เตียวเลี้ยว อุ๋นเหวียน
"เด็กร้องไห้เมื่อได้ยินชื่อเตียวเลี้ยว ยังต้องหยุด" คำกล่าวประโยคนี้คงเป็นคำนิยามถึงยอดขุนพลผู้นี้ได้เป็นอย่างดี ในบรรดาขุนพลของฝั่งวุยนั้น เตียวเลี้ยวเป็นขุนพลที่ได้ชื่อว่ามีครบเครื่องทุกอย่าง ไม่ว่าจะฝีมือบู๊ การบัญชากองทัพ ความกล้าหาญ ไหวพริบ ความรู้ในหลักพิชัยสงคราม ความกล้าหาญและสิ่งสำคัญสุดคือคุณธรรม เรียกว่าในกลุ่มของขุนพลที่เข้ามาอยู่กับโจโฉทีหลังนั้น เตียวเลี้ยวถูกยกย่องเป็นหัวแถวหน้าสุดทีเดียว บางตำนานถึงกับยกย่องเตียวเลี้ยวเป็นคนเก่งที่สุดของห้าทหารเสือฝ่ายวุยอันประกอบด้วย เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ อิกิ๋ม งักจิ้น นอกจากนี้เขายังมีสัมพันธ์กับกวนอูของฝ่ายจ๊กก๊กในแง่คุณธรรม ทำให้ภาพพจน์ของเตียวเลี้ยวในสายตาคนอ่านสามก๊กดูดีขึ้นไปอีก
ถ้าจะกล่าวว่านี่คือขุนพลเอกของวุยก๊กก็ไม่ผิด หากไม่ติดตรงที่เขาเป็นแม่ทัพที่มาสวามิภักดิ์ภายหลังและโจโฉมีขุนพลเก่งๆที่เป็นญาติอย่างแฮหัวตุ้นหรือโจหยินและตัวเขาเองมีอายุยืนกว่านี้ล่ะก็ ไม่แน่ว่าตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ (ต้าซือหม่า)อาจกลายเป็นของเขาไปแล้ว
ประวัติโดยย่อ
เตียวเลี้ยว หรือ จางเหลียว เกิดเมื่อปีค.ศ.169 บางฉบับว่า 168 เป็นชาวเมืองเอียนเหมิน ชื่อรองคือ อุ๋นเหวียน มีพื้นเพเป็นชาวจีนตอนเหนือทำให้เก่งกาจในการขี่ม้า รำทวน ตามแบบฉบับของขุนพลจีนตอนเหนือที่ขี่ม้าเก่ง
ไม่มีประวัติในตอนเด็ก รู้เพียงว่าเดิมทีเขาไม่ได้แซ่เตียว แต่เนื่องจากถูกศัตรูตามล่าจึงต้องเปลี่ยนชื่อแซ่ ประกอบกับช่วงนั้นเกิดโจรผ้าเหลืองที่นำโดยเตียวก๊กโด่งดังไปทั่ว เขาจึงเปลี่ยนแซ่เป็นเตียวไป
เตียวเลี้ยวเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นนายทหารในกองทัพม้าของลิโป้ โดยมาแสดงผลงานโดดเด่นจนเป็นที่เข้าตาของลิโป้ในช่วงที่กำลังเริ่มเปิดศึกกับโจโฉ ทำให้ได้ตำแหน่งเป็นแม่ทัพม้าคนสำคัญของฝ่ายลิโป้ ซึ่งการได้ติดตามนักรบระดับเทพสงครามเช่นลิโป้นี้ ทำให้ลิโป้ได้ซึมซับความเก่งกาจในเชิงยุทธ์มาไม่มากก็น้อย
จากนั้นภายหลังเมื่อลิโป้นำกองทัพเข้ารบกับลิโป้ แต่ก็รบแพ้จึงถอยร่นมาขอพึ่งพิงเล่าปี่ซึ่งตอนนั้นรับสืบทอดครองเมืองชีจิ๋วต่อจากโตเกี๋ยม ตอนนั้นเองที่เขาได้รู้จักกับกวนอู
