วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก แฮหัวตุ้น


ประวัติสามก๊ก แฮหัวตุ้น
"หมางเซี่ยเหา" แปลว่านายพลตาบอดหรือพระยาตาเดียว เป็นฉายาที่บรรดาทหารในกองทัพของโจโฉได้ตั้งให้แก่แม่ทัพคนหนึ่งซึ่งเจ้าตัวเองที่ได้ฉายานี้มานั้นไม่ค่อยจะชอบใจเท่าไหร่นัก
ชายคนนี้เป็นแม่ทัพมือขวาและยังเป็นลูกพี่ลูกน้องที่โจโฉให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง และเขาก็เป็นคนที่อยู่กับโจโฉมาตั้งแรกเริ่มที่โจโฉเริ่มก่อการจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
เขาคือ แฮหัวตุ้น ผู้ที่รู้จักกันในนามของแม่ทัพตาเดียว
ภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของคนที่ได้อ่านหนังสือสามก๊กนั้นคงจะมองว่าเขาเป็นคนตาเดียวบ้าระห่ำที่เอาแต่ใช้กำลังเพียงอย่างเดียว แต่เปล่าเลย ในบรรดาแม่ทัพทั้งหมดของโจโฉนั้นเขาเป็นคนที่โจโฉไว้ใจใช้งานและให้ความสนิทสนมมากที่สุดคนหนึ่ง และยังมีความเก่งกาจในการนำกองทัพอย่างที่ไม่เป็นรองใครในบรรดาขบวนขุนพลของยุคนั้นอีกด้วย
ประวัติโดยย่อ
แฮหัวตุ้น หรือ เซี่ยโหวตุ้น ชื่อรองคือเหวียนหลาง เกิดราวปีค.ศ.158-160ความจริงแล้วเป็นคนในตระกูลเดียวกันกับโจโฉเพราะบิดาของโจโฉคือโจโก๋นั้นเดิมทีแล้วเป็นคนในตระกูลแฮหัวแต่ว่าได้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของมหาขันทีโจเต็งโจโฉจึงได้ใช้นามสกุลโจต่อมาแฮหัวตุ้นจึงถือเป็นลูกพี่ลูกน้องของโจโฉที่มีอายุไล่เลี่ยกันที่สุด
เล่ากันว่าต้นตระกูลแฮหัวนั้นเป็นขุนศึกที่โด่งดังในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ดังนั้นทั้งแฮหัวตุ้นและแฮหัวเอี๋ยนผู้น้อง จึงนับว่าเป็นทายาทของยอดขุนพลดังในอดีตเช่นกัน
เล่ากันว่าเมื่ออายุ 14 แฮหัวตุ้นได้ไปฝึกวิชาการต่อสู้กับอาจารย์คนหนึ่งจนเชี่ยวชาญทั้งทวนและพลอง ครั้งหนึ่งมีคนมาดูถูกอาจารย์ของเขา เขาจึงใช้ทวนแทงคอหอหอยเจ้าคนนั้นจนตายในทีเดียวและหลบหนีมา
ตอนนั้นโจโฉได้เริ่มรับราชการแล้ว แฮหัวตุ้นจึงขอมาอยู่ด้วยและเริ่มช่วยงานของโจโฉนับแต่บัดนั้นในฐานะนายทหารมือขวาผู้ดุดัน
จากนั้นในแผ่นดินได้เกิดความวุ่นวายขึ้นจากการก่อกบฏของโจรผ้าเหลือง โจโฉซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารม้าเร็ว ได้รับหน้าที่ให้ปราบปรามโจรผ้าเหลืองในเขตปริมณฑลและบริเวณรอบเมืองหลวง และโจโฉก็ได้ให้แฮหัวตุ้นเป็นนายกองช่วยคุมทหารในการรบครั้งนี้ด้วย
หลังจากปราบปรามโจรผ้าเหลืองได้สำเร็จ โจโฉก็ได้เข้ารับตำแหน่งที่สูงขึ้นเพราะมีผลงานดี และท้ายที่สุดก็ได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในสังกัดของอ้วนเสี้ยว สำหรับแฮหัวตุ้นนั้นคาดว่าคงจะกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมเพราะว่าตัวเขาไม่ได้รับราชการเป็นขุนนางด้วย
