วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก สุมาสู

ประวัติสามก๊ก สุมาสู

“เล่า โจ ซุน ต่อสู้แย่งชิงกันมา สุดท้ายสุมาได้ครองแผ่นดิน” คำๆนี้น่าจะเป็นบทสรุปของเรื่องสามก๊กได้ดีที่สุดกระมัง

เรื่องสามก๊กเปิดฉากจากต่อสู้ชิงอำนาจของสามตระกูล เล่า โจ ซุน แต่สุดท้าย ผู้ปิดฉากกลียุคและรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้นมาได้นั้น กลับเป็นตระกูลสุมา โดยผู้ที่เสมือนเข้ามาเป็นตาอยู่ของระหว่างสามตระกูลนั้น ก็คือจิ้งจอกอัจฉริยะนามว่าสุมาอี้

แต่สุมาอี้ไม่ใช่คนที่ปิดฉากสามก๊กตัวจริง กระนั้น เขาเปนผู้มีส่วนสำคัญอย่างที่สุด ในการวางแผนการ และสร้างรากฐานให้ลูกหลานของเขาสามารถยึดอำนาจวุยก๊กมาจากตระกูลโจ และพิชิตอีกสองก๊กลงได้ โดยทายาทของเขานั้น มีสองคนซึ่งเป็นผู้รับสืบต่อเจตนารมณ์นี้ และไปสำเร็จในยุคของสุมาเอี๋ยน

สองคนที่ว่านั่นก็คือ พี่น้องที่ได้ชื่อว่าเป็นจอมเผด็จการผู้เด็ดขาด เหี้ยมโหด และเปี่ยมด้วยความสามารถในเกมการเมือง นั่นคือ สุมาสู และสุมาเจียว

ในยุคสามก๊กนั้น ผู้เป็นทายาทของเหล่าวีรบุรุษ แทบไม่มีใครสามารถก้าวข้ามผู้เป็นบิดาได้ จะเอาให้เสมอ หรือเทียบเท่า ยังแทบไม่มี แต่ทั้งสองคนนี้กลับสามารถสานต่อสิ่งที่สุมาอี้เหลือทิ้งไว้ให้ได้สำเร็จ
ประวัติสามก๊ก สุมาสู

สุมาสู หรือ ซือหม่าสือ ชื่อรองจื่อเหยียน เกิดเมื่อปี ค.ศ.208 เป็นบุตรชายคนโตของสุมาอี้ กับ นางเตียวชุนหัว (ซันอู๋หลิน) เขาเป็นผู้ที่มีรูปกายผิดแผกจากคนทั่วไป เนื่องด้วยเมื่อเกิดมาก็มีปานที่ใต้ตาซ้าย ใบหน้ากลม ปากสี่เหลี่ยม บุคลิกแลดูน่ายำเกรง

ประวัติวัยเด็กของสุมาสูบ่งว่า เขาเป็นผู้ชมชอบศึกษาตำราพิชัยสงคราม หัดเพลงอาวุธ มีความสุขุมรอบคอบ เมื่ออายุได้ 19 ปี ก็มีโอกาสกระโจนเข้าสู่สนามรบเป็นครั้งแรกร่วมกับสุมาอี้ผู้เป็นบิดา และสุมาเจียวน้องชาย

กล่าวกันว่า สุมาอี้เคยประเมินบุตรชายทั้งสองของตนไว้ในครั้งแรกที่ออกศึก ว่าบุตรทั้งคู่นับเป็นอัจฉริยะที่หลายสิบปีจะมาเกิดในตระกูลสุมา เพราะเมื่อสุมาสูอายุ 19 ปี ก็สามารถอ่านสถานการณ์บ้านเมืองได้ขาด เหตุเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่สุมาอี้ถูกปลดจากอำนาจทางทหาร ด้วยพระเจ้าโจยอยเกิดความไม่วางใจในตัวสุมาอี้ แต่เมื่อขงเบ้งนำทัพนับแสนบุกขึ้นเหนือ แม่ทัพใหญ่ของวุยคือโจจิ๋นถูกขงเบ้งตีนจนแตกพ่าย ร้อนจนเกิดความวุ่นวายในเตียงอัน โจยอยจึงต้องเรียกตัวสุมาอี้ซึ่งขณะนั้นพักอย่างสงบที่บ้านให้กลับมารับตำแหน่ง เพื่อรับศึกขงเบ้ง

