ประวัติสามก๊ก แฮหัวเอี๋ยน เมียวไซ
จากในเรื่องสามก๊ก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มิใช่เพียงแค่ในสามก๊กเท่านั้น เหล่าขุนศึกหรือผู้คิดก่อการใหญ่ทุกคนนั้น กว่าจะสำเร็จการใหญ่ของตนได้หลายคน จำต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้าช่วย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเหล่านั้นก็คือบริวาร และ ญาติมิตร
นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างที่เขาว่าเลือดข้นกว่าน้ำ ผู้ทำการใหญ่ไม่อาจเชื่อใจใครได้ง่ายๆ ดังนั้นญาติมิตร หรือครอบครัวจึงมีความสำคัญในฐานะผู้ที่จะช่วยเหลือกันให้ไปถึงยังเป้าหมายได้สำเร็จ
และในเรื่องสามก๊ก โจโฉนับเป็นขุนศึกที่ประสบความสำเร็จด้านนี้ นั่นคือญาติมิตร ครอบครัวของเขานั้นมีส่วนเกื้อหนุนอย่างมากต่อการทำการใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักกับเหล่าขุนศึกคนอื่นๆในยุค เพราะในขณะที่ญาติมิตรและครอบครัวสามารถส่งเสริมกันได้ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวทำลายที่ร้ายกาจ
แต่โจโฉกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในระยะแรกที่เขายังไม่ได้มีบุคลากรที่เก่งกาจมากมายนั้น เขาผงาดขึ้นมาเพราะอาศัยญาติมิตรหลายคนช่วยเหลือ จนกระทั่งเมื่อเป็นใหญ่ขึ้นมาแล้ว ก็ยังได้คนเหล่านั้นช่วยค้ำจุนเอาไว้ จนสามารถก่อรากสร้างก๊กขึ้นมาได้
และในบรรดาขุนพลยุคแรกที่เป็นกลุ่มญาติสนิทของโจโฉ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและผลงานมากมาย ก็มีอยู่ 4 คนนั่นคือ แฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน และโจหอง
และในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน กล่าวกันว่าแฮหัวเอี๋ยนคือผู้ที่มีฝีมือการรบเป็นเยี่ยมที่สุด
ประวัติโดยย่อ
แฮหัวเอี๋ยน ชื่อรองเมียวไซ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 161 เป็นน้องชายของแฮหัวตุ้น ซึ่งแซ่แฮหัวนั้นเป็นนามสกุลเดิมของโจโก๋บิดาของโจโฉ เขาจึงมีศักดิ์เป็นน้องชายของโจโฉ นอกจากนี้เขายังมีศักดิ์เป็นเขยของโจโฉด้วย เพราะภรรยาของเขาเป็นญาติผู้น้องของโจโฉ เรียกว่ามีความสัมพันธ์กับโจโฉที่ลึกซึ้งอยู่หลายทอด
ประวัติในวัยเด็กเล่าว่า เขาฝึกฝนการใช้อาวุธมาแต่เด็ก โดยเฉพาะการยิงธนูนั้นเขาเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ ชอบศึกษาพิชัยสงคราม มีนิสัยเลือดร้อน ไม่กลัวใคร เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขาและญาติพี่น้องอันประกอบด้วย โจโฉ แฮหัวตุ้น โจหยินและโจหอง ก็ได้สร้างกลุ่มที่รวบรวมคนหนุ่มขึ้นมาคอยก่อกวนไปทั่ว
