวนานอย่างรุนแรง ถึงขั้นสั่งประหารขงหยงทายาทรุ่นหลังของขงจื๊อลงภายใต้การด่าทอของพวกขุนนางหัวเก่าที่ยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อ
คนในตระกูลโจใช้ชีวิตในแนวที่ไม่ยึดติดต่อขนบประเพณี เรียกว่าค่อนข้างออกไปทางเม่งจื๊อ เพียงแต่ก็ไม่ได้ยึดตามหลักเม่งจื๊อ ถ้าจะเรียกว่าใช้ชีวิตแบบตามใจตัวน่าจะเหมาะกว่า นั่นคือการหาความสุขสำราญใส่ตัวอย่างเต็มที่ กินอยู่แบบไม่ต้องควบคุมตัวเอง นึกอยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งที่จริงมันก็เป็นรูปแบบที่เหมาะกับพวกเขาในช่วงที่บ้านเมืองไร้ระเบียบและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปใหม่หมดเช่นนั้น
แต่ตระกูลสุมาซึ่งเป็นพวกขุนนางเก่านั้นยึดถือรูปแบบการใช้ชีวิตตามแนวขงจื๊อมาช้านาน พวกเขาจะกินอยู่อย่างพอดี ไม่ใช้ชีวิตที่โลดโผนหรือทำอะไรตามใจมากเกินความพอเหมาะของร่างกาย ด้วยเหตุนี้สุมาอี้จึงมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถมีชีวิตต่อมาอย่างยืนยาว เกินกว่าคนของตระกูลโจถึงสามรุ่น ฟังดูมันอาจจะเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งนี้กลับส่งผลอย่างมหาศาลในการแก่งแย่งอำนาจจริงๆ
งานนี้จะเรียกว่าโจโฉเสียรู้สุมาอี้ก็ไม่ผิด....
กลับมาต่อกันหน่อย เมื่อโจผีขึ้นเป็นฮ่องเต้ เขาพยายามจะแสดงแสนยานุภาพทางทหารออกมาเหมือนกัน ด้วยการจัดทัพไปตีง่อก๊ก แต่ก็แพ้อย่างไม่เป็นท่า จากนั้นเขาก็รู้สึกขยาดและเบื่อในสงคราม ประกอบกับโจผีแม้จะมีความทะเยอทะยาน แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เมื่อดูแล้วว่าการสงครามไม่เหมาะกับตน และแม่ทัพเก่งๆของอีกสองก๊กก็ยังมีอยู่ เขาจึงหันไปทุ่มเทให้เรื่องของวรรณกรรมมากกว่า และก็ได้ดีจนเป็นฮ่องเต้ผู้เปิดโลกของวรรณกรรมเชิงวิจารณ์และแบบร้อยแก้วเป็นคนแรก
ส่วนเรื่องการคุมกองทัพนั้น ตอนแรกตำแหน่งนี้เป็นของโจหยิน แต่โจหยินตอนนั้นแก่มาก ได้ตำแหน่งมาก็เหมือนกับลอยๆ จนภายหลังก็เป็นโจหองที่รับตำแหน่งสืบต่อซึ่งก็มีสภาพคล้ายๆกัน
ช่วงนั้นแม่ทัพเก่งๆและพวกเครือญาติตระกูลโจและแฮหัวที่ร่วมงานกับโจโฉมายาวนานได้ล้มตายไปทีละคน พวกที่ขึ้นมาใหม่ๆก็ไม่ได้เก่งเหมือนรุ่นพ่อ แต่ฝีมือก็ยังพอใช้การได้ ดังนั้นโจผีจึงยังไม่ได้ยกเรื่องกองทัพให้สุมาอี้ดูแลเต็มที่ แต่อย่างน้อยสุมาอี้ก็ยังมีอำนาจในเรื่องทหารมากขึ้นกว่าสมัยโจโฉที่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการควบคุมทหารด้วยเลย
จนมาถึงตอนที่โจยอยขึ้นครองราชย์ ได้มอบอำนาจทางทหารให้สุมาอี้ดูแลควบคู่ไปกับโจจิ๋นที่เป็นพระญาติ และเมื่อขงเบ้งคิดจะยกทัพบุกโจมตีวุยที่เมืองเตียงฮัน ด้วยความที่เกรงในฝีมือของสุมาอี้จึงได้ปล่อยข่าวไปว่าสุมาอี้คิดกบฏ ทำให้สุมาอี้ถูกปลดจากการคุมทหารไป
