วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ประวัติเล่าเสี้ยน กงซื่อ

ประวัติสามก๊ก ประวัติเล่าเสี้ยน กงซื่อ

สุสานของวีรบุรุษในสามก๊กมีชื่อของผู้คนในสามก๊กจารึกอยู่มากมาย ต่างก็ได้รับการกราบไหว้จากชนรุ่นหลังมากน้อยต่างกันไป แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ว่ากันว่าไม่ได้รับการกราบไหว้จากคนรุ่นหลัง


นั่นคือเล่าเสี้ยนหรือที่เรารู้จักกันในนามอาเต๊า

ทำไมเป็นแบบนั้น อาเต๊าผู้นี้เป็นลูกชายคนโตของเล่าปี่ 1 ในสามผู้นำแห่งสามก๊ก และในภายหลังเขาก็ได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จ๊กก๊กที่นั่งอยู่ในบัลลังก์ได้ยาวนานที่สุดในบรรดาฮ่องเต้ทั้งหมดแห่งยุคสามก๊ก

แล้วคนผู้นี้ไปทำอะไรไว้ ทำไมจึงไม่ได้รับการนับถือจากชนรุ่นหลัง ทั้งที่เขาสามารถอยู่ในบัลลังก์ได้อย่างยาวนาน และเขาก็ไม่เคยมีประวัติในการทำเรื่องโหดเหี้ยมชั่วร้ายต่อประชาชนหรือเป็นฮ่องเต้ที่บ้าสงครามเช่นฮ่องเต้องค์อื่นๆ บ้านเมืองในสมัยของเขาก็สงบเรียบร้อย ผู้คนไม่ได้อดอยาก

และว่ากันว่านี่คือบุคคลที่เกิดมาด้วยความเปี่ยมล้นในบุญญาธิการอย่างที่สุดในยุคนั้น


ประวัติโดยย่อ

เล่าเสี้ยน ชื่อรองว่า กงซื่อ แต่คนอ่านสามก๊กรู้จักกันในนามว่าอาเต๊า เป็นบุตรชายคนโตของเล่าปี่กับนางกำฮูหยิน

เหตุที่เรียกว่าอาเต๊านั้น เพราะเมื่อตอนที่นางกฮูหยินกำลังตั้งครรภ์ ได้ฝันว่ากลืนดาวจระเข้เข้าไป ดังนั้นเมื่อคลอดลูกออกมา จึงให้ชื่อว่าอาเต๊าที่แปลว่าดาวจระเข้

เป็นตัวละครที่แปลกมากตัวหนึ่งในเรื่องสามก๊ก นั่นเพราะเมื่อเพียงแค่ยังเป็นทารก ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับตัวเขาแล้ว

ช่วงเวลานั้นเล่าปี่ได้มาอาศัยอยู่กับเล่าเปียวทำให้ได้รับชีวิตที่สุขสบายเป็นครั้งแรก ซึ่งอาเต๊าก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนั้น แต่ความสงบก็ไม่ยั่งยืน เพราะโจโฉที่เพิ่งจะรวบรวมภาคเหนือสำเร็จได้นำทัพหลายแสนคนบุกลงใต้เพื่อจุดหมายรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง

เล่าปี่ต้องเปิดแน่บเผ่นลงใต้ โดยอพยพเอาผู้คนจำนวนมากตามมาด้วยจนมาถึงเนินเตียงปัน ซึ่งแน่นอนว่าคนจำนวนมากที่เดินทางกันอย่างเชื่องช้าไม่อาจหนีการตามล่าจากกองทัพทหารม้าที่แข็งแกร่งในตอนนั้นของโจโฉที่สุดได้พ้น

เล่าปี่สามารถหนีเอาตัวรอดมาได้ โดยมีเตียวหุยคอยคุ้มกัน แต่ครอบครัวของเล่าปี่นั้นได้พลัดหายไประหว่างทาง

คนที่มีหน้าที่เป็นองครักษ์ดูแลครอบครัวของเล่าปี่ในขณะนั้นก็คือจูล่ง แต่เพราะความชุลมุนระหว่างที่ต้องวุ่นอยู่กับการต่อสู้กับข้าศึกและช่วยพวกเดียวกันให้หนีรอด จูล่งจึงพลาดท่าปล่อยให้กำฮูหยิน บิฮูหยิน ภรรยาทั้งสองของเล่าปี่และอาเต๊าซึ่งยังแบเบาะหลุดรอดสายตาไปได้

