วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ลกซุน ป้อเอี๋ยน


ประวัติสามก๊ก ลกซุน ป้อเอี๋ยน
ภายหลังจากสามก๊กถูกก่อร่าง แบ่งแยกอำนาจกันอย่างสมบูรณ์ทั้งสามฝ่ายแล้ว แต่ละก๊กนั้นต่างก็มียอดคนผู้มีความเก่งกาจระดับอัจฉริยะเป็นเสาหลักคอยค้ำจุนอยู่
จ๊กก๊กมีขงเบ้ง วุยก๊กมีสุมาอี้ ส่วนง่อก๊กก็คืออัจฉริยะหนุ่มผู้มีนามว่าลกซุน
ในบรรดาทั้งสามคนนั้น ลกซุนเป็นผู้สร้างชื่อมาทีหลังสุด แต่ผลงานของเขากลับเข้าขั้นสะท้านแผ่นดิน และทำให้ง่อก๊กกลายเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่สามารถยืนหยัดอยู่ร่วมกับอีกสองก๊กได้อย่างมั่นคง
และตัวของลกซุนก็ถึงกับได้รับการยอมรับจากพระเจ้าโจยอยแห่งวุยก๊กว่าเป็นยอดอัจฉริยะในการศึกระดับซุนหวู่เลยทีเดียว
แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด หากไม่มีลกซุนแล้ว ง่อก๊กอาจจะพินาศไปก่อนหน้าที่จะได้ก่อตั้งเป็นประเทศไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็ต้องไปดูผลงานที่เขาได้จารึกชื่อไว้ในสงครามอิเหลง อันเป็นสงครามหนึ่งในสามที่โด่งดังที่สุดในสามก๊ก
ประวัติโดยย่อ
ลกซุนหรือลู่ซุนนั้น มีชื่อรองว่าป้อเอี๋ยน เกิดเมื่อปี ค.ศ.183 เป็นชาวเมืองง่อกุ๋น เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย เมื่อเด็กนั้นเขากำพร้าบิดา จึงอาศัยอยู่กับปู่ชื่อลกของ ภายหลังปู่ของเขาผิดใจกับอ้วนสุด จึงต้องอพยพหนีลงมายังดินแดนกังหนำ
เมื่อเป็นวัยรุ่น เขาได้เข้ารับราชการในฐานะบัณฑิตไฟแรงของกังหนำ และแสดงความปราดเปรื่องเกินตัว จนเป็นที่รู้จักกันทั่วในกังหนำ
ซุนกวนนั้นเป็นคนมีสายตาแหลมคมคนหนึ่ง เขามองออกว่าลกซุนมีความสามารถไม่ธรรมดาจึงให้การสนับสนุนโดยการให้มีตำแหน่งในกองทัพ
ภายหลังเขาถูกส่งให้ไปช่วยเหลือลิบองซึ่งกำลังอยู่รักษาเมืองลกเค้า เขาจึงช่วยเหลือลิบองในการวางแผนจัดการกับกวนอู และก็อย่างที่เล่าไปว่าประสบความสำเร็จ
ชื่อของลกซุนจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในกองทัพของง่อ
จนกระทั่งสองปีต่อมา ในปีค.ศ.221 เดือน 4 พระเจ้าเล่าปี่ ซึ่งเพิ่งจะสถาปนาตนขึ้นเป็นปฐมฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซู่ฮั่นก็ประกาศว่าจะยกทัพมาล้างแค้นให้กวนอู โดยการเกณฑ์ไพร่พลมหาศาลถึง 7 แสนคนบุกมาตีง่อก๊ก
และนี่คือหนึ่งใน 3 ศึกที่ได้ชื่อว่าโด่งดังที่สุดในสามก๊ก ศึกอิเหลง
