วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ซีซี เหวียนจื๋อ (ตันฮก)


ประวัติสามก๊ก: ซีซี เหวียนจื๋อ (ตันฮก)
เคยมีคนกล่าวกันว่าบางทีเล่าปี่อาจจะไม่ได้ขงเบ้งผู้เป็นอัจฉริยะมาร่วมงานหากว่าเขาไม่ได้รับการชี้ทางจากชายคนหนึ่ง

เขาคนนี้เป็นยอดกุนซือผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งและเป็นที่รู้จักกันดีในแฟนหนังสือสามก๊ก

แต่บทบาทที่เขาได้ปรากฏตัวออกมานั้นมันน้อยซะเหลือเกิน ทั้งที่เขาเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงมากคนหนึ่งและก็มีชีวิตค่อนข้างยืนยาวอีกด้วย

ผลงานของเขาในแผ่นดินกลับปรากฏเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นับจากนั้นไม่ว่าจะไปเปิดหาในสามก๊กฉบับไหนๆเราก็ไม่พบชื่อของเขาปรากฏขึ้นมาอีกเลย

ถือเป็นยอดคนผู้หนึ่งที่ถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย และการที่เขาถูกลืมไปนั้น มันเกิดจากความกตัญญูและความสัตย์ภักดีของเขาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น


ประวัติโดยย่อ
ชีซี ชื่อรองเหวียนจื๋อ เป็นชาวเมืองอิ่งชวน ในมณฑลเหอหนาน เล่ากันว่าในวัยหนุ่มนั้นเขาเป็นคนที่ชอบการขี่ม้ายิงธนูและใช้ชีวิตเสเพลพอควร จนต่อมาเมื่อได้เห็นกลียุคที่เกิดขึ้นในแผ่นดินจึงเริ่มสนใจศึกษาเรื่องปัญหาบ้านเมือง

แต่ก็มีเหตุให้ชีวิตเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาได้ไปฆ่าคนตายเข้า ซึ่งคนที่ถูกเขาฆ่านั้นดูเหมือนจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลในบ้านเกิดของเขา สาเหตุที่ฆ่านั้นดูเหมือนเป็นเพราะชีซีไม่พอใจที่คนผู้นั้นใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวบ้าน

ดังนั้นเขาจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นตันฮกและหนีการตามล่าของทางการและเร่ร่อนไปทั่ว ช่วงเวลาที่เร่ร่อนไปทั่วแผ่นดินนี้เองที่เขาได้ซึมซับเอาประสบการณ์มากมายไว้และได้ทำให้เห็นความวุ่นวายต่างๆในโลก ด้วยเหตุนี้จึงได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่าสักวันตัวเขาจะต้องทำประโยชน์ให้แผ่นดินและชวยเหลือชาวประชา

เขาได้เดินทางไปจนถึงเกงจิ๋วซึ่งอยู่ทางตอนใต้และเป็นเขตอิทธิพลของเล่าเปียวซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นว่าเป็นผู้มีใจอารีชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์

เนื่องจากแผ่นดินในภาคกลางและภาคเหนือกำลังตกอยู่ในไฟสงครามทั้งจากสมัยของตั๋งโต๊ะ จนมาถึงโจโฉและอ้วนเสี้ยว ทำให้เหล่าบัณฑิตผู้ทรงภูมิปัญญาที่เบื่อหน่ายสงครามหลายคนอพยพลงมาอยู่ทางตอนใต้และมีจำนวนมากที่มาขอพึ่งเล่าเปียวอยู่ที่เกงจิ๋ว

ชีซีหรือที่เปลี่ยนชื่อเป็นตันฮกแล้วนั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่หนีมาขอพึ่งพาอยู่ภายในเกงจิ๋วของเล่าเปียว และได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ผู้รู้หลายคน ซึ่งได้ช่วยทำให้เขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและช่วงนี้เองเขาได้มีโอกาสรู้จักกับชายหนุ่มชาวนาผู้หนึ่งซึ่งมีความปราดเปรื่องไม่แพ้เหล่านักปราชญ์ทั้งหลาย ที่ชื่อว่าจูกัดเหลียง หรือที่รู้จักกันในภายหลังว่าขงเบ้ง

