ประวัติสามก๊ก กำเหลง ชิงป้า
"โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้ามีกำเหลง" ประโยคนี้ซุนกวนเป็นคนพูดออกมาเมื่อครั้งศึกหับป๋าอันเป็นศึกใหญ่ระหว่างง่อและวุย ในยุคสามก๊กมีขุนพลที่เก่งกาจหลายรูปแบบ บางคนก็มีพื้นเพมาจากกลุ่มโจร โดยเฉพาะขุนพลของฝั่งง่อที่พท.ส่วนใหญ่ติดทะเล ดังนั้นง่อก๊กจะมีขุนพลที่เคยเป็นโจรสลัดมาก่อนก็ไม่แปลก และในบรรดาโจรสลัดเหล่านั้น ก็มีชายอยู่คนหนึ่งที่มีความโดดเด่นเหนือคนอื่นในยุคเดียวกัน กำเหลงนั้นเป็นขุนพลโจรสลัดที่สร้างชื่อเสียงได้โด่งดังที่สุดในสามก๊ก ด้วยความบ้าบิ่นไม่กลัวใครและยังมีความสามารถในการรบกล้าได้กล้าเสียอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างวีรกรรมทะลวงถึงทัพนับหมื่นและถึงตัวโจโฉด้วยทหารเพียงร้อยคนมาแล้ว จนซุนกวนถึงกับออกปากยกย่องเป็นขุนพลเอกทีเดียว
ประวัติโดยย่อ
กำเหลง ชื่อรองซิงป้า เป็นชาวเมืองปาจวิ้น มณฑลเจียงสี พื้นเพในวัยเด็กไม่แน่ชัด เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ได้ฝึกฝนเพลงอาวุธจนชำนาญ โดยเฉพาะธนูที่ภายหลังคนทั่วไปยกย่องให้เขาเป็นนักขมังธนูคนหนึ่ง
จากประวัติวัยหนุ่มนั้นชี้ว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่มีนิสัยบ้าระห่ำไม่กลัวตาย เขาเป็นเหมือนหัวโจกหรือผู้นำของคนหนุ่มในวัยเดียวกัน เล่ากันว่าสมัยวัยรุ่นเขารวบรวมเด็กหนุ่มวัยเดียวกันตั้งขึ้นเป็นกลุ่มโดยเขาเป็นหัวหน้า
กำเหลงนั้นหาจุดเด่นให้กลุ่มของตน ด้วยการให้พวกตนแขวนกระดิ่งติดตัว ดังนั้นเมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงกระดิ่งนั่นคือสัญญาณว่ากำเหลงกำลังจะมาเป็นที่ครั่นคร้ามและเกรงกลัวของชาวบ้านมาก
จะว่ากำเหลงเป็นพวกมีรสนิยมพิลึกหรือสุดโต่งของยุคนั้นก็ได้ หากเปรียบกับปัจจุบันเขาคงเทียบได้กับนักเลงหัวไม้จำพวกฮิปปี้ กำเหลงจะให้ลูกน้องของเขาใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าไหมดังนั้นเมื่อกลุ่มของกำเหลงผ่านไปที่ใด ท้องถนนก็จะแลดูสว่างขึ้นเพราะเสื้อผ้าของพวกเขา
มีเรื่องเล่าว่าหากกำเหลงเดินทางไปพักที่แห่งไหน เขาจะประดับที่พักด้วยผ้าไหมและเมื่อจากไปก็จะตัดทำลายผ้าไหมและทิ้งเสีย กำเหลงยังเป็นนักเลงประเภทใจป้ำและตรงๆ ถ้าชาวบ้านหรือขุนนางคนไหนต้อนรับกำเหลงอย่างดีเขาก็จะดีด้วย แต่ถ้าผู้ใดไม่อยากต้อนรับเขาก็จะเข้าทำการปล้นเสีย
