ประวัติสามก๊ก เล่งทอง กงจี่
เล่งทอง หรือ หลิงตง ชื่อรองกงจี่ เกิดปี ค.ศ.189-237 เป็น ชาวเมืองอิข้อง เขาเป็นบุตรชายของเล่งโฉ นายทหารคนสำคัญในสังกัดของซุนเซ็ก ผู้นำแห่งตระกูลซุน ผู้ปกครองแดนกังหนำ
เล่งทองนั้นรับสืบทอดตำแหน่งและเกียรติยศมาจากบิดา เหตุเพราะเล่งโฉนั้น เป็นแม่ทัพที่มีความองอาจกล้าหาญ เล่งโฉเข้าร่วมกับกองทัพของซุนเซ็กตั้งแต่ยังวัยหนุ่ม และต่อสู้อย่างองอาจมาตลอด ในช่วงที่ซุนเซ็กเริ่มขยายอิทธิพลและก่อร่างสร้างตัวในแดนกังหนำนั้น เล่งโฉได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพประจำเมืองหยงผิง คอยปราบปรามความไม่สงบที่เกิดจากชนเผ่าซานเยี่ยทางตอนใต้ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีความบาดหมางกับชาวจีนในแถบกังหนำมายาวนาน และทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ช่วงที่เล่งโฉรับหน้าที่นั้น เผ่าซานเยี่ยแทบจะไม่ก่อความวุ่นวายเลย ทำให้งานของซุนเซ็กในการขยายอิทธิพลและรวมกังหนำให้เป็นหนึ่งง่ายดายขึ้น
เมื่อซุนเซ็กเสียชีวิตในปี ค.ศ.200 ซุนกวนผู้เป็นน้องชายก็รับสืบทอดอำนาจต่อมา เล่งโฉยังคงรับใช้ซุนกวนต่อด้วยดี และ 4 ปีต่อมา ในการศึกกับหองจอที่กังแฮ ซุนกวนได้แต่งตั้งเล่งโฉเป็นแม่ทัพกองหน้าเข้าโจมตีทัพของหองจออย่างกล้าหาญ แต่ขณะที่กำลังไล่ตามโจมตีเรือของหองจอนั้น เขากลับถูกธนูยิงจนเสียชีวิต ในนิยายสามก๊กกล่าวว่าผู้ที่สังหารเขาก็คือนายทหารซึ่งเป็นอดีตโจรสลัด นามว่ากำเหลง
ซุนกวนเสียใจในการตายของเล่งโฉมาก จึงแต่งตั้งเล่งทอง บุตรชายให้เข้ารับตำแหน่งแทน และให้สิทธิในการสั่งการทหารทั้งหมดของเล่งโฉต่อมาด้วย
เล่งทองนั้นตามที่มีบันทึกไว้ในนิยายสามก๊กและจากพฤติกรรมที่แสดงออกในประวัติศาสตร์แล้วพอจะบอกได้ว่าเป็นคนหนุ่มที่มีนิสัยเลือดร้อนไม่น้อย แต่ก็มีความอดทนอดกลั้นสูง มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวการเผชิญหน้ากับศัตรูหมู่มาก และมีฝีมือในเชิงอาวุธเป็นเยี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์
การขึ้นมารับตำแหน่งในกองทัพง่อของเล่งทองนั้น เชื่อกันว่าค่อนข้างราบรื่น เพราะเล่งโฉเป็นที่ยอมรับนับถือจากบรรดาขุนนางและแม่ทัพในง่อจำนวนมาก พลอยส่งให้เล่งทองได้รับการยอมรับด้วย เล่งทองเริ่มสร้างชื่อในการศึกกับหองจอ ด้วยการมีส่วนร่วมในฐานะกองหน้าเข้าตีเมืองกังแฮ เล่งทองนำหน้าเหล่าทหาร ล่องเรือเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ และสามารถเป็นคนแรกที่เข้าถึงเมืองกังแฮได้ ซุนกวนประทับใจในความสามารถของเล่งทองมาก