ทางง่อก๊กกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะทัพของเล่าปี่นั้นมีมากมายมหาศาล แต่ซุนกวนไม่อาจที่จะนำกำลังทั้งหมดของตนมาต้านรับได้เพราะต้องคอยระวังภัยจากทางโจผีซึ่งอยู่ทางเหนือ แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข เมื่อซุนกวนส่งทูตไปขอเจริญไมตรีกับโจผีและยอมนอบน้อมให้โจผีเป็นฮ่องเต้แต่ผู้เดียวของประเทศจีน
แต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญอีกอย่างก็คือ ซุนกวนขาดคนที่จะมาเป็นแม่ทัพใหญ่สู้ศึกในคราวนี้ เพราะนับแต่ลิบองตายลงก็ยังไม่สามารถหาคนมาแทนตำแหน่งได้เลย
ในช่วงเวลาวุ่นวายที่เหล่าขุนนางของง่อพากันถกเถียงเพื่อเลือกเฟ้นหาแม่ทัพที่จะมารับศึกนั้น งำเต๊กขุนนางคนหนึ่งได้เสนอชื่อของลกซุนขึ้นมา
งำเต๊กแนะนำลกซุนต่อซุนกวนว่า ในอดีตนั้น เรื่องใหญ่น้อยทั้งปวงของง่อก๊ก ล้วนอาศัยจิวยี่เป็นแรง ต่อมาก็เป็นโลซก เมื่อโลซกตายก็ให้ลิบอง บัดนี้ลิบองก็ตายลง เห็นอยู่ก็แต่ลกซุนซึ่งอยู่รักษาเมืองเกงจิ๋ว คนๆนี้มีสติปัญญาไม่แพ้จิวยี่หากท่านเอาตัวมาใช้งานก็จะเอาชนะเล่าปี่ได้ หากลกซุนพ่ายแพ้แก่เล่าปี่ข้าก็ยินดีรับโทษเช่นเดียวกับลกซุน
ซุนกวนจึงนึกขึ้นได้เพราะเขาเองก็นิยมลกซุนไม่น้อย จึงเห็นด้วย แต่คณะที่ปรึกษาอย่างเตียวเจียว โกะหยง และเปาจิดต่างพากันคัดค้านเพราะเห็นว่าลกซุนยังอายุน้อยและเป็นเพียงนักศึกษาฝ่ายพลเรือนเท่านั้น
งำเต๊กจึงร้องว่าถ้าไม่เอาลกซุนมาทำงานนี้เมืองกังตั๋งคงจะเสียแน่นอน ดังนั้นเขายินดีเอาชีวิตตัวเองและบุตรภรรยาเป็นประกัน
ด้วยเหตุนี้ซุนกวนจึงตัดสินใจเลือกลกซุนภายใต้เสียงคัดค้านของเหล่าขุนนาง
เมื่อลกซุนเข้าพบซุนกวน เพื่อที่จะทำให้เกิดการยอมรับในบรรดาแม่ทัพทั้งหลาย และทหารในกองทัพ ซุนกวนจึงมอบกระบี่อาญาสิทธิ์และตราสำหรับแม่ทัพใหญ่ต่อหน้านายทหารน้อยใหญ่ทั้งปวง
แต่ถึงกระนั้นเหล่านายทหารอาวุโสต่างก็ยังไม่ยอมรับตัวลกซุน เพราะลกซุนนั้นเพิ่งจะอายุแค่ 28 ปี และนายทหารในกองทัพง่อแต่ละคนต่างก็มีอาวุโสและผลงานมากมายกว่าของลกซุนนัก
เมื่อถึงเวลาประชุมแม่ทัพเพื่อวางแผนการทำศึก ลกซุนจึงได้แสดงความสามารถในการวางกลศึกอย่างยอดเยี่ยม จนเหล่าแม่ทัพอาวุโสอึ้งไปตามๆกัน และเมื่อทัพ 7 แสนคนของเล่าปี่มาตั้งค่ายที่อิเหลงนั้น เหล่านายทหารต่างออกปากให้ยกทัพออกไปสู้ แต่ลกซุนยืนกรานที่จะให้ตั้งทัพรออยู่ในค่ายโดยไม่สนใจต่อการด่าทอของทหารฝ่ายตรงข้ามและความอยากออกรบของเหล่าขุนพลเฒ่าของตน
และในเวลาเพียงคืนเดียว ด้วยการตั้งค่ายเป็นแนวยาวอันผิดหลักพิชัยสงครามของเล่าปี่ ทำให้ลกซุนอาศัยการวางเพลิงทำลายค่ายและกองทัพทั้งเจ็ดแสนของเล่าปี่จนย่อยยับจากนั้นจึงนำทัพรุกไล่ตีโต้จนทัพ 7 แสนของเล่าปี่เหลือเพียงไม่กี่พันคนและต้องถอยกลับเมืองเป๊กเต้
