วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก โจหยิน จื่อเสี้ยว

ประวัติสามก๊ก โจหยิน จื่อเสี้ยว

ในบรรดาขุนศึกของยุคสามก๊ก โจโฉนับว่าเป็นคนที่โชคดีตรงที่มีเหล่าญาติสนิทมีความสามารถและภักดีกับเขาอยู่หลายคน และคนเหล่านั้นเองที่เป็นกำลังสำคัญให้แก่เขาในยุคแรกเริ่ม

ชื่อของขุนพลญาติสนิททั้ง 4 คน ซึ่งเป้นขุนพลเอกของโจโฉนั้น คือแฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน โจหอง ในบรรดาทั้ง 4 คน โจหยินนับว่าเป็นผู้ที่มีความอดทด รอบคอบ และเชี่ยวชาญพิชัยสงครามมากที่สุด

แต่กระนั้นหากเทียบกับเหล่าขุนพลร่วมสมัย ชื่อเสียงและความสามารถของเขาก็ยังดูเป็นรองอีกหลายคน ทั้งอย่างนั้น เขากลับเป็นผู้ที่สามารถยืนหยัดต้านทานกับยอดขุนพลของยุคนั้นอย่างกวนอูและจิวยี่อย่างสูสีมาแล้ว

และยังเป็นหนึ่งในขุนพลที่มีผลงานและประสบความสำเร็จในเชิงตั้งรับมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นอีกด้วย


โจหยิน จื่อเสี้ยว

โจหยิน ชื่อรองจื่อเสี้ยว ชาวเมืองพ่าย มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้องของโจโฉ ในประวัติของโจโฉกล่าวว่าเมื่อสมัยเด็กเขามีความสนิทสนมกับญาติพี่น้องอีก 4 ประกอบด้วย แฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน และโจหอง เป็นอันมาก โจหยินยังเป็นพี่ชายของโจหองอีกด้วย

ประวัติในสมัยเด็กของโจหยินไม่มีมากนัก มีกล่าวเพียงว่าเขาร่วมกับโจโฉและญาติพี่น้องคนอื่นๆ ตั้งกลุ่มคนหนุ่มออกอาละวาด จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว จนกระทั่งภายหลังเมื่อโจโฉเข้ารับราชการ โจหยินก็เริ่มศึกษาและสนใจในหลักพิชัยสงครามและปัญหาบ้านเมือง

ปี ค.ศ. 184 เมื่อโจรผ้าเหลืองลุกขึ้นก่อการ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วแผ่นดิน โจโฉได้รับคำสั่งให้เข้ารับตำแหน่งในกรมทหารม้าเร็ว และรับหน้าที่คุมกองทัพจำนวนหนึ่งออกปราบปรามโจรผ้าเหลืองที่อาละวาดรอบบริเวณเมืองหลวงลั่วหยาง โจหยินก็เข้าร่วมกับโจโฉและช่วยเป็นเรี่ยวแรงในการเกณฑ์ผู้คนมาเข้าร่วมด้วยร่วมกับพี่น้องและญาติทั้ง 4 คน

หลังจากสามารถเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพและทำหน้าที่ปราบปรามโจรผ้าเหลืองบริเวณรอบนครหลวงอย่างได้ผล โจโฉก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขุนนาง แต่ไม่นานเขาก็ลาออกจากราชการและกลับไปอยู่บ้านเดิม ภายหลังจากนั้นไม่นานก็กลับมาเข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมทหารม้าเร็วในสังกัดกองทหารมหาดเล็ก ตัวโจหยินนั้นก็ยังคงทำงานร่วมกับโจโฉไม่เปลี่ยน

ปีค.ศ.189 โจโฉคิดการร่วมกับอ้วนเสี้ยว โฮจิ๋น เพื่อโค่นล้ม 10 ขันที ที่กำลังเรืองอำนาจในวังหลวง แต่โฮจิ๋นตัดสินใจพลาดที่ส่งหมายเชิญขุนศึกจากหัวเมืองต่างๆเข้าเมืองหลวง 10 ขันทีจึงตัดสินใจกำจัดโฮจิ๋นด้วยการล่อให้โฮจิ๋นเข้าวังแล้วสังหารเสีย โจโฉและอ้วนเสี้ยวจึงบุกเข้าวังและสังหารเหล่าขันทีไปจำนวนมาก แต่สุดท้ายตั๋งโต๊ะซึ่งนำกำลังทหารจากเสเหลียงเข้ามาในนครหลวงก็ได้ทำการยึดอำนาจในท้ายที่สุด

