วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติ โลซก จื่อจิ้ง

ประวัติ โลซก จื่อจิ้ง
หลังจากเหตุการณ์โจรกบฏผ้าเหลือง ทรราชย์ตั๋งโต๊ะ และการรบพุ่งกันของเหล่าเจ้ามณฑลทำให้แผ่นดินต้องลุกเป็นไฟนั้น ได้มีคนอยู่สามคนที่มองออกว่าสุดท้ายแล้ว แผ่นดินจีนมีโอกาสที่จะถูกแบ่งแยกออกเป็นสามก๊กในภายหลัง

ขงเบ้ง ซุนฮก และคนสุดท้ายคือโลซก

โลซกนั้นเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสำคัญของซุนกวนผู้ปกครองดินแดนกังตั๋ง หรือที่คนไทยเรารู้จักในนามกังหนำ ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

ดินแดนแห่งนี้ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจมากที่สุดในยุคก่อนจะเกิดสามก๊ก สาเหตุหนึ่งก็เพราะความสามารถของผู้ปกครองดิแดนนั้นอย่างซุนกวน

โลซกนั้นเป็นที่ปรึกษาสำคัญคนหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยซุนกวนในการวางรากฐานความแข็งแกร่งให้กังตั๋ง จนสามารถก่อตั้งเป็นอาณาจักรหวูหรือง่อก๊ก และขึ้นมาเป็นหนึ่งในสามที่คอยคานอำนาจกับจ๊กก๊กและวุยก๊กในภายหลัง และเป็นง่อก๊กนี่เองที่เป็นอาณาจักรที่มีอายุยาวนานมากที่สุดในสามก๊ก

การที่ว่านี้โลซกมีส่วนสำคัญมาก ซุนกวนเองก็ให้ความเคารพนับถือและยกย่องเขาอย่างสูง

แต่ในสามก๊กฉบับนิยายนั้นภาพพจน์ของโลซกจะออกไปในทางของคนซื่อที่ออกจะโง่จนถูกขงเบ้งลวงเอาได้หลายครั้ง ซึ่งความจริงในประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ภายหลังคนที่อ่านสามก๊กอย่างจริงจังได้เริ่มประเมินคุณค่าของโลซกใหม่ และทำให้มองเห็นถึงความสามารถในการเป็นนักปกครองที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่สุดคนหนึ่งในยุคสามก๊ก หลักฐานในเรื่องนี้มีอยู่ เพราะแม้แต่จิวยี่เองยังยกย่องว่าโลซกเป็นผู้ที่มองการณ์ไกลยิ่งกว่าตนนัก

ประวัติโดยย่อ

โลซก หรือหลู่ซู เกิดในปี ค.ศ. 172 พื้นเพไม่แน่ชัดนักว่าเกิดที่ไหน แต่ดูเหมือนจะเป็นลูกชายของเศรษฐีทางแถบตอนกลางของประเทศ เล่ากันว่าในวัยเด็กเขาเป็นคนที่ชอบการขี่ม้ายิงธนู มีความกล้าหาญเชี่ยวชาญในเพลงอาวุธ

ต่อมาแผ่นดินเกิดกลียุค เพราะการลุกฮือขึ้นของโจรโพกผ้าเหลืองและการก่อการของตั๋งโต๊ะ ครอบครัวของโลซกจึงอพยพลงมาบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเพื่อหนีภัยสงคราม และได้เริ่มประกอบการค้าจนมีฐานะร่ำรวยและโลซกก็ได้กลายเป็นเศรษฐีมีชื่อเป็นที่รู้จักของผู้คนในละแวกนั้น

แต่ที่ทำให้โลซกมีชื่อเสียงโด่งดังนั้น ไม่ใช่เพราะความร่ำรวย แต่เพราะความเป็นคนมีจิตใจดีและกว้างขวาง แม้จะเป็นคนรวยแต่เขาก็ไม่เคยถือตัวและคบหากับผู้คนมากมายแทบจะทุกระดับชั้น นอกจากนี้เขายังมีความสนใจในปัญหาบ้านเมืองและชอบศึกหาความรู้เพื่อหวังที่จะหาหนทางในการช่วยเหลือบ้านเมืองที่กำลังวุ่นวายให้สงบสุข

