ขงเบ้งเคยพูดถึงเกียงอุยเมื่อแรกพบหน้าไว้ว่า....
นับแต่เสียบังทองไป เราก็เหมือนขาดคู่คิดที่รู้ใจ มาบัดนี้ได้พบเกียงอุย เปรียบได้กับหงส์อ่อนตัวใหม่มาแทน
จากคำกล่าวนี้จะเห็นว่าขงเบ้งให้ความสำคัญต่อเกียงอุยมาก
และเมื่อก่อนขงเบ้งจะตาย เขาก็ได้มอบตำราพิชัยสงครามที่ตนได้ศึกษาค้นคว้าเขียนขึ้น ทั้งหมด 24 เล่ม และมอบให้เกียงอุยไว้ศึกษาต่อมาเพื่อทำการใหญ่แทนตน
นับจากขงเบ้งตายไปแล้วเกียงอุยก็คือผู้สืบทอดอำนาจด้านการทหารแต่ผู้เดียวของจ๊กก๊ก และออกศึกกับวุยก๊กเรื่อยมาตราบจนจ๊กก๊กล่มสลายลง
เกียงอุยผู้นี้กล่าวกันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเก่งทั้งบุ๋นบู๊ อย่างที่ยากจะหาได้ในจ๊กก๊กระยะหลัง และพระเจ้าเล่าเสี้ยนก็ได้เขาเป็นผู้คอยค้ำจุนบัลลังก์มาตลอด
แต่น่าเสียดายที่ภายหลังจ๊กก๊กต้องล่มสลายลงเพราะความโฉดเขลาของเล่าเสี้ยน ในขณะที่เกียงอุยต้องเชือดคอตัวเองตายเพราะไม่อาจกู้ชาติได้
แค่ความผิดอยู่ที่เล่าเสี้ยนหรือาเต๊าผู้เลอะเลือนแต่ผู้เดียวหรือ
เกียงอุยผู้เก่งกาจและเป็นศิษย์เอกของขงเบ้งนั้นเป็นผู้หนึ่งที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่
ประวัติโดยย่อ
เกียงอุยหรือเจียงเว่ย ชื่อรองคือโป๊ะเยียะ เกิดปี ค.ศ.202 เป็นชาวอำเภอยิ เมืองเทียนสุย ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน และยังเป็นเมืองที่มีอาณาเขตติดกันกับชนเผ่าเกี๋ยงอันเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่ชำนาญการรบบนหลังม้า
เกียงอุยจึงเป็นลูกผสมของคนจีนและชาวเกี๋ยง ซึ่งได้ลักษณะพิเศษของชาวเกี๋ยงติดมาด้วยนั่นคือมีความเชี่ยวชาญในการขี่ม้ายิงธนู และเขายังขึ้นชื่อว่าเป็นคนหน้าตาดีมากคนหนึ่งด้วย
ประวัติวัยเด็กไม่มีแน่ชัด บอกเพียงว่าเมื่อเข้าอายุ 20 ต้นๆ เขาก็รับราชการที่เมืองเทียนสุย ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองชายแดนหน้าด่านของวุยก๊ก โดยสังกัดในกองทัพม้าของแฮหัวหลิมเจ้าเมืองเทียนสุย
ในสามก๊กนั้นพูดถึงเกียงอุยครั้งแรก โดยกล่าวถึงการยกทัพบุกวุยก๊กครั้งที่หนึ่งของขงเบ้ง
ขงเบ้งนำทัพเข้าตีเมืองเทียนสุยโดยให้นายเฒ่าจูล่งเป็นทัพหน้า ผลปรากฏว่าจูล่งผู้ผ่านสมรภูมิมานับไม่ถ้วนและไม่เคยพบกับความพ่ายแพ้แม้สักครั้ง ต้องเสียท่าและเกือบพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกให้กับนาทหารหนุ่มที่มีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น ซึ่งการนำทัพเข้าตีเมืองของจูล่งในครั้งนี้ก็เกิดจากการวางแผนการของขงเบ้งด้วย นั่นเท่ากับว่านายทหารหนุ่มคนนี้สามารถอ่านแผนการของขงเบ้งออกและยังหาทางตีโต้กลับได้ด้วย