นอกจากขงเบ้งแล้วเขายังมีโอกาสคบหากับนักปราชญ์หลายคนไม่ว่าจะเป็นบังทอง สุมาเต็กโช และคนดังอีกหลายต่อหลายคนที่หนีภัยสงครามมาจากภาคกลาง และจากการได้คบหากับคนเหล่านั้นได้ช่วยให้เขามีความรอบรู้อันจะช่วยให้เขาได้เป็นกุนซือผู้เก่งกาจในวันหน้า

ชีซีนั้นได้ศึกษาหาความรู้จากตำราต่างๆและอาศัยประสบการณ์ที่เขาได้ท่องเที่ยวไปทั่วจนทำให้เขากลายเป็นกุนซือที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกุนซือในยุคสมัยเดียวกันอีกหลายคน นั่นคือเขายังมีความสามารถในเชิงบู๊ด้วย

เขาไม่เพียงจะมีความปราดเปรื่องในเรื่องกลยุทธ์เท่านั้น ความกล้าในการพุ่งเข้าสู่สนามรบเขาเองก็มีเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่เขายังขาดความสามารถในการมองทะลุถึงเล่ห์กลทางการเมืองอันทำให้เขาหมดโอกาสสร้างชื่อเสียงในวันข้างหน้า

เมื่อได้ศึกษาหาความรู้ในหมู่นักปราชญ์ที่เกงจิ๋วระยะหนึ่งแล้วเขาก็ได้คิดว่าการที่จะใช้ความสามารถของตนให้เกิดประโยชน์นั้นจำเป็นต้องมีเจ้านายที่พร้อมจะเปิดโอกาสนั้น

ชีซีนั้นตั้งเป้าไว้ว่าหากเขาจะมีเจ้านาย คนๆนั้นต้องเป็นผู้มีคุณธรรมที่จะช่วยเหลือชาวประชาอย่างแท้จริง

เวลานั้นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินก็คือโจโฉ และก็เป็นโจโฉนี่เองที่เป็นผู้ที่ใกล้เคียงต่อการปิดฉากยุคสงครามนี้มากที่สุด แต่ชีซีก็ไม่เลือกที่จะไปอยู่กับโจโฉ เหตุเพราะเขามองว่าโจโฉแม้จะเป็นผู้ปกครองที่เก่งกาจเข้มงวดทำให้เขตปกครองสงบร่มเย็นได้ แต่โจโฉก็เข่นฆ่าผู้ต่อต้านอย่างไม่ปราณี และจากการสั่งฆ่าล้างชาวเมืองชีจิ๋วของโจโฉเมื่อครั้งที่ต้องการแก้แค้นให้พ่อนั้นเป็นที่ประณามของเหล่าผู้คนจำนวนมาก เพราะความโหดเหี้ยมของโจโฉนั้นมันผิดกับหลักการของลัทธิขงจื๊อที่เหล่าบัณฑิตทั่วแผ่นดินเทิดทูน

ที่สำคัญเลยคือแม้โจโฉจะเป็นมหาอุปราชแห่งแผ่นดินฮั่น แต่เขากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ให้องค์ฮ่องเต้ได้มีโอกาสบริหารบ้านเมือง คนส่วนใหญ่จึงมองว่าโจโฉคิดที่จะขึ้นมาแทนที่ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่น

ชีซีเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านความโหดเหี้ยมและการกระทำของโจโฉ เขาจึงไม่คิดจะไปอยู่ด้วย และมุ่งแสวงหาเจ้านายผู้มีลักษณะตรงข้ามกับโจโฉ

