ประวัติสามก๊ก เตียวเจียวและโกะหยง
“เรื่องภายในให้ถามเตียวเจียว เรื่องภายนอกให้ถามจิวยี่”
นี่คือคำพูดประโยคดังที่ซุนเซ็กได้กล่าวสั่งเสียไว้ให้แก่ซุนกวนก่อนที่เขาจะตายลง
ด้วยคำพูดประโยคสั้นๆนี่เอง ที่ทำให้ชื่อของเตียวเจียวและจิวยี่กลายเป็นที่รู้จักของคนอ่านสามก๊ก
การที่ยอดคนอย่างซุนเซ็กได้กล่าวคำพูดที่เป็นการแสดงการยกย่องต่อคนทั้งสองนั้นแสดงว่าพวกเขาไม่ใช่ธรรมดา ซึ่งภายหลังจิวี่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคำของซุนเซ็กไม่ได้เกินไปเลย เมื่อเขาได้สร้างผลงานครั้งสำคัญในศึกเซ็กเพ็กด้วยการเอาชนะกองทัพของโจโฉที่มีกำลังมหาศาลกว่าได้
ส่วนเตียวเจียวนั้น ไม่ได้เด่นดังจากผลงานการศึก หากแต่ผลงานของเขามาจากการที่ช่วยสร้างระบบระเบียบการปกครองภายให้ง่อก๊กจนกลายเป็นก๊กที่มีสภาพเศรษฐกิจดีที่สุดในสามก๊กและมีความแข็งแกร่งจนอีกสองก๊กไม่อาจตีแตกได้
หากแต่เมื่อพูดถึงเตียวเจียวแล้ว คนอ่านสามก๊กมักจะนึกไปถึงเหตุการณ์ที่เขาเสนอให้ซุนกวนยอมจำนนต่อโจโฉก่อนศึกเซ็กเพ็กเสียมากกว่า และในนิยายสามก๊กหลังจากนั้น เตียวเจียวก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก จึงกลายเป็นว่าเขาเหมือนคนรักตัวกลัวตายมากกว่า
แต่ซุนเซ็กจะฝากซุนกวนและบ้านเมืองง่อให้คนเช่นนี้ได้หรือ
นอกจากนี้ยังมีอีกบุคคลที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเตียวเจียวในการเป็นเสาหลักทำให้ง่อก๊กเจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็ง แต่คนผู้นี้ก็ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นั่นคือโกะหยง
ทั้งสองคือเสาหลักด้านบุ๋นและการปกครองของง่อ หากแต่นิยายสามก๊กเทบทบาทให้ฝ่ายง่อน้อยมาก ดังนั้นเหล่านักบุ๋นของง่อจึงแทบจะไม่เป็นที่รู้จักและมีบทบาทน้อยเหลือเกิน
ถ้าเช่นนั้นลองไปดูเรื่องราวของทั้งสองกันเลย
ประวัติโดยย่อ
เตียวเจียวหรือจางเจา ชื่อรองจื่อปู้ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 156 เป็นชาวชาวเมืองไพเฉิน ปัจจุบันคือเมืองชีจิ๋ว มณฑลเจียนซู
เตียวเจียวมีพี่ชายอยู่คนหนึ่งชื่อว่าเตียวหอง ทั้งสองคนเป็นเด็กหนุ่มที่มีใจใฝ่รู้ ต่างร่วมกันศึกษาตำราหาความรู้ตั้งแต่เด็ก จนถึงขั้นสามารถแต่งหนังสือได้หลายเล่ม จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้คงแก่เรียน นอกจากนี้เตียวเจียวยังมีนิสัยซื่อสัตย์เถรตรง พูดจาตรงๆไม่อ้อมค้อม ผู้คนจึงให้ความนับถือเขาและยำเกรงเขาอย่างมาก
