วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก อุยเอี๋ยน เหวินฉาง

ประวัติสามก๊ก อุยเอี๋ยน เหวินฉาง
พูดถึงอุยเอี๋ยน ผมก็ไม่รู้ว่าแฟนสามก๊กหลายคนจะนึกถึงเขาในแบบไหนกันนะ
คนทรยศ คนที่เชื่อถือไม่ได้ คนที่ห้าวหาญบ้าบิ่นและเย่อหยิ่ง หรือว่าเป็นนักรบที่เก่งกาจ หรือว่าแพะรับบาปในประวัติศาสตร์กันแน่!!!!!
อุยเอี๋ยนปรากฎตัวครั้งแรกในหนังสือสามก๊ก โดยการจับฮันเหียนเจ้าเมืองเตียงสาฆ่าทิ้งเพื่อช่วยเหลือฮองตงซึ่งกำลังจะถูกจับประหาร เนื่องจากฮองตงซึ่งตอนนั้นเป็นแม่ทัพของเมืองเตียงสานั้นขัดคำสั่งของฮันเหียนที่สั่งให้เขายิงธนูใส่กวนอู 
ปรากฏตัวครั้งแรกก็มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนทรยศติดตัวซะแล้ว แม้ว่าจะทำไปเพื่อช่วยฝ่ายพระเอกในนิยายสามก๊กอย่างกวนอูก็ตาม
และในวาระสุดท้ายเขาก็ยังทรยศต่อจ๊กก๊กจนกระทั่งถูกขงเบ้งซึ่งคาดเดาล่วงหน้าว่าอุยเอี๋ยนจะทรยศ วางแผนสังหารลงในที่สุด
ในนิยายสามก๊กนั้นบอกว่าขงเบ้งไม่ชอบหน้าอุยเอี๋ยน เพราะเขามีกระดูกงอกที่ท้ายทอยอันเป็นสิ่งที่แสดงว่าเขาเป็นคนคิดคด แต่ก็ยังต้องใช้งานเพราะอุยเอี๋ยนเป็นแม่ทัพที่ห้าวหาญและเก่งกาจที่สุดเท่าที่ฝ่ายจ๊กก๊กมีอยู่ในตอนนั้น
แต่ในประวัติศาสตร์สามก๊กนั้นบันทึกเรื่องพวกนี้ไว้ต่างออกไป และในวันนี้บางคนเริ่มเชื่อว่าอุยเอี๋ยนไม่ใช่คนคิดคดทรยศแต่เป็นแพะรับบาปในประวัติศาสตร์ต่างหาก
 
เรื่องจริงจะเป็นยังไง เราไม่มีวันรู้ได้ เพราะเหตุการณ์มันผ่านมา 2000 ปีแล้ว แต่คราวนี้จะขอลองเล่าเรื่องของเขาและตามแบบฉบับของผมและอ้างอิงข้อมูลและการวิเคราะห์จากเหล่าผู้รู้และนักเขียนทั้งหลายดูสักตั้ง

ประวัติโดยย่อ
อุยเอี๋ยน หรือเว่ยหยั่น ชื่อรองคือเหวินฉาง เป็นชาวอำเภออี้หยางในมณฑลเกงจิ๋ว ประวัติในสมัยหนุ่มไม่มีบันทึกไว้ บอกเพียงแค่ว่าเขาเคยเป็นข้าราชการชั้นล่างสังกัดเล่าเปียว อยู่ที่เมืองเตียงสาซึ่งเป็นเมืองในมณฑลเกงจิ๋วทางตอนใต้
การเปิดตัวอุยเอี๋ยนครั้งแรกในนิยายสามก๊กก็คือการเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือฮองตงและช่วยเปิดเมืองเตียงสาให้กวนอูเข้ายึดได้โดยง่าย
เรื่องคือ หลังศึกเซ็กเพ็ก ฝ่ายโจโฉซึ่งแต่เดิมเข้ายึดหัวเมืองน้อยใหญ่ในเกงจิ๋วไว้ได้นั้น ต้องถอนกำลังขึ้นไปตั้งมั่นที่เมืองเซียงหยางอันเป็นส่วนบนของมณฑลเกงจิ๋วทำให้ฝ่ายเล่าปี่อาศัยจังหวะนั้นดอดเข้ายึดหัวเมืองต่างๆในเกงจิ๋วตอนล่าง