โจโฉแยกตัวจากตั๋งโต๊ะ และหนีกลับบ้านเดิม และออกราชโองการปลอมระดมเหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดิน ส่วนตัวเองนั้นอาศัยทรัพย์สินทั้งหมดระดมกำลังทหารได้ 5000 คน โดยมีเหล่าญาติๆรวมทั้งโจหยินเป็นแม่ทัพนายกองอีกทีหนึ่ง

กองทัพพันธมิตรกวนจงจึงเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ล่มสลายลงภายในเวลาแค่ปีเดียว โจโฉตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อรวบรวมกำลังทหารอีกครั้ง จากนั้นในปี ค.ศ.192 โจโฉ ได้รับเชิญจากเปาซิ่นเจ้าเมืองกุนจิ๋วให้มารับตำแหน่งเจ้าเมืองแทน และได้อาศัยที่นี่เป็นฐานกำลัง

โจหยินได้รับความไว้ใจจากโจโฉให้เป็นแม่ทัพคอยทำหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาหัวเมืองกุนจิ๋ว ในช่วงหลายปีนั้น โจโฉได้ออกศึกขยายอิทธิพลและเผชิญหน้ากับเหล่าขุนศึกต่างๆไม่ว่าจะลิโป้ อ้วนสุด ลิฉุย กุยกี เตียวซิ่ว แต่โจหยินแทบไม่ได้เข้าร่วม เพราะเขามีหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าการออกศึกนั่นคือการรับผิดชอบแนวหลังให้แก่โจโฉ

ดังนั้นหากเทียบกับแม่ทัพกองหน้าคนอื่นของโจโฉซึ่งหลายคนเริ่มจะสร้างชื่อขึ้นมาในแผ่นดินแล้ว ชื่อเสียงของโจหยินจึงไม่โด่งดังนัก แต่ก็นับว่าโจหยินเป็นแม่ทัพที่โจโฉให้ความไว้วางใจเป็นอันดับแรกๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่มอบหน้าที่สำคัญเช่นการเฝ้าระวังแนวหลังให้ เฉกเช่นที่มอบหมายให้ซุนฮกรับหน้าที่บริหารกิจการในนครหลวงฮูโต๋ โจหยินก็เป็นผู้รับหน้าที่การฝึกควบคุมดูแลกองทัพ

ปีค.ศ.200 ช่วงยุทธการกัวต๋อเริ่มต้นได้ไม่นานนั้น เล่าปี่ซึ่งได้รับกำลังทหารส่วนหนึ่งจากอ้วนเสี้ยว ได้ร่วมมือกับเล่าเพ๊ก อดีตโจรผ้าเหลืองแห่งยีหลำ ยกทัพเข้าโจมตีจากชีจิ๋ว เป้าหมายคือนครฮูโต๋ นอกจากนี้ยังมีกระแสว่าเล่าเปียวจะเข้าร่วมการโจมตีด้วย

นับว่าเป็นเหตุการณ์อันตรายสำหรับโจโฉมาก เพราะกองทัพส่วนใหญ่ของโจโฉนั้นกำลังรับมือกับทัพมหึมาของอ้วนเสี้ยวทางด้านเหนืออยู่ แม่ทัพนายกองคนสำคัญมากมายก็เช่นกัน มีแต่เพียงโจหยินเท่านั้นที่ทำหน้าที่คอยป้องกันข้าศึกที่จะเข้าโจมตีฮูโต๋

