วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก ไทสูจู้ จื่ออี้

ประวัติสามก๊ก ไทสูจู้ จื่ออี้

ไทสู้จู้ มีชื่อรองว่า จื่ออี้ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 166 (บางฉบับว่า 169) เป็นชาวอำเภอหวง เมืองอุยก๋วน มณฑลซานตุง มีลักษณะเด่นคือรูปร่างสูงใหญ่กว่า 7 ฟุต ร่างกายกำยำแข็งแรง เชี่ยวชาญการยิงธนู กล่าวกันว่าในวัยเด็กเป็นผู้ที่ใฝ่การศึกษาโดยเฉพาะทางด้านอักษร และได้รับการชื่นชมจากผู้ใหญ่ในเมืองมากในเรื่องของความเป็นบุตรกตัญญู

เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ได้สอบเข้ารับราชการและได้รับตำแหน่งขุนนางเล็กๆในบ้านเกิด เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากเกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่ง เจ้านายของไทสูจู้ ได้ทะเลาะกับเจ้าเมืองซึ่งเป็นขุนนางตำแหน่งใหญ่กว่า ทั้งสองจึงพากันส่งฎีกาเพื่อร้องทุกข์ โดยสมัยนั้นมีธรรมเนียมว่า ใครส่งฎีกาได้ก่อนจะถือว่าได้เปรียบ เพราะการพิจารณาคดีส่วนใหญ่จะเริ่มจากกฎีกาของคนที่ส่งมาก่อน ซึ่งขุนนางของเจ้าเมืองได้ส่งคนนำสารไปแล้ว เจ้านายของไทสูจู้นั้นช้ากว่า และกังวลว่าการส่งสารช้าไปจะไม่เป็นผลดีกับตัวเขานัก จึงได้เลือกไทสูจู้ซึ่งตอนนั้นเป็นขุนนางชั้นต่ำอายุเพียง 21 ปีเป็นผู้ส่งสารให้

ไทสูจู้เร่งควบม้าเดินทางตลอดวันโดยแทบไม่หยุดพัก แต่เมื่อมาถึงเมืองหลวงแล้ว ระหว่างที่เดินบนถนนสายหลักที่มุ่งตรงไปที่ทำการ เขาก็พบกับผู้ส่งสารของอีกฝ่ายกำลังเตรียมส่งฎีกาเช่นกัน แต่อีกฝ่ายไม่รู้จักไทสูจู้ เขาจึงหลอกถามและขอดูสารของอีกฝ่าย เมื่อได้เห็นแล้วเขาก็ทำลายทิ้ง แล้วเกลี้ยกล่อมอีกฝ่ายว่าตนได้รับคำสั่งให้มาขัดขวางการส่งสารของเจ้าเมือง แต่ครั้งนี้คงทำเกินกว่าเหตุ กลับไปคงถูกลงโทษได้ และเมื่อสารถูกทำลาย อีกฝ่ายก็ต้องถูกลงโทษเช่นกัน ดังนั้นสู้หนีไปพร้อมกันน่าจะดีกว่า

แต่ก่อนจะหนีไปจากเมือง ไทสูจู้ก็แอบไปส่งสารของตนก่อน ดังนั้นเจ้านายของไทสูจู้จึงชนะคดีไป และเจ้าเมืองก็ไม่พอใจในตัวเขามาก เขาจึงต้องหลบหนีไปอยู่ที่เลียวตั๋ง แต่ชื่อเสียงในไหวพริบของไทสูจู้ก็โด่งดังเป็นที่รู้จักในหมู่ขุนนางและเจ้าเมืองแถบนั้นแล้ว

ขงหยงเจ้าเมืองปักไฮ ประทับใจในไหวพริบ ความหลักแหลมในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยไม่กลัวอันตรายของไทสูจู้ จึงคิดจะผูกมิตรกับเขา เมื่อรู้ว่าไทสูจู้เป็นบุตรกตัญญูที่เชื่อฟังคำมารดามาก ขงหยงจึงได้ให้การอุปการะมารดาของไทสูจู้เป็นอย่างดี