โลซกนั้นชอบที่จะบริจาคเงินและอาหารช่วยเหลือคนที่ยากไร้เพราะหนีภัยสงคราม จนมีชื่เสียงเลื่องลือไปถึงแดนกำหนำ จนจิวยี่ซึ่งเป็นมือขวาของซุนเซ็กผู้ครองแดนกำหนำในตอนนั้นได้ยินชื่อเสียง และตัดสินใจเดินทางไปหาโลซกเพื่อหวังว่าจะขอยืมเงินและเสบียงจำนวนหนึ่งเพราะในเวลานั้นก๊กง่อเพิ่งจะเริ่มก่อตั้ง การปราบภาคใต้ก็ยังไม่เรียบร้อย แต่กองทัพตระกูลซุนก็ยังคงขาดแคลนทุนรอนและเสบียงจำนวนมาก

เล่ากันว่าตอนที่จิวยี่มาขอยืมเสบียงอาหารและเงินทุนกับโลซกนั้น เขาได้ขอไปในจำนวนที่ไม่น้อยเลย ซึ่งจิวยี่เองก็ทำใจไว้เหมือนกันว่าโลซกอาจจะไม่ยอมให้ยืมทั้งหมด

ปรากฏว่าโลซกให้ยืมทั้งหมดตามที่จิวยี่เรียกร้องโดยไม่มีการเกี่ยง เล่นเอาจิวยี่อึ้งไปเล็กน้อย โลซกเห็นจิวยี่อึ้งไปก็ถามต่อว่า แค่นั้นไม่พอหรือ จะเอาเพิ่มอีกไหม

จิวยี่จึงซึ้งใจว่าโลซกนั้นเป็นผู้ที่มีน้ำใจกว้างขวาง คนแบบนี้หาได้ยากยิ่งในแผ่นดินที่กำลังเกิดกลียุค จิวยี่จึงเริ่มคบหากับโลซกมานับแต่นั้น

ภายหลังซุนเซ็กได้เสียชีวิตลง ซุนกวนผู้น้องต้องขึ้นสืบทอดอำนาจแทน ทั้งที่เพิ่งจะอายุเพียง 18 ปี ส่วนจิวยี่นั้นกลายเป็นเสาหลักด้านการทหารและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้ควบคุมดูแลกองทัพ นำทหารไปประจำการและฝึกฝนอยู่ที่เมืองชีสอง

ขณะนั้นที่ปรึกษาฝ่ายบุ๋นของก๊กง่อยังมีไม่มาก ที่เป็นหลักๆก็มีเตียวเจียวแค่คนเดียว จิวยี่จึงชักชวนโลซกให้มาทำงานอยู่กับซุนกวน โดยบอกต่อซุนกวนว่า “โลซกชอบรำกระบี่ขี่ม้า ใจมียุทโธบาย ท้องซ่อนกลวิธี”

เมื่อโลซกได้พบกับซุนกวน ซุนกวนก็ได้ชวนคุยกันหลายชั่วโมง ซุนกวนรู้สึกทึ่งในความรอบรู้ของโลซก จนถึงขนาดชวนไปคุยกันในห้องนอนและนอนบนเตียงเดียวกัน

ตอนนั้นเป็นปีค.ศ.200 ในตอนนั้นทางเหนือกำลังวุ่นวายเพราะการศึกระหว่างสองขั้วอำนาจอย่างโจโฉและอ้วนเสี้ยว โลซกได้เสนอกุศโลบายแก่ซุนกวนที่โด่งดังซึ่งภายหลังได้ถูกตั้งชื่อว่า “นโยบายบนยี่ภู่”