จูล่งตามหานางกำฮูหยินจนเจอและได้พานางไปส่งให้กับเตียวหุยซึ่งออกมาดักอยู่ที่หน้าสะพานเตียงปัน ส่วนตนนั้นตัดสินใจควบม้ากลับเข้าไปตามหาบิฮูหยินกับอาเต๊าที่หลงอยู่ในความชุลมุนโดยมีทหารนับแสนของโจโฉกำลังเข้ายึดพื้นที่

ตามหาไปได้ระยะหนึ่งจูล่งก็พบกับบ่อน้ำแห่งหนึ่งซึ่งนางบิฮูหยินกับอาเต๊าได้มาพักอยู่ที่นั่น แต่นางบิฮูหยินนั้นขาเจ็บไม่สามารถขยับได้สะดวก นางจึงปฏิเสธที่จะหนีไปพร้อมกับจูล่ง เพราะกลัวจะเป็นตัวถ่วง และมอบอาเต๊าให้จูล่งไปดูแล ซึ่งจูล่งก็บอกว่าจะรีบมารับนางกลับ แต่นางไม่ต้องการให้จูล่งเดือดร้อน เมื่อละสายตาจูล่งแล้วนางจึงโดดบ่อน้ำฆ่าตัวตาย

จูล่งนำหินมาปิดปากบ่อเพื่อกันศัตรูพบศพและนำเอาทารกน้อยมาผูกติดโดยใช้สายรัดเอวจากนั้นก็ควบม้าบุกตะลุยทหารข้าศึกออกไป

ทหารของโจโฉที่วนเวียนอยู่นั้นมีนับแสน แต่จูล่งมีเพียงม้าหนึ่งตัว ทวนหนึ่งเล่ม ซึ่งในอกนั้นก็มีทารกน้อยอีกคน ดังนั้นเพื่อตีฝ่าออกไปให้เร็วที่สุดจูล่งจึงใช้หลัก "ใครขวางข้ามึงตาย" แต่จะเน้นจัดการกับพวกนายกองหรือจ่าฝูงเป็นหลักเพราะจูล่งไม่ได้ต้องการเอาชัยต่อศัตรู สิ่งสำคัญกว่าตอนนี้คือการพาอาเต๊าหนีไปให้ได้อย่างปลอดภัย

ฉากนี้ไม่ว่าจะดูหรืออ่านจากสามก๊กฉบับหรือเวอร์ชั่นไหน พูดได้เต็มปากว่าจูล่งคือเป็นยอดบุรุษที่เก่งกาจและกล้าหาญไม่เป็นรองใครในสามก๊ก ฝีมือของเขายามเข้าฝักเหมือนดังเช่นตอนที่สวมวิญญาณปีศาจบุกตีฝ่าทหารนับหมื่นนับแสนของโจโฉนั้น ผมคิดว่าต่อให้เอาลิโป้มาเองก็เอาจูล่งชั่วโมงนี้ไม่อยู่

ในขณะที่หนีนั้นจูล่งสังหารแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายโจโฉไปหลายสิบคน จนกระทั่งคนสุดท้ายที่เป็นกระดูกของจริงอย่างเตียวคับ จูล่งซึ่งล้าจากการขี่ม้าตะลุยมาตลอดวันจึงไม่อาจเอาชัยได้ทันทีเหมือนที่ผ่านมา

ในนิยายสามก๊กเล่าเหตุการณ์ตรงนี้ว่ามีสิ่งแสดงถึงบุญญาธิการของอาเต๊าที่จะได้เป็นกษัตริย์อย่างหนึ่งก็คือเมื่อจูล่งและเตียวคับปะทะกันไปได้กว่า 30 เพลง ก็ไม่รู้ผล ทันใดนั้นจังหวะหนึ่งม้าของจูล่งเสียหลักตกหล่ม เตียวคับได้โอกาสจึงใช้ทวนจะแทงใส่เขาที่ไม่อาจป้องกันตนเองได้ทัน แต่กลับมีแสงสว่างออกมาจากหล่มทำให้เตียวคับเสียจังหวะไปและจูล่งก็ควบม้าหลุดออกมาได้ ซึ่งเรื่องเว่อร์ๆแบบนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แต่งเพิ่มไปตอนหลังล่ะนะ

จูล่งตีฝ่าออกมาได้และจากนั้นหลังจากผจญทหารข้าศึกอยู่เกือบสองวันก็หลุดมาถึงสะพานเตียงปันที่เตียวหุยเฝ้าอยู่ จูล่งจึงรีบนำเอาอาเต๊าไปหาเล่าปี่ที่รออยู่อีกฟาก

จูล่งเปิดเกราะอกดูพบว่าอาเต๊ายังหลับสนิทก็ดีใจและรีบคืนให้เล่าปี่ เมื่อเล่าปี่รับมากแทนที่จะดีใจกลับโยนลูกตัวเองลงพื้นและตวาดว่าเพราะไอ้เด็กนี่ทำให้จูล่งทหารเอกเราเกือบต้องไปตาย