ขงเบ้งเห็นว่าแผนยุสำเร็จ จึงนำทัพบุกตีเตียงฮันจากทางกิสาน เมื่อปีค.ศ.227 โจจิ๋นผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ออกทำศึกต้าน แต่โจจิ๋นก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ของขงเบ้ง และหากเตียงฮ้นแตก การอยู่รอดของวุยจะมีปัญหาแน่นอน โจยอยจึงจำต้องให้สุมาอี้กลับขึ้นมาเป็นแม่ทัพควบคุมกำลังทหารเพื่อไปรับศึกกับขงเบ้ง ซึ่งผลการศึกครั้งแรกนี้ในนิยายสามก๊กก็บอกผลไว้ชัดแล้วว่าขงเบ้งแพ้ยับเยิน
มีข้อแตกต่างระหว่างนิยายกับข้อมูลที่อ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์จริงอยู่บ้าง นั่นคือในนิยายนั้นผู้ที่ยกทัพมาสู้กับขงเบ้งคือสุมาอี้ แต่ในของจริงเป็นเตียวคับ ส่วนสุมาอี้นั้นสั่งการกองทัพอยู่แนวหลัง
โดยรายละเอียดในผลงานครั้งนี้ก็คือเดิมทีขงเบ้งได้ติดต่อกับเบ้งตัดซึ่งมาสวามิภักดิ์กับวุยก๊กหลังจากที่กวนอูตายว่าหากช่วยงานตีวุยก๊กจากด้านในสำเร็จ ฝั่งจ๊กก๊กจะยอมให้อภัยและให้กลับมามีตำแหน่งสูงยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเบ้งตัดก็รับคำ เพราะตอนนั้นเขาเองก็ไม่พอใจที่ฝั่งวุยไม่ยอมให้เขามีตำแหน่งสูงอย่างที่เคยตั้งใจไว้ในตอนแรก
สุมาอี้เมื่อได้อำนาจทหารคืนมาก็รีบลงมือแบบสายฟ้าแลบ นำกองทัพด้วยตัวเองเข้าโจมตีเบ้งตัดที่มัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่โดยไม่ให้ตั้งตัว ทั้งที่ขงเบ้งเองก็ส่งจดหมายมาเตือนเบ้งตัดแล้วว่า เมื่อสุมาอี้ได้อำนาจทหารคืน ต้องรีบลงมือ แต่เบ้งตัดดันบอกกลับไปว่าไม่เห็นต้องไปกังวล เพราะสุมาอี้จะออกศึกนั้นก็ต้องขอรับสั่งจากฮ่องเต้ก่อน
ขงเบ้งเจอจดหมายตอบกลับแบบนั้นก็แทบขว้างทิ้งแล้วบอกว่า แม่ทัพออกศึกแนวหน้าไม่จำเป็นต้องฟังกษัตริย์ สุมาอี้เองรู้ดีในหลักการข้อนี้ว่าหากจะปราบกบฏก็ต้องลงมือทันที ครานี้เบ้งตัดไม่รอดแน่ และก็เป็นจริง ซึ่งนั่นก็ส่งผลกระเทือนให้แผนการใหญ่ของขงเบ้งที่วางไว้พังพินาศหมดสิ้น
สุมาอี้ได้รับเครดิตจากชัยชนะไปเต็มๆ และภายหลังจากนั้นแม่ทัพใหญ่โจจิ๋นซึ่งรู้สึกผิดหวังในผลการรบของตนที่ไม่อาจต้านทานขงเบ้งไว้ได้นั้น ก็ป่วยหนักและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้โจยอยแต่งตั้งสุมาอี้ให้ขึ้นรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แทน และสุมาอี้ก็ได้กลายเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและอำนาจในการควบคุมกองทัพอย่างเต็มที่เพื่อการต่อสู้กับจ๊กก๊ก
