“ฟ้าให้จิวยี่เกิดมาแล้วไยต้องให้ขงเบ้งเกิดมาด้วยเล่า”
เป็นประโยคที่โด่งดังมากที่สุดอันหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ที่บุรุษผู้หนึ่งได้พูดเอาไว้ก่อนตาย ชายคนนี้เป็นยอดแม่ทัพเรืออัจฉริยะอันดับหนึ่งแห่งยุคสามก๊ก อีกทั้งยังเป็นบุรุษรูปงามอีกด้วย
จิวยี่ ชื่อรองกงจิ๋น เกิดเมื่อปี ค.ศ.176 ตระกูลจิวนั้นเป็นตระกูลชั้นสูง ปู่ของเขาเคยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะที่บิดาของเขานั้นเคยเป็นผู้ว่าราชการของนครหลวงลั่วหยาง
ต่อมาเกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลือรวมทั้งเกิดการจลาจลขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ครอบครัวของจิวยี่จำต้องอพยพลงมายังภาคใต้ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนจึงมิใช่คนใต้โดยกำเนิดแต่เป็นคนเหนือที่ไปได้ดีที่ภาคใต้โดยกลายเป็นแม่ทัพเรือที่เก่งที่สุดของยุคนั้นไป
นั่นเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าจริงๆแล้วคนจีนทางตอนเหนือไม่ได้ไร้ความสามารถทางการเดินเรือ นั่นเพราะทั่วประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยแม่น้ำใหญ่น้อยมากมาย ซึ่งการเดินทางนั้นจำเป็นต้องใช้เรือ ทำให้ชาวจีนทั่วทุกภูมิภาคเป็นผู้ที่ชำนาญในการเดินเรืออย่างมาก ตัวอย่างนี้ก็ดูได้จากจูล่งซึ่งเป็นชาวเหนือเช่นกันแต่ก็มีความเชี่ยวชาญในการยิงธนูขณะที่อยู่บนเรือ
จิวยี่เมื่อได้มาอยู่ที่ภาคใต้ก็ได้มีโอกาสไปอยู่ที่กังหนำซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของซุนเกี๋ยนผู้นำตระกูลซุน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าแห่งพิชัยสงครามอย่างซุนหวู่
ซุนเกี๋ยนนั้นเป็นยอดนักรบผู้ห้าวหาญที่ได้สร้างชื่อมาจากการปราบปรามพวกโจรโพกผ้าเหลือง เขามีลูกอยู่ 5 คน โดยคนโตที่ชื่อว่าซุนเซ็กนั้นเป็นเด็กหนุ่มที่มีความห้าวหาญไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเวลาที่ซุนเกี๋ยนออกรบนั้น เขามักจะพาลูกๆของเขาๆไปในสนามรบด้วยเสมอ นั่นทำให้ลูกของเขานั้นเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อย
ตัวจิวยี่ในวัยเด็กนั้นได้รู้จักสนิทสนมกับซุนเซ็กซึ่งแก่กว่าตนแค่เดือนเดียว และไม่ช้าพวกเขาทั้ง 2 ก็ได้กลายเป็นเพื่อนตายที่ดีต่อกัน
ซุนเซ็กนั้นฉายแววความเป็นนักรบผู้กล้าหาญตั้งแต่ยังหนุ่ม ในขณะที่จิวยี่ก็ได้แสดงอัจฉริยะภาพออกมาตั้งแต่วัยหนุ่มเช่นกัน
ปีค.ศ.189 เกิดกองทัพพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะขึ้น โดยมีขุนศึกจากทั่วแผ่นดินถึง 18 หัวเมืองเข้าร่วมด้วย ซุนเกี๋ยนในฐานะเจ้าเมืองเตียงสาก็เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมในศึกครั้งนี้
ในการศึกครั้งนี้คาดว่าจิวยี่คงจะได้เข้าร่วมในกองทัพของซุนเกี๋ยนและได้หาประสบการณ์ในการรบเป็นครั้งแรกในช่วงนี้เอง
เมื่อเสร็จศึกแล้ว ซุนเกี๋ยนได้มีบารมีที่แกร่งกล้าขึ้นมามาก แต่จากนั้น 1 ปีต่อมาเขาก็ถูกทหารของเล่าเปียวและหองจอซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลแถบเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตอนใต้กึ่งกลางของประเทศลอบสังหารโดยการใช้พลธนูเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
นั่นทำให้ทายาทของซุนเกี๋ยนอย่างซุนเซ็กซึ่งยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยเพียง 16 ปี ต้องขึ้นมาคุมทหารแทนบิดาและสืบทอดชื่อของตระกูลซุน พร้อมทั้งประกาศล้างแค้นเล่าเปียวและมุ่งมั่นที่จะยึดเอาดินแดนเกงจิ๋วเป็นของตนให้ได้
แต่ช่วงนั้นซุนเซ็กเองยังอายุน้อย เขาจำต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจคนอื่นๆเช่นอ้วนสุด และกลายเป็นแม่ทัพให้กับอ้วนสุดอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แต่เขาก็ถูกอ้วนสุดที่ไม่ชอบพ่อของเขานั้นคอยกีดกันอยู่ตลอด ซึ่งเขาไม่มีทางเลือก ต้องทนอยู่เป็นเวลากว่า 2 ปี โดยในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจิวยี่จะแยกตัวออกไปเพื่อออกหาประสบการณ์ เพื่อที่จะรอเวลาให้ซุนเซ็กผู้เป็นเพื่อนรักผงาดขึ้นมาแล้วค่อยกลับมาสมทบด้วยในภายหลัง
ปีค.ศ.193 ซุนเซ็กได้ตัดสินใจมอบตราหยกราชสัญจกรที่พ่อของเขาเคยขุดพบโดยบังเอิญเมื่อครั้งที่ไปฟื้นฟูเมืองลั่วหยางเมื่อ 3 ปีก่อน มอบให้กับอ้วนสุดโดยแลกกับกำลังทหารและเหล่าแม่ทัพเช่น อุยกาย ฮันต๋ง เทียเภาที่เคยเป็นคนของพ่อตนเองกลับคืนมา โดยอ้างว่าจะนำไปช่วยเหลือน้าของเขาที่กำลังถูกเล่าอิ้วซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลทางตอนใต้รุกไล่อยู่