คนทั้งสองได้คุยกันถูกคอจึงคบหากันเป็นสหาย บุคลิกของเตียวเลี้ยวจะอ่อนโอนกว่าของกวนอูนิดหน่อย แต่ด้วยความที่เตียวเลี้ยวเป็นคนถือคุณธรรม กวนอูเองก็เป็นคนที่ชอบคุณธรรมและยึดสิ่งนี้เป็นหลัก พวกเขาทั้งคู่จึงคบหากันมาได้ดี
ภายหลังลิโป้และเล่าปี่เกิดแตกหันกันขึ้น เพราะลิโป้ดอดยึดเอาเมืองชีจิ๋วมาจากเล่าปี่ตอนที่ออกไปรบติดพันกับทางอ้วนสุด เมื่อเล่าปี่กลับมาขอทวงเมืองคืนก็ถูกไล่ให้ไปเฝ้าอยู่ที่เสียวพ่าย ภายหลังอ้วนสุดยกทัพมาตีเสียวพ่าย ลิโป้ก็ได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้เล่าปี่กับอ้วนสุด ทำให้ทัพของอ้วนสุดต้องถอยไป ลิโป้ก็ถือเอาสิ่งนี้เป็นบุญคุณต่อเล่าปี่ ทั้งที่ตอนแรกตัวเองเป็นฝ่ายยึดเมืองเขามาก่อน
เล่าปี่เจ็บใจลิโป้ยิ่งนักจึงไปผูกมิตรกับโจโฉ ลิโป้ทราบข่าวจึงแค้นมากและส่งกองทัพเข้าตีเล่าปี่ แต่เล่าปี่เองก็ได้ทัพหนุนจากโจโฉมาช่วยไว้
ปี ค.ศ.197 ในการศึกที่ชีจิ๋ว สรุปสั้นๆว่าลิโป้ว่าพ่ายแพ้และถูกจับตัวได้เช่นเดียวกับเหล่าขุนพลคนอื่นๆ ซึ่งเมื่อถูกจับนั้นลิโป้ได้ร้องขอชีวิตต่อโจโฉ แต่เตียวเลี้ยวกลับร้องว่า "เกิดมาเป็นชายชาติทหาร จะกลัวตายไปใย!" รวมกับเล่าปี่ กวนอูขอชีวิตไว้ด้วย และโจโฉเองก็ถูกใจในความกล้าของเตียวเลี้ยว จึงเกลี้ยกล่อมให้เขาสวามิภักดิ์
จากนั้นเตียวเลี้ยวก็เข้าสังกัดในกองทัพของโจโฉ โดยมีหน้าที่คุมกองทหารม้าซะส่วนใหญ่ เพราะนี่คือขุนพลทหารม้าที่เก่งที่สุดในทัพของโจโฉ
จากนั้นต่อมาเล่าปี่ก็เกิดผิดใจกับโจโฉ และถูกโจโฉไล่ตีจนหนีกระเจิง เหลือเพียงกวนอูที่รับหน้าที่องครักษ์พิทักษ์ครอบครัวเล่าปี่ และถูกล้อมกรอบอยู่แถวเมืองแห้ฝือ โจโฉนั้นอยากได้กวนอูแต่กวนอูนั้นภักดีต่อเล่าปี่อย่างยิ่ง เตียวเลี้ยวจึงอาสาเกลี้ยกล่อมโดยยกเอาคุณธรรมสามประการขึ้นอ้างเพื่อให้กวนอูยอมสวามิภักดิ์
กวนอูยอมสวามิภักดิ์กับโจโฉเพราะการเกลี้ยกล่อมของเตียวเลี้ยวแต่ได้ขอคำสัญญาว่าหากพบข่าวเล่าปี่เมื่อใด ตนจะจากไปทันที และจากนั้นกวนอูและเตียวเลี้ยวก็ได้เข้ามาเป็นผู้ควบคุมกองทหารในหน่วยเดียวกัน และในที่สุดกวนอูก็ผละจากไปหลังรู้ข่าวเล่าปี่ และสร้างผลงานสังหารนายทหารเอกขออ้วนเสี้ยวตาย