แต่โจหยินก็อาศัยความหนักแน่น อดทน ทำให้สามารถตีโต้กองทัพของเล่าเพ็กกลับไปได้ และยังสามารถสังหารเล่าเพ็กได้อีกด้วย ส่วนเล่าปี่นั้นถอยร่นลงใต้ และเข้าร่วมกับเล่าเปียวที่เกงจิ๋ว เล่าปี่อาศัยกำลังทหารของเล่าเปียวและรวบกองทัพของเล่าเพ็กเป็นของตน เข้าโจมตีฮูโต๋ แต่สุดท้ายก็ต้องถอยร่นกลับเกงจิ๋ว ซึ่งตรงจุดนี้ ในนิยายสามก๊กและในประวัติศาสตร์บันทึกรายละเอียดไว้ไม่ตรงกันเท่าใดนัก บ้างก็ว่าเล่าปี่ถอยหนีไปอยู่กับเล่าเปียวเลย ในขณะที่บางฉบับก็บอกว่าเล่าปี่ได้ทำการโจมตีฮูโต๋ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะถอยหนีไปหาเล่าเปียว แต่ที่มีบันทึกไว้ตรงกันเรื่องหนึ่งคือหลังจากไปอยู่กับเล่าเปียวแล้ว เล่าปี่ได้เสนอให้เล่าเปียวยกกองทัพเข้าโจมตีฮูโต๋ในระหว่างที่โจโฉติดพันศึกกับอ้วนเสี้ยวทางเหนือ แต่เล่าเปียวไม่กล้าเสี่ยงและปฏิเสธไป

หลังเสร็จศึกกัวต๋อ แม้ว่าโจหยินจะไม่ได้เข้าร่วม แต่เขาก็ได้รับการเลื่อนยศและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้จากการที่ปราบเหล่าศัตรูและกองกำลังกบฏที่เกิดขึ้นในภาคกลาง

ปี ค.ศ.207 โจโฉส่งกองทัพบุกเกงจิ๋ว มีโจหยินเป็นแม่ทัพ เล่าเปียวใช้ให้เล่าปี่เป็นผู้รักษาเมืองซินเอี๋ย เพื่อคอยรับศึกกับโจโฉโดยเฉพาะ และในตอนนั้นเล่าปี่เพิ่งได้ตัวชีซีมาเป็นเสนาธิการทหาร จึงให้ชีซีช่วยวางแผนรับมือกองทัพของโจหยิน

โจหยินนั้นไม่ได้เป็นแม่ทัพที่เด่นในการนำทัพตะลุยเข้าจัดการข้าศึก แต่เขามีความรอบรู้ในด้านพิชยสงคราม ค่ายกล และการตั้งรับ เขาคิดค้นค่ายกลแปดประตูทองคำลั่นดาลโดยอาศัยการนำค่ายกลแบบโบราณมาปรับประยุกต์ แต่ในศึกนี้ได้ถูกชีซีซึ่งหาช่องโหว่ของคายกล ตีเข้าที่จุดนั้นทำให้กองทัพของโจหยินพ่ายแพ้กลับไป

ปีค.ศ.208 โจโฉตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ลงใต้ เล่าจ๋องผู้ครองเกงจิ๋วยอมจำนน ทำให้สามารถได้เกงจิ๋วมาครองโดยที่ไม่ต้องออกแรงรบ เล่าปี่ต้องหนีตายลงมาที่แฮเค้าและรวมกำลังกับทัพของเล่ากี๋

จากนั้นภายใต้การผลักดันของขงเบ้งและโลซก ฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนจึงได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกันเพื่อต้านโจโฉ และในปีเดียวกันก็ได้เกิดศึกเซ็กเพ๊กระหว่างโจโฉกับพันธมิตรเล่าซุน ผลคือฝ่ายโจโฉพ่ายแพ้และต้องถอยร่นกลับสู่ภาคกลาง โจหยินไม่ได้เข้าร่วมเป็นทัพหน้าในการบุกภาคใต้ครั้งนี้ แต่รับหน้าที่แม่ทัพคอยเฝ้าแนวหลังที่เมืองกังเหลง เจตแดนเกงจิ๋ว ซึ่งโจโฉได้สั่งการให้โจหยินทำหน้าที่ป้องกันเมืองไว้จากการโจมตีต่อเนื่องของทัพง่อ ซึ่งมีจิวยี่เป็นแม่ทัพใหญ่