ด้วยความที่มีชื่อเสียงตั้งอายุยังน้อย เมื่อเตียวเจียวอายุได้ 20 ปี โตเกี๋ยม เจ้าเมืองชีจิ๋วก็เชิญให้มารับราชการ แต่เตียวเจียวปฏิเสธ โตเกี๋ยมจึงไม่พอใจมาก ด้วยความที่โตเกี๋ยมเป็นเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียง และชีจิ๋วก็อยู่ในการปกครองของเขา เตียวเจียวจึงใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างลำบาก
จนกระทั่งในปีค.ศ.194 ชีจิ๋วประสบภัยครั้งใหญ่จากการรุกรานขอโจโฉ เตียวเจียวตัดสินใจลี้ภัยลงมาทางใต้ ไปยังแดนกังหนำ และที่นั่น ชื่อเสียงของเขาร่วมกับพี่ชายก็เป็นที่ยอมรับของบัณฑิตในกังหนำ จนกระทั่งพวกเขาถูกเรียกว่า สองเตียวแห่งกังหนำ
ในปีเดียวกันนั้น ซุนเซ็กแห่งตระกูลซุนซึ่งอยู่ใต้อาณัติของอ้วนสุด ได้ยกกองทัพลงมาทางใต้เพื่อปราบปรามเล่าอิ้ว เมื่อสามารถปราบเล่าอิ้วและขึ้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในกังหนำได้แล้ว ซุนเซ็กก็ประกาศตัวเป็นอิสระจากอ้วนสุด และเริ่มสะสมบุคลากรเพื่อความเป็นใหญ่ในวันหน้า
ชื่อเสียงของสองเตียวแห่งกังหนำ ทำให้ซุนเซ็กเชิญชวนเตียวเจียวและเตียวหองมารับราชการด้วย โดยให้เตียวเจียวเป็นผู้จัดระเบียบดูแลกองทัพ และรวบรวมยุทธปัจจัยต่างๆ ซึ่งเตียวเจียวก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ซุนเซ็กจึงวางใจเตียวเจียวยิ่งนัก
ตอนนั้นซุนเซ็กอายุ 20 ส่วนเตียวเจียวอายุ 39 แต่ทั้งสองก็คบหากันดั่งเพื่อนสนิท เตียวเจียวไม่เพียงเป็นแค่ขุนนางคนหนึ่ง แต่ได้รับความไว้วางใจดุจดั่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของตระกูลซุนด้วย
ปี ค.ศ. 200 ซุนเซ็กที่สามารถรวบรวมดินแดนกังหนำทั้งหมดมาไว้ในกำมือ ตระเตรียมกองทัพเพื่อฉวยโอกาสที่โจโฉรบกับอ้วนเสี้ยว เข้ายึดครองภาคกลาง แต่ไม่ทันได้ทำ ซุนเซ็กก็ป่วยหนักเสียก่อน จนเมื่อรู้ว่าตัวเองใกล้ตาย จึงได้เรียกซุนกวนมาเพื่อสั่งเสียว่า
“เรื่องภายในปรึกษาเตียวเจียว เรื่องภายนอกปรึกษาจิวยี่”
เป็นการเปรียบว่าสำหรับตระกูลซุนแล้ว จิวยี่คือเสาหลักด้านบู๊ ส่วนเตียวเจียวคือเสาหลักด้านบุ๋น
ซุนกวนตอนนั้นมีอายุเพียง 18 ปี ก็ทำตามคำสั่งเสียงของพี่ชาย เขาเชื่อฟังเตียวเจียวประดุจว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ โดยนิสัยจริงๆของซุนกวนนั้นเป็นคนวู่วามใจร้อน และไม่ค่อยเชื่อฟังใคร แต่สำหรับเตียวเจียวที่มักจะให้คำแนะนำหรืออาจจะเป็นการเทศนาว่ากล่าวตักเตือนด้วยซ้ำ ซุนกวนก็ยังต้องยอมอ่อนให้