หลังจากการเผด็จศึกกับอ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อ โจโฉกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวแห่งภาคกลางและภาคเหนือ เตียวเลี้ยวก็เป็นแม่ทัพคนสำคัญที่มีส่วนช่วยในการศึกมากมายและยกระดับจากที่เป็นเพียงแม่ทัพสวามิภักดิ์มาเป็นแม่ทัพแถวหน้าคนสำคัญของฝ่ายโจโฉ
ปีค.ศ.207 อ้วนซงและอ้วนฮี บุตรคนรองและคนที่สามของอ้วนเสี้ยวได้หนีตายไปยังแดนของเผ่าฮูหวนในมณฑลอิวจิ๋ว โจโฉหมายจะตัดรากตระกูลอ้วนให้สิ้นซาก จึงยกทัพบุกฝ่าความหนาวเย็นในแดนทุรกันดารทางเหนือด้วยตัวเอง ฝ่ายอ้วนซง อ้วนฮีและเป๊กตุ้น ประมุขเผ่าฮูหวน โหลผานเจ้าเมืองเลียวไซ จึงนำกองทัพม้าฮูหวนจำนวนหลายหมื่นออกต้านทาน
ฝ่ายโจโฉนั้น ทัพหน้าที่นำขบวนมาเองโดยโจโฉพร้อมทั้งแม่ทัพไม่กี่คน ได้ตั้งมั่นเตรียมรบกับข้าศึก แต่กองเสบียง สัมภาระ และอาวุธครบมือต่างๆยังมามิถึง เหล่านายทหารต่างพากันวิตกว่าจะถูกทัพฮูหวนโจมตี แต่โจโฉยังคงมีสติ จึงได้ขึ้นสำรวจสภาพของทัพศัตรูบนที่สูงและพบว่าค่ายของข้าศึกจัดเรียงกันไม่เป็นระเบียบ โจโฉจึงตัดสินใจสั่งเตียวเลี้ยวให้เป็นทัพหน้านำกองทหารม้าเข้าโจมตีศัตรู
เตียวเลี้ยวไม่หวั่นเกรงต่อทัพม้าที่ติดอาวุธเต็มอัตราของข้าศึก นำทัพม้าของตนเข้าโจมตีอย่างสายฟ้า และในที่สุดก็เอาชนะ สามารถสังหารเป๊กตุ้นแห่งฮูหวนได้ เหล่าข้าศึกยอมเป็นเชลยแก่นับแสนคน เป็นวีรกรรมสะท้านแผ่นดินของโจโฉที่ปราบพวกเผ่าทางเหนือโดยมีเตียวเลี้ยวเป็นหัวหอกสำคัญ
ปี ค.ศ. 208 หลังจากแดนตงง้วน หรือภาคเหนือและกลางของจีนสงบราบคาบแล้ว โจโฉก็ได้ยกทัพหลายสิบหมื่นมุ่งลงภาคใต้เพื่อหวังพิชิตเกงจิ๋ว และก็ได้เกงจิ๋วมาโดยง่าย เพราะเล่าจ๋องผู้สืบทอดดูแลเกงจิ๋วยอมสวามิภักดิ์ โจโฉเกิดอาการได้ใจ จึงคิดรุกต่อเพื่อพิชิตเอาแดนกังหนำหรือง่อก๊กของตระกูลซุน และหวังรวบรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวจนเกิดศึกเซ็กเพ๊กขึ้น
ขอสรุปผลการศึกโดยย่อว่า ฝ่ายโจโฉที่มีกำลังมากกว่าหลายเท่าเป็นฝ่ายแพ้ไปในครั้งนี้ โดยในระหว่างที่หนีทัพนั้นก็ได้เตียวเลี้ยวซึ่งเป็นทัพหลังช่วยทำให้โจโฉสามารถหนีรอดมาได้โดยไม่บอบช้ำยิ่งขึ้น
แม้จะพ่ายแพ้ แต่โจโฉก็ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะบุกภาคใต้ จึงสั่งให้เตียวเลี้ยวมาเฝ้ารักษาเมืองหับป๋าซึ่งเป็นหน้าด่านโดยตรงในการเผชิญหน้ากับทางง่อ และส่งให้ลิเตียน กับ งักจิ้นมาเป็นรองแม่ทัพคอยช่วยเหลือ
