วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก เล่าเปียว จิ่งเซิง

ประวัติสามก๊ก เล่าเปียว จิ่งเซิง

ชื่อของเล่าเปียวย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนอ่านสามก๊ก ในฐานะของเจ้าเมืองเกงจิ๋วผู้ช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูเล่าปี่ ด้วยเหตุนี้ภาพพจน์ต่อตัวเขาจึงเป็นในรูปของเจ้าเมืองใหญ่ใจกว้าง ที่คอยช่วยเหลือฝ่ายธรรมะ


หากแต่ภาพพจน์ของเขาเองนั้นค่อนข้างจะอ่อนแอ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง กระนั้นเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นผู้เปี่ยมคุณธรรมคนหนึ่งในยุคนั้น เพราะไม่เพียงแต่เล่าปี่ แต่เขาคือผู้ที่คอยช่วยเหลือและให้การอุปถัมภ์ต่อขงเบ้งและบัณฑิตอีกจำนวนมากด้วย


แต่ใครจะรู้บ้างว่า แท้จริงแล้วเขาก็คือผู้มีใจทะยานอยากจะเข้ามาครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นกัน และในยุคที่ตั๋งโต๊ะเข้ามาก่อการยึดอำนาจในเมืองหลวง แล้วเหล่าเจ้ามณฑลทั้ง 18 ได้รวมกำลังกันก่อตั้งกองทัพพันธมิตรขึ้นเพื่อต่อต้านนั้น มีเพียงเขาเท่านั้นที่ไม่ได้เข้าร่วม

หากแต่เมื่อมีผลประโยชน์เฉพาะหน้าเกิดขึ้น เขากลับลงมือทันที

แสดงให้เห็นว่านี่มิใช่ตัวละครที่มีบุคลิกโอบอ้อมและแบนราบอย่างที่เข้าใจ หากแต่มีสิ่งซ่อนเร้นแอบอยู่ในใบหน้าของมหาบัณฑิตนั้นอยู่ไม่น้อย

งั้นลองไปดูเรื่องราวของเจ้ามณฑลคนนี้อย่างละเอียดกันดู


ประวัติโดยย่อ

เล่าเปียว หรือหลิวเปี่ยว ชื่อรองจิ่งเซิง เกิดเมื่อปี ค.ศ.142 เป็นเชื่อพระวงศ์ตงฮั่นที่สืบสายเลือดมาโดยแท้และชัดเจน จากโอรสของพระเจ้าฮั่นจิ่งตี้ เขาเกิดที่ตำบลเกาผิง เป็นชาวเมืองเซียงหยาง ประวัติวัยเด็กไม่แน่ชัด รู้แต่ว่าเขาเป็นคนที่ใฝ่รู้ในการศึกษามาแต่เล็ก จนภายหลังก็ได้กลายเป็นบัณฑิตชั้นแนวหน้าแห่งเกงจิ๋ว

ความที่เล่าเปียวชอบคบค้าสมาคมกับเหล่าบัณฑิต และความที่เขาเป็นผู้ให้ความนบนอบต่อคนเหล่านั้น ทำให้เล่าเปียวเองก็ได้รับความเคารพยกย่องจากเหล่านักปราชญ์ บัณฑิตจำนวนมาก ภายหลังเขาจึงได้รับการยกย่องรวมกับบัณฑิตอีกเจ็ดคนที่มีชื่อเสียงในเกงจิ๋ว และถูกเรียกรวมเป็นแปดบัณฑิตแห่งกังแฮ

ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการ ก็ได้อาศัยความที่เป็นเจ้านายมาจากรุ่นพ่อ ทำให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการมณฑลเกงจิ๋ว อันทำให้เขามีอำนาจและสามารถเรียกระดมพลจากหัวเมืองต่างๆในเกงจิ๋วได้ ซึ่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการมณฑลนี้ เป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยก่อนที่แผ่นดินจะแตกเป็นสามก๊ก โดยมีอำนาจในการทหารราวกับเป็นเจ้าดินแดนแยกตัวออกมาจากส่วนกลางอีกที และผู้ตรวจราชการคนแรกในประวัติศาสตร์ก็คือเล่าเอี๋ยนแห่งเสฉวนนั่นเอง