ขงเบ้งประหลาดใจที่มีคนอ่านแผนของตนออกได้อย่างง่ายดาย และเมื่อพบว่าอีกฝ่ายเป็นเพียงนายทหารหนุ่มไร้ชื่อก็ยิ่งตกใจเข้าไปใหญ่ และทำให้เกิดความชื่นชมในความสามารถขึ้นด้วย และเมื่อสืบทราบว่านายทหารหนุ่มผู้นั้นมีชื่อว่าเกียงอุย ขงเบ้งก็ปรารถนาที่จะได้ตัวมาอย่างยิ่ง
ในนิยายสามก๊กเล่าว่าขงเบ้งได้วางแผนหลายชั้นเพื่อทำให้เกียงอุยต้องผิดใจกับแฮหัวหลิมเจ้าเมืองเทียนสุยและทำให้เกียงอุยไม่อาจกลับไปวุยก๊กได้อีก จากนั้นก็ให้ตามตัวแม่ของเกียงอุยเพื่อมาเกลี้ยกล่อมให้เขายอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก
เมื่อได้เกียงอุยมาแล้ว เขาคนนี้ก็กลายเป็นแม่ทัพคนสนิทที่ขงเบ้งมักจะปรึกษาหารืองานด้านทหารทุกครั้งและไม่ว่าศึกครั้งใดก็จะนำเขาไปด้วยเสมอ
ศึกทั้งหกครั้งของขงเบ้งในการตีวุยก๊กนั้น เกียงอุยเข้าร่วมด้วยในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ และหลังจากที่ขงเบ้งตายลง เขาก็ได้รับสืบทอดอำนาจด้านการบัญชาทหารมาจากขงเบ้งในตำแหน่งแม่ทัพพิทักษ์ฮั่น จากนั้นหลายปีต่อมาจึงขึ้นมารับตำแหน่งต้าเจียงกุน (มหาขุนพล) ควบคุมกำลังทหารทั้งหมด
ภายในจ๊กก๊กหรือเสฉวนช่วงหลังขงเบ้งตายลงนั้น ผู้ที่มีอำนาจการบริหารดูแลจัดการทั้งหมดมีสามคนด้วยกัน
เจียวอ้วน บิฮุยและเกียงอุย
หลังขงเบ้งตาย เจียวอ้วนได้รับตำแหน่งไจเสี่ยง ดูแลกิจการทั้งหมดในจ๊กก๊ก โดยมีบิฮุยซึ่งเป็นคนที่มีลักษณะประนีประนอมเป็นรอง ส่วนเกียงอุยนั้นรับหน้าที่ควบคุมกำลังทหารคอยประจำอยู่ตามชายแดน
การรับราชการในจ๊กก๊กหรือเมืองเสฉวนของเกียงอุยนั้น กล่าวกันว่ามีอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากว่าเกียงอุยนั้นเป็นผู้ที่ชูนโยบายทำสงครามกับวุยก๊กซึ่งเขารับสืบทอดมาจากขงเบ้งที่ตายไป ในขณะที่บิฮุยชูนโยบายปกปักรักษาดินแดนและทั้งสองมักจะขัดแย้งกันเสมอ แต่ยังดีที่เจียวอ้วนผู้กุมอำนาจสูงสุดค่อนข้างเห็นด้วยกับบิฮุย จ๊กก๊กยุคหลังสิ้นขงเบ้งจึงเริ่มฟื้นตัวจากความสูญเสียมาไม่น้อยเพราะปราศจากสงคราม
จะว่าไปแล้วอาเต๊าหรือพระเจ้าเล่าเสี้ยนบุตรของเล่าปี่นั้นก็เป็นฮ่องเต้ที่ขาดอิสรภาพไม่ใช่น้อย เพราะอำนาจการบริหารประเทศนั้นตกอยู่ในมือขงเบ้งมาหลายปีแล้วยังตกมาสู่ผู้ที่ขงเบ้งกำหนดไว้ก่อนตายอีก โดยเจียวอ้วนและบิฮุยเป็นผู้สืบทอด เป็นฮ่องเต้แต่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจและการบริหารบ้านเมืองเป็นของตัวเองแบบนี้ท่านลองทายซิว่าเหมือนใคร แม่นแล้ว...ก็พระเจ้าเหี้ยนเต้ อดีตฮ่องเต้ที่โจโฉเคยชักหุ่นนั่นไง