การเข้ายึดแต่ละเมืองนั้นค่อนข้างสะดวกราบรื่น เตียวหุย จูล่งและขงเบ้งต่างก็ทำผลงานสามารถนำทหารเข้ายึดได้คนละเมืองโดยไม่ยากเย็น 
แต่กวนอูที่กำลังจะเข้ายึดเมืองเตียงสานั้นต้องประสบปัญหาเพราะที่เมืองนี้มีขุนพลฮองตงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเฝ้ารักษาไว้อย่างเข้มแข็งโดยมีอุยเอี๋ยนเป็นรองแม่ทัพ
กวนอูนำทหารมาตีเมืองไม่มากนักเพราะดูแคลนฝีมือฮองตงว่ามีอายุสูงมากแล้ว และได้ท้าดวลฮองตงให้ออกมาสู้กันตัวต่อตัวที่หน้าเมือง
การดวลจบลงที่การเสมอกัน และเมื่อฮองตงกลับเข้ามาในเมือง ฮันเหียนเจ้าเมืองเตียงสาก็สั่งให้ฮองตงใช้วิชาธนูที่ได้ชื่อว่าเอกอุในแผ่นดินยิงใส่กวนอูจากบนกำแพงเมือง ซึ่งปรากฏว่าฮองตงแกล้งยิงพลาด เพราะนับถือในน้ำใจความเก่งกล้าของกวนอู 
ฮันเหียนรู้ว่าฮองตงแกล้วยิงพลาดจึงโกรธจัดและสั่งให้ทหารจับกุมตัวฮองตงเพื่อจะฆ่าทิ้ง แต่อุยเอี๋ยนผู้เป็นรองแม่ทัพนั้นคัดค้านอย่างแรก เขาได้ตัดสินใจช่วยฮองตงไว้และฆ่าฮันเพียนทิ้ง จากนั้นจึงเปิดประตูเมืองให้กวนอูเข้ามาโดยง่าย ซึ่งมีเกร็ดเล่าว่าตัวของอุยเอี๋ยนนั้นนิยมและนับถือเล่าปี่เป็นทุนอยู่แล้ว
ฮองตงและอุยเอี๋ยนนำทหารเมืองเตียงสายอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ แต่ขงเบ้งนั้นกลับสั่งให้ประหารชีวิตอุยเอี๋ยน โดยหลอก้วนจงบรรยายตรงนี้ว่าเพราะอุยเอี๋ยนมีกระดูกงอกที่ท้ายทอยซึ่งตำรานรลักษณ์ว่าเป็นพวกใจคิดคดทรยศ แต่เล่าปี่บอกว่าหากสั่งประหารอุยเอี๋ยนไปแล้ว ต่อไปใครจะยอมมาสวามิภักดิ์ นอกจากนี้อุยเอี๋ยนก็เป็นผู้ฝักใฝ่ในราชวงศ์ฮั่นและเปี่ยมไปด้วยความสามารถคนหนึ่ง ด้วยคำเช่นนี้ของเล่าปี่ อุยเอี๋ยนจึงรอดตายมาได้ และภายหลังได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นนายพลของกองทัพเล่าปี่นี่คือสิ่งที่บรรยายไว้ในนิยายสามก๊กเกี่ยวกับการเปิดตัวอุยเอี๋ยน
แต่ในประวัติศาสตร์จริงล่ะ ตรงนี้พูดยาก คงต้องลองมองในเชิงวิเคราะห์ดูว่าความจริงแล้วการที่อุยเอี๋ยนช่วยชีวิตฮองตงและเปิดเมืองให้เล่าปี่นั้น หากเราจะถือว่าอุยเอี๋ยนไร้คุณธรรม เหตุผลหลักก็คงอยู่ที่การสังหารนายเก่าอย่างฮันเหียนทิ้ง แต่ตอนนั้นถ้าเขาไม่ทำ ฮองตงก็คงจะถูกประหารแน่ และฮันเหียนนั้นก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่นายที่ดีอะไรนัก การที่อุยเอี๋ยนจะแปรพักตร์มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยสำหรับขุนพลสมัยนั้นที่มักเลือกซบนายที่ดีกว่า