โดยการได้รับตำแหน่งเจ้ามณฑลของเล่าเปียวนี้ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าได้มาเมื่อปี 189 บ้างก็ว่าได้ในปี 192 โดยมีเขตปกครอง 8 จังหวัด ประกอบด้วย หนานหยาง หนานจุ้น หลี่หลิง เตียงสา เจียงหลิง เจียงเซี่ย กุ้ยหยาง หวู่หลิง

ปี ค.ศ.189 เมื่อตั๋งโต๊ะนำกองทัพเสเหลียงเข้ามายึดอำนาจการปกครองในเมืองหลวง จนโจโฉต้องส่งสารระดมเหล่าขุนศึกจากหัวเมืองทั้งหลายให้มาร่วมกันสร้างกองทัพพันธมิตร เล่าเปียวเองก็ได้รับสารนั้นเช่นกัน

แต่ในขณะที่เจ้าเมืองทั้งหลาย ต่างรวมตัวกันเป็นพันธมิตรกวนตง โดยมีอ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำนั้น เล่าเปียวกลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ซึ่งในบรรดาเจ้ามณฑลใหญ่ มีเขาและเล่าเอี๋ยนแห่งเอ๊กจิ๋วเป็นสองคนที่ไม่ได้ส่งกองทัพไปด้วย

เหตุผลที่เขาไม่ได้เข้าร่วมในศึกนี้ ในนิยายสามก๊กไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากมาย ส่วนในประวัติศาสตร์บันทึกไว้บ้าง นั่นคือตำแหน่งผู้ตรวจราชการเกงจิ๋วที่เขาได้รับมานี้ เป็นตำแหน่งที่ตั๋งโต๊ะเป็นผู้แต่งตั้งให้

เหตุที่เล่าเปียวได้รับการแต่งตั้งจากตั๋งโต๊ะนั้น ต้องย้อนไปถึงเรื่องราวในสมัยโฮจิ๋นคอรงอำนาจ ซึ่งเล่าเปียวเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนโฮจิ๋น จนกระทั่งถูกสิบขันทีฆ่าในภายหลัง ตั๋งโต๊ะจึงคิดว่าการแต่งตั้งเล่าเปียวซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ขึ้นมาดูแลเกงจิ๋ว น่าจะช่วยลดแรงเสียดทานจากกลุ่มเชื้อพระวงศ์ลงได้บ้าง ดังนั้นเมื่อพันธมิตรกวนตงรวมตัวกันแล้วยกกองทัพเข้าเมืองหลวง เล่าเปียวจึงขอวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใด

การได้ขึ้นมาครองเกงจิ๋วนี้ ฝ่ายพันธมิตรโดยเฉพาะอ้วนสุดเป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งการที่อ้วนสุดผูกมิตรกับเล่าเปียวนั้น ก็เพื่อต้องการคานอำนาจของซุนเกี๋ยนที่กำลังมาแรงเอาไว้ โดยเฉพาะในดินแดนแถบภาคกลางตอนล่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ซุนเกี๋ยนได้เริ่มขยายอำนาจโดยมีเมืองหนานหยางและเตียงสาเป็นศูนย์กลาง

จนกระทั่งเมื่อพันธมิตรกวนตงล่มสลายลง เหล่าขุนศึกทั้งหลายต่างก็กระจัดกระจายและอาศัยโอกาสนั้น ทำการเข้ายึดครองดินแดนเพื่อใช้เป็นที่มั่นในการชิงอำนาจในแผ่นดิน อ้วนสุดจึงได้สั่งให้ซุนเกี๋ยนนำกำลังไปเข้าตีเล่าเปียว ซึ่งคิดจะขยายอิทธิพลในแถบเกงจิ๋วแข่งกับอ้วนสุด ในขณะเดียวกันทางซุนเกี๋ยนเองก็ต้องการจะขยายดินแดนและสร้างฐานที่มั่นขึ้นในดินแดนนี้เช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คงยากที่จะหาได้ว่าใครเป็นคนวางแผน และต่างคนต่างมีเจตนากันเช่นใด จุดเริ่มของการแย่งชิงเกงจิ๋ว ที่ส่งผลให้เล่าเปียวต้องกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับสกุลซุนนั้น เริ่มจากเรื่องที่ว่าฝ่ายเล่าเปียวได้ข่าวว่าซุนเกี๋ยนคิดจะยกทัพบุกเกงจิ๋ว โดยผู้แจ้งข่าวมานั้นก็คืออ้วนสุด