กลุ่มของกำเหลงนั้นออกปล้นตามเมืองและตามเรือสินค้าเป็นจำนวนมากจนชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว โดยที่ทางการไม่อาจจับตัวเขาได้จนเมื่ออายุ 20 เขาก็เริ่มคิดเลิกใช้ชีวิตเช่นนี้และนำลูกน้องจำนวนหนึ่งเข้าสวามิภักดิ์กับเล่าเปียว แต่ภายหลังเขาอ่านสถานการณ์พบว่าอยู่กับเล่าเปียวไปก็เสียเวลา เนื่องจากแม้จะอยู่กับเล่าเปียว แต่ตัวเขาก็ไม่เคยได้รับการแนะนำให้พบกับเล่าเปียวสักครั้ง เป็นแค่นายทหารใต้สังกัดขุนนางของเล่าเปียวอีกที เมื่อเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่ก้าวหน้า ประกอบกับช่วงนั้นเหล่าขุนศึกทางภาคกลางและใต้เริ่มเข้าร่วมแย่งชิงดินแดนและสะสมกำลังทหารกันเพื่อความเป็นใหญ่ กำเหลงจึงผละจากมา ช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มศึกษาค้นคว้าตำราและหลักการรบ ต่อมาเขาได้ยินชื่อเสียงของซุนเซ็กที่กำลังใหญ่โตที่กังหนำ จึงคิดจะไปเข้าร่วม
แต่ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ เขาไม่อาจผ่านทางไปยังแดนกังหนำ ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมกับหองจอ ซึ่งเป็นขุนศึกที่มีอิทธิพลอยู่แถบนั้น กำเหลงรับใช้หองจออยู่สามปี แต่หองจอก็ไม่ได้ปฏิบัติกับเขาดีนัก
ต่อมาซุนกวนซึ่งสืบทอดอำนาจขึ้นปกครองกังหนำหรือง่อแทนพี่ชายซุนเซ็กที่ตายไปก็ได้นำทัพเข้าตีหองจอเพื่อแก้แค้นแทนซุนเกี๋ยน เพราะหองจอถือว่าร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรของเล่าเปียวที่ร่วมสังหารซุนเกี๋ยนเมื่อหลายปีก่อน
ในศึกนี้กำเหลงได้ฝากชื่อของตนเองในหน้าประวัติศาสตร์การรบของสามก๊กครั้งแรก ด้วยการใช้ธนูสังหารเล่งโฉ แม่ทัพหนุ่มของซุนกวนได้ แต่เมื่อกำเหลงกลับเข้าค่าย หองจอก็ไม่ได้ให้รางวัลกำเหลงแต่อย่างใด กำเหลงจึงเริ่มไม่พอใจตั้งแต่นั้น
โชหุยที่ปรึกษาของหองจอซึ่งเห็นแววในตัวกำเหลงได้แนะนำวิธีว่ากำเหลงควรจะไปจากหองจอดีกว่าจะมาทิ้งอนาคตไว้ที่นี่ และด้วยความช่วยเหลือของโชหุย ทำให้กำเหลงสามารถพาคนของตนกว่าร้อยคนข้ามดินแดนออกไปจากเขตของหองจอได้
กำเหลงทำตามความตั้งใจเดิมด้วยการไปที่แดนกังหนำและเข้าสวามิภักดิ์กับซุนกวน โดยได้รับการสนับสนุนจากจิวยี่ที่เห็นความสามารถของกำเหลง
กำเหลงแม้จะเป็นโจรเก่า แต่ความคิดอ่านก็ไม่ธรรมดา ครั้งหนึ่งซุนกวนเคยถามเรื่องการทหารกับกำเหลง เขาได้แนะนำแก่ซุนกวนว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้ ราชสำนักฮั่นอ่อนแอไร้อำนาจ แต่โจโฉกลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่นานโจโฉจะต้องชิงราชบัลลังก์ และแดนตงง้วนทั้งหมดคงไม่พ้นมือโจโฉ ดังนั้นทางออกของฝ่ายง่อก็คือการรวบรวมดินแดนทางภาคกลางตอนล่างและทางตะวันออกให้เป็นปึกแผ่น นั่นคือแดนเกงจิ๋วซึ่งขณะนั้นเป็นของเล่าเปียว
