วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ประวัติเล่าปี่ เหี้ยนเต๊ก ตอนที่2

ประวัติสามก๊ก ประวัติเล่าปี่ เหี้ยนเต๊ก ตอนที่2

เขาว่ากันว่าผู้มีบุญบารมีและมีชะตาที่จะเป็นใหญ่เหนือคน ต่อให้มีชีวิตที่ลำบากลำบนและแร้นแค้นแค่ไหน สุดท้ายก็จะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่นอยู่ดี ซึ่งคำนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีสำหรับเล่าปี่

เล่าปี่นั้นมีประสบการณ์สุดยอดในการพเนจรไปทั่วแผ่นดินจีน ซึ่งไม่มีผู้นำคนไหนในสามก๊กทำได้แบบเขาอีกแล้ว ชั่วชีวิตของเขาผ่านการลองผิดถูกมามาก ต้องเสียฐานที่มั่นที่เคยตั้งใจจะใช้ในการแย่งชิงแผ่นดิน ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการตามล่าของคนที่ร้ายกาจที่สุดในแผ่นดิน ซึ่งอันที่จริงหากเป็นคนอื่นที่ต้องเผชิญวิบากกรรมแบบเขา ป่านนี้คงจะท้อแท้ทอดอาลัยในการที่จะเข้าร่วมช่วงชิงแผ่นดินไปแล้ว

แต่เล่าปี่ยังคงสามารถกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการต่อสู้เพื่อเป็นใหญ่นี้ได้ และยังสามารถผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคที่อยู่เหนือเหล่ายอดคนนับหมื่นนับแสนได้อีก อันนี้ต้องขอซูฮกให้ความยอดเยี่ยมของเล่าปี่ที่ยังคงมุ่งมั่นจะต่อสู้และทำเป้าหมายของตนให้เป็นจริง

ทั้งที่ความสามารถของเขาเมื่อเทียบกับโจโฉแล้ว เรียกได้ว่ามีแค่ครึ่งเดียวหรือน้อยกว่านั้นซะด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นบุคคลที่โจโฉไม่อาจประมาทและยอมรับเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในชีวิต เหตุเพราะแม้เล่าปี่จะด้อยความสามารถในหลายด้าน แต่เขากลับมีคุณสมบัติที่สำคัญบางประการในฐานะผู้นำ ที่ทำให้อยู่เหนือผู้อื่นได้อย่างองอาจ



ประวัติโดยย่อ (ต่อ)

เขาว่าคนเราเมื่ออายุเข้าช่วง 50 ปี หากยังไม่อาจตั้งหลักได้ก็หมดโอกาสที่จะทำการใดๆได้อีกแล้ว หลักการนี้ยังเป็นสิ่งที่คนในปัจจุบันเองก็เชื่อกัน หากคุณจะสร้างกิจการที่เป็นของตนเอง ถ้าพ้น 50 ไป คุณยังไม่สามารถตั้งหลักได้ก็ถือว่ายากแล้ว และตอนที่เล่าปี่มาขอพึ่งพิงอยู่ที่เมืองเกงจิ๋วของเล่าเปียวนั้นเล่าปี่ก็มีอายุเกือบๆ 50 แล้ว

เล่าปี่ใช้ชีวิตที่เกงจิ๋วอย่างสงบสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึง 7 ปี และในช่วงนั้นเองที่โจโฉสามารถรวบรวมดินแดนภาคเหนือให้เป็นปึกแผ่นได้แล้ว ทำให้ชาวเกงจิ๋วต่างร้อนใจมากกว่าโจโฉจะยกทัพบุกลงใต้

เล่าปี่เคยเสนอให้เล่าเปียวตีตลบหลังโจโฉในช่วงที่โจโฉยังติดพันศึกกับอ้วนเสี้ยว แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกบอกปัดไป เขาจึงรู้ว่าเล่าเปียวผู้นี้ได้แต่หวังจะใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยอยู่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผิดกับความต้องการที่จะทำการใหญ่ของเขา ดังนั้นเล่าปี่จึงเริ่มต้นเสาะแสวงหาบุคลากรที่เก่งกาจเพื่อจะมาร่วมทำการใหญ่ด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นเองที่เขาได้พบกับสุมาเต๊กโชเข้า

สุมาเต๊กโชเป็นปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงที่ใช้ชีวิตปลีกวิเวกในป่าเขาของเกงจิ๋ว และได้แนะนำเล่าปี่ให้หานักปราชญ์มาร่วมงานและได้กล่าวว่า ฮกหลงฮองซู หากได้หนึ่งในสองคนนี้ไปจะได้ครองแผ่นดิน

เล่าปี่พยายามตามหาทั้งสองคนมาตลอดและได้ไปพบกับชีซีหรือตันฮกเข้า ชีซีนั้นเป็นนักปราชญ์ที่เก่งกาจคนหนึ่งในเกงจิ๋ว เขาประทับใจในตัวเล่าปี่จึงขอมารับใช้เล่าปี่และได้แสดงความสามารถในการวางแผนการศึกเอาชนะทัพของโจหยินที่บุกมาประชิดเมืองซินเอี๋ยได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ภายหลังเมื่อมีเหตุให้ชีซีต้องจากเล่าปี่ไป เขาก็ได้แนะนำให้เล่าปี่ไปหาฮกหลงหรืออาจารย์จูกัดเหลียงขงเบ้ง เพื่อนของเขาซึ่งเร้นกายอาศัยอยู่ที่เขาหลงจง

เล่าปี่เชื่อคำของชีซีจึงไปหาขงเบ้งแต่ก็ไม่พบตัว จึงต้องไปหาอีกถึงสามครั้งซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เยือนกระท่อมสามครา"

เกี่ยวกับการเยือนสามครั้งนี้ บางคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจของขงเบ้งหรือเปล่าที่ต้องการสร้างภาพของตัวเองให้ดูลึกลับเพื่อเป็นการดึงดูดให้เล่าปี่สนใจและอยากได้ตนไปร่วมงานมากขึ้น และเล่าปี่ซึ่งปกติจะรู้ทันคนอื่น ครั้งนี้ด้วยความที่อยากได้นักปราชญ์จึงเสียรู้ต่อขงเบ้ง

เล่าปี่เมื่อได้พบขงเบ้งในครั้งที่สาม ทั้งสองต่างเปิดอกพูดคุยกันถึงเรื่องแผนการที่จะยึดครองแผ่นดิน ในนิยายนั้นเล่าปี่บอกต่อขงเบ้งว่าตนต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น และคิดช่วยชาติ แต่มันก็แค่ข้ออ้างในการที่ตนจะเข้าร่วมชิงแผ่นดินอย่างชอบธรรมเท่านั้น เหมือนที่โจโฉอ้างตัวว่าทำไปเพื่อปกป้องโอรสสวรรค์ ซึ่งถ้ามาลองดูคำพูดที่ขงเบ้งได้บอกต่อเล่าปี่และตีความหมายดีๆล่ะก็เราจะรู้ได้ทันทีว่าขงเบ้งกำลังเสนอแผนการที่เล่าปี่จะทำการก่อตั้งราชวงศ์ของตนเองโดยใช้นโยบาย "ผูกมิตรผู้คน เมื่อใช้จนคุ้มค่าแล้วค่อยทรยศ"

การสนทนาครั้งนี้ถูกเรียกว่าการสนทนา ณ หลงจง อันเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการแบ่งแยกแผ่นดินเป็นสามที่ขงเบ้งเป็นผู้คิดและเล่าปี่กับกองกำลังของเขาเป็นผู้ผลักดัน