ปีค.ศ. 184 เกิดโจรโพกผ้าเหลืองขึ้นสร้างความวุ่นวายทั่วแผ่นดิน โจโฉซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารม้าเร็ว ได้รับคำสั่งให้ออกปราบโจรผ้าเหลืองที่อาละวาดอยู่รอบเมืองหลวง และบริเวณใกล้เคียง แฮหัวตุ้นและเอี๋ยนก็ได้รับการชักชวนจากโจโฉให้เข้ามาช่วยงาน โดยแฮหัวเอี๋ยนได้รับหน้าที่เป็นนายกอง นำทหารช่วยเหลือโจโฉปราบปรามโจรผ้าเหลืองและมีผลงานไม่น้อย
หลังจากนั้นโจโฉก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จากความชอบในการปราบโจรผ้าเหลือง ส่วนแฮหัวเอี๋ยนนั้นไม่ได้รับราชการทหาร และคาดว่าน่าจะตามแฮหัวตุ้นกลับไปบ้านเกิด
ในปีค.ศ.189 เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อตั๋งโต๊ะเข้าทำการยึดอำนาจในเมืองหลวงมาจากพวกสิบขันที และใช้กำลังทหารเข้าควบคุมราชสำนัก ปลดรัชทายาทหองจูเปียนลงจากตำแหน่ง แล้วทำการแต่งตั้งองค์ชายรอง ตันลิวอ๋องขึ้นเป็นฮ่องเต้ นามพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งภายหลังเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
ตั๋งโต๊ะอาศัยอำนาจของตนควบคุมเมืองหลวงแบบเบ็ดเสร็จ และกระทำการเผด็จการจนผู้คนหวาดผวา เหล่าขุนนางและเหล่าขุนศึกต่างคิดจะต่อต้าน ในขณะเดียวกัน โจโฉยอมสวามิภักดิ์ต่อตั๋งโต๊ะ แต่แท้จริงเพื่อหาโอกาสลอบสังหาร ถึงกระนั้นก็ทำไม่สำเร็จ จึงต้องหลบหนีออกมา แล้วทำการรวบรวมผู้คนขึ้น จากนั้นก็ร่างราชโองการปลอมแล้วส่งออกไปทั่วแผ่นดินเพื่อระดมเหล่าขุนศึกให้ทำการก่อตั้งกองทัพพันธมิตรในการต่อต้านตั๋งโต๊ะ
แฮหัวตุ้นและแฮหัวเอี๋ยนสองพี่น้องก็ได้เข้ามาร่วมกับโจโฉในการก่อการนับแต่นั้น และเข้าร่วมศึกพร้อมกับโจโฉแทบทุกครั้งในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ
หลังจากศึกที่ด่านกักพยัคฆ์ซึ่งสร้างชื่อให้สามพี่น้องเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ผ่านพ้นไป ตั๋งโต๊ะก็ตัดสินใจเผาเมืองหลวงลกเอี๋ยงทิ้ง แล้วอพยพผู้คน กวาดต้อนทรัพย์สมบัติ และกองทหารไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เตียงอัน แทนที่กองทัพพันธมิตรจะยกทัพไล่ตาม กลับพากันตั้งค่ายจัดงานฉลองกันยกใหญ่ โจโฉทนไม่ได้จึงเข้าไปต่อว่าที่กลางวงแล้วนำทหารกล้าหลายพันคนของตนไล่ติดตามกองทัพตั๋งโต๊ะไป แต่จำนวนของฝ่ายเขาน้อยกว่ามาก และฝ่ายตั๋งโต๊ะก็ให้ซีหยงเตรียมการป้องกันหากถูกไล่ตามไว้แล้ว กองทัพของโจโฉที่เร่งรุดหมายจะเข้าโจมตีจึงพลาดท่าและพ่ายแพ้อย่างยับเยิน โจโฉเองก็ต้องหนีตายกลับมาที่ค่าย และรู้สึกโกรธแค้นที่พวกพันธมิตรต่างเห็นแก่ตัวและทำศึกเพื่อผลประโยชน์ของตน แทนที่จะคิดถึงบ้านเมืองอย่างที่ได้ลั่นวาจากันไว้ เขาจึงตัดสินใจถอนตัวจากพันธมิตรและกลับมาตั่งมั่นที่บ้านเกิดเพื่อรวบรวมกำลังขึ้นมาอีกครั้ง แฮหัวเอี๋ยนก็ติดตามเขาไปด้วย และได้มีส่วนช่วยรวบรวมและฝึกฝนกองทหารขึ้นใหม่อีกครั้ง