อำนาจและบารมีของสุมาอี้ก็เริ่มขึ้นจากจุดนั้น หลายปีต่อมาขงเบ้งพยายามยกทัพเข้าตีวุยแต่ไม่เป็นผล นั่นทำให้สุมาอี้ยิ่งมีผลงานและบารมีกับเหล่าทหารและผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บรรดาแม่ทัพและนายทหารที่เป็นคนของตระกูลโจค่อยๆล้มตายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเตียวคับซึ่งเป็นแม่ทัพคนสุดท้ายที่รับใช้ตระกูลโจมาแต่สมัยโจโฉและยังมีชีวิตอยู่ได้ตายลง เท่ากับว่าเหล่าแม่ทัพรุ่นใหม่ๆต่อจากนี้เป็นคนที่สุมาอี้ปั้นขึ้นมาทั้งสิ้น
ในนิยายสามก๊กพูดถึงการศึกสุดท้ายระหว่างขงเบ้งและสุมาอี้ได้อย่างดุเดือด ที่น่าสนใจคือเรื่องที่ขงเบ้งวางแผนหลอกล่อให้สุมาอี้เข้ามาในหุบเขาน้ำเต้า และกะจะสังหารสุมาอี้ด้วยการวางดินระเบิดเอาไว้ในหุบเขา เมื่อล่อสุมาอี้เข้าไปแล้วก็จุดระเบิดเพื่อจัดการสุมาอี้ในทีเดียว
แผนการทำท่าจะสำเร็จ แต่ระหว่างที่ดินระเบิดกำลังถล่มกองทัพของสุมาอี้นั้น ได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุมาอี้รอดตายออกมาได้ จนขงเบ้งถึงกับท้อว่าวางแผนทุกอย่างดิบดี แต่ฟ้าไม่เป็นใจ
เรื่องนี้บ้างก็วิเคราะห์กันว่าอาจจะเป็นเรื่องแต่ง เพราะสมัยนั้นจีนยังคิดค้นดินปืนหรือดินระเบิดไม่ได้ การนำมาใช้ยังเป็นเพียงแค่ประทัดในงานรื่นเริงหรือการใช้ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น กว่าจะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นดินระเบิดที่ใช้ช่วยในการทำศึกได้ก็ต้องรอจนถึงสมัยราชวงศ์ถัง และได้ปรับปรุงจนใช้งานได้เต็มที่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีนับจากยุคสามก๊ก แต่หากหลอก้วนจงแต่งเรื่องราวออกมาเช่นนี่ เขาอาจจะต้องการสื่อถึงว่าคนจะเป็นใหญ่แม้แต่ฟ้าก็ยังช่วยหนุนก็ได้กระมัง
เมื่อขงเบ้งตายลงในปีค.ศ.234 โดยที่ไม่อาจจะตีเมืองเตียงฮันได้ นั่นเท่ากับเป็นผลงานสุดยิ่งใหญ่ของสุมาอี้ที่สามารถปราบมังกรหลับ ศัตรูตัวฉกาจที่สุดของวุยก๊กได้สำเร็จ เวลานี้ทอดตาไปทั่วแผ่นดินผู้ แม่ทัพหรือกุนซือ หรือจอมวางแผนผู้เก่งกาจที่จะต่อกรกับเขาแทบจะไม่มีอีกแล้ว จะเหลือก็เพียงลกซุนแห่งง่อคนเดียว แต่นโยบายของง่อคือการตั้งรับเป็นหลัก ดังนั้นแทบจะหมดห่วงในจุดนี้ได้ อีกทั้งลกซุนเองก็ไม่สนับสนุนนโยบายเชิงรุก ตัวซุนกวนเองก็เห็นชอบที่จะตั้งรับในดินแดนอีกฟากของแม่น้ำแยงซีมากกว่า หลังจากล้มเหลวในการรุกเข้ายึดหับป๋ามาหลายครั้ง
ในปีค.ศ.237 เกิดกบฏที่เหลียวตงโดยกองซุนเอี๋ยน ลุกฮือขึ้นเพราะไม่พอใจการปกครองของโจยอย ระดมทหารได้หลายแสนคนหมายจะบุกตีลกเอี๋ยง พระเจ้าโจยอยจึงให้สุมาอี้นำกำลังทหารไปปราบ แต่ไม่อาจระดมไปได้มากนัก เพราะต้องเหลือไว้รับศึกจ๊กก๊กและง่อก๊ก สุมาอี้จึงเอาทหารไปเพียง 4 หมื่นคน