สุมาสูอ่านสถานการณ์โดยรวมออก ก่อนหน้าที่จะมีราชโองการแต่งตั้งสุมาอี้เข้ารับตำแหน่ง เขากับน้องชายก็เริ่มจัดแจงหาเสบียง เรียกระดมเหล่านายทหาร และประสานงานเพื่อเตรียมการเคลื่อนทัพไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้เมื่อสุมาอี้ได้รับตำแหน่ง ก็สามารถเคลื่อนทัพไปจัดการเบ้งตัดซึ่งเตรียมจะประสานงานกับขงเบ้งที่เมืองเซียงหยงได้ทันท่วงที ส่วนฝ่ายทัพใหญ่ของขงเบ้งก็ถูกทัพหน้าของเตียวคับเข้าตีจนแตกพ่ายที่เกเต๋ง เป็นการทำลายแผนการโจมตีประสานของขงเบ้งลงอย่างงดงาม

กล่าวได้ว่า เหตุที่มาอี้เคลื่อนทัพได้เร็วเช่นนั้น บุตรทั้งสองของเขามีส่วนช่วยเหลือไม่น้อย จากนั้นมาสุมาสูก็ได้รับความวางใจจากบิดา คอยปรึกษาแผลกลยุทธ์ และนโยบายทางการเมืองต่างๆอย่างใกล้ชิด

เมื่อสุมาอี้ได้กลับเข้ามาในวงราชการ และรับหน้าที่ควบคุมดูแลกองทัพทั้งหมด สุมาสูก็ช่วยเหลือในฐานะที่ปรึกษาและแม่ทัพคนสำคัญผู้หนึ่ง ในการศึกกับขงเบ้งเขาเป็นผู้รับหน้าที่สำคัญๆไม่น้อย

สุมาสูช่วยเหลือบิดาในการทำศึกกับกองทัพขงเบ้ง และการบริหารวุยก๊กอย่างดีเป็นเวลาหลายปี กระทั่งเมื่อพระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อ แต่เนื่องจากยังเยาว์วัย ก่อนโจยอยสิ้น จึงได้สั่งให้สุมาอี้และโจซองดูแลกิจการบ้านเมืองสืบต่อมา โดยสุมาอี้ยังคงมีอำนาจควบคุมกองทัพเต็มที่ โจซองซึ่งได้รับหน้าที่เหมือนกันนั้น รู้สึกหวาดระแวงสุมาอี้ จึงวางแผนทูลต่อพระเจ้าโจมอว่าสุมาอี้นั้นมีใจคิดไม่ซื่อ โจฮองหลงเชื่อจึงคิดถอดตำแหน่งของสุมาอี้ แต่เพราะสุมาอี้นั้นสร้างสมบารมีในการทำศึกกับขงเบ้งไว้มาก และมีผลงานด้านการบริหารที่ดีเยี่ยมมาตลอด จึงได้รับการยอมรับจากบรรดานายทหารและเหล่าขุนนางไม่น้อย โจซองจึงไม่อาจจัดการสุมาอี้ได้ตรงๆได้ จึงคิดแผนด้วยการเสนอให้สุมาอี้ขึ้นรับตำแหน่งราชครู (ไท่เว่ย) อันเป็นตำแหน่งระดับสูงที่มีเกียรติยศมากในราชสำนัก หากแต่เป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจทางทหาร ซึ่งเป้าหมายของโจซองคือ ริบอำนาจทางทหารของสุมาอี้นั่นเอง