นั่นคือเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณธรรม เป็นที่นิยมของปวงประชา และมุ่งที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น
ในยามนั้นเจ้านายผู้ที่มีลักษณะและคุณสมบัติแบบที่ชีซีต้องการในแผ่นดินแทบจะไม่เหลือแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังมีอยู่อีกผู้หนึ่งที่ตรงตามที่ชีซีต้องการ

นั่นคือเล่าปี่ เหี้ยนเต๊ก หรือที่ใครๆรู้จักกันในฐานะของพระเจ้าอา

การพบกันครั้งแรกระหว่างชีซีและเล่าปี่ค่อนข้างน่าสนใจมาก โดยเรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้งที่เล่าปี่ได้หนีภัยจากการตามล่าของชัวมอซึ่งคิดจะเอาชีวิตของตนโดยขี่ม้าหนีมาเพียงลำพังนั้น (รายละเอียดตรงนี้ผมขอตัดบทไม่พูดถึงนะเดี๋ยวมันจะยาวเกินไป)

ระหว่างทางที่ได้หนีมานั้น เขาได้บังเอิญพบกับชายหนุ่มคนหนึ่งโดยบังเอิญชายคนนั้นมีบุคลิกภาพที่สง่างาม ท่าทางสุภาพเรียบร้อย จนสะดุดความสนใจของเล่าปี่


ก่อนหน้านั้นเล่าปี่ได้มีโอกาสพบกับสุมาเต็กโช ซึ่งเป็นนักปราชญ์อาวุโสซึ่งมีฉายาว่าซินแสกระจกเงา เพราะมีความสามารถในการมองผู้อื่นได้ทะลุปรุโปร่ง

เขาได้แนะนำต่อเล่าปี่ว่าหากอยากที่จะผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินล่ะก็ จำเป็นจะต้องหานักปราชญ์ผู้มีความสามารถมาคอยช่วยเหลือ และได้เสนอชื่อของคนสองคนไปนั่นคือ ขงเบ้งและบังทอง ผู้มีฉายาว่า "ฮกหลง" และ "ฮองซู"

หลังจากได้คำชี้แนะเช่นนั้นเล่าปี่ก็ได้เอาแต่นึกถึงชื่อของฮกหลงและฮองซูอยู่ตลอด พอได้มาพบกับบุรุษผู้มีท่วงท่าสง่างามและดูเปี่ยมปัญญา จึงได้สำคัญผิดว่าเป็นฮกหลงฮองซู จึงได้รีบเข้าไปสอบถาม

ชายผู้นั้นตอบว่าตนไม่ใช่ แต่มีชื่อว่าตันฮก และเมื่อได้เจรจากันอยู่พักใหญ่ เล่าปี่จึงได้พบว่าคนผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญาอันปราดเปรื่องมากคนหนึ่ง

ก่อนที่จะลาจากกันนั้น ตันฮกได้มองดูม้าที่เล่าปี่ขี่มา ซึ่งม้าตัวนี้เป็นม้าสีขาวที่มีชื่อว่าเต็กเลา

ตันฮกได้บอกต่อเล่าปี่ว่าม้าตัวนี้เป็นม้าที่มีลักษณะไม่ดีและจะนำโชคร้ายมาให้แก่ผู้ที่ขี่มัน ดังนั้นเล่าปี่จึงควรจะละม้าตัวนี้ไปเสีย โดยวิธีที่ดีก็คือยกม้าตัวนี้ให้กับคนที่เป็นศัตรูหรือคนที่เล่าปี่ต้องการจะเอาชีวิต ก็จะเป็นการขจัดปัญหาได้ไม่ยาก
เล่าปี่ได้ฟังเช่นนั้น ก็ปฏิเสธและบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่ขัดต่อคุณธรรม และคิดจะควบม้าจากไป

