“อ้ายนี่มันลิโป้ในวัยหนุ่มชัดๆ”
เป็นคำพูดวิจารณ์ของโจโฉที่มีต่อขุนศึกหนุ่มผู้หนึ่ง หลังจากที่โจโฉได้พบกับเขาเป็นครั้งแรก
บุรุษหนุ่มผู้นี้คือนักรบจากแดนเสเหลียง ผู้มีท่วงท่าองอาจและความเก่งกาจละม้ายคล้ายคลึงกับลิโป้ซะจนโจโฉเองยังอดออกปากชมไม่ได้ ทั้งที่พวกเขาเป็นศัตรูกัน
และชายผู้นี้ก็ได้กลายมาเป็น 1 ใน 5 ทหารเสือแห่งจ๊กก๊กในภายหลัง
แต่ในภายหลังแล้วนั้นในหนังสือสามก๊กก็มิได้กล่าวถึงบทบาทของเขาอีก ในประวัติศาสตร์เองก็ไม่ได้บันทึกไว้เช่นกัน
เรื่องราวของเขาถือว่าเป็นอุทาหรณ์บทหนึ่งที่ไม่ได้รับการบันทึกในนิยายสามก๊กถึงความเก่งกาจที่ถูกลืม
ประวัติโดยย่อ
ม้าเฉียว ชื่อรองคือเหมิ่งฉี เกิดที่มณฑลซานซี เป็นบุตรชายคนโตของม้าเท้ง ขุนศึกผู้เป็นเจ้าเมืองเสเหลียงซึ่งเป็นดินแดนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
ม้าเฉียวนั้นไม่ใช่คนจีนโดยแท้เพราะแม่ของเขานั้นเป็นชาวเผ่าฮวนซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นบรรพบุรุษของชาวอิหร่านในปัจจุบัน ดังนั้นม้าเฉียวจึงเป็นขุนศึกลูกผสมเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคสามก๊กนั้น
พูดถึงพวกลูกผสมนั้นต้องขอบอกก่อนว่าชาวจีนหรือชาวฮั่นในยุคนั้นค่อนข้างจะรังเกียจพอสมควร เพราะพวกชาวจีนในยุคโบราณนั้นถือว่าประเทศจีนเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล ดินแดนอื่นๆที่อยู่รอบนอกด่านไปนั้นนั้นถือว่าเป็นดินแดนป่าเถื่อนซึ่งมีวัฒนธรรมอันล้าหลัง ซึ่งหากดูจากยุคสามก๊กและหลังจากนั้นอีกประมาณ 200-300 ปีก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในขณะที่ดินแดนรอบด้านอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น มองโกล แมนจูเรีย ทิเบต และดินแดนทางตะวันตกนั้นมีวัตนธรรมและวิทยาการด้อยกว่าประเทศจีนอยู่มาก
คนฮั่นส่วนมากจึงไม่ยอมรับพวกลูกผสมที่มีสายเลือดของชาวนอกด่านเท่าใดนักแต่จะเป็นมากในชาวจีนทางภาคกลางและตอนใต้เท่านั้น สำหรับชาวจีนทางภาคเหนือสุดและตะวันตกนั้นจะไม่ค่อยต่อต้านมากนัก เนื่องจากเป็นถิ่นที่มีชาวนอกด่านอยู่มากมายจนกลมกลืนไปกับชาวจีนแท้ไม่ใช่น้อย
ดังนั้นตัวม้าเฉียวจึงไม่ประสบปัญหาเรื่องแบ่งแยกชนชั้นในวัยเด็กเพราะถิ่นอาศัยของเขานั้นก็มีชาวนอกด่านเข้ามาอาศัยอยู่มากมายม้าเฉียวในวัยเด็กนั้นฝึกฝนเพลงอาวุธและการขี่ม้ายิงธนูจนเชี่ยวชาญ ในบรรดาพี่น้องของ ปีเขานั้นม้าเฉียวเป็นผู้ที่มีความเยี่ยมยุทธ์ที่สุดจนโด่งดังไปทั่วเสเหลียงตั้งแต่อายุ 17 ปี