แผนการนั้นมีรายละเอียดว่า ขงเบ้งได้เสนอให้เล่าปี่ทำการยึดอำนาจการปกครองเกงจิ๋วมาจากเล่าเปียว โดยให้เหตุผลว่าเล่าเปียวเป็นคนไม่เอาไหน ไม่อาจจะดูแลเกงจิ๋วให้รอดไปได้ ซึ่งเรื่องที่ว่าเล่าเปียวเป็นคนไม่เอาไหนจริงรึเปล่านั้นเราไม่พูดถึง แต่อย่าลืมว่าเล่าเปียวนี่แหละคือผู้ที่ให้การอุปถัมภ์เล่าปี่และขงเบ้งในยามที่พวกเขาตกอับที่สุด แล้วพวกเขาทั้งคู่ยังพร้อมที่จะหักหลังได้อย่างหน้าตาเฉย

ขงเบ้งเสนอต่อไปว่า เมื่อยึดเกงจิ๋วได้ ต่อไปก็ให้ผูกพันธมิตรกับซุนกวนทางตอนใต้ เพื่อต้านโจโฉ แล้วจากนั้นจึงค่อยใช้ทหารเกงจิ๋วเป็นฐานกำลังในการเข้าตีเสฉวนทางภาคตะวันตกเพื่อยึดเอาเป็นดินแดนปกครองของตนเอง

จากนั้นก็สร้างกำลังให้แข็งแกร่ง แล้วส่งแม่ทัพที่เก่งกาจนำกำลังบุกจากทางเกงจิ๋ว ส่วนเล่าปี่ก็นำกำลังทหารจากเสฉวนบุกขึ้นเหนือ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถพิชิตโจโฉและรวมแผ่นดินภาคกลางและเหนือไว้ได้

สำหรับพันธมิตรกับซุนกวนนั้น เนื่องจากว่าแผ่นดินเดียวมีฮ่องเต้สององค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสวรรค์แล้วว่าสุดท้ายใครจะเป็นฝ่ายมีชัย

จากการแผนการที่ขงเบ้งเสนอมานั้น เล่าปี่ได้ปฏิเสธกรณียึดเกงจิ๋วแบบแกนๆ ด้วยเหตุว่าเล่าเปียวกับตนนั้น ต่างก็เป็นคนแซ่เล่าเหมือนกัน ดังนั้นมันจะน่าเกลียดในการไปยึดเอาเมืองของเขามา แต่ว่าขงเบ้งนั้นได้พูดกล่อมจนเล่าปี่ยอมรับแผนนี้

แต่นั่นเป็นในฉบับนิยาย สำหรับฉบับประวัติศาสตร์ที่เฉินโซ่วบันทึกนั้น เล่าปี่ไม่ได้โต้แย้งและเห็นดีด้วยกับแผนนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข

คำพูดประโยคหนึ่งในแผนการนี้ที่ขงเบ้งเสนอต่อเล่าปี่ที่เมื่อผมอ่านสามก๊กครั้งแรกไม่ได้ใส่ใจ แต่พอมาอ่านรอบสองแล้วทำให้ผมเริ่มตั้งข้อสงสัย นั่นคือหลังจากอธิบายรายละเอียดของแผนการแบ่งแผ่นดินเป็นสามแล้ว ขงเบ้งได้พูดประโยคสุดท้ายไว้ว่า "เมื่อถึงเวลานั้นเป็นอันแน่ใจได้ว่า จะหาผู้ใดขัดขืนไม่มายืนคอยต้อนรับพร้อมกับสุราอาหารเป็นบรรณาการแก่ท่านนั้นไม่มี ด้วยประการฉะนี้ท่านก็มีหวังได้แผ่นดินจีนมาไว้ในกำมือ เป็นผู้ถือครองความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ฮั่นสืบไป"

นี่คือคำพูดประโยคสุดท้ายของขงเบ้งในแผนการ ซึ่งมีแปลไว้ชัดเจนในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน มันเป็นคำพูดชี้ให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจส่วนลึกของเล่าปี่แล้วขงเบ้งนำมาพูดบอกได้ชัดเจนที่สุด ว่าเล่าปี่ต้องการจะประกาศตนเป็นฮ่องเต้ในตอนสุดท้าย

เล่าปี่เมื่อรับแผนนโยบายของขงเบ้งมาแล้วก็นำเอาขงเบ้งลงจากเขาและให้เป็นเสนาธิการทหาร มีหน้าที่ควบคุมดูแลการฝึกทหารในกองทัพ

แต่ยังไม่ทันที่จะได้ทำอะไรมาก โจโฉก็สั่งนำทัพบุกลงใต้ โดยให้แฮหัวตุ้นเป็นทัพหน้า บุกมาที่ทุ่งพกป๋อง ขงเบ้งจึงได้แสดงความสามารถในการวางแผนการรบเอาชัยต่อทัพของแฮหัวตุ้นได้ จนเมื่อโจโฉยกทัพลงมาเองหลายแสนคน เล่าปี่จึงต้องระเห็จหนีตายอีกครั้ง

เดิมทีเมืองเกงจิ๋วนั้นเล่าเปียวลังเลว่าจะให้ใครเป็นผู้สืบทอดดีระหว่างเล่ากี๋และเล่าจ๋อง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วเล่ากี๋บุตรคนโตและมีความสามารถมากกว่าต้องได้ไป แต่เล่าเปียวรักลูกคนเล็กมากกว่าจึงลังเล ชัวฮูหยินแม่ของเล่าจ๋องจึงคิดวางแผนร้ายต่อเล่ากี่ ซึ่งเล่ากี๋นั้นได้ไปปรึกษากับขงเบ้งถึงหนทางแก้ไข ขงเบ้งก็แนะนำให้หนีไปตั้งหลักอยู่ที่แฮเค้าซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่มีกำลังทหารพอสมควร

เคยคิดไหมว่าทำไมขงเบ้งจึงแนะนำเล่ากี๋แบบนั้น ตอนแรกผมเคยคิดว่าเพราะมีเจตนาดี แต่ถ้าเราลองมานึกในแบบเกมการเมืองว่าขงเบ้งกำลังดำเนินการตามแผนการที่จะให้เล่าปี่ได้เมืองเกงจิ๋วล่ะก็ จะมองออกทันทีว่าขงเบ้งต้องการกันเล่ากี๋ออกไปจากส่วนกลาง และเล่าเปียวซึ่งตอนนั้นล้มป่วยลงและอาจจะตายได้ทุกเมื่อจากไปแล้ว เล่าปี่ก็สามารถที่จะทำการยึดอำนาจการปกครองเมืองเกงจิ๋วมาได้ โดยที่เล่ากี๋ไม่อาจทำอะไรได้เพราะหลุดออกไปภายนอกแล้ว

และจากนั้นในภายหลังมีข่าวลือว่าก่อนที่เล่าเปียวจะป่วยตาย เขาได้ตัดสินใจยกให้เล่าปี่เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วแทนเสียด้วย

แต่ชัวมอน้องของชัวฮูหยินภรรยาของเล่าเปียวทำการยึดอำนาจได้เสียก่อน ประกอบกับโจโฉนำกองทัพบุกลงใต้มาพอดี แผนการจึงเสียไปและเล่าปี่จึงต้องหนีตายออกมาและอพยพผู้คนตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเล่าปี่นั้นเป็นที่ดึงดูดใจของผู้คนจริงๆ

แน่นอนว่าขบวนของเล่าปี่ที่มีชาวบ้านจำนวนมากตามมาย่อมไม่อาจหนีรอดจากกองทัพทหารม้าอันรวดเร็วของโจโฉได้ ขงเบ้งซึ่งคาดการณ์ไว้จึงให้กวนอูนำประชาชนจำนวนหนึ่งหนีไปทางเรือก่อน ส่วนตนเดินทางไปที่แฮเค้าเพื่อไปขอยืนกำลังทหารจากเล่ากี๋ ซึ่งนับว่าแผนการที่ขงเบ้งให้เล่ากี๋ไปตั้งหลักที่แฮเค้านอกจากจะหวังผลทางการเมืองแล้ว ยังอาจเผื่อไว้ในกรณีที่จะเกิดเรื่องแบบนี้ด้วย ถือว่าขงเบ้งอ่านเกมได้ดีและเตรียมการไว้ล่วงหน้าไม่เลว