ปี ค.ศ. 208 โจโฉยกทัพนับแสนบุกลงใต้ สร้างความพรั่นพรึงแก่ชาวกังหนำ แต่ซุนกวนตัดสินใจออกต้านศึก ให้จิวยี่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ เกิดเป็นการศึกที่เซ็กเพ็ก เล่งทองได้เข้าร่วมในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ แต่ในบันทึกประวัติศาสตร์และตามนิยาย แทบไม่มีรายละเอียดตรงนี้ รู้เพียงว่าเล่งทองสร้างผลงานไว้ไม่น้อย และกลายเป็นแม่ทัพสำคัญคนหนึ่งของทัพง่อหลังจากนั้น
ภายหลังศึกเซ็กเพ็ก กองทัพใหญ่ของโจโฉถอยร่นกลับสู่ภาคกลาง แต่ทิ้งให้โจหยินประจำการอยู่ที่เมืองกังเหลงเพื่อรับศึก ฝ่ายเล่งทองได้รับมอบหมายเป็นทัพหน้าในการเข้าตีกับทัพของโจหยิน และสามารถนำทหารออกรบต่อสู้ได้ชัยเหนือทัพของโจหยินหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าตีเมืองได้สำเร็จ แต่ก็สร้างความบอบช้ำให้ทัพของโจหยินไม่น้อย จากนั้น 1 ปีต่อมา โจหยินซึ่งประเมินแล้วว่าไม่อาจต้านทานทัพง่อต่อไปได้อีก ก็จำต้องถอนทหารกลับขึ้นเหนือ ทำให้จิวยี่นำทัพง่อยึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ และเล่งทองก็เป็นแม่ทัพคนสำคัญที่สร้างชื่อและมีความชอบในงานนี้มากเช่นกัน
หลังเสร็จศึกที่เกงจิ๋วไม่นาน จิวยี่เสียชีวิตลง ทำให้สายการบัญชาการมีการปรับเปลี่ยน โลซกขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แทน โดยรับหน้าที่ควบคุมกองกำลังส่วนหน้าที่ลกเค้าและชีสองพร้อมกับแม่ทัพซ้ายเทียเภา ส่วนเมืองกังเหลงที่ตีมาได้นั้น ซุนกวนมอบให้เล่าปี่ยืมไปใช้ตั้งตัว ทำให้ยุทธศาสตร์การทำศึกของซุนกวนกับโจโฉต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เดิมซุนกวนคิดอยากระดมกำลังทัพง่อทั้งหมด ล่องเรือทวนกระแสน้ำแยงซีเข้าตีชีจิ๋วผ่านทางเจียงตู เพื่อขยายดินแดนเข้าสู่ภาคกลาง แต่เนื่องจากก่อนจิวยี่เสียชีวิตเคยเสนอว่าการบุกชีจิ๋วแม้ทำได้ง่าย แต่รักษายาก เพราะพื้นที่ห่างไกลจากเมืองเกี๋ยนเงียบซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของทัพง่อ อีกทั้งชีจิ๋วนั้นมีพื้นที่เป็นที่ราบกว้าง และอยู่ใกล้กับตันลิวและปักเอี๋ยง ซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของโจโฉ ทำให้โจโฉสามารถส่งกำลังสนับสนุนได้ง่าย แม้จะยึดชีจิ๋วมาได้ แต่ก็อาจเสียคืนได้ทันทีเช่นกัน ซุนกวนจึงตัดสินใจระดมกำลังเพื่อบุกเข้าตีทางหับป๋าแทน เพื่อทำให้อิทธิพลในแถบตอนบนของแม่น้ำแยงซีเป็นปึกแผ่น มากพอจะใช้เป็นกันชนในการสู้ศึกกับโจโฉแทน
เล่งทองได้ถูกโยกให้เข้าร่วมทัพใหญ่ของซุนกวนที่จะโจมตีหับป๋าโดยเล่งทองนั้นได้การแต่งตั้งเป็นทัพองครักษ์ประจำตัวของซุนกวน ส่วนหนึ่งเพราะฝีมือรบอันเข้มแข็งของเล่งทองเอง และซุนกวนนั้นรักในความภักดีของคนสกุลเล่งตั้งแต่สมัยเล่งโฉพ่อของเล่งทองด้วย