ดังนั้นหากมีเรื่องที่เราพอจะประณามอุยเอี๋ยน ก็คงเป็นเรื่องการลงมือสังหารฮันเหียนซึ่งเป็นนายตนทิ้ง เพราะมันผิดหลักคุณธรรมขั้นพื้นฐานของนักรบ
แต่หากไม่นับเรื่องสังหารฮันเหียน เช่นนั้นเราจะสามารถกล่าวประณามต่อผู้ที่ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมมากมายในเรื่องสามก๊กได้เลย เพราะหลายคนที่ดังๆในภายหลังนั้นก็มาได้ดีจากการยอมสวามิภักดิ์ต่อนายคนใหม่ทั้งนั้น
ทีเตียวสงซึ่งนำแผนที่ของเมืองเสฉวนไปมอบให้เล่าปี่ในภายหลังนั้น ตัวของเล่าปี่ ขงเบ้งกลับเลือกที่จะต้อนรับอย่างกับผู้มาโปรด ทั้งที่เตียวสงเป็นผู้ขายชาติ หรือหวดเจ้งซึ่งเล่าปี่ยกย่องมากก็เป็นคนหนึ่งที่สมคบคิดกับเตียวสงในการขายเมืองเสฉวนเช่นกัน 
บรรทัดฐานของคำว่าคุณธรรมนั้นอยู่ที่ไหน สำหรับกลียุคเช่นสามก๊กที่แผ่นดินวุ่นวาย บ้านเมืองไร้ระเบียบ ใจคนมีแต่จ้องจะฆ่าล้างผลาญกันนั้น การกระทำของอุยเอี๋ยนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย
ในนิยายสามก๊กเล่าว่า ขงเบ้งชังอุยเอี๋ยน แต่ที่ต้องใช้งานก็เพราะอุยเอี๋ยนมีความสามารถ เก่งกาจทั้งบุ๋นและบู๊ ซึ่งความจริงแล้วในประวัติศาสตร์สามก๊กไม่ได้บันทึกถึงตรงนี้ไว้ชัดเจนนัก
มีเกร็ดเล่าว่าความจริงแล้วอุยเอี๋ยนไม่ค่อยถูกกันกับคนของตระกูลม้า (คนละม้ากับของม้าเฉียว) ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในเกงจิ๋ว โดยมีม้าเลี้ยง ม้าเจ๊กเป็นแกนหลัก และตระกูลนี้ก็สนิทสนมกับขงเบ้งมาก ด้วยเหตุนี้อุยเอี๋ยนจึงมักถูกใส่ไฟบ่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากนิสัยหยิ่งทระนง ไม่ยอมงอให้ใครของอุยเอี๋ยนด้วยเช่นกัน
หลังจากได้อุยเอี๋ยนมาแล้วเล่าปี่ก็ให้ความสำคัญกับเขามาก เมื่อเล่าปี่นำทัพเข้าเสฉวนก็ได้พาฮองตง อุยเอี๋ยนและบังทองร่วมทัพไปด้วยเพื่อเข้าตีเสฉวน
ภายหลังเมื่อได้เสฉวนรวมถึงฮั่นจงมาแล้ว เล่าปี่ก็สถาปนาตนขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋องจากนั้นจึงกลับไปยังเสฉวนและได้ตั้งให้อุยเอี๋ยนเป็นแม่ทัพเฝ้ารักษาเมืองฮั่นตงแทน
เมืองฮั่นจงถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่สุดของจ๊กก๊ก แม่ทัพผู้เฝ้ารักษาที่นี่จะต้องมีความเก่งกล้าสามารถและหนักแน่นอดทน เดิมทีนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าอุยเอี๋ยนจะได้รับหน้าที่นี้ เพราะเวลานั้นจ๊กก๊กมีแม่ทัพระดับนายพลอยู่หกคน และอุยเอี๋ยนก็อยู่ลำดับท้ายสุด
