ประวัติสามก๊ก เตงจี๋ โป๊ะโหมว
หลังจากเล่าปี่สิ้นชีวิต เล่าเสี้ยนก็ได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้สืบต่อมา แต่ด้วยความที่ยังเยาว์ ขงเบ้งจึงกลายเป็นมหาอุปราชผู้มีหน้าที่ดูแลกิจการบ้านเมืองในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะการศึกภายนอกและการปกครองภายใน
แต่ในช่วงที่มีการผลัดแผ่นดินนั้น จ๊กก๊กกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติหลายทางมาก โดยเฉพาะปัญหาทางภายนอก ที่พันธมิตรเล่า ซุน ได้ถูกทำลายลงไป ดังนั้นปัญหาแรกสุดที่จำต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นจ๊กก๊กที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานอาจสิ้นชาติได้ก็คือการผูกสัมพันธไมตรีระหว่างจ๊กและง่อขึ้นใหม่
มันเป็นปัญหาที่แม้แต่ขงเบ้งก็ไม่อาจกระทำได้ด้วยตนเอง แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็ถูกคลี่คลายลงได้ด้วยความสามารถทางการทูตของขุนนางผู้หนึ่ง
ผู้ซึ่งภายหลัง ได้กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักผู้พิทักษ์จ๊กก๊ก ตราบจนสิ้นชีพ
ประวัติโดยย่อ
เตงจี๋ ชื่อรอง โป๊ะโหมว เป็นชาวเมืองซินเอี๋ย เป็นคนใฝ่รู้ ชมชอบศึกษาหาความรู้ และการขี่ม้า รำกระบี่ มีฝีปากดีเยี่ยม จนเมื่อวัยหนุ่มก็ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางในซินเอี๋ยบ้านเกิด
กระทั่งในปีค.ศ.220 โจผีทำการล้มล้างราชวงศ์ฮั่น และก่อตั้งราชวงศ์วุยขึ้น เตงจี๋จึงอพยพลงมาอาศัยอยู่ที่นครเฉิงตู ในดินแดนเสฉวน แต่บ้างก็ว่าเขาอพยพลงมาอยู่ที่เสฉวนก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี
หลังจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 221 อำนาจการปกครองทั้งหมดในจ๊กก๊กก็ตกอยู่ในมือของขงเบ้ง ฝ่ายเตงจี๋ได้เป็นขุนนางเล็กๆอยู่ในเฉิงตู และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในด้านฝีปากไวเป็นเยี่ยม ภายหลังจึงได้รับการเลื่อนขั้นและถูกส่งไปดูแลเมืองง่อตู
จากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกพระเจ้าเล่าเสี้ยนเรียกตัวกลับมายังเฉิงตู แล้วได้รับการบรรจุเข้าทำงานในกองเลขาธิการของราชสำนัก ทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบายการบริหารทั่วไปภายในนครเฉิงตู ร่วมกับคณะขุนนางที่มีตังอุ๋นและกุยฮิวจี๋เป็นหัวเรือใหญ่
จากนั้นในปีค.ศ.225 ขงเบ้งต้องการจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กขึ้นมาใหม่ เพราะเขาได้เตรียมการที่จะทำศึกกับวุยก๊กภายในปีหน้า แต่ปัญหาคือ หากขงเบ้งยกทัพขึ้นเหนือเพื่อรุกวุยก๊กเมื่อไร ทางง่อก๊กอาจจะฉวยโอกาสนั้นเข้ามาตีทางเกงจิ๋วได้