เตียวเจียวช่วยเหลือการบริหารงานภายในมาอย่างดี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 208 โจโฉที่รวบรวมภาคกลางเป็นปึกแผ่น ได้รวบรวมกองทัพใหญ่บุกลงใต้ และสามารถยึดเกงจิ๋วได้โดยไม่ต้องสู้รบ เท่ากับว่าเตรียมจ่อเข้าดินแดนกังหนำเต็มทน
ในนิยายสามก๊กเล่าว่า โจโฉได้ส่งจดหมายมาขอให้ซุนกวนยอมจำนน และยังข่มขู่ว่ายกทหารลงมาร้อยหมื่น เหล่าที่ปรึกษาของซุนกวนได้ฟังเช่นนั้นก็พากันแตกตื่น ซุนกวนจึงสั่งเรียกประชุมเหล่าขุนนางเป็นการด่วน
ในนิยายสามก๊กเล่าว่าเหล่าที่ปรึกษาของซุนกวนมีความเห็นแตกแยกแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเสนอให้ยอมจำนน ซึ่งนำโดยเตียวเจียวและเหล่าขุนนางฝ่ายบุ๋น ส่วนฝ่ายที่ให้สู้นั้นคือเหล่าขุนนางฝ่ายบู๊ มีหัวแรงคือพวกแม่ทัพอาวุโสอย่าง ฮันต๋ง อุยกาย เทียเภา
เตียวเจียวนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ในการเสนอแนะให้ซุนกวนยอมจำนน โดยเหตุผลของเขานั้นนับว่าสมเหตุสมผลและยากจะโต้แย้ง และยังเป็นการมองการณ์ไกลเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง
เขามองว่าขณะนี้โจโฉเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน และยังควบคุมฮ่องเต้อ้างพระราชโองการต่างๆจนราวกับว่าคำสั่งของโจโฉนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม และขณะเดียวกันการรวมภาคกลางและเหนือได้ของโจโฉนั้นยังได้เป็นการยุติไฟสงครามในแผ่นดินที่มีมาหลายสิบปีได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้นสงครามที่เกิดขึ้นนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ชาวประชาอดอยาก แต่โจโฉเปรียบเสมือนวีรบุรุษที่เข้าไปช่วยเหลือแผ่นดินที่กำลังฟอนเฟะให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดสงครามจนผู้คนต้องล้มตายไปอีก จึงสมควรที่ซุนกวนจะเห็นแก่เหล่าประชาชน และยอมจำนนต่อโจโฉเพื่อมิให้เกิดสงครามจนผู้คนในกังหนำต้องทนทุกข์
ซุนกวนเองก็ลังเลใจและลำบากใจไม่น้อยเมื่อเจอเตียวเจียวอ้างเหตุผลเช่นนี้ แต่ในใจลึกๆแล้วนั้น ซุนกวนอยากจะเปิดศึกกับโจโฉ ในฐานะที่เป็นทายาทของนักรบเขาย่อมมีทิฐิมานะมากพอจนไม่อาจที่จะยอมจำนนได้ และแน่นอนว่าเขาย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจว่าการที่พ่อและพี่ชายสู้วางรากฐานของตระกูลซุนมาอย่างลำบากนั้น มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การทำให้ตระกูลซุนผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือใครในแผ่นดิน ดังนั้นจะให้เลิกล้มการใหญ่นี้ได้เช่นไร