เอาล่ะพูดถึงตรงนี้ก็ชักอยากจะเขียนเรื่องของอาเต๊าหรือพระเจ้าเล่าเสี้ยน ฮ่องเต้ที่อาจจะเป็นคนปัญญาอ่อนขึ้นมาซะแล้วสิ เพราะนี่เป็นเรื่องราวของบุคคลที่น่าสนใจไม่น้อย แต่คงต้องไว้ทีหลัง
เนื่องจากความที่เกียงอุยเป็นลูกผสมกับชนเผ่านอกด่าน ทำให้เขาไม่เป็นที่ชอบหน้าของชาวเสฉวนบางส่วนเท่าไหร่นัก เกียงอุยเองก็คงรู้ตัวดี ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะประจำอยู่ตามชายแดนมากกว่าจะอยู่ในส่วนกลางซึ่งพวกของเจียวอ้วนและบิฮุยกุมอำนาจบริหาร
หลังจากนั้นเมื่อเจียวอ้วนตายลง บิฮุยขึ้นรับสืบทอดอำนาจแทน ระบบการบริหารในจ๊กก๊กเริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะการที่เกียงอุยไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวเสฉวนนั้นจะทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้นจึงจัดให้บิฮุยและเกียงอุยมีอำนาจเสมอกัน และนั่นทำให้บิฮุยคนเดียวไม่อาจทานเกียงอุยที่ต้องการจะนำทัพออกศึกในภายหลังได้
และในที่สุดเมื่อถึงปีค.ศ. 249 ที่วุยก๊กเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อตระกูลสุมาซึ่งนำโดยสุมาอี้ก่อการรัฐประหาร สังหารโจซองผู้สำเร็จราชการตาย และจับเครือญาติของโจซองสังหารหมดสิ้น เกียงอุยถือโอกาสที่ฝ่ายวุยเกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ เข้าเฝ้าพระเจ้าเล่าเสี้ยนเพื่อขอนำทัพออกศึก
บิฮุยพยายามทัดทาน โดยอ้างว่าการที่ขงเบ้งทำไม่สำเร็จ พวกเราจะทำสำเร็จหรือ แต่เกียงอุยก็อ้างเหตุผลต่างๆ ประกอบกับการที่แฮหัวป๋าแม่ทัพฝ่ายวุยที่รู้เส้นทางต่างๆดี เข้ามาสวามิภักดิ์ ทำให้เล่าเสี้ยนต้องยอมให้เกียงอุยนำทัพออกศึก
เกียงอุยนำทัพออกศึกและตั้งมั่นที่หวูจ้างหยานเช่นเดียวกับที่ขงเบ้งเคยทำและดำเนินการคล้ายอย่างที่ขงเบ้งเคยวางไว้ แต่การเดินทัพของเกียงอุยก็ถูกล่วงรู้จากกุยห้วยแม่ทัพฝ่ายวุย ทำให้แผนที่วางไว้พังไม่เป็นท่า เมื่อกุยห้วยนำกำลังเข้าตีอย่างฉับพลันซึ่งในการศึกครั้งนี้ทางฝ่ายวุยเองก็ได้มีการแจ้งเกิดของขุนพลซึ่งจะมาเป็นกำลังสำคัญในอนาคตอย่างเตงงาย และจะกลายเป็นคู่ปรับกับเกียงอุยในภายหลัง