ขณะนี้นอกจากเล่าเปียวแล้วยังมีหองจอที่มีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้ ซึ่งหองจอนั้นเป็นศัตรูที่เราต้องปราบปราม ดังนั้นเพื่อความเป็นปึกแผ่นของง่อ เราต้องขจัดอิทธิพลกลุ่มอื่นไปให้หมด ฝ่ายหองจอนั้นเราสามารถกลืนเอาทหารของเขามาเป็นของเราได้ เพราะตัวหองจอนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว เหล่าลูกน้องพร้อมที่จะตีจาก นอกจากนี้พท.ของหองจอก็ยังเป็นหนึ่งในเส้นทางเข้าสู่ตต. เมื่อปราบหองจอได้เราก็จะได้ฐานกำลังในการเข้ารุกปรายเกงจิ๋วของเล่าเปียว จากนั้นก็ใช้เกงจิ๋วเป็นฐานในการรุกเข้าแดนเสฉวนทางตะวันตกได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นง่อก็จะเข้มแข็งและสามารถรับมือกับโจโฉในอนาคตได้แน่
เตียวเจียวคัดค้านความเห็นของกำเหลงเพราะเห็นว่าขณะนี้กองทัพง่อยังไม่พร้อมและดินแดนทางตอ.ก็ยังไม่ราบคาบ กลัวว่าหากเคลื่อนทัพใหญ่แล้วจะเป็นอันตรายได้ แต่ซุนกวนไม่สนใจและทำตามความเห็นของกำเหลง ไม่นานซุนกวนก็ยกทัพปราบปรามหองจอและกลืนเอากองทัพของหองจอเข้ามาไว้ได้มากมาย โดยมีกำเหลงเป็นนายทหารคนหนึ่งในการเข้ารบ
ซุนกวนเตรียมที่จะประหารหองจอและที่ปรึกษาโชหุย แต่กำเหลงยังไม่ลืมคุณที่โชหุยเคยช่วยชีวิต จึงขอร้องต่อซุนกวนโดยใช้ชีวิตเป็นประกัน ซุนกวนเห็นแก่น้ำใจกำเหลงจึงยอมละเว้นชีวิตของโชหุย
ยังมีเรื่องเล่าขานเกียวกับกำเหลงและเล่งทองบุตรของเล่งโฉที่กำเหลงเป็นผู้สังหารนั้น อย่างที่รู้ว่ากำเหลงเป็นคนสังหารเล่งโฉ ดังนั้นเล่งทองย่อมมองว่ากำเหลงเป็นศัตรูที่ไม่อาจอยู่ร่วมโลกได้ แต่หลังจากกำเหลงเข้ากับซุนกวนแล้ว เล่งทองจำต้องฝืนทนเก็บความแค้นนั้นไว้
กำเหลงก็รู้ว่าเล่งทองคงไม่ยกโทษให้ ถึงกระนั้นครั้งหนึ่งที่ออกศึกเล่งทองเกือบต้องเสียท่าตกอยู่ในวงล้อมศัตรู กำเหลงก็ได้นำทัพฝ่าเข้าไปช่วยเขาออกมา ทำให้คนทั้งสองปรับความเข้าใจกันและกันได้ ซึ่งเรื่องตรงนี้บ้างก็ว่ามีแค่ในสามก๊กฉบับนิยายเท่านั้น
ปี ค.ศ. 208 ในศึกเซ็กเพ็กอันดุเดือดนั้น กำเหลงเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้ หลังจากทัพเรือของโจโฉถูกเผาจนวอดวายและตัวของโจโฉได้ถอนตัวขึ้นเหนือแล้ว จิวยี่ก็ได้นำกองทัพเข้าตีกับโจหยินที่ป้องกันดินแดนเกงจิ๋ว โดยกำเหลงได้ร่วมเสนอแผนการในการเข้าตีแบบสายฟ้าแลบ ทำให้สามารถยึดเอาอิเหลงมาได้และโจหยินต้องล่าถอยไปตั้งมั่นที่กังเหลง ซึ่งภายหลังจากนั้นหนึ่งปี ทัพง่อก็ตีจนโจหยินต้องถอยขึ้นไปตั้งมั่นที่เมืองเซียงหยางได้สำเร็จ ทำให้แดนเกงจิ๋วตอนกลางตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของง่อเกือบทั้งหมด