ในนิยายนั้นเล่าว่าลกซุนไล่ตามเล่าปี่จนไปถึงค่ายกลที่ขงเบ้งสร้างไว้เพื่อดักรอลกซุน จนลกซุนหลงทางอยู่ในค่ายกลเกือบจะออกมาไม่ได้ แต่พ่อตาของขงเบ้งมาช่วยนำทางให้จึงออกไปได้
ตรงค่ายกลนี่เป็นเรื่องแต่งนะครับ อย่าคิดจริงจัง เมื่อพิจารณาจากเหตุผลนับร้อยนับพัน ไม่มีความจำเป็นที่ขงเบ้งจะไปสร้างค่ายกลแบบนั้น หากว่าขงเบ้งล่วงรู้ล่วงหน้าว่าเล่าปี่จะแตกทัพหนีลกซุนมา เขาควรที่จะคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เล่าปี่ชนะศึกให้ได้มากกว่า และพ่อตาของขงเบ้งก็ไม่เห็นจะต้องไปช่วยลกซุนซึ่งเป็นทหารศัตรูให้หนีรอดมาเลย
หลอก้วนจงผู้แต่งนิยายสามก๊กก็แต่งไปเรื่อย เขาพยายามจะแต่งเรื่องที่จะเสริมปัญญาของขงเบ้งให้เด่นขึ้นทุกครั้งที่มีโอกาส จนดูกลายเป็นเรื่องโอเว่อร์ และทำให้ขงเบ้งดูเหมือนพ่อมดหมอผีซะมากกว่าคนธรรมดา
ในประวัติศาสตร์นั้น การที่ลกซุนตีทัพเล่าปี่ไปได้ระยะหนึ่งแล้วตัดสินใจถอยกลับโดยไม่รุกไล่ต่อนั้น เพราะเขาได้ข่าวว่าโจผีนำทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองเซียงหยางเพื่อดูสถานการณ์ และจูล่งเองก็นำทัพหลังเข้ามาช่วยพาเล่าปี่กลับเข้าในเขตแดนเอ๊กจิ๋วอันเป็นเขตของฝ่ายเล่าปี่แล้ว หากจะตามตีเข้าไปถึงในแดนของจ๊กก๊ก ก็นับว่าเสี่ยงเกินไป คนระแวดระวังเช่นขงเบ้งย่อมเตรียมการป้องกันตรงจุดนี้ไว้แน่นอน ดังนั้นลกซุนจึงตัดสินใจถอยกลับ เพราะกลัวว่าโจผีจะตลบหลังด้วย ถ้าจะถอยกลับเพราะการขัดขวางของขงเบ้ง ตามเหตุผลนี้นับว่ายังสมควรกว่า
หลังเสร็จศึกครั้งนี้ ลกซุนได้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพคนสำคัญของง่อก๊ก เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมุหกลาโหม (ต้าตูตู) อันเป็นตำแหน่งที่จิวยี่และโลซกเคยดำรงมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือเขากลายเป็นบุคคลหมายเลขสองของง่อก๊กในเวลานั้นด้วยวัยยังไม่ถึง 30
หลังจากนั้นเมื่อเกิดศึกขึ้นกับง่อก๊ก ลกซุนในฐานะผู้กุมอำนาจทหารก็รับหน้าที่จัดการเรื่อยมา ในปลายปีค.ศ. 225 วุยก๊กของโจผียกทัพเข้าตีง่อก๊กที่หับป๋า ลกซุนช่วยเหลือซุนกวนเข้ารับศึก
ต่อมาปีค.ศ.228 การศึกที่ตำบลสือถิง ทัยวุยก๊กยกมาอีกครั้งโดยเหล่าขุนพลอาวุโสของตระกูลโจ ลกซุนรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการแนวหน้าจัดการเล่นงานจนวุยก๊กแพ้ยับเยิน