จากนั้นในปีค.ศ.189 ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นเมื่อตั๋งโต๊ะเจ้ามืองเสเหลียงนำกำลังทัพนับแสนเข้ายึดอำนาจในเมืองหลวงและตั้งตันหลิวอ๋องขึ้นเป็นฮ่องเต้นามพระเจ้าเหี้ยนเต้ในวัยเพียง 9 ชันษา
โจโฉได้รับการแต่งตั้งจากตั๋งโต๊ะให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าเร็ว แต่ก็ทนอยู่ได้ไม่นานจึงหนีจากมาที่บ้านเกิด และออกราชโองการปลอมเพื่อรวบรวมขุนศึกจากทั่วแผ่นดินให้ร่วมกันต่อต้านตั๋งโต๊ะ ซึ่งแฮหัวตุ้นก็ได้กลับมาร่วมงานกับโจโฉอีกครั้ง โดยมีหน้าที่ช่วยรวบรวมกองทหารอาสาให้กองทัพของโจโฉได้ราว 5000 คน
ในศึกระหว่างทัพพันธมิตรกับตั๋งโต๊ะนั้นผลสรุปก็ออกมาอย่างที่ได้เคยเขียนไว้ในบทของลิโป้ก่อนหน้านี้ นั่นคือตั๋งโต๊ะได้เผาเมืองลกเอี๋ยงและย้ายเมืองหลวงหนีไปอยู่ที่เมืองเตียงฮัน และภายในทัพพันธมิตรนั้นต่างมีความขัดแย้งกันมากจึงได้สลายตัวลง
โจโฉได้หลบออกไปตั้งหลักและสะสมกำลังพลจากนั้นก็ได้นำกำลังเขายึดเมืองตงจวุ้นและใช้เป็นฐานที่มั่นนับแต่นั้น
ต่อมาในปีค.ศ.192 โจโฉก็ได้เข้ารับตำแหน่งเจ้าเมืองกุนจิ๋วแทนเล่าต้ายที่ตายเพราะพ่ายแพ้ในการปราบปรามกบฏผ้าเหลืองแห่งเมืองเซียงจิ๋ว
ในช่วงนี้แฮหัวตุ้นได้รับหน้าที่ให้ดูแลเมืองตงจวุ้นแทนซึ่งช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับจอมพลังคนหนึ่งที่ภายหลังได้กลายมาเป็นองครักษ์ของโจโฉนั่นคือ"เตียนอุย"
เรื่องคือว่าเมื่อแฮหัวตุ้นได้ออกไปล่าสัตว์ในป่านั้น ระหว่างทางเขาได้พบกับเสือตัวหนึ่งเข้า แฮหัวตุ้นจึงหมายที่จะเข้าสู้กับเสือตัวนั้น แต่ยังไม่ทันที่เขาจะได้ทำอะไร ก็มีชายร่างยักษ์คนหนึ่งโผล่พรวดออกมาและจัดการกับเสือตัวนั้นให้ตายคามือด้วยมือเปล่า
แฮหัวตุ้นรู้สึกทึ่งในพละกำลังของชายคนนี้ เขาจึงได้สอบถามชื่อ ชายคนนั้นบอกว่าตนชื่อเตียนอุย
แล้วแฮหัวตุ้นจึงได้ชักชวนเตียนอุยให้มาอยู่ด้วยกันกับโจโฉ ตั้งแต่นั้นเตียนอุยก็ได้กลายเป็นองครักษ์ผู้ภักดีของโจโฉจนกระทั่งตายลง นับว่าแฮหัวตุ้นเป็นคนที่มีสายตาแหลมคมและรู้จักชักชวนคนเก่งให้มาอยู่ด้วยคนหนึ่งเหมือนกัน แสดงว่าเขาไม่ได้มีดีแค่ความบ้าบิ่นอย่างเดียว
ต่อมาโจโฉได้อัญเชิญพระเจ้าเหี้ยนเต้มาประทับที่เมืองฮูโต๋ซึ่งเขาได้สร้างขึ้นให้เป็นเมืองหลวงใหม่ตามคำแนะนำของซุนฮกและกุยแก และได้พิชิตทัพของลิฉุยกุยกีจนพ่ายแพ้ โดยศึกนี้มีแฮหัวตุ้นเป็นทัพหน้า