พูดง่ายๆก็คือ อ้วนสุดสั่งให้ซุนเกี๋ยนที่เป็นขุนศึกในอาณัติตนไปบุกตีเกงจิ๋ว แต่ขณะเดียวกันก็แจ้งข่าวให้เล่าเปียวได้รับทราบด้วย เพื่อจะได้เตรียมพร้อม เสมือนว่าอ้วนสุดต้องการยืมมือของเล่าเปียวในการจัดการกับซุนเกี๋ยน

เล่าเปียวเมื่อได้ทราบข่าวเช่นนั้นก็เตรียมการรับมือ และได้ส่งหองจอแม่ทัพของตนขึ้นไปเหนือเมืองซงหยงเพื่อรับมือซุนเกี๋ยน แต่ก็ไม่อาจสู้ได้จนต้องพ่ายแพ้ ซุนเกี๋ยนจึงนำกำลังเข้าล้อมเมือง กองทัพของหองจอบางส่วนจึงหนีขึ้นเขาเซียนซาน ซนุเกี๋ยนจึงนำกำลังขึ้นเขาตามล่าหองจอด้วยตัวเอง และในระหว่างขึ้นเขานั้นก็ถูกระดมยิงด้วยธนูจนตายไป

เป็นอันว่าเล่าเปียวไร้ซึ่งเสี้ยนหนาม และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือแดนเกงจิ๋วได้อย่างแท้จริง

เรื่องการดักจัดการกับซุนเกี๋ยนนี้ บ้างว่าเพราะเล่าเปียวเองก็เกิดความต้องการครอบครองตราหยกที่มีข่าวลือว่าซุนเกี๋ยนได้เก็บมันไว้ เมื่อมองแบบนี้ก็เหมือนกับว่ายามที่แผ่นดินต้องการให้ช่วยเมื่อครั้งศึกตั๋งโต๊ะ เขากลับไม่ยอมไปด้วย แต่พอมีผลประโยชน์มาอยู่ตรงหน้า และเพื่อรักษาดินแดนของตน เขาจึงยอมลงมือ

มองแบบนี้แล้ว เล่าเปียวก็ไม่ได้ดีไปกว่าพวกขุนศึกของทัพกวนตงที่เอาแต่แก่งแย่งชิงดีกันเลย

ภายหลังฮวยเจียจากเมืองเตียงสาได้มาขอศพซุนเกี๋ยนเพื่อนำไปทำพิธี เล่าเปียวเห็นว่าเก็บไว้ก็ไม่เป็นผลดีและฮวยเจียเป็นคนกล้าและภักดี จึงยอมยกให้ไป

ในปี ค.ศ.196 เตียวเจ อดีตขุนพลของตั๋งโต๊ะที่เหลืออยู่ ได้นำทัพเข้าตีเมืองเกงจิ๋ว แต่ก็ถูกธนูยิงตายในที่รบ เหล่าชาวเมืองต่างพากันดีใจที่สมุนของตั๋งโต๊ะที่เหลืออยู่ถูกฆ่า จึงคิดจะจัดงานฉลอง แต่เล่าเปียวทัดทานไว้ และเชิญเตียวสิ้วหลานของเตียวเจเข้ามาในเมือง การกระทำนี้ทำให้เล่าเปียวได้รับการยกย่องมาก