สุมาอี้เองก็รู้ทันว่าโจซองคิดกำจัดตน จึงยอมรับตำแหน่งราชครูโดยดี และจากนั้นมาสุมาอี้ก็แกล้งป่วยอยู่กับบ้าน โดยทำตัวไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงการเมือง และสั่งให้สุมาสูและสุมาเจียวลาออกจากราชการด้วย

สุมาอี้ซึ่งสิ้นอำนาจทหารไปนั้น ใช้เวลาอย่างเงียบๆอยู่แต่ในบ้านนานถึง 8 ปี หากแต่เวลา 8 ปีนั้น สุมาสูและสุมาเจียวมีการเคลื่อนไหวอย่างลับๆมาตลอด สุมาสูใช้เวลา 8 ปีนั้น ในการสะสมกำลังพล สร้างเครือข่ายกับบรรดาเหล่าขุนพล นายทหาร ที่เคยออกรบปราบขงเบ้งด้วยกันมาก่อน เช่นกุยห้วย ช่วงเวลานี้ สุมาสูสามารถรวบรวมกำลังทหารซึ่งเป็นทหารที่สังกัดและประจำในเมืองหลวงได้ถึง 3,000 คน แม้ ไม่ใช่จำนวนมากมายนัก แต่ทหารเหล่านี้ก็เป็นนายทหารที่ภักดีกับตระกูลสุมา และประจำตามจุดสำคัญในเมืองหลวงทั้งสิ้น

กระทั่งเวลาก็มาถึง ในปีค.ศ.249 โจซองเชิญพระเจ้าโจฮองและพรรคพวกของตนออกไปล่าสัตว์นอกเมือง สุมาสูได้รับคำสั่งจากสุมาอี้ ระดมพลนายทหารทั้ง 3,000 คน เข้าควบคุมจุดสำคัญต่างๆในเมืองหลวง และเขตพระราชวังไว้หมดสิ้นในเวลาไม่ถึง 1 วัน จากนั้นสุมาอี้ได้เข้าพบไทเฮาซึ่งอยู่ในวัง เพื่อแจกแจงถึงเหตุผลในการก่อการว่า โจซองกระทำการหยาบช้า ใช้อำนาจที่มีกดขี่ผู้คน โดยไม่เห็นแก่พระเจ้าโจฮองมานาน ที่ต้นก่อการจึงเป็นความจำเป็น ไม่เช่นนั้นบัลลังก์ของพระเจ้าโจฮองต้องสั่นคลอนแน่ เพราะรอบด้านเองกยังมีศัตรูทั้งจ๊กก๊กและง่อก๊กอยู่ องค์ไทเฮายอมตามสุมาอี้ จึงออกราชโองการ ว่าโจซองทำความผิดจริง

โจซองซึ่งออกไปล่าสัตว์ เมื่อพบว่าเสียท่าสุมาอี้ ก็คิดจะนำกำลังทหารกลับเข้าไปสู้และยึดอำนาจของตนคืน แต่เพราะความร้ายกาจในกลยุทธ์การศึกของสุมาอี้ ที่เคยเอาชัยขงเบ้งมาแล้ว ทำให้โจซอง ซึ่งในชีวิตมีแต่ความสบาย เกิดความหวาดกลัว อีกทั้งสุมาอี้เองก็ส่งสารว่าหากยอมแพ้แต่โดยดี จะยังให้โจซองและญาติมิตรคงฐานันดรศักดิ์ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนเศรษฐีธรรมดาได้ โจซองกลัวลำบาก ดังนั้นเมื่อเจอไม้นี้เข้า จึงตัดสินใจยอมจำนนต่อสุมาอี้ และนำพระเจ้าโจฮองกลับเมืองหลวงอย่างง่ายดาย