แฮหัวตุ้นร่วมศึกกับโจโฉไปแทบจะทุกครั้งและทุกที่ๆโจโฉไป แถมยังเป็นญาติสนิทอีกด้วยนอกจากนี้แฮหัวตุ้นยังเป็นแม่ทัพที่ชำนาญทั้งฝีมือยุทธ์ การนำกองทหารและการวางอุบายศึก ดังนั้นเขาจึงเป็นขุนศึกที่โจโฉให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง และยังว่ากันว่าในบรรดาขุนพลคนสนิททั้งหลาย นี่คือขุนพลคนเดียวที่รู้ใจโจโฉมากที่สุดด้วย เขามักจะเรียกโจโฉด้วยชื่อรองเมิ่งเต๋อ ซึ่งแสดงว่าพวกเขาสนิทสนมกันมากกว่ายิ่งนายบ่าวแม้ภายนอกจะแสดงออกเช่นนั้น เหมือนดั่งที่จิวยี่เคยพูดถึงความสัมพันธ์ของตนเองกับซุนเซ็ก
แฮหัวตุ้นออกรบพร้อมกับโจโฉมากมายหลายครั้ง แต่การศึกที่สร้างชื่อเสียงให้เขาโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดนั้นกลับเป็นการศึกที่ทำให้เขาต้องสูญเสียดวงตาข้างหนึ่งของเขาไป นั่นคือในการศึกกับนักรบอันดับหนึ่งแห่งยุคอย่างลิโป้
โจโฉกับลิโป้ได้ประจัญบานกัน โดยลิโป้สั่งให้สี่ทหารเอกของตนนำทัพออกมาต้านกองทัพของโจโฉซึ่งมีแฮหัวตุ้นเป็นทัพหน้า
แฮหัวตุ้นได้ไล่ตะลุยจนสี่ทหารเอกของลิโป้ต้องแตกกระเจิง และในระหว่างที่กำลังไล่ล่าอยู่นั้น โกซุ่นหนึ่งในสี่ทหารเอกของลิโป้ก็ยิงธนูใส่แฮหัวตุ้น ลูกธนูลูกหนึ่งพุ่งเข้าที่ดวงตาซ้ายของแฮหัวตุ้นอย่างพอดิบพอดี
หากเป็นคนธรรมดาเมื่อโดนลูกธนูปักเข้าดวงตาแบบนั้นคงจะร้องและดิ้นพรวดพราดไปแล้ว แต่แฮหัวตุ้นกลับดึงลูกธนูออกมาจากดวงตาของเขาอย่างหน้าตาเฉย
ลูกธนูที่ดึงออกมานั้นมีดวงตาปักติดออกมาด้วย และเขาก็ทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครในโลกนี้ที่กล้าทำ
เขาคำรามดังสนั่นว่า"เชื้อพ่อเลือดแม่ทิ้งให้ตกพื้นไม่ได้"
ว่าแล้วเขาก็กลืนดวงตาลูกนั้นเข้าไปในปากแล้วเคี้ยวกลืนลงคออย่างสดๆ ท่ามกลางความตกตะลึงของทหารในกองทัพของตนเองและของฝ่ายศัตรูในความบ้าบิ่นเกินคนนี้ แม้แต่โกซุ่นซึ่งเป็นคนที่ยิงธนูใส่เขาและเป็นแม่ทัพที่กล้าหาญคนหนึ่งยังต้องตกตะลึง
แฮหัวตุ้นอาศัยจังหวะที่ทุกคนกำลังตกตะลึงอยู่นั้นควบม้าตรงเข้าไปเด็ดศรีษะของโกซุ่นตายในดาบเดียวและไล่ฆ่าทหารของศัตรูจนแตกกระเจิง ซึ่งเกี่ยวกับคนที่ยิงธนูใส่แฮหัวตุ้นนี่สามก๊กบางฉบับก็ว่าไม่ใช่โกซุ่นแต่เป็นขุนพลคนอื่น
กิตติศัพท์ความบ้าบิ่นของแฮหัวตุ้นในครั้งนี้ได้ส่งให้ชื่อของเขาเป็นที่หวาดกลัวสำหรับข้าศึกไปทั่วจนได้ฉายาว่าเป็นแม่ทัพตาเดียว ซึ่งตัวเขาไม่ค่อยจะชอบฉายานี้เท่าใดนัก แม้ว่ามันจะทำใช้ข่มขวัญศัตรูได้ก็ตาม
หลังจากโจโฉจับลิโป้ประหารแล้วก็ขยายอิทธิพลของตนเองในภาคกลางจนกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับอ้วนเสี้ยวทางภาคเหนือ ชื่อเสียงของแฮหัวตุ้นเองก็ได้เป็นที่ครั่นคร้ามในหมู่ขุนศึกด้วยกัน
ในยุทธการกัวต๋อที่เป็นการเผด็จศึกขั้นเด็ดขาดระหว่างโจโฉกับอ้วนเสี้ยวนั้นแฮหัวตุ้นเองก็เป็นขุนศึกคนสำคัญผู้หนึ่งที่เข้าร่วมด้วยและสร้างผลงานในการรบไว้มากพอควร