นี่เป็นปัญหาที่ขงเบ้งยังไม่อาจแก้ไขได้ หลังจากเล่าปี่สิ้นชีพลงเมื่อ 4 ปีก่อน ความสัมพันธ์ของ
ทั้งสองฝ่ายแม้จะไม่ได้ย่ำแย่สุดขีดเหมือนช่วงนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าดีถึงขั้นที่จะเป็นพันธมิตรกันได้อีก ที่ง่อก๊กไม่รุกรานจ๊กก๊กเลยตลอด 4 ปีมานี้ เกิดจากเพราะนโยบายการป้องกันดินแดนมากกว่ารุกรานของง่อก๊ก แต่หากวัดด้านกำลังทหารและกำลังทรัพย์แล้ว ง่อก๊กก็ยังเหนือกว่ามาก หากพวกเขาคิดจะรุกรานจ๊กก๊กเมื่อใด ทางวุยก๊กคงจะกระหน่ำซ้ำอีกทาง และเมื่อนั้นจ๊กก๊กก็จะถึงกับสิ้นชาติแน่ๆ
นิยายสามก๊กเล่าถึงเหตุการณ์ตรงนี้ว่า วุยก๊กวางแผนยกทัพ 5 สาย หมายจัดการจ๊กก๊กให้เด็ดขาดในคราเดียว ทัพทั้ง 5 สายเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทหารนับแสน ทัพแต่ละสายประกอบด้วย ทัพโจหยิน มาทางด่านยังเผงก๋วน เบ้งตัดซึ่งหนีไปสวามิภักดิ์วุย ยกเข้ามาทางฮั่นจง หอปีเข้ามาทางด่านแฮปังก๋วน เบ้งเฮ็กยกเข้ามาทางเอ๊กจิ๋ว และพระเจ้าซุนกวนซึ่งได้รับสารเชิญชวนจากโจผีว่าจะแบ่งแผ่นดินกัน หลังจากพิชิตจ๊กก๊กได้ ยกทัพมาทางด่านกวยเซีย
สถานการณ์นับว่าคับขันถึงขีดสุด พระเจ้าเล่าเสี้ยนร้อนใจนักจึงไปปรึกษาขงเบ้งถึงที่บ้าน ซึ่งฝ่ายขงเบ้งเองก็หาทางแก้ไขไว้แล้วในการสลายทัพทั้ง 5 สาย โดยให้ม้าเฉียวรับมือทางหอปีเพราะทราบว่าหอปีเกรงกลัวม้าเฉียวอยู่ ทางเบ้งเฮ้กนั้นให้อุยเอี๋ยนไปรับมือโดยใช้กลศึกแสร้งทำเป็นว่าในค่ายมีทหารมาก เบ้งเฮ้กจะไม่กล้ารุกเข้ามาเองและถอยกลับไป ทางโจหยินให้จูล่งยกทัพไปตั้งรับไว้อย่างมั่นคง ส่วนทางเบ้งตัดนั้น ให้ลิเงียมซึ่งเคยเป็นสหายรักกันมาแต่งหนังสือไปหา หากเบ้งตัดเห็นหนังสือลิเงียมแล้วก็จะแกล้งป่วย ไม่ยอมออกรบ และกันเหนียวด้วยการให้กวนหิน เตียวเปานำทหารสามหมื่นเที่ยวตรวจตราทั้งสี่ทางไว้ เหลือก็เพียงทางซุนกวนเท่านั้น ที่ยังหาทางไม่ได้ โดยขงเบ้งตั้งใจจะส่งคนไปเจรจากับทางซุนกวนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเป็นพันธมิตรกันอีก แต่ผู้มีความสามารถขนาดนั้น ยังเสาะหาไม่พบ
จนกระทั่งเห็นเตงจี๋หมอบกราบรอพระเจ้าเล่าเสี้ยนอยู่ที่หน้าบ้านของตน ขงเบ้งจึงรั้งเตงจี๋ไว้ และปรึกษาถึงงานทหาร และพบว่าเตงจี๋มีนโยบายที่พ้องตรงกับของตน คือผูกมิตรซุนต้านโจ ดังนั้นจึงตัดสินใจส่งเตงจี๋ไปเป็นทูตที่กังหนำเพื่อรื้อฟื้นพันธมิตรเล่าซุนที่ล่มสลายไปแล้วกลับมาอีกครั้ง
เรื่อง 5 ทัพที่ยกมาในครั้งนี้ มีการวิเคราะห์วิตารณ์กันมากกว่าน่าจะเป็นเรื่องแต่งที่เสริมเข้าไปเพื่อเน้นปัญหาในการแก้ปัญหาของขงเบ้ง มีข้อสนับสนุนคือเส้นทางการยกมาทั้ง 5 สายนั้น ผิดปกติเกินไป