ในการศึกครั้งแรกที่สร้างชื่อให้ม้าเฉียวและเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในหนังสือสามก๊กนั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ม้าเท้งกับหันซุยซึ่งเป็นพันธมิตรจับมือร่วมกันบุกตีลิฉุยและกุยกีม้าเฉียวได้ตามทัพมาด้วยตอนนั้นเขาเพิ่งจะมีอายุได้ 17 -18 แต่ก็แสดงความสามารถในการสู้รบและการควบม้าเข้าตีทัพของลิฉุยและกุยกีจนแตกกระเจิง สามารถสังหารอองหวนและจับลิบ้องทหารเอกของลิฉุยกุยกีอย่างง่ายดายบทบาทและภาพลักษณ์ของม้าเฉียวในตอนเปิดตัวนั้นดูเก่งกาจกล้าหาญยิ่งนักในหนังสือสามก๊กม้าเฉียวไม่มีบทบาทไปอีกหลายสิบปี จนต่อมาในปี ค.ศ.214 ม้าเท้งได้เดินทางเข้าเมืองหลวงและคิดจะก่อการรัฐประหารโค่นล้มโจโฉแต่ความแตกซะก่อนจึงถูกจับฆ่าตายพร้อมกับม้าฮิวบุตรชายอีกคนที่พาไปด้วยเรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อม้าเท้งได้เข้าเมืองหลวงไปในฐานะข้าหลวงแห่งเสเหลียงนั้น เขาได้นำทหารเข้ามาด้วยจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับเป็นทัพใหญ่ แต่ก็มีกำลังมากพอที่จะก่อการใดๆได้
อุยกุ๋ยซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่คิดจะล้มล้างโจโฉจึงชักชวนม้าเท้งให้เข้าร่วมแผนการ และม้าเท้งเองก็ตอบตกลง แต่แผนการเกิดรั่วขึ้นมาซะก่อน เพราะอุยกุ๋ยผู้นี้เป็นคนขี้เหล้า และนำเอาเรื่องที่ตนจะก่อกบฏนี้ไปแพร่งพรายให้เมียน้อยทราบปรากฏว่าเมียน้อยของเขานั้นไปมีชู้กับเบียวเต๊ก ซึ่งมีความสนิทสนมอยู่กับคนของทางโจโฉ ดังนั้นเมื่อเบียวเต๊กทราบเรื่องจึงไปรายงานให้โจโฉทราบ โจโฉจึงได้จับผู้ร่วมก่อการได้ทั้งหมด โดยม้าเท้งและลูกชายคือม้าฮิวก็โดนจับไปด้วย และถูกประหารชีวิตรวมถึงเบียวเต๊กซึ่งเป็นผู้คาบข่าวด้วย เพราะมีความผิดฐานเป็นชู้กับเมียของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ตัวม้าเฉียวซึ่งอยู่เฝ้าที่เสเหลียงนั้นได้ทราบข่าวนี้ก็แค้นใจมาก และได้ชักชวนหันซุยซึ่งเป็นเพื่อนรักของพ่อร่วมกันออกศึกเพื่อจัดการกับโจโฉแก้แค้นให้กับบิดา โดยทัพเสเหลียงของม้าเฉียวนั้นเป็นทัพทหารม้าที่มีความเก่งกาจไม่แพ้ทัพของตั๋งโต๊ะในอดีต ทั้งนี้เพราะต่างก็เป็นชาวเสเหลียงซึ่งใช้ชีวิตอยู่บนหลังม้าเช่นกัน
ในการศึกครั้งแรกนั้นม้าเฉียวนำทัพ 2 แสนตีจนจงฮิวแม่ทัพของโจโฉแตกพ่าย จากนั้นก็เข้าปะทะกับโจหองที่ด่านตงกวน และได้ชัยชนะอย่างงดงาม จนโจหองต้องถอยหนีเกือบตาย
เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าเมืองเตียงฮันตกอยู่ในสภาวะคับขันสุดขีด มีสิทธิ์ถูกตีแตกได้ทุกเมื่อ และหากเสียเตียงฮันไป ม้าเฉียวก็จะสามารถรุกเข้าถึงภาคกลางได้
ดังนั้นโจโฉซึ่งในขณะนั้นกำลังจัดทัพตระเตรียมจะบุกไปตีกังตั๋งจำต้องเปลี่ยนแผนกระทันหันและยกทัพขึ้นเหนือไปป้องกันเตียงฮันแทนเพราะถ้าเสียเตียงฮันไป ถึงจะยึดกังตั๋งได้มันก็ไม่คุ้มกันเลย