เขาใช้เวลานานถึง 2 ปีในการเดินทางไปเหลียวตงที่เส้นทางลำบากยากแค้น แต่ด้วยความอดทนและมุ่งมั่นที่จะชนะศึกของสุมาอี้ แม้เสบียงจะหมดลงและกำลังทหารของเขามีน้อยกว่าเป็นเท่าตัว แต่ก็สามารถเอาชนะกองซุนเอี๋ยนลงได้ ซึ่งศึกนี้เป็นการประกาศศักดาตอกย้ำถึงความหนักแน่นของสุมาอี้ได้อีกครั้ง
พูดถึงพระเจ้าโจยอยเล็กน้อย ฮ่องเต้องค์นี้เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและปรีชาสามารถคนหนึ่ง ประวัติในวัยเด็กก็บ่งบอกว่าเป็นผู้ที่ถือคุณธรรม เมื่อแรกขึ้นนั่งบัลลังก์เขาก็บริหารราชการอย่างดี แต่ภายหลังดันไปลุ่มหลงในสุราและนารี จนเป็นเหตุให้เหล่าขุนนางไม่พอใจและประชาชนก่นด่าไปทั่ว ก่อนที่จะออกศึกเลียวตั๋ง สุมาอี้ได้รับฟังการระบายจากขุนนางเหล่านั้นก็ได้แต่เงียบและสงวนท่าที โดยบอกต่อเหล่าขุนนางว่าอย่าได้ทักท้วงฮ่องเต้ เพราะไม่เช่นนั้นหัวขุนนางผู้ภักดีจะต้องหลุด ซึ่งเขาไม่อยากให้บ้านเมืองเสียคนดีๆไปมากกว่านี้ นับแต่นั้นจึงไม่มีผู้ใดทัดทานการปกครองที่โหดเหี้ยมของโจยอย และส่งผลให้เกิดการต่อต้านตระกูลโจมากขึ้น อาจเป็นได้ว่านี่เป็นความตั้งใจของสุมาอี้ในทำให้ตระกูลโจทำลายตัวเอง โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรด้วยซ้ำ
เมื่อสุมาอี้ชนะศึกที่เหลียวตง ระหว่างเดินทัพกลับได้ข่าวโจยอยประชวร จึงรีบเร่งเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้าเฝ้า ซึ่งก่อนตาย โจยอยได้ฝากฝังบุตรชายโจฮองที่อายุแค่ 9 ปีให้สุมาอี้ดูแล โดยงานบ้านเมืองนั้นให้สุมาอี้และโจซองที่เป็นบุตรชายของอดีตแม่ทัพใหญ่โจจิ๋นและเป็นพระญาติใกล้ชิดคอยดูแลควบคู่กัน แล้วก็สิ้นลง
โจซองนั้นหวั่นเกรงสุมาอี้ว่าจะทำการใหญ่ จึงคิดจะลิดรอนอำนาจด้วยการเลื่อนยศเขาให้ไปเป็นราชครูอันเป็นตำแหน่งระดับสูงแต่ไร้อำนาจทางทหาร เป็นการจัดการกับสุมาอี้อย่างแยบยล ซึ่งตัวสุมาอี้เองก็พอจะรู้ว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลัง จึงจำยอมรับตำแหน่งราชครูและให้ลูกชายทั้งสองคนคือสุมาสูและสุมาเจียวลาออกตามด้วย เพื่อสร้างภาพลวง และหันไปเน้นให้กับการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อสร้างภาพและความนิยมกับผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาแอบซ่องสุมกำลังคนไว้อย่างลับๆเพื่อเตรียมจะก่อการในวันหน้า
สุมาอี้เป็นคนที่ร้ายกาจมาก เขาอดทนรอคอยเวลาโดยไม่ยอมแก่ตายสักทีเป็นเวลานานถึง 8 ปี โดยไม่ยุ่งเรื่องการเมืองและการบริหารประเทศ ปล่อยให้โจซองและพรรคพวกทำการตามอำเภอใจ แต่ตนเองนั้นพร้อมจะแว้งกัดทันทีเมื่อโอกาสมาถึง