ในศึกหับป๋านี้ เล่งทองต้องรับหน้าที่แม่ทัพร่วมกับกำเหลง ซึ่งเป็นผู้สังหารบิดาของเขาเอง ทำให้เล่งทองไม่พอใจและทะเลาะกับกำเหลงอย่างแรง จนซุนกวนต้องมาไกล่เกลี่ย ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏในนิยาย แต่ในประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มีบันทึกตรงนี้ และตามที่เฉินโซ่วบันทึกนั้นแทบไม่ปรากฏว่าทั้งสองคนเคยร่วมงานกัน
แต่กระนั้น หากพิจารณาถึงการจัดทัพเพื่อเข้าตีหับป๋าของซุนกวน ซึ่งต้องระดมแม่ทัพและทหารจำนวนมหาศาลแล้ว ประกอบกับซุนกวนจัดให้แม่ทัพที่มีชื่อเสียงและความสามารถในการรบสูงเกือบทั้งหมดมายังแนวรบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลิบอง จิวท่าย เจียวขิม เตงฮอง ฯลฯ ยังไงเสีย เล่งทองและกำเหลงซึ่งถือว่าเป็นแม่ทัพมีชื่อเสียงและฝีมือการรบอันดับต้นๆของทัพง่อก็น่าจะได้ร่วมงานกันที่แนวรบนี้จริง แต่จะได้ปรับความเข้าใจกันเหมือนในนิยายหรือไม่ ก็ยากจะรู้ได้
ในศึกหับป๋านี้ แม้ว่าซุนกวนจะยกกองทัพไปมหาศาลนับแสนคน แต่ก็เสียทีให้แก่เตียวเลี้ยว แม่ทัพหับป๋าที่โจโฉวางตัวไว้เพื่อรับมือซุนกวนโดยเฉพาะ เข้าโจมตีแบบสายฟ้าแลบในขณะที่กองทัพของซุนกวนยังไม่ทันตั้งตัว จนตีทัพหน้าของซุนกวนต้องล่าถอยไป จากนั้นเตียวเลี้ยวอาศัยจังหวะที่ทัพหน้าล่าถอย นำทัพทหารม้าเพียงไม่ถึงพันคน ไล่ตามตีทัพของซุนกวนต่อจนรวนอย่างหนัก โดยที่ซุนกวนไม่สามารถเรียกทัพหน้าที่ล่าถอยไปแล้วกลับมาช่วยได้ทัน
เล่งทองจึงสร้างวีรกรรม ด้วยการนำกองทหารสามร้อยนายของตนเองเข้ายันเตียวเลี้ยวไว้ และเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้ซุนกวนสามารถถอยหนีได้ แต่สร้างไม่ทันเสร็จ ซุนกวนจึงต้องขี่ม้ากระโดดข้ามสะพานหนีไปอีกฝั่ง เล่งทองเมื่อช่วยซุนกวนข้ามฝั่งไปได้ ก็ต่อสู้อย่างสุดกำลังเพื่อถ่วงเวลาให้ กระทั่งเห็นว่าซุนกวนสามารถล่าถอยไปได้แล้ว เล่งทองก็พบว่ากองทหารสามร้อยนายที่ร่วมสู้กับเขาถูกสังหารหมด เมื่อเหลือเพียงคนเดียว เขาจึงตัดสินใจถอดเกราะว่ายข้ามแม่น้ำและตามมาขึ้นเรือที่ซุนกวนอยู่ได้ โดยทั่วร่างของเล่งทองนั้นเต็มไปด้วยบาดแผลจากการต่อสู้ เมื่อซุนกวนเห็นว่าเล่งทองหนีรอดมาได้ก็ดีใจเป็นอันมาก
เล่งทองเสียใจมากที่ทหารสามร้อยนายของเขาตายหมด เพราะพวกเขาเป็นนายทหารที่ติดตามเขามาตั้งแต่สมัยเล่งโฉผู้เป็นบิดา ซุนกวนจึงตบหน้าเตือนสติว่าปล่อยให้คนที่ตายได้ไปสู่สุขคติ ตราบใดที่เจ้ายังมีชีวิตอยู่ จะกลัวไม่มีทหารในบัญชาการหรือ จากนั้นซุนกวนก็เลื่อนตำแหน่งแม่ทัพให้เล่งทองและมอบหมายทหารให้เขาเพิ่มเป็นสองเท่า
