ประวัติสามก๊ก ซุนฮิว กงต๋า
ในบรรดาที่ปรึกษารุ่นแรกๆของโจโฉที่ช่วยโจโฉก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ชื่อของซุนฮก กุยแก กาเซี่ยง มักผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเพราะผลงานของพวกเขาที่ปรากฏในนิยายสามก๊กและในประวัติศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก
และในบรรดาที่ปรึกษาสำคัญกลุ่มแรกๆนี้ ยังมีอีกผู้หนึ่งซึ่งแม้จะไม่ได้โดดเด่นหรือมีผลงานเป็นพิเศษ อีกทั้งความสามารถในแง่กุนซือก็อาจไม่ถึงที่สุด แต่เขาเป็นคนสำคัญชนิดที่หากว่าโจโฉขาดเขาไปแล้ว กิจการทั้งภายในภายนอก ไม่ว่าจะงานพลเรือนหรืองานทหารต้องมีอันสะดุดลงแน่
เขาก็คือซุนฮิว หลานชายที่อายุมากกว่าของซุนฮก วีรกรรมและผลงานของเขาที่ทำไว้นั้นแม้ไม่โดดเด่นหากเทียบกับสามคนแรก เพราะในบรรดาที่ปรึกษารุ่นแรกทั้งหมด นับว่าซุนฮิวเป็นผู้ที่มีบุคลิก สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และประนีประนอมอย่างยิ่ง จนทำให้แผนการของเขาแทบไม่ค่อยแสดงออกอย่างเปดเผยมากนัก ทั้งที่ความสามารถของเขานั้นสามารถเทียบชั้นเหล่ายอดกุนซือทั้งหลายในยุคนั้นได้เลย
ประวัติโดยย่อ
ซุนฮิว ชื่อรองกงต๋า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 157 เป็นบุตรชายของซุนลี่ เขากับซุนฮกมีศักดิ์เป็นอาหลาน โดยซุนฮิวเป็นหลานที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากบิดาของซุนฮกมีศักดิ์เป็นปู่ของซุนฮิว โดยซุนฮิวมีอายุมากกว่าซุนฮก 6 ปี
ซุนฮิวเมื่อวัยเด็กก็แสดงสติปัญญาออกมาเป็นที่ยกย่องและยอมรับของบรรดาผู้ใหญ่ เขาร่ำเรียนหลักการของขงจื๊อ และศาสตร์ความรู้ต่างๆมากมาย เมื่อเติบใหญ่ก็ได้เข้ารับราชการอยู่ที่เมืองหลวง
กระทั่งในปี ค.ศ.189ตั๋งโต๊ะนำกองกำลังเสเหลียงเข้าทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจในเมืองหลวง บรรดาขุนนางในราชสำนักส่วนใหญ่ต่างพากันคิดต่อต้าน ซุนฮิวซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงข้าราชการชั้นล่าง ได้เข้าร่วมกับกลุ่มขุนนางที่คิดก่อการกบฏด้วยในฐานะผู้ร่วมวางแผน แต่ไม่นานแผนก็เกิดรั่วไหล กระนั้นตั๋งโต๊ะก็ไม่สามารถจับตัวผู้ต้องสงบสัยมาเล่นงานได้แม้สักคน ซุนฮิวซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงรายเดียวก็ไม่ได้มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิด แต่ตั๋งโต๊ะก็สั่งการให้จับกุมตัวเขาและสอบสวนอย่างหนัก กระนั้นซุนฮิวก็ไม่ปริปากพูดแผนการหรือผู้ร่วมก่อการแม้แต่คนเดียว ตั๋งโต๊ะรู้ว่าซุนฮิวมีสติปัญญาสูง เสียดายที่จะสังหารทิ้ง จึงส่งตัวเขาไปจองจำอยู่ที่เมืองฮั่นจงซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนทุรกันดาร
ซุนฮิวถูกจองจำที่ฮั่นจง ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่ก็อดทนอย่างเข้มแข็ง กระทั่งในปีต่อมาเมื่อตั๋งโต๊ะถูกลิโป้ทำรัฐประหาร ซุนฮิวจึงได้รับการปลดปล่อย แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาที่เมืองหลวงได้
