วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติสามก๊ก อ้องอุ้น

ประวัติสามก๊ก อ้องอุ้น
หวางหยุ่น หรือ อ้องอุ้น เป็นอัครมหาเสนาบดีของราชวงศ์ฮั่น พวกเราต่างรู้จักเขาเพียงแค่บทบาทในสามก๊กที่เขามีบทบาทเพียงสั้นๆ แต่ที่จริงแล้วเขามีบทบาทมากตั้งแต่สมัยของพระเจ้าฮั่นหลิงตี้(เลนเต้)แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกแล้ว..

ในสมัยนั้น 10ขันทีครองอำนาจเหนือฮ่องเต้ พระเจ้าฮั่นหลิงตี้นั้นไร้ความสามารถ วันๆเอาแต่มั่วสวาทกับขันที เหล่าขุนนางตงฉินหลายคนพยายามยับยั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ หลายคนถูกส่งไปยังคุกแห่งหนึ่ง...ซึ่งมีหน้าที่ทรมานนักโทษที่ถูกส่งไปให้ตายโดยไม่ต้องสอบสวน คุกนี้ก็คือ..คุกวัดเหนือ..

อ้องอุ้นก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกส่งไปยังคุกวัดเหนือ เขาแทบจะเป็นคนเดียวในยุคนั้นที่รอดออกมาจากคุกวัดเหนือได้ ในปีเดียวกัน เขาถูกส่งเข้าไปยังคุกวัดเหนืออีกครั้ง แต่ก็รอดออกมาได้อีก ซึ่งปีที่เขาถูกส่งเข้าคุกสองครั้งรวดนั้น คือปี ค.ศ. 189 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลพระเจ้าฮั่นหลิงตี้นั่นเอง

ต่อมาก็เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในราชสำนัก ในที่สุดตั๋งโต๊ะแห่งเสเหลียงก็ยึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และกำจัดสิบขันทีลงไปได้ทั้งหมด แต่ตั๋งโต๊ะก็กระทำตัวเยี่ยงเดียวกับสิบขันที และดูเหมือนจะโหดเหี้ยมยิ่งกว่าเสียอีก


ตั๋งโต๊ะ ได้ปลดฺฮ่องเต้ หองจูเปียน ลง และยก หองจูเหียบ เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นแทน อ้องอุ้นก็เป็นหนึ่งในตงฉินผู้ซึ่งเคียดแค้นตั๋งโต๊ะยิ่งนัก เขาได้เรียกประชุมขุนนางที่เกลียดตั๋งโต๊ะมาชุมนุมกัน ซึ่งในนั้นก็รวมโจโฉด้วย..เหล่าตงฉินได้ปรับทุกข์กันและด่าตั๋งโต๊ะอย่างเคียดแค้น แต่จู่ๆ โจโฉก็ได้กล่าวว่า "พวกท่ามานั่งด่าตั๋งโต๊ะกันลับหลังอย่างนี้มันจะได้ประโยชน์อะไรเล่า ข้านี่แหละจะอาสาไปฆ่าเจ้าตั๋งโต๊ะเอง" อ้องอุ้นได้ยินดังนั้นจึงได้มอบมีดสั้นประจำตระกูลที่งดงามให้แก่โจโฉเพื่อใช้ในการลอบสังหาร

ปรากฏว่าโจโฉลอบสังหารไม่สำเร็จและหลบหนีออกไป* ส่วนอ้องอุ้นนั้นก็เป็นเสนาบดีของราชวงศ์ฮั่นต่อไป เขาต้องแสร้งทำดีกับตั๋งโต๊ะทั้งที่ใจจริงไม่ใช่เช่นนั้น เขาจึงมีความทุกข์ยิ่งนัก เขาจึงได้วางแผนที่จะกำจัดตั๋งโต๊ะเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นให้กลับมาอีกครั้ง ตั๋งโต๊ะค่อนข้างจะเกรงใจอ้องอุ้นมาก และเพราะว่าตนเองนั้นไม่มีความสามารถพอที่จะปกครองประเทศได้ จึงมอบให้อ้องอุ้นทำหน้าที่ "ซือถู" หรือรักษาการนายกรัฐมนตรี..

ในสามก๊กฉบับงิ้วนั้น หลอกว้านจงได้แต่งนิยายให้เขาใช้กลอุบายหญิงงาม โดยการใช้เตียวเสี้ยนธิดาบุญธรรมไปทำให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะหลงใหลในตัวนาง ทำให้ลิโป้เคียดแค้นและในที่สุดตั๋งโต๊ะก็ถูกฆ่าตาย

แต่ในประวัติศาสตร์นั้น เตียวเสี้ยนผู้นี้ไม่มีตัวตนจริงด้วยความไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ความจริงในประวัติศาสตร์บันทึกว่า ลิโป้นั้นได้แอบเป็นชู้กับนางบำเรอของตั๋งโต๊ะ ทำให้ลิโป้ไม่ชอบตั๋งโต๊ะเท่าใดนัก แต่อ้องอุ้นเป็นผู้ใช้แผนการร่วมมือกับลิโป้ในการปลิดชีพจอมทรราชตั๋งโต๊ะ โดยฉวยโอกาสที่ช่วงนั้นเกิดภัยธรรมชาติ ฝนตกหนัก โรคอหิวาต์ระบาดหนักมากจนถึงขนาดพระเจ้าเหี้ยนเต้ประชวรลง โชคดีที่หมอหลวงถวายการรักษาจนหายดีได้ อ้องอุ้นอ้างว่าตั๋งโต๊ะสมควรทำพิธีไหว้ฟ้าดินเพื่อให้ประชาชนมองตั๋งโต๊ะดีขึ้น และให้ตั๋งโต๊ะเก็บตัวอย่างน้อยสามวันโดยอ้างว่าเพื่อให้พิธีศักดิ์สิทธิ์ ตั๋งโต๊ะก็ทำตามโดยให้อ้องอุ้นเป็นประธานดำเนินการจัดเตรียมพิธีไหว้ฟ้าดินที่พระที่นั่งโม่ยางเตี้ยน ภายในพระบรมมหาราชวัง

ในวันที่ 23 เดือน 4 ค.ศ.192 ขณะที่เก็บตัวอยู่นั้น จอมกังฉินไม่รู้เลยว่าพวกอ้องอุ้นกำลังวางแผนทำอะไรอยู่ เมื่อครบกำหนดตั๋งโต๊ะก็เตรียมตัวไปทำพิธี ปรากฏว่าเกิดลางร้าย ม้าที่ลากรถของตั๋งโต๊ะเกิดตื่นขึ้นมาแล้วพารถพลิกคว่ำลง ตั๋งโต๊ะก็ไม่คิดว่านั่นเป็นลางอะไร เขาสั่งให้จัดเตรียมม้าใหม่ เมื่อมาถึงพระบรมมหาราชวัง อยู่ๆม้าก็เกิดไม่วิ่งซะเฉยๆ ฉุดลากเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเดินต่อ ตั๋งโต๊ะจึงต้องลงเดินไป เมื่อถึงพระบรมมหาราชวัง ตั๋งโต๊ะก็ถูกทหารของอ้องอุ้นลอบสังหาร เมื่อเขาพยายามขอความช่วยเหลือจากลิโป้ เขาก็ถูกลิโป้ฆ่าตาย

อ้องอุ้นเห็นจอมกังฉินจบชีวิตลงแล้วก็ไม่รอช้า ส่งทหารไปยังบ้านของตั๋งโต๊ะและสั่งให้จับญาติพี่น้องของตั๋งโต๊ะมาฆ่าเสียทั้งหมด แม้กระทั่งมารดาวัย 90 กว่าปีของตั๋งโต๊ะก็ถูกจับมาประหารด้วยไม่ยกเว้น

ศพของตั๋งโต๊ะถูกนำไปประจานไว้กลางสี่แยก ให้เหล่าผู้เคียดแค้นจอมกังฉินมาระบายความแค้นได้ตามสบายใจ

อ้องอุ้นได้รับมอบหมายหน้าที่ราชเลขาธิการ ส่วนลิโป้ผู้ร่วมก่อการได้เป็นแม่ทัพผู้ซื่อสัตย์ มีกำลังทหารของตัวเอง ได้รับเกียรติอย่างสูงและยังถูกตั้งเป็นขุนนางตำแหน่งเวินเหา(เจ้าพระยาเมืองเวิน)อีกด้วย

ตั๋งโต๊ะนั้นเมื่อตายไปไม่มีใครเสียใจ มีเพียงซัวหยงที่ร้องไห้ให้กับการตายของเขา อ้องอุ้นโกรธมากและกล่าวหาว่าซัวหยงนั้นเป็นกบฏ จึงได้นำตัวขึ้นศาล ซัวหยงร้องขอชีวิตโดยกล่าวว่าจะลงโทษอะไรเขาก็ได้ ขอเพียงให้เขามีชีวิตอยู่เพื่อเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่นต่อไปเถิด บัณฑิตหลายคนเห็นใจซัวหยงและขออภัยโทษให้เขา รวมทั้งแม่ทัพใหญ่ม้าหยิดก็กล่าวแก่อ้องอุ้นว่า "ซัวหยงเป็นผู้มีความสามารถมาก เขารู้ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่นอย่างดี บันทึกของเขาเป็นงานที่ยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งในยุคนี้ ความผิดของเขานั้นเล็กน้อยนัก ถ้าท่านฆ่าซัวหยง ประชาชนย่อมไม่สนับสนุนตัวท่าน"

อ้องอุ้นกล่าวตอบม้าหยิดว่า "ในอดีตนั้น ฮ่องเต้ฮั่นหวู่ตี้ไม่ได้ฆ่าซือหม่าเชียน** และอนุญาตให้เขาเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ใส่ร้ายป้ายสีตกทอดมายังปัจจุบัน มาบัดนี้พระราชอำนาจขององค์ฮ่องเต้ตกต่ำลง มีสงครามเกิดขึ้นมากมาย เราไม่อาจปล่อยขุนนางชั่วให้คงอยู่ได้ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ต่อพระราชอำนาจของฮ่องเต้เลย และผู้คนจะครหาได้ว่าเราใช้อำนาจในทางที่ผิด"

ม้าหยิดจึงจากมาพร้อมกับรำพึงว่า "ใต้เท้าอ๋องไม่สมควรมีทายาท ผู้มีความสามารถเป็นรากฐานของแผ่นดิน และบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เป็นดั่งสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ถ้าอ้องอุ้นได้ทำลายสองสิ่งนี้ไปเสีย แล้วบ้านเมืองจะยืนยาวต่อไปได้อย่างไร"

ในที่สุดซัวหยงถูกขังจนตายระหว่างถูกจองจำนั้นเอง

ลิโป้แนะนำให้อ้องอุ้นฆ่าลูกน้องของตั๋งโต๊ะ แต่อ้องอุ้นไม่ทำตาม เขากล่าวว่า พวกเขาไม่มีความผิดอันใดเลย เราจะไปฆ่าพวกเขาได้อย่างไร

ต่อมาลิโป้แนะนำให้อ้องอุ้นเอาทรัพย์สมบัติของตั๋งโต๊ะมาแจกจ่ายแก่แม่ทัพนายกอง แต่อ้องอุ้นก็ไม่เห็นด้วย อ้องอุ้นมองว่าลิโป้เป็นนักรบ ไม่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง แต่กลับชอบอวดอ้างความสามารถของตนเอง และยังชอบโอ้อวดความสำเร็จของตน ดังนั้นอ้องอุ้นจึงรู้สึกไม่พอใจลิโป้เท่าใดนัก

อ้องอุ้นนั้นเดิมทีทำตัวอ่อนน้อมและคล้อยตามตั๋งโต๊ะเพราะเขากลัวตั๋งโต๊ะ เมื่อตั๋งโต๊ะตายเขาก็เริ่มหยิ่งยโส เพราะคิดว่าไม่มีอะไรที่เขาต้องกลัวอีกแล้ว สิ่งนี้ทำให้ลูกน้องของเขาไม่จงรักภักดีต่อเขามากนัก ต่อมาเขาหารือกับซุนซุยเรื่องของการออกราชโองการยกโทษให้เหล่าขุนศึกของตั๋งโต๊ะ เขาได้คัดค้านเกี่ยวกับการออกราชโองการนี้โดยกล่าวว่า "คำสั่งแม่ทัพนั้นถือเป็นสิทธิ์ขาด ถ้าเราเคยบอกว่าพวกเขาชั่วร้าย แต่กลับออกกฎหมายอภัยโทษให้พวกเขา พวกเขาก็อาจจะไม่มั่นใจในคำสั่งแม่ทัพ มันไม่ใช่วิธีที่ดี" ด้วยเหตุผลนี้เขาจึงปฏิเสธการออกพระราชโองการนี้

ขุนนางบางคนกล่าวแก่อ้องอุ้นว่า ตอนนี้กองทัพจากมณฑลเลงจิ๋วกำลังเกรงกลัวพวกตระกูลอ้วน หรือกองทัพพันธมิตร ท่านควรแต่งตั้งฮองอูสงเป็นแม่ทัพประจำ ซาน เพื่อประชาชนจะได้อยู่อย่างสงบสุข แต่อ้องอุ้นกล่าวว่า ทัพพันธมิตรนับว่าเป็นพวกเดียวกับเรา หากเรานำทัพไปที่ ซาน อาจทำให้เขาเกิดความระแวงเรา และนั่นไม่เป็นผลดีแน่นอน

ทางด้านมณฑลเลงจิ๋วมีข่าวลือว่า ทุกคนจะต้องถูกฆ่าตายหมด พวกนายกองที่เป็นอดีตสมุนของตั๋งโต๊ะได้ทราบข่าวลือนี้ก็หวาดกลัวมาก จึงพากันเตรียมกำลังพลเพื่อป้องกันตัวกันจ้าละหวั่น พวกเขาปรึกษากันได้ผลสรุปว่าพวกเขาควรจะไม่ทำตามราชโองการที่ว่าให้ทหารเลิกทัพกลับถิ่นฐาน เพราะแม้แต่ซัวหยงที่ไม่มีความผิดยังถูกฆ่าเพียงเพราะตั๋งโต๊ะพอใจในตัวเขาเลย และราชสำนักก็ยังไม่ออกราชโองการอภัยโทษด้วย ถ้าพวกเขากลับไปก็จะเป็นโอกาสให้ราชสำนักกำจัดพวกเขาได้

ณ เวลานั้น ลิฉุยและแม่ทัพคนอื่นกลับมาจากการรบ และได้ส่งสารไปเตียงฮันและถามถึงการอภัยโทษแก่พวกเขา แต่อ้องอุ้นกล่าวว่าการนิรโทษไม่อาจมีได้สองครั้งในปีเดียว*** ลิฉุยและแม่ทัพคนอื่นๆก็พากันวิตกกังวลยิ่งนัก และเริ่มแยกย้ายกันเพื่อเตรียมตัวกลับเมือง แต่กาเซี่ยงที่ปรึกษาของลิฉุยแนะนำว่า "ถ้าท่านกลับไปตัวคนเดียว แม้แต่หมู่บ้านเล็กๆก็จับตัวท่านได้ แต่หากพวกท่านรวมกำลังกันยกทัพไปโจมตีเตียงฮัน ล้างแค้นให้ตั๋งโต๊ะ ถ้าชนะพวกท่านก็สามารถรับใช้ฮ่องเต้ต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้ก็ยังมีหนทางหลบหนีได้" ลิฉุยได้ฟังก็เห็นด้วย จึงรวมกองทัพหันปลายหอกสู่ตะวันตกทันที

ลิฉุยเกณฑ์ทหารเพิ่มจากทุกที่ที่เขาเดินทัพผ่าน ไม่ช้าเมื่อเขากรีฑาทัพมาถึงเตียงฮัน ทหารของเขาก็มีจำนวนมากกว่าแสนคนเสียอีก เขายกทัพล้อมเตียงฮันและพยายามปีนกำแพงขึ้นไปพร้อมกับหวนเตียวและลิบ้อง แต่ไม่สามารถทำได้ พวกเขาปิดล้อมเมืองอยู่แปดวัน ในที่สุดกองทัพของลิโป้ก็มีคนทรยศเปิดประตูเมืองให้ลิฉุยยกทัพเข้ามาได้ ลิโป้เห็นเหลือกำลังจึงนำทหารสองสามร้อยคนตีฝ่าออกไป เขาได้ชวนให้อ้องอุ้นออกไปกับเขา แต่อ้องอุ้นกล่าวว่า "ถ้าข้าได้รับพรจากสวรรค์ ความฝันเพียงอย่างเดียวของข้าก็คือการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้สงบสุข ถ้าทำไม่ได้ข้าก็ยินดีพลีชีพเพื่อบ้านเมือง องค์ฮ่องเต้ยังทรงพระเยาว์นัก ข้าไม่อาจทิ้งพระองค์หนีไปตามลำพังได้ ขอให้ท่านจงไปขอความช่วยเหลือจากทัพพันธมิตร ขอให้พวกเขาเห็นแก่บ้านเมืองเถิด"

ลิโป้ได้ฟังจึงได้ตีฝ่ากองทหารของลิฉุยออกจากเมืองไป โดยมีทหารสองสามร้อยคน และหัวของตั๋งโต๊ะผูกติดอานม้าของเขาไปด้วย ส่วนอ้องอุ้นก็ยังคงอยู่ในเมือง ในที่สุดก็ถูกลิฉุยจับไปฆ่าตาย ลิฉุยนำศพของอ้องอุ้นไปประจานไว้กลางตลาด ไม่มีใครกล้าเก็บศพของเขาไปทำพิธี จน จ้าวเจียน ลูกน้องเก่าของเขาเดินทางมาจากผิงหลิง ก็ได้เก็บศพของอ้องอุ้นไปฝังเสีย เป็นอันสิ้นสุดชีวิตของตงฉินผู้ต่อต้านความชั่วร้ายลงแต่เพียงเท่านี้

*เหตุการณ์โจโฉลอบสังหารตั๋งโต๊ะแท้จริงไม่มีในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงว่าโจโฉทนดูพฤติกรรมของตั๋งโต๊ะต่อไปไม่ไหวจึงได้หลบหนีออกไปก่อตั้งคณะปฏิวัติ18หัวเมืองเท่านั้น

**ซือหม่าเชียน เป็นนักประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ซีฮั่น) เขาได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์ "สื่อจี้"(แปลว่า บันทึกของหัวหน้าอาลักษณ์) ซึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของจีน แต่งานของเขาไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ พระองค์ต้องการให้เขาเขียนประวัติศาสตร์ในทางยกย่องบรรพบุรุษของพระองค์ แต่เขาไม่ยอมที่จะเขียนเรื่องไม่จริงลงไป พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้กริ้วมาก ลงทัณฑ์ซือหม่าเชียนด้วยการตัดอวัยวะเพศชายของเขา เขามีชีวิตอยู่ด้วยความอัปยศอดสูก็เพียงเพื่อเขียนประวัติศาสตร์ "สื่อจี้" ให้เสร็จสิ้นเท่านั้น

***ต้นปี ค.ศ.192 ในฤดูใบไม้ผลิเดือนแรก ได้มีการประกาศนิรโทษกรรมจากทางราชสำนักไปแล้ว

ประวัติสามก๊ก

ยุคสามก๊ก (อังกฤษ: Three Kingdoms Period; จีนตัวเต็ม: 三國; จีนตัวย่อ: 三国; พินอิน: Sānguó) เป็นชื่อเรียกช่วงระยะเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เกิดขึ้นในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่แผ่นดินจีนเกิดความขัดแย้งและแตกแยกออกเป็นแคว้นต่าง ๆ จำนวนมาก โดยมีแคว้นที่ใหญ่สุดสามแคว้นได้แก่ แคว้นวุย ปกครองโดยพระเจ้าโจโฉ แคว้นง่อ ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน และแคว้นจ๊ก ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่

ด้วยความเป็นแคว้นใหญ่ มีกำลังทหารและไพร่พลเป็นจำนวนมากและคานอำนาจซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสามแคว้นต่างเปิดศึกสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่มาตลอดระยะเวลาประมาณ 111 ปี โดยมี ลกเอี๋ยงหรือเมืองลั่วหยางในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตการปกครองของแคว้นวุยเป็นเมืองหลวง และจุดศูนย์กลางของอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น จนกระทั่งเกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์วุยโดย สุมาเอี๋ยน และทำการรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกออกเป็นแคว้นต่าง ๆ ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ก่อนสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นมาเป็นราชวงศ์ใหม่ใน พ.ศ. 823 ทำให้ยุคสามก๊กที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานสิ้นสุดลงอย่างบริบูรณ์

ในเชิงวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กซึ่งเป็นบทประวัติโดยหลอกว้านจง เรื่องราวและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในยุคสามก๊ก ได้ถูกเติมแต่งและอ้างอิงจนกลายเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องสำคัญของจีนและของโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ จนกลายเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อของ สามก๊ก

จุดเกิดยุคสามก๊ก

จุดเกิดของยุคสามก๊กในประวัติศาสตร์จีน มีจุดเริ่มต้นในยุคสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งปกครองโดยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังถูกตั๋งโต๊ะเข้ายึดครองอำนาจทั้งหมดไว้เป็นของตน สถาปนาตนเองเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังตั๋งโต๊ะถูกลอบสังหาร ราชสำนักและราชวงศ์เกิดความวุ่นวาย โจโฉฉวยโอกาสในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งและปั่นปวนเข้ายึดครองอำนาจและบังคับควบคุมให้พระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช มีอำนาจเด็ดขาดแก่เหล่าขุนศึก กองกำลังทหารและไพร่พล ครอบครองดินแดนทางเหนือส่วนหนึ่งไว้เป็นของตน

อ้วนเสี้ยวเป็นผู้มีอำนาจและกองกำลังทหารและไพร่พลเป็นจำนวนมาก ครอบครองพื้นที่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของลุ่มแม่น้ำฮวงโห กองทัพอ้วนเสี้ยวจัดเป็นกองกำลังทหารที่มีอำนาจสูงสุดทางภาคเหนือเช่นเดียวกับกองทัพของโจโฉ ภายหลังโจโฉสามารถนำกำลังทหารเข้าโจมตีและเอาชนะอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ จึงรวบรวมดินแดนทางเหนือทั้งหมดไว้เป็นของตน สำหรับดินแดนภาคใต้บริเวณตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตดินแดนปกครองของเล่าเปียวซึ่งปกครองดินแดนด้วยความสงบและมั่นคง และตอนปลายแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตแดนปกครองของซุนกวน
ศึกสงคราม