อ้วนสุดนั้นเป็นคนละโมบและโฉดเขลา จึงเห็นว่าตราหยกนั้นมีค่ากว่ากำลังทหารเพียงไม่กี่พันจึงได้ตกลงไป
จากนั้นซุนเซ็กก็นำกำลังทหารที่ได้มายกทัพลงใต้และในเวลาไม่นานก็สามารถทำลายล้างกลุ่มอิทธิพลที่ปกครองดินแดนทางใต้ได้จนหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธากองทหารของตระกูลซุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และซุนเซ็กนั้นได้สั่งทหารอย่างเฉียบขาดว่าเวลาเดินทัพผ่านเมืองหรือหมู่บ้านไหนก็ห้ามพวกทหารทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าทัพของซุนเซ็กจะผ่านไปทางไหน พวกชาวบ้านก็จะให้ความเคารพและยอมให้ผ่านไปได้เมื่อนั้น นอกจากนี้ยังได้กองทหารหรือพวกชาวบ้านที่มาขออาสาเป็นทหารเพิ่มมากขึ้นตามทุกที่ผ่านไป จนทหารที่มีเพียงไม่กี่พันคนในตอนแรกสุดเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นหลายหมื่นคนในเวลาไม่นาน อันนี้ต้องยกให้ความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและกุศโลบายของซุนเซ็กจริงๆ
จากนั้นซุนเซ็กก็ได้สร้างฐานอำนาจและขยายดินแดนแถบตอนใต้ไปกว้างขวางและมั่นคง โดยซุนเซ็กนั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของดินแดนแถบแม่น้ำฉางเจียนย่านตะวันออกหรือที่รู้จักกันว่า “กังหนำ” ในเวลาต่อมา โดยเมืองสำคัญของดินแดนนี้ที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ “นานกิง”
ส่วนจิวยี่ผู้เป็นเพื่อนรักของซุนเซ็กนั้น ในสามก๊กไม่ได้มีการพูดถึงในช่วงนี้ จึงเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีบทบาทอะไรนักและดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้อยู่ที่กังหนำด้วย
จากนั้นสองปีต่อมา อ้วนสุดที่ได้ตราหยกมาจากซุนเซ็กก็ตั้งตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แต่ก็ถูกโจโฉตีแตกพ่ายและถอยร่นลงมาทางตอนใต้ จึงคิดจะผูกมิตรกับซุนเซ็กอีกครั้งโดยการแต่งตั้งให้ จิวยี่และโลซกเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตวีฉาวและตงจวุ้น แต่พวกเขารู้ดีว่าอ้วนสุดเป็นคนเช่นไร ดังนั้นจึงได้อพยพมาอยู่กับซุนเซ็กที่กังหนำ
จากนั้นซุนเซ็ก จิวยี่ และโลซกก็ได้กลายเป็นสหายสนิทที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและมีส่วนช่วยทำให้กังหนำกลายเป็นดินแดนที่แข็งแกร่งมั่นคงดั่งภูผา
เกี่ยวกับโลซกนั้น ต้องเล่าย้อนกลับไปว่าจิวยี่ได้ไปกับพบเขาโดยบังเอิญ
มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อครั้งที่ซุนเซ็กกำลังเดือดร้อนเรื่องเงินทองสำหรับการเตรียมทัพและจัดหาเสบียงนั้น จิวยี่ได้อาสาว่าจะหาทุนมาให้ เพราะเขาได้ยินชื่อของโลซกว่าเป็นเศรษฐีใจบุญที่ช่วยเหลือผู้คน
จิวยี่ได้เดินทางไปหาโลซกที่บ้านและอาศัยชื่อของซุนเซ็กเพื่อขอยืมเงินจำนวนหนึ่งในการสร้างกองทัพ
แต่ชื่อของซุนเซ็กในเวลานั้นยังไม่เป็นที่โด่งดังและได้รับการยอมรับมากนัก เพราะตอนนั้นเขายังไม่ได้มีดินแดนและกองทัพที่ใหญ่โตเป็นของตนเอง ซึ่งจิวยี่นั้นก็ได้ทำใจล่วงหน้าไว้แล้วว่าคงไม่อาจจะขอยืมได้ง่ายๆ
แต่ผิดคาด โลซกกลับยอมให้ยืมโดยง่ายและบอกว่าตระกูลซุนนั้นเป็นตระกูลของนักรบที่มีคุณธรรมตัวเขาเองก็เลื่อมใสมานานจึงยอมช่วยเหลือและยินยอมมอบทรัพย์สินเงินทองและเสบียงที่มีจำนวนมากยิ่งกว่าที่จิวยี่ได้ร้องขอซะอีก
ซึ่งนี่ได้ทำเอาจิวยี่ถึงกับนิ่งอึ้งไป โลซกจึงพูดว่าไม่พอหรือ ว่าแล้วก็จะยกให้มากกว่าเดิมอีก
จิวยี่จึงรู้ว่าโลซกเป็นบุรุษใจกว้างและมีความซื่อตรง พวกเขาจึงคบหากันมานับแต่นั้นและภายหลังเมื่อซุนเซ็กตายและซุนกวนได้ขึ้นมาครองอำนาจสืบต่อ จิวยี่ก็ได้แนะนำโลซกให้แก่ซุนกวน และได้กลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ง่อก๊กของซุนกวนกลายเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในภายหลัง
จิวยี่เมื่อได้มาอยู่กับซุนเซ็กแบบเต็มตัวแล้ว ก็ได้เพิ่มความสัมพันธ์กับซุนเซ็กให้แนบแน่นขึ้นไปอีก ด้วยการกลายเป็นคู่เขยของซุนเซ็ก โดยเขาได้แต่งงานกับนางเสียวเกี้ยว น้องสาวคนสวยของนางไต้เกี้ยวภรรยาคนสวยของซุนเซ็ก นั่นเท่ากับทั้งสองก็ได้กลายเป็นคู่เขยกัน
เกี่ยวพี่น้อง “สองเกี้ยว” นั้น ทั้งคู่เป็นสาวงามแห่งเมืองกังหนำและเป็นลูกสาวของผู้เฒ่าเกียวก๊กโล ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของดินแดนกังหนำ ซึ่งนับเป็นโชคของผู้เฒ่าจริงๆที่นอกจากจะมีลูกสาวที่สวยจนลือเลื่องไปทั่วแผ่นดินถึง 2 คนแล้วยังได้ลูกเขยทั้ง 2 คนที่เป็นถึงบุรุษหมายเลขหนึ่งและสองของกังหนำอีกด้วย แถมจิวยี่ยังได้ชื่อว่าเป็นบุรุษรูปงามคนหนึ่งของยุคนั้นอีกด้วย