ในปีต่อมา ซุนฮก ได้เข้ารับราชการกับโจโฉ และรับตำแหน่งที่ปรึกษาคนสำคัญ ตระกูลซุนนั้นเป็นตระกูลใหญ่และเป็นตระกูลขุนนางที่มีทายาทมีความสามารถมากในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ดังนั้นเมื่อซุนฮกซึ่งเป็นผู้มีความสามารถสูงสุดและเป็นผู้นำตระกูลได้เข้าทำงานรับใช้โจโฉ จึงได้เสนอชื่อซุนฮิวแก่โจโฉด้วย
ในปี ค.ศ.194 ซุนฮิวถูกโจโฉเรียกตัวกลับมาจากฮั่นจง โจโฉเคยได้ยินกิตติศัพท์และความกล้าของซุนฮิวมาแล้ว กล่าวกันว่าเมื่อโจโฉได้พบซุนฮิวครั้งแรก โจโฉไม่รู้สึกว่าซุนฮิวจะเป็นผู้มีสติปัญญาสูงอะไรนัก เพราะบุคลิกและท่าทีภายนอกของซุนฮิวนั้นแสดงออกถึงความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตนจนอาจจะมากเกินไป แต่หลังจากสนทนากันตลอดวัน โจโฉก็ยกย่องในสติปัญญาของซุนฮิวมาก และแต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาธิการคนหนึ่งในกองทัพ
ในปีเดียวกันนั้น โจโฉกำลังรับศึกสองด้าน ตะวันตกคือเตียวสิ้ว ตะวันออกคือลิโป้ อีกทั้งยังต้องคอยระวังเล่าเปียวจากทางใต้อีกด้วย อ้วนเสี้ยวที่อยู่กิจิ๋วเองแม้จะเป็นพันธมิตรกันแต่ก็ไม่อาจวางใจได้ เรียกว่าโจโฉกำลังอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ต้องรับศึกทุกด้านก็ว่าได้
ซุนฮิวใช้สติปัญญาช่วยโจโฉในการทำศึกกับลิโป้ เมื่อทัพโจโฉเข้าล้อมเมืองแห้ฝือได้แล้ว กุยแกและซุนฮิวก็เสนอแผนที่จะพังเขื่อนเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้เข้าโจมตีเมือง ในที่สุดก็สามารถจับตัวลิโป้และสังหารได้
จากนั้นซุนฮิวก็ร่วมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสำคัญของกองทัพ แม้ว่าหากเปรียบกับซุนฮกแล้ว ซุนฮิวจะมีความสำคัญเป็นรอง เพราะซุนฮกทำหน้าที่ดูแลเมืองหลวงระหว่างโจโฉออกศึก และทำหน้าที่บริหารภาพรวมทั้งหมด ในขณะที่ซุนฮิวรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแผนการศึกร่วมกับกุยแก เทียหยก ซึ่งในด้านแผนกลยุทธ์พิสดารนั้นมักเป็นผลงานของตัวโจโฉเองหรือกุยแก รวมทั้งบรรดาแม่ทัพ ส่วนเทียหยกนั้นแม้ความสามารถอาจไม่สูงล้ำ แต่เทียหยกรับผิดชอบจัดการเรื่องการจัดการกองทัพและระเบียบวินัยอันเป็นภาระสำคัญ ด้วยเหตุนี้บทบาทของซุนฮิวจึงดูเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในการวางแผนการศึกเท่านั้น แต่ก็นับเป็นส่วนประกอบที่โจโฉเองไม่อาจขาดไปได้
ปี ค.ศ. 200 การศึกกัวต๋ออุบัติขึ้น ซุนฮิวได้มีส่วนช่วยเหลือโจโฉในการวางกลยุทธ์อย่างมาก โดยเฉพาะการจัดการกับบุนทีว หนึ่งในสองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ซึ่งการจัดการกับบุนทิวได้ก่อนนั้น ส่งผลให้การศึกที่กัวต๋อหลังจากนั้นประสบความยากลำบากน้อยลง