หลังจากเบ้งตัดไปอยู่วุยก๊กแล้ว ก็แทบไม่ได้รับความไว้วางใจให้กุมอำนาจทหาร ดังนั้นการที่เขาจได้เป็นผู้รับผิดชอบนำทัพร่วมศึกใหญ่เช่นนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ทางฝ่ายเบ้งเฮ้กซึ่งจะยกเข้ามาที่เอ๊กจิ๋วก็เช่นกัน การติดต่อไปยังเผ่าหมานซึ่งอยู่ห่างไกลและเส้นทางทุรกันดาร เต็มไปด้วยความยากลำบากนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้และต้องใช้เวลาอย่างมาก การจะเดินทางเพื่อไปเจรจากับเผ่าหมานก็จะต้องผ่านแดนเสฉวนก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กองทหารของเสฉวนที่อยู่ในการควบคุมของขงเบ้งก็คงจะไร้ความสามารถยิ่งนักที่ไม่อาจดักจับคนนำสารได้ ทัพของหอปีที่จะยกมาทางด่านแฮปังก๋วนเองก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะการจะผ่านด่านแฮปังก๋วนั้น จะต้องผ่านด่านยังเป๋งก๋วนอันเป็นหน้าด่านของฮั่นจงก่อน
สายที่มีโอกาสเป็นไปได้คือ โจหยินที่จะยกมาทางยังเป๋งก๋วน และตัวซุนกวนเองที่จะยกมาทางด่านกวยเซีย
และนอกจากนี้ แผ่นดินก็ไม่ใช่เพิ่งจะมีการผลัดเปลี่ยน สาเหตุหลักที่โจผีต้องการรุกรานในครั้งนี้เป็นตามหลักที่ว่าเมื่อประเทศอื่นมีการผลัดแผ่นดิน นับเป็นช่วงเวลาเหมาะที่สุดในการยกทัพแต่พระเจ้าเล่าเสี้ยนครองราชย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.221 เป็นเวลานานถึง 4 ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะครองราชย์ เหมือนอย่างที่เข้าในนิยายซึ่งเหตุการณ์นี้ราวกับเกิดขึ้นทันทีหลังเล่าปี่เสียชีวิตไม่นาน
ดังนั้นการรุกรานของวุยก๊กครั้งนี้ น่าจะเกิดขึ้นที่ด่านยังเป๋งก๋วนมากกว่า แต่ก็คงไม่ใช่ศึกที่มีความสำคัญอะไร
กระนั้น ไม่ว่าซุนกวนจะยกทัพมาจริงหรือไม่ การฟื้นฟูพันธมิตรก็จำต้องทำอยู่ดี เพราะขงเบ้งวางแผนที่จะกำราบเผ่าหมานและยกทัพขึ้นเหนือเพื่อตีวุยก๊กใน 1-2 ปีข้างหน้า หากยังไม่อาจแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับง่อได้ การใหญ่ที่ว่าก็เป็นอันต้องปิดพับหมด
ในที่สุด เตงจี๋ก็ได้รับหน้าที่เป็นทูตไปยังกังหนำ เพื่อฟื้นสัมพันธไมตรีของทั้งสองประเทศกลับมา ซึ่งนี่เป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่ง นอกจากจะต้องอาศัยฝีปากที่เฉียบคม การเจรจาด้านผลประโยชน์แล้ว ยังต้องมีความกล้าอย่างมาก
เตงจี๋งเดินทางไปถึงกังหนำ และได้รับการต้อนรับอย่างดุเดือดตามคาด พระเจ้าซุนกวนจัดแจงให้ทหารถืออาวุธครบมือไว้ทั้งสองข้างทาง แล้วเอาน้ำมันใส่กระทะใหญ่ตั้งไฟไว้หน้าที่นั่ง