จากนั้นจิวยี่ก็ได้รับความไว้ใจจากซุนเซ็กอย่างเต็มที่และได้ตั้งให้เขาเป็นผู้คุมกองทัพเรือของกังหนำและเขาก็ได้นำเอากองทัพเรือขยายเป็นกองเรือพาณิชย์ราชนาวีและออกแล่นไปถึงทะเลบูรพา และออกค้าขายไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิกรวมถึงเกาะไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงนี้จิวยี่เองคงได้เห็นศิลปะวิทยาการและความรู้อะไรต่างๆมามากมายในการเดินเรือ ที่จะทำให้เขากลายเป็นแม่ทัพเรืออันดับหนึ่งแห่งยุคในภายหลัง
ปีค.ศ.200 ซุนเซ็กถูกลอบสังหารโดยทหารเลวแค่ 3 คนในขณะที่ออกล่าสัตว์และได้รับแผลจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อรู้ว่าไม่รอดแน่จึงเรียกตัวซุนกวนให้มารับตำแหน่งสือต่อรวมถึงเรียกตัวจิวยี่และเตียวเจียวผู้เป็นขุนนางคนสำคัญมาและสั่งเสียแก่ซุนกวนไว้ว่า
“เรื่องภายในให้ปรึกษาเตียวเจียว เรื่องภายนอกให้ปรึกษาจิวยี่”
จากนั้นนักรบหนุ่มผู้ห้าวหาญผู้พิชิตดินแดนภาคใต้จนราบคาบก็ต้องจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 25 ปี (แต่บางฉบับบอกว่า 27 ปี)
จิวยี่ที่รับหน้าที่เป็นเสาหลักของกังหนำก็ได้คอยช่วยเหลือซุนกวนในด้านการทหารเพื่อปกป้องศัตรูผู้รุกรานจากภายนอกร่วมกับเตียวเจียวที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง
ซุนกวนเองนั้นก็ให้ความเคารพยกย่องจิวยี่เป็นอันมาก ซึ่งว่ากันว่าถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทหารแล้ว หากจิวยี่เห็นเช่นไร ซุนกวนก็ว่าตามนั้นและจิวยี่ก็ให้ความภักดีต่อซุนกวนดุจเดียวกับที่เขาให้ต่อซุนเซ็กไม่ผิดเพี้ยน
ในเวลาเดียวกันนั้นโจโฉได้รบชนะอ้วนเสี้ยว ทำให้เขาสามารถรวบรวมประเทศในตอนเหนือและภาคกลางได้สำเร็จ และกำลังตระเตรียมกองทัพเพื่อยกพลลงปราบปรามภาคใต้
ตอนนั้นทางตอนใต้ของประเทศจีนคือตั้งแต่เขตแม่น้ำแยงซีลงมานั้น ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดมีอยู่ 2 คน นั่นคือ เล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งปกครองดินแดนในมณฑลเกงจิ๋วทั้งหมด อีกคนคือซุนกวน เจ้าเมืองกังหนำ ซึ่งครอบครองดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจนจรดฝั่งทะเล
โจโฉนั้นเล็งที่จะยึดเกงจิ๋วของเล่าเปียวเป็นอันดับแรกเพราะที่นี่เป็นเส้นทางสำคัญที่จะใช้ในการเดินทัพลงสู่ภาคใต้ของประเทศ และเป้าหมายต่อมาก็คือกังหนำของซุนกวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และยังมีเศรษฐกิจที่มั่นคงเพราะมีการค้าขายทางทะเลอีกด้วย
ตรงนี้ขอเล่าแบบตัดบทเล็กน้อย
นั่นคือเมื่อโจโฉสามารถยึดเมืองเกงจิ๋วได้เพราะเล่าจ๋องทายาทของเล่าเปียวซึ่งเป็นผู้ครองเมืองคนต่อมายอมสวามิภักดิ์แล้ว เป้าหมายต่อไปของโจโฉที่กำลังฮึกเหิมในชัยชนะนั่นก็คือการบุกยึดกังหนำของซุนกวน
โดยโจโฉได้ส่งจดหมายให้ซุนกวน มีความหมายว่าตนกำลังจะนำทัพร้อยหมื่นบุกมา ให้ยอมสวามิภักดิ์ซะโดยดี ซุนกวนร้อนใจมาก จึงรีบเรียกประชุมเหลาขุนนางโดยด่วนเพื่อปรึกษาหารือว่าจะทำเช่นไร
แล้วตอนนี้เองที่ขงเบ้งซึ่งเป็นกุนซือของเล่าปี่ได้เดินทางมาหาซุนกวนเพื่อที่จะขอร้องให้ซุนกวนร่วมเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่เพื่อรับศึกพอดี
ที่เล่าปี่มาขอเป็นพันธมิตรก็เพราะก่อนหน้านี้เล่าปี่ได้อาศัยอยู่กับเล่าเปียว โดยรับหน้าที่เจ้าเมืองซินเอี๋ยเพื่อคอยต้านโจโฉ แต่พอเล่าเปียวตายลงเล่าจ๋องกลับยอมสวามิภักดิ์ เล่าปี่ซึ่งไม่มีทางเลือกจึงต้องถอยหนีตายลงมาจนถึงเมืองแฮเค้าของเล่ากี๋ ผู้เป็นบุตรคนโตของเล่าเปียวแต่ไม่ได้รับสืบทอดเกงจิ๋ว เพราะถูกมารดาของเล่าจ๋องกีดกัน
เล่าปี่กับโจโฉนั้นยังไงก็อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ไม่คนใดคนหนึ่งจะต้องตายไป ดังนั้นแม้ว่าเล่าปี่จะมีกำลังทหารน้อยกว่ามากแค่ไหน ก็ยังคงคิดที่จะสู้ไม่ถอย
ด้วยเหตุนี้จึงมาขอเป็นพันธมิตรกับซุนกวนที่มีกองทหารที่กล้าแข็งให้ช่วยเหลือ
และเล่าปี่ที่จับมือกับซุนกวนก็ได้ร่วมกันเป็นพันธมิตรสู้ศึกกับโจโฉ โดยเปิดศึกกันที่ผาแดง(ผาเซ็กเพ็ก) และสงครามครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 ของเรื่องสามก๊กที่ผลหลังจากนั้นได้ทำให้ขั้วอำนาจของประเทศจีนในเวลานั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ และกลายเป็นสามก๊กในภายหลัง
สงครามครั้งนี้ถูกเรียกกันว่า “สงครามเซ็กเพ็ก”