จูล่งตกใจรีบรับเด็กขึ้นมาและจากนั้นก็สาบานว่าจะภักดีต่อเล่าปี่ตลอดไป นับว่าการซื้อใจคนนี่ถือเป็นไม้ตายก้นหีบของเล่าปี่เลย

เล่าปี่หนีมาที่แฮเค้า จากนั้นด้วยคำแนะนำของขงเบ้งจึงได้ไปผูกพันมิตรกับซุนกวน ก่อเกิดเป็นพันธมิตรเล่าซุนขึ้นและสามารถเอาชัยต่อโจโฉที่เซ็กเพ็กได้สำเร็จ

เล่าปี่เริ่มตั้งตัวได้ที่เกงจิ๋วจากนั้นก็เข้ายึดเสฉวนและในที่สุดก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์ อาเต๊าหรือเล่าเสี้ยนในฐานะบุตรชายคนโตได้กลายเป็นรัชทายาทที่จะสืบทอดบัลลังก์ต่อไปในอนาคต

ค.ศ. 223 เดือน 4 พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ที่เมืองกงอาน รัชทายาทอาเต๊าหรือเล่าเสี้ยนจึงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุได้ 17 ปี เป็นฮ่องเต้องค์ที่สองปกครองราชวงศ์จ๊กฮั่น ในศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 1อันเป็นศักราชเริ่มในยุคสมัยของพระเจ้าเล่าเสี้ยน เมืองหลวงอยู่ที่นครเฉิงตู และแต่งตั้งขงเบ้งขึ้นเป็นสมุหนายกควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดดูแลฝ่ายพลเรือนและทหาร มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจทุกเรื่องในก๊ก

ขงเบ้งจัดแจงให้เล่าเสี้ยนแต่งงานกับลูกสาวของเตียวหุย และในภายหลังก็มีทายาทออกมา 7 คน

เล่าเสี้ยนได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ก็จริงแต่ประวัติศาสตร์สามก๊กบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจในการตัดสินใจและบริหารงานต่างๆในก๊กเป็นของขงเบ้งผู้เป็นอุปราช ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เล่าปี่ก่อนตายได้สั่งไว้กับขงเบ้งและเหล่าขุนนางว่าให้ขงเบ้งเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมด แต่แน่นอนว่านั่นเพราะขณะนั้นเล่าเสี้ยนยังเด็กเกินไปไม่มีประสบการณ์และวัยวุฒิมากพอที่จะปกครองบ้านเมืองได้ ด้วยเหตุรี้ขงเบ้งจึงต้องทำหน้าที่ตรงนี้ไปก่อน

เล่าเสี้ยนเป็นฮ่องเต้ก็จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้การการดำเนินการบริหารงานของขงเบ้ง ตัวเขาเองเป็นแค่ผู้ที่นั่งเสวยสุขอยู่เบื้องบน จะว่าไปมันก็อาจเป็นเรื่องที่เหมาะกับเขา เพราะนิสัยของเล่าเสี้ยนที่เราทราบมานั้น เป็นคนที่ไม่ชอบในเรื่องการสงคราม ชอบงานรื่นเริงและลุ่มหลงนารี แต่เขาก็ยังมีส่วนดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือรักสงบ

ยุคสามก๊กค่อนข้างแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือฝ่ายที่ทำการรุกมักจะพ่ายแพ้ฝ่ายที่ตั้งรับ ดังนั้นแต่ละก๊กจึงเน้นนโยบายรับกันมากกว่านอกจากจ๊กก๊กที่ยึดนโยบายรุกเป็นหลัก โดยมีขงเบ้งเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้เพราะขงเบ้งมีความคิดว่าหากตั้งรับจะเป็นการนั่งรอความตาย ทั้งนี้เนื่องจากจ๊กก๊กมีขนาดของก๊กเล็กกว่าก๊กอื่น กำลังทหารและบุคลากรก็มีความด้อยกว่า แม้จะไม่มากก็ตาม

เล่าเสี้ยนเป็นคนรักสงบ เขาอยากจะใช้ชีวิตโดยไม่ต้องยุ่งกับสงครามซึ่งสวนทางกับขงเบ้ง แน่นอนว่าเขาไม่อาจขัดขงเบ้งได้และขงเบ้งเองก็มีเหตุผลดีพอในระดับหนึ่งที่จะทำสงคราม เพราะการรวมแผ่นดินให้ได้คือความปรารถนาของเล่าปี่ผู้ล่วงลับ ดังนั้นขงเบ้งจึงต้องทำสงคราม เพื่อเป้าหมายนั้น