ปีถัดมา ค.ศ.229 เดือน 4 ผลจากการรบชนะวุยก๊กติดกันถึง 2 ครั้งใหญ่ๆ ทำให้ซุนกวนเกิดความฮึกเหิมและประกาศตั้งตนเป็นฮ่องเต้ เลือกเมืองเกี๋ยนเงียบหรือนานกิงเป็นราชธานี ซุนเสียวขึ้นเป็นอุปราช ลกซุนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและแม่ทัพฝ่ายขวา มีอำนาจสั่งการกองทัพต่างพระเนตรพระกรรณอย่างเต็มที่
ลกซุนยังได้แต่งงานกับลูกสาวของซุนเซ็ก ทำให้เขามีศักดิ์เป็นเขยของซุนกวนอีกด้วย
ในการปกครองของซุนกวนนั้น ลกซุนได้คอยช่วยเหลืองานราชการอย่างเต็มที่ แม้ว่าเขาจะถูกไปประจำที่เกงจิ๋วและรับผิดชอบงานภายนอกเป็นหลัก แต่เขาก็ยังคอยระแวดระวังเรื่องภายในเสมอ โดยเฉพาะกับในราชสำนักง่อ ซึ่งเขาได้มีส่วนอย่างมากในการตักเตือนและให้คำแนะนำต่อเหล่าเชื้อพระวงศ์ โดยเฉพาะลูกๆของซุนกวน
ซุนกวนนั้นมีนิสัยอันเป็นข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเริ่มจะมาแสดงออกหลังจากเป็นฮ่องเต้แล้ว นั่นก็คือความเป็นคนเอาแต่ใจ แม้ภายนอกเขาจะดูเหมือนสงบนิ่ง หากแต่เนื้อแท้แล้วเชื่อในความคิดของตนเป็นหลักใหญ่ เหตุเพราะการได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ รับผิดชอบเรื่องราวต่างๆมากมายตั้งแต่วัยเยาว์ และเขาก็ยังแทบไม่ผิดพลาดทั้งเรื่องการศึกหรือการปกครองเลย ทำให้ความเชื่อมั่นของเขามีสูงจนภายหลังเริ่มไม่ฟังคำของเหล่าขุนนาง
ระเบียบกฎหมายของง่อนั้นเข้มงวด และตัวบทลงโทษก็รุนแรงมากแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย ลกซุนเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเช่นนี้จึงเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยยกเหตุที่ว่าแผ่นดินยังไม่สงบ เราควรจะเน้นที่ขวัญกำลังใจของผู้คนและเหล่าทหารมากกว่าจะไปคอยลงโทษในการทำผิดเล็กๆน้อยๆ และเน้นที่การสร้างบารมีและความเมตตาจะดีกว่า ทำให้ระยะหลังเขาเริ่มมีความขัดแย้งกับซุนกวนอยู่บ่อยครั้ง
ปีค.ศ.234 ทัพจ๊กก๊กบุกตีวุยก๊กที่หวู่จ้างหยาน ขงเบ้งได้ส่งบิฮุยไปมาเจรจากับซุนกวน นัดหมายขอให้ทัพง่อบุกตีขนาบทัพวุยอีกทางหนึ่งตามข้อสัญญาพันธมิตร ซุนกวนจึงสั่งให้ลกซุนและจูกัดกิ๋นซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่กังแฮยกทัพเข้าตีซงหยง และให้ซุนเสียวและจังเฉิงเข้าตีเมืองหวายหยิง ส่วนตัวซุนกวนเองจะบุกโจมตีที่เมืองหับป๋า
ด้วยการบุกสามทางครั้งนี้ หากสำเร็จ ก็จะสามารถตีทัพวุยจนพินาศได้เพราะกำลังส่วนใหญ่ของวุยนั้นตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเตียงฮันในบัญชาการของสุมาอี้เพื่อรับศึกกับขงเบ้ง