การปะทะกันครั้งแรกระหว่างทัพของโจโฉกับม้าเฉียวนั้นเกิดขึ้นที่ด่านตงก๋วนในการศึกนี้ม้าเฉียวได้ทำให้โจโฉเสียท่าขนาดหนัก จนเกือบต้องสิ้นชีวิต
ตรงจุดนี้ผมขอเล่ารวบยอดเลยละกันว่า ม้าเฉียวได้ตีทัพของโจโฉจนแตกกระเจิง ตัวโจโฉต้องหนีอย่างทุลักทุเลถึงขนาดตัดหนวดและถอดเสื้อทิ้งเพื่อเอาชีวิตรอด
ศึกครั้งที่สอง ที่ริมน้ำอุยโห โจโฉก็เกือบตายอีกครั้งดีที่เคาทูอ้อมลงเรือและคอยปัดป้องลูกธนูให้อย่างกล้าหาญ โจโฉจึงรอดมาได้
ศึกครั้งที่สามอันทำให้ชื่อของม้าเฉียวนั้นลือลั่นไปทั่วแผ่นดินก็คือการดวลแบบตัวต่อตัวกับเคาทู ยอดองครักษ์ทหารเสือ ผู้เป็นจอมพลังอันดับหนึ่งแห่งวุยก๊ก ในนิยายได้บรรยายไว้ดุเดือดมาก รบกันร้อยเพลงก็ไม่รู้ผลกลับไปเปลี่ยนม้ามารบกันใหม่ก็ยังไม่รู้ผลอีก จนเมื่อเปลี่ยนม้าครั้งที่สองเคาทูบ้าเลือดขนาดหนักถึงกับถอดชุดเกราะทิ้งเหลือแต่เพียงตัวเปล่า โดย
บอกว่าแบบนี้จะสู้สะดวกกว่าและเข้าลุยกันอีกครั้ง
ฟันกันได้สามสิบเพลง เคาทูแทงง้าวใส่ม้าเฉียว แต่โดนปัดได้ ม้าเฉียวจึงแทงทวนกลับ เคาทูปัดไม่ทันจึงจับทวนม้าเฉียวไว้และยันกันอยู่แบบนั้นจนทวนหักเป็นเสี่ยงๆ และทั้งคู่ก็ใช้ทวนที่หักนั้นเข้าลุยกันต่อ เมื่อเหล่าทหารเห็นแบบนั้นจึงเข้าตะลุมบอนกัน แต่สุดท้ายแล้วก็เลิกทัพกันไป
การรบครั้งที่สามของม้าเฉียวนั้นเป็นศึกที่สร้างให้ชื่อเสียงของเขาระบือไปไกล และภาพลักษณของเขาในสายตาของคนอ่านสามก๊กนั้นดูสูงยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นการปูทางให้ม้าเฉียวได้มาเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ในภายหลัง
กลับมาที่การศึกของม้าเฉียวอีกครั้ง เมื่อได้ปะทะกับโจโฉมาถึงสามครั้งใหญ่ๆแล้ว สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป เพราะโจโฉสามารถจับจุดอ่อนของม้าเฉียวได้อย่างหนึ่ง
ม้าเฉียวแม้จะเป็นขุนศึกที่ห้าวหาญฝีมือรบเก่งกาจ แต่เขาขาดซึ่งความแยบคายในกลอุบายการศึก แม้เขาจะห้าวหาญยามนำทัพเข้าประจัน ขนาดถึงขั้นเทพสงครามผู้สามารถเอาชนะทหารนับร้อยด้วยตัวคนเดียว แต่เขาก็วู่วามมุทะลุเกินไป
แต่ม้าเฉียวก็ยังสามารถรบกับโจโฉได้อย่างสูสีทั้งนี้เพราะพันธมิตรของเขาคือหันซุยซึ่งเป็นเพื่อนของม้าเท้งผู้พ่อนั้น เป็นขุนศึกผู้มีประสบการณ์ช่ำชองและชำนาญการศึก เมื่อความห้าวหาญบ้าบิ่นมารวมเข้ากับประสบการณ์และความช่ำชองแล้วนั้น ม้าเฉียวกับหันซุยจึงเป็นคู่ที่แข็งแกร่งที่สามารถต้านทานกับโจโฉได้ แต่หากแยกทั้งคู่ออกจากกันล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น