ภาพวาดเรื่องสามก๊ก
ภาพวาดเรื่องสามก๊ก
ในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก มีความยาวนานมากกว่าร้อยปี ในระหว่างช่วงเวลานี้เกิดศึกสงครามใหญ่เพื่อแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่นับร้อยครั้ง และศึกเล็กศึกน้อยอีกนับครั้งไม่ถ้วน เช่นศึกโจรโพกผ้าเหลือง, ศึกกัวต๋อ, ศึกทุ่งพกบ๋อง ฯลฯ สำหรับศึกสงครามในสามก๊กที่ถือเป็นศึกใหญ่ที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ได้แก่ศึกผาแดงหรือศึกเซ็กเพ็ก ในปี พ.ศ. 751 ซึ่งเป็นศึกสงครามระหว่างโจโฉ, เล่าปี่และซุนกวน โดยมีจุดเกิดของสงครามจากโจโฉ ที่ส่งกองกำลังทหารของตนลงใต้เพื่อโจมตีดินแดนของเล่าเปียว โดยใช้กองกำลังทหารเรือจิงโจวบุกประชิดเมืองซินเอี๋ยทั้งทางบกและทางน้ำ

ระหว่างที่โจโฉนำกองกำลังทหารเพื่อทำศึกสงคราม เล่าเปียวเกิดป่วยและเสียชีวิต เล่าจ๋องยอมจำนนและยกเมืองเกงจิ๋วแก่โจโฉ เล่าปี่ซึ่งอาศัยอยู่กับเล่าเปียวไม่ยอมจำนนต่อโจโฉ จึงแตกทัพจากเมืองซินเอี๋ยไปยังเมืองอ้วนเซีย ระหว่างทางอพยพเกิดศึกสะพานเตียงปันเกี้ยวซึ่งเป็นศึกใหญ่อีกศึกในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ขงเบ้งรับอาสาเป็นฑุตไปเจรจาขอเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อร่วมกันต้านทัพของโจโฉ โดยเกลี้ยกล่อมซุนกวนและจิวยี่จนยอมเปิดศึกสงครามกับโจโฉ ไล่ต้อนเผากองทัพเรือของโจโฉจนวอดวาย ได้รับชัยชนะจากศึกเซ็กเพ็กอย่างงดงาม

อาณาจักรสามก๊ก

ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751

ภายหลังจากศึกเซ็กเพ็ก อำนาจความเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนแบ่งเป็นสามฝ่ายอย่างชัดเจน ต่างครอบครองเขตแดน ความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งของกองกำลังทหาร คานอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างโจโฉ ซุนกวนและเล่าปี่ ทำศึกสงครามและเป็นพันธมิตรร่วมกันมาตลอด โจโฉครอบครองดินแดนทางเหนือทั้งหมดเป็นแคว้นวุย ครองอำนาจบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห แคว้นวุยจัดเป็นแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุด มีกองกำลังทหาร ขุนศึก ที่ปรึกษาเป็นกำลังจำนวนมาก โดยเฉพาะตระกูลสุมา ซึ่งภายหลังได้ทำการยึดครองอำนาจจากราชวงศ์วุยและสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน

ซุนกวนครอบครองดินแดนทางตะวันออกบริเวณทางใต้ทั้งหมดเป็นแคว้นง่อ ครองอำนาจบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษาจำนวนมากเช่นเดียวกับแคว้นวุย เช่นจิวยี่ เตียวเจียว กำเหลง ลิบอง ลกซุนและโลซก และเล่าปี่ ครองอำนาจดินแดนทางภาคตะวันตกในแถบชิงอี้โจวกับฮั่นจงเป็นแคว้นจ๊ก มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษา เช่น กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตงและขงเบ้ง แคว้นจ๊กจัดเป็นแคว้นที่มีอายุน้อยที่สุดก่อนล่มสลายด้วยกองกำลังทหารของแคว้นวุย

แคว้นวุย

วุยหรือเฉาเวย (จีน: 曹薇) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผีและได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่

1.พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
2.พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
3.พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
4.พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
5.พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808
วุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

แคว้นจ๊ก

จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 属汉) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่

1.พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
2.พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806
จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

แคว้นง่อ

ง่อหรืออาณาจักรอู่ตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่

1.พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
2.พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
3.พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
4.พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823
ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น

การรวมแผ่นดิน

สามก๊ก
สามก๊ก
ภายหลังจากแผ่นดินจีนแตกแยกออกเป็นแคว้นใหญ่สามแคว้น ต่างครองอำนาจและความเป็นใหญ่ คานอำนาจซึ่งกันและกันรวมทั้งเกิดศึกสงครามแย่งชิงดินแดนบางส่วนของแคว้นจ๊ก การเป็นพันธมิตรระหว่างแคว้นง่อและแคว้นวุยจนเป็นเหตุให้แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นง่อจนพ่ายแพ้ยับเยิน เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ ขงเบ้งจึงเป็นผู้รับสืบทอดเจตนารมณ์ในการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งสืบต่อไป แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นวุยนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่อาจยึดครองดินแดนทั้งสามให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จจนเสียชีวิตในระหว่างศึกอู่จั้งหยวน และหลังจากขงเบ้งเสียชีวิต พระเจ้าเล่าเสี้ยนไม่สามารถปกครองแคว้นจ๊กได้ เป็นเหตุแคว้นจ๊กก๊กเกิดความอ่อนแอและล่มสลาย

แคว้นวุยซึ่งปกครองโดยโจโฉผลัดแผ่นดินใหม่โดยโจผีเป็นผู้ครองแคว้นสืบต่อไป โดยแย่งชิงอำนาจจากพระเจ้าเหี้ยนเต้และตั้งตนเป็นจักรพรรดิ สถาปนาราชวงศ์วุยแทนราชวงศ์ฮั่น ภายหลังถูกสุมาเอี๋ยนแย่งชิงราชบัลลังก์และสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน รวมทั้งนำกำลังทหารบุกโจมตีแคว้นง่อจนเป็นเหตุให้พระเจ้าซุนโฮยอมสวามิภักดิ์ และรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกออกเป็นสามก๊กให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

ข้อมูลจาก wikipidia

ประวัติสามก๊ก สุมาสู

ประวัติสามก๊ก สุมาสู

“เล่า โจ ซุน ต่อสู้แย่งชิงกันมา สุดท้ายสุมาได้ครองแผ่นดิน” คำๆนี้น่าจะเป็นบทสรุปของเรื่องสามก๊กได้ดีที่สุดกระมัง

เรื่องสามก๊กเปิดฉากจากต่อสู้ชิงอำนาจของสามตระกูล เล่า โจ ซุน แต่สุดท้าย ผู้ปิดฉากกลียุคและรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้นมาได้นั้น กลับเป็นตระกูลสุมา โดยผู้ที่เสมือนเข้ามาเป็นตาอยู่ของระหว่างสามตระกูลนั้น ก็คือจิ้งจอกอัจฉริยะนามว่าสุมาอี้

แต่สุมาอี้ไม่ใช่คนที่ปิดฉากสามก๊กตัวจริง กระนั้น เขาเปนผู้มีส่วนสำคัญอย่างที่สุด ในการวางแผนการ และสร้างรากฐานให้ลูกหลานของเขาสามารถยึดอำนาจวุยก๊กมาจากตระกูลโจ และพิชิตอีกสองก๊กลงได้ โดยทายาทของเขานั้น มีสองคนซึ่งเป็นผู้รับสืบต่อเจตนารมณ์นี้ และไปสำเร็จในยุคของสุมาเอี๋ยน

สองคนที่ว่านั่นก็คือ พี่น้องที่ได้ชื่อว่าเป็นจอมเผด็จการผู้เด็ดขาด เหี้ยมโหด และเปี่ยมด้วยความสามารถในเกมการเมือง นั่นคือ สุมาสู และสุมาเจียว

ในยุคสามก๊กนั้น ผู้เป็นทายาทของเหล่าวีรบุรุษ แทบไม่มีใครสามารถก้าวข้ามผู้เป็นบิดาได้ จะเอาให้เสมอ หรือเทียบเท่า ยังแทบไม่มี แต่ทั้งสองคนนี้กลับสามารถสานต่อสิ่งที่สุมาอี้เหลือทิ้งไว้ให้ได้สำเร็จ
ประวัติสามก๊ก สุมาสู

สุมาสู หรือ ซือหม่าสือ ชื่อรองจื่อเหยียน เกิดเมื่อปี ค.ศ.208 เป็นบุตรชายคนโตของสุมาอี้ กับ นางเตียวชุนหัว (ซันอู๋หลิน) เขาเป็นผู้ที่มีรูปกายผิดแผกจากคนทั่วไป เนื่องด้วยเมื่อเกิดมาก็มีปานที่ใต้ตาซ้าย ใบหน้ากลม ปากสี่เหลี่ยม บุคลิกแลดูน่ายำเกรง

ประวัติวัยเด็กของสุมาสูบ่งว่า เขาเป็นผู้ชมชอบศึกษาตำราพิชัยสงคราม หัดเพลงอาวุธ มีความสุขุมรอบคอบ เมื่ออายุได้ 19 ปี ก็มีโอกาสกระโจนเข้าสู่สนามรบเป็นครั้งแรกร่วมกับสุมาอี้ผู้เป็นบิดา และสุมาเจียวน้องชาย

กล่าวกันว่า สุมาอี้เคยประเมินบุตรชายทั้งสองของตนไว้ในครั้งแรกที่ออกศึก ว่าบุตรทั้งคู่นับเป็นอัจฉริยะที่หลายสิบปีจะมาเกิดในตระกูลสุมา เพราะเมื่อสุมาสูอายุ 19 ปี ก็สามารถอ่านสถานการณ์บ้านเมืองได้ขาด เหตุเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่สุมาอี้ถูกปลดจากอำนาจทางทหาร ด้วยพระเจ้าโจยอยเกิดความไม่วางใจในตัวสุมาอี้ แต่เมื่อขงเบ้งนำทัพนับแสนบุกขึ้นเหนือ แม่ทัพใหญ่ของวุยคือโจจิ๋นถูกขงเบ้งตีนจนแตกพ่าย ร้อนจนเกิดความวุ่นวายในเตียงอัน โจยอยจึงต้องเรียกตัวสุมาอี้ซึ่งขณะนั้นพักอย่างสงบที่บ้านให้กลับมารับตำแหน่ง เพื่อรับศึกขงเบ้ง

สุมาสูอ่านสถานการณ์โดยรวมออก ก่อนหน้าที่จะมีราชโองการแต่งตั้งสุมาอี้เข้ารับตำแหน่ง เขากับน้องชายก็เริ่มจัดแจงหาเสบียง เรียกระดมเหล่านายทหาร และประสานงานเพื่อเตรียมการเคลื่อนทัพไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้เมื่อสุมาอี้ได้รับตำแหน่ง ก็สามารถเคลื่อนทัพไปจัดการเบ้งตัดซึ่งเตรียมจะประสานงานกับขงเบ้งที่เมืองเซียงหยงได้ทันท่วงที ส่วนฝ่ายทัพใหญ่ของขงเบ้งก็ถูกทัพหน้าของเตียวคับเข้าตีจนแตกพ่ายที่เกเต๋ง เป็นการทำลายแผนการโจมตีประสานของขงเบ้งลงอย่างงดงาม

กล่าวได้ว่า เหตุที่มาอี้เคลื่อนทัพได้เร็วเช่นนั้น บุตรทั้งสองของเขามีส่วนช่วยเหลือไม่น้อย จากนั้นมาสุมาสูก็ได้รับความวางใจจากบิดา คอยปรึกษาแผลกลยุทธ์ และนโยบายทางการเมืองต่างๆอย่างใกล้ชิด

เมื่อสุมาอี้ได้กลับเข้ามาในวงราชการ และรับหน้าที่ควบคุมดูแลกองทัพทั้งหมด สุมาสูก็ช่วยเหลือในฐานะที่ปรึกษาและแม่ทัพคนสำคัญผู้หนึ่ง ในการศึกกับขงเบ้งเขาเป็นผู้รับหน้าที่สำคัญๆไม่น้อย

สุมาสูช่วยเหลือบิดาในการทำศึกกับกองทัพขงเบ้ง และการบริหารวุยก๊กอย่างดีเป็นเวลาหลายปี กระทั่งเมื่อพระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อ แต่เนื่องจากยังเยาว์วัย ก่อนโจยอยสิ้น จึงได้สั่งให้สุมาอี้และโจซองดูแลกิจการบ้านเมืองสืบต่อมา โดยสุมาอี้ยังคงมีอำนาจควบคุมกองทัพเต็มที่ โจซองซึ่งได้รับหน้าที่เหมือนกันนั้น รู้สึกหวาดระแวงสุมาอี้ จึงวางแผนทูลต่อพระเจ้าโจมอว่าสุมาอี้นั้นมีใจคิดไม่ซื่อ โจฮองหลงเชื่อจึงคิดถอดตำแหน่งของสุมาอี้ แต่เพราะสุมาอี้นั้นสร้างสมบารมีในการทำศึกกับขงเบ้งไว้มาก และมีผลงานด้านการบริหารที่ดีเยี่ยมมาตลอด จึงได้รับการยอมรับจากบรรดานายทหารและเหล่าขุนนางไม่น้อย โจซองจึงไม่อาจจัดการสุมาอี้ได้ตรงๆได้ จึงคิดแผนด้วยการเสนอให้สุมาอี้ขึ้นรับตำแหน่งราชครู (ไท่เว่ย) อันเป็นตำแหน่งระดับสูงที่มีเกียรติยศมากในราชสำนัก หากแต่เป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจทางทหาร ซึ่งเป้าหมายของโจซองคือ ริบอำนาจทางทหารของสุมาอี้นั่นเอง

สุมาอี้เองก็รู้ทันว่าโจซองคิดกำจัดตน จึงยอมรับตำแหน่งราชครูโดยดี และจากนั้นมาสุมาอี้ก็แกล้งป่วยอยู่กับบ้าน โดยทำตัวไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงการเมือง และสั่งให้สุมาสูและสุมาเจียวลาออกจากราชการด้วย

สุมาอี้ซึ่งสิ้นอำนาจทหารไปนั้น ใช้เวลาอย่างเงียบๆอยู่แต่ในบ้านนานถึง 8 ปี หากแต่เวลา 8 ปีนั้น สุมาสูและสุมาเจียวมีการเคลื่อนไหวอย่างลับๆมาตลอด สุมาสูใช้เวลา 8 ปีนั้น ในการสะสมกำลังพล สร้างเครือข่ายกับบรรดาเหล่าขุนพล นายทหาร ที่เคยออกรบปราบขงเบ้งด้วยกันมาก่อน เช่นกุยห้วย ช่วงเวลานี้ สุมาสูสามารถรวบรวมกำลังทหารซึ่งเป็นทหารที่สังกัดและประจำในเมืองหลวงได้ถึง 3,000 คน แม้ ไม่ใช่จำนวนมากมายนัก แต่ทหารเหล่านี้ก็เป็นนายทหารที่ภักดีกับตระกูลสุมา และประจำตามจุดสำคัญในเมืองหลวงทั้งสิ้น

กระทั่งเวลาก็มาถึง ในปีค.ศ.249 โจซองเชิญพระเจ้าโจฮองและพรรคพวกของตนออกไปล่าสัตว์นอกเมือง สุมาสูได้รับคำสั่งจากสุมาอี้ ระดมพลนายทหารทั้ง 3,000 คน เข้าควบคุมจุดสำคัญต่างๆในเมืองหลวง และเขตพระราชวังไว้หมดสิ้นในเวลาไม่ถึง 1 วัน จากนั้นสุมาอี้ได้เข้าพบไทเฮาซึ่งอยู่ในวัง เพื่อแจกแจงถึงเหตุผลในการก่อการว่า โจซองกระทำการหยาบช้า ใช้อำนาจที่มีกดขี่ผู้คน โดยไม่เห็นแก่พระเจ้าโจฮองมานาน ที่ต้นก่อการจึงเป็นความจำเป็น ไม่เช่นนั้นบัลลังก์ของพระเจ้าโจฮองต้องสั่นคลอนแน่ เพราะรอบด้านเองกยังมีศัตรูทั้งจ๊กก๊กและง่อก๊กอยู่ องค์ไทเฮายอมตามสุมาอี้ จึงออกราชโองการ ว่าโจซองทำความผิดจริง

โจซองซึ่งออกไปล่าสัตว์ เมื่อพบว่าเสียท่าสุมาอี้ ก็คิดจะนำกำลังทหารกลับเข้าไปสู้และยึดอำนาจของตนคืน แต่เพราะความร้ายกาจในกลยุทธ์การศึกของสุมาอี้ ที่เคยเอาชัยขงเบ้งมาแล้ว ทำให้โจซอง ซึ่งในชีวิตมีแต่ความสบาย เกิดความหวาดกลัว อีกทั้งสุมาอี้เองก็ส่งสารว่าหากยอมแพ้แต่โดยดี จะยังให้โจซองและญาติมิตรคงฐานันดรศักดิ์ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนเศรษฐีธรรมดาได้ โจซองกลัวลำบาก ดังนั้นเมื่อเจอไม้นี้เข้า จึงตัดสินใจยอมจำนนต่อสุมาอี้ และนำพระเจ้าโจฮองกลับเมืองหลวงอย่างง่ายดาย

แต่สุมาอี้รู้ดีว่า จะทำการใหญ่ ต้องถอนรากถอนโคนศัตรูให้สิ้น เขายัดข้อหาว่าโจซองและพรรคพวกว่าคิดก่อการล้มบัลลังก์ จากนั้นจึงสั่งประหารโจซองและครอบครัวทั้ง 7 ชั่วโคตร ผลการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทำให้คนตระกูลโจถูกล้างเกือบสิ้น และส่งผลให้แฮหัวป๋า บุตรชายคนโตของแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเกี่ยวพันทางสายเลือดกับตระกูลโจต้องลุกขึ้นมาก่อการ เพราะเกรงว่าตนเองจะถูกเล่นงานไปด้วย แต่กุยห้วยและต้านท่ายก็นำทัพปราบแฮหัวป๋าซึ่งมีกำลังพลเพียงสามพันคนลงได้อย่างไม่ยากนัก แฮหัวป๋าจึงต้องหนีไปสวามิภักดิ์ต่อเกียงอุยที่จ๊กก๊ก

เกียงอุยิยนดีที่ได้แฮหัวป๋ามา พร้อมกับช่วงเวลาหลายปีหลังขงเบ้งออกศึกครั้งสุดท้าย การบริหารภายในและกองทัพจ๊กก๊กก็ฟื้นตัวกลับมาได้ไม่น้อย ด้วยความสามารถของ เจียวอ้วน บิฮุย ตังอุ๋น และเกียงอุย เมื่อได้แฮหัวป๋าซึ่งชำนาญภูมิประเทศในแถบเตียงอันมาอยู่ด้วย เกียงอุยจึงเสนอต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้ยกทัพปราบทางเหนืออีกครั้ง แม้บิฮุยจะไม่เห็นด้วย แต่เล่าเสี้ยนก็ยอมให้เกียงอุยออกศึกได้

กุยห้วยรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ทำหน้าที่รับศึกเกียงอุย และวางแผนล้อมทัพของเกียงอุยไว้ได้ และก่อนหน้านี้ยังส่งสารไปขอให้สุมาสูยกทัพมาเสริม สุมาสูนำกองทัพนับหมื่น มาช่วยเสริมแก่กุยห้วย และได้ปะทะกับเกียงอุย แต่ฝีมือของเกียงอุยนั้นเข็มแข้ง เกินกว่าสุมาสูจะต้านไว้ รบกันได้ไม่นาน เกียงอุยก็สามารถตีฝ่าวงล้อมของทัพวุยออกมาได้ สุมาสูตัดสินใจไล่ตาม แต่เมื่อถึงด่านแฮปังก๋วน ก็ถูกเกียงอุยที่หลบเข้าไปแล้ว ใช้หน้าไม้ระดมยิงเหมือนห่าฝน สุมาสูเห็นท่าไม่ดี จึงสั่งถอนทัพกลับทั้งหมด แม้ว่าจะไม่อาจจัดการเกียงอุยได้ แต่ศึกครั้งนี้ ฝ่ายวุยสามารถล้อมและจัดการทหารเกียงกุยได้จำนวนมาก และสามารถยึดค่ายแถบตีนเขาก๊กสันได้ด้วย สุมาสูจึงกลับไปรายงานต่อสุมาอี้ และมีความชอบไม่น้อย

ปีค.ศ.251 สุมาอี้ป่วยหนักและเสียชีวิตลง สุมาสูจึงได้ขึ้นรับช่วงอำนาจต่อ โดยมีสุมาเจียวน้องชายคอยช่วยเหลือ โดยสุมาสูได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดี ดูแลกิจการทั้งปวง

มีบันทึกในประวัติศาสตร์และนิยายสามก๊กว่า สุมาอี้ก่อนตายนั้น สั่งเสียแก่บุตรทั้งสองว่า ให้ตั้งใจทำราชการ ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้าแผ่นดินจนกว่าจะสิ้นชีวิต ทำสิ่งใดจงตรึกตรองให้ดี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในประวัติศาสตร์และนิยายสามก๊ก หาได้เป็นดังคำของสุมาอี้ อีกทั้งการกระทำและเจตนาบางอย่างของสุมาอี้ก่อนสิ้นนั้น ก็ไม่อาจบ่งได้ว่า เขามีความภักดีต่อราชวงศ์วุยเท่าใดนัก จะว่าไปแล้ว สิ่งที่สุมาอี้ทำ ไม่ต่างจากโจโฉ คืออยู่เหนือคนนับหมื่น ใต้คนหนึ่งคน เพียงแต่เขาไม่ได้ยึดบังลังก์มาครองเอง ซ้ำยังช่วยค้ำบัลลังก์ของโจยอยและโจฮองด้วย ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่อาจตราหน้าว่าเขาคือผู้แย่งชิงราชบัลลังก์ได้