ตันฮกหรือชีซีได้ฟังคำตอบเช่นนั้นจึงพบว่านี่แหละคือเจ้านายที่เขาเฝ้ารอมานาน และเรียกให้เล่าปี่หยุดไว้จากนั้นจึงบอกว่าที่เขาถามแบบนี้ก็เพราะต้องการทดสอบเล่าปี่ว่าจะมีคุณธรรมในใจสักแค่ไหน บัดนี้เขารู้แล้ว ดังนั้นเขาจะขอมาอยู่รับใช้เล่าปี่นับจากนี้ไป

นับแต่นั้นมาเล่าปี่ก็ได้ตันฮกมาอยู่ด้วย และตันฮกก็ได้มารับตำแหน่งสำคัญที่เล่าปี่ยังขาดคนที่จะทำหน้าที่ตรงนี้อยู่นั่นคือ"กุนซือ"

ตันฮกได้เข้ามาช่วยฝึกทหารและได้แสดงความสามารถในการวางกลยุทธ์จนเป็นที่ยอมรับจากเล่าปี่และเหล่าขุนศึกอย่าง กวนอู เตียวหุย จูล่ง

จากนั้นไม่นานโจโฉซึ่งเพิ่งจะปราบภาคเหนือและภาคกลางจนสงบราบคาบแล้ว ก็คิดจะยกกำลังลงใต้เพื่อปราบเล่าเปียวซึ่งเล่าปี่โดยส่งโจหยินมาเป็นแม่ทัพใหญ่และนำกำลังทัพมาหลายหมื่นคน

เวลานั้นเล่าปี่ได้มาขอพึ่งพาเล่าเปียว และเล่าเปียวก็ได้มอบหมายให้เล่าปี่เป็นเจ้าเมืองซินเอี๋ยเพื่อเป็นด่านหน้า สำหรับคอยรับศึกจากโจโฉ ดังนั้นหน้าที่ในการรับศึกกับโจหยินจึงตกเป็นของเล่าปี่

แม้ว่าเล่าปี่จะได้รับหน้าที่จากเล่าเปียวให้รักษาซินเอี๋ย แต่ก็มีกำลังทหารเพียงไม่กี่พันเท่านั้น ซึ่งแทบจะไม่มีทางต้านโจหยินซึ่งเป็นแม่ทัพชื่อดังและนำทหารมาหลายหมื่นได้เลย

นี่กลับกลายเป็นโอกาสให้ชีซีได้สร้างชื่อในการวางกลศึกจนเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน แต่ก็เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายด้วย

นั่นคือชีซีมองออกว่าโจหยินนั้นเป็นแม่ทัพที่ถนัดการใช้กลศึกและค่ายกล โดยเฉพาะค่ายกลที่โจหยินคิดค้นขึ้นมานั่นคือ "ค่ายกลแปดประตูลั่นดาล" เขาจึงได้เตรียมแผนการสำหรับการทลายค่ายกลของโจหยิน

ในค่ายกลของโจหยินนั้น แม้จะมีความยอดเยี่ยมด้วยการใช้ทหารสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนในค่ายกลเพื่อจัดการศัตรูให้อยู่ภายในค่ายกลก็ตาม แต่ในค่ายกลนั้นมันก็ยังมีช่องว่างอยู่ ซึ่งชีซีก็ได้มองช่องว่างจุดนั้นออก จึงวางแผนให้จูล่งที่รับหน้าที่เป็นทัพหน้าเข้าประจันกับโจหยินนั้น ทะลวงตีทหารของโจหยินตรงจุดนั้นจนทหารหลายหมื่นคนของโจหยินแตกกระเจิงจนเสียรูปขบวน

จากนั้นจึงให้กวนอูและเตียวหุยเข้าตีซ้ำและไม่ช้าทหารหลายหมื่นของโจหยินก็ต้องแตกพ่ายกลับไป

จากผลการรบในครั้งนี้ ได้สร้างชื่อชีซีให้ดังไปทั่ว และเมื่อโจโฉได้ทราบเรื่องเข้าจึงคิดที่จะดึงเอาตัวชีซีออกมาจากเล่าปี่ เพื่อตัดกำลังและเพราะชื่นชอบในความสามารถของชีซีด้วย