ในช่วงปี ค.ศ. 184 เกิดกบฏโจรผ้าเหลืองขึ้น ขงหยงซึ่งครองเมือปักไฮ ได้รับคำสั่งจากส่วนกลางให้มาสู้กับโจรผ้าเหลืองที่ตู้ฉาง แต่ทัพของเขากลับถูกโจรผ้าเหลืองปิดล้อมไว้ ระหว่างนั้นไทสูจู้ได้เเดินทางกลับมาเยี่ยมมารดาพอดีบ้าน มารดาของเขาจึงให้เขาไปช่วยขงหยง เพราะตลอดมาขงหยงดีต่อนางตลอด

หลังจากเริ่งออกเดินทางสามวันติดต่อกัน ไทสูจู้ก็ไปยังตู้ฉาง และลอบฝ่าวงล้อมเข้าไปพบกับขงหยงในยามค่ำคืน ไทสูจู้ได้ขอทหารส่วนหนึ่งจากขงหยงเพื่อนำไปสู้กับโจรผ้าเหลือง แต่ขงหยงไม่เชื่อคำแนะนำของไทสูจู้ และตัดสินใจรอการช่วยเหลือจากภายนอก แต่ก็ไม่มีมา และโจรผ้าเหลืองก็ดูจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ขงหยงจึงคิดจะส่งสารไปขอความช่วยเหลือจากเล่าปี่ ซึ่งตอนนั้นเป็นเจ้าเมืองผิงหยวน แต่เสียตรงที่ไม่มีใครมีความสามารถพอจะฝ่าวงล้อมกองทัพโจรผ้าเหลืองไปได้ ไทสูจู้จึงอาสาเป็นคนส่งข่าว ขงหยงจึงห้ามไว้และพูดว่า โจรผ้าเหลืองล้อมเราไว้แน่นหนานัก งานนี้ย่อมยากเกินไป

ไทสูจู้จึงบอกว่าขงหยงนั้นให้ความเมตตาแก่มารดาของเขายิ่งนัก นอกจากคำขอบคุณที่นางมีให้แล้ว การที่นางส่งเขามาช่วยเพราะรู้ถึงขีดความสามารถของตัวเขาดี นางจึงได้ส่งข้ามา จากการที่ไทสูจู้ยืนยันหนักแน่นว่าทำได้ ทำให้ขงหยงยอมมอบภารกิจเสี่ยงตายนี้ให้ไทสูจู้

จากนั้นเมื่อถึงรุ่งเช้า ไทสูจู้กับคนติดตามสองคนก็ควบม้าออกทางประตูเมืองใหญ่ ไทสูจู้นั้นถือธนูโดยให้คนติดตามแบกเป้าตามมาด้านหลัง โจรผ้าเหลืองที่ตั้งค่ายอยู่ก็แปลกใจและพากันออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น

ไทสูจู้อาศัยจังหวะนั้นข้ามคูเมือง วางเป้าธนูลงและข้ามกลับมา แล้วก็เริ่มยิงธนูใส่เป้าพวกนั้น หลังจากยิงอยู่พักใหญ่ เมื่อลูกธนูหมดแล้วก็กลับเข้าเมือง รุ่งเช้าวันต่อมาก็ทำเช่นเดิมกับเมื่อวาน โจรผ้าเหลืองบางคนก็ลุกมาดู แต่ส่วนใหญ่ต่างพากันหลับต่อไม่สนใจ แล้วไทสูจู้ก็ทำเช่นนั้นติดต่อกันสองวัน จนพวกโจรผ้าเหลืองไม่สนใจจะดูแล้วนอนหลับกันหมดแล้ว ไทสูจู้ก็อาศัยจังหวะนั้นควบม้าฝ่าดงศัตรูออกมาได้ พอพวกโจรผ้าเหลืองติดตามมา เขาก็ยิงธนูใส่จนร่วงตายกันหมด โจรผ้าเหลืองที่เหลือจึงไม่กล้าติดตาม เพราะสองวันที่ผ่านมาพวกเขาเห็นฝีมือการยิงธนูเข้าเป้าแทบทุกนัดของไทสูจู้มาแล้ว