ปีค.ศ.209 ในการศึกที่กังเหลงนี้ จิวยี่ยกกองทัพง่อเข้าโจมตีเมืองกังเหลงดุจพายุ โจหยินได้ใช้ความสามารถทั้งหมดต้านทานอย่างเต็มที่ ศึกนี้เป็นศึกที่มีรายละเอียดในนิยายและในประวัติศาสตร์ต่างกัน ในนิยายนั้นจิวยี่ได้ถูกลูกธนูโจมตีจนบาดเจ็บ แต่ก็อาศัยอาการบาดเจ็บนี้ในการล่อหลอกทัพของโจหยินให้ออกมาตามตีนอกเมือง จิวยี่จึงทำการตลบหลังใช้ทัพดักซุ่ม จัดการกับทัพของโจหยินได้ โจหยินไม่อาจถอนทัพกลับเข้าเมืองจึงจัดสินใจหนีขึ้นเหนือไปยังเซียงหยาง แล้วจิวยี่จึงยกทัพเข้าเมืองกังเหลง แต่ปรากฏว่าถูกขงเบ้งที่คาดการไว้ก่อนแล้ว ส่งจูล่งให้นำกองทัพเข้ามายึดกังเหลงในระหว่างนั้น กังเหลงจึงตกเป็นของเล่าปี่ไป แล้วภายหลังเมื่อซุนกวนต้องการทวงเมืองนี้ ขงเบ้งจึงได้ขอทำสัญญายืมเมืองนี้พื่อให้เป็นฐานที่มั่นแก่เล่าปี่จนกว่าจะเข้ายึดเสฉวนได้ ซึ่งโลซกได้ยอมเป็นผู้ค้ำประกัน ท่ามกลางความไม่พอใจของซุนกวนและจิวยี่

แต่ในประวัติศาสตร์นั้นบันทึกไว้ต่างกันมาก โดยกล่าวว่าโจหยินได้ต้านรับอยู่ที่กังเหลงนี่นานถึง 1 ปีเต็ม และสามารถให้จิวยี่บาดเจ็บในศึกนี้เช่นกัน แต่หลังจากต้านทานอยู่นาน โจหยินพบว่าไม่อาจจะต้านได้นานไปกว่านี้ จึงตัดสินใจถอยทัพขึ้นเหนือไปยังเซียงหยางก่อนที่จะเป็นฝ่ายเสียหายและพ่ายแพ้กว่านี้แทน จิวยี่จึงได้ยกทัพเข้ายึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ แต่ขงเบ้งได้เดินทางมาขอยืมเมืองนี้กับทางซุนกวน ซึ่งขงเบ้งได้อาศัยการแจกแจงแก่โลซก และโลซกเองก็เห็นด้วยที่จะให้เล่าปี่เป็นโล่คอยยันอำนาจของโจโฉ ซึ่งซุนกวนเองเห็นชอบกับนโยบายนี้ด้วยซ้ำ แต่ผู้ที่คัดค้านกับเรื่องนี้ซึ่งเหมือนกันทั้งในนิยายและในประวัติศาสตร์คือจิวยี่ เพราะเขาคือคนที่เหนื่อยที่สุด แต่ง่อกลับไม่ได้อะไรเลย และกลายเป็นว่าเล่าปี่ได้ประโยชน์สูงสุดไป

เกี่ยวกับกรณีนี้ ในนิยายสามก๊กแม้จะดูเป็นการใช้ปัญญาเพื่อให้ได้เมืองมาโดยไม่เสียกำลังของขงเบ้ง แต่เท่ากับฝ่ายเล่าปี่โกงซุนกวนอย่างมาก ในขณะที่ตามประวัติศาสตร์ วิธีการของขงเบ้งแม้จะดูเอาเปรียบฝ่ายง่อแต่ก็ยังดูเบาและเป็นที่น่ายอมรับมากกว่าตามในนิยาย อีกทั้งยังดูเป็นลูกเล่นกับแผนทางการเมือง การเจรจาที่เหนือชั้นของขงเบ้งด้วยซ้ำ