นั่นคือโลซกกล่าวว่า “ในอดีต พระเจ้าฮั่นโกโจเคยคิดที่จะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมแต่ไม่สำเร็จ เพราะมีเสี้ยงหยี่เป็นมาร โจโฉในวันนี้เทียบเท่ากับเสี้ยงหยี่ ท่านจะคิดเช่นฉีหวนกงกับจิ้นหวนกงในอดีตได้อย่างไร ข้าเห็นว่าราชสำนักฮั่นมิอาจฟื้นตัวได้แล้ว โจโฉไม่กำจัดนั้นมิได้ สำหรับท่านมีแต่ต้องตั้งมั่นอยู่ในกังตั๋งดูเหตุวุ่นวาย ส่วนในเวลานี้ก็ควรจะฉวยโอกาสที่ทางเหนือกำลังยุ่งเหยิง ขจัดหองจอปราบเล่าเปียวครองลุ่มแม่น้ำแยงซีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นท่านจึงค่อยสถาปนาราชวงศ์ขึ้นครองแผ่นดิน นี่คือภารกิจแห่งปฐมกษัตริย์”

ซุนกวนได้ฟังดังนั้นจึงลุกขึ้นคำนับโลซก นับแต่นั้นก็ให้ความสำคัญแก่โลซกมาก มอบหมายงานสำคัญให้แก่เขา แต่เตียวเจียวและขุนนางอาวุโสนั้นเห็นโลซกอายุยังน้อย (ตอนนั้นอายุประมาณ 30) จึงพยายามทัดทาน แต่ซุนกวนก็ไม่สนใจ

ตอนที่ซุนกวนเสนอนโยบายบนยี่ภู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่โจโฉกำลังรบติดพันกับอ้วนเสี้ยว และไม่มีทีท่าว่าโจโฉจะชนะแม้แต่น้อย แต่โลซกกลับมองว่าโจโฉจะกลายมาเป็นศัตรูสำคัญ นั่นแสดงว่าเขามีสายตาที่แหลมคมจริงๆที่คาดเดาอนาคตล่วงหน้าได้

ข้อเสนอของโลซกต่อซุนกวนนั้นถือว่ายึดเอาสภาวะจริงที่สามารถจะเอื้อประโยชน์ต่อซุนกวนที่สุด โลซกเห็นว่าใช้โอกาสในตอนนี้ที่โจโฉยังไม่อาจมุ่งมาทางภาคใต้ รีบยึดเอาดินแดนบริเวณลุ่มน้ำแยงซีให้มากที่สุด และเข้ายึดเกงจิ๋วของเล่าเปียว เพราะหากวันใดโจโฉปราบภาคเหนือและกลางได้ จากนั้นมุ่งเป้ามาทางเกงจิ๋วล่ะก็ง่อก๊กก็จะประสบภัยร้ายแรงในวันหน้า และในภายหลังนโยบายนี้ก็กลายเป็นนโยบายของรัฐง่อก๊ก การที่ซุนกวนสามารถจะผงาดอยู่เหนือดินแดนกังตั๋งได้หลายสิบปี รากฐานก็มาจากนโยบายยี่ภู่ของโลซกนี่เอง

ดังนั้นความสำคัญของโลซกที่ช่วยซุนกวนจึงเทียบเท่ากับที่ซุนฮกช่วยโจโฉสร้างวุยก๊กขึ้น และก็เท่ากับขงเบ้งที่ช่วยเล่าปี่ด้วย

และในที่สุดเมื่อโจโฉรวมภาคเหนือและกลางได้สำเร็จ เตรียมยกทัพลงใต้นั้น สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างเหนือกับใต้จึงใกล้จะเริ่มขึ้น

เวลานั้นเล่าปี่ได้หนีภัยจากโจโฉมาตั้งมั่นอยู่ที่แฮเค้า โลซกจึงแนะนำให้ซุนกวนไปผูกมิตรกับเล่าปี่เพื่อรับมือโจโฉ

โลซกนั้นเข้าใจอย่างดีว่าการจะต้านโจโฉนั้นไม่อาจทำได้โดยลำพัง อันที่จริงแม้จะได้เล่าปี่เป็นพันธมิตรก็ใช่ว่ากำลังของง่อก๊กจะแข็งแกร่งอะไรนัก แต่โลซกนั้นมองการณ์ไกลว่าอนาคตเล่าปี่จะขึ้นมามีความสำคัญในการต่อสู้แย่งแผ่นดิน เพราะเล่าปี่นั้นได้รับความยอมรับจากชาวประชาเป็นอันมาก ความเป็นแซ่เล่าของเขานั้นสามารถที่จะชักจูงคนในแผ่นดินให้มาเป็นพวกได้ ถึงแม้ว่ากองกำลังของเล่าปี่จะมีไม่มากและแพ้ได้ง่ายในการรบเมืองต่อเมือง แต่หากเป็นการรบเพื่อแย่งชิงแผ่นดินล่ะก็ เล่าปี่จะถือว่าได้เปรียบคนอื่นๆ