แต่ถ้ามองว่า เขาเป็นผู้วางรากฐานนั้นเพื่อให้ทายาทได้กระทำการแทน ย่อมไม่เกินเลย เพราะตอนที่สุมาอี้ใกล้ตายนั้น เขาแทบจะเป็นผู้กุมทุกสิ่งในวุยก๊กหมดสิ้นแล้ว

สุมาสูซึ่งรับช่วงอำนาจมานั้น กระทำการกำเริบ ไม่เห็นฮ่องเต้ในสายตา เขาและน้องชายควบคุมอำนาจทหารและฝ่ายบริหารเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว การกระทำของสุมาสูทำให้เกิดฝ่ายต่อต้านขึ้น โดยเฉพาะพระเจ้าโจฮอง ซึ่งมีความเกรงกลัวสุมาสูมาก จึงคิดวางแผนสังหารโดยมีนายทหารและขุนนางผู้ใหญ่หลายคนร่วมด้วย แต่ความแตกก่อน สุมาสูจึงสั่งประหารคนทั้งหมด ซึ่งยังรวมไปถึงพระนางเตียวฮองเฮาด้วย จากนั้นสุมาสูจึงเข้าพบกุยไทเฮา และอ้างว่าโจฮองกระทำการไม่เห็นแก่แผ่นดิน ไม่คู่ควรแก่การเป็นฮ่องเต้ จึงควรที่จะปลดและแต่งตั้งผู้อื่นที่เหมาะสมขึ้นเสีย ครั้นแล้วจึงทำการปลดโจฮอง และแต่งตั้งโจมอ หลานของโจผีขึ้นครองราชย์แทน

สุมาสูในตอนนี้ ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช พระเจ้าโจมอที่ขึ้นครองราชย์นั้นยำเกรงสุมาสูมาก สองปีต่อมา บู๊ขิวเขียมเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ร่วมมือกับบุนขิม ก่อการกบฏต่อสุมาสูขึ้นที่เมืองซิ่วซุน สุมาสูนำทัพไปปราบกบฏคัวยตนเองและมีชัยชนะ แต่ในการเดินทัพครั้งนี้ เขามีอาการปวดที่ตาอย่างรุนแรง และกำเริบหนักระหว่างเดินทางกลับ สุมาสูรู้สึกตัวว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน จึงเรียกตัวสุมาเจียวจากเมืองหลวงให้มาเข้าพบเพื่อสั่งความ มอบหมายตำแหน่งให้สุมาเจียวรับสืบต่อ จากนั้นก็เสียชีวิตลงในปีค.ศ.255

หากมาวิเคราะห์กันดู จะพบว่าสุมาสูนั้น มีโอกาสที่จะล้มล้างบัลลังก์ และขึ้นครองราชย์ ทำให้ตระกุลสุมาเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวได้ แต่หากผลีผลามทำเช่นนั้น ภายในวุยก๊กย่อมเกิความวุ่นวายขึ้นอย่างหนัก สุมาสูรู้ในข้อนี้ ดังนั้นแม้ว่าจะกุมอำนาจจนแทบจะเบ็ดเสร็จ เขาก็ยังไม่ยอมชิงบัลลังก์ และเสียชีวิตไปก่อน ทำให้ภาระต้องตกมาถึงน้องชาย คือสุมาเจียว

ประวัติสามก๊ก เล่งทอง กงจี่

ประวัติสามก๊ก เล่งทอง กงจี่

เล่งทอง หรือ หลิงตง ชื่อรองกงจี่ เกิดปี ค.ศ.189-237 เป็น ชาวเมืองอิข้อง เขาเป็นบุตรชายของเล่งโฉ นายทหารคนสำคัญในสังกัดของซุนเซ็ก ผู้นำแห่งตระกูลซุน ผู้ปกครองแดนกังหนำ

เล่งทองนั้นรับสืบทอดตำแหน่งและเกียรติยศมาจากบิดา เหตุเพราะเล่งโฉนั้น เป็นแม่ทัพที่มีความองอาจกล้าหาญ เล่งโฉเข้าร่วมกับกองทัพของซุนเซ็กตั้งแต่ยังวัยหนุ่ม และต่อสู้อย่างองอาจมาตลอด ในช่วงที่ซุนเซ็กเริ่มขยายอิทธิพลและก่อร่างสร้างตัวในแดนกังหนำนั้น เล่งโฉได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพประจำเมืองหยงผิง คอยปราบปรามความไม่สงบที่เกิดจากชนเผ่าซานเยี่ยทางตอนใต้ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีความบาดหมางกับชาวจีนในแถบกังหนำมายาวนาน และทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ช่วงที่เล่งโฉรับหน้าที่นั้น เผ่าซานเยี่ยแทบจะไม่ก่อความวุ่นวายเลย ทำให้งานของซุนเซ็กในการขยายอิทธิพลและรวมกังหนำให้เป็นหนึ่งง่ายดายขึ้น

เมื่อซุนเซ็กเสียชีวิตในปี ค.ศ.200 ซุนกวนผู้เป็นน้องชายก็รับสืบทอดอำนาจต่อมา เล่งโฉยังคงรับใช้ซุนกวนต่อด้วยดี และ 4 ปีต่อมา ในการศึกกับหองจอที่กังแฮ ซุนกวนได้แต่งตั้งเล่งโฉเป็นแม่ทัพกองหน้าเข้าโจมตีทัพของหองจออย่างกล้าหาญ แต่ขณะที่กำลังไล่ตามโจมตีเรือของหองจอนั้น เขากลับถูกธนูยิงจนเสียชีวิต ในนิยายสามก๊กกล่าวว่าผู้ที่สังหารเขาก็คือนายทหารซึ่งเป็นอดีตโจรสลัด นามว่ากำเหลง

ซุนกวนเสียใจในการตายของเล่งโฉมาก จึงแต่งตั้งเล่งทอง บุตรชายให้เข้ารับตำแหน่งแทน และให้สิทธิในการสั่งการทหารทั้งหมดของเล่งโฉต่อมาด้วย

เล่งทองนั้นตามที่มีบันทึกไว้ในนิยายสามก๊กและจากพฤติกรรมที่แสดงออกในประวัติศาสตร์แล้วพอจะบอกได้ว่าเป็นคนหนุ่มที่มีนิสัยเลือดร้อนไม่น้อย แต่ก็มีความอดทนอดกลั้นสูง มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวการเผชิญหน้ากับศัตรูหมู่มาก และมีฝีมือในเชิงอาวุธเป็นเยี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์

การขึ้นมารับตำแหน่งในกองทัพง่อของเล่งทองนั้น เชื่อกันว่าค่อนข้างราบรื่น เพราะเล่งโฉเป็นที่ยอมรับนับถือจากบรรดาขุนนางและแม่ทัพในง่อจำนวนมาก พลอยส่งให้เล่งทองได้รับการยอมรับด้วย เล่งทองเริ่มสร้างชื่อในการศึกกับหองจอ ด้วยการมีส่วนร่วมในฐานะกองหน้าเข้าตีเมืองกังแฮ เล่งทองนำหน้าเหล่าทหาร ล่องเรือเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ และสามารถเป็นคนแรกที่เข้าถึงเมืองกังแฮได้ ซุนกวนประทับใจในความสามารถของเล่งทองมาก

ปี ค.ศ. 208 โจโฉยกทัพนับแสนบุกลงใต้ สร้างความพรั่นพรึงแก่ชาวกังหนำ แต่ซุนกวนตัดสินใจออกต้านศึก ให้จิวยี่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ เกิดเป็นการศึกที่เซ็กเพ็ก เล่งทองได้เข้าร่วมในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ แต่ในบันทึกประวัติศาสตร์และตามนิยาย แทบไม่มีรายละเอียดตรงนี้ รู้เพียงว่าเล่งทองสร้างผลงานไว้ไม่น้อย และกลายเป็นแม่ทัพสำคัญคนหนึ่งของทัพง่อหลังจากนั้น

ภายหลังศึกเซ็กเพ็ก กองทัพใหญ่ของโจโฉถอยร่นกลับสู่ภาคกลาง แต่ทิ้งให้โจหยินประจำการอยู่ที่เมืองกังเหลงเพื่อรับศึก ฝ่ายเล่งทองได้รับมอบหมายเป็นทัพหน้าในการเข้าตีกับทัพของโจหยิน และสามารถนำทหารออกรบต่อสู้ได้ชัยเหนือทัพของโจหยินหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าตีเมืองได้สำเร็จ แต่ก็สร้างความบอบช้ำให้ทัพของโจหยินไม่น้อย จากนั้น 1 ปีต่อมา โจหยินซึ่งประเมินแล้วว่าไม่อาจต้านทานทัพง่อต่อไปได้อีก ก็จำต้องถอนทหารกลับขึ้นเหนือ ทำให้จิวยี่นำทัพง่อยึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ และเล่งทองก็เป็นแม่ทัพคนสำคัญที่สร้างชื่อและมีความชอบในงานนี้มากเช่นกัน

หลังเสร็จศึกที่เกงจิ๋วไม่นาน จิวยี่เสียชีวิตลง ทำให้สายการบัญชาการมีการปรับเปลี่ยน โลซกขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แทน โดยรับหน้าที่ควบคุมกองกำลังส่วนหน้าที่ลกเค้าและชีสองพร้อมกับแม่ทัพซ้ายเทียเภา ส่วนเมืองกังเหลงที่ตีมาได้นั้น ซุนกวนมอบให้เล่าปี่ยืมไปใช้ตั้งตัว ทำให้ยุทธศาสตร์การทำศึกของซุนกวนกับโจโฉต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เดิมซุนกวนคิดอยากระดมกำลังทัพง่อทั้งหมด ล่องเรือทวนกระแสน้ำแยงซีเข้าตีชีจิ๋วผ่านทางเจียงตู เพื่อขยายดินแดนเข้าสู่ภาคกลาง แต่เนื่องจากก่อนจิวยี่เสียชีวิตเคยเสนอว่าการบุกชีจิ๋วแม้ทำได้ง่าย แต่รักษายาก เพราะพื้นที่ห่างไกลจากเมืองเกี๋ยนเงียบซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของทัพง่อ อีกทั้งชีจิ๋วนั้นมีพื้นที่เป็นที่ราบกว้าง และอยู่ใกล้กับตันลิวและปักเอี๋ยง ซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของโจโฉ ทำให้โจโฉสามารถส่งกำลังสนับสนุนได้ง่าย แม้จะยึดชีจิ๋วมาได้ แต่ก็อาจเสียคืนได้ทันทีเช่นกัน ซุนกวนจึงตัดสินใจระดมกำลังเพื่อบุกเข้าตีทางหับป๋าแทน เพื่อทำให้อิทธิพลในแถบตอนบนของแม่น้ำแยงซีเป็นปึกแผ่น มากพอจะใช้เป็นกันชนในการสู้ศึกกับโจโฉแทน
เล่งทองได้ถูกโยกให้เข้าร่วมทัพใหญ่ของซุนกวนที่จะโจมตีหับป๋าโดยเล่งทองนั้นได้การแต่งตั้งเป็นทัพองครักษ์ประจำตัวของซุนกวน ส่วนหนึ่งเพราะฝีมือรบอันเข้มแข็งของเล่งทองเอง และซุนกวนนั้นรักในความภักดีของคนสกุลเล่งตั้งแต่สมัยเล่งโฉพ่อของเล่งทองด้วย

ในศึกหับป๋านี้ เล่งทองต้องรับหน้าที่แม่ทัพร่วมกับกำเหลง ซึ่งเป็นผู้สังหารบิดาของเขาเอง ทำให้เล่งทองไม่พอใจและทะเลาะกับกำเหลงอย่างแรง จนซุนกวนต้องมาไกล่เกลี่ย ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏในนิยาย แต่ในประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มีบันทึกตรงนี้ และตามที่เฉินโซ่วบันทึกนั้นแทบไม่ปรากฏว่าทั้งสองคนเคยร่วมงานกัน

แต่กระนั้น หากพิจารณาถึงการจัดทัพเพื่อเข้าตีหับป๋าของซุนกวน ซึ่งต้องระดมแม่ทัพและทหารจำนวนมหาศาลแล้ว ประกอบกับซุนกวนจัดให้แม่ทัพที่มีชื่อเสียงและความสามารถในการรบสูงเกือบทั้งหมดมายังแนวรบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลิบอง จิวท่าย เจียวขิม เตงฮอง ฯลฯ ยังไงเสีย เล่งทองและกำเหลงซึ่งถือว่าเป็นแม่ทัพมีชื่อเสียงและฝีมือการรบอันดับต้นๆของทัพง่อก็น่าจะได้ร่วมงานกันที่แนวรบนี้จริง แต่จะได้ปรับความเข้าใจกันเหมือนในนิยายหรือไม่ ก็ยากจะรู้ได้

ในศึกหับป๋านี้ แม้ว่าซุนกวนจะยกกองทัพไปมหาศาลนับแสนคน แต่ก็เสียทีให้แก่เตียวเลี้ยว แม่ทัพหับป๋าที่โจโฉวางตัวไว้เพื่อรับมือซุนกวนโดยเฉพาะ เข้าโจมตีแบบสายฟ้าแลบในขณะที่กองทัพของซุนกวนยังไม่ทันตั้งตัว จนตีทัพหน้าของซุนกวนต้องล่าถอยไป จากนั้นเตียวเลี้ยวอาศัยจังหวะที่ทัพหน้าล่าถอย นำทัพทหารม้าเพียงไม่ถึงพันคน ไล่ตามตีทัพของซุนกวนต่อจนรวนอย่างหนัก โดยที่ซุนกวนไม่สามารถเรียกทัพหน้าที่ล่าถอยไปแล้วกลับมาช่วยได้ทัน

เล่งทองจึงสร้างวีรกรรม ด้วยการนำกองทหารสามร้อยนายของตนเองเข้ายันเตียวเลี้ยวไว้ และเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้ซุนกวนสามารถถอยหนีได้ แต่สร้างไม่ทันเสร็จ ซุนกวนจึงต้องขี่ม้ากระโดดข้ามสะพานหนีไปอีกฝั่ง เล่งทองเมื่อช่วยซุนกวนข้ามฝั่งไปได้ ก็ต่อสู้อย่างสุดกำลังเพื่อถ่วงเวลาให้ กระทั่งเห็นว่าซุนกวนสามารถล่าถอยไปได้แล้ว เล่งทองก็พบว่ากองทหารสามร้อยนายที่ร่วมสู้กับเขาถูกสังหารหมด เมื่อเหลือเพียงคนเดียว เขาจึงตัดสินใจถอดเกราะว่ายข้ามแม่น้ำและตามมาขึ้นเรือที่ซุนกวนอยู่ได้ โดยทั่วร่างของเล่งทองนั้นเต็มไปด้วยบาดแผลจากการต่อสู้ เมื่อซุนกวนเห็นว่าเล่งทองหนีรอดมาได้ก็ดีใจเป็นอันมาก

เล่งทองเสียใจมากที่ทหารสามร้อยนายของเขาตายหมด เพราะพวกเขาเป็นนายทหารที่ติดตามเขามาตั้งแต่สมัยเล่งโฉผู้เป็นบิดา ซุนกวนจึงตบหน้าเตือนสติว่าปล่อยให้คนที่ตายได้ไปสู่สุขคติ ตราบใดที่เจ้ายังมีชีวิตอยู่ จะกลัวไม่มีทหารในบัญชาการหรือ จากนั้นซุนกวนก็เลื่อนตำแหน่งแม่ทัพให้เล่งทองและมอบหมายทหารให้เขาเพิ่มเป็นสองเท่า

ผลงานและความกล้าในการศึกรวมถึงการที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือซุนกวนไว้ ทำให้เล่งทองกลายเป็นขุนพลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องอย่างมาก แต่เล่งทองก็ยังคงวางตนเป็นผู้นอบน้อม และคบหาคนทุกระดับชั้น เล่งทองชอบคบหาผู้รู้ มีความสามารถ และยังได้ชื่อว่าเลี้ยงดูทหารได้ดี ทำให้บรรดาคนหนุ่มๆของง่ออยากจะเข้ามาอยู่ในสังกัดของเขา

ปีค.ศ. 219 เมื่อลิบองและลกซุนวางแผนเข้ายึดเกงจิ๋ว ตลบหลังกวนอูได้นั้น เล่งทองก็รับหน้าที่คุมทหารอยู่แนวหลัง เมื่อเล่าปี่ยกทัพมาแก้แค้นในศึกอิเหลง เล่งทองก็เป็นขุนพลคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมรบ จากนั้นเขาก็ได้รับหน้าที่สำคัญในการศึกเพื่อป้องกันดินแดนของง่อก๊กต่อมาอีกหลายปี โดยนอกเหนือจากนั้น เขายังรับหน้าที่คุมหน่วยทหารองครักษ์ของซุนกวนอีกด้วย

ภายหลัง เล่งทองได้เสนอต่อซุนกวนเกี่ยวกับการชักจูงชาวเขาให้เข้ามารับราชการ โดยการเสนอรางวัลและมอบตำแหน่งให้ เพื่อเป็นการผูกมิตรกับบรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ เพราะพื้นที่แถบชายแดนของง่อนั้น มักถูกรังควานจากชาวซานเยี่ย ประกอบกับนโยบายการศึกของง่อนั้น มุ่งปราบปรามคนต่างเผ่าอย่างรุนแรง เล่งทองต้องการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีกับชนต่างเผ่าเสียใหม่ จึงรับหน้าที่เดินทางไปประสานงานและเจรจากับพวกชาวเขา ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีมาก แต่ภายหลังกลับจากการเดินทาง เล่งทองติดโรคระบาดและป่วยหนัก จากนั้นในปีค.ศ. 237 เล่งทองก็เสียชีวิตลงในวัย 49 ปี สร้างความเสียใจแก่ซุนกวนเป็นอันมาก

ในบรรดาขุนพลของง่อก๊กนั้น กล่าวกันว่าเล่งทองเป็นขุนพลที่ได้รับความสนิทชิดเชื้อและอยู่ใกล้ชิดซุนกวนมากที่สุดผู้หนึ่ง แม้ว่าฝีมือการสู้รบของเล่งทองจะไม่ได้สูงล้ำหากเทียบกับขุนพลใหม่อันดับต้นๆของง่อก๊กด้วยกันอย่าง กำเหลง จิวท่าย และไม่ได้เก่งกาจในการบัญชาการทัพเหมือนเช่น จิวยี่ ลิบอง ลกซุน ชีเซ่ง แต่เขากลับเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องในแง่ของความกล้าหาญและภักดีอย่างสูง และถูกจัดเข้าทำเนียบขุนพลคนสำคัญของง่อก๊ก ในบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กระบุว่าซุนกวนมักร้องไห้อาลัยทุกครั้งยามที่นึกถึงเล่งทอง

แม้ฝีมือและวีรกรรมในการรบของเล่งทองจะไม่ถึงขั้นสะท้านแผ่นดิน แต่ก็พูดได้เต็มปากว่า หากไม่มีชายผู้นี้ ซุนกวนก็คงต้องเอาชีวิตไปทิ้งแล้วไม่มีโอกาสได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ของง่อก๊กเป็นแน่

ประวัติสามก๊ก จิวท่าย อิ้วผิง

ประวัติสามก๊ก จิวท่าย อิ้วผิง

จิวท่าย หรือโจวต้าย ชื่อรองอิ้วผิง เกิดปี ค.ศ.163 เป็น ชาวเมืองเมืองจิ่วเจียง มณฑลอันฮุย ประวัติวัยเด็กไม่แน่ชัด มีบันทึกที่แน่ชัดว่าในสมัยวัยรุ่นเขาเป็นคนที่มีความเก่งกล้าในเชิงอาวุธ และเข้าร่วมกับกลุ่มโจรสลัดที่ออกอาละวาดอยู่ในฝั่งแม่น้ำแยงซี ดินแดนแถบกังแฮ


บุคลิกและนิสัยของจิวท่ายเท่าที่มีบันทึกไว้ในนิยายสามก๊กหรือในประวัติศาสตร์นั้นพูดถึงว่าเป็นคนจริงจัง เข้มแข็ง รักความเที่ยงธรรม ทั้งยังกล้าหาญ ไม่กลัวตาย แต่ก็ไม่ใช่คนบ้าบิ่น กลับเป็นผู้ที่มีสติและปัญญาสูงเยี่ยมคนหนึ่ง ในช่วงที่เขาเป็นโจรสลัดนั้นได้คบหากับสหายเจียวขิม ร่วมกันก่อนตั้งกลุ่มโจรสลัดของตนเองขึ้นมา และสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

ในช่วงที่จิวท่ายตั้งกลุ่มโจรสลัดออกอาละวาดนั้น เป็นช่วงทีแผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ จากการลุกฮือของพวกโจรผ้าเหลือง ทางดินแดนกังหนำนั้นก็ประสบภัยนี้แต่ไม่มากเท่าบริเวณตงง้วน ซึ่งหลังจากนั้นหลายปี กังหนำก็ได้ประสบกับปัญหาและการแตกแยกกัน เนื่องจากการล่มสลายของตระกลซุน เหตุเพราะซุนเกี๋ยนผู้นำตระกูลได้ถูกสังหารในการศึกกับหองจอ ทำให้ตระกูลซุนครองอิทธิพลในดินแดนแถบนี้และเป็นที่รักใคร่ของผู้คนนั้นแทบล่มสลายไป ดินแดนกังหนำนั้นตกไปอยู่ในอิทธิพลของกองกำลังหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเล่าอิ้ว เงียมแปะฮอ หรืออ่องหลอง

กระทั่งปีค.ศ.194 ซุนเซ็ก ทายาทของซุนเกี๋ยนซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตระกูลซุน ได้ขอกองทัพของตนคืนมาจากอ้วนสุดจำนวนหนึ่ง และได้ทำการแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนกังหนำ โดยมุ่งเป้าหมายที่การปราบปรามเล่าอิ้ว เงียมแปะฮอ