และหลังจากนั้น ชื่อเสียงของเล่าเปียวก็เริ่มมาในทางดี ด้วยความที่เขาชอบคบหาบัณฑิตและชุบเลี้ยงคนพวกนี้ อีกทั้งเกงจิ๋วเป็นแดนสงบที่ต่างไปจากตงง้วนซึ่งกำลังอยู่ในไฟสงครามจากการแก่งแย่งอำนาจของพวกขุนศึกที่กำลังมาแรงในช่วงนั้นอย่างโจโฉ อ้วนเสี้ยว ลิโป้ ทำให้เหล่าปราชญ์บัณฑิตจำนวนมากต่างพากันละทิ้งความวุ่นวายมาหาความวิเวกในดินแดนเกงจิ๋วกัน และในบรรดาบัณฑิตที่มาขอพึ่งเล่าเปียวนั้น ยังรวมไปถึงยอดกุนซือในอนาคตอย่างขงเบ้งที่ตอนนั้นยังเยาว์อยู่ด้วย

เล่าเปียวได้จัดตั้งโรงเรียนสอนประวัติศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงมาก และยังจัดสถานบัณฑิตเพื่อให้เหล่าบัณฑิตได้ชุมนุมถกวิชาการกัน ภายในเวลาไม่กี่ปี เกงจิ๋วจึงกลายเป็นดินแดนแห่งเหล่าปราชญ์โดยเฉพาะนักปราชญ์ฝ่ายหยูหรือขงจื๊อ

เกี่ยวกับเรื่องบัณฑิตที่มาขออยู่กับเล่าเปียวนี้ ยังมีอยู่อีกคนหนึ่งที่ค่อนข้างดังมาก ซึ่งเป็นบัณฑิตที่โจโฉได้ส่งมาให้เล่าเปียว เพื่อหวังให้เล่าเปียวจัดการกับเขาโดยเฉพาะ นั่นคือยี่เอ๋ง

ยี่เอ๋งเป็นบัณฑิตที่ขงหยงเป็นผู้แนะนำมาให้กับโจโฉว่าเป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ซึ่งมันก็อาจจะจริง แต่ยี่เอ๋งผู้นี้ออกจะมีนิสัยแปลกประหลาดและยังเป็นคนประเภทด่าคนไม่เลือก เขาด่าทอโจโฉเสียยกใหญ่ จนโจโฉโกรธมาก แต่ก็ไม่ฆ่าและส่งมาให้เล่าเปียวแทน เพราะคิดว่าหากฆ่ายี่เอ๋งที่เป็นบัณฑิตดังไป ผู้คนจะครหาเอาได้

เล่าเปียวเมื่อได้พบกับยี่เอ๋ง ก็ต้อนรับขับสู้ยี่เอ๋งอย่างดี จนยี่เอ๋งสรรเสริญเล่าเปียวอย่างมาก แต่เขาก็ยังไม่วายไปด่าว่าลูกน้องของเล่าเปียวเข้า จนลูกน้องของเล่าเปียวไม่พอใจและยุให้เล่าเปียวไม่พอใจยี่เอ๋ง จนเล่าเปียวหลงเชื่อ และคิดจะจัดการยี่เอ๋ง แต่ก็ไม่อยากลงมือเอง จึงส่งให้ไปหาหองจอที่เป็นคนอารมณ์ร้อนที่เมืองกังแฮ เมื่อยี่เอ๋งไปถึงเมืองกังแฮแล้ว หองจอก็ต้นรับเขาอย่างดี แต่เขากลับเอาหองจอไปด่าว่าในที่สาธารณะ หองจอโกรธมาก จึงฆ่าเขาเสีย

จนต่อมาในปี ค.ศ.199 เมื่อศึกที่กัวต๋อระหว่างโจโฉกับอ้วนเสี้ยวกำลังจะระเบิดขึ้น เพื่อหาว่าใครจะขึ้นมากุมอำนาจในตงง้วน อ้วนเสี้ยวได้ส่งสารมาเจรจากับเล่าเปียวเพื่อให้สนับสนุนตน เล่าเปียวตอบตกลง แต่ก็ไม่ยอมส่งทหารไปช่วย และไม่ได้ส่งไปช่วยทางโจโฉด้วย แต่เลือกที่จะรอดูท่าทีอยู่ในเกงจิ๋ว