ปีค.ศ.227 ขงเบ้งตระเตรียมกองทัพสำหรับการรุกขึ้นเหนือ เป้าหมายคืออาณาจักรวุยก๊กซึ่งตอนนั้นกำลังยู่ในช่วงผลัดแผ่นดินจากพระเจ้าโจผีเป็นโจยอยหรือพระเจ้าวุยหมิงตี้ ซึ่งก่อนออกศึกเขาได้ทำฎีกาถวายแก่เล่าเสี้ยน เนื้อหามีใจความโดยย่อว่า

1.ให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนคบหาแต่กับเหล่าขุนนางที่สุจริตและให้รายชื่อของคนเหล่านั้นไว้ ตักเตือนฮ่องเต้ให้มีความยุติธรรม

2.ขงเบ้งกล่าวถึงความผูกพันระหว่างตนกับเล่าปี่ และเหตุการณ์ที่เล่าปี่ไปหาตนที่กระท่อมถึงสามครา และไว้วางใจฝากฝังภารกิจต่างๆไว้กับตน

3.กล่าวถึงความลำบากตรากตรำเหนื่อยล้าของตนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อราชวงศ์มาโดยตลอดในการรับราชการ 21 ปี ตั้งแต่สมัยที่เล่าปี่ยังไม่มีอะไรจนมาถึงเล่าเสี้ยนผู้เป็นลูกซึ่งตอนนี้เป็นฮ่องเต้แล้ว

ฟังดูแล้ว 2 ข้อหลังนี่ขงเบ้งไม่น่าจะพูดถึงเท่าไหร่นะ ถึงจะเขียนฎีกาไว้สวยงามแค่ไหน แต่ความหมายมันก็คือการเตือนเล่าเสี้ยนว่าตนนั้นมีบุญคุณต่อตระกูลเล่ามากแค่ไหน เรื่องแบบนี้หากมองอีกมุมจะกลายเป็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเลย

ในศึกครั้งแรกที่ขงเบ้งนำทัพเองนั้น กลับต้องพบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุด ต้องเสียทหารและแม่ทัพไปมากมาย เสียฐานกำลังที่ยึดมาได้ทั้งหมดคืนกลับไปให้วุยก๊ก ซึ่งนี่ถือเป็นความผิดที่สำคัญของขงเบ้ง และตามความจริงแล้วถ้าเป็นแม่ทัพทั้วไปจะต้องถูกลงโทษสถานหนัก แต่นั่นเป็นกรณีที่เล่าเสี้ยนมีอำนาจจริงๆนะ ซึ่งแน่นอนว่าขงเบ้งในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดตัวจริงย่อมไม่ยอมให้เล่าเสี้ยนลงโทษตนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำซะหน่อยไม่งั้นจะเป็นที่ครหา จึงลดโทษตัวเองลงสามขั้น

เล่าเสี้ยนก็ให้ทำตามนั้น ผมไม่รู้นะว่าเล่าเสี้ยนจะคิดยังไงกับเรื่องนี้ มันอาจจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาเริ่มตระหนักก็ได้ว่าแท้จริงแล้วใครคือผู้กุมอำนาจของประเทศนี้

ถ้ามองในแง่การเมือง มันเหมือนกับว่าขงเบ้งจะลองดูท่าทีของเล่าเสี้ยนว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งแน่นอนคนที่มีบุคลิกอ่อนแอและยอมผ่อนตามอย่างเล่าเสี้ยนไม่มีวันกล้าจะทำอะไรต่อตัวเขา ทั้งที่ความจริงอาจจะอยากลงโทษขงเบ้งหรือลดขั้นลงมากกว่านี้

ว่ากันถึงเรื่องนี้ มีหลายประเด็นที่น่าพูดถึง ซึ่งถ้าเรามองกันให้ดี จะพบว่าเล่าเสี้ยนคนนี้อยู่ในสถานภาพเดียวกันกับฮ่องเต้องค์หนึ่งในสามก๊ก นั่นคือพระเจ้าเหี้ยนเต้ผู้ถูกโจโฉกุมอำนาจบริหารทั้งหมดไว้ หากไม่เป็นการพูดเกินไปและมองอย่างเป็นธรรม เล่าเสี้ยนเองก็ถูกขงเบ้งควบคุมไว้แบบเดียวกับที่โจโฉทำ