ที่ปรึกษาของโจโฉได้แนะนำว่าชีซีนั้นเป็นผู้ที่ยึดมั่นในคุณธรรมและขึ้นชื่อว่าเป็นลูกกตัญญู หากว่าจับเอาตัวแม่ของชีซีมาและหลอกให้นางเขียนจดหายไปหาชีซีล่ะก็ น่าที่จะดึงตัวชีซีมาอยู่ได้ไม่ยาก

โจโฉทำตามนั้น ด้วยการจับตัวแม่ของชีซีมาและให้การกินอยู่อย่างดีด้วยหวังจะให้เกลี้ยกล่อมลูกชาย แต่นางไม่ยอม โดยบอกว่าที่ลูกชายนางได้ไปรับใช้เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้มีชื่อเสียงในด้านความมีคุณธรรมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว และด่าโจโฉซะเสียหาย

แต่ในที่สุดโจโฉก็สามารถหาทางหลอกล่อให้นางเขียนจดหมายถึงลูกชายได้ และได้ส่งจดหมายฉบับนั้นไปให้กับชีซีที่เมืองซินเอี๋ย

ชีซีเมื่อได้รับจดหมายและรู้ว่าแม่ของตนถูกโจโฉจับไปก็ร้อนใจมาก และหลังจากได้ปรึกษากับเล่าปี่แล้ว ตัวเขาจึงตัดสินใจขอลาจากเล่าปี่เพื่อไปทดแทนพระคุณมารดา

เล่าปี่นั้นไม่ต้องการให้ชีซีไปเลย แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมให้ชีซีได้กลับไป เพราะไม่เช่นนั้นแม่ของเขาอาจตายได้
ในฉบับนิยายนั้น เล่าว่าก่อนชีซีจะจากไปนั้นเล่าปี่ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ในตัวชีซีมาก ว่ากันว่าฉากนี้มันยิ่งกว่าเวลาที่คนรักจะต้องแยกจากกันซะอีก

เล่าปี่มาส่งชีซีที่หน้าเมืองจนถึงกระทั่งชีซีควบม้าจากไปแล้ว ก็ยังวิ่งตามไปอีกเพื่อที่จะได้เห็นภาพร่างของชีซีให้นานที่สุด

ในที่สุดชีซีก็ได้ควบม้ากลับมา จนเล่าปี่นึกว่าชีซีจะกลับมาอยู่ด้วย

แต่ชีซีบอกว่าที่เขาควบม้ากลับมานั้นก็เพื่อที่จะให้คำแนะนำเล่าปี่เป็นครั้งสุดท้าย โดยการบอกต่อเล่าปี่ว่ายังมีนักปราชญ์ผู้มีความสามารถมากกว่าตัวเขาอยู่อีก หากเล่าปี่ได้คนผู้นี้ไป การใหญ่ต้องสำเร็จแน่ ซึ่งคนผู้นี้มีชื่อว่า จูกัดเหลียง ขงเบ้ง ซึ่งได้รับฉายาว่าฮกหลง

หากว่าได้ดูฉากนี้ในหนังสามก๊กล่ะก็ถือว่าตลกดีเหมือนกัน เพราะตอนแรกเล่าปี่กำลังร้องไห้อาลับอาวรณ์ในตัวชีซีอยู่ดีๆ แต่พอรู้เรื่องของขงเบ้งก็เปลี่ยนท่าทีและเอาแต่ท่องชื่อของขงเบ้งตลอด

น้ำตานี่เองคือกุศโลบายและอาวุธอันร้ายกาจของเล่าปี่ที่ใช้ในการมัดใจผู้คนทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเขาเป็นคนแรกในยุคสามก๊กที่ใช้วิธีนี้และใช้ได้ผลดีด้วย เพราะอย่างน้อยก็สามารถทำให้ชีซีที่กำลังจะจากไปอยู่แล้วต้องควบม้ากลับมาแนะนำขงเบ้งให้เล่าปี่