ภายหลังจากจิวยี่ตายและโลซกขึ้นมากุมอำนาจทางทหารสืบต่อ กำเหลงก็ได้ยกระดับขึ้นมาเป็นแม่ทัพที่มีความสำคัญขึ้นอีกขั้น ผลงานของเขาในช่วงที่โลซกคุมกองทัพนั้นคือต้านยันกวนอูไม่ให้รุกคืบข้ามน้ำเข้ามาในเขตแดนลำกุ๋น ซุนกวนพอใจมากจึงตั้งกำเหลงขึ้นเป็นเจ้าเมืองสี่เหลียง ดูแลหัวเมืองเกงจิ๋วตอนล่าง
หลังจากที่โลซกตายลง ลิบองก็ได้ขึ้นมากุมอำนาจกองทัพ กำเหลงค่อนข้างจะสนิทสนมกับลิบอง ในการรบจึงมักถูกใช้ให้ทำงานสำคัญๆ มีเกร็ดเล่าว่าคนทั้งสองเคยผิดใจกันเนื่องจากกำเหลงได้ไปฆ่าเด็กรับใช้ของตนคนหนึ่งเพราะเด็กรับใช้คนนั้นทำผิดต่อกำเหลง ซึ่งครั้งหนึ่งลิบองได้เคยขอชีวิตเด็กรับใช้คนนั้นเอาไว้ การที่กำเหลงเอาแต่อารมณ์เป็นใหญ่ทำให้ลิบองโกรธมาก แต่ลิบองพยายามสะกดอารมณ์ตนเองและเข้าปรับความเข้าใจกับกำเหลง ทำให้กำเหลงยอมสำนึกผิด จากนั้นทั้งสองก็เป็นเพื่อนสนิทกันมาก และกำเหลงก็ยอมรับนับถือในตัวลิบองอย่างสูงทั้งในฐานะสหายและผู้บัญชาการของตน
จากนั้นในช่วงปี ค.ศ.215 การศึกที่ปากแม่น้ำยี่สู ซึ่งครั้งนั้นโจโฉยกกองทัพกว่าสี่แสนคนมาตั้งประจันเพื่อเตรียมถล่มทัพของซุนกวน ฝ่ายซุนกวนนั้นมีเพียงเจ็ดหมื่นคนมาตั้งค่ายรอรับศึก ศึกครั้งนี้เองที่สร้างชื่อของกำเหลงจนดังไปทั่ว
เรื่องคือก่อนหน้านั้น ทางฝั่งโจโฉได้ใช้ให้เตียวเลี้ยวอยู่ป้องกันหับป๋าด้วยกำลังทหารเพียงแปดพันคน และสามารถต้านยันทัพเกือบแสนของซุนกวนไว้ได้หลายสิบวันจนกระทั่งทัพใหญ่ของโจโฉมาถึง การศึกนี้สร้างชื่อให้เตียวเลี้ยวจนเป็นที่ครั่นคร้ามของทหารง่อมาก
แต่ด้วยกำลังขวัญทหารที่ตกลงมานี้ กำเหลงได้ช่วยฟื้นฟูมันกลับมาอีกครั้ง นั่นคือในศึกที่ยี่สูนี้กำเหลงได้เสนอแผนการต่อซุนกวนว่าน่าจะลองจู่โจมค่ายของโจโฉแบบสายฟ้าแลบในยามวิกาลดู เนื่องจากโจโฉคงจะไม่ทันได้ระวังว่าจะมีคนบ้าบิ่นนำทัพบุกโจมตีในยามวิกาลแน่ แต่ทหารที่จะไปครั้งนี้ต้องใช้จำนวนให้น้อยเข้าไว้ และต้องลงมืออย่างรวดเร็ว ซึ่งกำเหลงได้คัดเอาทหารเดนตายร้อยนายของตนไว้เพื่อปฏิบัติการครั้งนี้
ซุนกวนลองเสี่ยงกับแผนของกำเหลง จึงประทานสุราและอาหารชั้นดีให้กำเหลง เขานำของเหล่านั้นมาแจกจ่ายให้เหล่าทหารกล้าทั้งร้อยนายได้ดื่มกินในคืนนั้นอย่างเต็มที่ จากนั้นกำเหลงก็สร้างวีรกรรมสะเทือนแผ่นดิน ด้วยการพาทหารร้อยนายนั้นบุกเข้าค่ายของโจโฉอย่างสายฟ้าแลบ
