ประวัติสามก๊ก อ้องอุ้น
หวางหยุ่น หรือ อ้องอุ้น เป็นอัครมหาเสนาบดีของราชวงศ์ฮั่น พวกเราต่างรู้จักเขาเพียงแค่บทบาทในสามก๊กที่เขามีบทบาทเพียงสั้นๆ แต่ที่จริงแล้วเขามีบทบาทมากตั้งแต่สมัยของพระเจ้าฮั่นหลิงตี้(เลนเต้)แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกแล้ว..
ในสมัยนั้น 10ขันทีครองอำนาจเหนือฮ่องเต้ พระเจ้าฮั่นหลิงตี้นั้นไร้ความสามารถ วันๆเอาแต่มั่วสวาทกับขันที เหล่าขุนนางตงฉินหลายคนพยายามยับยั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ หลายคนถูกส่งไปยังคุกแห่งหนึ่ง...ซึ่งมีหน้าที่ทรมานนักโทษที่ถูกส่งไปให้ตายโดยไม่ต้องสอบสวน คุกนี้ก็คือ..คุกวัดเหนือ..
อ้องอุ้นก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกส่งไปยังคุกวัดเหนือ เขาแทบจะเป็นคนเดียวในยุคนั้นที่รอดออกมาจากคุกวัดเหนือได้ ในปีเดียวกัน เขาถูกส่งเข้าไปยังคุกวัดเหนืออีกครั้ง แต่ก็รอดออกมาได้อีก ซึ่งปีที่เขาถูกส่งเข้าคุกสองครั้งรวดนั้น คือปี ค.ศ. 189 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลพระเจ้าฮั่นหลิงตี้นั่นเอง
ต่อมาก็เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในราชสำนัก ในที่สุดตั๋งโต๊ะแห่งเสเหลียงก็ยึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และกำจัดสิบขันทีลงไปได้ทั้งหมด แต่ตั๋งโต๊ะก็กระทำตัวเยี่ยงเดียวกับสิบขันที และดูเหมือนจะโหดเหี้ยมยิ่งกว่าเสียอีก
ตั๋งโต๊ะ ได้ปลดฺฮ่องเต้ หองจูเปียน ลง และยก หองจูเหียบ เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นแทน อ้องอุ้นก็เป็นหนึ่งในตงฉินผู้ซึ่งเคียดแค้นตั๋งโต๊ะยิ่งนัก เขาได้เรียกประชุมขุนนางที่เกลียดตั๋งโต๊ะมาชุมนุมกัน ซึ่งในนั้นก็รวมโจโฉด้วย..เหล่าตงฉินได้ปรับทุกข์กันและด่าตั๋งโต๊ะอย่างเคียดแค้น แต่จู่ๆ โจโฉก็ได้กล่าวว่า "พวกท่ามานั่งด่าตั๋งโต๊ะกันลับหลังอย่างนี้มันจะได้ประโยชน์อะไรเล่า ข้านี่แหละจะอาสาไปฆ่าเจ้าตั๋งโต๊ะเอง" อ้องอุ้นได้ยินดังนั้นจึงได้มอบมีดสั้นประจำตระกูลที่งดงามให้แก่โจโฉเพื่อใช้ในการลอบสังหาร
ปรากฏว่าโจโฉลอบสังหารไม่สำเร็จและหลบหนีออกไป* ส่วนอ้องอุ้นนั้นก็เป็นเสนาบดีของราชวงศ์ฮั่นต่อไป เขาต้องแสร้งทำดีกับตั๋งโต๊ะทั้งที่ใจจริงไม่ใช่เช่นนั้น เขาจึงมีความทุกข์ยิ่งนัก เขาจึงได้วางแผนที่จะกำจัดตั๋งโต๊ะเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นให้กลับมาอีกครั้ง ตั๋งโต๊ะค่อนข้างจะเกรงใจอ้องอุ้นมาก และเพราะว่าตนเองนั้นไม่มีความสามารถพอที่จะปกครองประเทศได้ จึงมอบให้อ้องอุ้นทำหน้าที่ "ซือถู" หรือรักษาการนายกรัฐมนตรี..