เพียงแต่เตียวเจียวมีเหตุผลหรือถ้าจะบอกว่าเป็นข้ออ้างที่ดีและยากจะโต้เถียงได้ แม้ซุนกวนจะเป็นผู้นำของง่อแต่ความเห็นของเตียวเจียวซึ่งเป็นที่ปรึกษาเอกนั้นมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เหล่าขุนนางและซุนกวนไม่อาจหาเหตุผลที่ดีกว่ามาหักล้าง ด้วยเหตุนี้เมื่อขงเบ้งผู้เป็นตัวแทนของเล่าปี่เข้ามาเจรจาขอผูกพันธมิตรเพื่อรบกับโจโฉและสามารถหาข้ออ้างที่ดีกว่ามาโต้แย้งกับเตียวเจียวจนชนะ ซุนกวนจึงคิดจะเปิดศึกกับโจโฉตามความต้องการแท้จริง
ในนิยายสามก๊กพูดถึงการพูดจาตอบโต้อันฉะฉานของขงเบ้งที่สามารถเอาชนะเหล่าที่ปรึกษาของซุนกวนได้ โดยเฉพาะเตียวเจียวที่ถูกขงเบ้งพูดตอกจนหน้าหงายนั้น เป็นเพียงเรื่องที่แต่งเสริมให้ปัญญาของขงเบ้งเด่นขึ้นมา
เพราะในประวัติศาสตร์ ขงเบ้งไม่ได้มีบทบาทในการโน้มน้าวซุนกวนมากนัก เหตุเพราะจิวยี่ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่คิดที่จะรบกับโจโฉอยู่แต่แรกแล้ว ถึงจะไม่มีขงเบ้งมาพูดก็ตามท และโลซกซึ่งเป็นที่ปรึกษาหนุ่มที่ซุนกวนวางใจ ยังได้ให้คำแนะนำและข้อคิดบางอย่างที่มีผลทำให้ในอนาคตซุนกวนเริ่มจะไม่สนใจในคำแนะนำของเตียวเตียวอีก
โลซกได้เปิดอกพูดกับซุนกวนเพียงสองคนว่าซุนกวนสมควรจะเปิดศึกกับโจโฉ โดยให้เหตุผลสำคัญคือ หากว่าซุนกวนยอมสวามิภักดิ์นั้น ซุนกวนก็จะต้องถูกริบรอนอำนาจและยศศักดิ์รวมถึงอาจถูกส่งไปอยู่ในแดนไกล หมดโอกาสที่จะตั้งตัวอีกตลอดไป แต่กับขุนนางคนอื่นๆหรือตัวเขานั้น ยังไงซะก็คงจะได้เข้ารับราชการเหมือนเดิมในสังกัดโจโฉ เพียงแต่อาจจะได้ยศศักดิ์ที่น้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากคิดถึงตัวซุนกวนแล้ว ไม่ควรสวามิภักดิ์โดยเด็ดขาด
ซุนกวนจึงคิดได้และตัดสินใจยอมรับเป็นพันธมิตรพร้อมทั้งยอมพบและพูดคุยกับขงเบ้งที่เป็นทูตของเล่าปี่
เป็นเสมือนการพูดเป็นนัยๆว่า เตียวเจียวนั้นรักตัวกลัวตายและหวงแหนในทรัพย์สมบัติมากกว่าจะห่วงถึงฐานะและชีวิตของซุนกวนเองหลังจากนี้
อันที่จริงเตียวเจียวไม่น่าจะเป็นคนเห็นแก่ตัวเช่นนั้นเมื่อมองว่าเขาเป็นถึงผู้ที่ซุนเซ็กฝากฝังบ้านเมืองให้ เตียวเจียวน่าจะมองในภาพรวมที่ไม่ต้องการให้ดินแดนกังหนำต้องลุกเป็นไฟจากการรุกรานของโจโฉและอยากให้แผ่นดินสงบโดยเร็ว ซึ่งมันก็สมกับเป็นความคิดของขุนนางบุ๋น แต่สำหรับขุนนางบู๊เช่นจิวยี่แล้ว การที่ยอมตั้งแต่ยังไม่ได้รบ รวมไปถึงเหล่าแม่ทัพนายทหารที่พร้อมจะยอมตายแล้ว ความคิดของเตียวเจียวจึงเสมือนเป็นการรักตัวกลัวตายไป