นี่เป็นกลยุทธ์ระดับสูงอย่างหนึ่งของไทสูจู้ที่สร้างภาพความเป็นนักธนูผู้เก่งกาจให้ฝังลงประทับในใจของโจรผ้าเหลืองทีละน้อย จนกระทั่งเมื่อภาพนั้นฝังแน่นแล้ว เขาก็อาศัยช่วงทีเผลอฝ่าวงล้มออกไป ซึ่งหากเป็นตามปกติ การที่เขาจะฝ่าวงล้อมคงแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ในเมื่อโจรผ้าเหลืองติดตาความเป็นนักขมังธนูของเขาไปแล้ว ทำให้ข้าศึกไม่กล้าที่จะสู้หรือติดตามเขาไป ทั้งที่หากโจรผ้าเหลืองยกทัพตามไปจริงจัง เพราะถึงไทสูจู้จะเก่งกาจแค่ไหนก็แค่ตัวคนเดียว ซึ่งแผนครั้งนี้ของเขานับเป็นกลยุทธ์ที่อาศัยจิตวิทยาชั้นสูงเลยทีเดียว

เมื่อเร่งเดินทางจนมาถึงเมืองผิงหยวน ไทสูจู้ก็เข้าพบเล่าปี่เพื่อขอกำลังไปช่วยเหลือ เล่าปี่นั้นเมื่อได้ฟังเรื่องราวก็ยกย่องในน้ำใจของไทสูจู้มาก เล่าปี่จึงยกทหารสามพันคนไปช่วยเหลือขงหยง

เมื่อโจรผ้าเหลืองได้ยินว่ามีทัพหนุนมาช่วยจึงรีบล่าถอยไป ขงหยงก็ประทับใจในตัวไทสูจู้ยิ่งขึ้นและชื่อเสียง วีรกรรมของไทสูจู้ก็เป็นที่เลื่องลือในหมู่ขุนศึกนับจากนั้น

แต่เวลานั้นไทสูจู้ยังไม่ได้เข้าในสังกัดของขุนศึกคนไหน ซึ่งเขามีความหวังว่าตนจะได้รับใช้เล่าอิ้ว ผู้ตรวจการแคว้นยังจิ๋วเพราะเป็นคนบ้านเดียวกับไทสูจู้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของนักรบอยากจะรับใช้ขุนศึกหรือขุนนางชั้นสูงที่มาจากถิ่นเดียวกัน

เขาตัดสินใจเข้าพบเล่าอิ้วและได้เป็นนายทหารในสังกัดเล่าอิ้ว โดยเล่าอิ้วไม่ได้มอบยศให้เขาสูงนัก เพราะประเมินฝีมือของไทสูจู้ไว้ไม่สูงนักแลเห็นว่าอายุยังน้อย

จากนั้นไม่นานซุนเซ็กก็นำกำลังหลายหมื่นคนบุกลงแดนกังหนำและหมายจะปราบเล่าอิ้วเพื่อฟื้นฟูตระกูลซุน ฝ่ายเล่าอิ้วแม้จะมีกำลังทหารมากกว่า และได้เปรียบทางชัยภูมิ แต่แม่ทัพนายกองส่วนใหญ่ไม่ชำนาญศึก เหล่าที่ปรึกษาของเล่าอิ้วจึงเสนอให้แต่งตั้งไทสูจู้ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่เพื่อรับศึก แต่เล่าอิ้วปฏิเสธ และตั้งให้เขาเป็นเพียงนายทหารตรวจตรากองทัพเท่านั้น