โจโฉใช้ความเข้มงวดต่อผู้คนแต่เล่าปี่กลับใช้วิธีตรงข้าม ด้วยเหตุนี้เองเล่าปี่จึงเป็นขวัญใจของปวงประชาจำนวนมาก ทั้งที่เขาแทบจะไม่ได้สร้างผลงานในการปกครองแต่อย่างใดเด่นชัดมากนัก

กลับมาเรื่องของชีซี เอาเป็นว่าในที่สุดชีซีก็ได้ลาจากเล่าปี่ไปหาโจโฉเพื่อรักษาชีวิตมารดาไว้

แต่เมื่อมาถึงนครฮูโต๋ของโจโฉ และได้พบกับมารดาแล้วกลับถูกมารดาด่าว่าอย่างเสียหาย เพราะชีซีได้ตกหลุมพรางของโจโฉเสียแล้ว

มารดาของชีซีด่าว่าอย่างรุนแรงว่าเสียทีที่เรียนรู้และท่องโลกมามาก กลับมองไม่ออกว่านี่เป็นอุบายที่ใช้เพื่อดึงตัวชีซีมาอยู่กับโจโฉด้วย และเมื่อมาช่วยโจรกบฏแบบโจโฉเช่นนี้แล้ว ตัวมารดาจะมีหน้าอยู่สู้ผู้คนได้อย่างไร แล้วคืนนั้นนางก็ผูกคอตัวเองตาย

ชีซีเศร้าใจอย่างหนักที่ตนเป็นต้นเหตุทำให้มารดาต้องตาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว

ได้แต่ทำงานเป็นขุนนางคนหนึ่งของโจโฉ แต่เขาได้สาบานเอาไว้ว่าจะไม่ขอเสนอแผนให้กับโจโฉแม้แต่แผนเดียว และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ชีซีไม่เคยเสนอแผนให้โจโฉแม้แต่แผนเดียว อันทำให้บทบาทของเขาหายไปจากหนังสือสามก๊ก มีมาปรากฏอีกครั้งก็ตอนที่โจโฉจะหาทูตไปเกลี้ยกล่อมให้เล่าปี่ยอมแพ้ ตอนนั้นเองที่โจโฉได้ส่งชีซีไป

แต่ชีซีไม่เพียงแต่จะไม่เกลี้ยกล่อมให้ ยังแอบบอกเล่าปี่ให้ทราบว่าโจโฉคิดจะนำทหารหลายแสนคนบุกลงใต้ในไม่ช้า ทำให้ทางเล่าปี่ไหวตัวก่อน และเตรียมการหนีได้

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชีซีได้มีบทบาทในสามก๊ก

เขาถูกกลืนหายไปในประวัติศาสตร์สามก๊กอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งที่มีความสามารถในการวางแผนการศึกไม่เป็นรองผู้ใด แต่เพราะความกตัญญูและคุณธรรมที่ยึดมั่นไว้ในใจ ทำให้หมดโอกาสในการสร้างชื่อให้ลือกระฉ่อนอีก

เขาจึงเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องด้านคุณธรรมอย่างสูงจากแฟนๆสามก๊กในยุคหลัง แม้เขาจะมีบทบาทเพียงแค่นั้นก็ตาม

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 เมษายน 2560 เวลา 15:46

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ ... อยากทราบเพิ่มเติมว่า บั้นปลายชีวิต ของชีซีเป็นอย่างไร เป็นขุนนาง ของโจโฉตลอดไปหรือไม่ หลังจากที่เป็นฑูตแล้วชีวิตเขาเป็นไเช่นไรค่ะ

    ตอบลบ
  2. ปรากฎที่ก่อนศึกเซ็กเพ็กครับ

    ตอบลบ