ซุนกวนเป็นผู้นำหนุ่มที่มีจิตใจห้าวหาญไม่กลัวอันตราย ในที่สุดเขาก็มองต่างมุมกับเตียวเจียวและตัดสินใจเปิดศึกกับโจโฉจนกลายเป็นศึกเซ็กเพ็กขึ้น และซุนกวนก็ได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้การบัญชาการทัพของจิวยี่
ในนิยามสามก๊กพูดเป็นเชิงว่า นับแต่นั้นซุนกวนก็เริ่มไม่ใส่ใจต่อคำแนะนำของเตียวเจียวอีก
แต่ในประวัติศาสตร์แล้ว เตียวเจียวยังคงมีบทบาทอีกมากในการบริหารงานภายในของง่อก๊กที่เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และซุนกวนก็ยังเคาระพยำเกรงและฟังในคำแนะนำของเตียวเจียวอยู่ แม้ว่าจะลดลงไปจากสมัยแรกๆมากก็ตาม
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เตียวเจียวมักมองขุนนางที่ยังหนุ่มไม่ค่อยขึ้น เช่นการที่ซุนกวนกวนแต่งตั้งโลซกและลิบองขึ้นมารับงานใหญ่ เตียวเจียวก็คัดค้านเพราะเห็นว่าคนทั้งสองอายุน้อยเกินไป แต่ซุนกวนก็ไม่สนใจ และผลงานที่โลซกและลิบองทำให้ซุนกวนนั้นก็ล้ำค่ายิ่ง
ปีค.ศ. 221 พระเจ้าโจผีที่ขึ้นครองราชย์และตั้งราชวงศ์วุยนั้น ได้ส่งทูตมายังง่อเพื่อแต่งตั้งให้ซุนกวนเป็นง่ออ๋อง แต่ทูตที่มานั้นทำเสียมารยาทด้วยการไม่ยอมลงจากรถม้าเมื่อผ่านประตูจวนเจ้าเมือง เตียวเจียวจึงเข้าไปพูดจาตำหนิ ทำให้ทูตนั้นต้องยอมลงจากรถม้า
จุดนี้เลยพอจะแสดงให้เห็นว่า เตียวเจียวมิใช่คนรักตัวกลัวตายหรือไม่ห่วงศักดิ์ศรีของบ้านเมือง เพียงแต่เรื่องเมื่อครั้งยอมจำนนนั้นเป็นไปเพราะการมองในภาพรวมมากกว่า
เตียวเจียวมักจะตักเตือนสั่งสอนให้ซุนกวนทำความดี และลดการชอบออกล่าสัตว์ไปจนถึงพฤติกรรมเอาแต่ใจที่ซุนกวนมักกระทำในวัง จนถึงขั้นทำให้ทั้งสองคนทะเลาะกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง และเตียวเจียวก็ชอบหักหน้าหรือเทศนาสอนสั่งเขาต่อหน้าเหล่าลูกน้องบริวารบ่อยๆ ซึ่งการทำแบบนี้ของเตียวเจียว หากเป็นเจ้านายคนอื่นหัวคงหลุดจากบ่าไปนานแล้ว แต่แม้จะทะเลาะกันรุนแรงแค่ไหน ซุนกวนก็ยังยอมลงและอ่อนให้เตียวเจียวอยู่หลายครั้ง แม้ว่าซุนกวนจะชอบทำเป็นหูทวนลมต่อคำแนะนำส่วนใหญ่ของเตียวเจียวก็ตาม
ช่วงที่เตียวเจียวยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาแทบจะเป็นผู้เดียวที่สามารถกำราบไม่ให้ซุนกวนออกนอกลู่นอกทางมากเกินไป และด้วยความที่เตียวเจียวเป็นผู้เดียวที่แทบจะไม่ยอมลงให้ซุนกวนนี่เอง ทำให้ซุนกวนไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายชีวิต
หลักฐานคือเมื่อซุนกวนสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ ณ เมืองเกี๋ยนเงียบในปี ค.ศ.229 แล้ว จะต้องมีการตั้งผู้มีที่มีความสามารถสูงสุดขึ้นมาเป็นอุปราชหรือไจเสี่ยง ซึ่งใครๆต่างก็คาดคิดว่าเตียวเจียวที่เป็นเสาหลักของการบริหารงานบ้านเมืองคงจะได้ตำแหน่งนี้แน่ แต่ซุนกวนกลับไปตั้งให้ซุนเสียว ซึ่งเป็นญาติผู้น้องและไม่ได้มีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษขึ้นมาแทน
ซุนเสียวเป็นอุปราชแห่งง่อได้สามปีก็เสียชีวิตลง เหล่าขุนนางจึงพากันถวายฎีกาขอให้ซุนกวนตั้งเตียวเจียวขึ้นเป็นอุปราช แต่ซุนกวนก็ยังคงไม่เลือกเตียวเจียว และมอบตำแหน่งนี้ให้โกะหยง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญอีกคนขึ้นแทน
ในชีวิตของเตียวเจียวไม่มีโอกาสได้นั่งเป็นมหาอุปราชแห่งง่อก๊ก ทั้งที่โดยคุณสมบัติทุกประการแล้วเขาคือผู้ที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น แล้วจากนั้นสามปี ในปี ค.ศ.236 เตียวเจียวก็ป่วยหนักและเสียชีวิตลง รวมอายุได้ 80 ปี (บางฉบับว่า 81)
ซุนกวนรำลึกถึงความดีและผลงานของเตียวเจียว แม้ว่าในช่วงที่มีชีวิต ทั้งสองคนจะทะเลาะกันบ่อยครั้งมาก แต่ในงานศพของเตียวเจียว ซุนกวนก็แต่งชุดขาวไว้ทุกข์และกล่าสรรเสริญเตียวเจียวด้วยตนเอง และอวยยศย้อนหลังให้เตียวเจียวเป็น “เหวินเหา” (พระยาบุ๋น)
และเมื่อสิ้นเตียวเจียวลง ก็ไม่มีผู้ใดในง่อก๊กอีกที่ฝีปากดุจมีด กล้าต่อล้อต่อเถียงกับซุนกวนซึ่งหน้าได้อีก ส่งผลให้ในช่วงบั้นปลายของซุนกวนค่อนข้างเละเทะและเริ่มหลงใหลในสุรานารี เหล่าขุนนางหลายคนที่คิดจะพูดโต้แย้งการกระทำเกินกว่าเหตุของซุนกวนก็มักจะถูกเนรเทศ ลดขั้น หรือหนักสุดก็ถูกประหาร ส่งผลให้ราชสำนักง่อในยุคหลังขาดแคลนบุคลากรฝ่ายบุ๋นที่มีความสามารถไปมาก
สำหรับโกะหยง มหาอุปราชคนที่สองแห่งง่อก๊กนั้น เป็นผู้ที่แตกต่างจากเตียวเจียวโดยสิ้นเชิง แต่กระนั้นทั้งสองคนก็คือเสาหลักของการบริหารแห่งง่อก๊กเช่นเดียวกัน
โกะหยง หรือกู่หยง ชื่อรองเหวียนถั้น เกิดเมื่อปี ค.ศ. 168 เป็นชาวเมืองง่อกุ๋น ประวัติในวัยเด็กไม่ทราบแน่ชัดเพราะมีน้อย รู้เพียงว่าเขาเป็นบัณฑิตหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถสูง และเป็นเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการศึกษาวิชาดนตรีและการเขียนพู่กันมาจากมหาปราชญ์ซัวหยง