ด้วยการผลักดันของโลซกและขงเบ้ง ในที่สุดพันธมิตรเล่า-ซุนก็เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านโจโฉโดยเฉพาะ และเป็นการเริ่มต้น”ศึกเซ็กเพ็ก”

รายละเอียดในการศึกไม่อยากจะบรรยายเพราะกว่า80% ในศึกนี้เป็นเรื่องที่นิยายได้แต่งเสริมขึ้น อีกทั้งโลซกเองก็มีบทบาทกับงานในกระโจมมากว่าในสนามรบ ดังนั้นไม่พูดถึงละกัน

หลังศึกเซ็กเพ็ก การณ์กลับกลายว่าฝ่ายซุนกวนแทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรมากนัก เพราะฝ่ายเล่าปี่อาศัยช่วงที่โจโฉถอนกำลังจากแดนเกงจิ๋ว เข้าไปยึดเอาหัวเมืองในเกงจิ๋วมาได้ 4 หัวเมือง เรียกว่าแทบจะพลิกสถานการณ์ให้กับฝ่ายเล่าปี่สามารถตั้งหลักขึ้นมาได้

การที่เล่าปี่ตั้งตัวขึ้นมาได้นี้ สร้างความไม่พอใจให้จิวยี่เท่าไหร่นัก เพราะจิวยี่นั้นมองออกว่าในอนาคตเล่าปี่จะขึ้นมาเป็นศัตรูคนสำคัญของง่อก๊ก ในขณะที่โลซกมองอีกแบบ

โลซกนั้นมองว่าการจะต้านทานโจโฉได้นั้น จำต้องอาศัยเล่าปี่ช่วยค้ำไว้ ยิ่งเล่าปี่สามารถตั้งตัวได้แทนที่จะเป็นผลเสียกลับจะเป็นผลดีมากกว่า ดังนั้นเขาจึงสนับสนุนนโยบายการผูกมิตรกับเล่าปี่แก่ซุนกวน

โลซกพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของพันธมิตรคู่นี้ให้ยั่งยืนที่สุด แต่ก็ยากเย็นมากนัก เพราะฝ่ายเล่าปี่นั้นก็ไม่ได้จริงใจต่อง่อก๊กเลย

ขงเบ้งนั้นเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการผูกมิตรกับง่อก๊ก แต่ก็ไม่ได้จริงใจมากนัก เขาพร้อมที่จะหาผลประโยชน์มาเข้าแก่เล่าปี่ทุกเมื่อ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนยิ่งนักในภายหลัง เมื่อการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ต่อแดนเกงจิ๋วที่ยึดมาได้นั้นทางฝ่ายขงเบ้งซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาของเล่าปี่กับโลซกซึ่งเป็นตัวแทนเจรจาของซุนกวนนั้น ฝ่ายขงเบ้งได้ใช้เล่ห์กลสกปรก เพื่อยื้อการยืมเมืองเกงจิ๋ว โดยอ้างว่าจะขอยืมจนกว่าเล่าปี่จะสามารถเข้าตีเสฉวนทางตะวันตกได้ และได้ทำหนังสือค้ำประกันโดยมีโลซกเป็นผู้รับประกันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าขงเบ้งเป็นฝ่ายหลอกให้โลซกทำเช่นนั้น