ในสามก๊กฉบับงิ้วนั้น หลอกว้านจงได้แต่งนิยายให้เขาใช้กลอุบายหญิงงาม โดยการใช้เตียวเสี้ยนธิดาบุญธรรมไปทำให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะหลงใหลในตัวนาง ทำให้ลิโป้เคียดแค้นและในที่สุดตั๋งโต๊ะก็ถูกฆ่าตาย
แต่ในประวัติศาสตร์นั้น เตียวเสี้ยนผู้นี้ไม่มีตัวตนจริงด้วยความไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ความจริงในประวัติศาสตร์บันทึกว่า ลิโป้นั้นได้แอบเป็นชู้กับนางบำเรอของตั๋งโต๊ะ ทำให้ลิโป้ไม่ชอบตั๋งโต๊ะเท่าใดนัก แต่อ้องอุ้นเป็นผู้ใช้แผนการร่วมมือกับลิโป้ในการปลิดชีพจอมทรราชตั๋งโต๊ะ โดยฉวยโอกาสที่ช่วงนั้นเกิดภัยธรรมชาติ ฝนตกหนัก โรคอหิวาต์ระบาดหนักมากจนถึงขนาดพระเจ้าเหี้ยนเต้ประชวรลง โชคดีที่หมอหลวงถวายการรักษาจนหายดีได้ อ้องอุ้นอ้างว่าตั๋งโต๊ะสมควรทำพิธีไหว้ฟ้าดินเพื่อให้ประชาชนมองตั๋งโต๊ะดีขึ้น และให้ตั๋งโต๊ะเก็บตัวอย่างน้อยสามวันโดยอ้างว่าเพื่อให้พิธีศักดิ์สิทธิ์ ตั๋งโต๊ะก็ทำตามโดยให้อ้องอุ้นเป็นประธานดำเนินการจัดเตรียมพิธีไหว้ฟ้าดินที่พระที่นั่งโม่ยางเตี้ยน ภายในพระบรมมหาราชวัง
ในวันที่ 23 เดือน 4 ค.ศ.192 ขณะที่เก็บตัวอยู่นั้น จอมกังฉินไม่รู้เลยว่าพวกอ้องอุ้นกำลังวางแผนทำอะไรอยู่ เมื่อครบกำหนดตั๋งโต๊ะก็เตรียมตัวไปทำพิธี ปรากฏว่าเกิดลางร้าย ม้าที่ลากรถของตั๋งโต๊ะเกิดตื่นขึ้นมาแล้วพารถพลิกคว่ำลง ตั๋งโต๊ะก็ไม่คิดว่านั่นเป็นลางอะไร เขาสั่งให้จัดเตรียมม้าใหม่ เมื่อมาถึงพระบรมมหาราชวัง อยู่ๆม้าก็เกิดไม่วิ่งซะเฉยๆ ฉุดลากเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเดินต่อ ตั๋งโต๊ะจึงต้องลงเดินไป เมื่อถึงพระบรมมหาราชวัง ตั๋งโต๊ะก็ถูกทหารของอ้องอุ้นลอบสังหาร เมื่อเขาพยายามขอความช่วยเหลือจากลิโป้ เขาก็ถูกลิโป้ฆ่าตาย
อ้องอุ้นเห็นจอมกังฉินจบชีวิตลงแล้วก็ไม่รอช้า ส่งทหารไปยังบ้านของตั๋งโต๊ะและสั่งให้จับญาติพี่น้องของตั๋งโต๊ะมาฆ่าเสียทั้งหมด แม้กระทั่งมารดาวัย 90 กว่าปีของตั๋งโต๊ะก็ถูกจับมาประหารด้วยไม่ยกเว้น
ศพของตั๋งโต๊ะถูกนำไปประจานไว้กลางสี่แยก ให้เหล่าผู้เคียดแค้นจอมกังฉินมาระบายความแค้นได้ตามสบายใจ
อ้องอุ้นได้รับมอบหมายหน้าที่ราชเลขาธิการ ส่วนลิโป้ผู้ร่วมก่อการได้เป็นแม่ทัพผู้ซื่อสัตย์ มีกำลังทหารของตัวเอง ได้รับเกียรติอย่างสูงและยังถูกตั้งเป็นขุนนางตำแหน่งเวินเหา(เจ้าพระยาเมืองเวิน)อีกด้วย