ในระหว่างที่ศึกกับซุนเซ็กดำเนินไปนั้น ซุนเซ็กได้แสดงฝีมือรบชนะเตียวเอ๋ง แม่ทัพคนสำคัญของเล่าอิ้วได้ จนเล่าอิ้วร้อนใจคิดจะยกทัพออกไปต้านศึกเอง โดยระหว่างนั้มีข่าวว่าซุนเซ็กกับทหารติดตามเพียงสิบกว่าคนได้ขึ้นไปทำการสักการะศาลเจ้าของพระเจ้าฮั่นกองบู๊บนเขาแห่งหนึ่ง ไทสูจู้จึงเสนอแผนลอบโจมตีซุนเซ็กในตอนนี้ที่มีผู้ติดตามเพียงน้อยนิด แต่เล่าอิ้วแย้งว่าอาจะเป็นแผนลวงของซุนเซ็กมากกว่า และบอกว่าไทสูจู้นั้นอายุยังน้อย ยังคิดการไม่รอบคอบ ไทสูจู้ไม่พอใจและบอกว่าหากลองวิเคราะห์นิสัยของซุนเซ็กที่เป็นคนเชื่อมั่นในความสามารถและฝีมือการรบของตนแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าข่าวนี้จะเป็นเรื่องจริง แล้วว่าหากไม่ฉวยโอกาสจับตัวซุนเซ็กตอนนี้แล้ว จะทำตอนไหน จึงออกไปประกาศต่อทหารที่หน้าค่ายว่าตนจะออกไปจับตัวซุนเซ็ก มีผู้ใดที่คิดจะไปด้วยบ้าง

ไม่ปรากฏว่ามีทหารคนใดยอมทำตามคำของเขา นอกจากทหารเลวนายหนึ่งที่สรรเสริญไทสูจู้ว่าเป็นคนกล้าหาญ ทำอะไรกล้าได้กล้าเสีย ไม่หวั่นความตาย จึงมีเพียงไทสูจู้และทหารเลวคนนั้นเพียงสองคนพากันควบม้าขึ้นไปบนเนินเขาที่ได้ข่าวว่าซุนเซ็กอยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะของเหล่าทหารในค่าย

และเมื่อขึ้นมาสบนเนินเขาแล้ว เขาก็ได้พบกับ “เซียวปาอ๋อง” ซุนเซ็กเข้าจริงๆ ซึ่งซุนเซ็กนั้นมีทหารติดตามมาเพียงสิบกว่าคนตามข่าวที่ได้ หากแต่ละคนล้วนเป็นแม่ทัพมีชื่อเสียงและยอดฝีมือ เช่น อุยกาย ฮันต๋ง ซงเขียม

ไทสูจู้ประกาศนามตนต่อซุนเซ็กแล้วควบม้าเข้าจู่โจมซุนเซ็กทันที ซุกเซ็กโต้กลับด้วยการแทงหอกใส่ม้าของไทสูจู้ แล้วทั้งสองจึงลงไปตะลุมบอนกันบนพื้นอยู่พักใหญ่ และต่อสู้กันจนเป็นเวลานาน ซุนเซ็กคว้าเอาทวนที่ไทสูจู้พกอยู่ด้านหลังไปได้ ส่วนไทสูจู้ก็แย่งเอาหมวกซุนเซ็กมาได้ และก่อนที่ทั้งคู่จะเริ่มดวลกันต่อ กองทัพทั้งสองฝ่ายก็ติดตามมาถึง พวกเขาจึงต้องรามือแล้วถอยกลับค่ายพักของตน

ซุนเซ็กรู้สึกเจ็บใจที่ไม่อาจเอาชัยจากไทสูจู้ได้ วันรุ่งขึ้นเมื่อทหารของทั้งสองฝ่ายยกมาประจันหน้ากันที่หน้าค่ายของเล่าอิ้ว ซุนเซ็กจึงนำทวนที่ชิงได้จากไทสูจู้มาชูขึ้นแล้วน้องว่า หากไม่เพราะเมื่อวานนี้ไทสูจู้หนีไปก่อน จะต้องตายด้วยทวนนี้ไปแล้ว