อันที่จริงเรื่องการถูกหลอกของโลซกนี้ในประวัติศาสตร์ได้บันทึกต่างไป มีการวิเคราะห์ว่าความจริงแล้วเป็นแผนการของโลซกที่ต้องการจะให้เล่าปี่ตั้งตัวได้ เพื่อให้เล่าปี่เป็นคนคอยค้ำยันการแผ่ขยายอิทธิพลของโจโฉ และเป็นการสร้างศัตรูของโจโฉให้มากขึ้น ซึ่งซุนกวนก็เห็นด้วย แต่นโยบายนี้จิวยี่ไม่เห็นชอบนัก เพราะเท่ากับฝ่ายง่อแทบไม่ได้ผลประโยชน์หลังจากศึกเซ็กเพ็กเลย ดินแดนที่ง่อสามารถขยายเพิ่มขึ้นไปได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กลับกัน เล่าปี่สามารถตั้งตัวและมีกองทัพ ดินแดนเป็นของตนเองครั้งแรกได้ก็เพราะศึกนี้ ทั้งที่ฝ่ายเล่าปี่เองแทบไม่ได้ให้การสนับสนุนทางการทหารให้แก่ฝ่ายง่อในศึกเซ็กเพ๊กเท่าใด

พูดถึงเรื่องมองการณ์ไกลแล้ว ทั้งในสามก๊กฉบับนิยายและฉบับประวัติศาสตร์ล้วนบอกไว้คล้ายกันว่าจิวยี่นั้นยังเป็นรองโลซกอยู่ขั้นหนึ่ง

โลซกนั้นยังยึดหลักความจริงใจเป็นที่ตั้ง จนแม้แต่ขงเบ้งเองก็ยังต้องยอมรับนับถือ และในระหว่างที่โลซกยังมีชีวิตอยู่ความสัมพันธ์ระหว่างก๊กทั้งสองก็ยังคงรักษาไว้ได้ดีมาตลอด

การที่ฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนสามารถตั้งยันโจโฉได้นานหลายสิบปีนั้น จุดเริ่มมาจากนโยบายและการทุ่มเทชีวิตของโลซกนั่นเอง

ด้วยความจริงใจต่อผู้อื่น การมองการณ์ไกลและสติปัญญาของโลซกนี้ ทำให้จิวยี่ก่อนที่จะตายนั้นได้เขียนจดหมายแนะนำให้ซุนกวนแต่งตั้งโลซกให้ขึ้นมารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่สมุหกลาโหม(ต้าตูตู)คุมกำลังทหารแทนตนเอง ภายใต้การคัดค้านของขุนนางอาวุโสนำด้วยเตียวเจียว แต่ซุนกวนกลับไม่สนใจและนั่นก็ทำให้โลซกกลายเป็นบุคคลหมายเลขสองของง่อก๊กรองจากซุนกวน คุมกำลังทหารและรับภาระการจัดการกับศัตรูภายนอกทั้งหมดแทนจิวยี่

โลซกนั้นเมื่อรับตำแหน่งมาแล้ว กลับคิดว่าตนมีความสามารถไม่พอ(ผิดกับนักการเมืองหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน) จึงบอกต่อซุนกวนให้เชิญบังทองมารับตำแหน่งแทนตน

เวลานั้นบังทองเองก็รับราชการที่ง่อก๊ก แต่ซุนกวนนั้นเมื่อเห็นหน้าของบังทองแล้วก็ไม่ชอบหน้าเพราะความอัปลักษณ์และการพูดจาแบบขวานผ่าซากสุดๆ จึงปฏิเสธไป โลซกกลัวว่าบังทองจะไปอยู่กับโจโฉจึงแนะนำให้บังทองไปอยู่กับเล่าปี่ และเขียนจดหมายแนะนำไปด้วย

จะเห็นว่าโลซกยึดนโยบายเป็นมิตรกับเล่าปี่เป็นที่ตั้ง เขาพยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพของทั้งสองฝ่ายเอาไว้ แม้ว่าจะไม่ถูกกันนักก็ตาม

ปีค.ศ.214 เล่าปี่ยกกองทัพเข้ายึดครองเสฉวนได้สำเร็จ ซุนกวนเห็นว่าเล่าปี่เมื่อได้เสฉวนเป็นฐานที่มั่นแล้วก็ควรจะคืนเกงจิ๋วให้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญา จึงส่งโลซกซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเรื่องนี้ไปเจรจาเพื่อขอเกงจิ๋วคืน แต่ปรากฏว่าเล่าปี่ได้บ่ายเบี่ยงเรื่องนี้และบอกให้โลซกไปเอาเมืองคืนจากกวนอูซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเกงจิ๋วเอาเอง