ตั๋งโต๊ะนั้นเมื่อตายไปไม่มีใครเสียใจ มีเพียงซัวหยงที่ร้องไห้ให้กับการตายของเขา อ้องอุ้นโกรธมากและกล่าวหาว่าซัวหยงนั้นเป็นกบฏ จึงได้นำตัวขึ้นศาล ซัวหยงร้องขอชีวิตโดยกล่าวว่าจะลงโทษอะไรเขาก็ได้ ขอเพียงให้เขามีชีวิตอยู่เพื่อเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่นต่อไปเถิด บัณฑิตหลายคนเห็นใจซัวหยงและขออภัยโทษให้เขา รวมทั้งแม่ทัพใหญ่ม้าหยิดก็กล่าวแก่อ้องอุ้นว่า "ซัวหยงเป็นผู้มีความสามารถมาก เขารู้ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่นอย่างดี บันทึกของเขาเป็นงานที่ยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งในยุคนี้ ความผิดของเขานั้นเล็กน้อยนัก ถ้าท่านฆ่าซัวหยง ประชาชนย่อมไม่สนับสนุนตัวท่าน"
อ้องอุ้นกล่าวตอบม้าหยิดว่า "ในอดีตนั้น ฮ่องเต้ฮั่นหวู่ตี้ไม่ได้ฆ่าซือหม่าเชียน** และอนุญาตให้เขาเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ใส่ร้ายป้ายสีตกทอดมายังปัจจุบัน มาบัดนี้พระราชอำนาจขององค์ฮ่องเต้ตกต่ำลง มีสงครามเกิดขึ้นมากมาย เราไม่อาจปล่อยขุนนางชั่วให้คงอยู่ได้ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ต่อพระราชอำนาจของฮ่องเต้เลย และผู้คนจะครหาได้ว่าเราใช้อำนาจในทางที่ผิด"
ม้าหยิดจึงจากมาพร้อมกับรำพึงว่า "ใต้เท้าอ๋องไม่สมควรมีทายาท ผู้มีความสามารถเป็นรากฐานของแผ่นดิน และบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เป็นดั่งสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ถ้าอ้องอุ้นได้ทำลายสองสิ่งนี้ไปเสีย แล้วบ้านเมืองจะยืนยาวต่อไปได้อย่างไร"
ในที่สุดซัวหยงถูกขังจนตายระหว่างถูกจองจำนั้นเอง
ลิโป้แนะนำให้อ้องอุ้นฆ่าลูกน้องของตั๋งโต๊ะ แต่อ้องอุ้นไม่ทำตาม เขากล่าวว่า พวกเขาไม่มีความผิดอันใดเลย เราจะไปฆ่าพวกเขาได้อย่างไร
ต่อมาลิโป้แนะนำให้อ้องอุ้นเอาทรัพย์สมบัติของตั๋งโต๊ะมาแจกจ่ายแก่แม่ทัพนายกอง แต่อ้องอุ้นก็ไม่เห็นด้วย อ้องอุ้นมองว่าลิโป้เป็นนักรบ ไม่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง แต่กลับชอบอวดอ้างความสามารถของตนเอง และยังชอบโอ้อวดความสำเร็จของตน ดังนั้นอ้องอุ้นจึงรู้สึกไม่พอใจลิโป้เท่าใดนัก