เตงจี๋รู้ว่านี่เป็นการข่มขวัญ เขาจึงตอบโต้ด้วยการหัวเราะเสียงดัง เมื่อพบซุนกวนแล้วก็ไม่ยอมก้มกราบ เพียงแต่ยกมือคำนับเท่านั้น ซุนกวนโกรธมาก หาว่าเตงจี๋ไม่รู้จักธรรมเนียม เตงจี๋จึงตอบโต้กลับว่าตนเป็นขุนนางเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นต้องก้มกราบเจ้าเมืองน้อย ซุนกวนจึงว่าให้ดูกระทะในน้ำมันนั่นก่อน แล้วที่มานี่เพื่อมาเจรจาเรื่องที่จะไม่ให้เขายกทัพตีเสฉวนใช่ไหม
เตงจี๋ตอบกลับว่ามิใช่เพื่อเสฉวน แต่ที่ตนมาครั้งนี้มาเพื่อช่วยเหลือกังหนำ หวังจะทำไมตรี และกล่าวว่าซุนกวนกระทำการไม่สมกับคนเล่าลือเลย
ซุนกวนไม่พอใจ ถามว่าที่ว่าตนกระทำการไม่สมกับที่เล่าลือหมายความอย่างไร
เตงจี๋ตอบกลับว่า ซุนกวนได้รับการยกย่องเป็นผู้กล้าหาณรู้จักรักผู้มีสติปัญญาและมีความกล้า ตนเองมาที่กังหนำแต่ผู้เดียว กลับนำกระทะมาตั้งและแต่งทหารไว้ขนาดนี้ ราวกับว่ากลัวตนเอง
ซุนกวนยอมรับในคำพูดของเตงจี๋ จึงสั้งให้เอากระทะออกและให้ทหารออกไป จากนั้นเชิญเตงจี๋นั่ง แล้วบอกว่า กังหนำเองก็คิดจะคืนดีกับทางเสฉวน แต่เห็นว่าเล่าเสี้ยนยังอายุน้อย กลัวว่าจะไม่สามารถทำการใหญ่ต่อไปได้
เตงจี๋ตอบว่า เสฉวนมีขงเบ้งเป็นมหาอุปราชดูแลกิจกาจน้อยใหญ่ ขุนทหารเองก็ยังมีอยู่พรักพร้อม หากจับมือเป็นไมตรีย่อมที่จะยืดยาวแน่ ซุนกวนถามอีกว่าที่เตงจี๋บอกมาเพื่อกังหนตำหมายความว่าอะไร
เตงจี๋อธิบายว่า หากซุนกวนไปเป็นพันธมิตรกับโจผีแล้วยกทัพตีเสฉวนก่อน จากนั้นเมื่อเสฉวนแตก กังหนำจะสามารถอยู่ได้หรือ โจผีย่อมไม่ปล่อยไว้แน่ แต่หากซุนกวนเป็นมิตรกับเสฉวน เมื่อโจผีคิดจะยกทัพมาตี เสฉวนย่อมต้องช่วยเหลือ เพราะหากไม่มีกังหนำแล้ว เสฉวนเองก็ไม่อาจอยู่ได้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายสมควรเป็นพันธิมตรกันจึงเป็นทางที่ดีที่สุด หากซุนกวนรู้สึกคลางแคลงในความจริงใจนี้ ตนก็จะกระโดดลงกระทะเพื่อพิสูจน์ ว่าแล้วเตงจี๋ก็คิดจะกระโดดลองกระทะตั้งไฟจริงๆ ซุนกวนจึงรีบห้ามไว้
ด้วยความกล้าหาญบวกกับฝีปากเป็นเยี่ยมของเตงจี๋ จึงทำให้ซุนกวนตัดสินใจที่จะผูกมิตรกับเสฉวน ดังนั้นซุนกวนจึงได้ส่งทูตของตนคือเตียวอุ๋นไปที่เสฉวนพร้อมกับเตงจี๋
เตงจี๋พาเตียวอุ๋นมที่เสฉวนเข้าพบขงเบ้ง และทำการต้อนรับอย่างดี เตียวอุ๋นนำข้อเจรจาของซุนกวนมาแจ้งต่อขงเบ้ง ซึ่งขงเบ้งก็ตอบรับ ทำให้พันธมิตรของทั้งสองฝ่ายได้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นเตงจี๋และเตียวอุ๋น ก็กลับมาพบซุนกวนที่กังหนำอีกครั้ง เตงจี๋ได้รับการยกย่องจากซุนกวนอย่างมากว่าหากใช้ให้ไปเจรจาที่ไหนไม่มีผิดพลาด แล้วเตงจี๋ก็ลากลับเสฉวน