จิวท่ายกับเจียวขิมนั้นได้ยินกิตติศัพท์ความเก่งกล้าของซุนเซ็ก และยังศรัทธาในความเที่ยงธรรมของซุนเกี๋ยน ทั้งสองจึงนำกลุ่มโจรสลัดของตนไปสวามิภักดิ์เข้ากับซุนเซ็ก

จิวท่ายนั้นมีบุคลิกและลักษณะนิสัยเป็นที่ถูกใจของซุนเซ็กมาก เขาได้รับอนุญาตให้มีกองทหารในสังกัดของตนเองได้ ซึ่งก็มาจากกลุ่มโจรสลัดที่ติดตามจิวท่ายมานั่นเอง เมื่อกองทัพของซุนเซ็กเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลเข้าแดนกังหนำเรื่อยๆ ซุนกวนผู้เป็นน้องชายได้ขอซุนเซ็ก ให้จิวท่ายมาอยู่ในสังกัดของตนเอง

จิวท่ายรับหน้าที่นายกองทหารองครักษ์ คอยทำหน้าที่คุ้มครองและเป็นหน่วยทหารที่ขึ้นตรงต่อซุนกวนอีกทอดหนึ่ง จนเมื่อซุนเซ็กกำลังทำศึกรุกเข้าตีเงียมแปะฮอและปราบกบฏเผ่าซานเย่นั้น ซุนกวนก็ได้รับหน้าที่ให้ป้องกันเมืองซวนโดยมีทหารอยู่ไม่ถึงพันนาย เนื่องจากซุนกวนอายุยังน้อยและมีความประมาทจึงไม่ได้จัดเตรียมทหารป้องกันเมืองให้ดีนัก เป็นโอกาสให้เผ่าซานเย่ส่วนหนึ่งยกกองทัพเข้าโจมตี ซุนกวนพยายามป้องกันเมือง แต่กองทัพของเขาไม่อาจป้องกันเมืองได้และต้องหนีพ่ายไป

มีบันทึกว่า ซุนกวนได้ควบม้าหนีตายจากการตามล่าของพวกซานเย่ และกำลังถูกล้อมไว้ ในตอนนั้นจิวท่ายได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยอารักขาซุนกวนจนสุดกำลัง จนร่างกายต้องโดนอาวุธที่เล็งโจมตีซุนกวนหลายครั้ง แต่จิวท่ายก็ยังตะโกนเรียกขวัญกำลังใจให้ทหารคนอื่นมีกำลังใจต่อสู้กับข้าศึก กระทั่งเมื่อข้าศึกคลายวงล้อมและแยกย้ายหลบไปเพราะกำลังหนุนมาถึง ซุนกวนก็พบว่าจิวท่ายมีบาดแผลสาหัสทั่วร่างถึงสิบสองแผล และต้องใช้เวลารักษานานกว่าจะหายขาด เหตุการณ์และวีรกรรมนี้สร้างความตื้นตันให้แก่ซุนกวนในความภักดีและห้าวหาญของจิวท่ายมาก

วีรกรรมครั้งนี้ของจิวท่ายถูกใจซุนเซ็กยิ่งนัก จึงแต่งตั้งจิวท่ายให้เป็นแม่ทัพรักษาเมืองซุ่นจิว ภายหลังยังได้รับหน้าที่ให้ดูแลเมืองยี่ซุนเพิ่ม จากนั้นจิวท่ายก็ติดตามซุนเซ็กเข้าโจมตีกังแฮ และยังไปถึงในการโจมตีหองจอซึ่งจิวท่ายสร้างผลงานในครั้งนี้ไว้มาก นั่นทำให้เขากลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญของทัพง่อในทันใด

หลังจากซุนเซ็กสิ้นชีพลงในปี ค.ศ. 200 ซุนกวนรับสืบอำนาจต่อจากพี่ชาย จิวท่ายก็ยังคงรับใช้ซุนกวนอย่างดีมาตลอด และซุนกวนก็ให้ความไว้วางใจจิวท่ายอย่างมากด้วย

ปี ค.ศ. 208 โจโฉยกทัพนับแสนบุกลงใต้ สร้างความพรั่นพรึงแก่ชาวกังหนำ แต่ซุนกวนตัดสินใจออกต้านศึก ให้จิวยี่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ เกิดเป็นการศึกที่เซ็กเพ็ก จิวท่ายได้เข้าร่วมในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ สร้างผลงานไว้ไม่น้อย

ภายหลังศึกเซ็กเพ็ก กองทัพใหญ่ของโจโฉถอยร่นกลับสู่ภาคกลาง แต่ทิ้งให้โจหยินประจำการอยู่ที่เกงจิ๋ว เพื่อรับศึก ฝ่ายจิวท่ายนั้นรับหน้าที่เป็นแม่ทัพประจำการที่เมืองยี่สู แต่มีเกร็ดเล่าว่าแม่ทัพสำคัญอื่นๆไม่พอใจที่จิวท่ายได้ตำแหน่งที่สูงมาก โดยเฉพาะ จูเหียน ชีเซ่ง ดังนั้นในระหว่างงานเลี้ยงใหญ่ ซุนกวนจึงสั่งให้จิวท่ายถอดเสื้อออกเพื่อแสดงรอยแผลที่ปรากฏบนร่างกาย สร้างความเลื่อมใสและนับถือแก่บรรดาแม่ทัพทั้งหลาย และยอมรับในตัวของจิวท่ายจนหมดใจ

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างซุนกวนและจิวท่ายนั้น เล่ากันว่าซุนกวนไว้วางใจและรักใคร่ในตัวจิวท่ายอย่างมาก แต่จิวท่ายก็ไม่ได้มีการแสดงออกว่าหลงลำพองตนอย่างใด อาจเพราะเขามีบุคลิกนิสัยเป็นคนจริงจังและไม่นิยมพูดมากเท่าใดนัก

ปีค.ศ.219 หลังจากซุนกวนเข้าแทรกแซงในการศึกระหว่างกวนอูและโจหยิน ทำให้สามารถจับตัวกวนอูและประหาร พร้อมทั้งยึดครองดินแดนเกงจิ๋วเดิมจของจ๊กก๊กได้ทั้งหมดนั้น ซุนกวนก็คิดการที่จะบุกจ๊กก๊กต่อ จึงตั้งจิวท่ายให้เป็นเจ้าเมืองฮันต๋งล่วงหน้าและเลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพผู้สร้างความกล้าหาญ และยังมอบตำแหน่งพระยาแห่งหลิงหยางให้แก่จิวท่าย

แต่บรรดาที่ปรึกษาของซุนกวนคัดค้านว่าควรจะส่งศีรษะของกวนอูไปให้ทางโจโฉ เพื่อเป็นการโบ้ยความผิดในการประหารกวนอูไปให้โจโฉแทน ซุนกวนเห็นชอบด้วย แต่โจโฉก็แก้ทางด้วยการจัดงานศพและสั่งการให้เคารพกวนอูไปทั่ว ฝ่ายเล่าปี่นั้นรู้ดีว่านี่เป็นความพยายามที่จะปัดเรื่องการประหารกวนอูออกไปของซุนกวนก็ยิ่งไม่พอใจมากขึ้น จนในที่สุด ปีค.ศ.221 เล่าปี่ก็ยกกองทัพหลายแสนบุกโจมตีง่อก๊ก กลายเป็นการศึกที่อิเหลง

ซุนกวนตั้งให้ลกซุนเป็นแม่ทัพใหญ่ออกรับมือและสามารถเอาชัยชนะเหนือเล่าปี่ได้อย่างงดงาม โดยมีจิวท่ายเปนแม่ทัพที่เข้าร่วมในศึกนี้ด้วย หลังจากนั้นจิวท่ายยังคงรับใช้อยู่ข้างกายซุนกวนอย่างดี จนกระทั่งเสียชีวิตลงด้วยโรคภัยในปี คศ. 228 แต่บันทึกบางฉบับก็บอกว่าจิวท่ายเสียชีวิตลงหลังจากศึกอิเหลง 1 ปี

ในบรรดาขุนพลของง่อก๊ก จิวท่ายได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดองครักษ์ผู้ภักดี ประเภท พูดน้อยต่อยหนัก มีฝีมือเข้มแข็ง ซุนกวนนั้นรักและยกย่องในตัวจิวท่ายมากเป็นอันดับต้นๆในบรรดาขุนพลของเขา

ประวัติสามก๊ก โจหยิน จื่อเสี้ยว

ประวัติสามก๊ก โจหยิน จื่อเสี้ยว

ในบรรดาขุนศึกของยุคสามก๊ก โจโฉนับว่าเป็นคนที่โชคดีตรงที่มีเหล่าญาติสนิทมีความสามารถและภักดีกับเขาอยู่หลายคน และคนเหล่านั้นเองที่เป็นกำลังสำคัญให้แก่เขาในยุคแรกเริ่ม

ชื่อของขุนพลญาติสนิททั้ง 4 คน ซึ่งเป้นขุนพลเอกของโจโฉนั้น คือแฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน โจหอง ในบรรดาทั้ง 4 คน โจหยินนับว่าเป็นผู้ที่มีความอดทด รอบคอบ และเชี่ยวชาญพิชัยสงครามมากที่สุด

แต่กระนั้นหากเทียบกับเหล่าขุนพลร่วมสมัย ชื่อเสียงและความสามารถของเขาก็ยังดูเป็นรองอีกหลายคน ทั้งอย่างนั้น เขากลับเป็นผู้ที่สามารถยืนหยัดต้านทานกับยอดขุนพลของยุคนั้นอย่างกวนอูและจิวยี่อย่างสูสีมาแล้ว

และยังเป็นหนึ่งในขุนพลที่มีผลงานและประสบความสำเร็จในเชิงตั้งรับมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นอีกด้วย


โจหยิน จื่อเสี้ยว

โจหยิน ชื่อรองจื่อเสี้ยว ชาวเมืองพ่าย มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้องของโจโฉ ในประวัติของโจโฉกล่าวว่าเมื่อสมัยเด็กเขามีความสนิทสนมกับญาติพี่น้องอีก 4 ประกอบด้วย แฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน และโจหอง เป็นอันมาก โจหยินยังเป็นพี่ชายของโจหองอีกด้วย

ประวัติในสมัยเด็กของโจหยินไม่มีมากนัก มีกล่าวเพียงว่าเขาร่วมกับโจโฉและญาติพี่น้องคนอื่นๆ ตั้งกลุ่มคนหนุ่มออกอาละวาด จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว จนกระทั่งภายหลังเมื่อโจโฉเข้ารับราชการ โจหยินก็เริ่มศึกษาและสนใจในหลักพิชัยสงครามและปัญหาบ้านเมือง

ปี ค.ศ. 184 เมื่อโจรผ้าเหลืองลุกขึ้นก่อการ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วแผ่นดิน โจโฉได้รับคำสั่งให้เข้ารับตำแหน่งในกรมทหารม้าเร็ว และรับหน้าที่คุมกองทัพจำนวนหนึ่งออกปราบปรามโจรผ้าเหลืองที่อาละวาดรอบบริเวณเมืองหลวงลั่วหยาง โจหยินก็เข้าร่วมกับโจโฉและช่วยเป็นเรี่ยวแรงในการเกณฑ์ผู้คนมาเข้าร่วมด้วยร่วมกับพี่น้องและญาติทั้ง 4 คน

หลังจากสามารถเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพและทำหน้าที่ปราบปรามโจรผ้าเหลืองบริเวณรอบนครหลวงอย่างได้ผล โจโฉก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขุนนาง แต่ไม่นานเขาก็ลาออกจากราชการและกลับไปอยู่บ้านเดิม ภายหลังจากนั้นไม่นานก็กลับมาเข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมทหารม้าเร็วในสังกัดกองทหารมหาดเล็ก ตัวโจหยินนั้นก็ยังคงทำงานร่วมกับโจโฉไม่เปลี่ยน

ปีค.ศ.189 โจโฉคิดการร่วมกับอ้วนเสี้ยว โฮจิ๋น เพื่อโค่นล้ม 10 ขันที ที่กำลังเรืองอำนาจในวังหลวง แต่โฮจิ๋นตัดสินใจพลาดที่ส่งหมายเชิญขุนศึกจากหัวเมืองต่างๆเข้าเมืองหลวง 10 ขันทีจึงตัดสินใจกำจัดโฮจิ๋นด้วยการล่อให้โฮจิ๋นเข้าวังแล้วสังหารเสีย โจโฉและอ้วนเสี้ยวจึงบุกเข้าวังและสังหารเหล่าขันทีไปจำนวนมาก แต่สุดท้ายตั๋งโต๊ะซึ่งนำกำลังทหารจากเสเหลียงเข้ามาในนครหลวงก็ได้ทำการยึดอำนาจในท้ายที่สุด

โจโฉแยกตัวจากตั๋งโต๊ะ และหนีกลับบ้านเดิม และออกราชโองการปลอมระดมเหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดิน ส่วนตัวเองนั้นอาศัยทรัพย์สินทั้งหมดระดมกำลังทหารได้ 5000 คน โดยมีเหล่าญาติๆรวมทั้งโจหยินเป็นแม่ทัพนายกองอีกทีหนึ่ง

กองทัพพันธมิตรกวนจงจึงเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ล่มสลายลงภายในเวลาแค่ปีเดียว โจโฉตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อรวบรวมกำลังทหารอีกครั้ง จากนั้นในปี ค.ศ.192 โจโฉ ได้รับเชิญจากเปาซิ่นเจ้าเมืองกุนจิ๋วให้มารับตำแหน่งเจ้าเมืองแทน และได้อาศัยที่นี่เป็นฐานกำลัง

โจหยินได้รับความไว้ใจจากโจโฉให้เป็นแม่ทัพคอยทำหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาหัวเมืองกุนจิ๋ว ในช่วงหลายปีนั้น โจโฉได้ออกศึกขยายอิทธิพลและเผชิญหน้ากับเหล่าขุนศึกต่างๆไม่ว่าจะลิโป้ อ้วนสุด ลิฉุย กุยกี เตียวซิ่ว แต่โจหยินแทบไม่ได้เข้าร่วม เพราะเขามีหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าการออกศึกนั่นคือการรับผิดชอบแนวหลังให้แก่โจโฉ

ดังนั้นหากเทียบกับแม่ทัพกองหน้าคนอื่นของโจโฉซึ่งหลายคนเริ่มจะสร้างชื่อขึ้นมาในแผ่นดินแล้ว ชื่อเสียงของโจหยินจึงไม่โด่งดังนัก แต่ก็นับว่าโจหยินเป็นแม่ทัพที่โจโฉให้ความไว้วางใจเป็นอันดับแรกๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่มอบหน้าที่สำคัญเช่นการเฝ้าระวังแนวหลังให้ เฉกเช่นที่มอบหมายให้ซุนฮกรับหน้าที่บริหารกิจการในนครหลวงฮูโต๋ โจหยินก็เป็นผู้รับหน้าที่การฝึกควบคุมดูแลกองทัพ

ปีค.ศ.200 ช่วงยุทธการกัวต๋อเริ่มต้นได้ไม่นานนั้น เล่าปี่ซึ่งได้รับกำลังทหารส่วนหนึ่งจากอ้วนเสี้ยว ได้ร่วมมือกับเล่าเพ๊ก อดีตโจรผ้าเหลืองแห่งยีหลำ ยกทัพเข้าโจมตีจากชีจิ๋ว เป้าหมายคือนครฮูโต๋ นอกจากนี้ยังมีกระแสว่าเล่าเปียวจะเข้าร่วมการโจมตีด้วย

นับว่าเป็นเหตุการณ์อันตรายสำหรับโจโฉมาก เพราะกองทัพส่วนใหญ่ของโจโฉนั้นกำลังรับมือกับทัพมหึมาของอ้วนเสี้ยวทางด้านเหนืออยู่ แม่ทัพนายกองคนสำคัญมากมายก็เช่นกัน มีแต่เพียงโจหยินเท่านั้นที่ทำหน้าที่คอยป้องกันข้าศึกที่จะเข้าโจมตีฮูโต๋

แต่โจหยินก็อาศัยความหนักแน่น อดทน ทำให้สามารถตีโต้กองทัพของเล่าเพ็กกลับไปได้ และยังสามารถสังหารเล่าเพ็กได้อีกด้วย ส่วนเล่าปี่นั้นถอยร่นลงใต้ และเข้าร่วมกับเล่าเปียวที่เกงจิ๋ว เล่าปี่อาศัยกำลังทหารของเล่าเปียวและรวบกองทัพของเล่าเพ็กเป็นของตน เข้าโจมตีฮูโต๋ แต่สุดท้ายก็ต้องถอยร่นกลับเกงจิ๋ว ซึ่งตรงจุดนี้ ในนิยายสามก๊กและในประวัติศาสตร์บันทึกรายละเอียดไว้ไม่ตรงกันเท่าใดนัก บ้างก็ว่าเล่าปี่ถอยหนีไปอยู่กับเล่าเปียวเลย ในขณะที่บางฉบับก็บอกว่าเล่าปี่ได้ทำการโจมตีฮูโต๋ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะถอยหนีไปหาเล่าเปียว แต่ที่มีบันทึกไว้ตรงกันเรื่องหนึ่งคือหลังจากไปอยู่กับเล่าเปียวแล้ว เล่าปี่ได้เสนอให้เล่าเปียวยกกองทัพเข้าโจมตีฮูโต๋ในระหว่างที่โจโฉติดพันศึกกับอ้วนเสี้ยวทางเหนือ แต่เล่าเปียวไม่กล้าเสี่ยงและปฏิเสธไป

หลังเสร็จศึกกัวต๋อ แม้ว่าโจหยินจะไม่ได้เข้าร่วม แต่เขาก็ได้รับการเลื่อนยศและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้จากการที่ปราบเหล่าศัตรูและกองกำลังกบฏที่เกิดขึ้นในภาคกลาง

ปี ค.ศ.207 โจโฉส่งกองทัพบุกเกงจิ๋ว มีโจหยินเป็นแม่ทัพ เล่าเปียวใช้ให้เล่าปี่เป็นผู้รักษาเมืองซินเอี๋ย เพื่อคอยรับศึกกับโจโฉโดยเฉพาะ และในตอนนั้นเล่าปี่เพิ่งได้ตัวชีซีมาเป็นเสนาธิการทหาร จึงให้ชีซีช่วยวางแผนรับมือกองทัพของโจหยิน

โจหยินนั้นไม่ได้เป็นแม่ทัพที่เด่นในการนำทัพตะลุยเข้าจัดการข้าศึก แต่เขามีความรอบรู้ในด้านพิชยสงคราม ค่ายกล และการตั้งรับ เขาคิดค้นค่ายกลแปดประตูทองคำลั่นดาลโดยอาศัยการนำค่ายกลแบบโบราณมาปรับประยุกต์ แต่ในศึกนี้ได้ถูกชีซีซึ่งหาช่องโหว่ของคายกล ตีเข้าที่จุดนั้นทำให้กองทัพของโจหยินพ่ายแพ้กลับไป

ปีค.ศ.208 โจโฉตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ลงใต้ เล่าจ๋องผู้ครองเกงจิ๋วยอมจำนน ทำให้สามารถได้เกงจิ๋วมาครองโดยที่ไม่ต้องออกแรงรบ เล่าปี่ต้องหนีตายลงมาที่แฮเค้าและรวมกำลังกับทัพของเล่ากี๋

จากนั้นภายใต้การผลักดันของขงเบ้งและโลซก ฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนจึงได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกันเพื่อต้านโจโฉ และในปีเดียวกันก็ได้เกิดศึกเซ็กเพ๊กระหว่างโจโฉกับพันธมิตรเล่าซุน ผลคือฝ่ายโจโฉพ่ายแพ้และต้องถอยร่นกลับสู่ภาคกลาง โจหยินไม่ได้เข้าร่วมเป็นทัพหน้าในการบุกภาคใต้ครั้งนี้ แต่รับหน้าที่แม่ทัพคอยเฝ้าแนวหลังที่เมืองกังเหลง เจตแดนเกงจิ๋ว ซึ่งโจโฉได้สั่งการให้โจหยินทำหน้าที่ป้องกันเมืองไว้จากการโจมตีต่อเนื่องของทัพง่อ ซึ่งมีจิวยี่เป็นแม่ทัพใหญ่

ปีค.ศ.209 ในการศึกที่กังเหลงนี้ จิวยี่ยกกองทัพง่อเข้าโจมตีเมืองกังเหลงดุจพายุ โจหยินได้ใช้ความสามารถทั้งหมดต้านทานอย่างเต็มที่ ศึกนี้เป็นศึกที่มีรายละเอียดในนิยายและในประวัติศาสตร์ต่างกัน ในนิยายนั้นจิวยี่ได้ถูกลูกธนูโจมตีจนบาดเจ็บ แต่ก็อาศัยอาการบาดเจ็บนี้ในการล่อหลอกทัพของโจหยินให้ออกมาตามตีนอกเมือง จิวยี่จึงทำการตลบหลังใช้ทัพดักซุ่ม จัดการกับทัพของโจหยินได้ โจหยินไม่อาจถอนทัพกลับเข้าเมืองจึงจัดสินใจหนีขึ้นเหนือไปยังเซียงหยาง แล้วจิวยี่จึงยกทัพเข้าเมืองกังเหลง แต่ปรากฏว่าถูกขงเบ้งที่คาดการไว้ก่อนแล้ว ส่งจูล่งให้นำกองทัพเข้ามายึดกังเหลงในระหว่างนั้น กังเหลงจึงตกเป็นของเล่าปี่ไป แล้วภายหลังเมื่อซุนกวนต้องการทวงเมืองนี้ ขงเบ้งจึงได้ขอทำสัญญายืมเมืองนี้พื่อให้เป็นฐานที่มั่นแก่เล่าปี่จนกว่าจะเข้ายึดเสฉวนได้ ซึ่งโลซกได้ยอมเป็นผู้ค้ำประกัน ท่ามกลางความไม่พอใจของซุนกวนและจิวยี่

