คำคมสามก๊ก
สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
โจโฉ
- "อันธรรมดาว่าสงคราม จะหมายเอาชนะฝ่ายเดียวไม่ได้ ย่อมแพ้บ้างชนะบ้าง" เป็นวาทะสามก๊กของโจโฉว่าแก่โจหยินตอนถูกชีซีตีแตก
สุมาเต็กโช
- "โบราณท่านว่าไว้แต่ก่อนว่า สิบคนจะหาผู้กล้าได้คนหนึ่ง ร้อยคนจะหาผู้มีสติปัญญาได้คนหนึ่ง" เป็นวาทะสามก๊กของสุมาเต็กโชที่กล่าวแก่เล่าปี่
ตันฮก
- "แผ่นดินจะกลับก็เหมือนไฟดับสิ้นแสง ถ้ากบทูจะหักจะเอาไม้น้อยค้ำมิอาจทานกำลังไว้ได้ ชาวบ้านนอกผู้มีปัญญาย่อมแสวงหานายที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารี" เป็นวาทะสามก๊กที่ร่ายบทกลอนสอนใจแก่เล่าปี่ให้เกิดความสนใจของตันฮก
- "ตัวข้าพเจ้าอุปมาเหมือนหนึ่งกา จะมาเปรียบเทียบพญาหงส์นั้นไม่ควร อันม้าอาชามีกำลังอันน้อยหรือจะมาเปรียบกับพญาราชสีห์ได้" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวเปรียบเทียบระหว่างตนเองและจูกัดเหลียงต่อเล่าปี่ของ ตันฮก
ลิเตียน
- "ถ้าจะทำการสงคราม พึงให้รู้ลักษณะในไส้ศึกก่อน จึงจะทำการได้ชัยชนะโดยง่าย" เป็นวาทะสามก๊กที่ห้ามปรามไม่ให้โจหยินไปตีเล่าปี่ของลิเตียน
เล่าปี่
- "อันธรรมดาแม่ลูกกันนี้ก็เหมือนชีวิตเดียวกัน เมื่อมีเหตุฉะนี้ก็เป็นประเพณีบุตรจะสงเคราะห์แก่มารดา ใครห่อนจะทิ้งมารดาเสียได้" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวแก่ตันฮก เมื่อได้รับอุบายจดหมายของโจโฉของเล่าปี่
- "ท่านผู้มีสติปัญญานั้น ถึงมาตรว่าจะนั่งนอนหลับตาอยู่ในเรือนมิได้เห็นกิจการทั้งปวงเลย ก็สามารถจะคิดเอาชัยชนะแก่ข้าศึกร้อยพันได้" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวเกลี้ยกล่อมให้กวนอูและเตียวหุยยอมเชื่อฟังจูกัดเหลียงของเล่าปี่
- "ถึงมาตรว่าจะมีอันตรายประการใดก็ดี ตัวเราก็จะสู้ตาย ซึ่งจะทรยศต่อผู้มีคุณนั้นเราทำมิได้" เป็นวาทะสามก๊กที่ปฏิเสธการเข้ายึดเมืองเกงจิ๋วตามคำแนะนำของจูกัดเหลียงของ เล่าปี่
จูกัดเหลียง
- "ธรรมดาผู้มีปัญญาอันพิสดาร แม้จะคิดการสิ่งใดก็ลึกซึ้ง ผู้มีปัญญาน้อยหาหยั่งรู้ถึงตลอดไม่ อุปมาเหมือนพญาครุฑ แม้จะไปในทิศใดก็ย่อมบินโดยอากาศอันสูงสุดสายเมฆ มิได้บินต่ำเหมือนสกุณชาติซึ่งมีกำลังน้อย" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวตอกหน้าแก่เตียวเจียวให้ได้รับความอับอาย เมื่อคราวไปกังตั๋งเพื่อเจรจาให้ซุนกวนยอมทำศึกกับโจโฉของจูกัดเหลียง