ในนิยายนั้นได้บอกไว้ว่ากวนอูเชิญโลซกมานั่งเลี้ยงโต๊ะโดยที่ตนยังถือเอาง้าวมังกรไว้ข้างๆ ข่มขู่จนโลซกกลัวและการเจรจาก็ต้องล้มพับไป แต่ในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เลย เพราะโลซกได้ใช้วาทศิลป์ โต้แย้งด้วยเหตุผลอย่างฉะฉานจนกวนอูไม่อาจโต้แย้งได้ และจำต้องบ่ายเบี่ยงเรื่องเมืองเกงจิ๋วเพื่อไล่โลซกกลับไป

ซึ่งกรณีเกงจิ๋วนี้เป็นเรื่องที่ทั้งโลซกและขงเบ้งไม่อาจแก้ปัญหาได้ตลอดชั่วชีวิตของทั้งสอง

ในปีเดียวกัน หลังจากโลซกประสบความล้มเหลวในการเจรจาขอเมืองคืน ซุนกวนโกรธมากและสั่งให้ลิบองซึ่งตั้งทัพอยู่ที่ชีสอง ตระเตรียมที่จะรุกเข้าโจมตีเกงจิ๋ว ซึ่งกวนอูเองก็เตรียมกองทัพไว้เพื่อคอยตอบโต้เช่นกัน สถานการณ์ของพันธมิตรทั้งสองฝ่ายตึงเครียดอย่างหนักและพร้อมจะเปิดศึกขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงนั้นเกิดฝนและพายุรุนแรง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างลังเลที่จะเข้าโจมตี และทำได้เพียงคุมเชิงกันเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ทางโจโฉเองก็อาศัยสถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสั่งกองทัพที่ตระเตรียมไว้ที่เตียงอันตั้งแต่ต้นปี เข้าโจมตีเมืองฮั่นจง หากฮั่นจงแตก ทัพของโจโฉก็จะรุกประชิดเข้าเขตแดนเสฉวนได้ เล่าปี่จึงตัดสินใจสงบศึกกับซุนกวนเพื่อจัดเตรียมแนวรบทางปาเสแทน ฝ่ายซุนกวนเองเมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว การเข้าโจมตีเกงจิ๋วตอนนี้น่าจะได้ไม่คุ้มเสีย จึงตัดสินใจเบนเป้าหมายไปที่หับป๋าของโจโฉแทน

เกี่ยวกับศึกที่หับป๋านี้ มีบันทึกว่าซุนกวนมีความมุ่งมั่นที่จะยึดให้ได้ เพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการในการส่งกำลังข้ามมาจากอีกฝั่งแม่น้ำแยงซี ซึ่งซุนกวนถึงกับย้ายศูนย์บัญชาการทหารของง่อมาไว้ที่เมืองเกี๋ยนเงียบเพื่อที่จะสามารถยกกองทัพข้ามฝั่งแม่น้ำเข้าตีหับป๋าได้สะดวก

ปี ค.ศ.215 เมื่อการศึกที่หับป๋าอุบัติขึ้น ซุนกวนจึงสั่งโยกแม่ทัพนายทหารที่ประจำแนวรบที่เกงจิ๋วมาเพื่อโจมตีหับป๋า ลิบองจึงถูกโยกมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่หับป๋า และซุนกวนจึงใช้ให้โลซกเป็นผู้ควบคุมกองทัพเพื่อป้องกันแนวรับของเกงจิ๋วจากกวนอูแทน แต่รับหน้าที่นี้ได้ไม่เท่าไหร่ ในปี ค.ศ.217 โลซกก็ป่วยหนักและเสียชีวิตลง ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของซุนกวนที่ต้องสูญเสียบุคลากรสำคํญไปติดต่อกันจากจิวยี่ แต่ง่อก๊กก็ยังไม่ขาดคนเก่ง ซุนกวนได้ตั้งให้ลิบองขึ้นมารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ (ต้าซื่อหม่า) บัญชาการกองทัพทั้งหมดแทนโลซก