ส่วนไทสูจู้ก็แก้ลำด้วยการนำหมวกของซุนเซ็กที่แย่งมาได้ชูขึ้น แล้วว่านี่เป็นของใครกันที่เราได้มา จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากถล่มกันด้วยสงครามประสาท ด้วยการเย้ยกันไปมา เล่าอิ้วจึงให้ไทสูจู้ขี่ม้าออกศึกไปท้าดวลกับซุนเซ็ก

เทียเภา ขุนพลอาวุโสของฝ่ายซุนเซ็กเห็นไทสูจู้ออกมาจึงขี่ม้าออกไปบ้าง ไทสูจู้จึงตะโกนด่าว่าฝีมือเจ้าไม่คู่ควร แล้วร้องท้าให้ซุนเซ็กออกมา เทียเภาโกรธจัดจึงเข้าดวลกับไทสูจู้ได้สามสิบเพลง

แต่การท้าดวลนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จิวยี่วางไว้ โดยในขณะที่ซุนเซ็กนำกองทัพไปท้ารบกับทางเล่าอิ้วที่หน้าค่ยนั้น จิวยี่ก็นำทหารส่วนหนึ่งวกไปตำบลขยกโอ๋ ซึ่งก่อนนั้นจิวยี่ได้ติดต่อกับตันบู ชายร่างสูงใหญ่ ทรงพลัง ชาวเมืองโลกั๋งที่มาอยู่ในขยกโย๋ซึ่งคิดจะเข้าร่วมกับซุนเซ็กเอาไว้ก่อน ตันบูได้ช่วยเปิดประตูค่ายให้ ทำให้กองทัพของจิวยี่ยึดขยกโอ๋ได้อย่างง่ายดาย

ทหารของเล่าอิ้วที่หนีไปได้นั้น รีบไปแจ้งต่อเล่าอิ้ว ซึ่งทำให้เขาตกใจมาก จึงเรียกให้ไทสูจู้กลับเข้ามา เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาดวลกัน ไทสูจ็เมื่อกลับมาแล้วได้ทราบสาเหตุที่ว่าทำไมจึงถูกเรียกกลับทั้งที่จะชนะเทียเภาอยู่แล้ว จึงได้อาสาจะนำทหารไปหาซีเหลและฉกหยงที่ตำบลวัวเหลง

ส่วนทัพของเล่าอิ้วที่ยกหนีไปนั้น ก็ได้ถูกกองทัพของซุนเซ็กไล่ตีในตอนกลางคืน ไทสูจู้ได้ออกต้านทานไว้ แต่ก็ต้านไม่ไหว จึงแตกหนีไปที่เมืองเก๋งก๋วน ส่วนเล่าอิ้วหนีไปตั้งทัพที่ตำบลงิวจู๋

ทางด้านฉกหยงและซีเหลก็ถูกทัพของตันบูเข้าตีจนแตกกระเจิง จนมาสมทบกับทัพของเล่าอิ้วที่งิวจู๋ แต่ก็ถูกทัพของตันบูไล่ตีจนต้านไม่ไหว และแตกพ่ายหนีไปที่เมืองอิเจี๋ยง

ซุนเซ็กจึงวกทัพกลับมาหมายจะตีเมืองเก๋งก๋วนที่ไทสูจู้ตั้งทัพไว้ และอยากจะจับเป็นไทสูจู้ให้ได้ จิวยี่จึงวางแผนให้ยกทหารเข้าตีเมืองสามด้าน โดยจงใจเปิดทางหนีไว้ด้านหนึ่ง แล้วให้ทหารไปซุ่มอยู่ที่หน้าเมืองแล้วเอาเชือกขึงเตรียมไว้ ก็จะจับตัวไทสูจู้ได้