กวนอูซึ่งเป็นนายพลอันดับหนึ่งได้รักษาเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ดังนั้นใครๆก็คาดคิดว่าจึงมีแต่เพียงเตียวหุยเท่านั้นที่จะได้รับหน้าที่สำคัญในการดูแลฮั่นจง เพราะตัวเลือกที่เหลืออย่างจูล่งนั้น เล่าปี่ได้ดึงไว้ใกล้ตัวที่เมืองเสฉวนเพราะจูล่งมีภาระในฐานะราชองครักษ์ของตนเองและบุตรของตน ส่วนฮองตงกับม้าเฉียวก็ถูกดึงไว้ที่เสฉวนเช่นกัน เนื่องจากฮองตงมีอายุมาก จุดนี้ก็พอจะเข้าใจ ส่วนม้าเฉียวนั้นมีความเป็นไปได้มากว่าเล่าปี่ไม้วางใจให้กุมกำลังทหารจำนวนมาก (รายละเอียดอ่านเอาจากเรื่องม้าเฉียวนะ) แต่ปรากฏว่าเล่าปี่ให้เตียวหุยไปดูแลเมืองปาซี ซึ่งเป็นเมืองชั้นในแทน และเลือกอุยเอี๋ยนให้เฝ้ารักษาฮั่นจง
ในทางยุทธ์ศาสตร์ หากฮั่นถูกตีแตก เสฉวนก็จะคับขันทันที ดังนั้นหากว่าแม่ทัพผู้เฝ้ารักษาเมืองนี้ไม่เก่งกาจหรือมีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ล่ะก็ ย่อไม่อาจรับตำแหน่งได้
และอุยเอี๋ยนก็ไม่ทำให้เล่าปี่ผิดหวัง ในช่วงชีวิตที่เขารับหน้าที่นี้ เมืองฮั่นจงไม่เคยถูกศัตรูรุกรานเข้ามาได้แม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อเล่าปี่ตายลง ขงเบ้งขึ้นมารับหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดนั้น อุยเอี๋ยนก็ได้เป็นแม่ทัพทหารเอกคนสำคัญ เพราะว่ากวนอู เตียวหุย ฮองตงและม้าเฉียวต่างก็ตายไปหมด จูล่งที่ยังเหลือก็อายุมากแล้ว
ตำแหน่งทางการทหารของจ๊กก๊กในยุคขงเบ้งนั้น อุยเอียนถือว่าเป็นรองแค่ขงเบ้งคนเดียว และไม่ว่าขงเบ้งจะนำทัพออกศึกครั้งใดก็ต้องมีอุยเอี๋ยนไปด้วยในฐานะแม่ทัพหน้าเสมอ
อุยเอี๋ยนนั้นเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการรบแบบกองโจรและเก่งในการใช้กลยุทธ์พิสดาร ใช้ทหารน้อยเอาชนะทหารมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่จ๊กก๊กขาดแคลนมากในตอนนั้น ในขณะที่ทางฝ่ายวุยและง่อก๊กกลับมีอยู่พอสมควร
แต่ขงเบ้งมักไม่ใช้แผนการที่อุยเอี๋ยนเสนอ โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป พูดถึงเรื่องความเสี่ยงแล้ว สุมาอี้เคยพูดถึงขงเบ้งว่าวางแผนไม่เคยเสี่ยงภัย ซึ่งนี่เป็นคำวิจารณ์จากบุคคลในระดับเดียวกันกับขงเบ้งเช่นสุมาอี้ ดังนั้นนี่น่าจะเป็นจุดอ่อนของขงเบ้งที่พอจะเป็นจริง 