ในกรณีการใช้งานเตียวเลี้ยวนี่ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงความละเอียดอ่อนของโจโฉ เหตุเพราะตอนนั้นฝ่ายเล่าปี่ที่เข้าบุกยึดเกงจิ๋วบางส่วนและกำลังเข้าตีเสฉวนนั้นมีกำลังที่แข็งแกร่งจนเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อฝ่ายโจโฉ ซึ่งโจโฉนั้นอยู่ในสภาวะที่รับศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะซุนกวนทางใต้ ม้าเฉียวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ดังนั้นการจัดส่งแม่ทัพในมือตนไปเฝ้ารักษาตามจุดต่างๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เตียวเลี้ยวนั้นเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์เป็นพิเศษกับฝั่งเล่าปี่ ดังนั้นโจโฉจึงส่งเตียวเลี้ยวมาประจำทางหับป๋าเพื่อรับมือซุนกวน เพื่อหลีกเลี่ยงการเจอกับฝั่งเล่าปี่ เตียวเลี้ยวจะได้ไม่ต้องมาคอยพะวงถึงความสัมพันธ์เก่าๆ เพราะโจโฉนั้นรู้จักลูกน้องตนดี เขารู้ว่าเตียวเลี้ยวเป็นผู้ที่ยึดถือคุณธรรม และย่อมต้องยึดถือความเป็นมิตรสหายแน่นอน ดังนั้นจึงจัดให้เตียวเลี้ยวเป็นขุนพลเฝ้าประตูสู่ง่อก๊ก และในการสู้กับซุนกวนนี่เองที่ทำให้ชื่อของเตียวเลี้ยวดังกระฉ่อนไปทั่วแผ่นดิน
ปี ค.ศ. 215 โจโฉกำลังติดพันศึกกับทางฮั่นจง ซุนกวนจึงอาศัยช่วงนั้นจัดทัพจำนวนนับแสนรุกเข้าตีทางหับป๋า ซึ่งเตียวเลี้ยวเป็นผู้เฝ้ารักษาด้วยจำนวนทหารน้อยนิดเพียงเจ็ดพันคน
เตียวเลี้ยว ลิเตียน และงักจิ้นผู้เฝ้ารักษาเมืองนั้นมีปัญหาส่วนตัวกันอยู่ โดยเฉพาะกับลิเตียน แต่โจโฉก็ยังใช้ให้พวกเขามาเฝ้ารักษาเมืองเดียวกัน อาจเพราะต้องการให้พวกเขาเกิดความสามัคคียามรับศึกใหญ่ ซึ่งตอนที่รู้ว่าซุนกวนกำลังยกทัพมานั้น เตียวเลี้ยวและลิเตียนได้ขัดแย้งกันเพราะเตียวเลี้ยวเสนอให้นำทหารออกไปสู้ยันไว้ จนกว่าทัพหนุนของโจโฉจะมาถึง ส่วนลิเตียนบอกว่าทหารเราน้อยกว่าสมควรตั้งรับในเมือง ส่วนงักจิ้นนั้นแม้จะเป็นคนที่ห้าวหาญไม่กลัวตาย แต่ก็เป็นคนที่มีประสบการณ์โชกโชนและมีบุคลิกที่ไม่โต้แย้งคน จึงอยู่ตรงกลาง
เตียวเลี้ยวรู้ว่าเถียงกันไปก็ไร้ค่า จึงได้เอาจดหมายลับที่โจโฉฝากไว้และกำชับว่าให้เปิดเฉพาะยามคับขันเท่านั้นออกมาเปิดอ่าน
