วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก งักจิ้น เหวินเฉียน


สามก๊ก งักจิ้น เหวินเฉียน
สามก๊ก งักจิ้น เหวินเฉียน

งักจิ้น ชื่อรอง เหวินเฉียน เกิดที่ตำบล เอียงผิง ในรัฐเว่ย (ปัจจุบันคือ เมืองชิงเฟิง ในมณฑลเหอหนาน) งักจิ้นเป็นคนที่มีรูปร่างเตี้ยและตัวเล็ก แม้จะมีจุดด้อยที่ร่างกายแต่จิตใจของเขากลับห้าวหาญยิ่งนัก รายละเอียดของชีวิตในตอนต้นนั้นไม่ปรากฏ มีกล่าวถึงก็ในตอนที่เขาได้เข้าร่วมกับกองทัพของโจโฉในตำแหน่งนายทหารชั้นผู้น้อย และเขาได้รับมอบหมายให้กลับไปรวบรวมคนที่บ้านเกิดให้มาเข้าร่วมกองทัพโจโฉ ซึ่งเขาสามารถเกณฑ์คนมาได้กว่าพันคน ดังนั้นงักจิ้นจึงถูกเลื่อนขั้นเป็นนายทหารระดับนายพัน (จวินเจียซือหม่า) และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองพัน (เซียนเแินตู้เว่ย) ในกาลต่อมา งักจิ้นก็ฉายแววโดดเด่นในหลายๆสมรภูมิ เช่น ศึกลิโป้ ที่เมืองปักเอี๊ยง , ศึกเตียวเจี๋ยว (น้องเตียวเมา) ที่เมือง หยงฉิว และ ศึกเตียวเสง ที่เมือง ขู่ จนได้รับพระราชทานศักดินาเป็นพระยาแห่งเมืองกวงฉาง หลังจากนั้น งักจิ้น ได้เข้าร่วมรบในศึกกับ เตียวสิ้ว ที่เมือง อันต๋ง , ลิโป้ ที่เมืองแห้ฝือ (เมืองที่มั่นสุดท้ายของลิโป้ ในศึกนั้นงักจิ้นได้สังหารขุนพลของลิโป้หลายคน) , ซุยกู่ ที่เมือง เชอฉวน , เล่าปี่ ที่เมืองเสียวพ่าย ที่อ้างมาทั้งหมดนี้เป็นศึกที่ได้รับชัยชนะทั้งสิ้น ทำให้งักจิ้นถูกเลื่อนยศเป็นทหารระดับชั้นพันเอก (จี้โข่วเสียวเว่ย : นายพันปราบโจร) ต่อมา งักจิ้นได้นำทัพข้ามแม่น้ำไปโจมตี เฮาเจี๋ย แต่ถูกเรียกตัวกลับภายหลัง

ต่อมางักจิ้นก็เข้าร่วมศึกยุทธการกัวต๋อ (เรียกรวมจากการรบที่ท่าข้ามแปะแบ๊ , ท่าข้ามเอี๋ยน และที่ราบกัวต๋อ เป็นยุทธการกัวต๋อ ซึ่งเป็นการรบระหว่างโจโฉและอ้วนเสี้ยว เพื่อชิงความเป็นใหญ่ในพื้นที่แถบแม่น้ำฮวงโห) งักจิ้นได้ทำการรบอย่างกล้าหาญ และได้สังหาร ฉุนอิเขง (ผู้คุมเสบียงหลักที่อัวเจ๋า ในครั้งนั้น โจโฉได้นำทหาร 5,000 นาย แต่งเป็นทัพกองโจร เข้าโจมตีคลังเสบียงที่อัวเจ๋า ในตอนกลางคืน) หลังสมรภูมิกัวต๋อ งักจิ้น มีส่วนร่วมในการติดตามโจมตี อ้วนถำและอ้วนซง (ทายาทของอ้วนเสี้ยว) ที่เมือง ลิหยาง ที่นั่น งักจิ้นได้สังหารนายพลเอก หยานจิ้ง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับยศ นายพลกองโจร (โหย่วจี้เจียงจวิน) หลังจากนั้นงักจิ้นได้นำทัพไปโจมตีโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่ จนปราบได้ราบคาบและอยู่รักษาความสงบที่เมือง เยว่อัน ระยะหนึ่ง และในศึกโจมตีเมือง เย่ งักจิ้นได้เข้าร่วมด้วย จนสามารถทลายทัพอ้วนถำที่เมือง ลำพี โดยที่งักจิ้นเป็นคนแรกของทัพโจโฉที่ก้าวผ่านประตู(ทิศตะวันออก)ของเมือง หลังศึกครั้งนั้น งักจิ้นก็ไปปราบกบฏ หยงหนู และเป็นฝ่ายชนะอีกครา 