- "อันธรรมดาเป็นชายชาติทหาร ถ้าไม่รู้คะเนการฤกษ์บนแลฤกษ์ต่ำ ก็มิได้เรียกว่ามีสติปัญญา" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวแก่โลซกภายหลังจากลวงเอาเกาฑัณฑ์จำนวนมากจากโจโฉของ จูกัดเหลียง
- "ผู้ใดกินข้าวแดงท่านแลฆ่าท่านผู้มีคุณเสีย ผู้นั้นเป็นคนหากตัญญูไม่ ผู้ใดอาศัยอยู่ในแผ่นดินของท่านแล้วคิดยกเอาแผ่นดินไปให้ผู้อื่นเสีย ผู้นั้นเป็นคนหาความสัตย์ไม่" ขงเบ้งกล่าวแก่เล่าปี่เนื่องจากอุยเอี๋ยนนี้มิได้มีความสัตย์แลกตัญญู
จิวยี่
- "ธรรมดาเกิดมาเป็นชาย แม้จะแสวงหาเจ้านายซึ่งจะเป็นที่พึ่งนั้น ก็ให้พิเคราะห์ดูน้ำใจเจ้านายซึ่งโอบอ้อมอารีเป็นสัตย์เป็นธรรมจึงให้เข้า อยู่ด้วย แล้วให้ตั้งใจทำราชการโดยซื่อสัตย์สุจริตประการหนึ่งให้มีใจทำไมตรีแก่ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูงเก่าแก่ไว้อย่าให้ขาด แม้มาตรว่าจะมีภัยสิ่งใดมาถึงตัว ก็จะเผอิญให้มีผู้มาช่วยแก้ไขพ้นจากอันตรายได้ ถ้าจะคิดการสิ่งใดเล่าก็จะสำเร็จ" เป็นวาทะสามก๊กที่กล่าวแก่เจียวก้าน ถึงการเลือกนายผู้รับใช้ของชายชาติทหารของจิวยี่
- "ธรรมดาเกิดมาเป็นมนุษย์ อันโรคแลความตายนั้นจะกำหนดวันมิได้" เป็นวาทะสามก๊กที่จิวยี่กล่าวแก่ขงเบ้งเมื่อขงเบ้งมาเยี่ยมตนเองที่ป่วย เพราะลมไม่เป็นใจ ขงเบ้งจึงออกอุบายเรียกลมให้
เตียวเหียน
- "อันประเพณีการสงคราม ควรจะให้นายทหารซึ่งมีฝีมือออกรบพุ่งให้สามารถก่อน อันแม่ทัพจะยกออกก่อนนั้นไม่ควร" เป็นวาทะสามก๊กที่เตียวเหียนกล่าวตำหนิซุนกวน ที่หุนหันนำทัพออกศึกจนเสียทีแก่เตียวเลี้ยว
ลิอิ๋น
- "ธรรมดานกแม้จะทำรังอาศัย ก็ให้ดูต้นไม้อันร่มชิดจึงจะได้อยู่เป็นสุข อนึ่งเกิดมาเป็นชายก็ให้พึงพิเคราะห์ดูเจ้านายอันมีน้ำใจโอบอ้อมอารี จึงเข้าอยู่ด้วย" เป็นวาทะสามก๊กที่ลิอิ๋นกล่าวแก่เล่าปี่ เพื่อยอมสวามิภักดิ์ขอเป็นข้ารับใช้
ลกซุน
- "อันประเพณีการศึกมีหรือจะไม่ตาย แต่ผู้มีความคิด ย่อมเสียน้อยได้มาก" เป็นวาทะสามก๊กที่ลกซุนกล่าวแก่ชีเซ่ง และเตงฮอง เมื่อคราวรบกับเล่าปี่
สุมาอี้
- "กินเบี้ยหวัดมาร้อยวันพันวัน จะเอาการแต่วันเดียวก็มิได้" เป็นวาทะสามก๊กที่สุมาอี้กล่าวแก่ทหารที่เสียกำลังใจขณะเฝ้าด่านกิก๊ก เพื่อเตรียมรับการบุกวุยก๊กครั้งที่สี่ของขงเบ้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น