ฮันสง คนสนิทของเล่าเปียวแนะนำว่าตัวเล่าเปียวมีกำลังทหารเป็นแสน เกงจิ๋วเองก็เป็นที่มั่นชัยภูมิที่ดี ตอนนี้โจโฉกับอ้วนเสี้ยวกำลังปะทะกัน หากว่าเล่าเปียวมีใจคิดอยากชิงความเป็นใหญ่ก็ให้ยกนำกำลังเข้าจัดการพวกเขาในตอนนี้เสีย แต่หากไม่มีใจถึงขนาดนั้นก็ให้เลือกว่าจะช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะชนะ ฝ่ายนั้นก็ต้องโกรธแค้นและเล่าเปียวย่อมไม่อาจวางตัวเป็นกลางได้อีก

โดยในคำชี้แนะของฮันสงนั้น เห็นว่าแผ่นดินน่าจะไปตกอยู่กับโจโฉมากกว่า เขาจึงเสนอว่าให้สวามิภักดิ์กับโจโฉเสีย เช่นนั้นแล้วเล่าเปียวก็ยังจะสามารถเสวยสุขต่อไปได้ และทายาทของเขาก็ยังจะมีอำนาจสืบต่อไปได้

แต่เล่าเปียวก็ยังคงลังเล และคิดให้ฮันสงไปยังนครหลวงฮูโต๋เพื่อคอยสังเกตการณ์และเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ฝ่ายฮันสงแม้ไม่เต็มใจจะไป เพราะเกรงว่าหากไปแล้วฮ่องเต้แต่งตั้งเขาเป็นขุนนาง ก็เท่ากับเขาจะกลายเป็นข้ารับใช้ของฮ่องเต้และของโจโฉด้วย และมิอาจจะทำตามคัสั่งของเล่าเปียวได้อีก แต่สุดท้ายเขาก็ยอมทำตามคำสั่งไปฮูโต๋

เมื่อได้เข้าเฝ้าฮ่องเต้แล้ว ฮันสงก็ได้รับการแต่งตั้งจากฮ่องเต้ให้เป็นขุนนางจริงๆดังคาด เมื่อกลับมาเกงจิ๋ว เขาก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเกลี้ยกล่อมให้เล่าเปียวยอมสวามิภักดิ์และให้เล่าเปียวส่งบุตรชายไปเป็นตัวประกันที่ฮูโต๋ แต่ทั้งนี้แล้ว ทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อประกันความอยู่รอดปลอดภัยให้แก่สกุลของเล่าเปียว

ฝ่ายเล่าเปียวนั้นหลับหาฮันสงทรยศต่อเขา และคิดจะฆ่าเขาเสีย แต่ชัวฮูหยินได้ขอชีวิตฮันสงไว้ เล่าเปียวจึงจับเขาไปขังคุกไว้

เรื่องของฮันสงนั้นเป็นการแสดงออกถึงความโลเลไม่เด็ดขาดและธาตุแท้ของเล่าเปียวอย่างชัดเจน แม้เขาจะแสดงออกว่าใจกว้าง แต่แท้จริงแล้ว เขาไม่ยินยอมที่จะเสียประโยชน์หรือเสี่ยงในการกระทำใดๆ การที่เขาไม่เลือกช่วยโจโฉหรืออ้วนเสี้ยวนั้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทะเยอทะยาน หากแต่เขาอาจจะมีความคิดว่าให้เสือสองตัวกัดกันจนพังกันไปเอง แล้วเขาค่อยชุบมือเปิปทีหลัง ซึ่งการที่เขาส่งฮันสงไปดูสถานการณ์ที่เมืองหลวงก็ช่วยยืนยันเจตนานี้ดี เพราะไม่เช่นนั้นหากเขาไม่มีใจทะเยอทะยานแล้ว เขาก็คงจะยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉตามคำฮันสงตั้งแต่แรก