จดหมายเขียนว่าให้เตียวเลี้ยวนำทหารออกไปยันสู้ศึกไว้พร้อมกับลิเตียน ส่วนงักจิ้นให้นำทหารที่เหลือเฝ้าเมืองอย่างเข็มแข็ง ซึ่งลิเตียนกับงักจิ้นก็ยังอยากจะให้ตั้งรับในเมืองมากกว่า เตียวเลี้ยวจึงว่าแก่ลิเตียนว่า "วุยก๋ง (โจโฉ) อยู่ถึงฮันต๋งยังเสนอแผนการมาให้หวังให้เราสามัคคี ข้าเองเข้ากับ ลิเตียนไม่ได้เพราะเรื่องส่วนตัว แต่นี้ศึกใหญ่มาถึง เราควรเห็นแก่เรื่องบ้านเมืองเป็นสำคัญอย่าเห็นแก่เรื่องส่วนตัว "
ลิเตียนนั้นเป็นคนที่มีความสุขุม แต่ในเรื่องความห้าวหาญในการประจันหน้าข้าศึกมหาศาล เขายังมีไม่มากนัก เมื่อถูกกระตุ้นเตือนจากเตียวเลี้ยวในเรื่องส่วนรวม เขาจึงเกิดความฮึกเหิม ดังนั้นเตียวเลี้ยวจึงให้ลิเตียนคุมทหารออกไปรอซุนกวนข้ามสะพานเข้ามายังเขตแดนแล้วจากนั้นให้รื้อสะพานทิ้ง แล้วให้งักจิ้นออกไปรบ โดน ให้แสร้งแตกถอยล่อซุนกวนเข้ามาในพื้นที่ของตน
จากนั้นเตียวเลี้ยวก็นำทหารม้าของตนเข้าตีขนาบจากด้านหลัง แล้วให้งักจิ้นกับลิเตียนยกมาตีขนาบซ้ำ ซึ่งทหารในสังกัดของเตียวเลี้ยวครั้งนี้มีเพียง 800 คนเท่านั้น แต่ก็สามารถที่จะสู้รบและทำเอาทัพหน้าของซุนกวนต้องปั่นป่วนวุ่นวาย
ในศึกนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายใจกล้าของเตียวเลี้ยวอีกด้วย เมื่อทหารบางส่วนถูกล้อมกรอบเอาไว้และร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งจำนวนของพวกเขามีเพียงไม่กี่สิบคน แต่เตียวเลี้ยวก็ยังบ้าเลือดพอที่จะตีฝ่าทหารของซุนกวนเข้าไปช่วยพวกเขาออกมาได้
แม่ทัพใจถึงขนาดนี้ ไม่ยอมทิ้งลูกน้องแม้คนเดียว มีหรือเหล่าทหารคนอื่นๆจะไม่สู้ตายถวายชีวิตให้ ดังนั้นทัพจำนวน 800 คนของเตียวเลี้ยวจึงสามารถสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ สามารถยันทัพของซุนกวนที่มีถึงแสนคนมิให้ล่วงล้ำเขตแดนเข้ามาได้
จากนั้นเมื่อโจโฉนำทัพหนุนมาถึงและไปตรวจดูจุดที่เตียวเลี้ยวทำการบก็ยกย่องเตียวเลี้ยวเป็นยอดนายทหารเสือ
เล่ากันว่ายอดนายพลทหารเสือของฝ่ายวุยก๊กนั้นมีอยู่ 5 คนเหมือนฝั่งจ๊กก๊ก ประกอบด้วย เตียวเลี้ยว ซิหลง งักจิ้น อิกิ๋ม เตียวคับ และเตียวเลี้ยวคือผู้ที่เก่งกาจที่สุด
ศึกหับป๋านั้นนอกจากจะแจ้งเกิดให้เตียวเลี้ยวแล้ว ยังแจ้งเกิดให้ขุนพลฝ่ายง่ออีกคน นั่นคือแม่ทัพโจรสลัดกำเหลง ที่สร้างชื่อจากการนำทหารเพียงร้อยคนลอบบุกโจมตีค่ายของโจโฉ และแทบจะเข้าประชิดถึงตัวโจโฉมาแล้ว ดังนั้นหลังศึกนี้ซุนกวนจึงได้กล่าวคำพูดประโยคหนึ่งว่า "โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้ามีกำเหลง"