ผลการศึกครั้งแรกเกียงอุยต้องพ่ายแพ้และเสียไพร่พลไปไม่ใช่น้อย ทำให้เกียงอุยเริ่มรู้ว่าการจะเอาชนะวุยไม่ใช่ของง่าย และทำให้เขาหันมาฝึกฝนไพร่พลเพื่อการตั้งรับตามนโยบายของบิฮุย
แต่พอถึงปีค.ศ. 253 บิฮุยก็ถูกขุนนางฝ่ายวุยที่มาสวามิภักดิ์แทงตายในงานเลี้ยงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
และเมื่อสิ้นบิฮุยซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจเทียบเท่าและชอบทัดทานลงไป เกียงอุยจึงกลายเป็นผู้กุมอำนาจเต็มที่ในจ๊กก๊ก และตัดสินใจยกทัพทำศึกกับวุยอีกครั้งทันที
บิฮุยนั้นเป็นเสาหลักด้านการบริหารของจ๊กก๊ก แม้จะไม่ได้คุมกำลังทหารแต่เขาก็มีอำนาจมากพอที่จะทัดทานการออกศึกของเกียงอุย และบิฮุยซึ่งเป็นคนที่ชูนโยบายพัฒนาบ้านเมืองนั้นน่าจะได้รับความนิยมจากชาวเสฉวนมากกว่าเกียงอุยซึ่งค่อนข้างจะชอบทำสงครามซะด้วยซ้ำ และผลจากการไร้บิฮุย ก็ทำให้เกียงอุยสามารถออกศึกได้โดยไร้คนทัดทาน หรือถึงจะทัดทานก็ไร้ผล เพราะแม้แต่พระเจ้าเล่าเสี้ยนเองก็ไม่อาจห้ามเขาได้
เกียงอุยนำทัพออกศึกอีกแปดครั้ง ในช่วงเวลาหลายปีต่อจากนั้น ซึ่งก็ประสบกับความปราชัยต่อเตงงายแม่ทัพของวุยแทบทุกครั้ง แม้จะมีที่ชนะบ้างก็ไม่ค่อยจะได้เห็นเป็นรูปธรรมเท่าใด จนพระเจ้าเล่าเสี้ยนเองก็เริ่มจะเหนื่อยหน่ายต่อความบ้าสงครามของเกียงอุย แม้เกียงอุยจะบอกว่าทำไปเพื่อราชวงศ์ฮั่น เพื่อปณิธานของเล่าปี่อดีตฮ่องเต้ของจ๊กก๊ก แต่การเอาแต่ออกศึกไม้เว้นแต่ละวันและนำทหารไปล้มตายทีละมากๆนั้น มันเป็นการกระทำที่เหมาะสมของผู้ที่ขงเบ้งเคยออกปากชมว่าเป็นยอดขุนพลหรือ?
เพราะแม้แต่อาเต๊าที่เราว่าเป็นคนปัญญาอ่อนยังเคยบอกต่อเกียงอุยว่าประชาชนต่างก็อยู่ดีกินดีกันแล้ว ทำไมจะต้องเอาแต่รบท่าเดียว
การทำสงครามไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะจะต้องมีคนจำนวนมากล้มตายไป และส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวบ้านผู้บริสุทธิ์กับเหล่าทหารเกณฑ์เท่านั้น
เกียงอุยที่รับสืบทอดวิชามาจากขงเบ้งทำไมจึงต้องคิดแต่จะรบท่าเดียว ในนิยายสามก๊กนั้นเคยให้เหตุผลว่า เพราะขงเบ้งเคยพูดว่าเล่าปี่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นดังนั้นตนจึงต้องนำทัพออกศึกเพื่อทำให้การสำเร็จ และการเอาแต่นั่งรออยู่กับที่เท่ากับเป็นการนับวันถอยหลัง ดังนั้นตนจึงต้องออกไปเพื่อหาทางรอดให้แก่จ๊กก๊ก
ดังนั้นนโยบายของจ๊กก๊กจึงเป็นการทำสงคราม ซึ่งสวนทางกับสภาพของก๊กที่เป็นก๊กที่มีขนาดเล็กที่สุดในสามก๊ก
แล้วแบบนี้มันจะไปเหลืออะไร.....