เป็นไปตามแผนของจิวยี่ เพราะทหารในเมืองไม่ชำนาญการรบ ไทสูจู้ไม่มีทางเลือกนอกจากจะหนีออกมาตามทางที่จิวยี่เปิดช่องไว้ เมื่อสามารถจับตัวไทสูจู้ได้แล้ว ซุนเซ็กก็เข้าเกลี้ยกล่อมเพื่อให้มาร่วมกับตน ไทสูจู้เห็นว่าซุนเซ็กไม่คิดพยาบาทในเรื่องเก่า ประกอบกับการดวลกันของลูกผู้ชายทั้งสองเมื่อคราวก่อน เป็นสิ่งที่ยังคงติดใจอขงไทสูจู้อยู่มาก เขาจึงยอมสวามิภักดิ์และเข้าร่วมกับซุนเซ็ก

ซุนเซ็กยินดียิ่งนัก และจัดแจงเลี้ยงไทสู้จู้เป็นการใหญ่ ซุนเซ็กถามว่าถ้าครั้งนั้นไทสู้จู้จับจนได้ จะจัดการอย่างไร ไทสูจู้ตอบว่าข้าไม่อาจพูดได้ ซุนเซ็กก็หัวเราะชอบใจ แล้วไทสูจู้จึงบอกแก่ซุนเซ็กว่าพวกทหารของเล่าอิ้วที่กระจัดกระจายยังมีอยู่นับพัน หากซุนเซ็กเชื่อใจ ตนจะไปรวบรวมและเกลี้ยกล่อมมาไว้เป็นกำลังให้ซุนเซ็ก โดยให้สัญญาว่าตนจะไปและกลับมาก่อนอาทิตย์ตกดินของวันพรุ่งนี้

ซุนเซ็กเชื่อใจเขาและปล่อยให้เขาไปตามนั้น แต่เหล่าขุนนางและนายทหารที่เหลือไม่คิดว่าไทสูจู้จะกลับมาอีก ซุนเซ็กจึงพิสูจน์ด้วยการไปนั่งรอที่หน้าค่ายและให้ปักไม้ไว้ เพื่อดูเงาที่ทอดจากไม้ว่าไทสูจู้จะกลับมาก่อนเวลาหรือไม่

สุดท้ายแล้วไทสูจู้ก็กลับมาจริงๆพร้อมกับนำทหารกว่าพันนายมาร่วมด้วย เหล่าทหารจึงพากันยกย่องซุนเซ็กว่ามองคนเก่ง และยกย่องไทสูจู้ว่ามีวาจาสัตย์

ไทสูจู้จึงได้เข้าร่วมเป็นแม่ทัพคนสำคัญในกองทัพของซุนเซ็กนับแต่นั้น และจากนั้นไม่นาน ซุนเซ็กก็สามารถแผ่ขยายอิทธิพลครองครองกังหนำทั้งหมดได้

ชื่อเสียงของไทสูจู้เลื่องลือไปทั่ว แม้แต่โจโฉยังอยากได้ตัว จึงส่งจดหมายปิดผนึกที่ใส่ตังกุยไว้ เป็นการบอกกลายๆว่าให้หวนกลับมายังภาคกลาง

จากนั้นไม่ได้ปรากฏวีรกรรมของไทสูจู้อีก และในที่สุดก็เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.207 รวมอายุ 41 ปี โดยในนิยายกับในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ไม่ตรงกัน เพราะในนิยายนั้นมีเขียนถึงไทสูจู้ว่าเขายังไม่ตายและเข้าร่วมในศึกเซ็กเพ็กด้วย แต่ในประวัติศาสตร์กลับไม่ได้บอกไว้เช่นนั้น โดยคนที่รับตำแหน่งต่อจากเขาคือบุตรชายนามว่าไทสูเฮียง

ซึ่งในบรรดาขุนพลของง่อก๊กนั้น เป็นที่ยกย่องกันว่าไทสูจู้เป็นผู้หนึ่งที่มีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด ไม่เป็นรองซุนเซ็กเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น