แต่ในประวัติศาสตร์นั้นบันทึกไว้ต่างกันมาก โดยกล่าวว่าโจหยินได้ต้านรับอยู่ที่กังเหลงนี่นานถึง 1 ปีเต็ม และสามารถให้จิวยี่บาดเจ็บในศึกนี้เช่นกัน แต่หลังจากต้านทานอยู่นาน โจหยินพบว่าไม่อาจจะต้านได้นานไปกว่านี้ จึงตัดสินใจถอยทัพขึ้นเหนือไปยังเซียงหยางก่อนที่จะเป็นฝ่ายเสียหายและพ่ายแพ้กว่านี้แทน จิวยี่จึงได้ยกทัพเข้ายึดเมืองกังเหลงได้สำเร็จ แต่ขงเบ้งได้เดินทางมาขอยืมเมืองนี้กับทางซุนกวน ซึ่งขงเบ้งได้อาศัยการแจกแจงแก่โลซก และโลซกเองก็เห็นด้วยที่จะให้เล่าปี่เป็นโล่คอยยันอำนาจของโจโฉ ซึ่งซุนกวนเองเห็นชอบกับนโยบายนี้ด้วยซ้ำ แต่ผู้ที่คัดค้านกับเรื่องนี้ซึ่งเหมือนกันทั้งในนิยายและในประวัติศาสตร์คือจิวยี่ เพราะเขาคือคนที่เหนื่อยที่สุด แต่ง่อกลับไม่ได้อะไรเลย และกลายเป็นว่าเล่าปี่ได้ประโยชน์สูงสุดไป

เกี่ยวกับกรณีนี้ ในนิยายสามก๊กแม้จะดูเป็นการใช้ปัญญาเพื่อให้ได้เมืองมาโดยไม่เสียกำลังของขงเบ้ง แต่เท่ากับฝ่ายเล่าปี่โกงซุนกวนอย่างมาก ในขณะที่ตามประวัติศาสตร์ วิธีการของขงเบ้งแม้จะดูเอาเปรียบฝ่ายง่อแต่ก็ยังดูเบาและเป็นที่น่ายอมรับมากกว่าตามในนิยาย อีกทั้งยังดูเป็นลูกเล่นกับแผนทางการเมือง การเจรจาที่เหนือชั้นของขงเบ้งด้วยซ้ำ

คาดว่าหลอก้วนจงหรือ รุ่นหลังอย่างเหมาจงกัง ผู้แต่งนิยายสามก๊กน่าจะต้องการเพิ่มความสามารถทางกลยุทธ์ทางทหารให้แก่ขงเบ้งมากกว่า เพราะบทบาทของขงเบ้งในประวัติศาสตร์ช่วงศึกเซ็กเพ๊กและไปจนถึงช่วงที่เล่าปี่ได้ดินแดนเสฉวนนั้น เป็นบทบาทในด้านการบริหารและการเจรจาทางการเมือง ไม่ได้แสดงความสามารถเชิงการทหารเท่าไรนัก จึงมีการแต่งเรื่องราวออกมาเช่นนั้น แต่มันทำให้วิธีการของขงเบ้งครั้งนี้ดูโกงฝ่ายง่อมาก ทั้งที่ในประวัติศาสตร์แล้ว นี่เป็นผลงานทางการเมืองชิ้นสำคัญของขงเบ้งที่อาศัยนโยบายของโลซกให้เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้เห็นชอบได้ ทั้งที่ลึกๆแล้ว เขาเองก็คงไม่พอใจเหมือนกับจิวยี่เท่าใดนัก

ในประวัติศาสตร์และในนิยายนั้น กล่าวถึงเรื่องราวหลังจากนั้นตรงกันว่า โจโฉยังคงมุ่งมั่นที่จะบุกแดนกังหนำ ส่วนทางด้านเกงจิ๋วนั้นเขาเพียงวางกำลังตรึงแนวรบไว้ แต่ไม่ได้เน้นไปที่การบุก เพราะเบนเป้าหมายไปที่การข้ามฝั่งแม่น้ำแยงซีจากทางทิศบูรพาแทน ฝ่ายซุนกวนเองก็นั้นเมื่อไม่อาจขยับขยายอิทธิพลไปทางทิศประจิมได้เนื่องจากติดทางเล่าปี่ จึงมุ่งเป้าหมายไปที่หับป๋า

ปีค.ศ.210 โจโฉสั่งระดมแล้วเคลื่อนพลส่วนหนึ่งไปประจำยังหับป๋าซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากที่รกร้างจนกลายเป็นเมืองป้อมปราการ เตรียมรับศึกจากซุนกวน แต่เกิดเหตุขึ้นสียก่อนเพราะม้าเฉียวและหันซุยแห่งเสเหลียงได้ก่อกบฏขึ้นที่แดนไท่หยวน ยกกองทัพใหญ่เข้ายึดเมืองเตียงอัน และเข้าประชิดด่านถงกวน

โจโฉตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ไปรับศึก และส่งโจหยินเป็นแม่ทัพหน้า เพื่อรับศึกยื้อกับม้าเฉียวไว้ รอจนกระทั่งทัพหลักตามไปถึง โจหยินยื้อสู้กับกองทัพหน้าของม้าเฉียวอย่างทรหด สร้างผลงานไว้พอสมควร จนกระทั่งทัพหลักของโจโฉตามไปสบทบได้

เมื่อเสร็จศึกถงกวน โจหยินก็ถูกโยกไปประจำการที่แนวรับทางเกงจิ๋ว เพื่อคอยป้องกันและระแวดระวังกวนอูซึ่งอยู่ที่กังเหลง

โจหยินประจำที่เกงจิ๋วเป็นเวลานานหลายปี และทำหน้าที่อย่างแข็งขัน คอยระแวดระวังภัยจากดินแดนนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ช่วงเวลาหลายปีนั้น แม้กวนอูอยากจะยกกองทัพรุกขึ้นเหนือ แต่ก็ยังไม่อาจทำได้

กระทั่งปี ค.ศ.219 หลังจากเล่าปี่ขึ้นสถาปนาตนเป็นฮั่นจงอ๋อง ณ เมืองฮั่นตง กวนอูเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะรุกขึ้นเหนือ ด้วยการอาศัยกระแสของเล่าปี่ช่วยหนุน ประกอบกับปีนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก แม้ว่าการสนับสนุนจากทางเสฉวนจะยังไม่พร้อม แต่กวนอูก็คงคิดว่าหากปล่อยโอกาสนี้ผ่านไปก็คงยากจะบุกได้อีก จึงตัดสินใจยกกองทัพใหญ่เข้าตีเซียงหยางทันที ซึ่งเหตุผลการบุกเหล่านี้แทบไม่ได้มีบันทึกในนิยายเลย แต่หากดูตามประวัติศาสตร์ช่วงนั้นแล้วคาดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

เมืองเซียงหยางและอ้วนเสียขณะนั้นประสบปัญหาจากภัยฤดูน้ำหลากอย่างมาก การตั้งรับจึงทำได้ยากยิ่ง แต่โจหยินก็อาศัยความอดทนในการตั้งรับการบุกของกวนอูอย่างสุดความสามารถ สุดท้ายแล้วก็ยังเสียเมืองเซียงหยางไป กระนั้นโจหยินก็พยายามยื้อสุดกำลังด้วยการตั้งรับภายในปารสาทอ้วนเสีย เพื่อรอให้ทัพหนุนของโจโฉส่งมาเสริม

โจโฉส่งกองทัพหนุนนับแสนของอิกิ๋มและบังเต๊กมาช่วย แต่ก็ถูกกวนอูปราบจนราบคาบ ชื่อเสียงของกวนอูระบือลือลั่น แต่โจหยินก็ยังคงยืนหยัดต้านทานไว้ และได้ซิหลงซึ่งเป็นทัพหนุนอีกสายเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์เอาไว้ ทำให้วงล้อมเมืองอ้วนเสียของกวนอูสลายลง ประกอบกับทางกวนอูได้รับข่าวร้ายว่าเมืองกังเหลงเสียให้แก่ลิบองที่แอบเข้ามาตลบหลัง จึงคิดถอนทัพลงใต้

เท่ากับว่าโจหยินสามารถยืนหยัดต้านทานการบุกของกวนอูไว้ได้ เป็นชัยชนะที่แม้จะทุลักทุเลและยากลำบาก แต่ก็ส่งผลให้ชื่อของโจหยินกลายเป็นชื่อของยอดขุนพลคนหนึ่งแห่งยุคสามก๊ก

ในบรรดาขุนพลทั้งหมดของโจโฉ โจหยินเป็นขุนพลที่ได้รับการยกย่องในแง่ของการตั้งรับด้วยความทรหดอดทนอย่างมาก จากผลงานสำคัญอย่างการต้านทานกวนอู ผสมผสานกับการใช้กลยุทธ์และค่ายกลเข้าช่วย แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีฝีมือการยุทธ์หรือความเชี่ยวชาญในการรุกมากนักก็ตาม

โจหยินอยู่ประจำการที่เกงจิ๋วเพื่อรับภาระคอยป้องกันแนวรบจากซุนกวนซึ่งเข้ามาครอบครองเกงจิ๋วใต้ต่อจากเล่าปี่ และทำหน้าที่ได้ดีเสมอมา

ปีค.ศ.220 หลังจากโจโฉสิ้นลง โจผีได้โค่นบังลังก์ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นวุยบุ๋นตี้ ก่อตั้งราชวงศ์วุยขึ้น โจหยินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นต้าเจียงจวิน (มหาขุนพล) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร แต่ก็เป็นได้ไม่นานและป่วยหนักจนเสียชีวิตลงในปีค.ศ.223 โจผีระลึกถึงความชอบของเขา พระราชทานตำแหน่งย้อนหลังเป็นพระยา (เฉินไหว)

ในนิยายไม่ปรากฏว่าทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา แต่ในประวัติศาสตร์มีการบันทึกว่าบุตรชายของเขาโจต้ายได้รับสืบทอดต่อมา

แม้ว่าความสามารถการทำศึกและฝีมือยุทธ์ของเขา จะไม่ได้สูงส่งมากหากเทียบกับเหล่าขุนพลชื่อดังในยุคนั้น หรือกระทั่งในทัพโจโฉเองก็ยังมีขุนพลที่มีความสามารถด้านการศึกสูงกว่าเขา เช่น เตียวเลี้ยว ซิหลง เตียวคับ แต่เขากลับเป็นผู้ที่สามารถยืนหยัดต้านทานกับขุนพลชื่อก้องของยุคนั้นอย่างจิวยี่และกวนอูย่างสูสีมาแล้ว จุดนี้นับว่าเป็นการกล้าใช้คนของโจโฉซึ่งผลงานออกมาได้เกินคาดพอสมควร

ประวัติสามก๊ก หวดเจ้ง เสี่ยวจื้อ

ประวัติสามก๊ก หวดเจ้ง เสี่ยวจื้อ

เล่าปี่สามารถก่อร่างสร้างตนขึ้นเป็นฮ่องเต้และก่อตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ในดินแดนตะวันตก หรือก็คือเสฉวน ซึ่งกล่าวกันว่ากุนซือหรือเสนาธิการผู้ที่ทำให้เล่าปี่สามารถเข้าครอบครองดินแดนนี้ได้นั้น คือชายผู้มีชื่อว่าหวดเจ้ง

ความสำคัญและความไว้ใจที่เล่าปี่มีต่อหวดเจ้งนั้นสูงมาก ขนาดขงเบ้งยังเคบกล่าวว่าหวดเจ้งเป็นผู้เดียวที่น่าจะทัดทานเล่าปี่ไม่ให้ตัดสินใจผิดพลาดในศึกอิเหลงได้ อีกทั้งความสามารถของหวดเจ้งที่ปรากฏนั้นก็สูงล้ำ เทียบชั้นกับเหล่ายอดกุนซือร่วมสมัยหลายๆคนได้ทีเดียว

ทั้งที่ก่อนหน้าจะมาอยู่กับเล่าปี่ ชื่อของหวดเจ้งไปไม่เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์หรือมีแสดงว่าเป็นยอดเสนาธิการเลย นับว่าเป็นบุคคลที่สามารถสร้างชื่อและผลงานขึ้นมาได้เพราะได้มาอยู่กับเจ้านายที่มองเห็นความสามารถของตนโดยแท้


ประวัติโดยย่อ

หวดเจ้ง หรือฝาเจิ้ง ชื่อรองเสี่ยวจื้อ เกิดปีค.ศ.174 ชาวซานซี ในวัยหนุ่มเป็นบัณฑิตชื่อดังแห่งเอ๊กจิ๋ว ชอบศึกษาหาความรู้ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง บันทึกบางฉบับบอกว่าเป็นคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว และเมื่อรับราชการแล้วก็มียังทุจริตอีกด้วย

ไม่ปรากฏว่าหวดเจ้งได้เข้ารับราชการเมืองเสฉวนตั้งแต่สมัยเล่าเอี๋ยนหรือไม่ กระทั่งเล่าเจี้ยงบุตรชายได้รับตำแหน่งเจ้ามณฑลเสฉวนสืบต่อ ชื่อของหวดเจ้งจึงเป็นที่รู้จักในฐานะข้าราชการผู้มีความสามารถคนหนึ่ง

แต่ในสมัยที่เล่าเจี้ยงปกครองเสฉวนนั้น ไม่ปรากฏบทบาทของดินแดนนี้ในนิยายสามก๊กเลยแม้แต่น้อย กระทั่งในประวัติศาสตร์เองก็ไม่กล่าวถึง เรียกได้ว่าในขณะที่แผ่นดินกำลังเข้าสู่กลียุคและบรรดาขุนศึกหัวเมืองต่างๆกระโจนเข้าร่วม มีเพียงเล่าเจี้ยงแห่งเสฉวนเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มิได้มีบทบาทใดๆกับความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน

ในปี ค.ศ. 211 หลังจากพันธมิตรม้าเฉียวและหันซุยซึ่งลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อรัฐบาลกลางของโจโฉ และได้ประสบกับความพ่ายแพ้ ทำให้โจโฉหมายจะแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนตะวันตกมากขึ้น โดยให้แฮหัวเอี๋ยนประจำการที่เมืองเตียงอันในฐานะแม่ทัพใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการในการรุกเข้าตะวันตก

การที่โจโฉต้องการขยายอำนาจเข้าตะวันตก สร้างความปั่นป่วนให้บรรดาหัวเมืองต่างๆในดินแดนนี้มาก เตียวลู่เจ้าเมืองฮั่นจงต้องการขยายดินแดนและกองกำลังของตนเพื่อรับมือกับโจโฉ จึงคิดจะเปิดศึกกับเล่าเจี้ยงเพื่อชิงเสฉวนมา เล่าเจี้ยงนั้นแม้จะปกครองดินแดนเสฉวนได้สงบเรียบร้อย และกองทหารของเสฉวนก็มีจำนวนมาก แต่กองทัพเสฉวนเป็นกองทัพที่แทบจะไม่เคยออกศึกมาก่อนนอกจากการปราบปรามชาวเผ่านอกด่านทางตะวันตก ทำให้เล่าเจี้ยงเกิดความวิตกในการรุกรานของเตียวลู่มาก

ในปีค.ศ.212 จากการรุกรานของเตียวลู่ เป็นเหตุให้เล่าเจี้ยงตัดสินใจเชิญเล่าปี่ซึ่งครองเมืองเกงจิ๋วในขณะนั้นให้เข้ามาช่วยรับศึก ด้วยคำแนะนำของที่ปรึกษาชื่อเตียวสง

เรื่องที่เตียวสงเชิญเล่าปี่มารับศึกเตียวลู่นี้ ในนิยายสามก๊กได้บรรยายและเล่าเรื่องราวไว้อย่างมีสีสันมาก กล่าวคือเตียวสงนั้นเล็งเห็นว่า หากปล่อยให้เล่าเจี้ยงเป็นผู้ปกครองเสฉวนต่อไป คงไม่แคล้วถูกผู้มีอำนาจและกระแสภายนอกดูดกลืนไปแน่ ไม่ช้าก็เร็วเสฉวนคงจะถูกกองกำลังใดเข้าควบคุม จึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยกดินแดนนี้ให้ผู้มีอำนาจอื่นเสียก่อนที่จะถูกกลืน

เตียวสงได้เสนอต่อเล่าเจี้ยงที่จะเข้าพบโจโฉเพื่อการเจรจาเรื่องบรรณาการและการยอมลงให้แก่โจโฉ แต่ที่จริงเป็นข้ออ้างที่เตียวสงต้องการเพื่อจะได้นำแผนที่มณฑลเสฉวนไปมอบให้แก่โจโฉ เพื่อขอสวามิภักดิ์และให้โจโฉเข้ายึดเสฉวนได้โดยสะดวก ซึ่งแม้จะมีข้ออ้างสวยหรูแค่ไหน แต่การกระทำของเตียวสงนั้นนับว่าเข้าขั้นขายบ้านเมืองตนเอง

เตียวสงเมื่อได้เข้าพบโจโฉ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่เตียวสงเป็นผู้มีความทระนงตน ในขณะที่ใบหน้าของเขานั้นค่อนข้างอัปลักษณ์ จึงถูกโจโฉดูหมิ่น เตียวสงไม่พอใจ จึงได้แสดงภูมิปัญญาออกมา ซึ่งมีบันทึกว่าเตียวสงเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ เขาอาศัยการอ่านเนื้อหาในตำราพิชัยสงครามเมิ่งเต๋อเซินซูเพียงครั้งเดียวก็สามารถท่องออกมาได้หมด ซึ่งตำรานี้เป็นตำราที่โจโฉได้เขียนขึ้นเองโดยการรวบรวมประสบการณ์รบจริงและมุ่งอธิบายหลักการของซุนหวู่ ซึ่งเตียวสงอ้างว่าเด็กๆในเสฉวนสามารถท่องเนื้อหาเหล่านี้กันได้หมด ซึ่งโจโฉคงจะลอกเอามาจากตำราโบราณอื่นเป็นแน่ โจโฉโดนดูถูกเช่นนี้จึงเจ็บใจมาก และสั่งขังเตียวสงแล้เฆี่ยนตีอย่างรุนแรง เตียวสงเจ็บแค้นมาก และเอาแผนที่เสฉวนกลับไป ไม่มอบให้โจโฉ และเปลี่ยนใจไปหาเล่าปี่แทน

ฝ่ายเล่าปี่นั้น ขงเบ้งได้สืบรู้เรื่องเตียวสงมาก่อนแล้ว จึงจัดแจงต้อนรับเตียวสงอย่างดี จนเตียวสงประทับใจ แต่ในงานเลี้ยงต้อนรับ เล่าปี่ ขงเบ้งจงใจไม่พูดถึงเรื่องแผนที่เสฉวนที่เตียวสงนำมาด้วยกระทั่งถึงตอนจะร่ำลา เตียสงประทับใจเล่าปี่มากจึงยอมมอบแผนที่เสฉวนและข้อมูลต่างๆของเสฉวนให้เล่าปี่จนหมดสิ้น

เตียวสงแจ้งเล่าปี่ว่าหากจะยึดเสฉวน นอกจากกำลังทหารแล้วยังต้องทำการประสานกับคนภายในเสฉวนด้วย ซึ่งคนที่เตียวสงได้ชักชวนให้ร่วมก่อการด้วยกันนั้นมีขุนนางและนายทหารสำคัญๆของเสฉวนหลายคน ซึ่งคนที่เป็นตัวหลักที่เตียวสงชักชวนมาเข้าร่วมด้วยก็คือ หวดเจ้ง และเบ้งตัด

หวดเจ้งได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับเล่าปี่ ในฐานะเสนาธิการผู้วางแผน ซึ่งเตียวสงนั้นรับหน้าที่กลับไปเสฉวนเพื่อประสานงานจากภายใน ส่วนเบ้งตัดรับหน้าที่ในการประสานงานกับกองกำลังหัวเมืองภายนอก

เล่าปี่ถูกเชิญเข้าเสฉวนและได้รับการต้อนรับจากเล่าเจี้ยงอย่างดี แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากบรรดาขุนนางจำนวนมาก แต่เล่าเจี้ยงก็ยังคงรับเล่าปี่เข้าเมืองเพราะถือว่าเป็นคนแซ่เล่าเหมือนกัน ซึ่งเล่าเจี้ยงนั้นนับถือและยกย่องให้เล่าปี่เป็นดั่งพี่เลยทีเดียว

เล่าปี่นำกองทัพไปประจำที่แฮบังก๋วน แต่ก็ไม่ได้เปิดศึกกับเตียวลู่แต่อย่างใด นานวันเข้าเล่าเจี้ยงจึงไม่พอใจ ที่เล่าปี่นำกองทัพเข้ามาประรำการในเขตแดนเสฉวนแต่ไม่ยอมออกศึก อีกทั้งเล่าปี่ยังแจ้งต่อเล่าเจี้ยงอ้างว่าทางซุนกวนกำลังจะยกทัพเข้ารุกเกงจิ๋ว จึงขอยืมกำลังทหารและเสบยีงส่วนหนึ่งกลับไป เล่าเจี้ยงไม่พอใจมาก แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้

และในที่สุดโอกาสของเล่าปี่ก็มาถึง ในปีค.ศ. 213 เล่าปี่สังหารนายทหารประจำโปยสิก๋วนแล้วอาศัยการจับครอบครัวของแม่ทัพและนายทหารเหล่านั้นเป็นตัวประกัน ทำให้สามารถรวบกองทัพที่โปยสิก๋วนมาเป็นของตนได้ จากนั้นจึงยกกองทัพบุกโดยมีเป้าหมายที่นครเฉิงตูทันที

หวดเจ้งได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการประจำกองทัพ ร่วมกับบังทองที่ได้รับการชักชวนจากขงเบ้งในเวลาใกล้กัน และรุกเข้ายึดหัวเมืองเสฉวนตามรายทางได้เป็นจำนวนมาก หวดเจ้งได้เสนอแผนการต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่ทัพเล่าปี่ ทำให้เล่าปี่ชื่นชมในความสามารถและสติปัญญาของกวดเจ้งมาก

ปีค.ศ.214 เล่าปี่นำกองทัพใหญ่เข้าล้อมนครเฉิงตู เมืองหลวงของเสฉวนไว้ได้ เล่าเจี้ยงจึงต้องเปิดประตูเมืองและยอมสวามิภักดิ์ ทำให้เล่าปี่สามารถครอบครองเสฉวนไว้และได้ฐานที่มั่นที่แท้จริงมาเป็นของตนได้สำเร็จ