เมื่อนำทัพบุกกิสานครั้งที่หนึ่ง อุยเอี๋ยนเคยเสนอให้ใช้แผนการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ โดยขอกำลังทหาร 5000 คน เดินทัพอย่างรวดเร็วเข้าเส้นทางลัดไปตีเมืองเตียงฮันโดยตรง ไม่ต้องอ้อมเข้าตีที่กิสานอย่างที่ขงเบ้งพยายามทำ ซึ่งขงเบ้งไม่รับแผนนี้โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป และเลือกใช้ม้าเจ๊กให้นำกำลังไปรักษาเกเต๋ง จนสุดท้ายม้าเจ๊กทำพลาด เพราะอ้างอิงแต่หลักพิชัยยุทธ์โดยไม่พลิกแพลงตามสถานการณ์ ทำให้ทัพจ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้ไม่เป็นท่า
หลังจากที่ขงเบ้งไม่ยอมรับแผนการของอุยเอี๋ยน ในนิยายสามก๊กบอกว่าเขาเดินออกจากกระโจมแล้วส่ายหัวจากนั้นพึมพำเบาๆว่า ความสามารถของตนไม่มีที่จะใช้
ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะนับจากนั้นแผนการในการนำทัพเข้าตีวุยก๊กนั้น ขงเบ้งจะเป็นผู้วางแผนเองทั้งหมด โดยไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เสนอแผนการบ้าง หรือถึงเสนอมาเขาก็ไม่เคยนำไปใช้ แต่เลือกที่จะสั่งการเองทุกอย่าง จนเป็นเหตุให้คนของฝ่ายจ๊กก๊กขาดการตัดสินใจและไม่มีโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถในการศึกบ้าง ซึ่งส่งผลกระทบให้ก๊กนี้ขาดแม่ทัพที่ชำนาญการศึกอย่างแท้จริงในช่วงหลัง หรือถึงจะมีก็น้อยมากเหลือเกิน นี่นับเป็นข้อผิดพลาดอย่างไม่น่าจะเกิดกับอัจฉริยะระดับขงเบ้ง ทั้งๆที่เขาเน้นย้ำเรื่องการสร้างคนขึ้นมาใช้งานมาตลอดในการรับราชการ
การศึกทั้งหกครั้งของขงเบ้ง อุยเอี๋ยนไปร่วมด้วยในฐานะกองหน้าทุกครั้ง และก็สร้างผลงานสู้รบมากมาย และมีอิทธิพลในกองทัพมากทีเดียว
ลืมบอกไปอย่างหนึ่ง อุยเอี๋ยนนั้นไม่ค่อยจะถูกกันกับเอียวหงี ซึ่งเป็นเลขาส่วนตัวของขงเบ้งเท่าใดนัก และเอียวหงีมักจะคอยใส่ไฟอุยเอี๋ยนต่อขงเบ้งเสมอ ซึ่งถ้าขงเบ้งจะหวาดระแวงอุยเอี๋ยนล่ะก็ นี่นับเป็นเหตุหนึ่ง
ความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนและเอียวหงีนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ในการศึกทั้งหกครั้งที่ขงเบ้งยกไปตีวุยก๊กนั้น พวกเขาทั้งสองคนต่างก็เป็นผู้มีความสำคัญ อุยเอี๋ยนคือแม่ทัพผู้รบตะลุยอยู่แนวหน้า ส่วนเอียวหงีคือผู้ช่วยอยู่ในกองทัพ ขงเบ้งต้องเหนื่อยกายใจไม่น้อยในการที่จะใช้งานทั้งสองคนซึ่งไม่ถูกกันมากนี้ให้ทำงานด้วยกัน และนี่ก็อาจะเป็นเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ขงเบ้งเกิดความเครียดจนต้องล้มป่วยลง