ในอดีตสมัยเลียดก๊ก แคว้นฉินเคยเป้นแคว้นบ้านนอกที่มีความเจริญล้าหลังอีกหกแคว้น แต่เหตุใดในภายหลังจึงสามารถเอาชนะทุกแคว้น รวบรวมแผ่นดินได้
การที่ว่านี้สำเร็จลงด้วยมือของฉินซีฮ่องเต้ แต่นั่นไม่ได้เป็นผลงานของเขาแต่ผู้เดียว เพราะบรรพบุรุษของฉินซีนับย้อนไปกว่าสี่ถึงห้ารุ่นได้ใช้เวลาปูทางเพื่อการใหญ่นี้ไว้ก่อนแล้วเกือบร้อยปี
เริ่มจากฉินเซี่ยวอ๋องที่ทำการปฏิรูปบ้านเมืองฉินให้แข็งแกร่ง จากนั้นเจ้าครองแคว้นฉินถัดมาอีกหลายรุ่นต่างก็พยายามสืบทอดต่อมา โดยก็มีการทำสงครามอยู่ประปราย รวมไปถึงศึกใหญ่ในบางช่วง
และผลของการสร้างบ้านเมืองฉินก็มาเห็นผลสำเร็จเต็มที่ในสมัยของอิ๋งเจิ้นหรือฉินซีฮ่องเต้ ที่ในเวลานั้นแคว้นฉินได้พัฒนาขึ้นมากลายเป็นแคว้นใหญ่ที่สุด รวยที่สุด มีกำลังทหารมากที่สุดในแผ่นดิน
เริ่มจากการวางหินทีละก้อน จนกลายเป็นภูผาที่สูงใหญ่ นี่มิใช่สิ่งที่ขงเบ้งควรวางรากฐานไว้และเกียงอุยรับช่วงต่อไปหรือ
เมื่อเห็นว่าสภาวการณ์ในขณะนั้น ทำยังไงจ๊กก๊กก็ไม่อาจรวมแผ่นดินได้ เหตุใดจึงไม่ค่อยๆสร้างบ้านเมืองให้แข็งแกร่ง เมื่อมีจังหวะพร้อมจริงๆค่อยรุก แต่ถ้าไม่ก็ค่อยๆทำให้จ๊กก๊กแข็งแกร่งจนกลายเป็นก๊กที่ไม่อาจตีแตกได้ นั่นถึงจะสมกับสติปัญญาที่ผู้คนยกย่องเขามิใช่หรือ
ภาระที่ไม่อาจทำสำเร็จได้ในรุ่นเรา เหตุใดจึงไม่วางใจให้คนรุ่นหลังสืบต่อ ซึ่งเขาน่าจะเตรียมการวางรากฐานของบ้านเมืองและกำลังคนกำลังทหารไว้ให้พรั่งพร้อม แล้วจากนั้นเมื่อถึงเวลาจึงมอบสืบต่อให้กับเจียวอ้วน บิฮุย เกียงอุย ซึ่งนี่คือยุทธ์ศาสตร์ระยะยาว
แต่ขงเบ้งกลับหมายจะทำให้สำเร็จในรุ่นของเขา และด้วยความดันทุรังนั้นก็ทำให้จ๊กก๊กต้องสูญเสียมากมาย จนไม่อาจจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิมได้อีก
เกียงอุยที่รับช่วงมาก็แทบจะไม่เหลืออะไรให้เขาไว้ใช้ทำการต่อ ขุนพลเก่งๆล้มตายหมด ขุนนางที่มีสติปัญญาก็ไม่เหลือ ทหารและประชากรลดน้อยลงจนน่าตกใจ ดังนั้นผมจึงค่อนข้างเห็นใจเกียงอุยในกรณีนี้ เพราะอาจารย์อย่างขงเบ้งเล่นผลาญไปหมดก่อนนี้แล้ว
แต่สิ่งที่ควรว่าเกียงอุยก็คือการทำสงครามถึงแปดครั้งในเก้าปี นั่นเท่ากับว่าปีหนึ่งต้องยกทัพไปทำศึกทุกครั้ง และแต่ละปีก็ไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่ต้องสูญเสียทหารขึ้นเรื่อยๆ
การศึกที่ไม่เคยเห็นผลก่อให้เกิดความไม่พอใจในราชสำนักและเกียงอุยก็ถูกระแวงว่าจะเป็นกบฏจนครั้งหนึ่งเล่าเสี้ยนต้องเรียกตัวเขากลับวัง ซึ่งความจริงแล้วเป็นแผนของฮุยโฮขันทีกังฉินที่ไม่ต้องการให้เกียงอุยได้มีผลงาน
เมื่อเกียงอุยรู้ความจริง ก็ถือกระบี่เข้าวังเพื่อจะสังหารฮุยโฮ แต่เล่าเสี้ยนขอร้องไว้ เกียงอุยจึงต้องยอมล่าถอย และหลีกหนีภัยจากราชสำนักไปปักหลักอยู่ที่ฮั่นตงเพื่อเตรียมกำลังทหารอีกครั้ง