ปีค.ศ.200 เล่าเปียวสามารถเข้ายึดครองเมืองเตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยน ขยายเขตแดนปกครองออกไปหลายพันลี้ ทำให้เขาเกิดความทะเยอะทะยานและเลิกส่งบรรณาการต่อเมืองหลวงในปีนั้น

ในปีต่อมาเล่าปี่ซึ่งแตกพ่ายจากการรุกรานของโจโฉก็ได้มาขอพึ่งเล่าเปียว ซึ่งเขาก็ได้ต้อนรับเล่าปี่อย่างดีเสมอเป็นญาติพี่น้องของตน และได้ส่งเล่าปี่พร้อมทั้งเหล่าบริวาร กวนอู เตียวหุย จูล่งให้ไปประจำอยู่ที่เมืองซินเอี๋ยเพื่อให้คอยรับศึกจากโจโฉ

ในปีค.ศ.207 โจโฉที่รวบรวมตงง้วนได้สำเร็จ ตัดสินใจยกทัพออกนอกด่านเพื่อปราบปรามเผ่าฮูหวน เล่าปี่เห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะรุกเข้าตีฮูโต๋ จึงเสนอแผนการต่อเล่าเปียว แต่เขาปฏิเสธ ภายหลังเมื่อโจโฉตีพวกฮูหวนได้สำเร็จและกลับลงมาที่ภาคกลาง เล่าเปียวจึงมายอมรับกับเล่าปี่ว่าพลาดไปแล้วที่ไม่เชื่อคำแนะนำของเล่าปี่ในครั้งนี้ เล่าปี่จึงว่าครั้งนี้พลาดไป ก็ยังหาโอกาสครั้งหน้าได้อีก

ในตอนนั้นเอง เล่าเปียวเริ่มป่วยหนัก และเริ่มคิดเรื่องทายาทสืบต่อ โดยตามจริงแล้วตำแหน่งจะต้องเป็นของเล่ากี๋บุตรคนโต แต่เล่าเปียวนั้นรักในตัวบุตรคนเล็กก็คือเล่าจ๋องมากกว่า นอกจากนี้เล่าจ๋องยังมีนางชัวฮูหยินคอยส่งเสริมอีกทาง ในขณะที่เล่ากี๋นั้นได้รับการสนับสนุนจากเล่าปี่

แต่เล่าเปียวไม่อาจตัดสินใจเรื่องนี้ให้เด็ดขาด และเล่ากี๋ซึ่งรู้ตัวว่าหากไม่ทำอะไรเลย ต่อไปอาจไร้ซึ่งที่ยืนหยัด จึงได้ออกปากของให้ส่งตนไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮแทนหองจอที่เพิ่งตายไป เล่าเปียวจึงยอมทำตามนั้น นั่นทำให้เล่ากี๋รักษาชีวิตเอาไว้ได้ โดยการไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮนี้ ในนิยายเล่าว่าเล่ากี๋ได้รับคำแนะนำจากขงเบ้ง ซึ่งมันอาจเป็นการช่วยชีวิตเล่ากี๋ก็จริงอยู่ แต่ในทางการเมืองแล้ว มันคือการขจัดเล่ากี๋ออกไปให้พ้นจากการที่เล่าปี่จะขึ้นมาชิงอำนาจในเกงจิ๋วก็เป็นได้

เรื่องของขงเบ้งนั้นก็มีความเกี่ยวเนื่องกับเล่าเปียว เนื่องจากว่าเล่าเปียวเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์และมอบที่ดินบนเขาหลงจงให้ขงเบ้งและน้องๆได้อยู่อาศัย จึงนับว่าขงเบ้งติดหนี้บุญคุณเล่าเปียวอยู่ แต่น่าแปลกที่ขงเบ้งไม่สำนึกในบุญคุณตรงนี้ และในแผนการหลงจงที่เสนอต่อเล่าปี่นั้น แผนการแรกก็คือให้เล่าปี่เข้าชิงเกงจิ๋วมาจากเล่าเปียว

มองแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่าขงเบ้งนั้นไม่ได้เห็นแก่บุญคุณของเล่าเปียวเลย แต่จุดน่าสนใจอีกอย่างอยู่ตรงที่ว่า เหล่านักปราชญ์ที่มาอยู่อาศัยในเกงจิ๋วนั้นก็มีอีกไม่น้อยที่ไม่นิยมเล่าเปียว โดยกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปราชญ์บัณฑิตที่เก่งกาจทั้งสิ้น นำโดยสุมาเต็กโชและบังเต๊กกง

จะบอกว่าเล่าเปียวทำคุณคนไม่ขึ้นมันก็ออกจะแปลกอยู่ ขงเบ้งนั้นเคยวิจารณ์เล่าเปียวว่าเป็นเจ้าเมืองที่ใช้การไม่ได้ ในขณะที่สุมาเต็กโชนั้นแม้จะไม่ได้ว่าอะไรรุนแรง แต่ก็เคยพูดกับเล่าปี่ถึงตัวเล่าเปียวในแง่นี้ เป็นไปได้ไหมว่าบุคลิกนิสัยของเล่าเปียวที่ว่าเป็นผู้ใจกว้าง ชอบช่วยคนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และเหล่านักปราชญ์โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่วิเวกในป่าเขาของเกงจิ๋วต่างมองเห็นตรงจุดนี้ว่าแท้จริงแล้วเล่าเปียวก็เป็นผู้มีความทะยานอยากในการชิงอำนาจ แต่ไม่กล้าลงมือทำอะไร

คือแทนที่จะเปิดเผยตนเองและลงมือทำไปเลยเช่นเล่าปี่ โจโฉ หรือไม่ก็อยู่วางเฉยไปเลยจริงๆเช่นเล่าเจี้ยง เตียวลู่ เล่าเปียวกลับยืนกั๊กตรงกลาง ทั้งที่ใจจริงอยากทำ และมีศักยภาพจะทำได้ แต่ก็ไม่กล้าพอ

เล่าเปียวจึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับขุนพล และกุนซือที่หวังสร้างวีรกรรมและหวังเคลื่อนไหวในแผ่นดิน แต่เหมาะกับผู้ที่อยู่อาศัยอย่างสงบสุขมากกว่า แต่ยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้มีความสามารถมีโอกาสแสดงตนมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเล่าเปียวจึงเสมือนขุนนางนักปกครองที่อยู่ผิดยุคไป

และในที่สุด เมื่อปีค.ศ.208 เล่าเปียวก็ป่วยหนักและสิ้นใจลง ส่วนเมืองเกงจิ๋วนั้นตกเป็นของเล่าจ๋องบุตรคนเล็ก ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องยอมยกให้แก่โจโฉที่นำกองทัพบุกลงใต้ และเล่าจ๋องก็ถูกโจโฉส่งคนไปสังหารเพื่อตัดอำนาจสกุลเล่าต่อดินแดนนี้

ซึ่งหากก่อนนี้ เล่าเปียวยอมทำตามคำของฮันสงและสวามิภักดิ์เข้าร่วมกับโจโฉก่อน หรือไม่ก็เสี่ยงเข้าสู้ไปเลยในตอนที่โจโฉติดพันกับอ้วนเสี้ยว เกงจิ๋วก็อาจจะไม่เสียไป และสกุลของเขาก็อาจจะยังสืบต่อมาได้

เมื่อดูจากเรื่องราวของแล้ว เล่าเปียวนั้นก็มิใช่คนที่ใช้การไม่ได้ อันที่จริงเขาสามารถเป็นนักปกครองผู้ฝากชื่อในฐานะของผู้มีใจอารีย์ที่ปกครองดินแดนได้อย่างสงบสุขด้วยซ้ำ หากว่าเขาจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีความเด็ดขาด กล้าได้กล้าเสียมากกว่านี้ แต่เสียดายที่ความทะเยอทะยานของเขานั้น แม้มี แต่ก็ไม่ถึงที่สุดเสียนี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น