และมันก็มาถึงจริงๆ ในปีค.ศ.249 โจซองได้ส่งคนของตนไปตรวจสภาพของสุมาอี้ จิ้งจอกเฒ่ารู้ว่าคนของโจซองมาเยี่ยมที่บ้านก็แกล้งทำเป็นป่วยและหลอกจนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามหลงเชื่อและไปรายงานโจซองว่าสุมาอี้ป่วยหนัก คิดว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน โจซองกระหยิ่งในใจว่าหมดเสี้ยนหนามแล้ว ภายหลังจึงได้พาพรรคพวกตนออกไปล่าสัตว์นอกเมืองพร้อมๆกับอัญเชิญฮ่องเต้ไปด้วย เรียกว่าขนกันไปทั้งโขยง
สุมาอี้เมื่อรู้ว่าพวกโจซองออกไปนอกเมือง ก็รู้ว่าโอกาสมาถึงจึงสั่งการให้คนของตนที่ซ่องสุมไว้ประมาณ 3 พันคนลงมือทันที โดยกุยห้วยแม่ทัพคนสนิทที่ออกศึกมาตั้งแต่ครั้งสู้กับขงเบ้งที่กิสานได้นำกำลังพลเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในเมืองหลวง
ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาสุมาอี้ได้วางคนของตนไว้ในจุดสำคัญๆของเมืองหลวงทั้งหมด เพื่อรอโอกาสเตรียมทำการรัฐประหาร นอกจากนี้ก็ยังมีเหล่าแม่ทัพนายทหารไม่ใช่น้อยที่เป็นคนของสุมาอี้และเคยร่วมทำสงครามมาตั้งแต่สมัยที่สู้กับขงเบ้ง แม่ทัพเก่งๆของวุยเช่นกุยห้วยนั้นก็เป็นผู้ที่สุมาอี้ส่งเสริมให้ได้ผลงานและก็ร่วมออกศึกกับสุมาอี้มาหลายปี ดังนั้นคนเหล่านี้ย่อมที่จะเข้าร่วมกับสุมาอี้ด้วยแน่นอน และในเวลาไม่นานคนของสุมาอี้ก็สามารถเข้าควบคุมจุดสำคัญในเมืองหลวงได้หมด โดยที่ตัวสุมาอี้เองนั้นนำกำลังไปดักพวกโจซองไว้ที่หน้าเมือง และให้สุมาสูและสุมาเจียวบุตรชายเข้าไปอัญเชิญประกาศกล่าวโทษโจซองจากไทเฮาถึงในตำหนัก เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารครั้งนี้
โจซองที่รู้ข่าวรัฐประหารสายฟ้าแลบของสุมาอี้ก็ตกใจสุดขีด คิดจะยกทัพกลับเข้ามาลุยกับสุมาอี้ในเมืองหลวง แต่สุมาอี้นั้นได้ส่งทูตเกลี้ยกล่อม โดยแจ้งว่าที่ทำไปเพียงต้องการยึดอำนาจการทหารคืนเท่านั้น หากว่าโจซองยอมมอบตัวก็จะไม่ทำอะไรและจะให้อยู่ต่อไปอย่างสุขสบาย
โจซองเติบโตมาในฐานะเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่ไม่เคยเจอความลำบาก ไม่เคยออกรบ เมื่อเจอไม้นี้เข้าไปจึงเกิดใจอ่อน เพราะคิดว่าขอเพียงรักษาชีวิตไว้ให้ได้อยู่อย่างสบายก็พอ และพวกตนก็เป็นถึงพระญาติ สุมาอี้คงไม่กล้าทำอะไร จึงยอมมอบตัว
แต่สุมาอี้นั้นรู้ดีว่าจะตัดรากต้องถอนโคน เมื่อได้ตัวพรรคพวกของโจซองก็สั่งประหารโคตรญาติตระกูลโจของโจซองถึง 7 ชั่วโคตร และยังลามไปถึงพวกคนในตระกูลแฮหัวที่เกี่ยวดองเป็นญาติกันด้วย
เรื่องครั้งนี้ทำให้แฮหัวป๋า แม่ทัพซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของแฮหัวเอี๋ยนไม่พอใจและลุกฮือขึ้นแถบชายแดน แต่ก็ถูกกุยห้วยแม่ทัพของสุมาอี้ตีจนแตกพ่ายไปและจำต้องไปสวามิภักดิ์อยู่กับเกียงอุยที่จ๊กก๊กแทน