คาดว่าหลอก้วนจงหรือ รุ่นหลังอย่างเหมาจงกัง ผู้แต่งนิยายสามก๊กน่าจะต้องการเพิ่มความสามารถทางกลยุทธ์ทางทหารให้แก่ขงเบ้งมากกว่า เพราะบทบาทของขงเบ้งในประวัติศาสตร์ช่วงศึกเซ็กเพ๊กและไปจนถึงช่วงที่เล่าปี่ได้ดินแดนเสฉวนนั้น เป็นบทบาทในด้านการบริหารและการเจรจาทางการเมือง ไม่ได้แสดงความสามารถเชิงการทหารเท่าไรนัก จึงมีการแต่งเรื่องราวออกมาเช่นนั้น แต่มันทำให้วิธีการของขงเบ้งครั้งนี้ดูโกงฝ่ายง่อมาก ทั้งที่ในประวัติศาสตร์แล้ว นี่เป็นผลงานทางการเมืองชิ้นสำคัญของขงเบ้งที่อาศัยนโยบายของโลซกให้เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้เห็นชอบได้ ทั้งที่ลึกๆแล้ว เขาเองก็คงไม่พอใจเหมือนกับจิวยี่เท่าใดนัก

ในประวัติศาสตร์และในนิยายนั้น กล่าวถึงเรื่องราวหลังจากนั้นตรงกันว่า โจโฉยังคงมุ่งมั่นที่จะบุกแดนกังหนำ ส่วนทางด้านเกงจิ๋วนั้นเขาเพียงวางกำลังตรึงแนวรบไว้ แต่ไม่ได้เน้นไปที่การบุก เพราะเบนเป้าหมายไปที่การข้ามฝั่งแม่น้ำแยงซีจากทางทิศบูรพาแทน ฝ่ายซุนกวนเองก็นั้นเมื่อไม่อาจขยับขยายอิทธิพลไปทางทิศประจิมได้เนื่องจากติดทางเล่าปี่ จึงมุ่งเป้าหมายไปที่หับป๋า

ปีค.ศ.210 โจโฉสั่งระดมแล้วเคลื่อนพลส่วนหนึ่งไปประจำยังหับป๋าซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากที่รกร้างจนกลายเป็นเมืองป้อมปราการ เตรียมรับศึกจากซุนกวน แต่เกิดเหตุขึ้นสียก่อนเพราะม้าเฉียวและหันซุยแห่งเสเหลียงได้ก่อกบฏขึ้นที่แดนไท่หยวน ยกกองทัพใหญ่เข้ายึดเมืองเตียงอัน และเข้าประชิดด่านถงกวน

โจโฉตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ไปรับศึก และส่งโจหยินเป็นแม่ทัพหน้า เพื่อรับศึกยื้อกับม้าเฉียวไว้ รอจนกระทั่งทัพหลักตามไปถึง โจหยินยื้อสู้กับกองทัพหน้าของม้าเฉียวอย่างทรหด สร้างผลงานไว้พอสมควร จนกระทั่งทัพหลักของโจโฉตามไปสบทบได้

เมื่อเสร็จศึกถงกวน โจหยินก็ถูกโยกไปประจำการที่แนวรับทางเกงจิ๋ว เพื่อคอยป้องกันและระแวดระวังกวนอูซึ่งอยู่ที่กังเหลง

โจหยินประจำที่เกงจิ๋วเป็นเวลานานหลายปี และทำหน้าที่อย่างแข็งขัน คอยระแวดระวังภัยจากดินแดนนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ช่วงเวลาหลายปีนั้น แม้กวนอูอยากจะยกกองทัพรุกขึ้นเหนือ แต่ก็ยังไม่อาจทำได้

กระทั่งปี ค.ศ.219 หลังจากเล่าปี่ขึ้นสถาปนาตนเป็นฮั่นจงอ๋อง ณ เมืองฮั่นตง กวนอูเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะรุกขึ้นเหนือ ด้วยการอาศัยกระแสของเล่าปี่ช่วยหนุน ประกอบกับปีนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก แม้ว่าการสนับสนุนจากทางเสฉวนจะยังไม่พร้อม แต่กวนอูก็คงคิดว่าหากปล่อยโอกาสนี้ผ่านไปก็คงยากจะบุกได้อีก จึงตัดสินใจยกกองทัพใหญ่เข้าตีเซียงหยางทันที ซึ่งเหตุผลการบุกเหล่านี้แทบไม่ได้มีบันทึกในนิยายเลย แต่หากดูตามประวัติศาสตร์ช่วงนั้นแล้วคาดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