จนเมื่อโจโฉปราบปรามภาคเหนือและภาคกลางได้เป็นปึกแผ่นแล้ว ดป้าหมายต่อไปคือเมืองเกงจิ๋วของเล่าเปียวและกังตั๋งของซุนกวน แต่ในศึกปราบภาคใต้นี้ แฮหัวตุ้นไม่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะเขาต้องอยู่รักษาหัวเมืองทางภาคกลางซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองใด แต่เอาเป็นว่าเขาไม่ได้ร่วมศึกเซ็กเพ็กด้วยก็แล้วกัน
ในสามก๊กฉบับนิยายของหลอก้วนจงนั้นยังมีศึกของแฮหัวตุ้นศึกหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นศึกที่ถูกแต่งเพิ่มขึ้นมาหรือว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ เพราะสามก๊กประวัติศาสตร์ฉบับของเฉินโซ่วไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็น่าจะเป็นจริง เพราะเป็นศึกเปิดตัวของขงเบ้ง
กล่าวคือเมื่อเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาร่วมงานด้วยแล้ว โจโฉได้คิดจะส่งกองทัพมาปราบปรามเล่าปี่ซึ่งรักษาเมืองซินเอี๋ยให้เล่าเปียว จึงส่งให้แฮหัวตุ้นเป็นทัพหน้านำกำลังนับแสนลงมาหมายจะพิชิตเล่าปี่ในคราวเดียว
ขงเบ้งในฐานะเสนาธิการทหารได้วางแผนการรบในศึกแรกนี้ด้วยการวางกลยุทธ์หลอกล่อโดยการส่งจูล่งให้เป็นทัพหน้าไปปะทะกับแฮหัวตุ้นแต่ให้แกล้งแพ้เพื่อล่อแฮหัวตุ้นเข้ามายังภูมิประเทศที่เตรียมไว้แล้วเผาด้วยเพลิงไฟ จากนั้นจึงให้กวนอูและเตียวหุยรุมกระหน่ำทำให้แฮหัวตุ้นที่มีกำลังกว่ามากต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินและถอยหนีกลับไป
แฮหัวตุ้นคิดว่าตนคงต้องถูกโจโฉลงโทษอย่างหนักอาจถึงขั้นประหาร เพราะแม้เขาจะเป็นญาติสนิท แต่โจโฉนั้นเป็นคนที่ถือระเบียบเคร่งครัด แม้จะเป็นญาติหากทำการศึกพลาดก็อาจถึงตายได้ จึงไปคุกเข่ามอบตัวและมัดมือทั้ง 2 ข้างไว้เพื่อเตรียมรับโทษ
แต่โจโฉไม่เอาผิด อาจเพราะเห็นว่าแฮหัวตุ้นทำความชอบมามาก และได้ให้เหตุผลว่าคนเราทำการศึกย่อมมีแพ้มีชนะ รบแพ้เพียงครั้งเดียวก็ไม่จำเป็นต้องลงโทษถึงประหาร แฮหัวตุ้นจึงรอดตายมาได้
เกี่ยวกับการศึกในครั้งนี้ มีสามก๊กฉบับวิจารณ์บางฉบับและผู้รู้บางท่านในยุคหลังนี้ให้ความเห็นว่าเป็นการศึกที่หลอก้วนจงแต่งเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมให้ขงเบ้งโดดเด่นขึ้นในแง่การใช้ปัญญา
เหตุผลเพราะหลังจากแพ้ในศึกนี้ โจโฉได้ส่งกองทัพมาอีกโดยมีโจหยินเป็นแม่ทัพและนำกำลังมาหลายแสนอีกเช่นเดิม แต่สุดท้ายก็ถูกขงเบ้งใช้เพลิงไฟเล่นงานอีกครั้งจนแตกพ่ายย่อยยับ
จนสุดท้ายโจโฉจึงนำทัพด้วยตนเองและนำทัพใหญ่มาหลายแสน ทัพของเล่าปี่จึงต้องสละซินเอี๋ยและถอยร่นลงไปที่แฮเค้าทางใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในไม่ถึงปี