ซัวหยงผู้นี้ก็คือผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่นที่ได้รับมอบหมายมาจากตั๋งโต๊ะ ในสมัยที่ตั๋งโต๊ะเข้ายึดอำนาจในเมืองหลวง และก็เป็นซัวหยงนี่เองที่ร้องไห้เมื่อตั๋งโต๊ะตายไป
จากนั้นเมื่อบ้านเมืองในภาคกลางเข้าสู่ภาวะสงครามจากการแก่งแย่งอำนาจของเหล่าขุนศึก โกะหยงก็ได้เดินทางกลับมาอยู่ภาคใต้ และด้วยความรู้ความสามารถเหนือธรรมดา รวมกับชื่อเสียงความเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน จากนั้นหลายปี เขาจึงได้รับการเชิญชวนให้มารับราชการที่กังหนำ ภายใต้การปกครองซุนกวน ซึ่งเขาก็ได้รับมอบหมายงานบริหารปกครองบ้านเมืองที่สำคัญ และเขาก็ทำได้ดีจนเป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองไม่ว่าจะไปปกครองที่เมืองไหนก็ตาม
หลายปีต่อมา เมื่อแผ่นดินแบ่งขั้วเป็นสามอำนาจ ซุนกวนได้ขึ้นเป็นอ๋อง โกะหยงเองก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็น “ต้าลี่เฟิงฉาง” ควบตำแหน่งหัวหน้ากรมอาลักษณ์ รวมกับตำแหน่ง “หยางซุยเสียงโหว”
โดยนิยสัยของโกะหยงนั้นเป็นคนที่เงียบขรึม ไม่ชอบดื่มสุรา และยึดถือคุณธรรมเป็นแบบอย่างอันดีของเหล่าขุนนางโดยทั่ว ซุนกวนยกย่องโกะหยงมาก เขาเคยพูดว่าแม้โกะหยงเป็นคนพูดน้อย แต่หากเปิดปากพูดเมื่อใด คำพูดนั้นมีค่ายิ่ง และสิ่งที่โกะหยงพูดก็สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้แน่
ปีค.ศ.225 โกะหยงได้รับแต่งตั้งเป็นไจเสี่ยง แทนที่ซุนเสียวที่ตายไป และยังได้ควบคุมกรมอาลักษณ์ด้วย การที่โกะหยงได้ตำแหน่งนี้มาแทนที่จะเป็นเตียวเจียว เหตุผลใหญ่ก็มาจากเพราะนิสัยส่วนตัวเขียวเตียวเจียวที่ไม่ค่อยลงให้ซุนกวนนั่นเอง แต่โกะหยงนั้นมีบุคลิกเงียบขรึม และอ่อนน้อมมากกว่า ซุนกวนจึงได้ยกให้โกะหยงแทน
โกะหยงมีหลักการบริหารงานที่เยี่ยมยอดมาก เขาสามารถมอบหมายงานให้กับขุนนางคนอื่นโดยเล็งเห็นความสามารถแต่ละด้าน ใช้ประโยชน์ด้านดีของขุนนางผู้นั้นว่าเหมาะสมกับงานด้านไหน โดยไม่ใช้อคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้องในจัดการมอบหมายงานให้แต่ขุนนางละคน
และในการเสนอแนะคำแนะนำต่างๆต่อซุนกวนนั้น เล่ากันว่าเขามักจะเสนอให้อย่างลับๆ หากนำมาใช้แล้วได้ผลดี ซุนกวนก็คือคนที่ได้หน้าไป แต่หากคำแนะนำใดไม่เหมาะ เขาก็จะเก็บไว้ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ซุนกวนถูกใจโกะหยงมากกว่าเตียวเจียว
แม้ว่าโกะหยงจะเป็นคนที่สุภาพ อ่อนน้อมถ่อนตน แต่ก็เป็นผู้ที่หนักแน่นในการรักษากฎหมายและความยุติธรรม สิ่งใดที่เห็นว่าถูกเขาก็ว่าตามนั้น เช่นเรื่องกฎหมายของง่อก๊กที่เข้มงวดเกินไปนั้น เขาเห็นด้วยกับเตียวเจียวที่จะเสนอแนะให้ซุนกวนผ่อนผัน และก็เป็นผู้ที่ร่วมร่างกฎหมายการปกครองขึ้นใหม่