เล่าปี่ เตียวหุย จูล่ง ต้องนำทหารและประชาชนจำนวนมากหนีการตามล่าซึ่งในที่สุดก็ถูกทัพของโจโฉไล่ทัน และได้เข่นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมาก ตัวเล่าปี่หนีรอดมาได้แต่ลูกและภรรยาได้หายไประหว่างทาง ยังดีที่จูล่งพากลับมาได้จนเกิดเป็นวีรกรรมจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า

เตียวหุยได้ทำลายสะพานที่เนินเตียงปันทิ้งเพื่อสกัดการตามล่าจากทัพของโจโฉ ประกอบกับทัพของกวนอูและขงเบ้งตามมาสมทบพอดี เล่าปี่จึงรอตายมาได้อย่างหวุดหวิด

รอดมาได้เล่าปี่ก็ไปตั้งหลักที่แฮเค้าโดยได้รับการสนับสนุนด้านกำลังทหารจากเล่ากี๋ และด้วยคำแนะนำของขงเบ้งเขาจึงตัดสินใจผูกมิตรกับซุนกวนผู้เป็นเจ้าแห่งกังตั๋งตามแผนการที่เคยวางไว้

สรุปละกันเพราะเล่าปี่ไม่มีบทเลยตอนนี้ว่า ขงเบ้งสามารถผูกพันธมิตรเล่าซุนในการต่อสู้กับโจโฉได้และในศึกเซ็กเพ็กจิวยี่แม่ทัพใหญ่แห่งกังตั๋งผู้เป็นแม่ทัพเรืออันดับหนึ่งแห่งยุคก็สามารถนำทัพพันธมิตรที่มีจำนวนน้อยกว่ามากของทัพหลายแสนของโจโฉได้สำเร็จ

ทัพของโจโฉถอนกำลังออกจากดินแดนเกงจิ๋วและกลับขึ้นเหนือ เล่าปี่จึงฉวยโอกาสนั้นดอดเข้ายึดหัวเมืองเกงจิ๋วทางตอนล่างไว้ได้หมดโดยอาศัยกวนอู เตียวหุย จูล่งเป็นกำลังหลักและในคราวนี้ก็ได้แม่ทัพฝีมือดีอย่างฮองตง อุยเอี๋ยนมาเข้าพวกอีกด้วย

เล่าปี่ที่ได้เกงจิ๋วเป็นฐานกำลังทำให้สามารถตั้งหลักได้เป็นครั้งแรก แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับโจโฉ และเมืองเกงจิ๋วนั้นยังไม่ใช่ฐานกำลังของเล่าปี่โดยแท้จริง เพราะต้องทำสัญญาขอยืมเมืองเหล่านี้จากทางซุนกวนจนกว่าเล่าปี่จะสามารถเข้ายึดเสฉวนทางตะวันตกได้ เนื่องจากการที่เล่าปี่สามารถยึดเกงจิ๋วได้นั้นเกิดจากการออกแรงของจิวยี่และกองทัพกังตั๋ง เล่าปี่เป็นผู้ที่ฉวยโอกาส ซึ่งทางฝ่ายซุนกวนก็เรียกร้องขอหัวเมืองเกงจิ๋ว เพราะเกงจิ๋วถือเป็นประตูลงสู่ภาคใต้ ซึ่งมีผลต่อความอยู่รอดในอนาคตของฝ่ายซุนกวนมาก ส่วนเสฉวนนั้นถ้าเล่าปี่จะเอาตนก็จะไม่ยุ่ง นี่คือสัญญาที่ทางฝั่งซุนกวนเสนอมา ซึ่งขงเบ้งได้เตะถ่วงว่าขอให้เล่าปี่สามารถยึดเสฉวนได้ก่อนแล้วจะคืนเกงจิ๋วให้ โดยสัญญานี้โลซกที่ปรึกษาเอกของซุนกวนได้ตกลงที่จะเป็นผู้รับประกันให้

แน่นอนว่าเล่าปี่เองก็ไม่อยากจะคืนเกงจิ๋วให้ เพราะเมืองนี้มีความสำคัญในแง่ของยุทธ์ศาสตร์มาก หากภายหลังเล่าปี่ได้เสฉวนมาแล้วเสียที่นี่ไป ก็ไม่มีปราการที่จะเป็นกันชนระหว่างก๊กตนกับก๊กของซุนกวน

อย่างไรก็ตามการยึดเสฉวนถือเป็นนโยบายที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่เอาที่นี่ในอนาคตเล่าปี่ก็จะไร้ซึ่งฐานกำลังและนั่นเท่ากับนับวันรอความพินาศ ซึ่งเสฉวนในตอนนั้นอยู่ในการปกครองของเล่าเจี้ยง ซึ่งเป็นคนโลเลไม่เด็ดขาด

ตอนนั้นเตียวลู่เจ้าเมืองฮั่นจงได้นำกองทัพจะเข้าตีเสฉวน เล่าเจี้ยงเป็นคนอ่อนแอก็กลัวไม่กล้าสู้ศึกทั้งที่เสฉวนมีศักยภาพที่จะสู้และภูมิประเทศก็ยอดเยี่ยมในการที่จะตั้งรับ เล่าปี่จึงฉวยโอกาสนั้นทำทีว่าจะเข้าไปช่วยเล่าเจี้ยงสู้ศึกกับเตียวลู่

จะเห็นได้ว่าการทำตัวเป็นฮีโร่เข้าไปช่วยเหลือคนโน้นคนนี้และค่อยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่มากกว่าในภายหลัง เป็นของถนัดของเล่าปี่มาตั้งแต่สมัยที่ไปช่วยโตเกี๋ยมเจ้าเมืองชีจิ๋วโน่นแล้ว ดั่งคำที่ว่าเพื่อเป้าหมายไม่เลือกวิธีการ ซึ่งเล่าปี่ยึดถือเป็นหลักอย่างที่สองรองจากหลักการยึดมั่นในคุณธรรม แม้ว่าสองสิ่งนี้จะขัดแย้งกัน แต่เล่าปี่กลับนำมาใช้รวมกันได้ในรูปแบบของตนเอง

ก่อนหน้าที่จะเข้าเสฉวน ข้าราชการคนหนึ่งของเสฉวนที่ชื่อเตียวสงได้คิดขายชาติตนด้วยการทำแผนที่เมืองเสฉวนเพื่อจะไปเสนอต่อโจโฉ แต่เนื่องจากหน้าตาอัปลักษณ์จึงถูกโจโฉตะเพิดกลับมา เตียวสงจึงไปหาเล่าปี่แทน

อยู่ดีๆโอกาสก็มาถึง เล่าปี่จึงต้อนรับเตียวสงอย่างดีเป็นเวลาสามวันโดยไม่พูดถึงเรื่องของเมืองเสฉวนสักนิด จนเมื่อเตียวสงจะกลับไปจึงตัดสินใจมอบแผนที่เมืองเสฉวนให้ และบอกว่าจะกลับไปเกลี้ยกล่อมคนในเสฉวนเพื่อช่วยประสานงานให้เมื่อเล่าปี่จะเข้าเสฉวน

คนขายชาติอย่างเตียวสงควรค่าแก่การต้อนรับอย่างดีดุจเทวดาหรือ โจโฉโดนด่าว่าไม่เห็นค่าของคนที่ไปผลักไสเตียวสง ในขณะที่เล่าปี่ได้รับการยกย่องเพราะลี้ยงดูอย่างดีจนได้แผนที่มาสมใจ