ตอนนั้นเกียงอุยคุมกำลังทหารเต็มตัว มีอำนาจสูงสุดในก๊ก ทางตำแหน่งเป็นรองแค่เล่าเสี้ยนผู้เป็นฮ่องเต้ แต่ในความจริงเขามีอำนาจมากที่สุด ทำไมแค่ขันทีคนเดียวถึงจะกำจัดไม่ได้ ทั้งที่เขาเองก็น่าจะรู้ดีว่าในอดีตนั้นการที่ขันทีมีอำนาจถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นล่มจม แล้วยังปล่อยให้ขันทีมีอำนาจในราชสำนักของจ๊กก๊กเป็นการซ้ำรอยเดิมอีก
หลายคนเห็นใจเกียงอุยที่ถูกแกล้ง แต่ผมถือว่าการที่เขาไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นเสาหลักของแผ่นดินที่แท้จริงและกุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองได้อย่างที่ขงเบ้งอาจารย์ของเขาเคยทำได้นั้น เป็นความผิดพลาดอันไม่สมกับที่เป็นศิษย์เพียงคนเดียวของมังกรหลับ
และหรือไม่แน่บางทีการที่เขาชูนโยบายเดียวกับผู้เป็นอาจารย์คือการทำสงครามถือเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น
และในที่สุด หลังจากที่เกียงอุยนำทัพบุกวุยก๊กถึงแปดครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในปีค.ศ. 263 ทางฝ่ายวุยก๊ก ซึ่งตอนนั้นอำนาจการบริหารได้ตกมาอยู่ที่สุมาเจียวลูกของสุมาอี้แล้วนั้น ได้ตัดสินใจส่งกองทัพใหญ่ที่มีเตงงายและจงโฮยเป็นแม่ทัพ นำเข้าตีจ๊กก๊ก
กล่าวกันว่าเดิมทีแล้ว สุมาเจียวเพียงต้องการทดสอบความแข็งแกร่งของจ๊กก๊กดูว่ามีมากแค่ไหน แต่นั่นกลับเป็นว่าการบุกครั้งเดียวครั้งนี้ของฝ่ายวุยก๊ก ได้ทำให้จ๊กก๊กต้องล่มสลาย
เรื่องคือเตงงายและจงโฮยนำกำลังเข้ายึดเมืองฮันต๋งได้โดยง่าย เมืองนี้ถือเป็นเมืองฐานบัญชาการหน้าด่านที่สำคัญที่สุดของก๊ก ซึ่งการที่เสียไปอย่าง่ายดายนั้นเป็นเพราะเหล่านายทหารและขุนนางของฝ่ายจ๊กก๊กต่างเบื่อหน่ายต่อสงคราม ดังนั้นเมื่อเห็นทัพของวุยบุกมาจึงยอมสวามิภักดิ์โดยง่าย
ในขณะที่ทางเกียงอุยนั้นตั้งมั่นอยู่ที่ปาเส และฝึกฝนทหารอยู่ได้ข่าวการเสียเมืองฮันต๋ง จึงรีบส่งจดหมายกลับเมืองหลวงให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนส่งกำลังรักษาด่านต่างๆอย่างเข้มแข็ง แต่จดหมายไปไม่ถึงเพราะถูกฮุยโฮทำลายทิ้ง
เตงงายและจงโฮยตีหัวเมืองน้อยใหญ่ได้ง่ายดาย จนเกียงอุยซึ่งอยู่ที่ปาเสต้องนำทัพที่เหลือไปตั้งมั่นที่กิก๊กอันเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนจะเข้าถึงเมืองหลวงเฉิงตู
ที่ด่านนี้มียอดผาสูงชันเป็นปราการธรรมชาติ ทำให้สามารถป้องกันการบุกรุกของฝ่ายวุยได้อย่างเข้มแข็ง จนทัพวุยไม่อาจตีแตกได้
เมื่อไม่สามารถตีได้ เตงงายกับจงโฮยจึงเริ่มมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยเตงงายได้เสนอตัวที่ขะนำทหารจำนวนหนึ่งเข้าตีที่ทางลัดที่จะไปยังเสฉวน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทุรกันดารและเต็มไปด้วยยอดเขาสูงซับซ้อน ชนิดที่คนธรรมดาไม่สามารถจะปีนฝ่าได้