แต่พระเจ้าโจยอยแห่งวุยก็มีผีมือพอตัว จึงยกทัพมาตั้งยันอยู่ที่หับป๋า และอาศัยช่วงที่ทัพง่อกำลังประมาทเข้าตีค่ายของจูกัดกิ๋นในเวลากลางคืน ทำให้ทัพเรือของง่อเกือบแสนคนต้องพินาศลงในคืนเดียว
ลกซุนได้ข่าวความพ่ายแพ้อย่างไม่น่าเชื่อของจูกัดกิ๋นทำให้รู้ว่าประเมินค่าวุยก๊กต่ำไป เพราะแม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาวุยต้องสูญเสียทหารและเงินทองไปมากในการรับมือกับทัพจ๊กของขงเบ้ง แต่ทหารของวุยก็ยังมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ผิดกับฝ่ายง่อซึ่งแม้จะมีทหารและยุทโธปกรณ์มากเพราะไม่ค่อยได้รบ แต่การที่ทหารไม่ค่อยได้รบก็ทำให้เป็นผลเสียเช่นกันในแง่ของวินัยและประสบการณ์จริงในการรบ
ดังนั้นลกซุนจึงวางแผนอีกครั้งที่จะพิชิตทัพวุยโดยการส่งจดหมายบอกให้ซุนกวนที่กำลังโอบล้อมเมืองซงหยง ให้หันทัพมาตีโอบเส้นทางกลับของโจยอยซึ่งอยู่ที่หับป๋า แต่แผนรั่วซะก่อน ลกซุนจึงต้องสั่งให้ถอยทัพกลับ และนั่นทำให้แผนการบุกตีสามทางของง่อต้องจบสิ้นลงในเวลาอันสั้น
หลังจากนั้น ง่อก๊กก็อยู่มาโดยปราศจากสงคราม จนเมื่อโกะหยง อุปราชคนที่สองของง่อสิ้นลง ลกซุนก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นอุปราชคนที่สามของง่อแทน ทำให้เขากลายเป็นผู้มีอำนาจดูแลกิจการทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดของง่ออย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ทางซุนกวนกลับเริ่มมีอาการบ้าอำนาจ ระดมสาวงามนับไม่ถ้วนเข้าวังและเอาแต่หาความสำราญกับนางสนม จนเหล่าขุนนางพากันทัดทาน แต่ซุนกวนในช่วงชรานั้นสติเริ่มไม่ดีและสั่งเนรเทศและประหารขุนนางภักดีไปไม่น้อย ประกอบกับเตียวเจียวซึ่งเป็นขุนนางคนเดียวที่กล้าต่อคำกับซุนกวนก็ตายไปหลายปีแล้ว ทำให้ซุนกวนไม่มีคนที่คอยเตือนสติ แม้ว่าลกซุนจะเป็นอุปราชที่คอยดูแลกิจการในง่อ แต่เขาก็ต้องดูแลด้านการทหารไปด้วย จึงไม่มีเวลาไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของซุนกวนมากนัก
ขณะนั้นทางง่อกำลังเกิดความวุ่นวายในเรื่องการสืบอำนาจจากบรรดาลูกๆของซุนกวน จนเริ่มเกิดเป็นศึกสายเลือดขึ้นในราชวัง ลกซุนเองก็ถูกดึงเข้ามาในวังวนของการแก่งแย่งอำนาจของเหล่าองค์ชายและรัชทายาท