หลังจากนั้น โจโฉก็ได้ทำการขยายอำนาจจนกว้างขวาง ขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแดนตงง้วน สามารถปราบ ลิฉุย กุยกี ลิโป้ อ้วนสุด อ้วนเสี้ยว เล่าเปียว ลงได้ทั้งหมด และได้กลายเป็นมหาอุปราชผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ ควบคุมฮ่องเต้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ในฐานะหุ่นเชิด
กระทั่งโจโฉได้พลาดท่าเสียทีในศึกเซ็กเพ็ก ต่อพันธมิตรซุน-เล่า ทำให้ต้องกลับมาตั้งหลักที่ภาคกลางใหม่ และทำให้แผ่นดินจีนถูกแบ่งขั้วอำนาจเป็นสามฝ่าย คือโจ เล่า ซุน
หลังศึกเซ็กเพ็ก แฮหัวเอี๋ยนได้ถูกส่งไปทำการปราบปรามยังภาคตะวันตก ที่ดินแดนไท่หยวน เพื่อจัดการกับศัตรูทางภาคตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วย ม้าเฉียว หันซิ่น เตียวลู่ และชนเผ่านอกด่านทั้งหลาย โดยมีผู้ช่วยคือซิหลงและเตียวคับ
ช่วงปี ค.ศ. 211 โจโฉสั่งประหารม้าเท้ง เจ้าเมืองเสเหลียง ฐานคิดก่อการกบฏ ม้าเฉียวผู้บุตรจึงได้ลุกขึ้นก่อการที่เสเหลียง ยกทัพเข้ายึดเตียงอัน และประชิดด่านตงก๋วน โจโฉรีบนำทัพใหญ่ออกต้านทาน หลังจากโจโฉปราบม้าเฉียวลงได้ แฮหัวเอี๋ยนก็ได้รับหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ นำทัพออกปราบปรามกลุ่มเสเหลียงที่เหลืออยู่ เพื่อสยบแดนไท่หยวนให้ราบคาบ
แฮหัวเอี๋ยนใช้เวลาที่เหลือหลังจากนี้ในการทำศึกปราบปรามดินแดนไท่หยวน ในฐานะแม่ทัพใหญ่ทิศประจิม เขาสามารถจัดการกับกองทัพที่เหลือของม้าเฉียวและหันซุยลง และทำการปราบปรามชนเผ่าต่างๆ จากนั้นก็เข้าร่วมในศึกปราบเตียวลู่ และเมื่อได้ฮั่นจงมา ก็เท่ากับแดนไท่หยวนตกเป็นของโจโฉโดยสมบูรณ์ จะเหลือก็เพียงเอ๊กจิ๋ว เมืองเสฉวนเท่านั้น แต่โจโฉเห็นว่าเส้นทางเข้าเสฉวนนั้นกันดารนัก และฝ่ายเล่าปี่ก็เริ่มจะเข้ามาครอบคลุมและขยายอิทธิพลในเสฉวนได้มากแล้ว โจโฉคิดว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะรุกเข้าเสฉวนทันทีจึงถอนทัพกลับ แล้วให้แฮหัวเอี๋ยนเป็นแม่ทัพใหญ่ประจำการที่แดนไท่หยวน เพราะหากว่าเล่าปี่สามารถยึดครองเสฉวนได้เมื่อไร จะต้องมุ่งเป้ามาที่ฮั่นจงแน่
แฮหัวเอี๋ยนตระเตรียมการป้องกันฮั่นจงอย่างแข็งขัน โดยมีผู้ช่วยคือซิหลงและเตียวคับ กระทั่ง ปีค.ศ. 217 เล่าปี่ซึ่งสามารถยึดครองเสฉวนได้เรียบร้อยแล้วก็มุ่งตรงมาที่ฮั่นจงจริงๆ แฮหัวเอี๋ยนส่งกำลงทหารประจำการยังจุดต่างๆเพื่อคอยรับมือกองทัพของเล่าปี่ที่มีความแข็งแกร่งผิดจากในอดีตมากแล้ว