อ้องอุ้นนั้นเดิมทีทำตัวอ่อนน้อมและคล้อยตามตั๋งโต๊ะเพราะเขากลัวตั๋งโต๊ะ เมื่อตั๋งโต๊ะตายเขาก็เริ่มหยิ่งยโส เพราะคิดว่าไม่มีอะไรที่เขาต้องกลัวอีกแล้ว สิ่งนี้ทำให้ลูกน้องของเขาไม่จงรักภักดีต่อเขามากนัก ต่อมาเขาหารือกับซุนซุยเรื่องของการออกราชโองการยกโทษให้เหล่าขุนศึกของตั๋งโต๊ะ เขาได้คัดค้านเกี่ยวกับการออกราชโองการนี้โดยกล่าวว่า "คำสั่งแม่ทัพนั้นถือเป็นสิทธิ์ขาด ถ้าเราเคยบอกว่าพวกเขาชั่วร้าย แต่กลับออกกฎหมายอภัยโทษให้พวกเขา พวกเขาก็อาจจะไม่มั่นใจในคำสั่งแม่ทัพ มันไม่ใช่วิธีที่ดี" ด้วยเหตุผลนี้เขาจึงปฏิเสธการออกพระราชโองการนี้
ขุนนางบางคนกล่าวแก่อ้องอุ้นว่า ตอนนี้กองทัพจากมณฑลเลงจิ๋วกำลังเกรงกลัวพวกตระกูลอ้วน หรือกองทัพพันธมิตร ท่านควรแต่งตั้งฮองอูสงเป็นแม่ทัพประจำ ซาน เพื่อประชาชนจะได้อยู่อย่างสงบสุข แต่อ้องอุ้นกล่าวว่า ทัพพันธมิตรนับว่าเป็นพวกเดียวกับเรา หากเรานำทัพไปที่ ซาน อาจทำให้เขาเกิดความระแวงเรา และนั่นไม่เป็นผลดีแน่นอน
ทางด้านมณฑลเลงจิ๋วมีข่าวลือว่า ทุกคนจะต้องถูกฆ่าตายหมด พวกนายกองที่เป็นอดีตสมุนของตั๋งโต๊ะได้ทราบข่าวลือนี้ก็หวาดกลัวมาก จึงพากันเตรียมกำลังพลเพื่อป้องกันตัวกันจ้าละหวั่น พวกเขาปรึกษากันได้ผลสรุปว่าพวกเขาควรจะไม่ทำตามราชโองการที่ว่าให้ทหารเลิกทัพกลับถิ่นฐาน เพราะแม้แต่ซัวหยงที่ไม่มีความผิดยังถูกฆ่าเพียงเพราะตั๋งโต๊ะพอใจในตัวเขาเลย และราชสำนักก็ยังไม่ออกราชโองการอภัยโทษด้วย ถ้าพวกเขากลับไปก็จะเป็นโอกาสให้ราชสำนักกำจัดพวกเขาได้
ณ เวลานั้น ลิฉุยและแม่ทัพคนอื่นกลับมาจากการรบ และได้ส่งสารไปเตียงฮันและถามถึงการอภัยโทษแก่พวกเขา แต่อ้องอุ้นกล่าวว่าการนิรโทษไม่อาจมีได้สองครั้งในปีเดียว*** ลิฉุยและแม่ทัพคนอื่นๆก็พากันวิตกกังวลยิ่งนัก และเริ่มแยกย้ายกันเพื่อเตรียมตัวกลับเมือง แต่กาเซี่ยงที่ปรึกษาของลิฉุยแนะนำว่า "ถ้าท่านกลับไปตัวคนเดียว แม้แต่หมู่บ้านเล็กๆก็จับตัวท่านได้ แต่หากพวกท่านรวมกำลังกันยกทัพไปโจมตีเตียงฮัน ล้างแค้นให้ตั๋งโต๊ะ ถ้าชนะพวกท่านก็สามารถรับใช้ฮ่องเต้ต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้ก็ยังมีหนทางหลบหนีได้" ลิฉุยได้ฟังก็เห็นด้วย จึงรวมกองทัพหันปลายหอกสู่ตะวันตกทันที