เกี่ยวกับเรื่องราวนับจากตรงนี้ไปจนจบศึกเซ็กเพ็กนั้น ในสามก๊กของหลอก้วนจงได้บรรยายเอาไว้อย่างน่าตื่นเต้น และได้ทำให้ขงเบ้งกลายเป็นตัวเอกไป ทั้งที่ตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์แล้วผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเตรียมทัพเพื่อสู้กับโจโฉนั้นก็คือจิวยี่
แต่เพราะในนิยายสามก๊กของหลอก้วนจงนั้นต้องการเชิดชูฝ่ายเล่าปี่ ขงเบ้งจึงได้รับบทเด่นตรงนี้ไป
ในนิยายนั้น กล่าวถึงตอนที่ขงเบ้งเดินทางมาถึงกังหนำและเข้าพบซุนกวนไว้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันทีเดียว โดยบอกว่าเหล่าขุนนางของซุนกวนนั้นต่างมีความเห็นในเรืองการศึกแยกเป็น 2 ฝ่าย นั่นคือฝ่ายบุ๋นที่นำโดยเตียวเจียวเสนอให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ โดยให้เหตุผลว่ากองทัพของโจโฉมีจำนวนมหาศาลถึงรบไปก็มีแต่จะแพ้และสร้างความเดือดร้อนแก่ให้ราษฎรชาวกังหนำ ในขณะที่ฝ่ายบู๋ซึ่งนำโดยพวกอุยกายและเทียเภาเสนอให้รบ โดยให้เหตุผลว่ากังหนำแม้จะมีทหารน้อยกว่า แต่ก็มีแม่น้ำแยงซีไหลผ่านทำให้เป็นชัยภูมิที่มั่นคงหากต้องเกิดการรบย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบและเหล่าแม่ทัพนายกองของกังหนำทุกคนต่างก็พร้อมที่จะสู้ยอมตายให้ซุนกวน
ซุนกวนยังคงลังเลใจ เพราะตัวเขายังไม่เคยได้มีโอกาสในการเป็นแม่ทัพใหญ่นำทัพออกศึกจริงแบบนี้มาก่อน จึงปรึกษากับโลซกผู้เป็นขุนนางคนสนิท
โลซกนั้นเดิมทีเป็นตัวตั้งตัวตีในการให้ซุนกวนผูกเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ เขาเป็นคนที่คอยเจรจาและติดต่อกับขงเบ้งให้มาที่กังหนำ และเมื่อพันธมิตรได้เกิดขึ้นแล้ว ในภายหลังก็เป็นเขานี่แหละที่พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเอาไว้ ดังนั้นถ้าจะพูดว่าเขากับขงเบ้งเป็นผู้ที่ให้กำเนิดพันธมิตรเล่า-ซุนก็ไม่เกินเลยไปนัก
โลซกแม้จะเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น แต่เขาเป็นผู้ที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ เขาเห็นว่าซุนกวนสมควรจะเปิดศึกกับโจโฉ โดยให้เหตุผลสำคัญคือ หากว่าซุนกวนยอมสวามิภักดิ์นั้น ซุนกวนก็จะต้องถูกริบรอนอำนาจและยศศักดิ์รวมถึงอาจถูกส่งไปอยู่ในแดนไกล หมดโอกาสที่จะตั้งตัวอีกตลอดไป แต่กับขุนนางคนอื่นๆหรือตัวเขานั้น ยังไงซะก็คงจะได้เข้ารับราชการเหมือนเดิมในสังกัดโจโฉ เพียงแต่อาจจะได้ยศศักดิ์ที่น้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากคิดถึงตัวซุนกวนแล้ว ไม่ควรสวามิภักดิ์โดยเด็ดขาด
ซุนกวนจึงคิดได้และตัดสินใจยอมรับเป็นพันธมิตรพร้อมทั้งยอมพบและพูดคุยกับขงเบ้งที่เป็นทูตของเล่าปี่
แต่กระนั้นก็ยังคงมีความลังเลอยู่บ้างนั่นเพราะว่าเขายังไม่ได้ปรึกษากับจิวยี่ซึ่งในขณะนั้นตัวจิวยี่เองกำลังฝึกทหารเรืออยู่ที่กวนหยง ซุนกวนจึงได้ส่งสารเรียกตัวจิยี่กลับมาที่กังหนำด่วนเพื่อปรึกษาเรื่องนี้
จิวยี่เมื่อกลับมานั้น ด้วยการแนะนำของโลซกจึงได้พบกับขงเบ้งและพูดคุยกันในเรื่องการเปิดศึกกับโจโฉ
ในสามก๊กฉบับนิยายของหลอก้วนจงนั้นได้บรรยายไว้ว่า จิวยี่ไม่คิดจะเปิดศึกกับโจโฉและจับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่เพราะเขาคิดว่าการที่จะเปิดศึกกับโจโฉที่มีทหารนับล้านนั้นเป็นการเสี่ยงเกินไป และโจโฉนั้นสามารถยึดครองแดนตงง้วน(ภาคกลาง)ได้หมด ทำให้มีอิทธิพลกล้าแข็ง ไม่ควรที่จะเป็นศัตรูด้วย
แต่ด้วยคารมของขงเบ้งที่ได้ยั่วยุจิวยี่โดยบอกว่าเหตุที่โจโฉนำทัพบุกลงใต้นั้น นอกเหนือจากต้องการรวบรวมประเทศแล้วยังมีจุดหมายอยู่ที่ “นางสองเกี้ยว” สองสาวงามผู้เลื่องลือไปทั่วแผ่นดินผู้เป็นภรรยาและพี่สะใภ้ของจิวยี่อีกด้วย
โดยขงเบ้งได้อ้างว่าโจโฉนั้นได้สร้างปราสาทนกยูงสัมฤทธิ์ขึ้น ซึ่งตัวเขาตั้งใจไว้เป็นที่หาความสำราญโดยการนำสาวงามทั่วแผ่นดินไปไว้ในปราสาท และให้โจสิดผู้เป็นลูกชายคนที่ 4 ที่มีความเชี่ยวชาญในการแต่งโคลงกลอน ได้แต่งโคลงชื่นชมปราสาทซึ่งมีใจควาในทำนองที่ว่าต้องการนางสองเกี้ยวไปไว้ชื่นชม
ด้วยเหตุนี้เองจิวยี่จึงโกรธจัด ประกาศไม่อยู่ร่วมโลกกับโจโฉและจับมือกับขงเบ้งร่วมกันต้านศึกนี้
แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้มีบันทึกในประวัติศาสตร์จริง ที่สำคัญปราสาทนกยูงสัมฤทธิ์นั้นอันที่จริงแล้วสร้างขึ้นในปีค.ศ.210 ซึ่งเป็น 2 ปีหลังจากที่ศึกเซ็กเพ็กจบลงแล้วต่างหาก
ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ขงเบ้งจะนำเอากลอนบทนี้มาใช้ยั่ยยุจิวยี่เพื่อให้เปิดศึก
ด้วยเหตุนี้จึงฟันธงได้เลยว่าเหตุที่จิวยี่ตัดสินใจเปิดศึกกับโจโฉนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ขงเบ้งมายั่ยุแม้แต่น้อย แต่ตัวจิวยี่ได้พิจารณาหลายๆด้านแล้วพบว่าสามารถสู้ได้ต่างหาก