โจโฉใช้กลอุบายง่ายๆด้วยการเชิญชวนให้หันซุยออกมาเจรจากันในฐานะเพื่อนเก่าเพราะเคยคบหากันมาก่อนที่กลางสนามรบ โดยโจโฉก็เพียงแค่ไต่ถามเรื่องโน่นนี้ไปเรื่อยเปื่อยแล้วจึงกลับค่ายพัก เมื่อม้าเฉียวสอบถามว่าคุยอะไรกันหันซุยก็ว่าไปตามจริง แต่ม้าเฉียวก็ไม่เชื่อว่าโจโฉจะเพียงแค่นัดหันซุยไปคุยอะไรไร้สาระแบบนั้น แถมโจโฉยังตอกย้ำแผนการของตนอีกด้วยการส่งจดหมายที่มีข้อความไม่ชัดเจนราวกับเป็นรหัสลับอะไรบางอย่างมาให้ที่ค่ายของหันซุย
ม้าเฉียวนั้นระแวงหันซุยจนขีดสุดและในระหว่างที่กำลังทะเลาะกับหันซุยนั้น เขาก็ฟันแขนหันซุยจนขาด ทำให้ทัพเสเหลียงแตกกันเอง และตัวหันซุยจึงตัดสินใจสวามิภักดิ์ต่อโจโฉจริงๆ
โจโฉนั้นคอยท่าอยู่แล้วจึงฉวยยกทัพเข้าตีในระหว่างที่ทัพเสเหลียงกำลังระส่ำระสาย ตัวของม้าเฉียวได้แต่นำทหารจำนวนหนึ่งและน้องชายคือม้าต้ายหนีตายไปยังเขตแดนฮั่นจงของเตียวลู่และต้องจำใจสวามิภักดิ์ด้วย
แต่อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะเอียวเป็กซึ่งเป็นขุนนางคนสนิทของเตียวลู่หาทางกลั่นแกล้งด้วยความอิจฉา ม้าเฉียวจึงหมดทางไปและไปสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งจะตีได้เอกจิ๋วและกำลังจะเข้ายึดเมืองเสฉวน
ซึ่งตรงนี้เองที่ในฉบับนิยายนั้นได้มีการเพิ่มสีสันเข้าไปอีก เพื่อให้ตัวม้าเฉียวได้โดเด่นยิ่งขึ้นนั่นคือเตียวลู่นั้นได้ใช้ให้ม้าเฉียวเป็นทัพหน้าไปตีเอ็กจิ๋วของเล่าปี่ และต้องเข้าตีที่ด่านแฮปักก๋วน เล่าปี่จึงส่งเตียวหุยและอุยเอี๋ยนไปรับศึกคนที่มีความกล้าบ้าบิ่นมุทะลุเหมือนๆกัน เมื่อมาพบกันก็เหมือนเสือ 2 ตัวปะทะกัน เช่นเดียวกันกับที่ม้าเฉียวสู้กับเคาทู ในครานี้ม้าเฉียวก็ได้ปะทะกันกับเตียวหุย และมีลักษณะเหมือนกันนั่นคือรบกันร้อยเพลงก็ไม่ชนะ
เล่าปี่เกรงว่าหากทั้งสองรบกันเช่นนี้ต่อไปจะต้องสูญเสียยอดนายทหารดีๆไป ขงเบ้งจึงได้คิดกลอุบายให้ม้าเฉียวมาสวามิภักดิ์ด้วยเล่าปี่ อันที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์จริงไม่ได้มีเรื่องนี้เกิดขึ้น ม้าเฉียวก็แค่โดนลูกน้องของเตียวลู่บีบจนหมดทางไปจึงมาสวามิภักดิ์กับเล่าปี่ แต่เพราะหลอก้วนจงต้องการทำให้ม้าเฉียวมีความโดดเด่นมากขึ้นเพื่อปูทางให้ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับเล่าปี่ เรื่องมันก็เท่านั้น ตอนที่ม้าเฉียวเข้ามาสวามิภักดิ์กับเล่าปี่นั้น ได้กล่าวว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้มาอยู่ด้วยท่านผู้มีสติปัญญานี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีนัก อุปมาเหมือนอยู่ที่มืดมีผู้นำมาให้ถึงที่สว่าง แลการสิ่งใดของท่านนั้น ข้าพเจ้าจะอาสาไปตามสติปัญญาจนกว่าจะสิ้นชีวิต”