โจโฉอ้างว่าที่ตนต้องกุมอำนาจทั้งหมดนั้นก็เพื่อความสงบของแผ่นดินและเพื่อปกป้องราชวงศ์ฮั่น เพราะตอนนั้นแผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ เหล่าขุนศึกตั้งตนเป็นใหญ่แยกเป็นก๊กเป็นเหล่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกทอดทิ้งไม่มีใครคิดยื่นมือช่วย โจโฉจึงเข้าไปช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้เอาไว้เป็นการต่ออายุราชวงศ์ฮั่น ทั้งที่ในความคิดของผู้คนทั่วแผ่นดิน ราชวงศ์ฮั่นได้ตายลงไปแล้ว

แต่โจโฉเลือกที่จะต่ออายุมันไว้ จะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็ตาม มันกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้โจโฉได้รับความชอบธรรมในแผ่นดิน แต่ก็กลายเป็นผลเสียภายหลังเมื่อตัวเขาคิดตั้งตนเองขึ้นเป็นวุยก๋ง เพราะมันทำให้คนทั่วไปมองว่าการที่เขาช่วยเหลือฮ่องเต้นั้นมีเจตนาไม่ซื่อ แถมภายหลังลูกชายของเขาก็ยังล้มล้างบัลลังก์ซะอีก มันเลยกลายเป็นว่าที่เขาทำมาทั้งหมดก็เพื่อสร้างรากฐานไว้ให้ลูกชายในการตั้งราชวงศ์ใหม่

แต่ถามหน่อยเถอะว่าผู้นำคนอื่นๆในสามก๊กก็คิดแบบเดียวกันไม่ใช่รึ

อ้วนเสี้ยวไม่ยอมไปช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทั้งที่มีกำลังพอนั่นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะต้องการให้ราชวงศ์ฮั่นจบลงอย่างสมบูรณ์ ตนเองจะได้ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่

ขงเบ้งเองจะผิดไปจากนี้รึ ตัวเขาได้อยู่ในสถานะเดียวกับโจโฉที่เคยอยู่มา "อยู่ใต้คนๆเดียวเหนือคนนับหมื่น" และยังเป็นผู้ที่ดำเนินนโยบายทำสงครามตลอด 11 ปีในสมัยของเล่าเสี้ยน ทั้งที่ตัวเล่าเสี้ยนผู้เป็นฮ่องเต้ไม่ได้อยากจะทำเช่นนั้น ไม่ว่าเหตุผลจะมาจากความขลาดเขลาหรืออะไรก็ตาม แต่การที่ผู้นำประเทศไม่คิดรุกรานผู้อื่นก่อนมันน่าจะเป็นเรื่องดีต่อประชาชนไม่ใช่รึไง

นอกจากว่าข้าศึกเป็นฝ่ายรุกรานก่อน นั่นก็อีกเรื่อง

เล่าเสี้ยนตอนที่ขึ้นครองราชย์นั้นยังเป็นแค่เด็กหนุ่มอายุ 17 ความสามารถก็ไม่ได้มีอะไร แถมยังหัวอ่อน เกรงใจจนถึงขั้นเกรงกลัวต่อขงเบ้งด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าขงเบ้งมองการณ์ไกลจริง เหตุใดจึงไม่สร้างเล่าเสี้ยนให้กลายเป็นฮ่องเต้ที่ดีเมื่อมีโอกาสล่ะ

สมัยที่ยังไม่ได้มาอยู่กับเล่าปี่ ขงเบ้งเคยบอกว่าตนนั้นมีความสามารถเทียบเท่าก่วนจง งักเย่ แต่ก่วนจงผู้เป็นรัฐบุรุษสมัยชุนชิวนั้น สามารถที่จะสร้างให้รัฐฉีจากแคว้นธรรมดา กลายเป็นแคว้นมหาอำนาจของยุคนั้นได้ กษัตริย์ฉีหวงกงของรัฐฉี ก็ไม่ใช่คนเก่งอะไรเป็นพิเศษ และยังมีนิสัยอยากจะรบขยายดินแดน แต่ก่วนจงสามารถที่จะสร้างให้ฉีหวงกงกลายเป็นมหาราชผู้มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ได้อย่างยิ่งใหญ่โดยที่ไม่ต้องออกไปรุกรานคนอื่นเพื่อขยายดินแดนด้วยซ้ำ