หน่วยกล้าตายทั้งร้อยนายของกำเหลงนั้นได้เข้าทำลายและปั่นป่วนค่ายของโจโฉจนวุ่นวาย ตัวของกำเหลงเองก็บุกไปจนเกือบจะประชิดถึงตัวโจโฉ จากนั้นก็ถอนตัวกลับมาโดยไม่เสียทหารแม้แต่คนเดียว นับว่าเป็นแม่ทัพเพียงไม่กี่คนในยุคที่ทำได้ถึงขนาดนี้
เมื่อกำเหลงกลับเข้าค่าย ซุนกวนชมเชยผลงานครั้งนี้มาก เพราะเป็นการพลิกขวัญกำลังใจทหารให้กลับมาอีกครั้ง จึงได้ประทานผ้าไหมและดาบชั้นดีให้แก่กำเหลง แล้วก็พูดประโยคคลาสสิกว่า "โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้ามีกำเหลง"
จากนั้นทั้งสองทัพวุยและง่อก็ต้านยันกันอยู่อีกหลายวัน ไม่นานโจโฉก็ตัดสินใจล่าถอยทัพกลับเมืองหลวง ผลงานการต้านทัพวุยครั้งนี้ทำให้กำเหลงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเชอะชงเจียงจวิน (นายพลประจัญบาน) สร้างชื่อติดเข้าทำเนียบขุนพลคนดังของสามก๊ก
ศึกครั้งสุดท้ายของกำเหลงเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.222 ในศึกอิเหลงระหว่างซุนกวนและเล่าปี่ ซึ่งพระเจ้าเล่าปี่ยกทัพมาเพื่อล้างแค้นให้แก่กวนอูที่ถูกฝั่งง่อสังหาร ครั้งนั้นทัพหน้าของกำเหลงปะทะเข้ากับทัพหน้าของเล่าปี่ที่ตำบลอู่ตี๋ ในขณะที่กำเหลงกำลังได้เปรียบอยู่นั้น ทัพของสะโมโขเจ้าเมืองลำมันซึ่งเป็นชนเผ่าทางตอนใต้ได้ยกเข้ามาช่วยฝ่ายเล่าปี่ และได้รุมระดมยิงเกาทัณฑ์เข้าใส่กำเหลง และถูกที่หน้าผากเข้า กำเหลงพยายามควบม้าหนีและดึงเอาลูกธนูออก แต่ก็ทำไม่ได้ ในที่สุดก็นอนตายอยู่ที่ข้างต้นไม้
เนื้อความตรงกำเหลงตายนั้นบันทึกไว้ต่างกัน บ้างว่ามีอีกามากินศพของกำเหลง แต่จากบันทึกที่น่าจะใกล้เคียงกับในประวัติศาสตร์ที่สุดนั้นบอกว่าเหล่าอีกาได้ลงมาปกป้องศพของกำเหลงเอาไว้
ซุนกวนรู้ข่าวการตายของกำเหลงแล้วก็เสียใจมาก แล้วให้ทหารแต่งศพของกำเหลงที่ตำบลอู่ตี๋ พร้อมทั้งปลูกศาลเทพารักษ์ไว้ตรงหน้าศพ
มีเรื่องน่าสนใจที่ว่า ในบันทึกประวัติศาสตร์จีน ไม่ได้กล่าวถึงการตายของกำเหลงที่ถูกสะโมโขยิงธนูใส่เลย จึงไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วกำเหลงตายเช่นไร
หลังจากกำเหลงตาย กำโฮ่วบุตรชายก็ได้รับตำแหน่งสืบต่อมา แต่ภายหลังเนื่องจากทำผิดต่อซุนกวนจึงถูกเนรเทศไป
ซุนกวนนั้นกล่าวยกย่องกำเหลงไว้สูงมาก โดยบอกว่า "ฝีมือของกำเหลงนั้นเสมอด้วยเตียวเลี้ยว ทหารเอกของโจโฉ" และที่ผู้คนจำได้ขึ้นใจคือคำกล่าวของซุนกวนที่ว่า "โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้ามีกำเหลง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น