ในปีค.ศ.215 โจโฉยกทัพใหญ่เข้ายึดฮั่นจงได้สำเร็จ แต่ไม่ได้ตามเข้าตีถึงเสฉวนเพราะโจโฉเกรงว่าเส้นทางอันทุรกันดารในการเข้าสู่เสฉวนจะทำให้กองทัพของตนมีปัญหามากกว่า จากนั้นจึงให้แฮหัวเอี๋ยน เตียวคับ ซิหลง ประจำการที่ฮั่นจงเพื่อเตรียมรับศึกจากเล่าปี่

เล่าปี่หลังจากยึดเสฉวนมาครองได้ ก็ทำการจัดระเบียบภายในให้เรียบร้อยภายใต้การดูแลและบริหารของขงเบ้งร่วมกับขุนนางสำคัญของเสฉวนที่มาเข้าสวามิภักดิ์ ส่วนหวดเจ้งถูกมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นเสนาธิการทหาร ดูแลด้านการศึกอย่างเต็มตัว

เล่าปี่จัดให้เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง สี่ขุนพลใหญ่ของตนเข้ารุกเพื่อยึดฮั่นจงให้ได้ โดยเตียวหุยและม้าเฉียวประจำการที่ปาเส เพื่อรับศึกกับโจหองซึ่งเป็นทัพหนุนที่โจโฉส่งมาเสริมกำลัง ส่วนจูล่งและฮองตงมีเป้าหมายที่การยึดทุ่งฮันซุยและเขาเตงกุนสัน อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฮั่นจง โดยมีหวดเจ้งเป็นเสนาธิการให้แก่กองทัพทั้งหมด

รายละเอียดในการศึกฮั่นจงครั้งนี้และอีกครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในปีค.ศ.219 นั้น เป็นศึกที่มีรายละเอียดมาก ทั้งกองทัพของเล่าปี่และโจโฉต่างผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบ นอกจากนี้ยังเป็นศึกแระและศึกเดียวที่เล่าปี่สามารถต่อกรกับโจโฉได้อย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุด และผลของการศึกก็เป็นฝ่ายเล่าปี่ที่ได้ชัยในตอนท้ายด้วย

ในศึกนี้ซึ่งหวดเจ้งมีบทบาทสำคัญนั้นคือการวางแผนให้ฮองตงซึ่งรับหน้าที่เป็นแม่ทัพออกมาตีทัพเสบียงของแฮหัวเอี๋ยน เข้าจัดการสังหารแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ได้ ในนิยายนั้นเพียงอธิบายรายละเอียดว่าหวดเจ้งวางแผนล่อหลอกให้แฮหัวเอี๋ยนออกมาท้ารบกับฮองตง โดยแฮหัวเอี๋ยนได้ยกทัพออกมาล้อมเขาไทสันไว้ทั้งสี่ด้าน และร้องท้าฮองตงตลอดวัน ส่วนฮองตงตั้งมั่นอยู่ที่เนินเขา และไม่ยอมออกรบด้วย จนกระแฮหัวเอี๋ยนนั่งพัก หวดเจ้งซึ่งตั้งมี่นอยู่บนยอดเขาจึงยกธงแดงเป็นสัญญาณให้ฮองตงเข้าโจมตีแฮหัวเอียนจากที่สูง แฮหัวเอี๋ยนไม่ทันระวังจึงถูกฮองตงตัดศีรษะไป

อันที่จริง ก็ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยอยู่ว่าเหตุใดแฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นแม่ทัพที่มากประสบการณ์ อีกทั้งในตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ จึงรับมือได้ไม่ทันการขนาดนั้น ทหารองครักษ์หรือหน่วยคุ้มกันไปไหนหมด แม้ว่าฮองตงจะลอบเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังเป็นการโจมตีในพื้นที่สนามรบซึ่งคนระดับแม่ทัพใหญ่ย่อไม่อาจเอาตัวเองไปเสี่ยงขนาดนั้นได้

เนื่องจากรายละเอียดของแผนการของหวดเจ้ง เท่าที่บันทึกไว้ในนิยายสามก๊กมีไม่มากนัก จึงไม่อาจบอกได้ว่าแท้จริงแล้วตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น หรือแผนการเชิงลึกของหวดเจ้งเป็นเช่นไร แต่โดยผลสรุปแล้ว นี่ก็นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของหวดเจ้ง และผลของการสังหารแฮหัวเอี๋ยน ก็ทำให้กองทัพเล่าปี่สามารถยึดเอาทุ่งเตงกุนสันและรวมถึงฮั่นจงมาได้

เมื่อได้ฮั่นจงมา ในปีเดียวกัน โจโฉซึ่งเจ็บแค้นที่แฮหัวเอี๋ยนถูกสังหาร จึงยกทัพใหญ่หมายล้างแค้นด้วยตนเอง หวดเจ้งรับหน้าที่เสนาธิการช่วยวางแผนการรบต่อเนื่องมา แต่ก็เป็นเพียงแค่เวลาสั้นๆเท่านั้น สุดท้ายแล้วเล่าปี่ซึ่งยกทัพหลวงเข้ามาเสริมกำลังที่ฮั่นจง ต้องให้ขงเบ้งขึ้นมารับหน้าที่แทน เพราะหวดเจ้งป่วยหนัก และเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน

เล่าปี่เสียใจให้กับการตายของหวดเจ้งมาก และแต่งตั้งยศย้อนหลังเป็นอี้โหว (พระยา)

กล่าวกันว่าภายหลังจากนั้นก่อนหน้าที่ศึกอิเหลงจะเริ่มขึ้น ซึ่งเล่าปี่ต้องการยกทัพนับแสนไปตีซุนกวนเพื่อแก้แค้นให้กวนอูแล้วสุดท้ายพ่ายแพ้อย่างย่อยยับนั้น ขงเบ้งได้พยายามทัดทานอย่างเต็มที่ แต่เล่าปี่ไม่ยอมฟังและยังขว้างฎีกาที่ขงเบ้งเขียนเพื่อพยายามยับยั้งการออกศึกนี้อย่างไม่ใยดี จนขงเบ้งถึงกับรำพึงว่า หากหวดเจ้งยังอยู่คงสามารถห้ามเล่าปี่ไม่ให้ไปทำศึกได้

ผู้ศึกษาเรื่องสามก๊กไม่น้อยจึงเชื่อกันว่าหวดเจ้งเป็นเสนาธิการและผู้ที่เล่าปี่ให้ความไว้ใจและเชื่อถืออย่างมาก บางทีอาจจะมากยิ่งกว่าขงเบ้งเสียด้วยซ้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือให้เล่าปี่ได้ครอบครองดินแดนเสฉวน ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อตั้งจ๊กก๊ก ส่วนด้านความสามารถนั้น หวดเจ้งได้รับการยอมรับว่าเป็นยอดกุนซือที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่งในยุคนั้น ซึ่งเพิ่งจะมีโอกาสได้แสดงฝีมือในช่วงที่เริ่มก่อตั้งสามก๊ก ซึ่งส่วนหนึ่งต้องบอกว่านับเป็นโชคของเขาที่ได้มาอยู่กับเล่าปี่ซึ่งเป็นเจ้านายที่มองเห็นความสามารถและให้โอกาสเขาเต็มที่อีกด้วย แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆก็ตาม

ประวัติสามก๊ก ซุนฮิว กงต๋า

ประวัติสามก๊ก ซุนฮิว กงต๋า

ในบรรดาที่ปรึกษารุ่นแรกๆของโจโฉที่ช่วยโจโฉก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ชื่อของซุนฮก กุยแก กาเซี่ยง มักผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเพราะผลงานของพวกเขาที่ปรากฏในนิยายสามก๊กและในประวัติศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก

และในบรรดาที่ปรึกษาสำคัญกลุ่มแรกๆนี้ ยังมีอีกผู้หนึ่งซึ่งแม้จะไม่ได้โดดเด่นหรือมีผลงานเป็นพิเศษ อีกทั้งความสามารถในแง่กุนซือก็อาจไม่ถึงที่สุด แต่เขาเป็นคนสำคัญชนิดที่หากว่าโจโฉขาดเขาไปแล้ว กิจการทั้งภายในภายนอก ไม่ว่าจะงานพลเรือนหรืองานทหารต้องมีอันสะดุดลงแน่

เขาก็คือซุนฮิว หลานชายที่อายุมากกว่าของซุนฮก วีรกรรมและผลงานของเขาที่ทำไว้นั้นแม้ไม่โดดเด่นหากเทียบกับสามคนแรก เพราะในบรรดาที่ปรึกษารุ่นแรกทั้งหมด นับว่าซุนฮิวเป็นผู้ที่มีบุคลิก สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และประนีประนอมอย่างยิ่ง จนทำให้แผนการของเขาแทบไม่ค่อยแสดงออกอย่างเปดเผยมากนัก ทั้งที่ความสามารถของเขานั้นสามารถเทียบชั้นเหล่ายอดกุนซือทั้งหลายในยุคนั้นได้เลย


ประวัติโดยย่อ

ซุนฮิว ชื่อรองกงต๋า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 157 เป็นบุตรชายของซุนลี่ เขากับซุนฮกมีศักดิ์เป็นอาหลาน โดยซุนฮิวเป็นหลานที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากบิดาของซุนฮกมีศักดิ์เป็นปู่ของซุนฮิว โดยซุนฮิวมีอายุมากกว่าซุนฮก 6 ปี

ซุนฮิวเมื่อวัยเด็กก็แสดงสติปัญญาออกมาเป็นที่ยกย่องและยอมรับของบรรดาผู้ใหญ่ เขาร่ำเรียนหลักการของขงจื๊อ และศาสตร์ความรู้ต่างๆมากมาย เมื่อเติบใหญ่ก็ได้เข้ารับราชการอยู่ที่เมืองหลวง

กระทั่งในปี ค.ศ.189ตั๋งโต๊ะนำกองกำลังเสเหลียงเข้าทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจในเมืองหลวง บรรดาขุนนางในราชสำนักส่วนใหญ่ต่างพากันคิดต่อต้าน ซุนฮิวซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงข้าราชการชั้นล่าง ได้เข้าร่วมกับกลุ่มขุนนางที่คิดก่อการกบฏด้วยในฐานะผู้ร่วมวางแผน แต่ไม่นานแผนก็เกิดรั่วไหล กระนั้นตั๋งโต๊ะก็ไม่สามารถจับตัวผู้ต้องสงบสัยมาเล่นงานได้แม้สักคน ซุนฮิวซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงรายเดียวก็ไม่ได้มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิด แต่ตั๋งโต๊ะก็สั่งการให้จับกุมตัวเขาและสอบสวนอย่างหนัก กระนั้นซุนฮิวก็ไม่ปริปากพูดแผนการหรือผู้ร่วมก่อการแม้แต่คนเดียว ตั๋งโต๊ะรู้ว่าซุนฮิวมีสติปัญญาสูง เสียดายที่จะสังหารทิ้ง จึงส่งตัวเขาไปจองจำอยู่ที่เมืองฮั่นจงซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนทุรกันดาร

ซุนฮิวถูกจองจำที่ฮั่นจง ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่ก็อดทนอย่างเข้มแข็ง กระทั่งในปีต่อมาเมื่อตั๋งโต๊ะถูกลิโป้ทำรัฐประหาร ซุนฮิวจึงได้รับการปลดปล่อย แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาที่เมืองหลวงได้

ในปีต่อมา ซุนฮก ได้เข้ารับราชการกับโจโฉ และรับตำแหน่งที่ปรึกษาคนสำคัญ ตระกูลซุนนั้นเป็นตระกูลใหญ่และเป็นตระกูลขุนนางที่มีทายาทมีความสามารถมากในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ดังนั้นเมื่อซุนฮกซึ่งเป็นผู้มีความสามารถสูงสุดและเป็นผู้นำตระกูลได้เข้าทำงานรับใช้โจโฉ จึงได้เสนอชื่อซุนฮิวแก่โจโฉด้วย

ในปี ค.ศ.194 ซุนฮิวถูกโจโฉเรียกตัวกลับมาจากฮั่นจง โจโฉเคยได้ยินกิตติศัพท์และความกล้าของซุนฮิวมาแล้ว กล่าวกันว่าเมื่อโจโฉได้พบซุนฮิวครั้งแรก โจโฉไม่รู้สึกว่าซุนฮิวจะเป็นผู้มีสติปัญญาสูงอะไรนัก เพราะบุคลิกและท่าทีภายนอกของซุนฮิวนั้นแสดงออกถึงความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตนจนอาจจะมากเกินไป แต่หลังจากสนทนากันตลอดวัน โจโฉก็ยกย่องในสติปัญญาของซุนฮิวมาก และแต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาธิการคนหนึ่งในกองทัพ

ในปีเดียวกันนั้น โจโฉกำลังรับศึกสองด้าน ตะวันตกคือเตียวสิ้ว ตะวันออกคือลิโป้ อีกทั้งยังต้องคอยระวังเล่าเปียวจากทางใต้อีกด้วย อ้วนเสี้ยวที่อยู่กิจิ๋วเองแม้จะเป็นพันธมิตรกันแต่ก็ไม่อาจวางใจได้ เรียกว่าโจโฉกำลังอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ต้องรับศึกทุกด้านก็ว่าได้

ซุนฮิวใช้สติปัญญาช่วยโจโฉในการทำศึกกับลิโป้ เมื่อทัพโจโฉเข้าล้อมเมืองแห้ฝือได้แล้ว กุยแกและซุนฮิวก็เสนอแผนที่จะพังเขื่อนเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้เข้าโจมตีเมือง ในที่สุดก็สามารถจับตัวลิโป้และสังหารได้

จากนั้นซุนฮิวก็ร่วมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสำคัญของกองทัพ แม้ว่าหากเปรียบกับซุนฮกแล้ว ซุนฮิวจะมีความสำคัญเป็นรอง เพราะซุนฮกทำหน้าที่ดูแลเมืองหลวงระหว่างโจโฉออกศึก และทำหน้าที่บริหารภาพรวมทั้งหมด ในขณะที่ซุนฮิวรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแผนการศึกร่วมกับกุยแก เทียหยก ซึ่งในด้านแผนกลยุทธ์พิสดารนั้นมักเป็นผลงานของตัวโจโฉเองหรือกุยแก รวมทั้งบรรดาแม่ทัพ ส่วนเทียหยกนั้นแม้ความสามารถอาจไม่สูงล้ำ แต่เทียหยกรับผิดชอบจัดการเรื่องการจัดการกองทัพและระเบียบวินัยอันเป็นภาระสำคัญ ด้วยเหตุนี้บทบาทของซุนฮิวจึงดูเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในการวางแผนการศึกเท่านั้น แต่ก็นับเป็นส่วนประกอบที่โจโฉเองไม่อาจขาดไปได้

ปี ค.ศ. 200 การศึกกัวต๋ออุบัติขึ้น ซุนฮิวได้มีส่วนช่วยเหลือโจโฉในการวางกลยุทธ์อย่างมาก โดยเฉพาะการจัดการกับบุนทีว หนึ่งในสองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ซึ่งการจัดการกับบุนทิวได้ก่อนนั้น ส่งผลให้การศึกที่กัวต๋อหลังจากนั้นประสบความยากลำบากน้อยลง

โดยหลังจากที่งันเหลียงถูกกวนอูสังหารที่ท่าข้ามแปะแบ๊แล้ว อ้วนเสี้ยวก็ยกทัพหมายเข้าตีลิหยง ซุนฮิวจึงเสนอให้โจโฉทำทีว่าจะยกทัพข้ามแม่น้ำฮวงโหไปตีโห้ปัก แต่แท้จริงแล้วเข้าตีตลบทัพหลังของอ้วนเสี้ยวแทน ซึ่งก็ทำให้อ้วนเสี้ยวจำต้องยกทัพกลับมาช่วยทัพหลังของตน ขณะเดียวกันก็ให้ทัพอีกกองบุกโจมตีเมืองเป๊กม้าแบบสายฟ้า อ้วนเสี้ยวเมื่อรู้ว่าหลงกลเพราะเป้าหมายแท้จริงของโจโฉอยู่ที่เป๊กม้าแล้ว ก็สั่งการให้บุนทิวยกทัพข้ามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาตีทัพของโจโฉ ซูนฮิวจึงซ้อนแผนอีกขั้นให้กองเสบียงถอยล่าช้า ปล่อยให้ทัพบุนทิวชิงเสบียงไปได้ แล้วอาศัยขณะที่ทัพบุนทิวกำลังยุ่งกับทัพเสบียงนั้น ให้กวนอูจู่โจมแบบสายฟ้า ทำให้ศึกน้กวนอูสามารถสังหารบุนทิวได้

ตรงจุดนี้มีความแตกต่างระหว่างนิยายสามก๊กกับในประวัติศาสตร์ ซึ่งในนิยายการสังหารบุนทิวเป็นผลงานของกวนอู แต่ในประวัติศาสตร์นั้นเกิดการกลศึกของทางโจโฉที่มีซุนฮิวเป็นผู้เสนอแผน โดยกวนอูมีผลงานหลักอยู่ที่การสังหารงันเหลียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การที่สามารถจัดการสองขุนพลใหญ่อย่างงันเหลียงและบุนทิวออกไปได้ ส่งผลทำให้การศึกของโจโฉที่กัวต๋อลดความเสี่ยงและมีความยากลำยากน้อยลง และนำไปสู่การเอาชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยวที่ครองความเป็นใหญ่ทางภาคเหนือได้สำเร็จ แม้ในการศึกที่กัวต๋อนั้น กลยุทธ์ที่นำไปสู่ชัยชนะจะเกิดมาจากนโยบายตั้งยันเพื่อรอความเปลี่ยนแปลงของซุนฮก และการแปรพักตร์ของเขาฮิว แต่ซุนฮิวก็เป็นเสนาธิการที่ได้รับความชอบในการศึกครั้งนี้ไม่น้อย

ปี ค.ศ. 207 โจโฉขึ้นดำรงตำแหน่งสมุหนายก กลายเป็นมหาอุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่น ซุนฮิวยังคงช่วยเหลือทั้งกิจการภายในและภายนอกอย่างเต็มที่ ในปีต่อมาเมื่อโจโฉคิดยกทัพรุกลงใต้เพื่อจัดการเผด็จศึกเล่าปี่และซุนกวนที่กังหนำ ซุนฮิวได้เสนอว่าจิวยี่เป็นแม่ทัพเรือที่เก่งกาจที่สุดของยุค สมควรที่จะหาทางเกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนน แต่แน่นอนว่าแผนนี้ของซุนฮิวก็คิดอ่านง่ายเกินไป จิวยี่ไม่ยอมจำนนและยังกลายเป็นผู้มอบความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตให้แก่โจโฉอีกด้วย

ซุนฮิวติดตามโจโฉลงใต้ เข้าร่วมศึกเซ็กเพ๊ก อันเป็นหนึ่งในสามศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสามก๊ก ทัพเรือของโจโฉนั้นแม้จะใหญ่โตอลังการ และมีทหารกว่าหลายแสน แต่แม่ทัพที่เชี่ยวชาญการบัญชาการศึกทางน้ำค่อนข้างจำกัด แม้แต่กลยุทธ์ในการศึทกางน้ำก็เช่นกัน

ในนิยายสามก๊กนั้นพูดถึงเรื่องการผูกโซ่เรือให้ยาวทอดกันเพื่อแก้ปัญหาการเมาเรือของทหารโจโฉว่าเป็นอุบายที่บังทองเสนอแก่โจโฉ โดยเกิดจากการวางแผนมาก่อนแล้วของจิวยี่อีกที เพื่อพิชิตทัพเรือโจโฉด้วยไฟ ซุนฮิวเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่มองออกถึงอันตรายของการผูกเรือเข้าด้วยกัน แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้สายเกินไป และส่งผลให้ทัพเรือของโจโฉถูกเผาทำลายลงภายในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน ซึ่งในนิยายสามก๊กนั้นกล่าวว่าโจโฉเสียทหารไปหลายแสนคนในศึกนี้ ในขณะที่ทางประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่าทัพโจโฉสามารถล่าถอยกลับไปได้จำนวนไม่น้อย เพราะในปีต่อมาก็โจโฉยังมีทหารมากพอที่จะยกไปที่หับป๋า

หลังกลับไปยังภาคกลาง โจโฉก็ถวายฎีกาแก่พระะเจ้าเหี้ยนเต้พระราชทานยศให้ซุนฮิวเป็นพระยา และภายหลังก็ได้รับตำแหน่งราชเลขา อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในชีวิต ซุนฮิวยังคงช่วยเหลือโจโฉเรื่อยมา จนกระทั่งในปีค.ศ. 213 โจโฉคิดตั้งตนขึ้นเป็นวุยก๋ง เรื่องในครั้งนี้สร้างความปั่นป่วนขึ้นในหมู่ข้าราชบริพารของโจโฉอย่างมาก โดยเล่ากันว่าผู้ที่คัดค้านการขึ้นดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ก็คือที่ปรึกษาคนสนิทที่สุดอย่างซุนฮก และส่งผลให้โจโฉขัดแย้งกับซุนฮกในเรื่องนี้อย่างรุนแรง จนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตายของซุนฮกภายหลังจากนั้น

เรื่องการขึ้นดำรงตำแหน่งวุยก๋งนั้น ซุนฮิวก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คัดค้าน ด้วยเหตุที่ว่าจะทำใหคุณงามความดีที่โจโฉทำไว้ต่อแผ่นดินสูญไปหมด สิ่งที่จะตามมาคือการวิพากษ์และความแปดเปื้อนในฐานะผู้คิดล้มราชบัลลังก์ เพราะตำแหน่งที่โจโฉจะได้รับเป็นสิ่งที่เกินกว่าสามัญชนหรือผู้ภักดีต่อราชวงศ์จะได้มา มีแต่ผู้คิดล้มราชวงศ์เท่านั้นที่หมายปองตำแหน่งเช่นนั้น