ถ้าขงเบ้งเก่งเท่าก่วนจงอย่างที่เคยบอก ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะสร้างเล่าเสี้ยนให้เป็นกษัตริย์ที่ดีไม่ต้องถึงขั้นมหาราชก็ได้ และเล่าเสี้ยนเองก็ไม่ใช่คนบ้าสงคราม ตอนที่ขึ้นเป็นฮ่องเต้ก็อายุน้อย แถมมีความเคารพเชื่อฟังต่อขงเบ้งเต็มเปี่ยม พูดถึงเรื่องนี้ขงเบ้งได้เปรียบก่วนจงที่ไม่ได้เป็นคนกุมอำนาจสิทธิ์ขาดในรัฐฉี แต่ในเมื่อไม่ได้ทำตัวเป็นมหาเสนาบดีหรือสมุหนายกที่ดี แล้วเลือกหนทางแห่งผู้บัญชาการทหารจอมกระหายเลือดที่สั่งคนไปลุยทุกปี ก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเล่าเสี้ยนที่ไม่ค่อยจะมีแววอยู่แล้ว ถึงได้หมดทางเยียวยาเมื่อยามแก่

ขงเบ้งนำกองทัพไปรบทุกปี ทิ้งเล่าเสี้ยนไว้กับเหล่าขุนนางที่เขาเป็นคนเลือกสรรแล้วว่าดีจริง แต่เมื่อมองในมุมกลับมันก็เหมือนกับว่าเล่าเสี้ยนถูกจำกัดความประพฤติไม่ให้ทำอะไรนอกลู่ไปจากสายตาของขงเบ้ง

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เล่าเสี้ยนจะไปหลงขันทีฮุยโฮ ในเมื่อราชสำนักของตนนั้นเป็นเสมือนกรงขังของตนเองโดยมีสัสดีคือขงเบ้ง

ฮ่องเต้หลงขันที สุราและนารี ประเทศชาติก็เตรียมนับถอยหลังสู่ความล่มสลายได้ ขงเบ้งน่าจะรู้และจัดการเรื่องนี้ให้ดีกว่านี้ ถ้าจะบอกว่าไม่มีเวลา แน่นอนจะไปมีได้ไง ในเมื่อตัวเขาต้องไปรบตลอด แต่เรื่องภายในบางเรื่องก็สำคัญกว่าเรื่องภายนอก หากหลังบ้านไม่เคลียร์ นอกบ้านจะไปไหวรึ

ว่าตามตรง การที่เล่าเสี้ยนกลายเป็นฮ่องเต้ไม่เอาไหน เราจะโทษเขาทั้งหมดก็ไม่ได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะตัวผู้ปกครองอย่างขงเบ้งด้วย

ในการศึกครั้งที่สี่ของขงเบ้งต่อวุยก๊กนั้น ขงเบ้งต้องถอยทัพกลับเพราะมีข่าวลือในราชสำนักของจ๊กก๊กว่าตนเป็นกบฏ ซึ่งนั่นเป็นการปล่อยข่าวของสุมาอี้เพื่อบีบให้ขงเบ้งต้องถอย และขงเบ้งก็ถอยจริงทั้งที่ใกล้จะชนะอยู่รอมร่อ แต่ถ้าเรามามองกันให้ดี คนจีนมีหลักการอย่างหนึ่งที่เหล่าแม่ทัพผู้นำทหารออกศึกเบื้องหน้าในระยะไกลยึดถือกันนั่นคือ "แม่ทัพสู้ศึกอยู่แนวหน้าไม่ต้องฟังกษัตริย์" ในเมื่อใกล้ชนะและเข้าใกล้เตียงฮันซึ่งจะมีผลต่อชัยชนะระยะยาวในภายหลังแล้ว ต่อให้ต้องถูกเล่าเสี้ยนสงสัยว่าเป็นกบฏ ก็ต้องลุยต่อไป ถ้านั่นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ นี่จึงเป็นหลักการของขุนนางผู้จงรักภักดีมากกว่าจะเห็นแก่ชื่อเสียง ภาพพจน์และชีวิตของตน

พูดได้เต็มปากเลยว่าความจริงแล้วขงเบ้งกลับเมืองหลวงก็เพื่อไปควบคุมสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจมากกว่า ถ้ามองในแง่การเมืองว่าอาจจะทำให้ตนไม่มีที่ให้ยืนในก๊ก จึงต้องรีบกลับไป ซึ่งเขาเองก็น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะตนก็เคยวางแผนปล่อยข่าวลือทำให้โจผีระแวงสุมาอี้มาแล้ว จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นตำแหน่งสมุหนายกและผู้บัญชาการทหารของตนที่ไม่เคยสามารถรบชนะเป็นชิ้นเป็นอันได้เลยในหลายปีที่ผ่านมา คงต้องกระเทือนเป็นแน่