และนับจากนั้น จ๊กก๊กและง่อก๊กก็กลับมาเป็นพันธมิตรกันอีกครั้ง และมิได้ล่วงละเมิดต่อกันอีกเลย นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญต่อบ้านเมืองของเตงจี๋โดยแท้จริง
ขงเบ้งยกย่องเตงจี๋มากต่อผลงานครั้งนี้ การกลับมาเป็นมิตรกันอีกครั้งของทั้งสองฝ่าย ทำให้ขงเบ้งสามารถเคลื่อนย้ายกองทหารได้โดยสะดวก สามารถปราบปรามเผ่าหมานและยกทัพขึ้นบุกวุยก๊กได้โดยไม่ต้องห่วงแนวรับด้านบูรพา
เตงจี๋เข้าร่วมศึกปราบวุยก๊กในฐานะรองแม่ทัพในสังกัดของจูล่ง และเมื่อภายหลัง ทัพใหญ่ของขงเบ้งประสบความพ่ายแพ้อย่าหมดรูปต่อสุมาอี้ (ในประวัติศาสตร์คือเตียวคับ) และต้องถอยกลับฮั่นจง จูล่งได้สร้างวีรกรรมถอยทัพโดยไม่เสียนงไพร่พลเอาไว้ โดยมีเตงจี๋เป็นรองแม่ทัพ ช่วยเหลือในการถอยครั้งนี้
จากนั้นเตงจี๋ก็ได้รับการบรรจุเข้าทำเนียบที่ปรึกษาและแม่ทัพในการศึกกับวุยแทบทุกครั้ง จนกระทั่งในปีค.ศ.234 เมื่อขงเบ้งเสียชีวิตในการศึกที่เขากิสาน ทำให้ต้องมีการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงบุคลากรทั้งในด้านการทหารและการปกครองครั้งใหญ่ เตงจี๋ก็ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ดูแลกิจกาจในนครเฉิงตู
จนเมื่อปีค.ศ.243 เตงจี๋ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลผู้พิทักษ์นครเฉิงตู กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักที่คอยค้ำจุนจ๊กก๊กร่วมกับบิฮุย ตังอุ๋น เกียงอุย เตงจี๋ทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในของจ๊กก๊กได้ดีมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปีค.ศ.251
ในทำเนียบขุนนางยุคหลังของสามก๊ก เตงจี๋ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะทูตมือหนึ่ง โดยสิ่งการันตีก็คือผลงานชิ้นเอกในการฟื้นฟูพันธมิตรระหว่างเล่าซุนให้กลับมาอีกครั้ง ซุกนวนเองก็ยกย่องเขามากถึงกับกล่าวว่า ให้เตงจี๋ไปเป็นทูตที่ไหน ไม่มีผิดหวังเด็ดขาด นอกจากนี้เตงจี๋ยังเป็นผู้มีความรอบรู้ในเชิงบู๊อีกด้วย เมื่อดูจากตำแหน่งทางทหารของเขาในช่วงที่ทัพจ๊กก๊กเข้ารุกรานวุยก๊ก เขาเป็นผู้หนึ่งที่ขงเบ้งช่วงใช้ในฐานะที่ปรึกษากองทัพ
น่าเสียดายว่าหลังจากเตงจี๋สิ้นไปแล้ว ขุนนางฝ่ายบุ๋นที่เก่งกาจพอจะดูแลบริหารบ้านเมืองได้ก็เหลือเพียงบิฮุยเท่านั้น และเมื่อสิ้นบิฮุยไปอีกหลังจากเตงจี๋เสียชีวิตไปเพียงสองปี ก็ไม่ปรากฏขุนนางผู้มีความสามารถเช่นนี้ขึ้นมาโดดเด่นอีกเลย ทำให้การบริหารการปกครองของจ๊กก๊กในยุคที่เหลือเพียงเกียงอุยซึ่งมุ่งเน้นแต่งานทหารมากจนเกินไปแล้ว เริ่มเข้าสู่ช่วงตกต่ำลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น