ถ้าเตียวสงไม่ได้นำแผนที่เสฉวนมาด้วย มีหรือเล่าปี่จะเห็นความสำคัญขนาดนั้น บอกเลยว่าไม่มีทาง ที่ทำไปมันคือการเสแสร้งเพื่อจะทำให้เตียวสงซึ้งใจ จนยอมที่จะร่วมมือเป็นไส้ศึกให้เท่านั้นเอง

เนื้อเรื่องในช่วงการเข้ายึดเสฉวนของเล่าปี่คือส่วนที่เมื่อผมอ่านรอบสองแล้วรู้สึกรังเกียจเล่าปี่ขึ้นมาทันใด ภาพของผู้มีคุณธรรมได้พินาศไปทันที และพลันเข้าใจถึงความจริงที่ว่าผู้ยิ่งใหญ่และผู้นำที่อ้างตัวว่ามีคุณธรรมเกือบทุกคน ในที่สุดก็ล้วนแต่กระทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่สนวิธีการ

การตีเมืองยึดดินแดนผู้อื่นมีวิธีการมากมาย ไม่ว่าจะนำทัพเข้าประจัน หรือใช้แผนการทำให้ยอมจำนน แต่การหลอกว่าจะไปช่วยเมืองเขาแล้วมายึดซะเองในภายหลังนั้น ไม่มีใครเกินหน้าเล่าปี่แล้ว

อันที่จริงแล้วหากนิยายสามก๊กไม่ได้ยกย่องเชิดชูเล่าปี่จนเลิศเลอ เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย และเป็นแค่กลยุทธ์หนึ่งของเล่าปี่เท่านั้น โดยที่เขาไม่ได้ทำผิดหลักคุณธรรมอะไร เพราะตนเพียงแค่ทำไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุดและเหนื่อยน้อยที่สุด ดั่งคำที่มีในพิชัยสงครามซุนหวู่ว่า การรบโดยที่ไม่ต้องใช้ทหารหรือใช้ทหารให้น้อยที่สุดแต่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ นับเป็นวิธีการชั้นเยี่ยม แผนการต่างๆของเล่าปี่เองก็เข้าหลักการนี้ ดังนั้นเมื่อมองจากมุมนี้ จะด่าว่าเล่าปี่ว่าผิดต่อคุณธรรมก็คงว่าไม่ได้เต็มปากนัก ในเมื่อมันเข้ากับหลักพิชัยสงครามข้อที่เน้นให้ใช้ทหารน้อยที่สุด แม้ว่าอาจจะผิดหลักคุณธรรมไปก็ตาม แต่สงครามมันก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักธรรมมาแต่แรกอยู่แล้ว

เล่าปี่นำเอาฮองตง อุยเอี๋ยน และบังทองเสนาธิการคนใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนรักของขงเบ้งที่มีฉายาว่าฮองซูไปทำศึกด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่ได้แสดงฝีมือ

เล่าปี่สามารถไล่ทัพของเตียวลู่ไปได้ และเมื่อเล่าปี่จะนำทัพเข้าสฉวนนั้น เล่าเจี้ยงก็ถูกคัดค้านจากขุนนางหลายคนในเสฉวนว่าอย่าเชิญเล่าปี่เข้ามา เพราะจะกลับเป็นภัยในภายหลัง แต่เล่าเจี้ยงนั้นว่าเล่าปี่กับเราถือเป็นพี่น้องกันคงจะไม่เป็นไร ซึ่งผลสุดท้ายเล่าปี่ผู้พี่ทำกับเล่าเจี้ยงผู้น้องยังไงคนอ่านสามก๊กทุกคนคงจะรู้กันดี

ในหนังสามก๊กตอนที่เล่าเจี้ยงออกมานอกเมืองเพื่อยอมจำนวนและยกเมืองเสฉวนให้เล่าปี่นั้น เล่าปี่ได้พูดประโยคหนึ่งที่ผมฟังแล้วรับไม่ได้อย่างมากที่ว่า "ไม่ได้อยาก แต่ต้องจำใจทำ"

ก่อนที่บังทองจะถูกยิงตายที่เนินหงส์ร่วงในระหว่างการนำทัพเขายึดเสฉวนนั้น เล่าปี่ได้จัดฉลองชัยชนะที่มีต่อทัพของเล่าเจี้ยงและดื่มจนเมามาย ซึ่งบังทองนั้นได้พูดแขวะเล่าปี่ว่า "ยึดเมืองผู้อื่นได้ด้วยเล่ห์แล้วยังมาทำดีใจแบบนี้อีกหรือ"

คำพูดนี้จี้ใจดำของเล่าปี่อย่างแรงจนเล่าปี่ถึงกับตวาดไล่บังทองออกไป แต่ภายหลังทั้งสองฝ่ายก็ปรับความเข้าใจกันใหม่

หลังจากนั้นเล่าปี่ก็ยกทัพบุกตีเมืองลั่วซึ่งมีเตียวหยิมแม่ทัพของเล่าเจี้ยงคอยเฝ้ารักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง บังทองอาสาว่าจะขอเป็นคนบัญชาการตีเมืองให้แตกให้ได้ เล่าปี่จึงมอบม้าเต๊กเลาซึ่งเป็นม้าประจำตัวให้ขี่

ในระหว่างการเข้าตีเมืองบังทองได้กระทำในสิ่งที่เป็นสิ่งต้องห้ามในฐานะเสนาธิการทหารนั่นคือขี่ม้าบัญชาการบุกตีเมืองซึ่งๆหน้า โดยขี่ม้าตระหง่านอยู่กลางกองทัพที่จะเข้าตี จึงถูกธนูลูกหลงยิงเข้าใส่และเสียชีวิตลง

เล่าปี่เสียใจกับการตายของบังทองมากนึกถึงครั้งใดก็ร้องไห้ และปูนยศย้อนหลังให้บังทองเป็นจิ้งเหา(พระยาสันติ)

แม้จะเสียบังทองไป แต่เล่าปี่ก็ยกทัพเข้าตีเมืองลั่วต่อจนสามารถยึดได้สำเร็จ และจับเตียวหยิม แม่ทัพที่เก่งที่สุดของเสฉวนไว้ได้ เล่าปี่เกลี้ยกล่อมให้เตียวหยิมยอมสวามิภักดิ์ แต่เตียวหยิมบอกว่าเสฉวนไม่มีแม่ทัพที่มีสองนาย มีแต่แม่ทัพหัวขาด เล่าปี่จึงสั่งประหารเตียวหยิม แต่ก็ยกย่องในความภักดีของเขาต่อบ้านเมืองของตน ภายหลังจึงสร้างป้ายยกย่องเตียวหยิมและจารึกว่า แม่ทัพแห่งเสฉวนเอาไว้

ทัพของเล่าปี่เข้าใกล้นครเฉิงตู เมืองหลวงของเสฉวนมากขึ้นทุกที ระหว่างนั้นเล่าปี่ก็ได้ยอดนักรบแห่งยุคอย่างม้าเฉียวมาอยู่ด้วย ม้าเฉียวนั้นเป็นลูกชายคนรองของม้าเท้ง และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยอดนักรบอันดับหนึ่งของเสเหลียง แต่ได้พ่ายศึกต่อโจโฉ จึงต้องหนีมาขอพึ่งพิงกับเตียวลู่ แต่โดนกลั่นแกล้งจึงต้องหนีมาสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ และได้ทำประโยชน์ต่อเล่าปี่ในการเข้ายึดเมืองเสฉวนพอสมควร

กองทัพของเล่าปี่เข้าล้อมนครเฉิงตูไว้ และส่งกันหยงไปเป็นทูตเพื่อเจรจาให้เล่าเจี้ยงยอมแพ้ เล่าเจี้ยงจึงตัดสินใจยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่