โจโฉกังวลถึงสถานการณ์ที่ฮั่นจง จึงส่งโจหองและกำลังหนุนมาช่วยเสริม แฮหัวเอี๋ยนจึงให้โจหองและเตียวคับไปเฝ้าทางตำบลแฮเปียน และจะต้องรับมือกับทางม้าเฉียว
เตียวหุยซึ่งประจำอยู่ที่ปาเส จึงประสานงานร่วมกับม้าเฉียว ทำให้โจหองพบกับความยารกลำบากในการทำศึก กระทั่งเตียวคับเองก็ถึงกับเสียรู้และเจอกลศึกของเตียวหุยเล่นงานและต้องพ่ายแพ้กลับไป
ความพ่ายแพ้ของทั้งโจหองและเตียวคับ ทำให้ต้องเสียเขตแดนหน้าด่านของฮั่นจงไปแทบทั้งหมด และเล่าปี่ก็เตรียมรุกคืบเพื่อจะยึดฮั่นจงให้ได้ โดยการยกทัพใหญ่ด้วยตนองมาตั้งมั่นที่ด่านเองเปนก๋วน โจโฉซึ่งรับทราบรายงานการศึกรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ศึกมาก จึงตัดสินใจยกทัพใหญ่ด้วยตนเองมายังเตียงอัน
ระหว่างนั้น แฮหัวเอี๋ยนพยายามต้านทานการบุกของเล่าปี่อย่างสุดกำลังเพื่อรอจนกว่าทัพใหญ่ของโจโฉจะมาถึง เล่าปี่รู้ว่าหากโจโฉยกทัพมาถึง การจะยึดฮั่นจงคงยากยิ่งกว่าเดิม หวดเจ้งจึงวางกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการให้เล่าปี่ยกทัพข้ามแม่น้ำไปตั่งมั่นที่เขาเต็งกุนสัน เพื่อดึงให้แฮหัวเอี๋ยนออกมารบด้วย โดยผู้ที่รับหน้าที่แม่ทัพกองหน้าก็คือฮองตง
หวดเจ้งอ่านขาดถึงข้อเสียของแฮหัวเอี๋ยนที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นคนเจ้าอารมณ์ และมีจิตใจร้อนแรง มุ่งจะเอาชนะมากจนเกินไป อันที่จริงแล้วแฮหัวเอี๋ยนเป็นผู้ที่ศึกษาพิชัยยุทธ์และทำศึกมามาก แต่เขาก็ยังแก้ข้อเสียตรงนี้ไม่หาย กระทั่งโจโฉเองยังเคยกล่าวเตือนแฮหัวเอี๋ยนว่าผู้เป็นแม่ทัพใหญ่นั้นไม่อาจใช้แต่ความกล้าเท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยสติปัญญา การวางแผน ทำความเข้าใจในกลยุทธ์อีกด้วย แฮหัวเอี๋ยนเองก็รับคำของโจโฉ ทำให้เขาพัฒนาขึ้นกลายเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจ เพราะโดยฝีมือการรบและการนำทัพนั้น เขาจัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆของวุยก๊กอยู่แล้ว
การที่แฮหัวเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ที่คอยรับศึกในแดนไท่หยวนนั้น โดยศักดิ์ฐานะนับว่าเหมาะสม เพราะเขาเป็นญาติผู้น้องของโจโฉที่มีผลงานและชื่อเสียงมากที่สุดเป็นรองเพียงแค่แฮหัวตุ้น โดยในด้านผลงานการรบนั้นอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ และจะเหมาะยิ่งขึ้นหากเขาได้รับหน้าที่เป็นฝ่ายรุก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในการปราบศึกในแดนเสเหลียง
แต่งานเฝ้ารักษาฮั่นจงจากเล่าปี่นั้น เป็นงานที่หนักหนากว่านั้น เพราะผู้ที่จะมาเฝ้าที่นี่ได้ต้องมีความหนักแน่นอดทนเป็นพิเศษ และยังต้องมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สูงยิ่ง ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำหน้านี้ได้นั้น ในกองทัพโจโฉถือว่ามีอยู่ แต่โจโฉก็เลือกให้แฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นญาติผู้น้องที่สนิทกับตนรับหน้าที่นี้
ลักษณะที่โจโฉเลือกแฮหัวเอี๋ยนให้เฝ้าฮั่นจงนั้น ความจริงแล้วคล้ายคลึงกับเหตุผลที่เล่าปี่เลือกกวนอูให้เฝ้าเกงจิ๋วอยู่ไม่น้อย
ในฐานะแม่ทัพ แฮหัวเอี๋ยนและกวนอูมีความเหมือนกันอยู่จุดหนึ่ง นั่นคือความเชื่อมั่นในฝีมือการรบของตัวเอง และความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะข้าศึก ทั้งสองคนนั้นมีฝีมือที่เก่งกาจจริงในการรบ แต่ในด้านของการใช้ไหวพริบและความอดทนหนักแน่นในการรับมือต่อแผนการและกลยุทธ์ของข้าศึกแล้ว ทั้งคู่ต่างก็ยังไม่เคยแสดงให้เห็นว่าทำได้ดีนัก เมื่อดูจากผลงานและวีรกรรมของพวกเขา
แฮหัวเอี๋ยนยังดีกว่ากวนอูอยู่จุดหนึ่งตรงที่เขาได้ผู้ช่วยที่เก่งกาจ และมีความเหมาะสมต่อการเฝ้ารักษาเมืองอย่าง เตียวคับ ซิหลง โจหอง แม่ทัพระดับรองๆลงมาอย่างกุยห้วยเองก็ถือว่าเป็นแม่ทัพหนุ่มไฟแรงที่เก่งในด้านกลยุทธ์ ในเมื่อรายล้อมไปด้วยที่ปรึกษาชั้นดีขนาดนี้โจโฉย่อมคิดว่าไม่น่าที่แฮหัวเอี๋ยนจะพลาดท่าเสียทีให้เล่าปี่ได้ง่ายๆ และที่สำคัญ จะมีใครที่สามารถเชื่อถือและเชื่อใจให้รักษาการดินแดนที่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองและอยู่ในจุดล่อแหลมได้ดีไปกว่าญาติสนิทของตนเอง ที่ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวมาแต่แรก แถมแฮหัวเอี๋ยนยังเป็นญาติสนิทที่มีฝีมือการรบเป็นเลิศอีกด้วย
แต่จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลังจากนี้ แสดงให้เห็นว่าโจโฉคาดผิด เล่าปี่นั้นแข็งแกร่งขึ้นมามากเกินกว่าที่ใครๆคาดคิด และแฮหัวเอี๋ยนก็ยังไม่ใช่ผู้ที่เหมาะสมจะรับงานที่ต้องอาศัยความหนักแน่นสูงอย่างการพิทักษ์รักษาฮั่นจง
จริงอยู่ว่าฮั่นจงเป็นเมืองที่ไม่ได้ใหญ่โตและมีความเจริญอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับหัวเมืองใหญ่ๆในการปกครองของวุยก๊ก แต่ในแง่ความสำคัญแล้ว เมืองนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการป้องกันการรุกรานจากฝ่ายเล่าปี่ ที่เข้ามายึดครองแดนเสฉวนได้แล้ว และจะมีความสำคัญยิ่งในอนาคต