นี่จึงเป็นสิ่งหลอก้วนจงแต่งเพิ่มขึ้นมาเพื่อยกให้ขงเบ้งมีความโดดเด่นขึ้นและให้เรื่องราวมีความน่าตื่นเต้นขึ้นตามแบบฉบับของนิยายเท่านั้นเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วจิวยี่พิจารณาแล้วว่ามีโอกาสชนะศึก ด้วยปัจจัยเหล่านี้
-กังหนำมีชัยภูมิที่ดีเนื่องจากมีแม่น้ำหลายหลายไหลผ่าน เหมาะแก่การตั้งรับ ไม่ว่าข้าศึกจะมีกองทัพมากมายแค่ไหนก็ไม่อาจตีแตกได้ง่ายๆ
-กังหนำมีความอุดมสมบูรณ์ในและมีเศรษฐกิจมั่นคง ทำให้กำลังทหารเข้มแข็งตามไปด้วย
-เหล่าแม่ทัพนายกองและทหารใหญ่น้อยของกังหนำล้วนแต่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะเอาชนะศึกโดยไม่กลัวความตาย
-โจโฉนั้นเพิ่งจะได้ชัยชนะในการปราบปรามภาคเหนือทำให้เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่องในชัยชนะมากเกินไป และเกิดความประมาทขึ้นได้
-ทหารส่วนใหญ่ของโจโฉที่ใช้ในการตีภาคใต้ล้วนแต่เป็นทหารที่รวบเอามาจากทัพที่พ่ายแพ้ของอ้วนเสี้ยวและทหารเกงจิ๋วที่มาสวามิภักดิ์ ด้านกำลังขวัญจึงอาจจะมีไม่มากนัก
-ช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นตามแถบหัวเมืองภาคใต้พอดี และหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดโรคระบาดขึ้นในทัพของโจโฉจริงๆ ทำให้ทหารล้มตายไปมากมาย
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้จิวยี่จึดคิดว่านี่เป็นโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเอาชนะโจโฉได้ จึงเสนอให้ซุนกวนตัดสินใจรบกับโจโฉทันที
ในที่ประชุมขุนนางซุนกวนมอบกระบี่อาญาสิทธิ์ให้กับจิวยี่และมอบตำแหน่งแม่ทัพใหญ่เพื่อให้จิวยี่มีอำนาจการตัดสินใจเต็มที่ ในการทำศึก พร้อมทั้งประกาศว่าหากใครยังไม่เห็นด้วยในการเปิดศึก นั่นทำให้พวกที่ไม่เห็นด้วยต่างหงอไปตามๆกันและยังเป็นการทำให้แม่ทัพนายกองของกังหนำสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ตรงนี้มีเกร็ดน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับที่จิวยี่ได้ตำแหน่งบัญชาการสูงสุดในกองทัพนั้น ทำให้แม่ทัพอาวุโสอย่างเทียเภาซึ่งรับใช้ตระกูลซุนมาตั้งแต่สมัยของซุนเกี๋ยนนั้นไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะจิวยี่มีอายุแค่ 34 ปี แต่กลับมีอำนาจบัญชาการสูงสุดในกังหนำ เรียกได้ว่าภายในกังหนำนี้จิวยี่มีอำนาจเป็นรองอยู่แค่คนเดียวนั่นคือซุนกวน
เทียเภาจึงน้อยใจและขังตัวเองอยู่ในที่พักไม่ยอมเข้าประชุมทัพด้วย เมื่อจิวยี่รู้เข้าจึงไปาหเทียเภาถึงที่พักและแสดงความนอบน้อมจนเทียเภาเกิดความละอายและรีบขอขมาต่อจิวยี่และจับมือกันเพื่อรับศึกกับโจโฉอย่างเต็มกำลัง
เกร็ดตรงนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าจิวยี่นั้นไม่ใช่คนที่มีใจคอคับแคบเหมือนอย่างในนิยายได้ว่าไว้ แต่จริงๆแล้วเขาเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวางมาก ไม่เช่นนั้นคงจะไม่สามารถเอาชนะใจเหล่าแม่ทัพของกังหนำที่เต็มไปด้วยเหล่าผู้อาวุโสกว่าเขาได้
ในนิยายนั้นได้บอกว่าจิวยี่มีความอิจฉาในตัวขงเบ้งที่เป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ จึงไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะตัวจิวยี่ไม่มีความจำเป็นต้องไปอิจฉาอะไรในตัวขงเบ้งเลย
จิวยี่นั้นเป็นถึงบุรุษหมายเลข 2 ของกังหนำซึ่งเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตและกำลังทหารที่เข้มแข็งและยังคุมทหารนับหมื่น ในขณะที่ขงเบ้งนั้นเป็นเพียงที่ปรึกษาของเล่าปี่ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเมืองเป็นของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
จิวยี่ได้ภรรยาคือนางเสียวเกี้ยว ซึ่งเป็นถึงสาวงามเลื่องชื่อแห่งแผ่นดิน แต่ภรรยาของขงเบ้งคือนางหวังเย่อิงนั้นได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่ขี้เหร่มากคนหนึ่งเพียงแต่ที่ขงเบ้งเลือกนางเป็นภรรยานั้นเพราะนางมีความรอบรู้ในศาสตร์ลึกลับหลายแขนง
ไม่มีเหตุผลใดที่จิวยี่จะต้องไปอิจฉาขงเบ้งเลยแม้แต่น้อย
ถ้าจะบอกว่าจิวยี่ไม่ค่อยไว้วางใจในตัวขงเบ้งกับเล่าปี่ และระแวงว่าท้องสองคนจะกลายเป็นศัตรูที่ร้ายกาจในภายหลัง นั่นต่างหากถึงจะสมเหตุสมผลมากกว่า ทำให้การกระทำและนโยบายใดๆของซุนกวนและโลซกที่ส่อว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายเล่าปี่ เขาจะไม่ค่อยยินยอมนัก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง มันก็เป็นเช่นนี้จริงๆ