เมื่อยึดเสฉวนได้แล้ว เล่าปี่ก็ทำการจัดระเบียบในเสฉวนเสียใหม่โดยการร่างกฎหมายใหม่ขึ้น มีขงเบ้งเป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมกับเหล่าขุนนางใหญ่ของเสฉวนที่ยอมสวามิภักดิ์ ประกอบด้วย ลิเงียม เคาเจ้ง เล่าปา ตังคับ

เล่าปี่คิดจะนำที่ดินภายในเสฉวนมอบให้เหล่าขุนนางและพรรคพวกตนได้ไปแบ่งกัน แต่จูล่งทัดทานไว้ด้วยให้เหตุผลว่าที่เหล่านั้นเป็นของประชาชน ตอนนี้ไฟสงครามทำให้ผู้คนลำบากกันมาก ไม่สมควรที่เหล่าข้าราชการและขุนนางจะนำเอาที่ดินและเงินทองมาเป็นของตนเอง ควรแบ่งให้ประชาชนมากกว่า เล่าปี่จึงยอมทำตาม

ในตอนนั้นเตียวลู่เจ้าเมืองฮั่นจงรบแพ้ทัพของโจโฉ และฮั่นจงก็กลายเป็นของโจโฉไป ขงเบ้งแนะนำว่าเล่าปี่ควรจะยึดเอาฮั่นจงมา เพราะเมืองนี้จะมีความสำคัญมากในอนาคตในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์บัญชาการทหารสำหรับป้องกันทางภาคเหนือ

เล่าปี่ส่งเตียวหุย ฮองตงและเงียมหงันไปรบกับโจหองและเตียวคับที่รักษาทุ่งฮันซุย และสามารถเอาชัยมาได้ จากนั้นก็ส่งฮองตงและจูล่งไปปะทะกับแฮหัวเอี๋ยนที่รักษาฮั่นจงโดยมีหวดเจ้งเป็นเสนาธิการให้นำกองทัพเข้ายึดเมืองฮั่นจง ซึ่งฮองตงก็ได้อาศัยแผนการของหวดเจ้งสามารถสังหารแฮหัวเอี๋ยนยึดเอาฮั่นจงมาได้ โจโฉแค้นมากจึงนำทัพลงมาหมายแก้แค้นแทนแฮหัวเอี๋ยนและใช้แผนการศึกล้อมกรอบฮองตงจนเกือบเสียท่า แต่จูล่งตีฝ่าวงล้อมไปช่วยออกมาได้ โจโฉจึงสั่งกองทัพติดตาม แต่จูล่งใช้แผนเปิดประตูค่ายหลอกล่อทัพของโจโฉจนไม่กล้ารุก เมื่อโจโฉคิดจะถอยทัพจูล่งก็นำทัพเข้าตีจนทัพของโจโฉแตกพ่ายไป เขาจึงส่งซิหลงให้ยกทัพมาหมายจะเอาคืน แต่ก็พ่ายแพ้ต่อจูล่งและฮองตงอีก

การศึกที่ฮั่นจงเริ่มหนักหน่วงขึ้น แม้ว่าฝ่ายเล่าปี่จะได้เปรียบและชนะมาตลอดที่ส่งทหารเอกออกศึกครั้งนี้ แต่เล่าปี่ก็ไม่ประมาท เพราะตอนนี้โจโฉยกทัพใหญ่มาเอง เขาจึงรีบนำทัพหนุนขึ้นมาด้วยตนเอง และให้ขงเบ้งอยู่เฝ้าที่เสฉวน

กองทัพใหญ่ของเล่าปี่สามารถยื้อกับกองทัพใหญ่นับแสนที่โจโฉนำมาเองได้อย่างทัดเทียม จนโจโฉต้องตัดสินใจถอยกลับเพราะเสบียงเริ่มขาดแคลน เท่ากับว่านี่เป็นศึกใหญ่ครั้งแรกที่เล่าปี่สามารถเอาชนะต่อโจโฉและสามารถยึดดินแดนของโจโฉมาได้อย่างเด็ดขาด เป็นการประกาศบารมีของเขาให้สะท้านไปทั่วแผ่นดิน

ในศึกนี้มีเรื่องน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือระหว่างที่เล่าปี่นำทัพยันกับโจโฉนั้น เขาได้ส่งหนังสือไปที่เสฉวนให้ขงเบ้งส่งกำลังทหารขึ้นมาช่วย ซึ่งขงเบ้งประเมินอยู่ว่าจะส่งไปดีไหม แต่เมื่อที่ปรึกษามาบอกว่ารักษาฮั่นจงไว้ไม่ได้ อีกหน่อยทางเสฉวนก็จะลำบาก ขงเบ้งจึงยอมส่งไป

เล่าปี่เป็นเจ้านายของขงเบ้ง เมื่อขอให้ส่งกำลังทหารมาช่วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามขงเบ้งต้องส่งทหารไปตามคำสั่ง แต่นี่กลับลังเลราวกับมีพิรุธอะไรบางอย่าง ซึ่งมันผิดวิสัยของขุนนางที่จงรักภักดีอย่างที่ขงเบ้งได้บอกต่อเล่าเสี้ยน ลูกชายของเล่าปี่ในภายหลัง

เล่าปี่ยึดฮั่นจงได้สำเร็จ และด้วยความสนับสนุนของเหล่าขุนนางและนายทหาร เขาจึงตัดสินใจตั้งตนเองเป็นฮั่นจงอ๋องในค.ศ.219 เดือน 5 เมื่ออายุได้ 59 ปี ตั้งให้หวดเจ้งเป็นราชเลขาธิการควบตำแหน่งสมุหนายก กวนอูได้เป็นขุนพลหน้า เตียวหุยเป็นขุนพลขวา ฮองตงเป็นขุนพลหลัง ม้าเฉียวเป็นขุนพลซ้าย ส่วนจูล่งนั้นได้ยศขุนพลกองรถตั้งแต่ตอนที่เล่าปี่ยึดเมืองเสฉวน ซึ่งก็ไม่ได้ยศเพิ่ม แต่ทั้งห้าคนนั้นถูกยกย่องให้เรียกรวมเป็นนายพลห้าทหารเสือ ส่วนขงเบ้งยังคงเป็นแค่ทหารเสนาธิการยศนายพล ตำแหน่งยังน้อยกว่าหวดเจ้งเสียอีก แสดงว่าตอนนั้นหวดเจ้งคือคนโปรดของเล่าปี่ตัวจริงในประวัติศาสตร์ และอาจเพราะหวดเจ้งได้เครดิตในแง่ที่เป็นคนช่วยให้เล่าปี่ได้เสฉวนมาเป็นฐานที่มั่นอีกด้วย

เล่าปี่ตั้งให้อุยเอี๋ยนซึ่งเป็นนายพลคนที่หกของก๊กเป็นคนดูแลเมืองฮั่นจง เตียวหุยดูแลเมืองปาซี ส่วนจูล่ง ฮองตง ม้าเฉียวนั้นอยู่ประจำที่เสฉวน ในขณะที่กวนอูนั้นรับดูแลทางเกงจิ๋วอยู่แล้ว