ปีค.ศ.234 ศักราชเจี้ยนซิงที่ 12 คราวนี้เมื่อถึงการรบครั้งสุดท้ายของขงเบ้ง เล่าเสี้ยนได้ขอไว้ว่าอย่าออกศึกเลยโดยกล่าวว่า "บัดนี้สถานการณ์แผ่นดินก็อยู่ในลักษณะถ่วงดุลกันอยู่ทั้งสามก๊ก วุยกับง่อก็ไม่เคยรุกราน ท่านบิดา(หมายถึงขงเบ้ง เพราะเล่าเสี้ยนเรียกขงเบ้งเป็นเหมือนพ่อ)ไยจึงไม่หาโอกาสพักผ่อนให้สบายเล่า"

คำพูดประโยคนี้ของเล่าเสี้ยนแสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วเขาเองก็ไมใช่คนปัญญาอ่อน และยังรู้จักที่จะประมาณตนเอง ในเมื่ออีกสองก๊กยังไม่รุกราน ไยเราต้องรุกรานก่อนด้วย ที่สำคัญที่สุดคือฝ่ายเรารุกมาแล้วถึง 5 ครั้ง ก็ไม่เกิดผลสักครั้งและมีแต่ทำให้ก๊กต้องสูญเสียไปเรื่อยๆ ก็น่าจะหยุดนโยบายสงคราม หันมายึดนโยบายพัฒนาประเทศชาติเพื่อทำให้ผู้คนอยู่อย่างสงบซะที

แน่นอนว่าขงเบ้งยังคงอ้างแบบเดิมว่าเป็นภารกิจที่เล่าปี่ฝากฝังไว้ และก็นำกองทัพที่รวมกำลังพลว่า 3 แสนคนอกไปทำศึกอีก ผลก็อย่างที่รู้ว่าล้มเหลวเพราะขงเบ้งป่วยตายซะก่อน

ก่อนตายขงเบ้งได้ฝากฝังงานเมืองไว้ให้แก่เจียวอ้วน บิฮุย คอยดูแลเรื่องการปกครองสืบต่อไป ด้านการทหารให้เกียงอุย เรียกว่าไม่เปิดช่องให้เล่าเสี้ยนได้บริหารเอง คิดเอง หรือเลือกคนเองสักนิด

เล่าเสี้ยนตอนที่ขงเบ้งตายนั้นอายุได้ 27 แล้ว วัยวุฒิขนาดนั้นสามารถปกครองประเทศได้ แต่ขงเบ้งก็ยังมัดเล่าเสี้ยนไว้ด้วยการตั้งคนของตนขึ้นมาคอยดูแลทุกสิ่งทุกอย่างต่อไปหลังจากนั้น

ไม่ได้ผิดอะไรกับโจผีที่ล้มราชวงศ์ฮั่น เพียงแต่ขงเบ้งไม่ได้ลงมือทำตรงๆ อาศัยการอยู่ในตำแหน่งและให้ลูกหลานได้รับราชการในตำแหน่งใหญ่โตเท่านั้น ซึ่งเขาอาจจะมองว่าแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว แถมไม่เสียชื่อแบบที่ตระกูลโจโดนด้วย

ลูกชายของขงเบ้งที่ชื่อจูกัดเจี๋ยม ได้กลายเป็นนายพลที่หนุ่มที่สุในก๊กตั้งแต่อายุ 19 ส่วนเกียงอุยลูกศิษย์ได้กลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการทหาร

เล่าเสี้ยนอยู่ในบัลลังก์หุ่นเชิต่อมาอีกหลายปี วันๆมักใช้ชีวิตให้หมดไปกับสุรานารี เพียงแต่ว่าเขายังดีตรงที่ไม่ใช่คนโหดเหี้ยม ซึ่งตรงนี้ผิดกับซุนโฮของง่อก๊กในภายหลัง

ปีค.ศ.249 จ๊กก๊กเปิดศึกกับวุยเป็นครั้งแรกหลังจากขงเบ้งตาย แต่เกียงอุยแม่ทัพใหญ่พลาดท่าพ่ายต่อเตงงายจนต้องถอยกลับมาในขณะที่ทางด้านวุยเกิดการเปลี่ยนขั่วอำนาจเมื่อสุมาอี้ทำรัฐประหารโค่นล้มโจซองผู้สำเร็จราชการ และขึ้นกุมอำนาจทั้งหมดในวุย เตรียมรากฐานแก่ลูกหลานในการก่อตั้งราชวงศ์ใหม่

จากนั้นมาถึงปึค.ศ.253 คนเก่งทางการปกครองของจ๊กก๊กได้ตายไปหมด คนสุดท้ายคือบิฮุยซึ่งถูกสังหารกลางงานเลี้ยงอย่างลึกลับ เกียงกุยซึ่งยึดนโยบายสงครามสืบต่อมาจากขงเบ้งจึงนำกองทัพออกศึกกับวุยติดต่อกันถึง 8 ปี และแน่นอนว่าไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