เรื่องการศึกเซ็กเพ็ก ในฉบับนิยายนั้นได้บรรยายไว้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าติดตามทั้งช่วงเตรียมทัพ การวางแผน วางกลศึก ไปจนถึงช่วงที่เปิดฉากและสงครามจบลง มีเรื่องราวพิศดารหักมุม วางแผนซ้อนแผน และเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือด โดยมีขงเบ้งเป็นตัวเอกที่มีบทเด่นที่สุด
แต่เรื่องจริงในประวัติศาสตร์แล้วคนที่มีความสำคัญและมีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดก็คือจิวยี่
ในฉบับนิยายนั้นเล่าว่าจิวยี่ได้ขอคำแนะนำจากขงเบ้งในการที่จะทำลายกองทัพเรือของโจโฉ โดยขงเบ้งแนะไปว่าให้ใช้ไฟในการทำลาย แต่ปัญหาคือการจะใช้ไฟเผาทำลายทัพเรือนั้นจำต้องทำให้เรือแต่ละลำถูกล่ามโซ่ติดไว้ แล้วจะมีหนทางใดที่จะทำให้โจโฉใช้โซ่ผูกกองทัพเรือของตัวเองแบบนั้น
ต้องหาไส้ศึกสักคนให้เข้าไปทัพของโจโฉ แล้วให้เขาเสนอความคิดนี้กับโจโฉ แต่มีเงื่อนไขว่าคนๆนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีความสติปัญญาสูงและต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับใช้ผู้มีอำนาจคนใดมาก่อน เพื่อจะได้ทำให้โจโฉไม่คิดระแวงสงสัย
ขงเบ้งจึงเสนอชื่อของบังทอง ผู้มีฉายาว่า “ลูกหงส์” ซึ่งขงเบ้งยอมรับนับถือในสติปัญญาว่ามีไม่แพ้ตนและยังมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน้าที่นี้
จิวยี่จึงได้เชิญตัวบังทองมาพบและได้วางแผนให้บังทองเข้าไปเป็นสายลับในกองทัพของโจโฉ และบังทองก็ได้ทำตามแผนการโดยแนะนำให้โจโฉเอาโซ่มาผูกล่ามเรือของตัวเองให้ติดกันเพื่อที่ว่าทัพเรือของจิวยี่จะได้ใช้เรือเผาได้ทั้งหมดในภายหลัง
เหตุที่โจโฉยอมเชื่อคำของบังทองนั้นเป็นเพราะว่าขณะนั้นในกองทัพของโจโฉกำลังประสบปัญหาหนักนอกเหนือไปจากโรคระบาดแล้ว ยังมีพวกทหารจากทางเหนือที่ไม่เคยชินกับการอยู่บนเรือรบที่ต้องโคลงเคลงตลอดเวลา ดังนั้นการใช้โซ่ล่ามติดกันทำให้เรืออยู่นิ่งนั้นจึงเป็นทางแก้ปัญหาทางหนึ่ง
ตรงนี้เองที่ขัดกับความเป็นจริง นั่นเพราะจริงๆแล้วชาวจีนไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ล้วนแล้วแต่มีความชำนาญในการเดินเรือด้วยกันทั้งนั้น นอกจากว่าจะเป็นชาวจีนทางตอนเหนือสุดที่ออกไปนอกกำแพงเมืองจีนนั่นแหละที่ไม่ชำนาญการเดินเรือ แต่เป็นสุดยอดแห่งการขี่ม้า
ดังนั้นหากมองตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจโฉจะต้องเอาโซ่มาผูกเรือของตัวเองให้ติดกันไว้ และโจโฉเองก็เป็นขุนศึกที่ชำนาญการศึก เขาจะน่ามองออกว่าหากทำแบบนั้นแล้วกองทัพเรือของตนก็มีสิทธิ์ที่จะถูกเล่นงานด้วยเพลิงไฟได้ง่ายๆเพราะเหล่าที่ปรึกษาของโจโฉที่ตามทัพมาด้วยอย่างซุนฮิวหรือกาเซี่ยงนั้นต่างก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับวิธีนี้นัก
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทัพของโจโฉกำลังเผชิญอยู่ตอนนั้นก็คือโรคระบาด ซึ่งรุนแรงมากในบริเวณตอนใต้ของจีน มีประชาชนมากมายที่ต้องล้มตายไปด้วยโรคระบาดนี้ และกองทัพของโจโฉก็โดนโรคระบาดนี้เล่นงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบรรดาทหารที่โจโฉได้รวบเอามาจากเมืองเกงจิ๋วนั้นติดโรคนี้ไปเกือบทุกกอง
ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี้เอง ที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักทำให้โจโฉต้องถอยทัพกลับ และอาจจะเป็นโจโฉเองด้วยซ้ำที่ทำการเผาเรือและทหารที่ป่วยเป็นโรคของตนเองทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นภาระ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายกังหนำได้เรือรบของตนเองไปใช้ด้วย
เท่ากับว่าโจโฉไม่ได้แพ้ไปอย่างยับเยินเหมือนอย่างที่นิยายได้ว่าไว้ เพราะหากโจโฉซึ่งนำทัพมาถึง 1 ล้าน แพ้ยับเยินไปแบบนั้นจริงล่ะก็ ดินแดนภาคกลางและภาคเหนือที่เขาเพิ่งรวบรวมได้นั้น น่าที่จะมีคนฉวยโอกาสก่อกบฏขึ้นมาต่อต้านเป็นแน่
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในปีต่อมาโจโฉก็ยังสามารถระดมพลทหารเตรียมทำศึกที่หับป๋าได้อีกและในปีต่อมาก็ถึงกับสามารถสร้างตำหนักตั้งเซ็กโต๋ หรือ ปราสาทนกยูงสัมฤทธ์เป็นการเสริมบารมีให้ตัวเองได้
หากโจโฉแพ้ยับกลับไปจริง ในความเป็นจริงแล้วคงจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วขนาดนั้นในเวลาเพียงปีหรือ 2 ปี