ด้วยความเก่งกล้าของเตียวเลี้ยวทำให้เหล่าทหารของฝ่ายง่อต่างก็หวาดกลัวกันเป็นแถว จนถึงกับมีคำกล่าวว่า "เด็กร้องไห้เมื่อได้ยินชื่อเตียวเลี้ยว ยังต้องหยุด" และในกว่าสิบปีที่เตียวเลี้ยวเฝ้าดูแลหับป๋านั้น ฝ่ายง่อก็ไม่อาจบุกล่วงล้ำเข้ามาได้เลยสักครั้ง
ในคัมภีร์ยุทธ์ศิลป์ของขงเบ้งนั้นเคยกล่าวถึงลักษณะอย่างหนึ่งของยอดขุนพลว่า "ขุนพลผู้เชี่ยวชาญแต่โบราณ ดูแลเลี้ยงดูเหล่าทหารประหนึ่งเลี้ยงบุตรตน ยามประสบความยากลำบาก ย่อมผงาดอยู่ด้านหน้า ยามรับความดีความชอบ ย่อมถอยกายอยู่หลัง" ซึ่งตรงพ้องกับเตียวเลี้ยวอย่างยิ่ง
เตียวเลี้ยวอยู่รับราชการในตำแหน่งแม่ทัพรักษาเมืองหับป๋าเรื่อยมาจนโจโฉสิ้นลงในปี ค.ศ.220 โจผีผู้บุตรได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่ง และล้มล้างราชวงศ์ฮั่นด้วยการถอดถอนฮ่องเต้ลงมา และขึ้นเป็นพระเจ้าวุยบุ๋นอ๋อง ปฐมฮ่องเต้แห่งวุยฮั่น เตียวเลี้ยวก็ยังคงเป็นขุนพลคนสำคัญอยู่คู่กาย
จากนั้นพระเจ้าโจผีเกิดอยากจะแสดงแสนยานุภาพและความสามารถในการบัญชาทัพขึ้นมาจึงยกทัพบุกตีง่อก๊ก โดยให้เตียวเลี้ยวเป็นแม่ทัพหน้า
แต่เมื่อเริ่มแบ่งแผ่นดินกันเป็นสามก๊กชัดเจนขึ้นมานั้น ฝ่ายรุกมักไม่สามารถเอาชัยต่อฝ่ายรับได้เลย และที่สำคัญคือกังหนำมีชัยภูมิสุดยอดในการตั้งรับ ขนาดโจโฉยังตีไม่แตกและไม่คิดจะบุกกังหนำอีก โจผีซึ่งมีความสามารถน้อยกว่าและขุนพล กุนซือเก่งๆก็เริ่มตายและแก่กันมากขึ้น ไม่มีทางเลยที่โจผีจะสามารถตีแตกได้ แถมตอนนั้นง่อก๊กเองก็ยังเข้มแข็งอยู่ ขุนพลเก่งๆ ต่างยังมีชีวิตอยู่อีกมาก
ฝ่ายง่อนั้นได้ลกซุนเป็นแม่ทัพใหญ่ มีชีเซ่งและเตงฮองเป็นขุนพลสำคัญที่วางกลยุทธ์หลอกล่อให้ทัพของโจผีตายใจและรุมโจมตีด้วยธนู จนโจผีต้องนั่งเรือหนีและเกือบจะถูกธนูยิงเข้ายังดีที่ได้เตียวเลี้ยวช่วยขวางไว้ให้
และนั่นก็คือจุดจบของยอดขนพลเอกแห่งฝ่ายวุย ด้วยการถูกทัพของเตงฮองรุมยิงธนูใส่ในระหว่างที่เอาตัวบังโจผีหนีจนตัวตาย
โจผีสำนึกในบุญคุณของเตียวเลี้ยวที่ช่วยชีวิต จึงตั้งยศย้อนหลังให้เป็นพระยาจิ้นหยาง
เป็นอันว่ายอดขุนพลเตียวเลี้ยวจบชีวิตลงในปี ค.ศ. 225 รวมอายุ 56 ปี เหลือไว้แต่นามของขุนพลที่เก่งกาจกล้าหาญ และยึดมั่นในคุณธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น