เรื่องนี้มีความเด่นชัดมาก เพราะขนาดซุนกวนเองยังเคยวิจารณ์เรื่องของสองคนนี้ว่า ขงเบ้งใช้งานคนทั้งสอง อย่างอุยเอี๋ยนและเอียวหงี แม้พวกเขาจะมีความสามารถ คนหนึ่งจัดการเรื่องภายใน คนหนึ่งจัดการเรื่องภายนอก แต่ต่างก็มีนิสัยเย่อหยิ่ง ทระนงตน การที่ขงเบ้งใช้งานสองคนนี้ แสดงว่าเสียดายในความสามารถ หรืออาจเพราะจ๊กก๊กขาดแคลนคนแล้ว คำวิจารณ์ของซุนกวนนี้เกิดขึ้นครั้งที่บิฮุยเป็นทูตจากจ๊กก๊กไปเจรจาขอให้ง่อร่วมโจมตีวุย
กลับมาที่การศึกกิสานครั้งสุดท้ายของขงเบ้ง ก่อนที่ขงเบ้งจะตายนั้น ได้ฝากฝังงานสำคัญกับคนสนิทแต่ละคน ในนิยายสามก๊กเล่าว่าขงเบ้งสั่งให้เอียวหงีเป็นผู้คุมทัพให้ถอยกลับจ๊กก๊กเมื่อตนตายลง และให้อุยเอี๋ยนเป็นทัพระวังหลัง ซึ่งหากอุยเอี๋ยนมีทีท่าว่าจะทรยศก็ให้กำจัดเสีย โดยแผนการสังหารอุยเอี๋ยนนั้น ตนได้มอบหมายให้ม้าต้ายเป็นผู้จัดการ
และเมื่อขงเบ้งตายลง อุยเอี๋ยนซึ่งต้องเป็นทัพระวังหลังก็ปฏิเสธหน้าที่ เพราะคิดจะนำทหารบุกโจมตีวุยก๊กต่อ เอียวหงีจึงตัดสินใจนำทหารกลับ อุยเอี๋ยนไม่พอใจจึงยกทัพไปสกัดทางถอยกลับของเอียวหงี เอียวหงีจึงนำทัพหนีไปทางอื่น เมื่อไปถึงหนานกู่โขว ทั้งสองทัพก็ได้ประจันหน้ากัน แต่ทัพอุยเอี๋ยนมีน้อยกว่ามากจึงแตกพ่ายไป อุยเอี๋ยนจึงหนีลงไปยังฮั่นจงตอนใต้ ระหว่างทางได้ถูกม้าต้ายซึ่งเป็นรองแม่ทัพฆ่าตาย
ตรงนี้มีบันทึกไว้ต่างกันหลายแห่ง ในบันทึกจดหมายเหตุของวุยก๊กบอกว่า ก่อนขงเบ้งจะตายได้มอบอำนาจทางทหารทั้งหมดให้อุยเอี๋ยนดูแล และให้ถอยทัพกลับ อุยเอี๋ยนทำตามและเมื่อถอยไปถึงเปาโข่วจึงเริ่มไว้ทุกข์
แต่เอียวหงีนั้นกลัวว่าเมื่อกลับไปแล้วตนอาจจะเป็นภัย เพราะปกติเขาไม่ถูกกันกับอุยเอี๋ยน จึงประกาศว่าอุยเอี๋ยนเป็นกบฏและชิงลงมือก่อน อุยเอี๋ยนไม่ได้เตรียมตัว จึงแตกพ่ายหนีไปและถูกฆ่าตาย
ถ้าดูจากแผนที่และภูมิศาสตร์แล้ว จะพบว่าหนานกู่โขว หรือเปาโข่วอยู่ห่างจากฮั่นจงไม่มากนัก และอยู่ห่างจากหวู่จ้างหยานซึ่งเป็นที่มั่นที่ขงเบ้งตายนับร้อยลี้ โดยหวูจ้างหยานนั้นอยู่ไม่ไกลจากเตียงฮัน และเตียงฮันซึ่งเป็นเป้าหมายของขงเบ้งนั้นก็อยู่ห่างจากฮั่นจงไม่น้อยเลย ถ้าอุยเอี๋ยนคิดก่อการกบฏ ทำไมถึงไม่เดินทัพขึ้นเหนือแล้วค่อยสวามิภักด์ต่อวุย เหตุใดจึงถอนทัพลงใต้มาจนกระทั่งใกล้ถึงฮั่นจงแล้วจึงค่อยลงมือ 