โดยหลังจากที่งันเหลียงถูกกวนอูสังหารที่ท่าข้ามแปะแบ๊แล้ว อ้วนเสี้ยวก็ยกทัพหมายเข้าตีลิหยง ซุนฮิวจึงเสนอให้โจโฉทำทีว่าจะยกทัพข้ามแม่น้ำฮวงโหไปตีโห้ปัก แต่แท้จริงแล้วเข้าตีตลบทัพหลังของอ้วนเสี้ยวแทน ซึ่งก็ทำให้อ้วนเสี้ยวจำต้องยกทัพกลับมาช่วยทัพหลังของตน ขณะเดียวกันก็ให้ทัพอีกกองบุกโจมตีเมืองเป๊กม้าแบบสายฟ้า อ้วนเสี้ยวเมื่อรู้ว่าหลงกลเพราะเป้าหมายแท้จริงของโจโฉอยู่ที่เป๊กม้าแล้ว ก็สั่งการให้บุนทิวยกทัพข้ามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาตีทัพของโจโฉ ซูนฮิวจึงซ้อนแผนอีกขั้นให้กองเสบียงถอยล่าช้า ปล่อยให้ทัพบุนทิวชิงเสบียงไปได้ แล้วอาศัยขณะที่ทัพบุนทิวกำลังยุ่งกับทัพเสบียงนั้น ให้กวนอูจู่โจมแบบสายฟ้า ทำให้ศึกน้กวนอูสามารถสังหารบุนทิวได้
ตรงจุดนี้มีความแตกต่างระหว่างนิยายสามก๊กกับในประวัติศาสตร์ ซึ่งในนิยายการสังหารบุนทิวเป็นผลงานของกวนอู แต่ในประวัติศาสตร์นั้นเกิดการกลศึกของทางโจโฉที่มีซุนฮิวเป็นผู้เสนอแผน โดยกวนอูมีผลงานหลักอยู่ที่การสังหารงันเหลียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
การที่สามารถจัดการสองขุนพลใหญ่อย่างงันเหลียงและบุนทิวออกไปได้ ส่งผลทำให้การศึกของโจโฉที่กัวต๋อลดความเสี่ยงและมีความยากลำยากน้อยลง และนำไปสู่การเอาชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยวที่ครองความเป็นใหญ่ทางภาคเหนือได้สำเร็จ แม้ในการศึกที่กัวต๋อนั้น กลยุทธ์ที่นำไปสู่ชัยชนะจะเกิดมาจากนโยบายตั้งยันเพื่อรอความเปลี่ยนแปลงของซุนฮก และการแปรพักตร์ของเขาฮิว แต่ซุนฮิวก็เป็นเสนาธิการที่ได้รับความชอบในการศึกครั้งนี้ไม่น้อย
ปี ค.ศ. 207 โจโฉขึ้นดำรงตำแหน่งสมุหนายก กลายเป็นมหาอุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่น ซุนฮิวยังคงช่วยเหลือทั้งกิจการภายในและภายนอกอย่างเต็มที่ ในปีต่อมาเมื่อโจโฉคิดยกทัพรุกลงใต้เพื่อจัดการเผด็จศึกเล่าปี่และซุนกวนที่กังหนำ ซุนฮิวได้เสนอว่าจิวยี่เป็นแม่ทัพเรือที่เก่งกาจที่สุดของยุค สมควรที่จะหาทางเกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนน แต่แน่นอนว่าแผนนี้ของซุนฮิวก็คิดอ่านง่ายเกินไป จิวยี่ไม่ยอมจำนนและยังกลายเป็นผู้มอบความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตให้แก่โจโฉอีกด้วย
ซุนฮิวติดตามโจโฉลงใต้ เข้าร่วมศึกเซ็กเพ๊ก อันเป็นหนึ่งในสามศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสามก๊ก ทัพเรือของโจโฉนั้นแม้จะใหญ่โตอลังการ และมีทหารกว่าหลายแสน แต่แม่ทัพที่เชี่ยวชาญการบัญชาการศึกทางน้ำค่อนข้างจำกัด แม้แต่กลยุทธ์ในการศึทกางน้ำก็เช่นกัน