หลังจากนั้นม้าเฉียวก็ได้สร้างผลงานขึ้นทันที เมื่อเล่าปี่แบ่งกำลังทหารให้ส่วนหนึ่ง แล้วให้ม้าเฉียวเป็นทัพหน้าบุกไปตีเมืองเฉิงตู แต่ยังไม่ทันจะได้รบอะไร เล่าเจี้ยงก็ขวัญหนีดีฝ่อและยอมจำนนอย่างง่ายๆ
ม้าเฉียวสร้างความดีความชอบได้เลื่อนยศเป็น “ผิงซีเจียงจวุน-ขุนพลสยบประจิม”
การที่เล่าปี่ได้ตัวม้าเฉียวมาอยู่ด้วยนี้ส่งผลกระทบอยู่บ้างพอควร เพราะตระกูลม้าของม้าเฉียวนั้นเป็นที่หวาดเกรงของชาวเผ่าฮวนและเผ่าอื่นๆทางภาคตะวันตก ดังนั้นเล่าปี่จึงได้กำลังสนับสนุนจากขนชาวต่างชาติแถบตะวันตกของจีนในยุคนั้นมาไม่น้อย
จากนั้นเล่าปี่ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋องที่เมืองฮั่นจงแล้ว ม้าเฉียวก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในห้านายพลทหารเสือ ซึ่งมีกวนอู เตียวหุย จูล่ง ฮองตง ม้าเฉียว
ตัวม้าเฉียวนั้นยังได้ครองหลินจวี้ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองซงหยง แต่ก็เป็นเพียงตำแหน่งลอยๆเท่านั้น เพราะตัวเขาต้องพำนักอยู่ที่เมืองเฉิงตูไม่ได้กุมอำนาจใดๆ
หลังจากนั้นเล่าปี่ก็พุ่งเป้าไปที่ฮั่นจง ม้าเฉียวจึงได้โอกาสออกศึกภายใต้สังกัดของเล่าปี่ในครั้งนี้ โดยออกศึกร่วมกับทางเตียวหุยที่ปาเส และสร้างผลงานไว้พอควร จนกระทั่งยึดฮั่นจงได้
เมื่อเล่าปี่ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้ ก่อตั้งราชวงศ์ซู่ฮั่นหรือจ๊กก๊กขึ้นมาแล้ว ม้าเฉียวก็ได้เลื่อนยศเป็น เพียวฉีเจียงจวิน ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าหลวงแห่งเมืองเสเหลียง แต่เขาก็ไม่ได้มีดินแดนในปกครองของตนโดยแท้จริง เพราะเสเหลียงในเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายวุยก๊ก เขาจึงได้แต่พำนักอยู่ที่เมืองหลวงของจ๊กก๊กนั่นคือเมืองเฉิงตูเท่านั้น
มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับตัวเขาอยู่เรื่องหนึ่งในช่วงนี้ ซึ่งตรงกันทั้งในประวัติศาสตร์และในนิยาย นั่นคือได้มีคนชวนเขาให้ก่อกบฏ
เรื่องมีอยู่ว่า มีคนๆหนึ่งชื่อแพเอี้ยวเดิมทีเป็นขุนนางของเล่าเจี้ยง ซึ่งได้มาอยู่กับเล่าปี่ และเล่าปี่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงตั้งให้เป็นขุนนางใกล้ชิด ต่อมาเขาเกิดความหยิ่งจองหองคิดว่าตนแน่กว่าใครทั้งหมด เมื่อขงเบ้งเสนอให้ย้ายแพเอี้ยวไปเป็นเจ้าเมืองกังเอี๋ยงซึ่งมีตำแหน่งลดต่ำลง แพเอี้ยวจึงไม่พอใจมาก และก่อนจะเดินทางเขาได้ไปเข้าพบม้าเฉียว
ทั้งคู่ต่างดื่มกินกันตลอดคืน โดยม้าเฉียวนั้นต้องการจะเลี้ยงส่งให้แพเอี้ยว และคุยกันไปเรื่อย จนม้าเฉียวหลุดปากไปว่า “หากดูตามความรู้ความสามารถแล้วท่านก็ไม่ได้ด้อยกว่าขงเบ้งและหวดเจ้งเท่าใดนัก แต่ทำไมถึงถูกย้ายไปบ้านนอกเสียเล่า” แพเอี้ยวจึงว่า “นับวันไอ้แก่เล่าปี่ยิ่งเลอะเทอะเหลวไหล จะพูดไปทำไม หากว่าท่านสามารถก่อการขึ้นจากภายนอก ส่วนข้าจากภายในเรายึดบ้านเมืองนี้ได้ไม่ยากหรอก” ม้าเฉียวได้ฟังดังนั้นก็ตกใจไม่กล้าพูดอะไรมากอีก