คุณทองแถม นองจำนง ได้ลองวิเคราะห์ไว้ในหนังสือขุนพลสามก๊กว่า อาจเป็นได้ที่หลังขงเบ้งตายลง คนทั้งสองซึ่งไม่ถูกกันนั้น ต่างทะเลาะแย่งอำนาจการบัญชาการทหารกัน เมื่อไม่ยอมกัน พวกเขาจึงต่างนำทัพกลับลงไปเสฉวนเพื่อทำเรื่องถวายรายงานต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่าอีกฝ่ายคิดกบฏ เผอิญว่าทั้งสองทัพเจอกันที่หนานกู่โขว จึงรบกัน แต่อุยเอี๋ยนมีทหารน้อยกว่า เพราะทัพของเอียวหงีนั้นเป็นทัพหลวง อุยเอี๋ยนจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย
อุยเอี๋ยนคือผู้แพ้ ดังนั้นจะถูกคนชนะอย่างเอียวหงีเขียนประวัติศาสตร์แบบไหนก็ได้แต่คนชนะอย่างเอียวหงีก็ไม่ได้มีจุดจบที่ดีเท่าไหร่ 

เมื่อกลับถึงเสฉวนแล้ว พระเจ้าเล่าเสี้ยนได้แต่งตั้งเจียวอ้วนเป็นไจเสี่ยงอัครมหาเสนาบดีต่อจากขงเบ้ง บิฮุยเป็นรองอัครเสนา งออี้ได้เป็นผู้บังคับการเมืองฮั่นจง ส่วนเกียงอุยเป็นแม่ทัพพิทักษ์ฮั่นควบคุมกำลังทหาร
เอียวหงีได้เลื่อนตำแหน่งขุนนางฝ่ายในเพียงแค่ขั้นสองขั้นเท่านั้น และนั่นทำให้เขาไม่พอใจมาก เพราะเอียวหงีคงคาดว่าจะได้ขึ้นเป็นไจเสี่ยงแทนขงเบ้งจึงนำเรื่องไปบ่นกับบิฮุย
สามก๊กฉบับประวัติศาสตร์บันทึกคำพูดของเอียวหงีไว้ชัดเจนว่า เมื่อท่านขงเบ้งตาย หากข้านำทหารไปสวามิภักดิ์ต่อวุยล่ะก็จะมิดีกว่าตอนนี้หรือ ช่างน่าเสียดายจริง
คำพูดของเอียวหงีตรงนี้ แม้แต่สามก๊กนิยายของหลอก้วนจงก็ไม่อาจแก้ไขได้ และสุดท้ายแล้วเมื่อบิฮุยนำความไปกราบบังคมทูลต่อเล่าเสี้ยน เอียวหงีจึงถูกสั่งประหารชีวิต ยังดีที่เจียวอ้วนขอไว้ และเอียวหงีเองก็มีผลงานมาไม่น้อย จึงเหลีอเพียงถูกเนรเทศเท่านั้นสุดท้ายเอียวหงีก็ต้องเชือดคอตายด้วยความแค้นใจ ในถิ่นทุรกันดาร
เมื่อดูจากจุดจบของเอียวหงีแล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกว่าความจริงระหว่างอุยเอี๋ยนกับเอียวหงี ใครกันแน่คือผู้คิดคดทรยศที่แท้จริง
ในการเมืองไม่ว่าจะประเทศใด สมัยใด ผู้แพ้มักจะถูกหาว่าเป็นกบฏและคิดทรยศโดยผู้ที่เป็นฝ่ายชนะ ทั้งนี้เพื่อกดเกียรติภูมิของผู้แพ้ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกมนุษย์ กรณีของอุยเอี๋ยนนี่ก็เช่นกัน
อุยเอี๋ยนถือเป็นตัวอย่างของคนเก่งคนหนึ่งที่ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความรู้ความสามารถเท่าที่ควร และยังถูกหาว่าเป็นกบฏจนมีภาพลักษณ์ของคนทรยศมานับพันปี 
ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าคนๆนี้คือหนึ่งในแพะรับบาปของประวัติศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น