แต่สุมาอี้รู้ดีว่า จะทำการใหญ่ ต้องถอนรากถอนโคนศัตรูให้สิ้น เขายัดข้อหาว่าโจซองและพรรคพวกว่าคิดก่อการล้มบัลลังก์ จากนั้นจึงสั่งประหารโจซองและครอบครัวทั้ง 7 ชั่วโคตร ผลการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทำให้คนตระกูลโจถูกล้างเกือบสิ้น และส่งผลให้แฮหัวป๋า บุตรชายคนโตของแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเกี่ยวพันทางสายเลือดกับตระกูลโจต้องลุกขึ้นมาก่อการ เพราะเกรงว่าตนเองจะถูกเล่นงานไปด้วย แต่กุยห้วยและต้านท่ายก็นำทัพปราบแฮหัวป๋าซึ่งมีกำลังพลเพียงสามพันคนลงได้อย่างไม่ยากนัก แฮหัวป๋าจึงต้องหนีไปสวามิภักดิ์ต่อเกียงอุยที่จ๊กก๊ก

เกียงอุยิยนดีที่ได้แฮหัวป๋ามา พร้อมกับช่วงเวลาหลายปีหลังขงเบ้งออกศึกครั้งสุดท้าย การบริหารภายในและกองทัพจ๊กก๊กก็ฟื้นตัวกลับมาได้ไม่น้อย ด้วยความสามารถของ เจียวอ้วน บิฮุย ตังอุ๋น และเกียงอุย เมื่อได้แฮหัวป๋าซึ่งชำนาญภูมิประเทศในแถบเตียงอันมาอยู่ด้วย เกียงอุยจึงเสนอต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้ยกทัพปราบทางเหนืออีกครั้ง แม้บิฮุยจะไม่เห็นด้วย แต่เล่าเสี้ยนก็ยอมให้เกียงอุยออกศึกได้

กุยห้วยรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ทำหน้าที่รับศึกเกียงอุย และวางแผนล้อมทัพของเกียงอุยไว้ได้ และก่อนหน้านี้ยังส่งสารไปขอให้สุมาสูยกทัพมาเสริม สุมาสูนำกองทัพนับหมื่น มาช่วยเสริมแก่กุยห้วย และได้ปะทะกับเกียงอุย แต่ฝีมือของเกียงอุยนั้นเข็มแข้ง เกินกว่าสุมาสูจะต้านไว้ รบกันได้ไม่นาน เกียงอุยก็สามารถตีฝ่าวงล้อมของทัพวุยออกมาได้ สุมาสูตัดสินใจไล่ตาม แต่เมื่อถึงด่านแฮปังก๋วน ก็ถูกเกียงอุยที่หลบเข้าไปแล้ว ใช้หน้าไม้ระดมยิงเหมือนห่าฝน สุมาสูเห็นท่าไม่ดี จึงสั่งถอนทัพกลับทั้งหมด แม้ว่าจะไม่อาจจัดการเกียงอุยได้ แต่ศึกครั้งนี้ ฝ่ายวุยสามารถล้อมและจัดการทหารเกียงกุยได้จำนวนมาก และสามารถยึดค่ายแถบตีนเขาก๊กสันได้ด้วย สุมาสูจึงกลับไปรายงานต่อสุมาอี้ และมีความชอบไม่น้อย

ปีค.ศ.251 สุมาอี้ป่วยหนักและเสียชีวิตลง สุมาสูจึงได้ขึ้นรับช่วงอำนาจต่อ โดยมีสุมาเจียวน้องชายคอยช่วยเหลือ โดยสุมาสูได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดี ดูแลกิจการทั้งปวง