อีกเหตุผลก็คือ หากดูตามประวัติศาสตร์จีนรวมถึงหลักความเป็นจริงแล้ว ในการรบกันของ 2 ฝ่ายนั้น หากว่าฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องสูญเสียทหารไปมากมายขนาดนั้นจริง โอกาสที่เขาจะตั้งตัวขึ้นมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างอ้วนเสี้ยวที่มีทหารนับแสนและพ่ายให้โจโฉในศึกกัวต๋อก็ไม่อาจตั้งตัวขึ้นมาได้อีก หรืออย่างเล่าปี่ที่ได้เป็นฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊กในภายหลังจากนี้อีกหลายสิบปีได้นำทหาร 7 แสนไปพ่ายแพ้ยับเยินให้กับลกซุนจนต้องตรอมใจตายในภายหลังนั้น ขงเบ้งซึ่งรับสืดทอดเจตนารมณ์มากว่าที่จะสร้างกองทัพให้พร้อมรบได้อีกครั้งก็ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็มิอาจสร้างกองทัพให้ยิ่งใหญ่ได้เช่นเดิมเหมือสมัยที่เล่าปี่เพิ่งตั้งอาณาจักรได้อีก
ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากทีเดียวว่าที่โจโฉแตกพ่ายอย่างย่อยยับจนเหลือทหารไม่กี่ร้อยกี่พันจาก 1 ล้านในศึกเซ็กเพ็กนั้นเป็นเรื่องที่หลอก้วนจงแต่งเสริมขึ้น ซึ่งศึกนี้นับว่าโจโฉพ่ายแพ้จริง แต่คงตัดสินใจถอยกลับไปก่อนที่กองทัพของตนเองจะเสียหายยับเยินมากขนาดในนิยาย และหากวิเคราะห์กันตามตรงแล้ว ที่จริงโจโฉอาจไม่ได้ยกทหารมาขนาดร้อยหมื่นดั่งจดหมายขู่ที่ได้แจ้งแก่ซุนกวนก็ได้ เพราะการอ้างถึงจำนวนทหารให้มากไว้นับเป็นการข่มขู่ข้าศึก ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กันมานมนานและยังถือเป็นหนึ่งในพิชัยยุทธ์อีกด้วย หากโจโฉยกกองทัพมาถึงหนึ่งล้านจริงแล้วแพ้ยับกลับไปแบบนี้ ทหารของโจโฉหรือตัวโจโฉเองคงไม่กล้ายกทัพบุกง่ออีกแน่ จิวยี่เองก็น่าจะอ่านออกว่าทัพของโจโฉแม้จะยกยามมากจริง แต่ก็ไม่ถึงหนึ่งล้านแน่ ดังนั้นถึงกล้าเปิดศึก
แต่ไม่ว่าเรื่องจริงๆมันจะเป็นเช่นไร โจโฉจะถูกเผาทัพเรือจนย่อยยับหรือว่าถอยทัพไปเองเพราะโรคระบาด หรือจะอย่างไรก็แล้วแต่ เท่ากับว่าในศึกนี้จิวยี่ในฐานะแม่ทัพใหญ่แห่งกังหนำได้รับชัยชนะและเป็นการทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากที่โจโฉได้ถอนกำลังออกไปแล้วฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนต่างก็แย่งกันฉกชิงเอาดินแดนเกงจิ๋วส่วนที่เหลือ ซึ่งฝ่ายเล่าปี่นั้นไวกว่าและได้เมืองในเกงจิ๋วไปถึง 4 จาก 8 เมือง
จิวยี่เจ็บใจมากที่ทางเล่าปี่มาชุบมือเปิบในขณะที่ตนเองต้องเหนื่อยยากในการรบกับทางโจโฉ แต่แทบจะไม่ได้เมืองใดเป็นการตอบแทนเลย แถมนี่ยังเป็นการทำให้เล่าปี่เริ่มมีฐานกำลังเป็นของตัวเองด้วย ซึ่งจิวยี่เกรงว่าอาจจะเป็นภัยกับกังหนำในวันหน้าได้
ถ้าจิวยี่จะไม่พอใจขงเบ้งหรือเล่าปี่ก็คงเป็นเรื่องนี้มากกว่า ไม่ได้รู้สึกอิจฉาอะไรหรอก
ในเรื่องการยึดหัวเมืองเกงจิ๋วนั้น ในนิยายและประวัติศาสตร์สามก๊กบันทึกไว้ต่างกัน ในนิยายเล่าว่าทัพของโจโฉที่พ่ายจากเซ็กเพ็กได้ถอยหนีขึ้นไปยังเมืองกังเหลง จิวยี่ได้ระดมทัพใหญ่เข้าติดตาม แต่ก็โจโฉได้ใช้ให้โจหยินคอยอยู่เฝ้าที่กังเหลงอย่างแน่นหนา จิวยี่ใช้เวลารบพุ่งอยู่นานก็ไม่อาจตีแตก แถมในระหว่างการเข้าตีก็ถูกธนูยิงจนบาดเจ็บต้องถอยทัพกลับ จิวยี่จึงอาศัยการบาดเจ็บของตนให้เป็นประโยชน์ ปล่อยข่าวว่าตนเองตายแล้วลวงให้โจหยินยกทัพออกนอกเมือง แล้วอาศัยการดักซุ่มเข้าตีจนทัพของโจหยินแตกพ่าย โจหยินจึงต้องถอนทัพกลับขึ้นเหนือไปตั้งมั่นที่เมืองเซียงหยางโดยละทิ้งเมืองกังเหลงไป จิวยี่จึงนำทัพหมายจะเข้ายึดเมืองกังเหลงที่ไร้คนเฝ้า แต่กลับพบว่าจูล่งเข้ามายึดเอาไว้แล้ว ซึ่งเป็นแผนการของขงเบ้งที่อ่านออกว่าจิวยี่จะใช้แผนแสร้งเจ็บล่อทัพโจหยินออกนอกเมือง จึงอาศัยจังหวะนั้นให้จูล่งนำทัพเข้ายึดกังเหลงเอาไว้ จิวยี่โกรธมากที่ถูกขงเบ้งชุบมือเปิป แต่ทำอะไรไม่ได้จึงต้องรามือจากกังเหลง นั่นคือเรื่องในฉบับนิยาย ซึ่งการกระทำของขงเบ้งนั้นนับว่าโกงฝ่ายง่อมาก แม้ว่าตำราซุนหวู่จะระบุว่าการรบที่ดีที่สุดคือการใช้ทหารน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลยก็ตามที
แต่ในประวัติศาสตร์กลับบันทึกต่างไปโดยเล่าว่าจิวยี่ใช้เวลาอยู่หนึ่งปีในการตีเมืองกังเหลงจากโจหยินแต่ก็ไม่อาจตีแตกและถูกธนูยิงจนบาดเจ็บ ซึ่งตรงนี้บันทึกเหมือนกัน ที่ต่างกันคือเรื่องหลังจากนี้
โดยในประวัติศาสตร์นั้นบันทึกแตกต่างออกไปว่า โจหยินดูสภาพการณ์แล้วคิดว่า กองทัพของตนคงไม่สามารถต้านทานกองทัพง่อต่อไปได้อีก จึงตัดสินใจถอยทัพออกจากกังเหลงและไปตั้งมั่นที่เซียงหยางแทน โดยบ้างก็ว่าเป็นการตัดสินใจที่ได้รับความเห็นชอบจากโจโฉด้วยซ้ำ ฝ่ายจิวยี่จึงสามารถเข้ายึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ
จากนั้นขงเบ้งจึงเข้าเจรจากับซุนกวนเพื่อขอยืมเมืองกังเหลงเพื่อให้เล่าปี่ใช้เป็นฐานที่มั่นในการตั้งหลัก เพื่อว่าวันหน้าจะยกทัพเข้ายึดเสฉวน และหากวัใดนยึดเสฉวนได้ ก็จะคืนเมืองกังเหลงให้ ซึ่งโลซกสนับสนุนแผนนี้ เพราะจะทำให้เล่าปี่ขึ้นมาคอยค้ำอำนาจทางทิศตะวันตกกับโจโฉเอาไว้ ซุนกวนก็เห็นด้วยจึงยอมให้ไปโดยมีโลซกเป็นผู้ค้ำประกันว่าหากวันใดเล่าปี่ยึดเสฉวนได้ จะคืนเมืองนี้ให้ซุนกวน ซึ่งนับเป็นการทำสัญญาที่ง่อเสียเปรียบ เพราะไม่มีกำหนดระยะเวลา