ในฐานะเมืองที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการส่วนหน้า สำหรับการรุกหรือรับในดินแดนนี้ ผู้ที่เหมาะจะรับหน้าที่ดูแลที่นี่ได้นั้น ควรมีคุณสมบัติสำคัญที่ความหนักแน่น อดทน และมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าฝีมือในการรบหรือการนำทัพอย่างเดียว อันที่จริงโจโฉก็ป้องกันไว้แล้วด้วยการให้เตียวคับ หรือ ซิหลงซึ่งมีคุณสมบัติใกล้อย่างที่ว่ามาเป็นผู้ช่วย แต่กลายเป็นว่าทั้งสองกลับประมาทฝ่ายเล่าปี่มากจนเกินไปอีก
ดังนั้น แฮหัวเอี๋ยนซึ่งออกไปรับศึกกับฮองตงที่เขาเตงกุงสัน จึงได้พลาดท่าเสียทีต่อแผนการของหวดเจ้ง จนถึงขั้นสิ้นชีพ
ในสามก๊ก บันทึกถึงศึกนี้ไว้อย่างสั้นๆว่า แฮหัวเอี๋ยนนำทหารออกไปร้องท้าฮองตงที่หน้าค่าย แต่ฮองตงก็ไม่ออกมารบ โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นทัพล่อที่ฮองตงเตรียมไว้ ส่วนทัพของเขานั้นไปดักซุ่มรอยังอีกที่ จนเมื่อเวลาเที่ยง แฮหัวเอี๋ยนจึงได้ลงนั่งพัก ฮองตงที่รออยู่เห็นเป็นโอกาส จึงสั่งนำทหารที่ดักซุ่มอยู่ตะลุยลงมาจากชัยภูมิสูง และตัวเขาก็เข้าตัดคอของแฮหัวเอี๋ยนได้โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันระวังตัว
รายละเอียดของศึกที่เตงกุนสันในครั้งนี้ มีการบันทึกเพียงเท่านี้ จนกระทั่งเป็นคำถามถึงนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังว่า มันเกิดอะไรขึ้น แฮหัวเอี๋ยนตายง่ายดายขนาดนั้นเลยหรือ เขารับมือการโจมตีของฮองตงได้ไม่ทันการขนาดนั้นเชียวหรือ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จริงๆ คงจะไม่ใช่แค่นี้แน่ และน่าจะยังมีอะไรอีกมาก
แต่ผลสรุปของศึกนี้ก็คือ แฮหัวเอี๋ยนตายในสนามรบ และเสียเมืองฮั่นจงรวมถึงเขตแดนทั้งหมดไป ทำให้เล่าปี่สามารถครอบครองดินแดนเสฉวนและเอ๊กจิ๋วมาอยู่ในมือได้ทั้งหมด
โจโฉยกทัพใหญ่มาทำศึกที่ฮั่นจงเพื่อแก้แค้นให้แฮหัวเอี๋ยน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ และต้องยกทัพกลับไป
ลูกๆของแฮหัวเอี๋ยนทั้งสี่คนนั้น ได้รับการดูแลอย่างดีจากโจโฉ และภายหลังก็ได้มีตำแหน่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญของวุยก๊กกันทั้งหมด
การที่แฮหัวเอี๋ยนไม่อาจป้องกันฮั่นจงไว้ได้นั้น ส่งผลสะเทือนไม่น้อยต่ออนาคตและทิศทางของขั้วอำนาจในสามก๊ก เพราะเป็นการทำให้เล่าปี่ยึดดินแดนฝั่งตะวันตกได้แทบทั้งหมด และสร้างจ๊กก๊กขึ้นมาได้อย่างเป็นปึกแผ่น น่าคิดว่าหากแฮหัวเอี๋ยนสามารถที่จะถ่วงเวลารอจนทัพใหญ่ของโจโฉมาช่วยได้ อาจถึงขั้นต้องเขียนประวัติศาสตร์ช่วงนี้กันใหม่เลยก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น