มีบันทึกในประวัติศาสตร์และนิยายสามก๊กว่า สุมาอี้ก่อนตายนั้น สั่งเสียแก่บุตรทั้งสองว่า ให้ตั้งใจทำราชการ ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้าแผ่นดินจนกว่าจะสิ้นชีวิต ทำสิ่งใดจงตรึกตรองให้ดี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในประวัติศาสตร์และนิยายสามก๊ก หาได้เป็นดังคำของสุมาอี้ อีกทั้งการกระทำและเจตนาบางอย่างของสุมาอี้ก่อนสิ้นนั้น ก็ไม่อาจบ่งได้ว่า เขามีความภักดีต่อราชวงศ์วุยเท่าใดนัก จะว่าไปแล้ว สิ่งที่สุมาอี้ทำ ไม่ต่างจากโจโฉ คืออยู่เหนือคนนับหมื่น ใต้คนหนึ่งคน เพียงแต่เขาไม่ได้ยึดบังลังก์มาครองเอง ซ้ำยังช่วยค้ำบัลลังก์ของโจยอยและโจฮองด้วย ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่อาจตราหน้าว่าเขาคือผู้แย่งชิงราชบัลลังก์ได้

แต่ถ้ามองว่า เขาเป็นผู้วางรากฐานนั้นเพื่อให้ทายาทได้กระทำการแทน ย่อมไม่เกินเลย เพราะตอนที่สุมาอี้ใกล้ตายนั้น เขาแทบจะเป็นผู้กุมทุกสิ่งในวุยก๊กหมดสิ้นแล้ว

สุมาสูซึ่งรับช่วงอำนาจมานั้น กระทำการกำเริบ ไม่เห็นฮ่องเต้ในสายตา เขาและน้องชายควบคุมอำนาจทหารและฝ่ายบริหารเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว การกระทำของสุมาสูทำให้เกิดฝ่ายต่อต้านขึ้น โดยเฉพาะพระเจ้าโจฮอง ซึ่งมีความเกรงกลัวสุมาสูมาก จึงคิดวางแผนสังหารโดยมีนายทหารและขุนนางผู้ใหญ่หลายคนร่วมด้วย แต่ความแตกก่อน สุมาสูจึงสั่งประหารคนทั้งหมด ซึ่งยังรวมไปถึงพระนางเตียวฮองเฮาด้วย จากนั้นสุมาสูจึงเข้าพบกุยไทเฮา และอ้างว่าโจฮองกระทำการไม่เห็นแก่แผ่นดิน ไม่คู่ควรแก่การเป็นฮ่องเต้ จึงควรที่จะปลดและแต่งตั้งผู้อื่นที่เหมาะสมขึ้นเสีย ครั้นแล้วจึงทำการปลดโจฮอง และแต่งตั้งโจมอ หลานของโจผีขึ้นครองราชย์แทน

สุมาสูในตอนนี้ ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช พระเจ้าโจมอที่ขึ้นครองราชย์นั้นยำเกรงสุมาสูมาก สองปีต่อมา บู๊ขิวเขียมเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ร่วมมือกับบุนขิม ก่อการกบฏต่อสุมาสูขึ้นที่เมืองซิ่วซุน สุมาสูนำทัพไปปราบกบฏคัวยตนเองและมีชัยชนะ แต่ในการเดินทัพครั้งนี้ เขามีอาการปวดที่ตาอย่างรุนแรง และกำเริบหนักระหว่างเดินทางกลับ สุมาสูรู้สึกตัวว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน จึงเรียกตัวสุมาเจียวจากเมืองหลวงให้มาเข้าพบเพื่อสั่งความ มอบหมายตำแหน่งให้สุมาเจียวรับสืบต่อ จากนั้นก็เสียชีวิตลงในปีค.ศ.255

หากมาวิเคราะห์กันดู จะพบว่าสุมาสูนั้น มีโอกาสที่จะล้มล้างบัลลังก์ และขึ้นครองราชย์ ทำให้ตระกุลสุมาเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวได้ แต่หากผลีผลามทำเช่นนั้น ภายในวุยก๊กย่อมเกิความวุ่นวายขึ้นอย่างหนัก สุมาสูรู้ในข้อนี้ ดังนั้นแม้ว่าจะกุมอำนาจจนแทบจะเบ็ดเสร็จ เขาก็ยังไม่ยอมชิงบัลลังก์ และเสียชีวิตไปก่อน ทำให้ภาระต้องตกมาถึงน้องชาย คือสุมาเจียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น