ผลงานและความกล้าในการศึกรวมถึงการที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือซุนกวนไว้ ทำให้เล่งทองกลายเป็นขุนพลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องอย่างมาก แต่เล่งทองก็ยังคงวางตนเป็นผู้นอบน้อม และคบหาคนทุกระดับชั้น เล่งทองชอบคบหาผู้รู้ มีความสามารถ และยังได้ชื่อว่าเลี้ยงดูทหารได้ดี ทำให้บรรดาคนหนุ่มๆของง่ออยากจะเข้ามาอยู่ในสังกัดของเขา
ปีค.ศ. 219 เมื่อลิบองและลกซุนวางแผนเข้ายึดเกงจิ๋ว ตลบหลังกวนอูได้นั้น เล่งทองก็รับหน้าที่คุมทหารอยู่แนวหลัง เมื่อเล่าปี่ยกทัพมาแก้แค้นในศึกอิเหลง เล่งทองก็เป็นขุนพลคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมรบ จากนั้นเขาก็ได้รับหน้าที่สำคัญในการศึกเพื่อป้องกันดินแดนของง่อก๊กต่อมาอีกหลายปี โดยนอกเหนือจากนั้น เขายังรับหน้าที่คุมหน่วยทหารองครักษ์ของซุนกวนอีกด้วย
ภายหลัง เล่งทองได้เสนอต่อซุนกวนเกี่ยวกับการชักจูงชาวเขาให้เข้ามารับราชการ โดยการเสนอรางวัลและมอบตำแหน่งให้ เพื่อเป็นการผูกมิตรกับบรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ เพราะพื้นที่แถบชายแดนของง่อนั้น มักถูกรังควานจากชาวซานเยี่ย ประกอบกับนโยบายการศึกของง่อนั้น มุ่งปราบปรามคนต่างเผ่าอย่างรุนแรง เล่งทองต้องการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีกับชนต่างเผ่าเสียใหม่ จึงรับหน้าที่เดินทางไปประสานงานและเจรจากับพวกชาวเขา ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีมาก แต่ภายหลังกลับจากการเดินทาง เล่งทองติดโรคระบาดและป่วยหนัก จากนั้นในปีค.ศ. 237 เล่งทองก็เสียชีวิตลงในวัย 49 ปี สร้างความเสียใจแก่ซุนกวนเป็นอันมาก
ในบรรดาขุนพลของง่อก๊กนั้น กล่าวกันว่าเล่งทองเป็นขุนพลที่ได้รับความสนิทชิดเชื้อและอยู่ใกล้ชิดซุนกวนมากที่สุดผู้หนึ่ง แม้ว่าฝีมือการสู้รบของเล่งทองจะไม่ได้สูงล้ำหากเทียบกับขุนพลใหม่อันดับต้นๆของง่อก๊กด้วยกันอย่าง กำเหลง จิวท่าย และไม่ได้เก่งกาจในการบัญชาการทัพเหมือนเช่น จิวยี่ ลิบอง ลกซุน ชีเซ่ง แต่เขากลับเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องในแง่ของความกล้าหาญและภักดีอย่างสูง และถูกจัดเข้าทำเนียบขุนพลคนสำคัญของง่อก๊ก ในบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กระบุว่าซุนกวนมักร้องไห้อาลัยทุกครั้งยามที่นึกถึงเล่งทอง
แม้ฝีมือและวีรกรรมในการรบของเล่งทองจะไม่ถึงขั้นสะท้านแผ่นดิน แต่ก็พูดได้เต็มปากว่า หากไม่มีชายผู้นี้ ซุนกวนก็คงต้องเอาชีวิตไปทิ้งแล้วไม่มีโอกาสได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ของง่อก๊กเป็นแน่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น