เล่าเสี้ยนตอนนี้ไม่ได้มีอำนาจในการทหาร แม้จะมีอำนาจทางการบริหารคืนมาแล้วเพราะคนที่ขงเบ้งเคยวางไว้ตายหมด แต่เขาตอนนี้ก็เหมือนไม้แก่ที่สิ้นภสาพและหมดไฟที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นฮ่องเต้ที่ดีได้อีก ความที่อยู่แต่ในกรงมาตลอดทำให้เล่าเสี้ยนซึ่งแต่เดิมก็ไม่ได้มีความสามารถอะไร กลับกลายเป็นคนที่แย่ยิ่งกว่าเดิมจนหมดหนทาง

ดังนั้นเมื่อปีค.ศ.264 เตงงายและจงโฮยสองแม่ทัพแห่งวุยได้นำกองทัพเข้าตีจ๊กก๊กสำเร็จด้วยการบุกตะลุยเพียงครั้งนี้ครั้งเดียว เล่าเสี้ยนที่ขลาดเขลาและเบื่อหน่ายสงครามและอำนาจซึ่งวนเวียนอยู่กับเขามาหลายสิบปีจากขงเบ้งและเกียงอุยจึงยอมจำนนอย่างไร้เลือดขัตติยา

เป็นอันปิดฉากราชวงศ์จ๊กฮั่นที่มีอายุ 43 ปีในสมัยของพระเจ้าเล่าเสี้ยน รวมแล้วครองราชย์ได้ 41 ปีและกลายเป็นฮ่องเต้ที่ครองราชย์ได้ยาวนานที่สุดในสมัยสามก๊ก

ตอนที่ยอมจำนนต่อเตงงายแม่ทัพแห่งวุยนั้น โอรสองค์ที่ 5 ของเล่าเสี้ยนนามเล่าขำยังได้ทิ้งลายแห่งเชื้อกษัตริย์เอาไว้ด้วยการฆ่าตัวตายพร้อมลูกเมีย โดยไม่ยอมจำนน นับว่าสายเลือดเล่าปี่ก็ยังพอมีคนที่กล้าหาญและเปี่ยมศักดิ์ศรีอยู่บ้าง ซึ่งน่าเสียดายว่าหากจ๊กก๊กยังสามารถอยู่ไปได้อีกสัก 5-10 ปีล่ะก็ เล่าขำผู้นี้สมควรได้เป็นฮ่องเต้สืบต่อ และถ้าเป็นจริงจ๊กก๊กอาจจะมีอายุยืนยาวกว่านี้

มีเรื่องเล่าที่บันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อเล่าเสี้ยนไปอยู่ที่วุยแล้ว สุมาเจียวอุปราชแห่งวุยได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับตามธรรมเนียมให้ เมื่อสุมาเจียวถามว่าคิดถึงจ๊กก๊กรือไม่ เล่าเสี้ยนตอบไปทันทีว่าไม่เลยสักนิดเพราะที่นี่สนุกกว่าเยอะ

สุมาเจียวถึงกับอึ้ง จนขุนนางที่ตามเล่าเสี้ยนมาจากจ๊กก๊กด้วยต้องสะกิดเตือน จากนั้นสุมาเจียวก็คลายความระแวงต่อเล่าเสี้ยนไปเพราะเห็นว่าคนผู้นี้ไม่มีน้ำยาอะไร และได้ตั้งให้เขาเป็นอันเล่อกง หรือเจ้าพระยาสุขำราญ กินเบี้ยหวัดเงินเดือนระดับพระยา และใช้ชีวิตที่สุขสบายในฐานะตัวประกันที่นั่นจนจบชีวิตลง

เคยมีคนบอกว่าเล่าเสี้ยนแกล้งพูดไปแบบนั้นรึเปล่าเพื่อให้สุมาเจียวตายใจ จะได้เลิกระแวงตน ผมฟันธงว่าไม่น่าใช่ เพราะถ้าเล่าเสี้ยนคิดได้ขนาดนั้นจริง จ๊กก๊กคงไม่ล่มสลายในยุคของเขา แต่คำพูดนั้นมันน่าจะมาจากใจจริงของเขามากกว่า

เพราะที่จ๊กก๊กแม้จะเป็นฮ่องเต้แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงแค่กรงขังที่หรูหราและสะดวกสบายเท่านั้น

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมว่าการที่เราไปวิพากความคิดของคนสมัยเมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งบริบทก็แตกต่างกันทุกๆ ด้านราวฟ้ากับดิน ผู้วิพากนั่นแหละคลาดเคลื่อน

    ตอบลบ