ในเวลาไม่ถึงปี ทัพของโจโฉนับแสนต้องแตกพ่ายยับเยินถึง 2 ครั้งแล้วโจโฉยังจะสามารถจัดกำลังทัพที่มากกว่าเดิมมาในครั้งที่สามได้อีกเช่นนั้นหรือ
ต้องอย่าลืมว่าก่อนที่โจโฉจะนำทัพลงใต้นั้น เขาเพิ่งจะพิชิตอ้วนเสี้ยวลงได้ แม้จะได้กองทัพจำนวนมหาศาลของแวนเสี้ยวเข้ามาในกองทัพของตน แต่กำลังขวัญทหารย่อมยังไม่ดีพอ แล้วต้องมาพบกับความพ่ายแพ้ 2 ครั้งติดกันทั้งที่นำกำลังทหารไปมากมายแบบนั้น แถมยังไปแพ้ต่อบัณฑิตหนุ่มที่ไม่เคยทำสงครามมาก่อนและเพิ่งลงจากดอยอย่างขงเบ้งซะอีก คิดว่ากำลังขวัญทหารจะไม่แหลกเหลวหมดหรือ แล้วในสามก๊กบันทึกไว้ชัดเจนว่าโจโฉมีความฮึกเหิมในการปราบภาคใต้ครั้งนี้มาก เพราะเพิ่งจะพิชิตอ้วนเสี้ยวมาและถึงกับรีบร้อนจัดทัพลงใต้ จนที่ปรึกษาบางคนทัดทานว่าไม่ควรจะประมาท หากต้องมาพ่ายแพ้ให้ขงเบ้ง 2 ครั้งติดกันแบบนี้ต่อให้โจโฉมีความมั่นใจและฮึกเหิมมากแค่ไหน ย่อมไม่เสี่ยงพอที่จะยกทัพบุกลงไปเป็นครั้งที่ 3 ในเวลาไล่เลี่ยกันหรอก
ที่สำคัญศึกทั้ง 2 ครั้งที่พ่ายแพ้รวมไปถึงการยกทัพครั้งที่ 3 นี้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันไม่ถึงปี หากมองตามความเป็นจริงมันจะเป็นไปได้ไหมที่กองทัพขนาดใหญ่มีทหารแสนกว่าคนจะเดินทัพได้รวดเร็วและง่ายดายราวกับมีรถยนต์ขับมาส่งยังไงยังงั้น
ต้องอย่าลืมว่าประเทศจีนนั้นมีอาณาเขตกว้างขวางมากระหว่างเมืองๆหนึ่งบางทีต้องใช้เวลาหลายสิบวันบางทีต้องใช้เป็นเดือนกว่าจะเดินทางไปถึง แต่นี่ถึงกับยกทัพใหญ่ได้ 3 ครั้งในเวลาไม่ถึงปี มันก็ออกจะเกินจริงเกินไป
และเหตุผลสำคัญที่สุดคือเมืองซินเอี๋ยที่ใช้สำหรับเผาทัพโจหยินนั้นเป็นเมืองที่เล่าเปียวได้ตั้งให้เล่าปี่เป็นผู้รักษา เพื่อไว้ใช้เป็นหน้าด่านในการรับศึกกับโจโฉที่จะลงมาจากทางเหนือ ถ้าจะเผาเมืองจริงถึงแม้จะเป็นกลศึกแต่เล่าเปียวคงไม่ยอมแน่ การเผาเมืองเป็นเรื่องใหญ่เกินไป และไม่คุ้มค่าเลยที่ขงเบ้งจะใช้เมืองทั้งเมืองแลกกับชัยชนะอันแสนสั้น จึงเป็นไปได้สูงทีเดียวว่าการศึกครั้งที่สองที่โจหยินถูกไฟเผาเมืองซินเอี๋ยนั้น เป็นสิ่งที่หลอก้วนจงแต่งเพิ่มเพื่อเสริมปัญญาของขงเบ้งให้โดดเด่นขึ้นเท่านั้น แต่ศึกแรกของแฮหัวตุ้นนั้นมีโอกาสเป็นจริงสูงกว่าเมื่อดูจากระยะเวลาของการยกทัพ
กลับมาที่แฮหัวตุ้นอีกครั้ง เมื่อเสร็จศึกเซ็กเพ็กด้วยความพ่ายแพ้ของโจโฉแล้ว โจโฉก็ได้มุ่งกลับมาที่การพัฒนาบ้านเมืองอีกครั้งโดยแฮหัวตุ้นที่ไม่มีหน้าที่ในการรบในช่วงนี้จึงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาเกาเซียงรับหน้าที่รักษาเมืองจี่อิม