เนื่องจากขณะนั้น บุตรชายสองคนของซุนกวนคือซุนโหและซุนป๋าต่างแย่งตำแหน่งผู้สืบทอดกัน โดยซุนโหซึ่งเป็นบุตรคนโตนั้นดำรงตำแหน่งรัชทายาท แต่ตัวซุนกวนเองกลับโปรดปรานซุนป๋ามากกว่า ลกซุนนั้นเห็นว่าควรให้ซุนโหรัชทายาทเป็นผู้สืบทอด ซุนป๋าไม่พอใจจึงหาเรื่องใส่ไฟลกซุนต่อซุนกวนบ่อยๆ และกลายเป็นเหตุให้ลกซุนเกิดการทะเลาะกับซุนกวน จนกระทั่งถูกปลดออกจากตำแหน่งอุปราช และยังผลให้เขาต้องป่วยหนักเพราะความเครียด ไม่เพียงเท่านั้น ซุนกวนยังส่งคนไปตำหนิลกซุนที่นอนป่วยอยู่บ้านอีก จนในที่สุด อาการป่วยของลกซุนก็กำเริบหนักและท้ายสุดก็เสียชีวิตลงในปี ค.ศ 245 รวมอายุได้ 63 ปี ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของชาวง่อและตัวซุนกวนเองที่คิดได้ในภายหลัง
ต่อมา ซุนฮิว ฮ่องเต้องค์ที่สามของง่อรู้สึกรำลึกถึงบุญคุณของเขา จึงได้แต่งตั้งยศย้อนหลังให้ลกซุนเป็นพระยาแห่งความฉลาดหลักแหลม และได้แต่งตั้งให้ลกข้องบุตรชายคนรองของเขามารับตำแหน่งสำคัญทางการทหารเพื่อจะผลักดันให้ช่วยเหลือง่อก๊กในอนาคต
พูดถึงลกข้องต้องบอกว่าเขามีความเก่งกาจไม่แพ้ลกซุนเลย เพราะนี่คืออัจฉริยะผู้เป็นเสาหลักค้ำบัลลังก์ง่อก๊กในยุคหลัง
ลกซุนได้รับการยอมรับและยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นอัจฉริยะผู้มีความสามารถสูง มีความเชี่ยวชาญในด้านกลยุทธ์และการทหารสูงที่สุดคนหนึ่งของยุคสามก๊ก ขนาดพระเจ้าโจยอย ฮ่องเต้ของวุย ซึ่งเป็นอาณาจักรฝ่ายตรงข้าม ยังถึงกับออกปากยกย่องว่าลกซุนมีความสามารถในการทำศึกราวกับซุนหวู่ ในนิยายสามก๊กเองก็ยกย่องความเก่งกาจของเขาว่าอยู่ในระดับเดียวกับขงเบ้งและสุมาอี้เลยทีเดียว ซึ่งผลงานการทำศึกของเขาก็เป็นเครื่องหมายรับประกันอย่างดี
วางแผนครั้งแรกปราบกวนอูได้ ครั้งที่สองนำทัพเองปราบเล่าปี่ได้ ผลงานขนาดนี้คงจะหาไม่ได้อีกแล้ว
น่าเสียดายว่านับจากลกซุนสิ้นไปแล้ว ก๊กง่อก็ไม่มีคนเก่งระดับขึ้นมาอีก เพราะผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาอย่างจูกัดเก๊กลูกของจูกัดจิ๋นนั้น มีส่วนทำให้บ้านเมืองง่อต้องประสบภัยจากการแย่งชิงอำนาจของลูกหลานซุนกวนมาพอควร
กว่าจะได้ลกข้องมาดำรงตำแหน่งต้าซือหม่า(แม่ทัพใหญ่)ก็เป็นในสมัยของทรราชย์ซุนโฮ ซึ่งเวลานั้นบ้านเมืองของง่ออยู่ในสภาพที่เลวร้ายมาก ตัวลกข้องเองเพียงแค่ดูแลด้านการทหารเพื่อคอยรับศึกกับวุยก๊กจนไปถึงจิ้นก๊กในยุคหลังก็นับว่าสุดความสามารถแล้ว
แต่ถึงอย่างไรด้วยความสามารถที่ผ่านมาของลกซุนก็ส่งผลให้ง่อก๊กกลายเป็นก๊กที่อายุยืนนานมากที่สุดในสามก๊กและชื่อของลกซุนก็ถูกจับเข้าในทำเนียบของยอดขุนพลอัจฉริยะ ผู้เป็นเสาหลักค้ำแผ่นดินในระดับเดียวกับขงเบ้งและสุมาอี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น