ต่อมาม้าเฉียวจึงทำเรื่องฟ้องร้องขึ้นเป็นเหตุให้แพเอี้ยวถูกประหารชีวิต ตรงนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจริงๆ ทำไมแพเอี้ยวถึงเอาเรื่องนี้ไปพูดต่อม้าเฉียว ทำไมไม่เป็นคนอื่น หากไม่เพราะตัวม้าเฉียวนั้นหลังจากมาอยู่กับเล่าปี่แล้วก็ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ได้คุมอำนาจทหารจนเกิดความไม่พอใจหรอกหรือ
ในฉบับนิยายนั้นมีการบิดเบนไปว่า แพเอี้ยวเป็นเพื่อนกับเบ้งตัด เมื่อเล่าปี่คิดจะลงโทษเบ้งตัด แพเอี้ยวจึงส่งคนถือหนังสือไปบอก แต่ทหารลาดตระเวนของม้าเฉียวจับได้ ม้าเฉียวจึงซ้อนแผนด้วยการไปล่อเอาถามความจากแพเอี้ยว โดยแกล้งพูดว่าตนเองก็ไม่พอใจเล่าปี่และคิดจะก่อการเช่นกัน จนแพเอี้ยวยินยอมร่วมมือด้วย จากนั้นเขาจึงนำความไปบอกต่อเล่าปี่ แพเอี้ยวจึงถูกจับมาลงโทษ นี่คือส่วนที่นิยายได้บิดเบนไป
แต่ส่วนหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือว่าแพเอี้ยวเชื่อว่าม้าเฉียวก็น่าจะไม่พอใจเล่าปี่เช่นเดียวกับตน เพราะหลังจากที่เล่าปี่ได้เสฉวนมาแล้วก็ไม่ปรากฏว่าม้าเฉียวจะได้โอกาสแสดงวีรกรรมอะไรอีกนั่นเพราะเล่าปี่เองก็ไม่อยากจะใช้งานเท่าไหร่ไม่ใช่หรือม้าเฉียวแตกต่างไปจากขุนศึกคนอื่นๆของเล่าปี่ เขาไม่ได้อยู่กับเล่าปี่มาตั้งแต่แรกเริ่ม ที่สำคัญเลยคือเขามาจากตระกูลสูง มีชื่อเสียงและความโด่งดังของตนเอง พ่อของเขาม้าเท้งนั้นก็เป็นขุนศึกรุ่นที่ร่วมชิงแผ่นดินมาด้วยกันเช่นเดียวกับเล่าปี่ โจโฉ ซุนเกี๋ยน ถ้าไม่เพราะสถานการณ์บังคับ เขาคงจะไม่มาอยู่กับเล่าปี่เป็นแน่
สำหรับเรื่องแพเอี้ยวที่เขารายงานต่อเล่าปี่ไปนั้น หากคิดในมุมหนึ่งล่ะก็นั่นก็เป็นการกระทำเพื่อเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง
ในกลียุคเช่นนี้ ม้าเฉียวจำต้องรายเรื่องนี้ให้เจ้านายทราบ ไม่เช่นนั้นตัวเขานั่นแหละที่จะเดือดร้อน เพราะใครจะไปรู้ได้ล่ะว่าที่แพเอี้ยวมาพูดเช่นนี้เป็นเล่าปี่สั่งให้มาทำเพื่อลองใจม้าเฉียว
เล่าปี่เองก็ไม่ได้วางใจในตัวม้าเฉียวเท่าใด แรกๆที่ได้ตัวมานั้นก็ดีใจที่ได้คนเก่งกาจมาอยู่ด้วย แต่ตอนนี้เล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้ มีอำนาจมั่นคงแล้ว เขาจะกล้าวางใจม้าเฉียวเต็มร้อยหรือ
กวนอูได้ครองเมืองเกงจิ๋ว เตียวหุยได้ครองเมืองปาซี อุยเอี๋ยนได้ครองเมืองฮันต๋ง สำหรับจูล่งที่ไม่ได้ครองเมืองใดๆนั้นก็ยังพอเข้าใจว่าเพราะเล่าปี่ต้องการจะเอาเขาซึ่งเป็นขุนพลที่มีความภักดีสูงไว้ใกล้ตัว และจูล่งยังเป็นองครักษ์ประจำตัวของอาเต๊าด้วย ในขณะที่ฮองตงก็ชราเกินไป การเอาไว้ที่เฉิงตูก็ไม่แปลก