เมืองเซียงหยางและอ้วนเสียขณะนั้นประสบปัญหาจากภัยฤดูน้ำหลากอย่างมาก การตั้งรับจึงทำได้ยากยิ่ง แต่โจหยินก็อาศัยความอดทนในการตั้งรับการบุกของกวนอูอย่างสุดความสามารถ สุดท้ายแล้วก็ยังเสียเมืองเซียงหยางไป กระนั้นโจหยินก็พยายามยื้อสุดกำลังด้วยการตั้งรับภายในปารสาทอ้วนเสีย เพื่อรอให้ทัพหนุนของโจโฉส่งมาเสริม

โจโฉส่งกองทัพหนุนนับแสนของอิกิ๋มและบังเต๊กมาช่วย แต่ก็ถูกกวนอูปราบจนราบคาบ ชื่อเสียงของกวนอูระบือลือลั่น แต่โจหยินก็ยังคงยืนหยัดต้านทานไว้ และได้ซิหลงซึ่งเป็นทัพหนุนอีกสายเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์เอาไว้ ทำให้วงล้อมเมืองอ้วนเสียของกวนอูสลายลง ประกอบกับทางกวนอูได้รับข่าวร้ายว่าเมืองกังเหลงเสียให้แก่ลิบองที่แอบเข้ามาตลบหลัง จึงคิดถอนทัพลงใต้

เท่ากับว่าโจหยินสามารถยืนหยัดต้านทานการบุกของกวนอูไว้ได้ เป็นชัยชนะที่แม้จะทุลักทุเลและยากลำบาก แต่ก็ส่งผลให้ชื่อของโจหยินกลายเป็นชื่อของยอดขุนพลคนหนึ่งแห่งยุคสามก๊ก

ในบรรดาขุนพลทั้งหมดของโจโฉ โจหยินเป็นขุนพลที่ได้รับการยกย่องในแง่ของการตั้งรับด้วยความทรหดอดทนอย่างมาก จากผลงานสำคัญอย่างการต้านทานกวนอู ผสมผสานกับการใช้กลยุทธ์และค่ายกลเข้าช่วย แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีฝีมือการยุทธ์หรือความเชี่ยวชาญในการรุกมากนักก็ตาม

โจหยินอยู่ประจำการที่เกงจิ๋วเพื่อรับภาระคอยป้องกันแนวรบจากซุนกวนซึ่งเข้ามาครอบครองเกงจิ๋วใต้ต่อจากเล่าปี่ และทำหน้าที่ได้ดีเสมอมา

ปีค.ศ.220 หลังจากโจโฉสิ้นลง โจผีได้โค่นบังลังก์ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นวุยบุ๋นตี้ ก่อตั้งราชวงศ์วุยขึ้น โจหยินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นต้าเจียงจวิน (มหาขุนพล) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร แต่ก็เป็นได้ไม่นานและป่วยหนักจนเสียชีวิตลงในปีค.ศ.223 โจผีระลึกถึงความชอบของเขา พระราชทานตำแหน่งย้อนหลังเป็นพระยา (เฉินไหว)

ในนิยายไม่ปรากฏว่าทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา แต่ในประวัติศาสตร์มีการบันทึกว่าบุตรชายของเขาโจต้ายได้รับสืบทอดต่อมา

แม้ว่าความสามารถการทำศึกและฝีมือยุทธ์ของเขา จะไม่ได้สูงส่งมากหากเทียบกับเหล่าขุนพลชื่อดังในยุคนั้น หรือกระทั่งในทัพโจโฉเองก็ยังมีขุนพลที่มีความสามารถด้านการศึกสูงกว่าเขา เช่น เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ แต่เขากลับเป็นผู้ที่สามารถยืนหยัดต้านทานกับขุนพลชื่อก้องของยุคนั้นอย่างจิวยี่และกวนอูย่างสูสีมาแล้ว จุดนี้นับว่าเป็นการกล้าใช้คนของโจโฉซึ่งผลงานออกมาได้เกินคาดพอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น