ในตอนนั้นเองเกิดภาวะแห้งแล้งหนัก บรรดาแมลงออกทำลายพืชผลและไร่นาจนราษฎรเดือดร้อนไปทั่ว แฮหัวตุ้นจึงได้ระดมขุนนางและทหารไปช่วยกันถมดินสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำน้ำไท่โซ่ว เพื่อใช้ในการเกษตร โดยตัวเขาถึงกับลงไปช่วยราษฎรขุดดินและแบกดินเอง แต่สิ่งเหล่านี้ในนิยายแทบจะไม่ได้เอ่ยถึง เราจึงรู้จักแฮหัวตุ้นในแง่ของการเป็นนักรบบ้าเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รับรู้ถึงตัวเขาอีกด้านในแง่ของการเป็นขุนนางที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
แฮหัวตุ้นเป็นขุนศึกเพียงไม่กี่คนที่ร่วมงานกับโจโฉมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม คนอื่นนอกจากตัวเขาที่ดังๆก็มี แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน โจหอง ซึ่งทั้ง 3 คนนี้รวมทั้งตัวเขาล้วนเป็นญาติสนิทของโจโฉ
โจโฉนั้นใครจะว่าเขาเป็นคนชั่วช้าอย่างไรก็ตาม แต่เขาเป็นคนที่โชคดีอย่างหนึ่งนั้นเพราะเขามีญาติพี่น้องที่รักใคร่และยอมตายได้เพื่อตัวเขา ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ตระกูลอื่นๆที่ใหญ่โตในยุคนั้นจึงต้องพ่ายแพ้ต่อตระกูลลูกหลานขันทีและลูกหลานนักรบเช่นตระกูลโจและแฮหัวของเขา เพราะบรรดาตระกูลใหญ่อย่างเล่า อ้วน และอื่นๆนั้น แม้จะคนมากและเป็นตระกูลขุนนาง แต่ก็ไม่สามัคคีกันและเอาแต่ชิงดีกันจนสุดท้ายแล้วต้องล่มจมไปหมด
แฮหัวตุ้นถือว่าเป็นทั้งขุนศึกและญาติคนสนิทของโจโฉแต่เขาแทบไม่เคยถือตัวว่าตนเป็นญาติสนิทเลย แม้ในยามศึกเขาจะเป็นคนบ้าบิ่นอย่างที่ไม่มีใครเปรียบ แต่ในยามสงบแล้วเขาเป็นคนที่สุภาพและไม่เคยโอ้อวดตัวเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการยอมรับจากทั้งโจโฉและในหมู่ของขุนศึกของโจโฉด้วยกัน
ช่วงวัยชรานั้นแทบจะไม่มีบันทึกถึงตัวเขาเท่าใดนักมีบางฉบับบอกว่าบอกอยู่บ้างว่าเขาได้รับตำแหน่งเป็น"ต้าเจียงจวุน"หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่ก็เป็นได้ไม่นานนักเพราะหลังจากนั้นก็ถึงแก่กรรมก่อนที่โจโฉจะสิ้นลงไม่นาน
และก็เป็นขุนศึกอีกคนหนึ่งเพียงไม่กี่คนในสามก๊กที่ตายดี เพราะได้นอนตายอยู่ที่เตียงของตัวเองที่บ้านโดยไม่ป่วยไข้ แต่ไปเพราะความชรา
ผลงานด้านการศึกของเขาอาจจะไม่โดดเด่นเป็นพิเศษนักเพราะผลงานการศึกส่วนใหญ่ของเขาจะผูกติดอยู่กับผลงานในการศึกโจโฉมากเนื่องจากเขาเป็นคนสนิทของโจโฉชนิดที่โจโฉไปไหนเขาต้องไปด้วย
ว่ากันว่ายิ่งผู้เป็นนายมีชื่อเสียงโด่งดังและผลงานมากเท่าใดผู้เป็นข้ารับใช้ก็ยิ่งด้อยลงไปเท่านั้นซึ่งกรณีนี้ก็ใช้ได้กับแฮหัวตุ้นได้เหมือนกัน
แต่กระนั้นแฟนหนังสือสามก๊กก็ยังจดจำเขาได้ดีในฐานะของ"ขุนพลตาเดียว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น