ลิฉุยเกณฑ์ทหารเพิ่มจากทุกที่ที่เขาเดินทัพผ่าน ไม่ช้าเมื่อเขากรีฑาทัพมาถึงเตียงฮัน ทหารของเขาก็มีจำนวนมากกว่าแสนคนเสียอีก เขายกทัพล้อมเตียงฮันและพยายามปีนกำแพงขึ้นไปพร้อมกับหวนเตียวและลิบ้อง แต่ไม่สามารถทำได้ พวกเขาปิดล้อมเมืองอยู่แปดวัน ในที่สุดกองทัพของลิโป้ก็มีคนทรยศเปิดประตูเมืองให้ลิฉุยยกทัพเข้ามาได้ ลิโป้เห็นเหลือกำลังจึงนำทหารสองสามร้อยคนตีฝ่าออกไป เขาได้ชวนให้อ้องอุ้นออกไปกับเขา แต่อ้องอุ้นกล่าวว่า "ถ้าข้าได้รับพรจากสวรรค์ ความฝันเพียงอย่างเดียวของข้าก็คือการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้สงบสุข ถ้าทำไม่ได้ข้าก็ยินดีพลีชีพเพื่อบ้านเมือง องค์ฮ่องเต้ยังทรงพระเยาว์นัก ข้าไม่อาจทิ้งพระองค์หนีไปตามลำพังได้ ขอให้ท่านจงไปขอความช่วยเหลือจากทัพพันธมิตร ขอให้พวกเขาเห็นแก่บ้านเมืองเถิด"
ลิโป้ได้ฟังจึงได้ตีฝ่ากองทหารของลิฉุยออกจากเมืองไป โดยมีทหารสองสามร้อยคน และหัวของตั๋งโต๊ะผูกติดอานม้าของเขาไปด้วย ส่วนอ้องอุ้นก็ยังคงอยู่ในเมือง ในที่สุดก็ถูกลิฉุยจับไปฆ่าตาย ลิฉุยนำศพของอ้องอุ้นไปประจานไว้กลางตลาด ไม่มีใครกล้าเก็บศพของเขาไปทำพิธี จน จ้าวเจียน ลูกน้องเก่าของเขาเดินทางมาจากผิงหลิง ก็ได้เก็บศพของอ้องอุ้นไปฝังเสีย เป็นอันสิ้นสุดชีวิตของตงฉินผู้ต่อต้านความชั่วร้ายลงแต่เพียงเท่านี้
*เหตุการณ์โจโฉลอบสังหารตั๋งโต๊ะแท้จริงไม่มีในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงว่าโจโฉทนดูพฤติกรรมของตั๋งโต๊ะต่อไปไม่ไหวจึงได้หลบหนีออกไปก่อตั้งคณะปฏิวัติ18หัวเมืองเท่านั้น
**ซือหม่าเชียน เป็นนักประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ซีฮั่น) เขาได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์ "สื่อจี้"(แปลว่า บันทึกของหัวหน้าอาลักษณ์) ซึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของจีน แต่งานของเขาไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ พระองค์ต้องการให้เขาเขียนประวัติศาสตร์ในทางยกย่องบรรพบุรุษของพระองค์ แต่เขาไม่ยอมที่จะเขียนเรื่องไม่จริงลงไป พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้กริ้วมาก ลงทัณฑ์ซือหม่าเชียนด้วยการตัดอวัยวะเพศชายของเขา เขามีชีวิตอยู่ด้วยความอัปยศอดสูก็เพียงเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ "สื่อจี้" ให้เสร็จสิ้นเท่านั้น
***ต้นปี ค.ศ.192 ในฤดูใบไม้ผลิเดือนแรก ได้มีการประกาศนิรโทษกรรมจากทางราชสำนักไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น