ซุนฮิวเป็นผู้ที่ร่ำเรียนและศึกษาลัทธิขงจื๊ออย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับซุนฮก และยังมีวิถีแนวคิดเช่นเดียวกันนั่นคือการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นโดยเหตุที่มาอยู่กับโจโฉก็เพราะเล็งเห็นว่าโจโฉเป็นผู้มีศักยภาพ และอำนาจเพียงพอที่จะค้ำชูราชวงศ์ต่อไปได้ แต่ในเมื่อโจโฉกำลังจะกระทำการอื่นที่ขัดต่ออุดมการณ์แรกเริ่ม ซุนฮิวซึ่งวางตนในฐานะผู้อ่อนน้อมถ่อมตนมาตลอดก็ลุกขึ้นโต้แย้ง เช่นเดียวกับซุนฮก ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้โจโฉอย่างมาก ในนิยายสามก๊กเล่าว่าซุนฮิวเสียใจกับเรื่องนี้มากจนป่วยหนักและเสียชีวิตลง ในปีค.ศ.215

แม้ช่วงบั้นปลาย ซุนฮิวจะขัดแย้งกับโจโฉ แต่โจโฉก็เสียดายและระลึกถึงคุณงามความดีและผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้ เช่นเดียวกับซุนฮก

ตรงจุดนี้มีการวิเคราะห์กันเล็กน้อยว่าซุนฮกและซุนฮิวมีชะตาคล้ายกันตรงที่ช่วยปูรากฐานให้โจโฉจนเป็นใหญ่ เมื่อสำเร็จแล้วก็เท่ากับหมดประโยชน์ แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ซุนฮิวอาจเพียงป่วยหนักและเสียชีวิตลงโดยไม่ได้มีความขัดแย้งกับโจโฉเลยก็เป็นได้

ประวัติสามก๊ก เตงจี๋ โป๊ะโหมว

ประวัติสามก๊ก เตงจี๋ โป๊ะโหมว

หลังจากเล่าปี่สิ้นชีวิต เล่าเสี้ยนก็ได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้สืบต่อมา แต่ด้วยความที่ยังเยาว์ ขงเบ้งจึงกลายเป็นมหาอุปราชผู้มีหน้าที่ดูแลกิจการบ้านเมืองในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะการศึกภายนอกและการปกครองภายใน

แต่ในช่วงที่มีการผลัดแผ่นดินนั้น จ๊กก๊กกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติหลายทางมาก โดยเฉพาะปัญหาทางภายนอก ที่พันธมิตรเล่า ซุน ได้ถูกทำลายลงไป ดังนั้นปัญหาแรกสุดที่จำต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นจ๊กก๊กที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานอาจสิ้นชาติได้ก็คือการผูกสัมพันธไมตรีระหว่างจ๊กและง่อขึ้นใหม่

มันเป็นปัญหาที่แม้แต่ขงเบ้งก็ไม่อาจกระทำได้ด้วยตนเอง แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็ถูกคลี่คลายลงได้ด้วยความสามารถทางการทูตของขุนนางผู้หนึ่ง

ผู้ซึ่งภายหลัง ได้กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักผู้พิทักษ์จ๊กก๊ก ตราบจนสิ้นชีพ


ประวัติโดยย่อ

เตงจี๋ ชื่อรอง โป๊ะโหมว เป็นชาวเมืองซินเอี๋ย เป็นคนใฝ่รู้ ชมชอบศึกษาหาความรู้ และการขี่ม้า รำกระบี่ มีฝีปากดีเยี่ยม จนเมื่อวัยหนุ่มก็ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางในซินเอี๋ยบ้านเกิด

กระทั่งในปีค.ศ.220 โจผีทำการล้มล้างราชวงศ์ฮั่น และก่อตั้งราชวงศ์วุยขึ้น เตงจี๋จึงอพยพลงมาอาศัยอยู่ที่นครเฉิงตู ในดินแดนเสฉวน แต่บ้างก็ว่าเขาอพยพลงมาอยู่ที่เสฉวนก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี

หลังจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 221 อำนาจการปกครองทั้งหมดในจ๊กก๊กก็ตกอยู่ในมือของขงเบ้ง ฝ่ายเตงจี๋ได้เป็นขุนนางเล็กๆอยู่ในเฉิงตู และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในด้านฝีปากไวเป็นเยี่ยม ภายหลังจึงได้รับการเลื่อนขั้นและถูกส่งไปดูแลเมืองง่อตู

จากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกพระเจ้าเล่าเสี้ยนเรียกตัวกลับมายังเฉิงตู แล้วได้รับการบรรจุเข้าทำงานในกองเลขาธิการของราชสำนัก ทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบายการบริหารทั่วไปภายในนครเฉิงตู ร่วมกับคณะขุนนางที่มีตังอุ๋นและกุยฮิวจี๋เป็นหัวเรือใหญ่

จากนั้นในปีค.ศ.225 ขงเบ้งต้องการจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กขึ้นมาใหม่ เพราะเขาได้เตรียมการที่จะทำศึกกับวุยก๊กภายในปีหน้า แต่ปัญหาคือ หากขงเบ้งยกทัพขึ้นเหนือเพื่อรุกวุยก๊กเมื่อไร ทางง่อก๊กอาจจะฉวยโอกาสนั้นเข้ามาตีทางเกงจิ๋วได้

นี่เป็นปัญหาที่ขงเบ้งยังไม่อาจแก้ไขได้ หลังจากเล่าปี่สิ้นชีพลงเมื่อ 4 ปีก่อน ความสัมพันธ์ของ

ทั้งสองฝ่ายแม้จะไม่ได้ย่ำแย่สุดขีดเหมือนช่วงนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าดีถึงขั้นที่จะเป็นพันธมิตรกันได้อีก ที่ง่อก๊กไม่รุกรานจ๊กก๊กเลยตลอด 4 ปีมานี้ เกิดจากเพราะนโยบายการป้องกันดินแดนมากกว่ารุกรานของง่อก๊ก แต่หากวัดด้านกำลังทหารและกำลังทรัพย์แล้ว ง่อก๊กก็ยังเหนือกว่ามาก หากพวกเขาคิดจะรุกรานจ๊กก๊กเมื่อใด ทางวุยก๊กคงจะกระหน่ำซ้ำอีกทาง และเมื่อนั้นจ๊กก๊กก็จะถึงกับสิ้นชาติแน่ๆ

นิยายสามก๊กเล่าถึงเหตุการณ์ตรงนี้ว่า วุยก๊กวางแผนยกทัพ 5 สาย หมายจัดการจ๊กก๊กให้เด็ดขาดในคราเดียว ทัพทั้ง 5 สายเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทหารนับแสน ทัพแต่ละสายประกอบด้วย ทัพโจหยิน มาทางด่านยังเผงก๋วน เบ้งตัดซึ่งหนีไปสวามิภักดิ์วุย ยกเข้ามาทางฮั่นจง หอปีเข้ามาทางด่านแฮปังก๋วน เบ้งเฮ็กยกเข้ามาทางเอ๊กจิ๋ว และพระเจ้าซุนกวนซึ่งได้รับสารเชิญชวนจากโจผีว่าจะแบ่งแผ่นดินกัน หลังจากพิชิตจ๊กก๊กได้ ยกทัพมาทางด่านกวยเซีย

สถานการณ์นับว่าคับขันถึงขีดสุด พระเจ้าเล่าเสี้ยนร้อนใจนักจึงไปปรึกษาขงเบ้งถึงที่บ้าน ซึ่งฝ่ายขงเบ้งเองก็หาทางแก้ไขไว้แล้วในการสลายทัพทั้ง 5 สาย โดยให้ม้าเฉียวรับมือทางหอปีเพราะทราบว่าหอปีเกรงกลัวม้าเฉียวอยู่ ทางเบ้งเฮ้กนั้นให้อุยเอี๋ยนไปรับมือโดยใช้กลศึกแสร้งทำเป็นว่าในค่ายมีทหารมาก เบ้งเฮ้กจะไม่กล้ารุกเข้ามาเองและถอยกลับไป ทางโจหยินให้จูล่งยกทัพไปตั้งรับไว้อย่างมั่นคง ส่วนทางเบ้งตัดนั้น ให้ลิเงียมซึ่งเคยเป็นสหายรักกันมาแต่งหนังสือไปหา หากเบ้งตัดเห็นหนังสือลิเงียมแล้วก็จะแกล้งป่วย ไม่ยอมออกรบ และกันเหนียวด้วยการให้กวนหิน เตียวเปานำทหารสามหมื่นเที่ยวตรวจตราทั้งสี่ทางไว้ เหลือก็เพียงทางซุนกวนเท่านั้น ที่ยังหาทางไม่ได้ โดยขงเบ้งตั้งใจจะส่งคนไปเจรจากับทางซุนกวนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเป็นพันธมิตรกันอีก แต่ผู้มีความสามารถขนาดนั้น ยังเสาะหาไม่พบ

จนกระทั่งเห็นเตงจี๋หมอบกราบรอพระเจ้าเล่าเสี้ยนอยู่ที่หน้าบ้านของตน ขงเบ้งจึงรั้งเตงจี๋ไว้ และปรึกษาถึงงานทหาร และพบว่าเตงจี๋มีนโยบายที่พ้องตรงกับของตน คือผูกมิตรซุนต้านโจ ดังนั้นจึงตัดสินใจส่งเตงจี๋ไปเป็นทูตที่กังหนำเพื่อรื้อฟื้นพันธมิตรเล่าซุนที่ล่มสลายไปแล้วกลับมาอีกครั้ง

เรื่อง 5 ทัพที่ยกมาในครั้งนี้ มีการวิเคราะห์วิตารณ์กันมากกว่าน่าจะเป็นเรื่องแต่งที่เสริมเข้าไปเพื่อเน้นปัญหาในการแก้ปัญหาของขงเบ้ง มีข้อสนับสนุนคือเส้นทางการยกมาทั้ง 5 สายนั้น ผิดปกติเกินไป

หลังจากเบ้งตัดไปอยู่วุยก๊กแล้ว ก็แทบไม่ได้รับความไว้วางใจให้กุมอำนาจทหาร ดังนั้นการที่เขาจได้เป็นผู้รับผิดชอบนำทัพร่วมศึกใหญ่เช่นนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ทางฝ่ายเบ้งเฮ้กซึ่งจะยกเข้ามาที่เอ๊กจิ๋วก็เช่นกัน การติดต่อไปยังเผ่าหมานซึ่งอยู่ห่างไกลและเส้นทางทุรกันดาร เต็มไปด้วยความยากลำบากนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้และต้องใช้เวลาอย่างมาก การจะเดินทางเพื่อไปเจรจากับเผ่าหมานก็จะต้องผ่านแดนเสฉวนก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กองทหารของเสฉวนที่อยู่ในการควบคุมของขงเบ้งก็คงจะไร้ความสามารถยิ่งนักที่ไม่อาจดักจับคนนำสารได้ ทัพของหอปีที่จะยกมาทางด่านแฮปังก๋วนเองก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะการจะผ่านด่านแฮปังก๋วนั้น จะต้องผ่านด่านยังเป๋งก๋วนอันเป็นหน้าด่านของฮั่นจงก่อน

สายที่มีโอกาสเป็นไปได้คือ โจหยินที่จะยกมาทางยังเป๋งก๋วน และตัวซุนกวนเองที่จะยกมาทางด่านกวยเซีย

และนอกจากนี้ แผ่นดินก็ไม่ใช่เพิ่งจะมีการผลัดเปลี่ยน สาเหตุหลักที่โจผีต้องการรุกรานในครั้งนี้เป็นตามหลักที่ว่าเมื่อประเทศอื่นมีการผลัดแผ่นดิน นับเป็นช่วงเวลาเหมาะที่สุดในการยกทัพแต่พระเจ้าเล่าเสี้ยนครองราชย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.221 เป็นเวลานานถึง 4 ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะครองราชย์ เหมือนอย่างที่เข้าในนิยายซึ่งเหตุการณ์นี้ราวกับเกิดขึ้นทันทีหลังเล่าปี่เสียชีวิตไม่นาน

ดังนั้นการรุกรานของวุยก๊กครั้งนี้ น่าจะเกิดขึ้นที่ด่านยังเป๋งก๋วนมากกว่า แต่ก็คงไม่ใช่ศึกที่มีความสำคัญอะไร

กระนั้น ไม่ว่าซุนกวนจะยกทัพมาจริงหรือไม่ การฟื้นฟูพันธมิตรก็จำต้องทำอยู่ดี เพราะขงเบ้งวางแผนที่จะกำราบเผ่าหมานและยกทัพขึ้นเหนือเพื่อตีวุยก๊กใน 1-2 ปีข้างหน้า หากยังไม่อาจแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับง่อได้ การใหญ่ที่ว่าก็เป็นอันต้องปิดพับหมด

ในที่สุด เตงจี๋ก็ได้รับหน้าที่เป็นทูตไปยังกังหนำ เพื่อฟื้นสัมพันธไมตรีของทั้งสองประเทศกลับมา ซึ่งนี่เป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่ง นอกจากจะต้องอาศัยฝีปากที่เฉียบคม การเจรจาด้านผลประโยชน์แล้ว ยังต้องมีความกล้าอย่างมาก

เตงจี๋งเดินทางไปถึงกังหนำ และได้รับการต้อนรับอย่างดุเดือดตามคาด พระเจ้าซุนกวนจัดแจงให้ทหารถืออาวุธครบมือไว้ทั้งสองข้างทาง แล้วเอาน้ำมันใส่กระทะใหญ่ตั้งไฟไว้หน้าที่นั่ง

เตงจี๋รู้ว่านี่เป็นการข่มขวัญ เขาจึงตอบโต้ด้วยการหัวเราะเสียงดัง เมื่อพบซุนกวนแล้วก็ไม่ยอมก้มกราบ เพียงแต่ยกมือคำนับเท่านั้น ซุนกวนโกรธมาก หาว่าเตงจี๋ไม่รู้จักธรรมเนียม เตงจี๋จึงตอบโต้กลับว่าตนเป็นขุนนางเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นต้องก้มกราบเจ้าเมืองน้อย ซุนกวนจึงว่าให้ดูกระทะในน้ำมันนั่นก่อน แล้วที่มานี่เพื่อมาเจรจาเรื่องที่จะไม่ให้เขายกทัพตีเสฉวนใช่ไหม

เตงจี๋ตอบกลับว่ามิใช่เพื่อเสฉวน แต่ที่ตนมาครั้งนี้มาเพื่อช่วยเหลือกังหนำ หวังจะทำไมตรี และกล่าวว่าซุนกวนกระทำการไม่สมกับคนเล่าลือเลย

ซุนกวนไม่พอใจ ถามว่าที่ว่าตนกระทำการไม่สมกับที่เล่าลือหมายความอย่างไร

เตงจี๋ตอบกลับว่า ซุนกวนได้รับการยกย่องเป็นผู้กล้าหาณรู้จักรักผู้มีสติปัญญาและมีความกล้า ตนเองมาที่กังหนำแต่ผู้เดียว กลับนำกระทะมาตั้งและแต่งทหารไว้ขนาดนี้ ราวกับว่ากลัวตนเอง

ซุนกวนยอมรับในคำพูดของเตงจี๋ จึงสั้งให้เอากระทะออกและให้ทหารออกไป จากนั้นเชิญเตงจี๋นั่ง แล้วบอกว่า กังหนำเองก็คิดจะคืนดีกับทางเสฉวน แต่เห็นว่าเล่าเสี้ยนยังอายุน้อย กลัวว่าจะไม่สามารถทำการใหญ่ต่อไปได้

เตงจี๋ตอบว่า เสฉวนมีขงเบ้งเป็นมหาอุปราชดูแลกิจกาจน้อยใหญ่ ขุนทหารเองก็ยังมีอยู่พรักพร้อม หากจับมือเป็นไมตรีย่อมที่จะยืดยาวแน่ ซุนกวนถามอีกว่าที่เตงจี๋บอกมาเพื่อกังหนตำหมายความว่าอะไร

เตงจี๋อธิบายว่า หากซุนกวนไปเป็นพันธมิตรกับโจผีแล้วยกทัพตีเสฉวนก่อน จากนั้นเมื่อเสฉวนแตก กังหนำจะสามารถอยู่ได้หรือ โจผีย่อมไม่ปล่อยไว้แน่ แต่หากซุนกวนเป็นมิตรกับเสฉวน เมื่อโจผีคิดจะยกทัพมาตี เสฉวนย่อมต้องช่วยเหลือ เพราะหากไม่มีกังหนำแล้ว เสฉวนเองก็ไม่อาจอยู่ได้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายสมควรเป็นพันธิมตรกันจึงเป็นทางที่ดีที่สุด หากซุนกวนรู้สึกคลางแคลงในความจริงใจนี้ ตนก็จะกระโดดลงกระทะเพื่อพิสูจน์ ว่าแล้วเตงจี๋ก็คิดจะกระโดดลองกระทะตั้งไฟจริงๆ ซุนกวนจึงรีบห้ามไว้

ด้วยความกล้าหาญบวกกับฝีปากเป็นเยี่ยมของเตงจี๋ จึงทำให้ซุนกวนตัดสินใจที่จะผูกมิตรกับเสฉวน ดังนั้นซุนกวนจึงได้ส่งทูตของตนคือเตียวอุ๋นไปที่เสฉวนพร้อมกับเตงจี๋

เตงจี๋พาเตียวอุ๋นมที่เสฉวนเข้าพบขงเบ้ง และทำการต้อนรับอย่างดี เตียวอุ๋นนำข้อเจรจาของซุนกวนมาแจ้งต่อขงเบ้ง ซึ่งขงเบ้งก็ตอบรับ ทำให้พันธมิตรของทั้งสองฝ่ายได้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นเตงจี๋และเตียวอุ๋น ก็กลับมาพบซุนกวนที่กังหนำอีกครั้ง เตงจี๋ได้รับการยกย่องจากซุนกวนอย่างมากว่าหากใช้ให้ไปเจรจาที่ไหนไม่มีผิดพลาด แล้วเตงจี๋ก็ลากลับเสฉวน

และนับจากนั้น จ๊กก๊กและง่อก๊กก็กลับมาเป็นพันธมิตรกันอีกครั้ง และมิได้ล่วงละเมิดต่อกันอีกเลย นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญต่อบ้านเมืองของเตงจี๋โดยแท้จริง

ขงเบ้งยกย่องเตงจี๋มากต่อผลงานครั้งนี้ การกลับมาเป็นมิตรกันอีกครั้งของทั้งสองฝ่าย ทำให้ขงเบ้งสามารถเคลื่อนย้ายกองทหารได้โดยสะดวก สามารถปราบปรามเผ่าหมานและยกทัพขึ้นบุกวุยก๊กได้โดยไม่ต้องห่วงแนวรับด้านบูรพา

เตงจี๋เข้าร่วมศึกปราบวุยก๊กในฐานะรองแม่ทัพในสังกัดของจูล่ง และเมื่อภายหลัง ทัพใหญ่ของขงเบ้งประสบความพ่ายแพ้อย่าหมดรูปต่อสุมาอี้ (ในประวัติศาสตร์คือเตียวคับ) และต้องถอยกลับฮั่นจง จูล่งได้สร้างวีรกรรมถอยทัพโดยไม่เสียนงไพร่พลเอาไว้ โดยมีเตงจี๋เป็นรองแม่ทัพ ช่วยเหลือในการถอยครั้งนี้

จากนั้นเตงจี๋ก็ได้รับการบรรจุเข้าทำเนียบที่ปรึกษาและแม่ทัพในการศึกกับวุยแทบทุกครั้ง จนกระทั่งในปีค.ศ.234 เมื่อขงเบ้งเสียชีวิตในการศึกที่เขากิสาน ทำให้ต้องมีการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงบุคลากรทั้งในด้านการทหารและการปกครองครั้งใหญ่ เตงจี๋ก็ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ดูแลกิจกาจในนครเฉิงตู

จนเมื่อปีค.ศ.243 เตงจี๋ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลผู้พิทักษ์นครเฉิงตู กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักที่คอยค้ำจุนจ๊กก๊กร่วมกับบิฮุย ตังอุ๋น เกียงอุย เตงจี๋ทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในของจ๊กก๊กได้ดีมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปีค.ศ.251

ในทำเนียบขุนนางยุคหลังของสามก๊ก เตงจี๋ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะทูตมือหนึ่ง โดยสิ่งการันตีก็คือผลงานชิ้นเอกในการฟื้นฟูพันธมิตรระหว่างเล่าซุนให้กลับมาอีกครั้ง ซุกนวนเองก็ยกย่องเขามากถึงกับกล่าวว่า ให้เตงจี๋ไปเป็นทูตที่ไหน ไม่มีผิดหวังเด็ดขาด นอกจากนี้เตงจี๋ยังเป็นผู้มีความรอบรู้ในเชิงบู๊อีกด้วย เมื่อดูจากตำแหน่งทางทหารของเขาในช่วงที่ทัพจ๊กก๊กเข้ารุกรานวุยก๊ก เขาเป็นผู้หนึ่งที่ขงเบ้งช่วงใช้ในฐานะที่ปรึกษากองทัพ

น่าเสียดายว่าหลังจากเตงจี๋สิ้นไปแล้ว ขุนนางฝ่ายบุ๋นที่เก่งกาจพอจะดูแลบริหารบ้านเมืองได้ก็เหลือเพียงบิฮุยเท่านั้น และเมื่อสิ้นบิฮุยไปอีกหลังจากเตงจี๋เสียชีวิตไปเพียงสองปี ก็ไม่ปรากฏขุนนางผู้มีความสามารถเช่นนี้ขึ้นมาโดดเด่นอีกเลย ทำให้การบริหารการปกครองของจ๊กก๊กในยุคที่เหลือเพียงเกียงอุยซึ่งมุ่งเน้นแต่งานทหารมากจนเกินไปแล้ว เริ่มเข้าสู่ช่วงตกต่ำลง

ประวัติสามก๊ก แฮหัวเอี๋ยน เมียวไซ

ประวัติสามก๊ก แฮหัวเอี๋ยน เมียวไซ

จากในเรื่องสามก๊ก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มิใช่เพียงแค่ในสามก๊กเท่านั้น เหล่าขุนศึกหรือผู้คิดก่อการใหญ่ทุกคนนั้น กว่าจะสำเร็จการใหญ่ของตนได้หลายคน จำต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้าช่วย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเหล่านั้นก็คือบริวาร และ ญาติมิตร

นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างที่เขาว่าเลือดข้นกว่าน้ำ ผู้ทำการใหญ่ไม่อาจเชื่อใจใครได้ง่ายๆ ดังนั้นญาติมิตร หรือครอบครัวจึงมีความสำคัญในฐานะผู้ที่จะช่วยเหลือกันให้ไปถึงยังเป้าหมายได้สำเร็จ

และในเรื่องสามก๊ก โจโฉนับเป็นขุนศึกที่ประสบความสำเร็จด้านนี้ นั่นคือญาติมิตร ครอบครัวของเขานั้นมีส่วนเกื้อหนุนอย่างมากต่อการทำการใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักกับเหล่าขุนศึกคนอื่นๆในยุค เพราะในขณะที่ญาติมิตรและครอบครัวสามารถส่งเสริมกันได้ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวทำลายที่ร้ายกาจ

แต่โจโฉกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในระยะแรกที่เขายังไม่ได้มีบุคลากรที่เก่งกาจมากมายนั้น เขาผงาดขึ้นมาเพราะอาศัยญาติมิตรหลายคนช่วยเหลือ จนกระทั่งเมื่อเป็นใหญ่ขึ้นมาแล้ว ก็ยังได้คนเหล่านั้นช่วยค้ำจุนเอาไว้ จนสามารถก่อรากสร้างก๊กขึ้นมาได้

และในบรรดาขุนพลยุคแรกที่เป็นกลุ่มญาติสนิทของโจโฉ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและผลงานมากมาย ก็มีอยู่ 4 คนนั่นคือ แฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน และโจหอง

และในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน กล่าวกันว่าแฮหัวเอี๋ยนคือผู้ที่มีฝีมือการรบเป็นเยี่ยมที่สุด


ประวัติโดยย่อ

แฮหัวเอี๋ยน ชื่อรองเมียวไซ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 161 เป็นน้องชายของแฮหัวตุ้น ซึ่งแซ่แฮหัวนั้นเป็นนามสกุลเดิมของโจโก๋บิดาของโจโฉ เขาจึงมีศักดิ์เป็นน้องชายของโจโฉ นอกจากนี้เขายังมีศักดิ์เป็นเขยของโจโฉด้วย เพราะภรรยาของเขาเป็นญาติผู้น้องของโจโฉ เรียกว่ามีความสัมพันธ์กับโจโฉที่ลึกซึ้งอยู่หลายทอด

ประวัติในวัยเด็กเล่าว่า เขาฝึกฝนการใช้อาวุธมาแต่เด็ก โดยเฉพาะการยิงธนูนั้นเขาเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ ชอบศึกษาพิชัยสงคราม มีนิสัยเลือดร้อน ไม่กลัวใคร เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขาและญาติพี่น้องอันประกอบด้วย โจโฉ แฮหัวตุ้น โจหยินและโจหอง ก็ได้สร้างกลุ่มที่รวบรวมคนหนุ่มขึ้นมาคอยก่อกวนไปทั่ว

ปีค.ศ. 184 เกิดโจรโพกผ้าเหลืองขึ้นสร้างความวุ่นวายทั่วแผ่นดิน โจโฉซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารม้าเร็ว ได้รับคำสั่งให้ออกปราบโจรผ้าเหลืองที่อาละวาดอยู่รอบเมืองหลวง และบริเวณใกล้เคียง แฮหัวตุ้นและเอี๋ยนก็ได้รับการชักชวนจากโจโฉให้เข้ามาช่วยงาน โดยแฮหัวเอี๋ยนได้รับหน้าที่เป็นนายกอง นำทหารช่วยเหลือโจโฉปราบปรามโจรผ้าเหลืองและมีผลงานไม่น้อย

หลังจากนั้นโจโฉก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จากความชอบในการปราบโจรผ้าเหลือง ส่วนแฮหัวเอี๋ยนนั้นไม่ได้รับราชการทหาร และคาดว่าน่าจะตามแฮหัวตุ้นกลับไปบ้านเกิด

ในปีค.ศ.189 เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อตั๋งโต๊ะเข้าทำการยึดอำนาจในเมืองหลวงมาจากพวกสิบขันที และใช้กำลังทหารเข้าควบคุมราชสำนัก ปลดรัชทายาทหองจูเปียนลงจากตำแหน่ง แล้วทำการแต่งตั้งองค์ชายรอง ตันลิวอ๋องขึ้นเป็นฮ่องเต้ นามพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งภายหลังเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

ตั๋งโต๊ะอาศัยอำนาจของตนควบคุมเมืองหลวงแบบเบ็ดเสร็จ และกระทำการเผด็จการจนผู้คนหวาดผวา เหล่าขุนนางและเหล่าขุนศึกต่างคิดจะต่อต้าน ในขณะเดียวกัน โจโฉยอมสวามิภักดิ์ต่อตั๋งโต๊ะ แต่แท้จริงเพื่อหาโอกาสลอบสังหาร ถึงกระนั้นก็ทำไม่สำเร็จ จึงต้องหลบหนีออกมา แล้วทำการรวบรวมผู้คนขึ้น จากนั้นก็ร่างราชโองการปลอมแล้วส่งออกไปทั่วแผ่นดินเพื่อระดมเหล่าขุนศึกให้ทำการก่อตั้งกองทัพพันธมิตรในการต่อต้านตั๋งโต๊ะ

แฮหัวตุ้นและแฮหัวเอี๋ยนสองพี่น้องก็ได้เข้ามาร่วมกับโจโฉในการก่อการนับแต่นั้น และเข้าร่วมศึกพร้อมกับโจโฉแทบทุกครั้งในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ

หลังจากศึกที่ด่านกักพยัคฆ์ซึ่งสร้างชื่อให้สามพี่น้องเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ผ่านพ้นไป ตั๋งโต๊ะก็ตัดสินใจเผาเมืองหลวงลกเอี๋ยงทิ้ง แล้วอพยพผู้คน กวาดต้อนทรัพย์สมบัติ และกองทหารไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เตียงอัน แทนที่กองทัพพันธมิตรจะยกทัพไล่ตาม กลับพากันตั้งค่ายจัดงานฉลองกันยกใหญ่ โจโฉทนไม่ได้จึงเข้าไปต่อว่าที่กลางวงแล้วนำทหารกล้าหลายพันคนของตนไล่ติดตามกองทัพตั๋งโต๊ะไป แต่จำนวนของฝ่ายเขาน้อยกว่ามาก และฝ่ายตั๋งโต๊ะก็ให้ซีหยงเตรียมการป้องกันหากถูกไล่ตามไว้แล้ว กองทัพของโจโฉที่เร่งรุดหมายจะเข้าโจมตีจึงพลาดท่าและพ่ายแพ้อย่างยับเยิน โจโฉเองก็ต้องหนีตายกลับมาที่ค่าย และรู้สึกโกรธแค้นที่พวกพันธมิตรต่างเห็นแก่ตัวและทำศึกเพื่อผลประโยชน์ของตน แทนที่จะคิดถึงบ้านเมืองอย่างที่ได้ลั่นวาจากันไว้ เขาจึงตัดสินใจถอนตัวจากพันธมิตรและกลับมาตั่งมั่นที่บ้านเกิดเพื่อรวบรวมกำลังขึ้นมาอีกครั้ง แฮหัวเอี๋ยนก็ติดตามเขาไปด้วย และได้มีส่วนช่วยรวบรวมและฝึกฝนกองทหารขึ้นใหม่อีกครั้ง

หลังจากนั้น โจโฉก็ได้ทำการขยายอำนาจจนกว้างขวาง ขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแดนตงง้วน สามารถปราบ ลิฉุย กุยกี ลิโป้ อ้วนสุด อ้วนเสี้ยว เล่าเปียว ลงได้ทั้งหมด และได้กลายเป็นมหาอุปราชผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ ควบคุมฮ่องเต้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ในฐานะหุ่นเชิด

กระทั่งโจโฉได้พลาดท่าเสียทีในศึกเซ็กเพ็ก ต่อพันธมิตรซุน-เล่า ทำให้ต้องกลับมาตั้งหลักที่ภาคกลางใหม่ และทำให้แผ่นดินจีนถูกแบ่งขั้วอำนาจเป็นสามฝ่าย คือโจ เล่า ซุน

หลังศึกเซ็กเพ็ก แฮหัวเอี๋ยนได้ถูกส่งไปทำการปราบปรามยังภาคตะวันตก ที่ดินแดนไท่หยวน เพื่อจัดการกับศัตรูทางภาคตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วย ม้าเฉียว หันซิ่น เตียวลู่ และชนเผ่านอกด่านทั้งหลาย โดยมีผู้ช่วยคือซิหลงและเตียวคับ

ช่วงปี ค.ศ. 211 โจโฉสั่งประหารม้าเท้ง เจ้าเมืองเสเหลียง ฐานคิดก่อการกบฏ ม้าเฉียวผู้บุตรจึงได้ลุกขึ้นก่อการที่เสเหลียง ยกทัพเข้ายึดเตียงอัน และประชิดด่านตงก๋วน โจโฉรีบนำทัพใหญ่ออกต้านทาน หลังจากโจโฉปราบม้าเฉียวลงได้ แฮหัวเอี๋ยนก็ได้รับหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ นำทัพออกปราบปรามกลุ่มเสเหลียงที่เหลืออยู่ เพื่อสยบแดนไท่หยวนให้ราบคาบ

แฮหัวเอี๋ยนใช้เวลาที่เหลือหลังจากนี้ในการทำศึกปราบปรามดินแดนไท่หยวน ในฐานะแม่ทัพใหญ่ทิศประจิม เขาสามารถจัดการกับกองทัพที่เหลือของม้าเฉียวและหันซุยลง และทำการปราบปรามชนเผ่าต่างๆ จากนั้นก็เข้าร่วมในศึกปราบเตียวลู่ และเมื่อได้ฮั่นจงมา ก็เท่ากับแดนไท่หยวนตกเป็นของโจโฉโดยสมบูรณ์ จะเหลือก็เพียงเอ๊กจิ๋ว เมืองเสฉวนเท่านั้น แต่โจโฉเห็นว่าเส้นทางเข้าเสฉวนนั้นกันดารนัก และฝ่ายเล่าปี่ก็เริ่มจะเข้ามาครอบคลุมและขยายอิทธิพลในเสฉวนได้มากแล้ว โจโฉคิดว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะรุกเข้าเสฉวนทันทีจึงถอนทัพกลับ แล้วให้แฮหัวเอี๋ยนเป็นแม่ทัพใหญ่ประจำการที่แดนไท่หยวน เพราะหากว่าเล่าปี่สามารถยึดครองเสฉวนได้เมื่อไร จะต้องมุ่งเป้ามาที่ฮั่นจงแน่

แฮหัวเอี๋ยนตระเตรียมการป้องกันฮั่นจงอย่างแข็งขัน โดยมีผู้ช่วยคือซิหลงและเตียวคับ กระทั่ง ปีค.ศ. 217 เล่าปี่ซึ่งสามารถยึดครองเสฉวนได้เรียบร้อยแล้วก็มุ่งตรงมาที่ฮั่นจงจริงๆ แฮหัวเอี๋ยนส่งกำลงทหารประจำการยังจุดต่างๆเพื่อคอยรับมือกองทัพของเล่าปี่ที่มีความแข็งแกร่งผิดจากในอดีตมากแล้ว

โจโฉกังวลถึงสถานการณ์ที่ฮั่นจง จึงส่งโจหองและกำลังหนุนมาช่วยเสริม แฮหัวเอี๋ยนจึงให้โจหองและเตียวคับไปเฝ้าทางตำบลแฮเปียน และจะต้องรับมือกับทางม้าเฉียว

เตียวหุยซึ่งประจำอยู่ที่ปาเส จึงประสานงานร่วมกับม้าเฉียว ทำให้โจหองพบกับความยารกลำบากในการทำศึก กระทั่งเตียวคับเองก็ถึงกับเสียรู้และเจอกลศึกของเตียวหุยเล่นงานและต้องพ่ายแพ้กลับไป

ความพ่ายแพ้ของทั้งโจหองและเตียวคับ ทำให้ต้องเสียเขตแดนหน้าด่านของฮั่นจงไปแทบทั้งหมด และเล่าปี่ก็เตรียมรุกคืบเพื่อจะยึดฮั่นจงให้ได้ โดยการยกทัพใหญ่ด้วยตนองมาตั้งมั่นที่ด่านเองเปนก๋วน โจโฉซึ่งรับทราบรายงานการศึกรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ศึกมาก จึงตัดสินใจยกทัพใหญ่ด้วยตนเองมายังเตียงอัน

ระหว่างนั้น แฮหัวเอี๋ยนพยายามต้านทานการบุกของเล่าปี่อย่างสุดกำลังเพื่อรอจนกว่าทัพใหญ่ของโจโฉจะมาถึง เล่าปี่รู้ว่าหากโจโฉยกทัพมาถึง การจะยึดฮั่นจงคงยากยิ่งกว่าเดิม หวดเจ้งจึงวางกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการให้เล่าปี่ยกทัพข้ามแม่น้ำไปตั่งมั่นที่เขาเต็งกุนสัน เพื่อดึงให้แฮหัวเอี๋ยนออกมารบด้วย โดยผู้ที่รับหน้าที่แม่ทัพกองหน้าก็คือฮองตง

หวดเจ้งอ่านขาดถึงข้อเสียของแฮหัวเอี๋ยนที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นคนเจ้าอารมณ์ และมีจิตใจร้อนแรง มุ่งจะเอาชนะมากจนเกินไป อันที่จริงแล้วแฮหัวเอี๋ยนเป็นผู้ที่ศึกษาพิชัยยุทธ์และทำศึกมามาก แต่เขาก็ยังแก้ข้อเสียตรงนี้ไม่หาย กระทั่งโจโฉเองยังเคยกล่าวเตือนแฮหัวเอี๋ยนว่าผู้เป็นแม่ทัพใหญ่นั้นไม่อาจใช้แต่ความกล้าเท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยสติปัญญา การวางแผน ทำความเข้าใจในกลยุทธ์อีกด้วย แฮหัวเอี๋ยนเองก็รับคำของโจโฉ ทำให้เขาพัฒนาขึ้นกลายเป็นแม่ทัพผู้เก่งกาจ เพราะโดยฝีมือการรบและการนำทัพนั้น เขาจัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆของวุยก๊กอยู่แล้ว

การที่แฮหัวเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ที่คอยรับศึกในแดนไท่หยวนนั้น โดยศักดิ์ฐานะนับว่าเหมาะสม เพราะเขาเป็นญาติผู้น้องของโจโฉที่มีผลงานและชื่อเสียงมากที่สุดเป็นรองเพียงแค่แฮหัวตุ้น โดยในด้านผลงานการรบนั้นอาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ และจะเหมาะยิ่งขึ้นหากเขาได้รับหน้าที่เป็นฝ่ายรุก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในการปราบศึกในแดนเสเหลียง

แต่งานเฝ้ารักษาฮั่นจงจากเล่าปี่นั้น เป็นงานที่หนักหนากว่านั้น เพราะผู้ที่จะมาเฝ้าที่นี่ได้ต้องมีความหนักแน่นอดทนเป็นพิเศษ และยังต้องมีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สูงยิ่ง ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำหน้านี้ได้นั้น ในกองทัพโจโฉถือว่ามีอยู่ แต่โจโฉก็เลือกให้แฮหัวเอี๋ยนซึ่งเป็นญาติผู้น้องที่สนิทกับตนรับหน้าที่นี้

ลักษณะที่โจโฉเลือกแฮหัวเอี๋ยนให้เฝ้าฮั่นจงนั้น ความจริงแล้วคล้ายคลึงกับเหตุผลที่เล่าปี่เลือกกวนอูให้เฝ้าเกงจิ๋วอยู่ไม่น้อย

ในฐานะแม่ทัพ แฮหัวเอี๋ยนและกวนอูมีความเหมือนกันอยู่จุดหนึ่ง นั่นคือความเชื่อมั่นในฝีมือการรบของตัวเอง และความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะข้าศึก ทั้งสองคนนั้นมีฝีมือที่เก่งกาจจริงในการรบ แต่ในด้านของการใช้ไหวพริบและความอดทนหนักแน่นในการรับมือต่อแผนการและกลยุทธ์ของข้าศึกแล้ว ทั้งคู่ต่างก็ยังไม่เคยแสดงให้เห็นว่าทำได้ดีนัก เมื่อดูจากผลงานและวีรกรรมของพวกเขา

แฮหัวเอี๋ยนยังดีกว่ากวนอูอยู่จุดหนึ่งตรงที่เขาได้ผู้ช่วยที่เก่งกาจ และมีความเหมาะสมต่อการเฝ้ารักษาเมืองอย่าง เตียวคับ ซิหลง โจหอง แม่ทัพระดับรองๆลงมาอย่างกุยห้วยเองก็ถือว่าเป็นแม่ทัพหนุ่มไฟแรงที่เก่งในด้านกลยุทธ์ ในเมื่อรายล้อมไปด้วยที่ปรึกษาชั้นดีขนาดนี้โจโฉย่อมคิดว่าไม่น่าที่แฮหัวเอี๋ยนจะพลาดท่าเสียทีให้เล่าปี่ได้ง่ายๆ และที่สำคัญ จะมีใครที่สามารถเชื่อถือและเชื่อใจให้รักษาการดินแดนที่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองและอยู่ในจุดล่อแหลมได้ดีไปกว่าญาติสนิทของตนเอง ที่ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวมาแต่แรก แถมแฮหัวเอี๋ยนยังเป็นญาติสนิทที่มีฝีมือการรบเป็นเลิศอีกด้วย

แต่จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลังจากนี้ แสดงให้เห็นว่าโจโฉคาดผิด เล่าปี่นั้นแข็งแกร่งขึ้นมามากเกินกว่าที่ใครๆคาดคิด และแฮหัวเอี๋ยนก็ยังไม่ใช่ผู้ที่เหมาะสมจะรับงานที่ต้องอาศัยความหนักแน่นสูงอย่างการพิทักษ์รักษาฮั่นจง

จริงอยู่ว่าฮั่นจงเป็นเมืองที่ไม่ได้ใหญ่โตและมีความเจริญอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับหัวเมืองใหญ่ๆในการปกครองของวุยก๊ก แต่ในแง่ความสำคัญแล้ว เมืองนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการป้องกันการรุกรานจากฝ่ายเล่าปี่ ที่เข้ามายึดครองแดนเสฉวนได้แล้ว และจะมีความสำคัญยิ่งในอนาคต ในฐานะเมืองที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการส่วนหน้า สำหรับการรุกหรือรับในดินแดนนี้ ผู้ที่เหมาะจะรับหน้าที่ดูแลที่นี่ได้นั้น ควรมีคุณสมบัติสำคัญที่ความหนักแน่น อดทน และมีไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าฝีมือในการรบหรือการนำทัพอย่างเดียว อันที่จริงโจโฉก็ป้องกันไว้แล้วด้วยการให้เตียวคับ หรือ ซิหลงซึ่งมีคุณสมบัติใกล้อย่างที่ว่ามาเป็นผู้ช่วย แต่กลายเป็นว่าทั้งสองกลับประมาทฝ่ายเล่าปี่มากจนเกินไปอีก

ดังนั้น แฮหัวเอี๋ยนซึ่งออกไปรับศึกกับฮองตงที่เขาเตงกุงสัน จึงได้พลาดท่าเสียทีต่อแผนการของหวดเจ้ง จนถึงขั้นสิ้นชีพ

ในสามก๊ก บันทึกถึงศึกนี้ไว้อย่างสั้นๆว่า แฮหัวเอี๋ยนนำทหารออกไปร้องท้าฮองตงที่หน้าค่าย แต่ฮองตงก็ไม่ออกมารบ โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นทัพล่อที่ฮองตงเตรียมไว้ ส่วนทัพของเขานั้นไปดักซุ่มรอยังอีกที่ จนเมื่อเวลาเที่ยง แฮหัวเอี๋ยนจึงได้ลงนั่งพัก ฮองตงที่รออยู่เห็นเป็นโอกาส จึงสั่งนำทหารที่ดักซุ่มอยู่ตะลุยลงมาจากชัยภูมิสูง และตัวเขาก็เข้าตัดคอของแฮหัวเอี๋ยนได้โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันระวังตัว

รายละเอียดของศึกที่เตงกุนสันในครั้งนี้ มีการบันทึกเพียงเท่านี้ จนกระทั่งเป็นคำถามถึงนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังว่า มันเกิดอะไรขึ้น แฮหัวเอี๋ยนตายง่ายดายขนาดนั้นเลยหรือ เขารับมือการโจมตีของฮองตงได้ไม่ทันการขนาดนั้นเชียวหรือ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จริงๆ คงจะไม่ใช่แค่นี้แน่ และน่าจะยังมีอะไรอีกมาก

แต่ผลสรุปของศึกนี้ก็คือ แฮหัวเอี๋ยนตายในสนามรบ และเสียเมืองฮั่นจงรวมถึงเขตแดนทั้งหมดไป ทำให้เล่าปี่สามารถครอบครองดินแดนเสฉวนและเอ๊กจิ๋วมาอยู่ในมือได้ทั้งหมด

โจโฉยกทัพใหญ่มาทำศึกที่ฮั่นจงเพื่อแก้แค้นให้แฮหัวเอี๋ยน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ และต้องยกทัพกลับไป

ลูกๆของแฮหัวเอี๋ยนทั้งสี่คนนั้น ได้รับการดูแลอย่างดีจากโจโฉ และภายหลังก็ได้มีตำแหน่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญของวุยก๊กกันทั้งหมด

การที่แฮหัวเอี๋ยนไม่อาจป้องกันฮั่นจงไว้ได้นั้น ส่งผลสะเทือนไม่น้อยต่ออนาคตและทิศทางของขั้วอำนาจในสามก๊ก เพราะเป็นการทำให้เล่าปี่ยึดดินแดนฝั่งตะวันตกได้แทบทั้งหมด และสร้างจ๊กก๊กขึ้นมาได้อย่างเป็นปึกแผ่น น่าคิดว่าหากแฮหัวเอี๋ยนสามารถที่จะถ่วงเวลารอจนทัพใหญ่ของโจโฉมาช่วยได้ อาจถึงขั้นต้องเขียนประวัติศาสตร์ช่วงนี้กันใหม่เลยก็ได้