ในนิยายสามก๊กนั้นพูดถึงเรื่องการผูกโซ่เรือให้ยาวทอดกันเพื่อแก้ปัญหาการเมาเรือของทหารโจโฉว่าเป็นอุบายที่บังทองเสนอแก่โจโฉ โดยเกิดจากการวางแผนมาก่อนแล้วของจิวยี่อีกที เพื่อพิชิตทัพเรือโจโฉด้วยไฟ ซุนฮิวเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่มองออกถึงอันตรายของการผูกเรือเข้าด้วยกัน แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้สายเกินไป และส่งผลให้ทัพเรือของโจโฉถูกเผาทำลายลงภายในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน ซึ่งในนิยายสามก๊กนั้นกล่าวว่าโจโฉเสียทหารไปหลายแสนคนในศึกนี้ ในขณะที่ทางประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่าทัพโจโฉสามารถล่าถอยกลับไปได้จำนวนไม่น้อย เพราะในปีต่อมาก็โจโฉยังมีทหารมากพอที่จะยกไปที่หับป๋า
หลังกลับไปยังภาคกลาง โจโฉก็ถวายฎีกาแก่พระะเจ้าเหี้ยนเต้พระราชทานยศให้ซุนฮิวเป็นพระยา และภายหลังก็ได้รับตำแหน่งราชเลขา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในชีวิต ซุนฮิวยังคงช่วยเหลือโจโฉเรื่อยมา จนกระทั่งในปีค.ศ. 213 โจโฉคิดตั้งตนขึ้นเป็นวุยก๋ง เรื่องในครั้งนี้สร้างความปั่นป่วนขึ้นในหมู่ข้าราชบริพารของโจโฉอย่างมาก โดยเล่ากันว่าผู้ที่คัดค้านการขึ้นดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ก็คือที่ปรึกษาคนสนิทที่สุดอย่างซุนฮก และส่งผลให้โจโฉขัดแย้งกับซุนฮกในเรื่องนี้อย่างรุนแรง จนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตายของซุนฮกภายหลังจากนั้น
เรื่องการขึ้นดำรงตำแหน่งวุยก๋งนั้น ซุนฮิวก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คัดค้าน ด้วยเหตุที่ว่าจะทำใหคุณงามความดีที่โจโฉทำไว้ต่อแผ่นดินสูญไปหมด สิ่งที่จะตามมาคือการวิพากษ์และความแปดเปื้อนในฐานะผู้คิดล้มราชบัลลังก์ เพราะตำแหน่งที่โจโฉจะได้รับเป็นสิ่งที่เกินกว่าสามัญชนหรือผู้ภักดีต่อราชวงศ์จะได้มา มีแต่ผู้คิดล้มราชวงศ์เท่านั้นที่หมายปองตำแหน่งเช่นนั้น
ซุนฮิวเป็นผู้ที่ร่ำเรียนและศึกษาลัทธิขงจื๊ออย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับซุนฮก และยังมีวิถีแนวคิดเช่นเดียวกันนั่นคือการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นโดยเหตุที่มาอยู่กับโจโฉก็เพราะเล็งเห็นว่าโจโฉเป็นผู้มีศักยภาพ และอำนาจเพียงพอที่จะค้ำชูราชวงศ์ต่อไปได้ แต่ในเมื่อโจโฉกำลังจะกระทำการอื่นที่ขัดต่ออุดมการณ์แรกเริ่ม ซุนฮิวซึ่งวางตนในฐานะผู้อ่อนน้อมถ่อมตนมาตลอดก็ลุกขึ้นโต้แย้ง เช่นเดียวกับซุนฮก ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้โจโฉอย่างมาก ในนิยายสามก๊กเล่าว่าซุนฮิวเสียใจกับเรื่องนี้มากจนป่วยหนักและเสียชีวิตลง ในปีค.ศ.215
แม้ช่วงบั้นปลาย ซุนฮิวจะขัดแย้งกับโจโฉ แต่โจโฉก็เสียดายและระลึกถึงคุณงามความดีและผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้ เช่นเดียวกับซุนฮก
ตรงจุดนี้มีการวิเคราะห์กันเล็กน้อยว่าซุนฮกและซุนฮิวมีชะตาคล้ายกันตรงที่ช่วยปูรากฐานให้โจโฉจนเป็นใหญ่ เมื่อสำเร็จแล้วก็เท่ากับหมดประโยชน์ แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ซุนฮิวอาจเพียงป่วยหนักและเสียชีวิตลงโดยไม่ได้มีความขัดแย้งกับโจโฉเลยก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น