พูดถึงลิบองผู้ซึ่งกลายเป็นแม่ทัพใหญ่สืบทอดอำนาจการคุมกองทัพต่อจากโลซกนั้นได้มีเรื่องเล่าว่า แรกๆโลซกมักจะมองลิบองไม่ขึ้นเพราะลิบองเป็นขุนศึกที่มักใช้แต่กำลังในการทำศึก โดยไม่ใช่สติปัญญาเท่าไหร่ เพราะลิบองเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา แต่ว่าซุนกวนนั้นนิยมในฝีมือของลิบอง จึงส่งเสริมให้เขาหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มโดยการเรียนหนังสือ จนต่อมาเมื่อโลซกได้โอกาสคุยกับลิบองในภายหลัง โลซกก็ถึงกับทึ่งในความก้าวหน้าของลิบองจนถึงกับออกปากพูดว่า “ลิบองในตอนนี้ไม่ใช่ลิบองแห่งง่อก๊กคนเก่าแล้ว”

หลังจากโลซกตายลง ความสัมพันธ์ของเล่าซุนซึ่งเริ่มย่ำแย่แล้วยิ่งหนักขึ้นอีก และมีผลกระทบในเชิงนโยบายมาก เพราะทำให้นโยบายการผูกมิตรกับเล่าปี่เปลี่ยนแปลงไป ซุนกวนนั้นไม่พอใจการกระทำของเล่าปี่และกวนอูจากกรณีเกงจิ๋วมากอยู่แล้ว จึงคิดจะเอาเมืองเกงจิ๋วคืนโดยใช้กำลังทหาร ซึ่งก็สำเร็จโดยการวางแผนของลิบองและลกซุน

และนับเป็นจุดเริ่มความเสื่อมลงของจ๊กก๊ก ที่จะส่งผลให้ง่อก๊กเองก็ลำบากไปด้วยในภายหลังเมื่อจ๊กก๊กพินาศลง

ถ้าโลซกอายุยืนมากกว่านี้อีกสัก 10 ปี พันธมิตรระหว่างเล่าปี่และซุนกวนเองก็คงจะอยู่ยืดยาวได้นานกว่านี้ และก็อาจจะส่งผลให้เล่าปี่และซุนกวนสามารถต่อสู้และปราบโจโฉลงได้ด้วย แม้ว่าลึกๆแล้วโลซกเองก็อาจไม่พอใจในตัวเล่าปี่ แต่อย่างน้อยเขาก็น่าจะยื้อระยะเวลาของการเป็นพันธมิตรไว้ได้อีกนานพอสมควร และสามารถเข้ารุกใส่โจโฉได้มากกว่าที่ควรเป็น ก่อนที่ทั้งเล่าปี่และซุนกวนจะแตกหันกันอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

ใครจะคิดว่าเพราะการตายของโลซกเพียงคนเดียวจะส่งผลสะเทือนยาวไกลขนาดนั้น คนอ่านสามก๊กหลายคนเองก็อาจจะไม่ได้คิดถึงจุดนี้ เพราะในนิยายสามก๊กนั้นโลซกมีภาพลักษณ์ของคนซื่อจนโง่ติดตัวอยู่ ทั้งที่ความจริงในประวัติศาสตร์แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ก็เป็นธรรมดา คนที่ซื่อตรงจิตใจดี มักจะถูกหาว่าเป็นคนโง่เง่ากว่าคนที่เก่งในการใช้ปัญญาในการหลอกลวงผู้อื่น

อาจเพราะผลงานสำคัญของโลซกคือการทำให้คนเป็นมิตรกัน ดังนั้นจึงไม่ได้รับการยกย่องเท่ากับผู้ที่ใช้ปัญญาในการทำให้ชีวิตผู้อื่นล้มตาย

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 สิงหาคม 2555 เวลา 22:52

    แวะมาเยี่ยมชมบล็อคครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ
    แต่เรื่องที่อยากจะรู้เพิ่มเติมคือ โลซกเป็นโรคอะไรตายครับ?

    ตอบลบ