จงโฮยคัดค้านเพราะมันเป็นแผนที่บ้าระห่ำเกินไป แต่งเตงงายยืนกรานที่จะทำ ซึ่งในที่สุดจงโฮยก็เลือกที่จะเข้าตีด่านกิก๊กต่อไป ส่วนเตงงายนำหน่วยรบพิเศษจำนวนหนึ่งเข้าเส้นทางลัดที่เต็มไปด้วยหน้าผาสูงชัน
ในนิยายสามก๊กเล่าว่าเตงงายกับทหารเหล่านั้นข้ามผามาด้วยการกลิ้งลงมาตามทาง แล้วเอาผ้ามาทำเป็นร่มชูชีพลงมาจากบนหน้าผา ทำเอาทหารจ๊กก๊กที่อยู่ด้านหลังขวัญเสีย ไม่กล้าสู้และพากันยอมแพ้
แต่ในความเป็นจริงแล้วย่อมมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น ในการที่เตงงายและกองทัพของเขาจะปีนฝ่าทางวิบากอันเต็มไปด้วยอันตราย
ในที่สุดเตงงายสามารถนำทหารของเขาเข้ยึดเมืองเฉิงตูได้โดยง่าย เพราะเล่าเสี้ยนยอมสวามิภักดิ์ด้วยการพาข้าราชบริพารออกมาเข้าแถวคำนับที่หน้าเมือง
แต่เกียงอุยซึ่งอยู่ที่กิก๊กนั้นยังไม่รู้เรื่อง และยังคงสู้รบรักษาด่านต่อไป จนกระทั่งมีราชโองการมาจากเล่าเสี้ยนให้ยอมแพ้
และนั่นก็คืออวสานของจ๊กก๊ก
เล่ากันว่าหลังจากนั้นเกียงอุยแสร้งทำเป็นยอมสวามิภักดิ์ต่อจงโฮย จากนั้นจึงวางแผนยุให้จงโฮยก่อกบฏและให้ใส่ความว่าเตงงายเป็นกบฏต่อสุมาเจียว
สุมาเจียวเองก็ระแวงคนทั้งสองอยู่แล้ว จึงนำทัพหลักมาตั้งมั่นดูเหตุการณ์ณ์ที่เตียงฮัน และได้มีคำสั่งให้จับกุมเตงงายฐานกบฏ
เตงงายต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจจึงยอมให้จับตัวนำกลับไปชำระความที่เมืองหลวง แต่ก็ไปไม่ถึงและสุดท้ายเตงงายผู้พิชิตจ๊กก๊กของเล่าปี่ได้สำเร็จก็ถูกตัดหัวระหว่างทาง
ส่วนจงโฮยนั้นคิดก่อกบฏจริงๆ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะไม่อาจต้านทัพใหญ่ของสุมาเจียวได้และถูกฆ่าตาย ส่วนเกียงอุยนั้นเชือดคอตายท่ามกลางความวุ่นวาย เหล่าทหารวุยก๊กต่างพากันชำแหละเอาศพของเยงอุยมาดูพบว่ามีดีที่ใหญ่โตมาก ซึ่งคนจีนโบราณนั้นมีความเชื่อว่าผู้ที่มีดีใหญ่แสดงว่ามีความกล้ามาก เหมือนที่เล่าปี่เคยเปรียบเปรยและชมเชยจูล่งครั้งศึกฮั่นจงว่ามีดีทั้งตัว ซึ่งจากประวัติและผลงานที่ผ่านมา เกียงอุยก็นับเป็นคนกล้าที่ไม่กลัวตายจริงๆ แต่ทว่าสุดท้าย...
ปิดฉาก...จ๊กก๊ก
เกียงอุย...คนที่ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของจ๊กก๊กในยุคหลังขงเบ้ง แต่การกระทำที่มุ่งแต่จะรบกับศัตรูโดยไม่สนใจการพัฒนาบ้านเมืองของเขา ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยเร่งวันล่มสลายของจ๊กก๊กให้เร็วขึ้น และนี่ก็เป็นก๊กแรกที่ล่มก่อนใครในสามก๊ก นับว่าน่าเสียดายสำหรับบุรุษที่ครั้งหนึ่งขงเบ้งออกปากว่านี่คือยอดขุนพล
แต่กระนั้นความกล้าและความพยายามครั้งสุดท้ายของเขาในการเป็นแม่ทัพคนสุดท้ายที่ยืนหยัดรักษาจ๊กก๊กโดยไม่ถอย ก็นับว่าเป็นคุณสมบัติหนึ่งของยอดขุนพลได้เช่นกัน แม้ว่าเขาจะผิดพลาดในแง่ของการเป็นนักบริหารและขุนพลผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น