เจี้ยนอันศก (แปลว่า เริ่มต้นความสงบสุข) ปีที่11 (ตรงกับค.ศ. 206) โจโฉได้กล่าวสรรเสริญ งักจิ้น , อิกิ๋ม และ เตียวเลี้ยว ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเหี้ยนเต้ โดยโจโฉได้กล่าวถึงคนทั้งสามว่า “เชี่ยวชาญทั้งวิทยายุทธ และ พิชัยยุทธ มีความจงรักภักดีสูง และเคร่งครัดต่อวินัยในกองทัพ พวกเขาจะอยู่แนวหน้าเสมอในทุกๆ สมรภูมิ อีกทั้งมีความพยายามต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อทลายเครื่องกีดขวาง และการต่อต้านแข็งขืนทั้งหลาย เมื่อพวกเขาถูกส่งไปรบ ในฐานะของผู้บังคับบัญชา พวกเขาได้สร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกองทัพ (ที่มาจากคนหลายท้องที่) พวกเขาไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่ง และยังสามารถดำเนินการตัดสินใจกระทำการได้ทันท่วงทีในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับข้าศึก โดยก่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ดังนั้น ความดีความชอบของพวกเขา (จากบันทึกหลวง) ก็ควรได้รับการตบรางวัลให้สมแก่เหตุ” จึงมีรับสั่งแต่งตั้ง อิกิ๋มเป็น หูเว่ยเจียงจวิน (หู่เหวยเจียงจวิน : นายพลพยัคฆ์หาญ) งักจิ้นเป็น เจอจงเจียงจวิน เตียวเลี้ยวเป็น ตังโข่วเจียงจวิน

ต่อจากนั้น งักจิ้นได้รับคำสั่งให้ไปโจมตี โกกัน (หลานอ้วนเสี้ยว) ซึ่งงักจิ้นได้นำทหารตัดทางลัดไปโผล่ด้านหลังค่ายของ โกกัน ทำให้ทัพ โกกัน ต้องถอยร่นไปปักหลักป้องกันที่ ด่านพยัคฆ์ (โกกัน ตายในที่รบหลังจากนั้น) ก่อนหน้าที่แนวป้องกันของ โกกัน จะทลายลง งักจิ้นได้นำทัพไปสมทบกับกองทัพหลวง (ที่โจโฉนำทัพมาด้วยตัวเอง) วัตถุประสงค์เพื่อ โจมตี กวงเฉิง และ จวินฉุนยู่ งักจิ้นกับลิเตียนได้รับคำสั่งให้เข้าโจมตีทัพทั้งสองนี้ จน กวงเฉิงพ่ายแพ้ ต้องหลบหนีไปกบดานตามเกาะ ศึกครั้งนั้นได้นำความสงบสุขมาสู่พื้นที่แถบชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ 