แต่ม้าเฉียวนั้นยังหนุ่มแน่นฝีมือการรบก็กล้าแข็ง แถมเป็น 1 ในห้าทหารเสือซึ่งเป็นขุนพล 5 คนที่เก่งที่สุดของแคว้น แต่เขากลับไม่ได้รับหน้าที่ให้คุมกองทัพเลยแม้สักครั้ง เมืองที่เป็นของตนก็ไม่มี หากว่าไม่ใช่เพราะเล่าปี่เองก็ไม่กล้าวางใจและใช้งานเขาเต็มร้อยแล้วจะด้วยเหตุผลอะไร
ครอบครัวของม้าเฉียวถูกโจโฉฆ่าเกือบล้างตระกูล เขาจึงมีความแค้นกับโจโฉชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ แน่นอนว่าเล่าปี่เองก็รู้แต่ก็ไม่ส่งเสริมให้เขาได้โอกาสในการแก้แค้น ทั้งยังไม่มอบอำนาจทหารให้ แบบนี้ม้าเฉียวจะใช้ชีวิตอยู่อย่างอึดอัดใจแค่ไหน
ในประวัติศาสตร์รวมถึงในนิยายนั้นก็พูดถึงคล้ายๆกัน นั่นคือหลังจากเล่าปี่ได้ขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋องจนขึ้นเป็นฮ่องเต้ในภายหลังแล้ว ม้าเฉียวก็แทบจะเป็นขุนพลผู้ถูกลืม และไม่มีบทบาทอีกเลยทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาสร้างผลงานการรบกับโจโฉไว้จนชื่อระบือไกล
มีข้อน่าสนใจอยู่อย่างนั่นคือเกี่ยวกับปีที่เสียชีวิตของม้าเฉียว ในนิยายบอกว่าอยู่ช่วงที่ขงเบ้งนำทัพบุกลงใต้ ราวๆปีค.ศ.225 แต่ฉบับของเฉินโซ่วเขียนว่าปีค.ศ.221 อันเป็นช่วงก่อนหน้าจะเกิดศึกอิเหลง ซึ่งผมเชื่ออันหลังมากกว่า
นั่นเพราะหลังจากที่กวนอูตายจนต้องเสียเกงจิ๋วในปลายปีค.ศ.219 นั้น 2 ปีต่อมาเล่าปี่จึงได้กรีฑาทัพถึง 7 แสนคนไปบุกตีซุนกวนเพื่อล้างแค้น และในตอนนั้นก็ได้เสียเตียวหุยไประหว่างเตรียมทัพ จูล่งซึ่งคัดค้านการเดินทัพครั้งนี้ถูกสั่งให้เป็นทัพหลังคอยคุมเสบียง อุยเอี๋ยนต้องอยู่เฝ้าฮั่นจง จึงเหลือแต่เพียงม้าเฉียวและฮองตงเท่านั้น แต่เล่าปี่ก็หนีบเอาฮองตงไปเพียงคนเดียว แสดงว่าม้าเฉียวต้องตายในปีค.ศ.221นั่นแหละ ไม่เช่นนั้นแล้วม้าเฉียวควรจะได้ไปร่วมทัพในศึกนี้ด้วย
การตายเขาเป็นไปอย่างเงียบเชียบ เขาหายไปจากหน้าหนังสือสามก๊กโดยที่คนอ่านเองก็แทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่ากันว่าเขาป่วยด้วยโรคลึกลับและตายไปอย่างน่าเศร้าโดยอายุตอนตายของเขาคือ 45 ปีซึ่งนับว่ายังหนุ่มต่อการสร้างชื่ออีกมาก
ถือเป็นอุทาหรณ์บทหนึ่งแห่งสามก๊กเกี่ยวกับนักรบผู้ถูกลืมจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างน่าเศร้าทั้งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความเก่งกล้าในการรบ ชื่อเสียงระบือไปทั่วแผ่นดิน จนถึงขั้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับเทพสงครามเช่นลิโป้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น