สุมาอี้ขึ้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียวในเมืองหลวง โดยที่ประชาชนก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะการปกครองของตระกูลโจในช่วงหลังๆที่ผ่านมานับแต่ปลายสมัยของโจยอย จนถึงช่วงที่โจซองครองอำนาจ ได้ทำการกดขี่ต่อประชาชนไว้มาก
สุมาอี้ได้รับตำแหน่งไจเซี่ยง มีอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในมือ แต่กระนั้นก็ไม่ยอมล้มล้างราชวงศ์วุยเพื่อตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ซะเอง จะว่าไปเขาก็ลอกเลียนวิธีการนี้มาจากโจโฉนั่นคือการยอมอยู่ใต้คนเดียว แต่อยู่เหนือคนนับหมื่น เพียงแต่เขาโหดเหี้ยมมากกว่าตรงที่สั่งล้างตระกูลโจถึง 7 ชั่วโคตร ในขณะที่โจโฉยังเลี้ยงดูพระเจ้าเหี้ยนเต้และเหล่าพระญาติอย่างดี แม้จะปลดลงในสมัยที่โจผีขึ้นครองอำนาจ แต่ก็มิได้ประหารล้างโคตรขนาดนี้ นับว่าสุมาอี้ยังโหดและเด็ดขาดกว่าโจโฉอีกหนึ่งขั้นในการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ
ปีค.ศ.251 สุมาอี้ที่เป็นผู้มีอำนาจสงสุดในวุยได้ล้มป่วยลง และถึงแก่กรรมไปด้วยวัย 72 ปี ปล่อยให้บุตรชายทั้งสองคนคือสุมาสูและสุมาเจียวสืบทอดการก่อตั้งราชวงศ์ของตระกูลสุมาต่อไป ซึ่งรากฐานอันแข็งแกร่งและแน่นหนาที่สุมาอี้สร้างไว้ ก็ทำให้บุตรชายทั้งสองสามารถสืบสานงานใหญ่ต่อได้อย่างสะดวก และก็ประสบความสำเร็จเมื่อสุมาเอี๋ยนหลายชายของสุมาอี้ได้ทำการปราบดาภิเษก ล้มล้างราชวงศ์วุยของตระกูลโจ และขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จิ้นนามพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ ในปี ค.ศ.265 และรวมแผ่นดินจีนที่แตกเป็นสามก๊กให้เป็นหนึ่งได้อีกครั้งในปี 280 เป็นอันปิดฉากยุคสามก๊กอันยาวนานลง
จากนั้น สุมาเอี๋ยนได้ถวายพระนามย้อนหลังให้สุมาอี้ผู้เป็นปู่ให้เป็นพระเจ้าจิ้นซวนตี้ ในฐานะที่เป็นผู้วางรากฐานอำนาจให้แก่ตระกูลสุมาและราชวงศ์จิ้น
ชื่อของสุมาอี้ถูกกล่าวถึงในแง่ของคนหน้าด้านใจดำ ที่พร้อมจะกระทำทุกอย่างให้สำเร็จตามเป้าหมายด้วยความใจเย็นอย่างที่คงไม่มีใครในสามก๊กจะเย็นเท่านี้อีกแล้ว เขาสามารถอดทนรอคอยโอกาสได้อย่างยาวนานเป็นหลายๆปี เพื่อการยึดอำนาจมาเป็นของตนเอง และยังเป็นผู้ที่เก่งกาจในการนำทัพ วางแผนการเอาชนะข้าศึกอีกด้วย
ในเรื่องสามก๊กนั้นยกย่องขงเบ้งเป็นกุนซือที่เก่งที่สุด และโจโฉเป็นคนที่โหดเหี้ยมที่สุด แต่เมื่อดูจากเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว น่าจะพูดได้ว่าสุมาอี้คือคนที่ร้ายกาจที่สุดและผู้ชนะตัวจริงของการแก่งแย่งอำนาจในเรื่องสามก๊ก....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น