ในระหว่างที่ โจโฉ ยังไม่ได้ครอบครองพื้นที่แคว้นเกงจิ๋ว งักจิ้นได้ถูกส่งไปประจำการที่เมือง หยางตี้ และในตอนที่โจโฉ ยึกพื้นที่เกงจิ๋วได้แล้ว งักจิ้นได้ถูกย้ายไปประจำการที่เซียงเอี๊ยง ที่เซียงเอี๋ยง งักจิ้นได้โจมตีทัพกวนอู และโซหุย จนล่าถอยไป ในกาลนั้นทำให้บรรดาชนเผ่าเล็กๆมากมายแถบภูเขา (แถวแคว้น หนาน) เข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อมางักจิ้นก็มีส่วนร่วมในการไล่ล่าเล่าปี่ ไม่กี่ปีต่อมา งักจิ้นก็มีส่วนในการบุกโจมตีแคว้นง่อ และในตอนที่โจโฉต้องล่าถอยจากยุทธการผาแดง (ค.ศ. 208) งักจิ้นได้ประจำการป้องกันทัพซุนกวนที่เมืองหับป๋า ร่วมกับเตียวเลี้ยวและลิเตียน

หลังจากนั้นงักจิ้นได้รับที่ดินศักดินาเพิ่มเติมอีก 500 ครัวเรือน (จากของเดิม 1,200 ครัวเรือน) ภายหลังได้รับอนุญาตให้โอนศักดินาให้บุตรชาย 500 ครัวเรือน และงักจิ้นได้เลื่อนขั้นเป็นแม่ทัพขวา (อิ๋วเจียงจวิน) จากความชอบครั้งป้องกันเมืองหับป๋า 

เจี้ยนอันศกปีที่ 23 (ค.ศ. 218) งักจิ้นเสียชีวิต จึงได้รับพระราชทานยศเป็นเว่ยโหว (เว่ยโหว : พระยาแกล้วกล้า)

ทายาทของเขา งักหลิน แทบถอดแบบมาจากตัวงักจิ้น และงักหลินได้เป็นเจ้าเมือง เอียงจิ๋ว (หยางโจว) ในตอนที่ จูกัดเอี๋ยน ก่อกบฏ งักหลินถูกซุ่มโจมตีจนเสียชีวิต จึงได้รับพระราชทานตำแหน่ง เว่ยเ่ว่ย (ผู้บังคับการองครักษ์)หนึ่งในเก้าเสนาบดี มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเมืองหลวง โดยเฉพาะกำแพงและประตูเมือง มีทหารในสังกัดสองพันนาย : อ้างจากการแปลในกระทู้ยศทหารในสามก๊กโดยพี่ซุนเซ็ก) และได้รับบรรดาศักดิ์พระราชทานเป็น หมินโหว (หมินโหว : พระยาไมตรี) โดยมี เยว่จ้าว เป็นผู้สืบทอด 

สำหรับ บทบาทของงักจิ้นในฉบับนิยาย (โดยหลอก้วนจง) งักจิ้นปรากฎตัวครั้งแรกใน ตอนที่ 5 ซึ่งเขาเข้าร่วมกับทัพโจโฉ เมื่อครั้งที่โจโฉกำลังเตรียมทัพไปร่วมกับอีก 17 ทัพหัวเมือง ในการบุกโจมตีตั๋งโต๊ะ ซึ่งเป็นทรราชย์ที่ใช้ฮ่องเต้เป็นหุ่นเชิด และถูกแต่งให้เสียชีวิตใน ตอนที่ 68 คาดว่าเป็นเพราะช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตงักจิ้นมีวีรกรรมที่ได้รับการบันทึกเอาไว้น้อย ซึ่งงักจิ้นได้ร่วมรบในการบุกแคว้นง่อ (หลังเหตุการณ์เมืองหับป๋า) ระหว่างเผชิญหน้ากับทัพง่อที่ริมฝั่งแม่น้ำ หยูสวีงักจิ้นได้ดวลกับเล่งทอง แล้วมีลูกเกาทัณฑ์จากโจฮิว ปักใส่ตัวม้าของเล่งทอง ทำให้ม้าของเล่งทองเตลิดหนี งักจิ้นจึงไสม้าไล่ตาม แต่ถูกยิงแสกหน้าเสียชีวิต โดยน้ำมือของกำเหลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น