จิวยี่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นคนที่เหนื่อยยากที่สุดในการยึดเมืองกังเหลง เขาทำไปเพื่อเอาเมืองนี้ให้แก่ซุนกวนไม่ใช่เล่าปี่ แต่ขงเบ้งกลับหาเหตุมาเอาเมืองกังเหลงไปอย่างง่ายๆโดยที่ไม่ได้ลงแรงอะไร ดังนั้นหากจะมีเรื่องที่จิวยี่ไม่พอใจขงเบ้ง สมควรเป็นกรณีนี้มากที่สุด
เพราะบรรดาเมืองที่เล่าปี่ยึดได้จากโจโฉนั้น เมืองกังเหลงถือเป็นเมืองสำคัญที่เป็นประตูขึ้นสู่ภาคกลางซึ่งฝ่ายซุนกวนเองก็ต้องการได้ และเขาเองก็สมควรจะได้เพราะหากไม่ใช่จิวยี่เอาชัยชนะในศึกเซ็กเพ็กได้ล่ะก็ ฝ่ายเล่าปี่คงไม่มีทางได้เมืองนี้มาแน่
ในที่สุด กรณีเกงจิ๋วนี้ก็กลายเป็นชนวนที่ทำให้พันธมิตร เล่า ซุน เริ่มมีรอยร้าว หลายปีต่อมา เมื่อเล่าปี่ยกทัพรุกเข้าเสฉวน และตั้งหลักที่เสฉวนได้ ซุนกวนต้องการเมืองเกงจิ๋วคืน จึงส่งโลซก ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาไปทวงเอาเมือคืนจากเล่าปี่
โลซกนั้นเป็นขุนนางที่มีความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์ก็กว้างไกล แต่เขาเป็นคนซื่อตรงที่มีจิตใจกว้างขวาง เขายึดหลักความจริงใจเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งในการทูตแล้วก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแต่ในกรณีเมืองเกงจิ๋วนี้ การทูตแบบซื่อๆของโลซกไม่สามารถแก้ปัญหาได้
และในที่สุด เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว พันธมิตรทั้งสองฝ่ายก็แตกหักกันในที่สุด แต่นั่นเป็นเรื่องหลังจากที่จิวยี่เสียชีวิตไปแล้วหลายปี
กลับมาที่เรื่องของจิวยี่ หลังจากเสร็จศึกที่เซ็กเพ็กแล้ว จิวยี่ก็ได้รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ควบคุมกองกำลังทหารส่วนหน้าประจำอยู่ที่ลำกุ๋น และก็ได้ติดโรคร้ายมากับเขาด้วยรวมถึงในการศึกครั้งหนึ่งเขาถูกลูกธนูยิงเข้าจนเป็นแผลลึกและได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาต้องกระอักเลือดตายในภายหลัง ไม่ใช่เพราะเจ็บแค้นขงเบ้ง
จิวยี่นั้นเจ็บใจที่เล่าปี่และขงเบ้งวางแผนคิดไม่ซื่อตลบหลังเอาเมืองเกงจิ๋วไป จึงได้ออกอุบายล่อให้เล่าปี่เข้ามาแต่งงานกับซุนหยิน น้องสาวของซุนกวน แต่จริงๆแล้วเป็นการลวงมาฆ่า
แต่ขงเบ้งรู้ทันจึงได้ส่งจูล่งมาอารักขาและวางแผนซ้อนแผนจนเรื่องแต่งงานลวงกลายเป็นเรื่องจริงไป และเล่าปี่ก็ได้เมียสาวที่อายุอ่อนกว่าตนถึง 30 ปีกลับมาที่เกงจิ๋วด้วย
ที่กลายเป็นคำกล่าวในภายหลังที่ว่า “เสียทั้งเมือง เสียทั้งนารี”
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นการวางแผนของจิวยี่ แต่เป็นการแต่งงานจริงที่ฝ่ายซุนกวนจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างตระกูลเล่าและตระกูลซุนมากกว่า ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ที่ใช้การแต่งงานเป็นเครื่องเชื่อมไมตรี
ไม่ว่าจะจริงเท็จยังไงภายหลังจากที่เล่าปี่ได้กลับเกงจิ๋วไปแล้วไม่นาน จิวยี่ก็ได้นำทัพออกศึกอีกครั้งเพื่อหวังที่จะยึดเมืองหับป๋า แต่ระหว่างทางบาดแผลเก่าที่เคยถูกธนูยิงเกิดกำเริบขึ้น ในที่สุดเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่อาจมีชีวตรอดต่อไปได้อีก จึงเรียกตัวโลซกเพื่อนสนิทให้มาพบ และเขียนจดหมายฝากให้ซุนกวนขอให้แต่งตั้งโลซกขึ้นดำรงตำแหน่งแทนตนเอง จากนั้นก็สิ้นลม
ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ชีวิตของจิวยี่ถือว่าได้อยู่และตายอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว
ชั่วชีวิตนี้เขาทำทุกอย่างเพื่อตระกูลซุนและเพื่อสร้างง่อก๊กขึ้น โดยไม่เห็นแก่ตนเองเลย
เขาเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวางและเปี่ยมด้วยความสามารถอย่างยิ่ง หลักฐานคือเขาสามารถเอาชนะใจของเหล่าทหารและแม่ทัพที่ล้วนแต่อายุมากกว่าเขาได้ แต่น่าเสียดายที่ในหนังสือสามก๊กได้ทำให้เขากลายเป็นคนที่ขี้อิจฉาและใจคอคับแคบไป เพียงเพราะเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเล่าปี่และขงเบ้งเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะพูดยังไงก็ตามนี่ก็คือชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาและตายไปอย่างไม่ต้องอับอายใคร
เพราะบุรุษที่ชื่อจิวยี่นี้ได้ทำทุกๆสิ่งอย่างที่ผู้เป็นบ่าวจะมอบให้กับนายของตนแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น