เกี่ยวกับการตั้งอุยเอี๋ยนนั้น ถือเป็นเรื่องพลิกโผมาก เพราะฮั่นจงเป็นจุดยุทธ์ศาสตร์สำคัญที่จะต้านการรุกจากวุยก๊กของโจโฉทางตอนเหนือ แม่ทัพที่ดูแลที่นี่นอกจากจะต้องเชี่ยวชาญการรบแล้ว ยังต้องมีความสุขุมเยือกเย็น เดิมทีตำแหน่งนี้ใครๆคาดว่าเตียวหุยในฐานะอนุชาต้องได้ แม้คุณสมบัติเรื่องความสุขุมจะตกไป แต่นอกจากกวนอูแล้วเตียวหุยก็คือคนที่ใหญ่เป็นอันดับสามในก๊ก และในการศึกยึดเสฉวนและการศึกฮั่นจง เตียวหุยก็สร้างผลงานการรบไว้ดีมากและแสดงให้เห็นว่าเชี่ยวชาญกลศึกด้วยการใช้กลยุทธ์จับเงียมหงันทำให้สามารถยึดหัวเมืองเสฉวนได้เร็วกว่าคนอื่น และใช้กลลวงรบชนะเตียวคับ แม่ทัพของวุยที่เก่งกาจในกลศึกมาแล้ว

แต่สุดท้ายเล่าปี่กลับไปเลือกอุยเอี๋ยนซึ่งเป็นนายพลที่มียศต่ำสุดจากทั้งหกคนให้ดูแลที่นี่ และปรากฏว่าชั่วชีวิตของอุยเอี๋ยน ฮั่นจงสามารถอยู่รอดปลอดภัยมาโดยตลอด อันนี้ต้องยกให้ความสามารถในการกล้าเลือกใช้คนของเล่าปี่ที่ความสามารถด้านนี้พอๆกับโจโฉ ซุนกวนและเหนือกว่าขงเบ้งเสียอีก

เกี่ยวกับแนวทางในการใช้คนของเล่าปี่นั้น นับว่าเป็นด้านสุดขั้วกับโจโฉอย่างสิ้นเชิง นโยบายของโจโฉคือ เน้นที่ความสามารถ ไม่สนชาติตระกูล เรียกง่ายๆว่าเน้นพระเดช มีจุดเด่นที่ระบบการให้รางวัลการลงโทษชัดเจน และพร้อมจะเลื่อนตำแหน่งใหสูงขึ้นหรือแย่ลงตามผลงานที่ปรากฏ ส่วนของเล่าปี่คือ เน้นที่พระคุณเป็นหลัก กล่าวคือจะมอบตำแหน่งให้แก่ผู้ที่สร้างผลงานหรือมีความสนิทสนมและทำประโยชน์ให้ เรื่องของความสามารถนั้นจะถูกจัดให้เป็นเรื่องรอง เรียกว่ามีความผ่อนปรนมากกว่า ไม่ได้เคร่งขัดจนสายป่านตึงแบบโจโฉ

ของโจโฉนั้นผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่างๆต้องมีความสามารถหรือรอบรู้ในด้านนั้นอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะค่อยๆให้โอกาสผู้ที่ดูแล้วมีแววได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา ตรงนี้ของเล่าปี่ยังไม่เด่นชัดนัก เพราะคนเก่งที่ไต่เต้ามาจากจากทหารระดับล่างของเล่าปี่นั้น มีไม่ชัดเจนเท่าของโจโฉ แต่ระบบของเล่าปี่เองก็มีข้อดีของมันอยู่

ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ชอบผู้ปกครองที่จิตใจดี เห็นใจผู้อื่น และไม่เข้มงวดเกินไป การทำงานภายใต้ความกดดันที่จะต้องทำเรื่องต่างๆให้ดีนั้น มันก็นับว่าเป็นวิธีที่ไม่เลว แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลเสมอ ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับตัวโจโฉ แต่มันไม่เหมาะกับเล่าปี่ ดังนั้นแนวทางการใช้งานคนของเขาจึงมีสายป่านที่ยานกว่าของโจโฉ นั่นทำให้ผู้คนมากมายรักใคร่ในตัวเขา แต่มันก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน เพราะทำให้คนในตำแหน่งสูงๆของเล่าปี่ มีคนที่ไม่ได้มีความสามารถแท้จริงมากเกินไป ซึ่งผลตรงนี้ไปส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเอาตอนสมัยที่ขงเบ้งกุมอำนาจบริหาร ที่จ๊กก๊กขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และนั่นก็เพราะแนวทางการใช้คนของขงเบ้งเองก็มีส่วนด้วย เนื่องจากแนวทางของขงเบ้งนั้นคัดคนเข้มงวดกว่าของโจโฉเสียอีก

แต่แม้ว่าเล่าปี่จะใช้แนวทางนี้ เขาก็ยังไม่ละเลยการนำเอาคนเก่งจริงๆมาใช้งาน ดังนั้นคนมีความสามารถ แม้จะตำแหน่งหรือชาติตระกูลต่ำต้อย ก็พร้อมจะก้าวกระโดดขึ้นมารับงานใหญ่ได้ เช่นอุยเอี๋ยนซึ่งพื้นเพมาจากทหารชั้นผู้น้อย ก็ถูกดันขึ้นมารับงานใหญ่ด้วยการเป็นผู้ดูแลเมืองฮั่นจงทันที เพราะเล่าปี่เห็นว่าอุยเอี๋ยนมีความหนักแน่น มั่นคงในหน้าที่และเชี่ยวชาญในกลอุบายพิสดาร เมืองฮั่นจงมีผาสูงซับซ้อนมาก เหมาะแก่การใช้อุบายในการตั้งรับและการดักซุ่มโจมตีแบบกองโจร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อุยเอี๋ยนถนัดอย่างยิ่ง ดังนั้นเล่าปี่จึงเลือกใช้เขาโดยไม่สนใจว่าเขาเป็นนายพลที่มียศต่ำสุดในบรรดานายพลทั้งหมดหกคน

กลับมาที่เรื่องราวของเล่าปี่ต่อ ในปีค.ศ.219 หลังจากเล่าปี่ประกาศตนเป็นฮั่นจงอ๋องแล้ว จากนั้นเรื่องใหญ่ก็เกิดขึ้นในเดือน 10 เมื่อกวนอูยกทัพขึ้นไปรบกับวุย แต่กลับถูกฝ่ายง่อที่ผิดใจกับกวนอูในช่วงนั้นลอบเข้าตลบหลัง โดยทางฝ่ายซุนกวนได้ใช้ลิบองให้ทำการเข้ายึดเมืองเกงจิ๋วตอนที่กวนอูยกทัพขึ้นเหนือ ลิบองได้ใช้แผนการเข้ายึดเกงจิ๋วและสามารถวางแผนจับตัวกวนอูได้ และกวนอูก็ถูกประหาร เล่าปี่แค้นมากคิดจะยกทัพไปแก้แค้น แต่ขงเบ้งและเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ต่างทัดทานไว้ เล่าปี่จึงชะลอไว้ก่อน

งการตายของกวนอูนั้นมีการซัดทอดภายหลังว่าเพราะเล่าฮองบุตรบุญธรรมของเล่าปี่ซึ่งคอยทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองโดยรอบของเกงจิ๋วไม่ยอมส่งกองหนุนไปช่วยเมื่อกวนอูส่งคนมาขอความช่วยเหลือ

เล่าฮองถูกประหารชีวิต แต่เมื่อมีการสืบสวนภายหลังกลับพบว่าเป็นเบ้งตัดที่ยุให้เล่าฮองอย่างส่งทหารไปช่วย เพราะเบ้งตัดนั้นแค้นเล่าปี่ที่ไม่ยอมให้ตำแหน่งทางการทหารในระดับสูงอย่างที่ตนหวังไว้ เนื่องจากเบ้งตัดเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมกับหวดเจ้ง และเตียวสง ที่ช่วยให้เล่าปี่ได้เมืองเสฉวนมาครอง

เบ้งตัดกลัวความผิด จึงหนีไปอยู่กับโจผีและได้อยู่รักษาเมืองซงหยง เล่าฮองขอไถ่โทษโดยการนำทัพไปตีเมืองซงหยงแต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับมา จึงโดนเล่าปี่สั่งประหาร