ตอนที่บิฮุยเป็นทูตมาจากจ๊กก๊กและได้เข้าพบซุนกวนเพื่อขอให้ซุนกวนยกทัพช่วยรุกวุยก๊กจากอีกเส้นทางนั้น ซุนกวนได้จัดงานเลี้ยงรับรองบิฮุย ซึ่งโกะหยงก็อยู่ด้วย เมื่อได้เห็นความประพฤติ และท่าทีอันยำเกรงที่เหล่าขุนนางมีให้โกะหยง และยังไม่กล้าดื่มกินมากมายแล้ว บิฮุยก็อดพูดเปรียบเปรยกับโกะหยงเหมือนกับตังอุ๋นที่จ๊กก๊กไม่ได้ เพราะตังอุ๋นนั้นเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจ๊กก๊กที่เหล่าขุนนางด้วยกันรวมไปถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนหวาดเกรงมาก และการที่มีโกะหยงอยู่ก็จะไม่ทำให้เหล่าขุนนางออกนอกลู่นอกทาง
ซุนกวนเองก็เห็นด้วย และก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะเมื่อสิ้นโกะหยงไป ในราชสำนักง่อก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ด้วยที่ไม่มีผู้สามารถขึ้นมาเป็นเสาหลักคุมเหล่าขุนนางและภายในราชสำนักให้ได้เหมือนเช่นที่เตียวเจียวและโกะหยงทำ
โกะหยงดำรงตำแหน่งไจเสี่ยงนานถึง 19 ปี ในปีค.ศ.243 เขาก็เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 75 ปี
ซุนกวนเศร้าเสียใจจากการจากไปของโกะหยงมาก และได้แต่งตั้งให้ลกซุนสืบทอดตำแหน่งไจเสี่ยงต่อมา ก่อนตาย โกะหยงสั่งให้จัดงานศพของเขาอย่างเรียบง่าย และซุนกวนก็ได้เลื่อนตำแหน่งย้อนหลังเป็น ยื่อสูโหว
เมื่อสิ้นทั้งเตียวเจียวและโกะหยงไปแล้ว ก็แทบจะหายอดขุนนางบุ๋นที่จะสามารถขึ้นมารับหน้าที่การปกครองและบริหารเรื่องราวในง่อก๊กได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นสองคนนี้ แม้ว่าลกซุนจะเป็นอัจฉริยะและสามารถขึ้นมาช่วยค้ำบัลลังก์และดูแลราชกิจในง่อได้ แต่ก็แค่ระยะสั้นๆเท่านั้น และที่สำคัญคือลกซุนนั้นยังต้องมุ่งเน้นที่งานการศึกเป็นหลัก ไม่สามารถจะดูแลราชกิจภายในได้อย่างเต็มที่เหมือนเตียวเจียวและโกะหยงที่ดูแลภายในอย่างเดียว
การที่สูญเสียทั้งสองคนไปยังส่งผลมาถึงซุนกวนด้วย นั่นคือซุนกวนขาดซึ่งขุนนางบุ๋นผู้สามารเหนี่ยวรั้งพฤติกรรมความเอาแต่ใจในวัยแก่ของซุนกวนได้
และยังผลให้ราชสำนักง่อในช่วงท้ายเต็มไปด้วยความวุ่นวายอันนำไปสู่จดเสื่อมถอยของง่อก๊กทีละน้อย จนกระทั่งตกต่ำลงสุดขีดในสมัยของซุนโฮ ฮ่องเต้องค์ที่สี่ และองค์สุดท้ายของง่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น