โดยก่อนหน้านั้นเบ้งตัดเคยส่งจดหมายมาให้เล่าฮองหันไปสวามิภักดิ์กับโจผีเสียจะดีกว่า ซึ่งเล่าฮองนั้นถึงกับฉีกจดหมายทิ้ง เป็นการแสดงให้เห็นว่าความจริงเขายังภักดีต่อเล่าปี่อยู่ เพียงแต่เขามีความขัดแย้งแบบส่วนตัวอยู่กับกวนอู นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ไม่ยอมส่งทหารไปช่วยและส่งผลให้กวนอูต้องตาย

เล่าปี่โกรธจัดจึงสั่งประหารเล่าฮอง ภายหลังเมื่อได้ทราบว่าเล่าฮองฉีกจดหมายของเบ้งตัดทิ้ง ก็รู้สึกเสียใจที่ด่วนประหารเล่าฮองไป

ปีเดียวกันเดือน 10 โจผีปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้ลงจากบัลลังก์และตั้งตนเป็นพระเจ้าวุยบุ๋นตี้ ก่อตั้งราชวงศ์วย เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่น

เมื่อทราบเรื่องที่พระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลด ในปีค.ศ.221 เดือน 4 เล่าปี่จึงสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ที่เสฉวน ภายใต้การสนับสนุนของเหล่าขุนนางและประชาชน ก่อตั้งราชวงศ์จกหรือซู่ฮั่น ทรงมีพระนามว่าพระเจ้าเจียงบู๊ แต่งตั้งขงเบ้งขึ้นเป็นสมุหนายก เตียวหุยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เคาเจ้งเป็นรองมหาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่

ภายหลังเตียวหุยเข้ามาโวยว่าเล่าปี่ไม่ยอมแก้แค้นให้กวนอู ซึ่งเป็นการผิดคำสาบาน เล่าปี่เกิดรำลึกถึงความแค้นขึ้น จึงประกาศศักดานำทัพกว่า 7 แสนไปบุกง่อก๊กเพื่อแก้แค้น แต่ในระหว่างเตรียมทัพเตียวหุยก็ต้องถูกฆ่าตายระหว่างเมาหลับจากลูกน้องของตนเอง

จูล่งพยายามทัดทานว่าไม่ควรยกทัพไปตีซุนกวน เพราะเห็นว่าศัตรูของแผ่นดินคือโจโฉ สมควรปล่อยความแค้นส่วนตัวแล้วหันไปจับมือกับซุนกวนเพื่อสู้กับโจโฉมากกว่า นั่นจึงจะสมใจคนทั้งแผ่นดิน แต่เล่าปี่ไม่ฟัง จึงให้จูล่งไปร่วมศึกนี้แค่ในฐานะของแม่ทัพกองเสบียงคอยหนุนอยู่ด้านหลัง

ในขณะที่ขงเบ้งนั้นเขียนฎีกาขึ้นเพื่อยับยั้ง เล่าปี่ขว้างทิ้งอย่างไม่ไยดี

เดือน 6 ปีเดียวกัน เล่าปี่ยกทัพไปตีซุนกวนระหว่างทางยึดหัวเมืองได้มากมาย แต่ระหว่างนั้นต้องเสียแม่ทัพหน้าอย่างฮองตงไปเพราะความใจร้อนที่อยากจะทำศึก ซึ่งในประวัติศาสตร์กลับไม่ได้บันทึกว่าฮองตงไปด้วย เพราะเขาอาจจะเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่กระนั้นกองทัพของเล่าปี่ก็สามารถตีทัพของซุนกวนที่ส่งออกมาตามรายทางและได้ชัยชนะหลายครั้ง

กองทัพของเล่าปี่นั้นใหญ่โตมาก ทำให้ซุนกวนร้อนใจยิ่งนัก ถึงกับคิดจะถอนกำลังออกจากเกงจิ๋ว แต่ด้วยภาพราวมแล้ว หากเสียเกงจิ๋วไป อันตรายจะมาถึงดินแดนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแยงซีทันที ดังนั้นซุนกวนจึงจัดประชุมเร่งด่วน และผลของการประชุมนี้ ซุนกวนก็ตัดสินใจส่งแม่ทัพหนุ่มอัจฉริยะรุ่นที่สองต่อจากจิวยี่ นามว่าลกซุนออกมารับมือกับเล่าปี่

เล่าปี่ดูแคลนลกซุนว่าเป็นแค่บัณฑิต เมื่อกองทัพเข้าใกล้เมืองเกงจิ๋ว ก็ท้าลกซุนออกมารบ แต่ลกซุนไม่สนใจ กองทัพเล่าปี่จึงทำการตั้งค่ายเป็นทิวยาวอยู่ริมแม่น้ำโดยหวังทำศึกระยะยาว แต่มันเป็นการตั้งค่ายที่ผิดหลักพิชัยสงคราม ลกซุนจึงอาศัยช่วงเวลาวิกาลลอบวางเพลิงเผาค่ายที่ตั้งเป็นทิวยาวจนพินาศ

จูล่งนำทัพขึ้นมาช่วยและพาเล่าปี่หนีกลับไปรักษาจิตใจอยู่ที่เมืองกงอาน ซึ่งที่นั่นเล่าปี่ได้แต่นอนซมเพราะไม่กล้าไปสู้หน้าขงเบ้งและเหล่าขุนนางที่เสฉวนและเริ่มล้มป่วยลง จากนั้นการบริหารในเสฉวน เล่าปี่ก็ปล่อยให้เป็นงานของขงเบ้ง

ปีค.ศ.223 เดือน 4 เล่าปี่รู้ตัวว่าใกล้ตาย จึงเรียกตัวขงเบ้งและเหล่าขุนนางรวมถึงลูกชายอีกสองคนมาเข้าเฝ้า ให้อาเต๊าหรือเล่าเสี้ยนลูกชายคนโตอยู่รักษาการที่เสฉวน จากนั้นก็เริ่มสั่งเสียงานบ้านเมือง ให้จูล่งทำหน้าที่พิทักษ์รักษาครอบครัวของตนต่อไป

และเรียกขงเบ้งกับลิเงียมซึ่งเป็นขุนนางอาวุโสในเสฉวนให้มาพบจากนั้นก็ฝากงานบ้านเมืองให้ทั้งสองช่วยกันดูแล แล้วเรียกขงเบ้งมากระซิบใกล้ๆว่า หากเห็นว่าเล่าเสี้ยนลูกชายขงตนไม่ได้ความที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีล่ะก็ ให้ขงเบ้งขึ้นเป็นเองเสียเลย

ขงเบ้งได้ยินดังนั้นก็ถึงกับตกใจตัวสั่นเอาหัวโขกพื้นเต็มแรง และสาบานว่าจะขอรับใช้ตระกูลเล่าไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

เกี่ยวกับคำพูดของเล่าปี่นี้ เป็นที่ถกเถียงและวิจารณ์กันมาจนถึงตอนนี้ว่าเล่าปี่คิดยังไงและมีความจริงใจแค่ไหนถึงพูดแบบนี้ หรือว่าเขาอ่านออกว่าขงเบ้งอาจคิดจะตั้งตัวขึ้นแทนจริงๆ จึงพูดดักไว้ก่อน เพื่อบีบให้ขงเบ้งต้องยอมออกปากสาบานตน

ขงเบ้งเคยบอกต่อเล่าปี่ว่าตนจะไม่รับใช้นายที่ไร้สติปัญญา และไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าเล่าเสี้ยนหรืออาเต๊านั้นจะเฉลียวฉลาด ซึ่งเล่าปี่นั้นเป็นพ่อก็ย่อมรู้จักลูกของตนดี แต่บัลลังก์ที่เล่าปี่ใช้เวลามายาวนานเหนื่อยยากมาหลายสิบปียังไงซะต้องมอบให้สายเลือดของตนสืบต่อแทน จะปล่อยให้ขงเบ้งเอาไปง่ายๆงั้นรึ

การพูดดักไว้เช่นนี้ จึงทำให้ขงเบ้งไม่กล้าล้มราชบัลลังก์ และขงเบ้งเองก็คงคิดได้ว่าการที่ตนอยู่ใต้คนเดียวแต่อยู่เหนือคนนับหมื่นมันน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ

สรุปแล้วเล่าปี่ก็ยังคงอุตส่าห์ทิ้งลายแห่งการเป็นนักการเมืองตัวฉกาจเอาไว้ทั้งที่กำลังจะตาย

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการมองคนของเล่าปี่ นั่นคือตอนที่ขงเบ้งเข้าเฝ้านั้น ได้นำเอาม้าเจ๊กซึ่งยังเป็นเด็กหนุ่มมาด้วย และได้แนะนำต่อเล่าปี่ว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นคนปัญญาไว แต่เล่าปี่ได้บอกว่าม้าเจ๊กผู้นี้เป็นคนคุยโอ้อวดเกินจริง ใช้งานได้ แต่อย่าให้ทำการใหญ่ ซึ่งภายหลังคำพูดของเล่าปี่ถูกพิสูจน์แล้วว่าจริง เพราะม้าเจ๊กได้ทำการใหญ่ให้เสียเมื่อตอนที่ขงเบ้งยกทัพใหญ่รบกับวุยครั้งแรก นับว่าเล่าปี่ยังได้แสดงความสามารถในการมองคนเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งที่ตอนนั้นกำลังป่วยหนักใกล้ตายแล้วก็ตาม นี่เองอาจเป็นข้อแตกต่างระหว่างเล่าปี่กับขงเบ้ง ทั้งที่ขงเบ้งมีสติปัญญามากกว่าเขานัก แต่ก็เป็นได้แค่ลูกน้องของของเล่าปี่เท่านั้น

เล่าปี่สิ้นพระชนม์ลงเมื่ออายุได้ 63 ปี ในค.ศ.223 เดือน 6 ณ เมืองกงอาน ซึ่งสุดท้ายเล่าปี่ก็ไปไม่ถึงฝันที่จะรวบรวมแผ่นดิน แต่อย่างน้อยฝันอันหนึ่งของเขาก็เป็นจริงนั่นคือการที่ตนสามารถตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ได้สำเร็จ ถึงจะเป็นได้แค่ 2 ปีก็ตาม

เล่ามาทั้งหมดนี้....สำหรับความเห็นของคนเขียนนั้น เล่าปี่เป็นได้ทั้งยอดคน ผู้นำของปวงชน นักรบผู้เปี่ยมคุณธรรม เฒ่าผู้ร้ายลึก พระเอกเจ้าน้ำตา นักการเมืองจอมเจ้าเล่ห์ พระเจ้าอากำมะลอ ฯลฯ เป็นได้หลายอย่างมาก ซึ่งเราคงไม่อาจสรุปเลยว่าอย่างไหนคือตัวจริงของเล่าปี่

แต่เขาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาป่วนในกลียุคนั้นได้อย่างเจ็บแสบ และนับเป็นยอดคนผู้หนึ่งที่สามารถผงาดตั้งตัวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเหนือเหล่าคนเก่งกล้าทั้งหลายในยุคนั้นซึ่งมีอยู่มากมายได้ ทั้งที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีความสามารถ สติปัญญาหรือฝีมือการรบที่เก่งฉกาจเหนือใครๆ แต่เขากลับมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ทำให้ผู้คนทั่วไปรักใคร่ และพร้อมให้ความสนับสนุนแม้พวกเขารู้ว่าอาจจะไม่ได้ผลตอบแทน และที่เราต้องยอมรับคือ เขาเป็นหนึ่งในสามผู้นำที่มีจุดเริ่มมาจากจุดต่ำสุด ด้วยการเป็นเพียงแค่คนทอเสื่อขายและอาศัยเพียงแซ่เล่าในการกรุยทางเท่านั้น

ปัจจุบันสุสานของเล่าปี่ตั้งอยู่ที่เมืองเสฉวนและถูกยกย่องและกราบไหว้จากคนรุ่นหลัง โดยมีสุสานของขงเบ้งที่มีขนาดใหญ่โตกว่าตั้งอยู่ใกล้ๆ เพราะผู้คนส่วนใหญ่ประเมินเล่าปี่ไว้ต่ำกว่าขงเบ้ง เนื่องจากเขามีสติปัญญาและความสามารถด้อยกว่า

แต่ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว เล่าปี่เหนือกว่าขงเบ้งมากนัก เพราะโจโฉไม่เคยกล่าวหรือมีคำพูดใดที่แสดงว่าหวั่นเกรงในตัวขงเบ้งเลยสักครั้งเดียว แต่กับเล่าปี่แล้ว นี่คือชายคนเดียวที่โจโฉเคยวิจารณ์ว่าในแผ่นดินนี้ ผู้ที่ควรได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษแล้ว นอกจากตัวโจโฉเอง ก็มีเพียงเล่าปี่เท่านั้น แสดงว่านี่คือคนๆเดียวที่โจโฉ ชายซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในตอนนั้นยอมรับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ทั้งๆที่ตัวเล่าปี่เองก็ไม่ได้มีอะไรเลย

เหตุเพราะเล่าปี่แม้จะด้อยความสามารถหลายอย่างในฐานะแม่ทัพหรือขุนศึก แต่เขามีคุณสมบัติบางประการ เฉกเช่นเดียวกับโจโฉและซุนกวน ซึ่งเมื่อดูจากเรื่องราวทั้งหมดของเล่าปี่แล้ว พูดได้ว่านั่นคือคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ในฐานะผู้นำของคนนับหมื่นนับแสน นั่นคือ “การบริหารคน การใช้งานคน”

เล่าปี่รู้ดีว่าตนเองไร้ทักษะและความสามารถในฐานะแม่ทัพ เขาก็ไม่ดันทุรังในจุดนั้น โดยการช่วงใช้และมอบหมายงานให้แม่ทัพของตนอย่างเต็มที่ เล่าปี่ด้อยในการบริหาร เขาก็มอบหมายให้เป้นงานของขงเบ้งและคณะขุนนางไป แต่การตัดสินใจด้านนโยบายหลักๆอาจจะต้องมีเขาประกอบด้วย อีกจุดคือการโยกย้ายแต่งตั้งคนในสายงานต่างๆ เขาจะเป็นผู้สั่งการ นั่นเพราะเขารู้ดีว่าควรใช้งานใคร ตรงจุดไหน จึงก่อเกิดผลสูงสุด

และเล่าปี่ยังมีคุณสมบัติสำคัญอีกอย่าง นั่นคือสิ่งที่ไม่อาจมองด้วยตาเปล่า หรือ สร้างสะสมขึ้นได้ง่ายๆ แต่ใช้เวลายาวนาน นั่นคือบารมีในฐานะผู้นำ เล่าปี่ผลักดันตัวเองให้ไปอยู่ในสถานะของคู่ตรงข้ามกับโจโฉ ดังนั้นผู้ที่ต่อต้านโจโฉ ซึ่งึข้นมาเป็นใหญ่แล้ว ทางที่ดีที่สุดคือต้องเข้าร่วมกับเขา นี่เป็นจุดที่เล่าปี่วางตัวเองไว้ชัดเจนตั้งแต่แยกตัวออกมาจากราชสำนักจนถึงวาระสุดท้าย

ถือว่าเป็นบุรุษที่สร้างตัวมาจากสองมือเปล่าและได้ดีเพราะน้ำตาจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น